การสร้างพระวิหาร

6 1กษัตริย์ซาโลมอนทรงเริ่มสร้างพระวิหารถวายพระยาห์เวห์ในปีที่สี่ที่ทรงครองราชย์เหนืออิสราเอล ในเดือนศิฟซึ่งเป็นเดือนที่สอง นับเป็นปีที่สี่ร้อยแปดสิบa หลังจากชาวอิสราเอลออกจากแผ่นดินอียิปต์ 2พระวิหารb ซึ่งกษัตริย์ซาโลมอนทรงสร้างถวายพระยาห์เวห์นั้นยาวสามสิบเมตร กว้างสิบเมตร และสูงสิบห้าเมตรc 3มุขหน้าห้องโถงของพระวิหารกว้างสิบเมตรเท่ากับพระวิหาร ลึกห้าเมตรตามยาวของพระวิหาร 4กำแพงพระวิหารมีหน้าต่างเป็นช่องลูกกรงd 5พระองค์ทรงสร้างอาคารสามชั้นรอบกำแพงพระวิหารe ชิดผนังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด

6ชั้นfล่างสุด กว้างสองเมตรครึ่ง ชั้นกลางกว้างสามเมตร และชั้นบนกว้างสามเมตรครึ่ง เพราะกำแพงพระวิหารค่อยๆ แคบลงแต่ละชั้นโดยรอบ เพื่อไม้รอดของอาคารด้านข้างนี้จะไม่ฝังเข้าไปในกำแพงพระวิหาร 7หินที่ใช้สร้างพระวิหารถูกสกัดมาเรียบร้อยแล้วจากบ่อหิน เพื่อจะได้ไม่มีเสียงค้อน เสียงขวานหรือเสียงเครื่องมือเหล็กอื่นๆ ดังอึกทึกตลอดเวลาสร้างพระวิหาร 8ทางเข้าสู่ชั้นล่างสุดของอาคารด้านข้างอยู่ด้านขวาของพระวิหาร มีบันไดขึ้นไปสู่ชั้นสองและชั้นสาม 9เมื่อทรงสร้างพระวิหารเสร็จแล้ว พระองค์ทรงวางคานและบุเพดานgด้วยไม้สนสีดาร์ 10แต่ละชั้นของอาคารรอบกำแพงด้านนอกของพระวิหารสูงสองเมตรครึ่ง และเชื่อมติดกับตัวพระวิหารด้วยรอดไม้สนสีดาร์ 11พระยาห์เวห์ตรัสแก่กษัตริย์ซาโลมอนว่า 12“ท่านกำลังสร้างวิหารนี้สำหรับเรา ถ้าท่านดำเนินชีวิตตามข้อกำหนดของเรา เชื่อฟังกฎเกณฑ์ของเรา และปฏิบัติตามบทบัญญัติทั้งหมดของเราอย่างเคร่งครัด เราจะทำตามที่เราสัญญาไว้กับดาวิดบิดาของท่าน 13เราจะพำนักอยู่ในหมู่ชาวอิสราเอล และจะไม่ทอดทิ้งอิสราเอลประชากรของเรา”

14กษัตริย์ซาโลมอนทรงสร้างพระวิหารจนสำเร็จ

 

การตบแต่งภายในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด

            15ฝาผนังด้านในของพระวิหารบุด้วยแผ่นไม้สนสีดาร์ตั้งแต่พื้นจนถึงเพดาน และพื้นพระวิหารปูด้วยไม้สน 16ด้านในสุดของพระวิหารยาวสิบเมตร กั้นแบ่งด้วยแผ่นไม้สนสีดาร์ตั้งแต่พื้นจรดเพดานh ส่วนนี้เป็นสักการสถานชั้นในที่เรียกว่า “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด” 17ห้องโถงซึ่งอยู่ด้านหน้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดiยาวยี่สิบเมตร 18ไม้สนสีดาร์ที่บุด้านในของพระวิหารแกะสลักเป็นรูปผลไม้และดอกไม้บาน ภายในทั้งหมดบุด้วยไม้สนสีดาร์ไม่เห็นหินเลย 19ด้านในสุดของพระวิหารเตรียมไว้เพื่อประดิษฐานหีบพันธสัญญาของพระยาห์เวห์ 20สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดยาวสิบเมตร กว้างสิบเมตรและสูงสิบเมตร บุด้วยทองคำบริสุทธิ์

21กษัตริย์ซาโลมอนทรงบุพระวิหารด้านในด้วยทองคำบริสุทธิ์ ด้านหน้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดพระองค์ทรงสร้างพระแท่นบูชาjด้วยไม้สนสีดาร์หุ้มทองคำ และทรงขึงโซ่ทองคำโดยรอบk 22ภายในพระวิหารบุด้วยทองคำทั้งหลัง พระแท่นบูชาเบื้องหน้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดทั้งองค์ก็บุด้วยทองคำบริสุทธิ์เช่นเดียวกันl

 

รูปเครูบ

23ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด พระองค์ทรงสร้างรูปเครูบสองตนด้วยไม้มะกอกเทศmสูงห้าเมตร 24ปีกแต่ละข้างของเครูบยาวสองเมตรครึ่ง ระยะจากปลายปีกข้างหนึ่งถึงปลายปีกอีกข้างหนึ่งวัดได้ห้าเมตร 25เครูบทั้งสองตนมีขนาดและรูปร่างอย่างเดียวกัน 26เครูบแต่ละตนสูงห้าเมตร 27เครูบทั้งสองตนตั้งอยู่ในห้องด้านในสุดของพระวิหาร ปีกเครูบตนหนึ่งกางออกไปแตะกำแพงด้านหนึ่ง และปีกของเครูบอีกตนหนึ่งกางออกไปแตะกำแพงอีกด้านหนึ่ง ส่วนปีกที่เหลืออีกสองปีกกางมาจรดกันตรงกลางห้อง 28เครูบทั้งสองตนหุ้มด้วยทองคำ 29ฝาผนังของพระวิหารทั้งด้านในและด้านนอกnแกะสลักลวดลายเป็นรูปเครูบ ต้นอินทผลัมและดอกไม้บาน 30แม้แต่พื้นพระวิหารทั้งด้านในและด้านนอกก็ปูด้วยทองคำเช่นดียวกัน

 

ประตูoและลานภายใน

31พระองค์ทรงสร้างประตูสองบานตรงทางเข้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ประตูสองบานนี้ทำด้วยไม้มะกอกเทศ ประกอบกันเป็นรูปห้าเหลี่ยม 32บานประตูทั้งสองบานที่ทำด้วยไม้มะกอกเทศนี้ แกะสลักลวดลายเป็นรูปเครูบ ต้นอินทผลัมและดอกไม้บาน บุด้วยทองคำ บานประตู รูปเครูบและต้นอินทผลัมหุ้มด้วยทองคำ 33กรอบประตูตรงทางเข้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทำด้วยไม้มะกอกเทศเป็นรูปสี่เหลี่ยม 34บานประตูทั้งสองบานทำด้วยไม้สน แต่ละบานแบ่งเป็นสองส่วน แต่ละส่วนมีบานพับหันได้โดยอิสระ 35แกะสลักเป็นรูปเครูบ ต้นอินทผลัมและดอกไม้บาน หุ้มด้วยทองคำอย่างประณีตเสมอกัน

36พระองค์ทรงสร้างกำแพงล้อมลานด้านในpด้วยหินสกัดเรียงกัน มีคานไม้สนสีดาร์qหนึ่งชั้นคั่นทุกสามชั้น

37กษัตริย์ซาโลมอนทรงวางรากฐานของพระวิหารถวายแด่พระยาห์เวห์ในเดือนศิฟ ปีที่สี่แห่งรัชสมัยของพระองค์ 38และทรงสร้างพระวิหารเสร็จสมบูรณ์ตรงตามแบบที่ทรงกำหนดไว้ทุกประการในเดือนบูล ซึ่งเป็นเดือนที่แปด ปีที่สิบเอ็ดแห่งรัชสมัยของพระองค์ กษัตริย์ซาโลมอนทรงใช้เวลาเจ็ดปีสร้างพระวิหารนี้

 

6 a “ปีที่สี่ร้อยแปดสิบ” ชาวยิวมีธรรมประเพณีสืบทอดต่อกันมาว่าช่วงเวลาระหว่างการสร้างกระโจมนัดพบในสมัยอพยพกับการสร้างพระวิหารในสมัยกษัตริย์ซาโลมอนมีความยาวเท่ากับช่วงเวลาระหว่างการสร้างพระวิหารหลังนี้ กับการสร้างพระวิหารหลังที่สองหลังกลับจากเนรเทศ คือ 480 ปี ในความเป็นจริงแล้วกษัตริย์ซาโลมอนทรงสร้างพระวิหารราวปี 960 ก่อน ค.ศ.

b พระวิหารเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนแรกคือมุขด้านหน้า เรียกว่า ulam ถัดไปเป็นห้องโถงใหญ่สำหรับพิธีกรรม เรียกว่า hekal ซึ่งต่อมาจะเรียกว่า “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์” ส่วนสุดท้ายเป็นสักการสถานเรียกว่า debir หมายถึงห้องในสุดซึ่งต่อมาเรียกว่า “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด” เป็นที่ประดิษฐานหีบพระบัญญัติหรือหีบพันธสัญญา (6:10) ระดับความสูงที่แตกต่างกันระหว่าง “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์” กับ “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด” (6:2, 10) แสดงว่าพื้นของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดถูกยกขึ้นเป็นเวทีสำหรับประดิษฐานหีบพันธสัญญา สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดคงจะแยกจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์โดยกำแพงกั้น กำแพงด้านนอกสามด้านของพระวิหารทำหน้าที่ค้ำอาคารสามชั้น (6:10) จงเทียบคำบรรยายนี้กับคำบรรยายกระโจมนัดพบในถิ่นทุรกันดาร (อพย 26=36) และกับคำบรรยายถึงพระวิหารในอนาคตใน อสค 40-42

c “สิบห้าเมตร” เท่ากับ “สามสิบศอก” ตามต้นฉบับภาษาฮีบรู ต้นฉบับภาษากรีกว่า “ยี่สิบห้าศอก” (=12.5 เมตร)

d “ช่องลูกกรง” แปลโดยคาดคะเน เช่นเดียวกับศัพท์เทคนิคหลายคำในข้อ 5-10

e แปลตามต้นฉบับภาษากรีก ต้นฉบับภาษาฮีบรูซ้ำคำว่า “รอบกำแพงพระวิหาร” ตอนปลายของข้อนี้อีกครั้งหนึ่ง

f “ชั้น” ตามต้นฉบับภาษากรีก ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “อาคาร”

g “เพดาน” แปลโดยคาดคะเน

h “จรดเพดาน” (ดู ข้อ 15) ตามต้นฉบับภาษากรีก ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “จนถึงกำแพง”

i “ด้านหน้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด” แปลตามต้นฉบับแปลภาษาละติน ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ต่อหน้าเรา”

j “พระแท่นบูชา” ที่นี่คงจะหมายถึงพระแท่นถวายกำยาน (ดู อพย 30:1 เชิงอรรถ a)

k “กษัตริย์ซาโลมอน...โดยรอบ” ข้อ 21 นี้ไม่ชัดเจน บางคนคิดว่าเป็นคำเพิ่มเติมในภายหลัง

l “พระแท่นบูชา...เช่นเดียวกัน” ไม่มีในต้นฉบับภาษากรีก

m บางคนคิดว่าตัวบทข้อนี้ไม่สมบูรณ์

n “ด้านในและด้านนอก” ที่นี่และในข้อ 30 คงจะหมายถึง “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด” (=ด้านใน - ข้อ 27) และ “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์” (=ด้านนอก)

o การบรรยายถึงประตูในที่นี้เข้าใจยาก ต้นฉบับอาจถูกแก้ไขและมีศัพท์เทคนิคหลายคำที่เราไม่รู้ความหมายแน่นอน

p “ลานด้านใน” หมายถึงลานพระวิหารภายในเขตพระวิหารซึ่งต่างจากลานใหญ่ (7:12) ที่อยู่รอบพระวิหารและพระราชวัง

q “คานไม้สนสีดาร์” ทำหน้าที่เป็นตัวยึดกำแพงที่ก่อด้วยอิฐ