“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“ท่านอยู่ไม่ไกลจากพระอาณาจักรของพระเจ้า”

64. บทบัญญัติเอก (2)
b)ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
         1.ธรรมาจารย์ทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “บทบัญญัติข้อใดเป็นเอกกว่าบทบัญญัติข้ออื่นๆ” คำถามนี้ต้องการรู้ว่าอะไรสำคัญต่อพระเจ้าในทุกกรณี จะต้องใช้พลังทั้งหมดเพื่อทำสิ่งใด พระเจ้าจะทรงตัดสินคุณค่าของกิจการในชีวิต ดังนั้น ความหมายของชีวิตจึงขึ้นอยู่กับคำตอบของคำถามนี้ "ชีวิตของเราจะมีความหมาย" ก็ต่อเมื่อชีวิตมีทิศทางที่ถูกต้อง มีจุดหมายปลายทางที่พระเจ้าทรงรับรอง


        2.พระเยซูเจ้าทรงใช้ข้อความจากพันธสัญญาเดิมตรัสตอบคำถามที่ว่า พระเจ้าทรงต้องการสิ่งใดจากมนุษย์ และจะต้องเดินตามเส้นทางใดเพื่อชีวิตจะมีความหมายอย่างแน่นอน “บทบัญญัติเอกก็คือ อิสราเอลเอ๋ย จงฟังเถิด องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของเราทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาและสุดกำลังของท่าน” หน้าที่แรกและสำคัญที่สุดของเราคือรักพระเจ้าเต็มพละกำลังความสามารถทั้งหมดของเรา “จิตใจ” หมายถึงความสามารถทางเจตจำนง “วิญญาณ” หมายถึงพลังชีวิต “สติปัญญา” หมายถึงความสามารถในการคิด และ “กำลัง” ในความหมายกว้าง ๆ คำเหล่านี้ยังไม่เป็นรายการทั้งหมด เพียงต้องการบอกว่าต้องใช้พละกำลังทั้งหมดเพื่อรักพระเจ้า โดยไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ น่าสังเกตว่า แต่ละคำจะนำหน้าด้วยคำว่า “สุด” ดังนั้น เราจึงต้องรักพระเจ้าด้วยความสามารถสูงสุดอย่างเด็ดเดี่ยวและมั่นคง

       3.เราอาจสงสัยว่ามีผู้ใดเคยทำเช่นนี้ได้บ้าง เรามีความหวังที่จะปฏิบัติภารกิจนี้จนสำเร็จ ผู้ใดกล้าพูดว่า “รักพระเจ้าอย่างสมบูรณ์” พฤติกรรมของเราต่อพระเจ้าเป็นอย่างไร บ่อยครั้ง ดูเหมือนเราไม่ได้คิดถึงพระองค์ ไม่มีเวลาสำหรับพระองค์ ไม่มีความมั่นใจในพระองค์ เรามีข้อสงสัยมากมาย ความรักเรียกร้องความสมัครใจ เราจึงรู้สึกว่า เราจะถูกบังคับให้รักไม่ได้

      4.พระเยซูเจ้าไม่ทรงสอนว่า เราจะปฏิบัติบทบัญญัติเอกนี้ด้วยกิจการหนึ่งเดียวอย่างทันทีทันใด แต่ทรงชี้แจงภารกิจที่จะคงอยู่ตลอดชีวิต ความรักสมบูรณ์ต่อพระเจ้าเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต และเรียกร้องการมอบตนเองทั้งครบแด่พระองค์ ถ้าเราถวายเพียงเครื่องบูชา ถ้าบทภาวนาของเราเป็นสูตรที่ตายตัว ถ้าเราถวายเพียงสิ่งที่แตกต่างจากตนเองโดยไม่ผูกพันตนเองอย่างแน่นแฟ้นกับพระองค์ ก็หมายความว่าเราไม่รักพระเจ้าและความหมายของชีวิตก็จะล้มเหลว ในความรักบุคคลทั้งหมดของเราต้องมีส่วนร่วม อันดับแรก ความรักไม่เป็นความรู้สึกและอารมณ์ของมนุษย์ แต่เป็นการมอบตนเองแบบใดแบบหนึ่งแด่พระเจ้าตามพละกำลังและความสามารถต่าง ๆ ของตน บทบัญญัตินี้เรียกร้องให้เราหันไปหาพระเจ้าด้วยทุกสิ่งที่เราเป็น ความรักหมายถึงการที่เราหลุดพ้นจากความนิ่งเฉย ความเฉื่อยชา ความไม่ทุกข์ไม่ร้อน ความสะดวกสบาย ความผิวเผิน ความสงสัย แต่มุ่งมั่นที่จะเข้าไปหาพระเจ้าอย่างเข้มแข็ง กระตือรือร้นและเด็ดเดี่ยวด้วยความสนใจลึกซึ้ง ตื่นตัวและมีชีวิตชีวา ความรักหมายถึงการใช้พละกำลังทางสติปัญญาและเจตจำนงทั้งหมด ใช้ความสามารถทั้งหลายเพื่อรู้จัก พบและเข้าใจพระบุคคลของพระองค์ในมุมมองต่างๆ และเพื่อพระองค์จะทรงถูกเข้ายึดครองและทำให้เราเปี่ยมด้วยพระองค์ บทบัญญัติแห่งความรักเชิญชวนเราให้เข้าใกล้พระเจ้าและแสวงหาพระองค์ด้วยสุดกำลัง เพื่อเปิดใจรับแสงสว่างจากพระองค์ และยอมให้พระองค์ทรงเข้าถึงเรา ความรักผลักดันเราให้แสวงหาพระเจ้าอย่างกระตือรือร้นและไม่เบื่อหน่าย นำเราให้อยู่บนเส้นทางที่ก้าวเดินไปข้างหน้ายิ่งขึ้น ซึ่งจะถึงจุดหมายปลายทางเพียงในโลกหน้าเท่านั้น ความรักจึงหมายถึงการเปิดใจรับแสงสว่างจากพระเจ้าอยู่เสมออย่างไม่จำกัด

       5.ธรรมจารย์ทูลถามพระองค์ถึงบทบัญญัติข้อแรกเท่านั้น แต่พระเยซูเจ้ายังตรัสตอบต่อไปว่า “บทบัญญัติประการที่สองก็คือ ท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง ไม่มีบทบัญญัติข้อใดยิ่งใหญ่กว่าบทบัญญัติสองประการนี้” ความรักที่เรามีต่อตนเองต้องเป็นกฎเกณฑ์สำหรับความรักที่เรามีต่อเพื่อนมนุษย์ ความรักต่อตนเองไม่อยู่ในความรู้สึกและอารมณ์แรงกล้า แต่อยู่ในการยอมรับตนเองพร้อมกับทุกสิ่งที่เป็นของตนเอง คือตัวเรา ชะตากรรม ความสามารถและข้อจำกัดของตน เราแสดงความรักต่อตนเองในการสร้างตนและในทุกสิ่งที่เราทำเพื่อตนเอง การที่เรามีชีวิตอยู่และเป็นบุคคลเช่นนี้ในที่สุดก็ขึ้นอยู่กับพระเจ้า เมื่อเรายอมรับตนเองในความรัก เรายอมรับพระประสงค์ของพระเจ้าพระผู้ทรงสร้าง และพระประสงค์นี้ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างในตัวเรา

     6.ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ต้องมีธรรมชาติเดียวกับความรักต่อตนเอง หมายความว่าเรายอมรับเพื่อนมนุษย์ในเอกลักษณ์ของเขา เราเห็นด้วยที่เขามีชีวิตอยู่ ยอมรับว่าเขาเป็นผู้ที่พระเจ้าพอพระทัยและทรงสร้างเช่นเดียวกับเรา เรากับเขาจึงมีคุณค่าและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน

       7.มนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกัน บทบัญญัติข้อที่สองนี้ไม่ต้องการที่จะทำลายความแตกต่างเหล่านั้น แต่ต้องการสอนว่าความแตกต่างเป็นเรื่องรอง โดยพื้นฐาน มนุษย์ทุกคนอยู่ในระดับเดียวกัน มีความสำคัญ คุณค่าและศักดิ์ศรีเดียวกัน เราต้องเคารพแต่ละคนในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นชองชีวิตจนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต เราต้องยอมให้เขามีพื้นที่เพื่อเสริมสร้างตนเอง เราต้องช่วยเหลือเขาตามความสามารถของเรา ให้เขาดำเนินชีวิตเหมาะสมกับความเป็นมนุษย์ เราต้องไม่ใช้เขาเพื่อผลประโยชน์ของเราเป็นอันขาด
8.ความรักต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์เรียกร้องความมุ่งมั่นและการมอบตนเองอย่างเท่าเทียมกัน ความรักทั้งสองนี้จะทดแทนด้วยสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับตนเองไม่ได้เลย ความรักดังกล่าวยังแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะผู้รับเราเป็นของขวัญแตกต่างกัน เพื่อนมนุษย์เป็นมนุษย์เหมือนกัน อยู่ในระดับเดียวกัน ไม่ว่าจะมีหน้าที่ตำแหน่งใด เราก็จะยกย่องเขาเป็นพระเจ้าไม่ได้เลย เรามีความสัมพันธ์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับพระเจ้า เราทุกคนเป็นหนี้บุญคุณพระองค์ เรารับชีวิตและอนาคตจากพระองค์ ดังนั้น เราต้องหันไปหาพระองค์ด้วยสุดกำลัง ยอมให้พระองค์ทรงนำทางเรา

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก