"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“เขาจึงไม่เป็นสองอีกต่อไป แต่เป็นเนื้อเดียวกัน”

50.คำถามเรื่องการหย่าร้าง (2)
- พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “เพราะใจดื้อแข็งกระด้างของท่านโมเสสจึงได้เขียนบัญญัติข้อนี้ไว้ พระเยซูเจ้าทรงยอมรับว่าโมเสสเคยอนุญาตให้หย่าร้างโดยมีเงื่อนไขเฉพาะเพื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ของสตรี แต่ยังทรงอธิบายอย่างชัดเจนว่า พระเจ้าประทานข้ออนุญาตนี้ให้มีผลเพียงชั่วคราว เพราะใจแข็งกระด้างของชาวยิว  (เทียบ ฉธบ10:16; อสค 3:7) ซึ่งไม่เข้าใจแผนการแรกเริ่มพระเจ้า


- แต่เมื่อแรกสร้างโลกนั้นพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นชายและหญิง พระเยซูเจ้าทรงชี้แจงว่าการหย่าร้างที่โมเสสอนุญาตนั้นมีผลเพียงระยะเวลาชั่วคราวเท่านั้น เพราะพระคัมภีร์อธิบายว่าความแตกต่างระหว่างชายและหญิงเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า (เทียบ ปฐก 1:27) เพื่อการมีบุตรสืบสกุลและมุ่งไปสู่การสมรสชายเดียวหญิงเดียวตลอดไป ไม่อาจแยกออกจากกันได้  ดังที่หนังสือปฐมกาลบันทึกต่อไปว่า  “ดังนั้นชายจะละบิดามารดาและชายหญิงจะเป็นเนื้อเดียวกันดังนี้เขาจึงไม่เป็นสองอีกต่อไปแต่เป็นเนื้อเดียวกัน”(ปฐก 2:24)

- “ดังนั้นสิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันไว้มนุษย์อย่าแยกเลย” พระเยซูเจ้าจึงทรงสรุปคำตอบของคำถามเกี่ยวกับการหย่าร้างอย่างชัดเจนโดยอ้างคำพังเพยดังกล่าวนี้ คือจะหย่าร้างกันไม่ได้เลย

- เมื่อกลับเข้าไปในบ้านแล้วบรรดาศิษย์ทูลถามถึงเรื่องนี้อีก นี่เป็นวิธีการเขียนของนักบุญมาระโก คือ ทุกครั้งที่พระเยซูเจ้าทรงสั่งสอนเรื่องสำคัญๆ จบแล้ว ก็มีการอธิบายเพิ่มเติมสำหรับบรรดาศิษย์โดยเฉพาะ (เทียบ 2:1; 3:20; 7:17; 9:28, 33) นักพระคัมภีร์บางคนคิดว่า บ้านหลังนี้ยังเป็นบ้านของนักบุญเปโตรที่เมืองคาเปอร์นาอุม (เทียบ 9:33) ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว การถกเถียงกันเรื่องการหย่าร้างคงจะเกิดขึ้นในเมืองนี้ เมื่อพระองค์ทรงตัดสินพระทัยที่จะออกเดินทาง

- พระองค์จึงตรัสตอบว่า “ผู้ใดหย่าร้างภรรยาและแต่งงานกับอีกคนหนึ่งก็ทำผิดประเวณีต่อภรรยาคนเดิม คำสอนนี้ขัดแย้งกับธรรมประเพณีของชาวยิวซึ่งคิดว่า ชายมีอนุญาตให้ทั้งหย่าร้างและแต่งงานกับภรรยาใหม่ได้ แต่พระเยซูเจ้าทรงประณามทั้งการหย่าร้างและการแต่งงานใหม่ การหย่าร้างเป็นการกระทำผิดต่อแผนการของพระเจ้า และการแต่งงานใหม่ก็ถือว่าเป็นการผิดประเวณี เพราะคู่สมรสยังต้องรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ต่อกันอยู่เสมอ

- และถ้าหญิงคนหนึ่งหย่ากับสามีไปแต่งงานกับอีกคนหนึ่งก็ทำผิดประเวณีเช่นเดียวกัน ” พระวาจานี้ดูเหมือนได้รับแรงบันดาลใจจากกฎหมายกรีก – โรมัน ซึ่งกำหนดว่าภรรยามีสิทธิจะหย่าร้างจากสามีและแต่งงานใหม่  บางคนจึงคิดว่า นักบุญมาระโกประยุกต์ใช้หลักเกณฑ์ที่พระเยซูเจ้าทรงกำหนดไว้ให้เข้ากับวัฒนธรรมของคนต่างศาสนา และการประยุกต์ใช้เช่นนี้ก็กลายเป็นข้อกำหนดของพระศาสนจักสมัยแรก ๆ ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์อีกบางคนยังคิดว่า ชาวฟาริสีได้ทูลถามพระเยซูเจ้าเรื่องการหย่าร้าง เพื่อบังคับพระองค์ให้ทรงตัดสินสถานการณ์ของกษัตริย์เฮโรด อันทิปาส ผู้ทรงหย่าร้างจากภรรยาคนเดิม เพื่อสมรสกับนางเฮโรเดียส ภรรยาของฟิลิป ผู้เป็นน้องชาย

a)    ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
      1.    ไม่มีกฎหมายใด ๆ ของมนุษย์ที่สามารถก่อให้เกิดความรัก หรือทำให้ความรักที่ตายไปแล้วฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ พระเจ้า พระผู้สร้างสรรพสิ่งทรงเป็นบ่อเกิดแรกเริ่มของความรัก พระองค์ผู้เดียวเท่านั้นประทานโอกาสให้ชายและหญิงพัฒนาความรักของกันและกันจนบรรลุความสมบูรณ์

     2.    ความสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิงเป็นภาพลักษณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์คือ เป็นทั้งของประทานและการยอมรับกัน ความรักที่ซื่อสัตย์และสมบูรณ์เท่านั้นสะท้อนความรักของพระเจ้า

       3.    ความหมายของการสมรสไม่ใช่เพียงเพื่อสืบสกุล ตอบสนองความต้องการต่าง ๆ ของตน หรือเพื่อชนะความอ้างว้างและความรู้สึกว่าตนยังเป็นบุคคลที่ไม่สมบูรณ์ เพราะความสัมพันธ์กันเป็นลักษณะจำเป็นของมนุษย์ ดังที่พระคัมภีร์บันทึกไว้ว่า “มนุษย์อยู่คนเพียงคนเดียวนั้นไม่ดีเลย” (ปฐก 2:18) การสมรสเป็นพระธรรมล้ำลึกที่แสดงออกอย่างเต็มเปี่ยมในความรักสัมบูรณ์ต่อพระเจ้า เพราะมนุษย์บรรลุความสมบูรณ์ในความรักนี้

      4.    เราจึงควรวอนขอพระเจ้าให้ประทานความเข้าใจเกี่ยวกับพระธรรมล้ำลึกเรื่องการสมรส ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระองค์นั่นเอง วอนขอพระองค์ทรงช่วยเราให้หายจากการมีใจแข็งกระด้าง ประทานจิตใจที่เปิดรับความรักของพระองค์ ประทานความรักที่ซื่อสัตย์และเมตตากรุณา เพื่อเราจะได้รู้จักให้อภัยแก่ผู้อื่นและยอมรับการอภัยจากผู้อื่น รู้จักเริ่มต้นใหม่อยู่เสมอ