“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

หนังสือปรีชาญาณ


  1. บทที่ 1
  2. บทที่ 2
  3. บทที่ 3
  4. บทที่ 4
  5. บทที่ 5
  6. บทที่ 6
  7. บทที่ 7
  8. บทที่ 8
  9. บทที่ 9
  10. บทที่ 10
  11. บทที่ 11
  12. บทที่ 12
  13. บทที่ 13
  14. บทที่ 14
  15. บทที่ 15
  16. บทที่ 16
  17. บทที่ 17
  18. บทที่ 18
  19. บทที่ 19

I. ปรีชาญาณและชะตากรรมของมนุษย์

 

จงแสวงหาพระเจ้า ละทิ้งความชั่ว

1 1จงรักความชอบธรรมaเถิด ท่านทั้งหลายผู้ปกครองแผ่นดินb

                    จงคิดถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างเป็นธรรม จงแสวงหาพระองค์ด้วยใจจริงc

          2เพราะผู้ที่ไม่ลองดีกับพระองค์ ก็พบพระองค์ได้

                    พระองค์ทรงสำแดงองค์แก่บรรดาผู้วางใจในพระองค์d

          3ความคิดคดแยกมนุษย์ออกจากพระเจ้า

                    ถ้าผู้ใดลองดีกับพระอานุภาพe พระองค์จะทรงพิสูจน์ว่าเขาโง่เขลา

          4ปรีชาญาณไม่ซึมเข้าไปในจิตใจที่มุ่งทำความชั่วร้าย

                    และไม่อยู่ในร่างกายที่เป็นทาสของบาปf

          5พระจิตเจ้าทรงอบรมสั่งสอนgมนุษย์

                    ทรงหลีกหนีความหลอกลวง ทรงอยู่ห่างจากผู้ที่คิดโง่เขลา

          จะเสด็จจากไปh เมื่อความอธรรมเข้ามา

          6ปรีชาญาณเป็นจิตที่เป็นมิตรกับมนุษย์

                    แต่ไม่ปล่อยให้ผู้ที่กล่าวดูหมิ่นตนพ้นโทษไปได้

          เพราะพระเจ้าทรงทราบความรู้สึกในใจของเขา

                    ทรงสำรวจความคิดตามความจริงi

          ทรงฟังคำพูดของเขา

          7พระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าประทับอยู่ทั่วพิภพj

                    ทรงยึดสรรพสิ่งไว้ด้วยกันk มนุษย์พูดสิ่งใด พระองค์ก็ทรงทราบl

          8ผู้ที่พูดชั่วร้ายจะปิดบังไว้ไม่ได้

                    เขาจะได้รับโทษทัณฑ์อย่างเหมาะสม

          9พระเจ้าทรงสอบสวนแผนการของผู้ไม่ยำเกรงพระเจ้า

                    เขากล่าวอะไร เสียงก็จะดังไปถึงองค์พระผู้เป็นเจ้า

          พระองค์จะทรงตัดสินลงโทษความอธรรมของเขา

          10ทรงเงี่ยพระกรรณฟังทุกสิ่งอยู่เสมอ

                    ทรงได้ยินแม้คำบ่นกระซิบกระซาบ

          11ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงระวังอย่าบ่นพร่ำเพรื่อ

                    จงระวังปาก อย่าพูดใส่ร้ายm

          เพราะคำพูดในที่ลับจะมีผลตามมา

                    ปากที่พูดเท็จย่อมทำลายจิตวิญญาณ

          12อย่าแสวงหาความตาย โดยไม่เดินตามทางแห่งชีวิต

                    อย่าทำร้ายตนเองด้วยมือของตน

          13เพราะพระเจ้าไม่ทรงสร้างความตายn

                    และไม่พอพระทัยให้ผู้มีชีวิตต้องพินาศ

          14พระองค์ทรงเนรมิตทุกสิ่งให้ดำรงคงอยู่o

                    บรรดาสิ่งสร้างในโลกล้วนมีอยู่เพื่อชีวิต

          ไม่มีพิษสงแห่งการทำลายอยู่เลย

                    แดนมรณะpก็ไม่ปกครองเหนือแผ่นดิน

          15เพราะความชอบธรรมเป็นอมตะq

ความคิดของผู้ไม่ยำเกรงพระเจ้าเรื่องชีวิต

            16ผู้ไม่ยำเกรงพระเจ้าrดิ้นรนหาความตายด้วยกิจการและคำพูดของตน

                    คิดว่าความตายเป็นมิตร จึงอยากได้ความตาย

          เขาทำพันธสัญญากับความตาย

                    เขาจึงสมควรจะเป็นกรรมสิทธิ์ของความตายs

1 a “จงรักความชอบธรรม” วลีนี้ในภาษากรีกยังพบได้อีกใน 1 พศด 29:17 และ สดด 45:7 “ความชอบธรรม” ในที่นี้หมายถึงความสอดคล้องของความคิดและกิจการของมนุษย์กับพระประสงค์ของพระเจ้า ดังที่ทรงแจ้งให้ทราบในบทบัญญัติต่างๆ และในความสำนึกของมโนธรรม

b “ผู้ปกครองแผ่นดิน” (เทียบ สดด 2:10) ผู้เขียนหนังสือปรีชาญาณสมมติว่าตนคือกษัตริย์ซาโลมอน (ดู 7:7-11; 9:7-8, 12) ซึ่งตรัสเตือนบรรดากษัตริย์ ผู้มีอำนาจปกครอง (ดู 6:1-11) แต่โดยแท้จริง ผู้เขียนต้องการตักเตือนชาวยิวที่อาศัยอยู่ในหมู่คนต่างศาสนาซึ่งเป็นภัยคุกคามความเชื่อของเขา

c “แสวงหา...ใจจริง” สำนวน “แสวงหาพระเจ้า“ เพื่อจะได้พบพระองค์เป็นคำตักเตือนที่พบได้บ่อยๆ ในวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณและในหนังสือประกาศก (ดู อมส 5:4 เชิงอรรถ c) แต่ข้อความนี้ได้รับอิทธิพลจาก 1 พศด 28:9 มากกว่า ส่วนสำนวน “ใจจริง” ดู 1 พศด 29:17; อฟ 6:5; คส 3:22

d “ผู้วางใจในพระองค์” สำนวนนี้ในภาษากรีกพบได้อีกใน อสย 65:1 และ ยรม 29:13-14

e “พระอานุภาพ” ผู้เขียนคิดว่าพระอานุภาพที่พระเจ้าทรงใช้ปกครองโลกเป็นสิ่งเดียวกับ “พระจิต” และ “พระปรีชาญาณ” ของพระองค์

f “ทาสของบาป” ร่างกายไม่ใช่สิ่งเลวร้ายในตัวเอง แต่อาจเป็นเครื่องมือที่บาปใช้เพื่อควบคุมจิตใจ ทำให้มนุษย์กลายเป็นทาสของมัน นักบุญยอห์น (ยน 8:34) และเปาโล (รม 7:14-24) จะพัฒนาความคิดนี้ต่อไป

g “อบรมสั่งสอน” โดยปกติผู้ให้การอบรมสั่งสอนแก่เยาวชนชาวอิสราเอลคือ “บรรดาผู้มีปรีชา” แต่มักจะกล่าวว่าผู้มีปรีชาเหล่านี้ได้รับอิทธิพลการดลใจจากพระจิตเจ้า (เทียบ สดด 51:11; อสย 63:10-11) ข้อความในพระคัมภีร์ที่เขียนก่อนหน้านี้เคยกล่าวแล้วว่า พระจิตเจ้าทรงเป็นผู้นำอิสราเอลในอดีต (นหม 9:20, 30; อสย 63:10-11) ทรงเป็นพลังภายใน (สดด 51:11; อสค 11:19; 36:26-27) บางครั้งปรีชาญาณปฏิบัติหน้าที่แทนมนุษย์ผู้มีปรีชา (สภษ 1-9) หรือถูกคิดว่าเป็นสิ่งเดียวกับพระจิตเจ้า (ดู ปชญ 1:6-7; 7:22; 9:17)

h “เสด็จจากไป” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับไม่ชัดเจน

i “พระเจ้า...ตามความจริง” “ความรู้สึกในใจของเขา” แปลตามตัวอักษรว่า “เป็นพยานถึงไตของเขา” สำหรับชาวยิว “ไต” เป็นที่ตั้งของอารมณ์ความรู้สึก (โยบ 19:27; สดด 16:7; 73:21; สภษ 23:16) “ทรงสำรวจความคิดตามความจริง” แปลตามตัวอักษรว่า “ทรงเป็นผู้สำรวจแท้จริงของใจของเขา” สำหรับชาวยิว “ใจ” เป็นที่ตั้งของความรู้และเจตนา (ปฐก 8:21 เชิงอรรถ c) เราจึงพบสำนวน “ใจ” และ “ไต” ควบคู่กันอยู่บ่อยๆ (สดด 7:9; 26:2; ยรม 11:20; 17:10; 20:12; วว 2:23) หมายถึง พลังภายในต่างๆของมนุษย์

j “พระจิต... ทั่วพิภพ” ยรม 23:24 ยืนยันว่าพระเจ้าประทับอยู่ทั่วไปในโลก (ดู 1 พกษ 8:27; อมส 9:2-3) แต่ในที่นี้กล่าวว่า “พระจิต” ประทับอยู่ทั่วโลก (สดด 139:7) ประทานชีวิตให้ทุกสิ่ง (ยดธ 16:14; โยบ 34:14-15; สดด 104:30)

k “ทรงยึดสรรพสิ่งไว้ด้วยกัน” สำนวนนี้ยืมมาจากปรัชญาลัทธิสโตอา เพื่อแสดงบทบาทของพระจิตเจ้า ความคิดคล้ายๆ กันนี้พบได้เพียงใน ปฐก 1:2 แต่ในที่นี้หมายถึงอำนาจของพระเจ้าซึ่งทรงอยู่เหนือสรรพสิ่ง (โลกุตระ)

l พระจิตทรงยึดทุกสิ่งไว้ด้วยกันจนทรงทราบทันทีว่ามนุษย์พูดสิ่งใด พิธีกรรมวันสมโภชพระจิตเจ้าประยุกต์ใช้ข้อความนี้กับพระพรที่พระจิตเจ้าประทานให้บรรดาอัครสาวกพูดภาษาต่างๆ ได้ (กจ 2:2-4)

m “อย่าพูดใส่ร้าย” หมายถึงการพูดใส่ร้ายพระเจ้าและพระญาณเอื้ออาทรของพระองค์

n “พระเจ้าไม่ทรงสร้างความตาย” ผู้เขียนคิดถึงทั้งความตายทางร่างกายและความตายทางจิตใจซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อกัน บาปเป็นสาเหตุของความตาย และความตายทางร่างกายของคนบาปยังเป็นความตายทางจิตใจตลอดไปอีกด้วย ที่ตรงนี้ผู้เขียนกล่าวพาดพิงถึง ปฐก บทที่ 2-3 และอธิบายพระประสงค์ของพระผู้สร้าง พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ให้มีชีวิตอมตะ ไม่มีสิ่งสร้างใดทำให้พระประสงค์ของพระองค์ต้องล้มเหลว ตรงกันข้าม สิ่งสร้างน่าจะช่วยให้มนุษย์ได้รับความรอดพ้น ต่อมา เปาโล (รม 5:12-21; 12 เชิงอรรถ g) จะพัฒนาคำสอนเรื่องความตายที่บาปก่อให้เกิดขึ้น โดยเปรียบ “อาดัมคนแรก” ซึ่งเป็นคนบาป กับ “อาดัมคนที่สอง” (พระเยซูคริสตเจ้า) พระผู้ไถ่กู้มนุษยชาติ

o “พระองค์ทรงเนรมิตทุกสิ่งให้ดำรงคงอยู่” พระเจ้าคือ “ผู้เป็น” (อพย 3:13 เชิงอรรถ g) ทรงเนรมิตสร้างทุกสิ่งให้ “เป็น” คือให้มีชีวิตจริงที่คงอยู่ตลอดไป

p “แดนมรณะ” (= “Hades” ในภาษากรีก และ “Sheol” ในภาษาฮีบรู – กดว 16:33 เชิงอรรถ f) ในที่นี้มิได้หมายถึงสถานที่อาศัยของบรรดาผู้ตาย แต่หมายถึงอำนาจของความตายซึ่งเปรียบเสมือนเป็นบุคคล (เทียบ มธ 16:18; วว 6:8; 20:14)

q “ความชอบธรรมเป็นอมตะ” ทุกคนที่ปฏิบัติความชอบธรรมจะได้รับชีวิตอมตะ สำเนาโบราณภาษาละตินบางฉบับเสริมว่า “แต่ความอธรรมนำความตายมาให้” แต่ข้อความเพิ่มเติมนี้ไม่น่าจะเป็นคำแปลจากต้นฉบับภาษากรีก

r “ผู้ไม่ยำเกรงพระเจ้า” ในที่นี้หมายถึงชาวยิวที่ทรยศละทิ้งศาสนา ปล่อยตัวปฏิบัติตามใจชอบโดยไม่คำนึงถึงพระเจ้า และบางครั้งยังเบียดเบียนเพื่อนร่วมชาติชาวยิวที่ยังเลื่อมใสต่อพระเจ้า นับเป็นการท้าทายพระเจ้าโดยตรง สำนวนนี้ยังมีความหมายรวมไปถึงคนต่างศาสนาที่ไม่สนใจเกี่ยวกับจิตใจ เป็นต้นแบบให้ชาวยิวที่ทรยศละทิ้งศาสนาเอาอย่างปฏิบัติตาม

s “เป็นกรรมสิทธิ์ของความตาย” คนชั่วร้ายเป็นกรรมสิทธิ์ของความตายในแบบเดียวกับที่อิสราเอลเป็นกรรมสิทธิ์ของพระเจ้า (ฉธบ 32:9; 2 มคบ 1:26; ศคย 2:16) และพระเจ้าทรงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เลื่อมใสในพระองค์ (สดด 16:5; 73:26; 142:5)

2 1เขาใช้เหตุผลผิดๆ คิดว่า

                    “ชีวิตของเราทั้งสั้นและมีทุกข์a

          เมื่อวาระสุดท้ายมาถึงก็ไม่มีสิ่งใดช่วยได้

                    เราไม่รู้จักผู้ใดที่ช่วยให้พ้นจากแดนมรณะb

          2เราเกิดมาโดยบังเอิญc

                    เมื่อจะพ้นชีวิตนี้ เราก็จะเป็นเหมือนกับไม่เคยได้เกิดมาเลย

          ลมหายใจจากจมูกของเราเป็นเหมือนควัน

                    ความคิดเหมือนประกายจากการเต้นของหัวใจของเรา

          3เมื่อชีวิตดับแล้ว ร่างกายก็กลายเป็นเถ้า

                    จิตก็จะสลายไปเหมือนอากาศที่บางเบา

          4เมื่อเวลาผ่านไป คนก็จะลืมdแม้กระทั่งชื่อของเรา

                    ไม่มีใครจดจำกิจการของเราได้

          ชีวิตของเราจะผ่านไปเหมือนกลุ่มเมฆที่ไม่ทิ้งร่องรอยไว้เลย

                    จะสลายไปเหมือนหมอก

          ที่รัศมีของดวงอาทิตย์ขับไล่ออกไป

                    และความร้อนของดวงอาทิตย์เผาให้สลายไป

          5ชีวิตของเราเป็นเหมือนเงาที่ผ่านไป

                    วันตายของเราจะเลื่อนไปไม่ได้

          เพราะวันนั้นถูกประทับตราแล้ว ไม่มีผู้ใดจะเรียกกลับมาได้e

          6มาเถิด พวกเราจงหาความสำราญกับสิ่งดีๆ ที่มีอยู่

                    จงใช้สิ่งสร้างด้วยความกระตือรือร้นของวัยเยาว์

          7จงดื่มเหล้าองุ่นราคาแพง จงใส่น้ำหอมให้หอมฟุ้ง

                    อย่าปล่อยให้ดอกไม้ในฤดูใบไม้ผลิf บานโดยเปล่าประโยชน์

          8เราจงนำดอกกุหลาบที่เริ่มบานร้อยเป็นมงกุฎสวมศีรษะก่อนที่จะเหี่ยวแห้ง

                    เราทุกคนจงปล่อยตัวร่วมความสำราญให้เต็มที่g

          9เราจงทิ้งร่องรอยความรื่นเริงหรรษาไว้ทั่วไปเถิด

                    เพราะนี่คือสิทธิของเรา นี่คือวิถีชีวิตของเรา

          10เราจงกดขี่ข่มเหงผู้ชอบธรรมที่ยากจนh

                    แม้แต่หญิงม่ายก็อย่าละเว้นไม่เบียดเบียน

          อย่าเคารพผู้อาวุโสที่ผมขาวโพลนเพราะวัยชราi

          11เราจงใช้กำลังเป็นกฎเกณฑ์แห่งความชอบธรรมj

                    เพราะความอ่อนแอนับว่าเป็นสิ่งไร้ประโยชน์

          12เราจงดักซุ่มทำร้ายผู้ชอบธรรม เพราะเขาทำให้เรารำคาญใจk

                    เขาต่อต้านกิจการของเรา

          เขาตำหนิเราว่าฝ่าฝืนธรรมบัญญัติ

                    กล่าวหาว่าเราไม่ปฏิบัติตามการอบรมที่ได้รับ

          13เขาอ้างว่าเขารู้จักพระเจ้าl

                    เรียกตนเองว่าเป็นบุตรขององค์พระผู้เป็นเจ้า

          14ชีวิตของเขาเป็นการติเตียนความรู้สึกนึกคิดของเรา

                    เพียงแต่เห็นเขา เราก็ทนไม่ได้

          15เพราะชีวิตของเขาไม่เหมือนกับผู้อื่น

                    ความประพฤติของเขาก็ต่างกับของเรามากm

          16เขาคิดว่าเราเป็นคนไร้ค่า

                    เขาหลีกเลี่ยงวิถีชีวิตของเราประหนึ่งว่าเป็นสิ่งปฏิกูล

          เขาประกาศว่าผู้ชอบธรรมจะมีความสุขในวาระสุดท้ายn

                    อวดอ้างว่าพระเจ้าทรงเป็นพระบิดาของเขา

          17เราจงดูเถิดว่าคำพูดของเขาจะจริงหรือไม่

                    เราจงพิสูจน์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นแก่เขาในวาระสุดท้ายo

          18ถ้าผู้ชอบธรรมเป็นบุตรของพระเจ้าp พระองค์ก็จะทรงปกป้องเขา

                    และทรงช่วยเขาให้พ้นเงื้อมมือของศัตรู

          19เราจงสาปแช่งและทรมานลองใจเขา

                    ให้รู้ว่าเขาอ่อนโยนเพียงใด

          และจงทดสอบว่าเขาอดทนเพียงใด

          20เราจงตัดสินลงโทษให้เขาตายอย่างอัปยศ

                    ถ้าเป็นจริงอย่างที่เขาพูด พระเจ้าจะทรงคอยดูแลเขาq

ผู้ไม่ยำเกรงพระเจ้าคิดผิด

            21ผู้ไม่ยำเกรงพระเจ้าคิดเช่นนี้ แต่เขาคิดผิด

                    ความชั่วร้ายทำให้เขาตาบอด

          22เขาไม่รู้แผนการเร้นลับของพระเจ้าr

                    เขาไม่หวังว่าพระเจ้าจะทรงตอบแทนความศักดิ์สิทธิ์

          เขาไม่เชื่อว่าพระองค์จะประทานรางวัลแก่ผู้ดำเนินชีวิตไร้ตำหนิ

          23โดยแท้จริงแล้ว พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นอมตะ

                    พระองค์ทรงสร้างเขาตามภาพลักษณ์แห่งพระธรรมชาติsของพระองค์

          24แต่เพราะความอิจฉาของปีศาจt ความตายจึงเข้ามาในโลก

                    ผู้ที่อยู่ฝ่ายปีศาจก็จะประสบความตาย

2 a “ทั้งสั้นและมีทุกข์” การมองชีวิตในแง่ร้ายเช่นนี้ยังพบได้ในพระคัมภีร์อีกหลายแห่ง เช่น ปฐก 47:9; โยบ 14:1-2; สดด 39:4-6; 90:9-10; ปญจ 2:23; บสร 40:1-2 และยังพบได้ในวรรณคดีกรีกซึ่งมองโลกในแง่ร้ายมากกว่าเสียด้วย

b “ช่วยให้พ้นจากแดนมรณะ” เช่นเดียวกับ วว 1:18 “แดนมรณะ” หมายถึงที่อาศัยของบรรดาผู้ตาย (กดว 16:33 เชิงอรรถ f) ซึ่งไม่มีใครกลับมายังโลกนี้ได้อีก (โยบ 7:9 เชิงอรรถ e) ไม่ได้หมายถึงอำนาจของความตายซึ่งเป็นเสมือนบุคคลดังที่กล่าวถึงใน 1:14 ผู้ไม่ยำเกรงพระเจ้าไม่เชื่อว่ามีแดนมรณะ เพราะไม่เคยมีใครจากที่นั่นกลับมาบอกเรา

c “โดยบังเอิญ” มนุษย์เกิดมาเพราะอณูต่างๆ มารวมกันโดยบังเอิญ และเมื่อเขาตาย อณูต่างๆ ที่มารวมกันอยู่นี้ก็กระจัดกระจายไป ลมหายใจปรากฏขึ้นเพราะอากาศร้อนและเกิดการเผาไหม้ ส่วนความคิดเกิดมาจากประกายของหัวใจที่เต้น การอธิบายที่มาของชีวิตมนุษย์แบบเครื่องจักรกลเช่นนี้สนับสนุนทฤษฎีของปรัชญากรีกหลายสำนักที่ต่อต้านความคิดเรื่องวิญญาณ ทั้งยังหัวเราะเยาะเรื่องเล่าในพระคัมภีร์ที่กล่าวว่าชีวิตเป็นลมหายใจที่พระเจ้าทรงเป่าเข้าทางจมูกของมนุษย์ (ปฐก 2:7; โยบ 27:3)

d พระคัมภีร์กล่าวบ่อยๆ ว่า พระเจ้าทรงลงโทษผู้ไม่ยำเกรงพระองค์ โดยทรงบันดาลให้ชื่อของเขาถูกลืม (ดู ฉธบ 9:14; โยบ 18:17; สดด 9:5-7; บสร 44:9; ฯลฯ) แต่ก็มีข้อความบางตอนกล่าวว่าผู้ตายทุกคนถูกลืมชื่อด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนดีหรือคนเลว (สดด 31:12; ปญจ 2:16; 9:5)

e “ไม่มีผู้ใดจะเรียกกลับมาได้” ยังแปลได้อีกว่า “ไม่มีใครกลับมาได้”

f “ดอกไม้ในฤดูใบไม้ผลิ” สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ดอกไม้ของอากาศ” เช่นเดียวกับสำนวนแปลโบราณภาษาซีเรียคและอาร์เมเนียน

g “เราทุกคน...ร่วมความสำราญให้เต็มที่” สำนวนแปลโบราณภาษาละตินว่า “อย่าให้ทุ่งหญ้าใดขาดความสำราญของเรา”

h “ผู้ชอบธรรมที่ยากจน” เป็นวลีประชดประชันที่ “ผู้ชอบธรรม” ยังเป็นคน “ยากจน” ซึ่งดูเหมือนจะขัดแย้งกับพระสัญญาชัดเจนของพระเจ้าในพระคัมภีร์ (ดู สดด 37:25; 112:3; สภษ 3:9-10; 12:21)

i พระคัมภีร์สอนอยู่เสมอว่าผู้ชราเป็นผู้ควรได้รับความเคารพและปกป้องดูแล

j “เราจงใช้กำลังเป็นกฎเกณฑ์แห่งความชอบธรรม” การรังแกผู้อ่อนแอเป็นท่าทีดูหมิ่นธรรมบัญญัติโดยตรง เพราะธรรมบัญญัติเป็นประกันว่าทุกคนต้องได้รับความยุติธรรม แต่ในพระคัมภีร์ก็มีเรื่องการใช้อำนาจเป็นธรรมอยู่บ่อยๆ (โยบ 12:6; ฮบก 1:7,11) นักปรัชญากรีกบางคนสนับสนุนทฤษฎี “อำนาจเป็นธรรม” ว่านั่นคือกฎธรรมชาติ

k “เขาทำให้เรารำคาญใจ” ความคิดเช่นนี้ได้รับอิทธิพลจากสำนวนแปลภาษากรีก (LXX) ของ อสย 3:10

l “รู้จักพระเจ้า” ไม่หมายเพียงความรู้ว่ามีพระเจ้าเพียงพระองค์เดียว แต่ยังหมายถึงการรู้จักพระประสงค์ของพระองค์ (รม 2:17-20) และการปฏิบัติตามพระประสงค์ด้วย และยังอาจหมายถึงการรู้จักแผนการเร้นลับของพระองค์สำหรับมนุษยชาติอีกด้วย (เทียบ ปชญ 2:22)

m “ความประพฤติของเขาก็ต่างกับของเรามาก” คนต่างชาติมักกล่าวหาชาวยิวว่าความเชื่อถือและการปฏิบัติของเขาแตกต่างจากความเชื่อถือและการปฏิบัติของชนชาติอื่นๆ ทั่วไป

n “ผู้ชอบธรรมจะมีความสุขในวาระสุดท้าย” คงเป็นการกล่าวพาดพิงถึงเรื่องของโยบ 42:12-15 ถ้า “วาระสุดท้าย” หมายเพียงชีวิตในโลกนี้เท่านั้น แต่สำนวนนี้น่าจะมีความหมายรวมไปถึงรางวัลของผู้ชอบธรรมในชีวิตหน้า ซึ่งผู้ไม่ยำเกรงพระเจ้าไม่เชื่อและจงใจเยาะเย้ยด้วย

o สำนวนแปลภาษาละตินยังเสริมว่า “เราจะรู้ได้ว่าจุดจบของเขาเป็นอย่างไร”

p “บุตรของพระเจ้า” โดยทั่วไปในพระคัมภีร์ วลี “บุตรของพระเจ้า” หมายถึงชาติ “อิสราเอล” หรือชาว “อิสราเอล” (อพย 4:22-23; ฉธบ 14:1; อสย 1:2; ฮชย 11:1) แต่มีแนวโน้มว่าวลีนี้สงวนไว้สำหรับ “ผู้ชอบธรรม” หรือประชากรอิสราเอลในอนาคต (ดู ฮชย 2:1) และบางครั้งยังประยุกต์กับปัจเจกบุคคลด้วย (2 ซมอ 7:14; สดด 2:7; บสร 4:10) แม้ว่าบางครั้งชาวอิสราเอลอาจเรียกขานพระเจ้าว่า “พระบิดา” (บสร 23:1, 4; 51:10; สดด 89:26) ก็ไม่มีชาวอิสราเอลคนใดเรียกตนเองว่าเป็น “บุตรของพระเจ้า” แต่ในหนังสือปรีชาญาณฉบับนี้ วลีนี้ใช้หมายถึงชาวอิสราเอลในอดีตที่เป็นสมาชิกของประชากรศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า (ปชญ 9:7; 10:15, 17; 12;19, 21; 16:26; 18:4)

q “พระเจ้าจะทรงคอยดูแลเขา” แปลตามตัวอักษรว่า “จะมีการตรวจตรา (หรือ “เยี่ยมเยียน”) ของพระเจ้าสำหรับเขา” เรื่อง “การตรวจตรา (หรือเยี่ยมเยียน) ของพระเจ้า” ดู 3:7 เชิงอรรถ e คริสตชนในสมัยแรกประทับใจต่อรายละเอียดในข้อนี้ว่าเป็นเหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระเยซูเจ้าเมื่อทรงรับทรมานและถูกตัดสินลงโทษให้ตายอย่างอัปยศ เพราะทรงอ้างว่าเป็นบุตรของพระเจ้า (ดู มธ 27:43) ปิตาจารย์บางคนจึงคิดว่าข้อความนี้เป็นคำพยากรณ์กล่าวถึงพระเยซูคริสตเจ้า แต่ผู้เขียนคงคิดถึงเพียงแต่สภาพการณ์ของชาวยิวที่เมืองอเล็กซานเดรีย ซึ่งยังคงซื่อสัตย์ต่อความเชื่อของบรรพบุรุษ แม้จะถูกเยาะเย้ยเบียดเบียนจากชาวยิวที่ละทิ้งศาสนา และจากคนต่างศาสนา ผู้เขียนยังบรรยายถึงการเบียดเบียนที่เป็นต้นแบบของการที่ผู้ชอบธรรมถูกเบียดเบียน จึงประยุกต์ใช้ได้โดยเฉพาะกับพระคริสตเจ้าผู้ชอบธรรมตลอดไป (ฮบ 12:3)

r “แผนการเร้นลับของพระเจ้า” หมายถึงการที่พระเจ้าทรงกำหนดให้มนุษย์จะมีชีวิตอมตะ ความจริงข้อนี้คนทั่วไปคิดไม่ถึง

s “ภาพลักษณ์แห่งพระธรรมชาติ” แปลตามตัวอักษรว่า “คุณสมบัติเฉพาะของพระองค์” สำเนาโบราณบางฉบับว่า “นิรันดรภาพของพระองค์” ผู้เขียนคงคิดถึงเรื่องการเนรมิตสร้างมนุษย์ “ตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า” ใน ปฐก 1:26 และเน้นว่าพระเจ้าทรงมีพระธรรมชาติเป็นนิรันดร

t “ปีศาจ” คำ “ซาตาน” ในภาษาฮีบรูมีความหมายเพียง “ผู้กล่าวหา” หรือ “โจทก์” ในการพิจารณาคดี (โยบ 1:6 เชิงอรรถ g) แต่ผู้เขียนภาษากรีกใช้คำ “diabolos” ซึ่งมีความหมายทางลบว่า “ผู้กล่าวหาใส่ร้าย” และต่อมาคำนี้จะมีความหมายถึง “ปีศาจ” ซึ่งเป็นศัตรูของพระเจ้า ณ ที่นี้ผู้เขียนกำลังอธิบายความหมายของ ปฐก บทที่ 3 ว่า “งู” คือ “ปีศาจ” ที่นำความตายมาให้มนุษยชาติ (เทียบ วว 12:9; 20:2) ความตายที่ปีศาจนำมานั้นคือความตายฝ่ายจิต และความตายของร่างกายก็เป็นผลตามมาของความตายฝ่ายจิตนี้เอง (ดู ปชญ 1:13; รม 5:12ฯ)

ชีวิตหน้าของคนดีเปรียบเทียบกับชีวิตหน้าของคนชั่ว

3 1วิญญาณผู้ชอบธรรมอยู่ในพระหัตถ์พระเจ้าa

                    ความทุกข์ทรมานใดๆ จะทำร้ายเขาไม่ได้

          2ในสายตาของคนโฉดเขลา ความตายของผู้ชอบธรรมดูเหมือนเป็นการสิ้นสุด

                    การจากโลกนี้ไปถูกคิดว่าเป็นหายนะ

          3การที่เขาพรากจากเราไปดูเหมือนเป็นการสูญสิ้น

                    แต่แท้จริงแล้ว เขาอยู่ในสันติสุขb

            4แม้ในสายตาของมนุษย์ เขาดูเหมือนว่าถูกพระเจ้าลงโทษ

                    แต่เขาก็มีความหวังเต็มเปี่ยมว่าจะได้ชีวิตอมตะc

          5เขาต้องทนทุกข์เพียงเล็กน้อย

แต่จะได้รับบำเหน็จใหญ่หลวง

          เพราะพระเจ้าทรงทดลองdเขา

และทรงพบว่าเขาเหมาะสมกับพระองค์

6พระองค์ทรงทดลองเขาเหมือนทรงหลอมทองในเบ้า

พอพระทัยรับเขาเป็นเสมือนเครื่องเผาบูชา

7ในวาระที่พระองค์เสด็จมาe เขาจะส่องแสงรุ่งโรจน์

เขาจะเป็นเหมือนประกายไฟที่ไหม้ไปทั่วกองฟางf

8เขาจะตัดสินนานาชาติ และมีอำนาจปกครองประชาชาติ

องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงครองราชย์เหนือเขาตลอดไป

9บรรดาผู้ที่วางใจในพระองค์จะเข้าใจความจริงg

บรรดาผู้ซื่อสัตย์ต่อพระองค์จะมีชีวิตอยู่กับพระองค์ในความรักh

เพราะพระเจ้าทรงความรักมั่นคงและทรงพระเมตตาต่อบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์

และเสด็จมาช่วยเหลือผู้ที่ทรงเลือกสรร

10ส่วนผู้ไม่ยำเกรงพระเจ้าจะได้รับโทษสมกับความคิดของเขา

เพราะเขาดูถูกผู้ชอบธรรมi และทอดทิ้งองค์พระผู้เป็นเจ้า

11ผู้ที่ดูหมิ่นปรีชาญาณและการอบรมสั่งสอนj ย่อมไม่มีความสุข

เขาไม่ได้รับตามที่เขามุ่งหวัง

ความเหน็ดเหนื่อยของเขาก็ไร้ผล

กิจการของเขาก็ไร้คุณค่า

12ภรรยาของเขาก็โฉดเขลา

บุตรของเขาก็เลวทราม

เชื้อสายของเขาก็ถูกสาปแช่ง

ผู้ชอบธรรมที่เป็นหมันยังดีกว่าคนอธรรมที่มีบุตรหลายคน

            13หญิงที่เป็นหมันkไร้ที่ติ

                    และไม่ผิดประเวณีกับผู้ใดl ย่อมเป็นสุข

          นางจะได้รับบำเหน็จเมื่อพระเจ้าเสด็จมาพิพากษามนุษย์m

          14ขันทีnที่ไม่เคยทำความชั่วร้าย

                    และไม่เคยคิดร้ายต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า ย่อมเป็นสุขด้วย

          เขาจะได้รับพรพิเศษเป็นการตอบแทนความซื่อสัตย์ของตน

                    เขาจะได้ที่พำนักพิเศษน่าปรารถนาในสวรรค์o พระวิหารขององค์พระผู้เป็นเจ้า

          15เพราะผลของกิจการดีคือเกียรติรุ่งโรจน์

                    และรากของความรอบรู้p จะไม่มีวันเสื่อมสลาย

          16บุตรของผู้ผิดประเวณีq จะไม่มีชีวิตถึงวัยผู้ใหญ่

                    เชื้อสายจากความสัมพันธ์ไม่ถูกต้องจะสูญสิ้น

          17แม้เขาจะมีอายุยืนยาว ก็จะไม่มีใครนับถือ

                    ในที่สุด วัยชราของเขาจะไร้เกียรติ

          18ถ้าเขาตายในวัยเยาว์ เขาก็จะไม่มีความหวัง

                    ที่จะได้รับความบรรเทาใจในวันพิพากษา

          19เพราะจุดจบของชนชาติชั่วร้ายน่ากลัวยิ่งนักr

3 a “อยู่ในพระหัตถ์พระเจ้า” หมายถึงการได้รับความปกป้องคุ้มครองจากพระเจ้า (เทียบ ฉธบ 33:3; อสย 51:16; ยน 10:28-29) และการยอมมอบตนไว้กับพระองค์ (โยบ 12:10)

b “สันติสุข” มิได้หมายเพียงว่าไม่มีเหตุร้ายใดๆ (โยบ 3:17-18; อสย 57:2) แต่ยังหมายถึงสภาพความปลอดภัยและความสุขที่รู้ว่าพระเจ้าทรงคุ้มครอง (ข้อ 1) และทรงอยู่ใกล้ชิด (ข้อ 9) กับตนด้วย

c “ความหวัง” (ดู รม 5:2 เชิงอรรถ c) มีบทบาทสำคัญในชีวิตของผู้ชอบธรรม จุดหมายของความหวังคือชีวิตอมตะ ภาษากรีก ว่า “athanasia” เป็นคำที่พบเป็นครั้งแรกในพระคัมภีร์ที่นี่ แต่เป็นคำที่ชาวกรีกใช้บ่อยๆ หมายถึงทั้งการได้รับความระลึกถึงตลอดไป (เทียบ ปชญ 8:13) และการที่วิญญาณ “เป็นอมตะ” หรือ “ไม่มีวันตาย” ในที่นี้ผู้เขียนใช้ในความหมายที่สองนี้ หมายความว่าวิญญาณของผู้ชอบธรรมจะอยู่กับพระเจ้าตลอดไป เพราะพระองค์ทรงตอบแทนความชอบธรรมของเขา (ปชญ 1:15; 2:23) ผู้เขียนจึงพัฒนาความคิดของผู้ประพันธ์เพลงสดุดี ซึ่งยอมรับไม่ได้ว่าเมื่อเขาจะตาย เขาจะต้องสูญเสียความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเจ้าที่เขามีอยู่ตลอดชีวิตนี้ (สดด 16:10 เชิงอรรถ g)

d “ทดลอง” พระเจ้าทรงอนุญาตให้ผู้ชอบธรรมถูกเบียดเบียนเพื่อชำระเขาให้บริสุทธิ์มากขึ้น และพิสูจน์ความมั่นคงและความจงรักภักดีที่เขามีต่อพระองค์ (เทียบ ปฐก 22:1; ทบต 12:13; โยบ 1:12; สดด 66:10; 1 ปต 1:6-7)

e “ในวาระที่พระองค์เสด็จมา” แปลตามตัวอักษรว่า “เมื่อพระองค์เสด็จมาตรวจตรา (หรือ เยี่ยมเยียน)” ดู อพย 3:16 เมื่อพระองค์เสด็จมาเพื่อทรงช่วยเหลือชาวอิสราเอล แต่ในที่นี้หมายถึงพระองค์เสด็จมาเพื่อประทานบำเหน็จรางวัลตอบแทนความดีของผู้ชอบธรรม จึงเปรียบเสมือนเป็นการพิพากษาด้วย สำนวนนี้มาจาก ยรม 6:15; 10:15 (LXX) ดู อสย 24:22 ด้วย แต่ในที่นี้หมายถึงสภาพวิญญาณของผู้ชอบธรรมหลังจากความตาย “เขาจะส่องแสงอย่างรุ่งโรจน์” อาจหมายถึงการกลับคืนชีพของผู้ชอบธรรม (ดู ดนล 12:3; มธ 13:43) แต่หนังสือปรีชาญาณไม่กล่าวโดยตรงถึงคำสอนเรื่องการกลับคืนชีพของร่างกายเลย

f “ไฟที่ไหม้ไปทั่วกองฟาง” ในข้อความหลายตอนของพระคัมภีร์ (ดู อสย 1:31; 5:24; อบด 18; นฮม 1:10; ศคย 12:6; มลค 3:19) ภาพไฟไหม้กองฟางเป็นสัญลักษณ์หมายถึงผลตามมาจากการที่พระเจ้าทรงลงโทษความชั่วร้าย หรืออิสราเอลแก้แค้นศัตรูของตน แต่ในที่นี้ ภาพนี้ใช้ในความหมายแตกต่างไป คือหมายถึงการที่ผู้ชอบธรรมซึ่งได้รับความรุ่งเรืองมีส่วนร่วมในการทำลายล้างความชั่วร้าย ก่อนที่พระเจ้าจะทรงสถาปนาพระอาณาจักรของพระองค์โดยที่ผู้ชอบธรรมเหล่านี้จะเป็นผู้ร่วมสถาปนากับพระองค์ด้วย

g “ความจริง” พระเจ้าจะทรงตอบแทนผู้วางใจในพระองค์ โดยโปรดให้เขาเข้าใจโดยสมบูรณ์ถึงแผนการที่ทรงมีต่อเขา

h “บรรดา...ความรัก” ประโยคนี้ยังแปลได้อีกว่า “บรรดาผู้ที่มั่นคงในความรักจะมีชีวิตอยู่กับพระองค์” แต่ไม่ว่าจะแปลอย่างไร ความหมายก็คือความสุขของผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรรอยู่ที่ว่าเขารู้จักและรักพระองค์

i “ดูถูกผู้ชอบธรรม” ยังแปลได้อีกว่า “ดูถูกความชอบธรรม”

j “ดูหมิ่นปรีชาญาณและการอบรมสั่งสอน” ประโยคนี้คัดมาจาก สภษ 1:7 คำว่า “ปรีชาญาณ” หมายถึงความชำนาญในการดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม ส่วน “การอบรมสั่งสอน” หมายถึงวิธีการที่ต้องใช้เพื่อจะได้ปรีชาญาณมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตน

k “หญิงที่เป็นหมัน” ชาวอิสราเอลคิดว่าการเป็นหมันเป็นเรื่องน่าอับอายและเป็นการลงโทษจากพระเจ้า ส่วนการมีบุตรหลายคนเป็นเครื่องหมายว่าพระเจ้าทรงอวยพร ผู้เขียน ปชญ คิดว่าภรรยาที่เป็นหมันแต่มีคุณธรรมก็ได้รับพระพรจากพระเจ้าประหนึ่งว่ามีบุตรด้วย

l “ไม่ผิดประเวณีกับผู้ใด” แปลตามตัวอักษรว่า “ไม่รู้จักเตียงแห่งการละเมิด” ผู้เขียนกำลังคิดถึงหญิงชาวยิวที่เลื่อมใสศรัทธาต่อพระยาห์เวห์ แต่งงานกับชายชาวยิวที่เลื่อมใสศรัทธาต่อพระยาห์เวห์เช่นเดียวกัน และดำเนินชีวิตสอดคล้องกับบทบัญญัติทุกข้อของพระเจ้า ผู้เขียนจึงไม่พูดถึงเพียงแต่ความสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้องในการเป็นชู้หรือผิดประเวณีเท่านั้น (เทียบ ฮบ 13:4) แต่ยังพูดถึงการแต่งงานกับคนต่างศาสนาอีกด้วย (ฉธบ 7:3; อสร 9:1-2)

m “พิพากษามนุษย์” แปลตามตัวอักษรว่า “เสด็จมาเยี่ยมบรรดาวิญญาณ”

n “ขันที” ในอิสราเอล ผู้เป็นขันทีไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมศาสนพิธี (ฉธบ 23:2) แต่ อสย 56:3-5 ประกาศว่าในยุคของพระเมสสิยาห์ บรรดาขันทีจะได้รับสิทธิให้เข้าร่วมศาสนพิธีได้อีก ถ้าเขาปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของพระเจ้าอย่างซื่อสัตย์ ผู้เขียนเรียบเรียงขยายความคิดจากข้อความที่ว่านี้

o “สวรรค์” เป็นคำที่เพิ่มเติมเข้ามาเพื่อความชัดเจน (เทียบ สดด 11:4; 18:9; มคา 1:2-3; วว 3:12; 7:15) เพราะวลี “พระวิหารขององค์พระผู้เป็นเจ้า” อาจหมายความเพียงพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มเท่านั้น

p “ความรอบรู้” หมายถึงการรู้จักวินิจฉัยคุณค่าแท้จริงของชีวิตและสิ่งสร้างต่างๆ เพื่อช่วยให้ดำเนินชีวิตได้ตามพระประสงค์ของพระเจ้า (เทียบ 4:9; 6:15; 7:7; 8:6, 18, 21) “รากของความรอบรู้” นี้มั่นคง (เทียบ สภษ 12:3) และเกิดผลสำหรับชีวิตนิรันดร (ปชญ 1:15; 2:23)

q “ผู้ผิดประเวณี” พระคัมภีร์ใช้คำนี้กับอิสราเอลทั้งชาติและกับชาวอิสราเอลแต่ละคนที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า (ดู อสย 57:3; ยรม 9:1; อสค 23:37; ฮชย 3:1) จึงยังอาจหมายถึงชาวยิวที่ละทิ้งศาสนา หรือชาวยิวที่แต่งงานกับหญิงต่างศาสนาอีกด้วย (ดู ข้อ 13 เชิงอรรถ l) มิได้หมายถึงเพียงผู้ผิดประเวณีตามธรรมดาเท่านั้น (ดู ปชญ 4:3, 6 ด้วย)

r ข้อความตอนนี้กล่าวถึงชะตากรรมของเชื้อสายคนอธรรม ผู้เขียนย้ำความคิดนี้ซึ่งพบได้บ่อยๆ ในพระคัมภีร์ตั้งแต่อดีตกาลมาแล้วว่าบิดามารดาจะถูกลงโทษในบุตรของตน และบุตรเหล่านี้นับได้ว่าเป็นหนึ่งเดียวกับบิดามารดาในการทำผิดและถูกพระเจ้าลงโทษ จึงต้องตายในวัยเยาว์ และจะไม่มีโอกาสเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพได้ แต่ อสค 18:14-20 และ โยบ 21:7-33 จะมีคำสอนที่ขัดกับความคิดนี้ อสค จะสอนว่าแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน ส่วนปัญหาของโยบจะมีว่า “ทำไมคนชั่วร้ายจึงมีชีวิตยืนยาวและประสบความสำเร็จ และทำไมคนดีจึงต้องรับทุกข์” ข้อความในข้อ 18 เน้นยิ่งขึ้นถึงโทษสาหัสที่คนชั่วจะได้รับจากพระเจ้าในวันพิพากษา (เทียบ ปชญ 4:3-5)

4 1ไม่มีบุตรก็ยังดี หากมีคุณธรรมa

                    เพราะจะมีผู้ระลึกถึงคุณธรรมของเขาตลอดไปb

          คุณธรรมของเขาจะเป็นที่ยอมรับทั้งจากพระเจ้าและจากมนุษย์

          2เมื่อผู้มีคุณธรรมยังมีชีวิตอยู่ ผู้อื่นก็จะปฏิบัติตาม

                    เมื่อเขาไม่มีชีวิต ผู้อื่นก็จะคิดถึง

          คุณธรรมจะได้รับมงกุฎฉลองชัยตลอดไป

                    เพราะจะมีชัยชนะในการประลองกำลังตามกติกาc

          3เชื้อสายของคนอธรรม แม้จะมากมายก็ไร้ประโยชน์

                    เป็นเหมือนต้นไม้จากหน่อที่กลายพันธุ์ จะไม่หยั่งรากลึก

          จะยืนหยัดอย่างมั่นคงอยู่ไม่ได้

          4แม้จะแตกกิ่งก้านอยู่ชั่วขณะหนึ่ง

                    แต่รากเกาะดินไม่แน่น ก็จะโอนเอนไปตามลม

          และเมื่อมีพายุกล้าพัดมา ก็จะถูกถอนราก

          5กิ่งก้านที่ยังอ่อนจะถูกเด็ดออกไป

                    ผลไม้ก็จะไร้ประโยชน์

          ดิบกินไม่ได้

                    จะใช้ทำอะไรไม่ได้เลย

          6บุตรที่เกิดจากความสัมพันธ์ไม่ถูกต้อง

                    จะเป็นพยานปรักปรำความผิดของบิดามารดา

          เมื่อพระเจ้าจะทรงพิพากษาd

ผู้ชอบธรรมที่ตายก่อนเวลาอันควรe

          7ผู้ชอบธรรม แม้ตายก่อนเวลาอันควรก็จะได้พักผ่อน

          8วัยชราที่น่านับถือไม่ใช่การมีอายุยืน

                    หรือวัดได้ด้วยจำนวนปี

          9ความรอบรู้เป็นเสมือนผมหงอกสำหรับมนุษย์

                    ชีวิตไร้มลทินเป็นเสมือนวัยชราที่ยืนยาว

          10ผู้ทำตนให้พระเจ้าโปรดปราน เป็นที่รักของพระองค์

                    เขามีชีวิตอยู่ในหมู่คนบาป พระองค์จึงทรงยกเขาไปf

          11พระองค์ทรงช่วงชิงเขาไป เพื่อความชั่วร้ายจะไม่ทำให้ความคิดของเขาไขว้เขว

                    หรือความหลอกลวงจะไม่ทำให้จิตใจของเขาหลงไป

          12เพราะความชั่วยั่วใจ ทำให้ความดีมัวหมอง

                    ตัณหาทำให้คนที่ไม่รู้จักต่อต้านมีจิตใจปั่นป่วน

          13ผู้ชอบธรรมบรรลุถึงความดีบริบูรณ์ในระยะเวลาสั้น

                    ประหนึ่งว่าเขาได้ทำงานมานานปี

          14ชีวิตของเขาเป็นที่พอพระทัยองค์พระผู้เป็นเจ้า

                    พระองค์จึงทรงรีบยกเขาไปgให้พ้นจากสภาพแวดล้อมที่ชั่วร้าย

          คนอื่นๆh มองเห็น แต่ไม่เข้าใจ

                    ไม่ยอมไตร่ตรองเรื่องนี้

          15เพราะพระเจ้าทรงความรักมั่นคงและทรงพระเมตตาบรรดาผู้ที่ทรงเลือกสรร

                    และเสด็จมาช่วยเหลือผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์

          16ผู้ชอบธรรมที่ตายแล้วตัดสินลงโทษคนอธรรมที่ยังมีชีวิตอยู่

                    คนเยาว์วัยที่บรรลุถึงความดีบริบูรณ์ในระยะเวลาสั้นกล่าวโทษคนอธรรมที่มี

                   ชีวิตยืนยาว

          17คนอธรรมจะเห็นวาระสุดท้ายของผู้มีปรีชา

                    แต่จะไม่เข้าใจแผนการที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้สำหรับผู้มีปรีชา

          ไม่เข้าใจว่าทำไมพระเจ้าทรงนำเขาไปสู่ที่ปลอดภัย

          18คนอธรรมเห็นและจะดูหมิ่น

                    แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงพระสรวลเยาะเย้ยเขา

          19ในที่สุด เขาจะเป็นศพน่ารังเกียจ

                    เป็นที่เยาะเย้ยในหมู่ผู้ตายตลอดไปi

          เพราะพระองค์จะทรงเหวี่ยงเขาจนหัวทิ่ม พูดสิ่งใดไม่ทัน

                    พระองค์จะทรงเขย่าเขาให้สะเทือนจนถึงรากฐาน

          เขาจะพินาศไปโดยสิ้นเชิง

                    จะจมอยู่ในความทุกข์

          และจะไม่มีผู้ใดระลึกถึงเขาอีกเลย

พระเจ้าทรงพิพากษาคนอธรรมj

            20เมื่อคนอธรรมจะต้องมารายงานบาปที่เขาได้ทำ

                    เขาจะมาด้วยความกลัวตัวสั่น

          เพราะความชั่วร้ายที่ได้ทำจะกล่าวหาเขา

4 a “ไม่มีบุตรก็ยังดี หากมีคุณธรรม” สำนวนแปลโบราณภาษาละตินบางฉบับว่า “ชนชาติที่บริสุทธิ์และรุ่งเรืองช่างงดงามนี่กระไร” ปิตาจารย์บางคนจึงใช้ข้อความ (ภาษาละติน) นี้เพื่อยกย่องชีวิตการถือพรหมจรรย์ว่าประเสริฐกว่าชีวิตสมรส

b “มีผู้ระลึกถึงคุณธรรมของเขาตลอดไป” วลีนี้ชวนให้คิดถึง “ชีวิตอมตะ” ที่พระเจ้าประทานให้แก่ผู้ชอบธรรมแต่ละคน และการที่อนุชนรุ่นหลังจะระลึกถึงผู้ชอบธรรมตลอดไป (ดู ปชญ 3:4 เชิงอรรถ c)

c “ในการประลองกำลังตามกติกา” แปลตามตัวอักษรว่า “ในการแข่งขันของการต่อสู้ไร้มลทิน” ภาพนี้ยืมมาจากการแข่งขันกีฬาของชาวกรีก ซึ่งผู้มีชัยชนะจะได้รับมงกุฎใบไม้และเข้าขบวนแห่ฉลองชัยอย่างสง่า (เทียบ 1 คร 9:24)

d “เมื่อพระเจ้าจะทรงพิพากษา” แปลตามตัวอักษรว่า “ในการทดสอบของเขา” ซึ่งหมายถึงการพิพากษาจากพระเจ้า (เทียบ 1:9; 3:18) แต่ไม่ชัดว่าใครถูกพิพากษา “บรรดาบุตร” หรือ “บิดามารดา” เราเลือกแปลในความหมายที่สองนี้

e ชาวยิวเชื่อว่าผู้ชอบธรรมจะต้องมีชีวิตยืนยาวในโลกนี้ (ดู ฉธบ 4:40; 5:16; โยบ 5:26; สดด 91:16; สภษ 3:2,16; 4:10; บสร 1:12, 20) ส่วนคนอธรรมจะต้องตายในวัยเยาว์หรือตายร้าย (โยบ 15:20-23; 18:5-20; สดด 37; 73:18-20) แต่บ่อยครั้งความเชื่อถือเช่นนี้ขัดกับความเป็นจริง (ดู 2 พกษ 22:29; โยบ 21:7; ปญจ 8:12-14) ผู้เขียนกำลังคิดถึงกรณีที่ตรงข้ามที่สุดกับความเชื่อถือเช่นนี้ คือ ความตายในวัยเยาว์ของผู้ชอบธรรม (ดู ข้อ 16) และคิดว่าผู้บรรลุถึงความดีบริบูรณ์ซึ่งเป็นจุดหมายของชีวิตมนุษย์แล้วเท่ากับว่าเขามีชีวิตยืนยาวจนถึงวัยชราด้วย เพราะความดีบริบูรณ์ทำให้เขาพร้อมที่จะได้รับชีวิตอมตะ

f “ทรงยกเขาไป” ความคิดเช่นนี้ได้รับอิทธิพลจากเรื่องของเอโนค (ปฐก 5:24; บสร 44:16; ฮบ 11:5)

g “พระองค์จึงทรงรีบยกเขาไป” อาจแปลได้อีกว่า “ชีวิต (หรือ “วิญญาณ”) รีบออกไป”

h “คนอื่นๆ” สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ประชาชนต่างๆ”

i “เป็นที่เยาะเย้ย...ตลอดไป” คนโบราณคิดว่าศพที่ไม่ได้รับการฝังเป็นการที่ผู้ตายถูกพระเจ้าลงโทษอย่างร้ายแรง (ดู อสย 14:19; ยรม 22:19; 36:30; อสค 29:5)

j ข้อความนี้วาดภาพพระเจ้าทรงพิพากษาคนอธรรมโดยทรงพิจารณาถึงบาปที่เขาเคยทำมาแล้วทั้งหมด ในการพิพากษานี้ พระเจ้าทรงพิจารณาการกระทำของคนอธรรมเท่านั้น เพราะผู้ชอบธรรมได้รับชีวิตอมตะอยู่กับพระองค์แล้ว (เทียบ 5:4-5) ผู้เขียนสนใจต่อสภาพจิตใจของคนอธรรมที่ถูกมโนธรรมของตนทรมาน (เทียบ 17:10) มากกว่าที่จะกล่าวถึงคำพิพากษาของพระเจ้า น่าสังเกตว่าคำสารภาพบาปของคนอธรรม (5:4-13) เป็นข้อความที่ตรงข้ามกับคำพูดของเขาก่อนหน้านั้น (2:1-20)

5 1เวลานั้น ผู้ชอบธรรมaจะยืนด้วยความมั่นใจเต็มที่

                    เผชิญหน้ากับผู้ที่เคยกดขี่ข่มเหง

          และผู้ที่เคยดูหมิ่นความยากลำบากของเขา

          2เมื่อคนอธรรมเห็นผู้ชอบธรรม ก็จะตกใจกลัวจนตัวสั่น

                    แปลกใจเมื่อเห็นผู้ชอบธรรมได้รับความรอดพ้นอย่างที่ตนไม่เคยคาดหมาย

          3เขาจะสำนึกผิด คร่ำครวญb จิตใจระทมทุกข์ พูดกันว่า

          4“ดูซิ นี่คือผู้ที่เราเคยหัวเราะเยาะ

                    เราเคยคิดโง่เขลา ทำเขาให้เป็นเป้าหมายของการเยาะเย้ย

          เราคิดว่าชีวิตของเขาเป็นความบ้า

                    และความตายของเขาไร้ศักดิ์ศรี

          5เหตุไฉนพระเจ้าจึงทรงนับเขาในหมู่บุตรของพระองค์

                    และเขามีส่วนมรดกในบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์c

          6พวกเราหันเหออกไปจากทางแห่งความจริง

                    แสงสว่างแห่งความชอบธรรมไม่ได้ส่องเหนือเรา

          และดวงอาทิตย์มิได้ขึ้นสำหรับเราเลย

          7เราเดินตามทางของความชั่วร้ายและหายนะจนอิ่มเต็มที่

                    เราเดินในถิ่นทุรกันดารโดยไร้ทิศทาง

          เราไม่รู้จักหนทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า

          8ความหยิ่งยโสนำประโยชน์ใดมาให้เรา

                    ความร่ำรวยที่ทำให้เราหยิ่งผยองให้ประโยชน์ใดแก่เราบ้าง

          9ทุกสิ่งนี้ผ่านไปคล้ายกับเงา

                    หายไปเหมือนข่าวที่ไม่มีใครฟัง

          10เหมือนกับเรือแล่นฝ่ายอดคลื่นใหญ่ในทะเล

                    เมื่อผ่านไปแล้วก็มิได้ทิ้งร่องรอยไว้

          ไม่มีรอยท้องเรือเหลืออยู่บนคลื่นเลย

          11หรือเหมือนนกบินไปในอากาศ

                    ไม่ทิ้งร่องรอยของการบินผ่านไว้เลย

          นกกระพือปีกฝ่าอากาศบางเบา

แหวกลมผ่านไปอย่างรวดเร็ว

          ขยับปีกบินผ่านอากาศไป

                    แต่ไม่มีใครพบเครื่องหมายของการบินผ่านนี้เลย

          12หรือเหมือนลูกศรที่ยิงไปยังเป้าหมาย

                    แหวกอากาศไปแล้ว อากาศก็กลับเข้าที่เดิม

          ไม่มีใครรู้ว่าลูกศรวิ่งผ่านไปทางไหน

          13พวกเราก็เช่นเดียวกัน พอเกิดมาก็หายไปแล้วd

                    ไม่ได้ทิ้งเครื่องหมายของคุณธรรมใดๆ ไว้ให้ใครเห็น

          ทั้งชีวิตของเราหมดไปในความชั่วร้าย”e

          14ความหวังของคนอธรรมเหมือนแกลบปลิวไปตามลมf

                    เหมือนฟองgบางเบาที่ลมพายุพัดไป

          เหมือนควันที่กระจายไปในสายลม

                    เลือนไปจากความทรงจำดุจผู้มาเยี่ยมที่มาพักเพียงวันเดียว

อนาคตรุ่งเรืองของผู้ชอบธรรมและการลงโทษคนอธรรมh

            15แต่ผู้ชอบธรรมดำรงชีวิตอยู่ตลอดไปi

                    ค่าตอบแทนของเขาอยู่ในองค์พระผู้เป็นเจ้าj

          พระผู้สูงสุดทรงเอาพระทัยใส่เขา

          16เขาจะได้รับศักดิ์ศรีสูงส่งเยี่ยงกษัตริย์

                    และมงกุฎงดงามจากพระหัตถ์องค์พระผู้เป็นเจ้า

          เพราะพระองค์ทรงปกป้องเขาด้วยพระหัตถ์ขวา

                    ทรงป้องกันเขาด้วยพระกรทรงพลัง

          17พระองค์จะทรงใช้ความกระตือรือร้นเป็นเกราะคลุมพระองค์k

                    จะทรงใช้สิ่งสร้างทั้งมวลเป็นอาวุธเพื่อลงโทษศัตรู

          18พระองค์จะทรงสวมความเที่ยงธรรมเป็นเสื้อเกราะ

                    จะทรงสวมการตัดสินไม่ผิดพลั้งเป็นเกราะสวมพระเศียร

          19จะทรงยึดความศักดิ์สิทธิ์สูงสุดที่ไม่มีสิ่งใดทำลายได้เป็นโล่

          20จะทรงใช้พระพิโรธที่ไม่มีวันเสื่อมคลายเป็นพระแสงดาบlคม

                    และจักรวาลจะรวมพลังกับพระองค์ต่อสู้กับคนเบาปัญญาm

          21สายฟ้าแลบเหมือนลูกธนูแม่นยำจะพุ่งnใส่เขา

                    และจะยิงจากเมฆมาถูกเป้าเหมือนจากคันศรที่ถูกดึงสุดกำลัง

          22ลูกเห็บoจะตกลงมาเหนือเขาอย่างกราดเกรี้ยวเหมือนพุ่งจากเครื่องยิง

                    น้ำทะเลจะสาดฟาดเขาอย่างรุนแรง

          น้ำในแม่น้ำจะท่วมเขาอย่างไร้เมตตาp

          23ลมแรงกล้าจะปะทะพวกเขา

                    จะพัดเขาให้กระจัดกระจายไปเหมือนพายุร้าย

          ความอธรรมจะทำให้ทั่วแผ่นดินเป็นถิ่นทุรกันดาร

                    และความประพฤติชั่วร้ายจะคว่ำบัลลังก์ของผู้ทรงอำนาจ

5 a “ผู้ชอบธรรม” ในที่นี้มีความหมายเหมือนกับใน ปชญ 2:12ฯ (ดู 2:20 เชิงอรรถ q) และยังอาจมีความหมายกว้างกว่าด้วย เป็นไปได้ว่าผู้เขียนอาจคิดถึง “ผู้ชอบธรรม” ผู้นี้คือเป็น “ปัจเจกบุคคล” เช่น “ผู้รับใช้พระยาห์เวห์” ใน อสย 52-53 หรือ “อาจารย์ผู้สอนความชอบธรรม” (the Teacher of Rightousness) ตามเอกสารซึ่งพบได้ที่กุมราน (Qumran)

b “คร่ำครวญ” สำนวนแปลโบราณภาษาละตินและภาษาค็อปว่า “ด้วยการคร่ำครวญ”

c “บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์” และ “บุตรของพระเจ้า” อาจหมายถึงทูตสวรรค์ (เทียบ “บุตรของพระเจ้า” ใน โยบ 1:6; สดด 29:1; 82:1; 89:6 และ “ผู้ศักดิ์สิทธิ์” ใน โยบ 5:1; 15:15; สดด 89:5,7; บสร 42:17; ดนล 4:14; ศคย 14:5) แต่เมื่อคำนึงถึง ปชญ 2:18 “บุตรของพระเจ้า” ในที่นี้คงจะหมายถึงผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรร ซึ่งมีความสุขอยู่ใกล้ชิดกับพระเจ้าในสวรรค์และได้ชื่ออีกว่า “ผู้ศักดิ์สิทธิ์” (ดู สดด 16:3; 34:9; อสย 4:3: ดนล 7:18, 21, 22; 8:24)

d “พอเกิดมาก็หายไปแล้ว” ไม่มีอะไรมั่นคงเหลือเป็นหลักฐานถึงช่วงเวลาของชีวิตของคนชั่วร้ายตั้งแต่เกิดจนถึงตาย

e สำเนาโบราณภาษาละตินส่วนมากเสริมว่า “ผู้ที่ทำบาปพูดเช่นนี้ในนรก”

f ผู้เขียนใช้ภาพพจน์เพิ่มเติมคำสารภาพของคนอธรรมว่าความหวังของเขาที่จะมีความสุข (เทียบ 3:11) ก็จะล้มเหลวตลอดไปด้วย เพราะเขาติดใจกับสิ่งอนิจจังที่ไม่จีรังยั่งยืน

g “ฟอง” แปลตามสำนวนแปลโบราณภาษาละตินและซีเรียค ต้นฉบับภาษากรีกว่า “น้ำค้างแข็ง”

h ผู้เขียนเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างชีวิตของผู้ชอบธรรมซึ่งแน่ใจว่าตนจะได้รับรางวัลนิรันดรจากพระเจ้า (ข้อ 15-16ก) พระองค์จะทรงคุ้มครองเขา (ข้อ 16ข) กับการลงโทษที่คนอธรรมจะได้รับ (ข้อ 17-23) การลงโทษนี้ใช้ภาษาสัญลักษณ์เป็นภาษาแบบวิวรณ์ เสมือนเป็นสงครามยิ่งใหญ่ (อสย 24-26; อสค 38-39) และความสับสนวุ่นวายในจักรวาล (อมส 8:8-9 เชิงอรรถ h)

i “ชีวิตอยู่ตลอดไป” หมายถึงชีวิตแท้ใกล้ชิดกับพระเจ้า ซึ่งเริ่มต้นในโลกนี้ และจะไม่มีวันสิ้นสุด

j “ในองค์พระผู้เป็นเจ้า” ยังแปลได้อีกว่า “กับองค์พระผู้เป็นเจ้า” (เทียบ สดด 16:5-6; 73:26)

k “เกราะคลุมพระองค์” หมายถึงเสื้อเกราะที่ปกคลุมทั้งตัวของผู้สวม ตามภาพพจน์ของ อสย 59:16-17 เป็นสัญลักษณ์ของการปกป้องจากพระเจ้าเที่ยงธรรมผู้ทรงช่วยมนุษย์ให้รอดพ้น พระองค์ทรงใช้สิ่งสร้างทั้งมวลเพื่อการนี้

l เรื่อง “พระแสงดาบ” ของพระเจ้า ดู ฉธบ 32:41; อสย 66:16; อสค 21

m ในพระคัมภีร์บ่อยครั้ง พระเจ้าทรงใช้ธรรมชาติเพื่อลงโทษคนอธรรม ในที่นี้ผู้เขียนคงคิดถึงเหตุการณ์ในสมัยอพยพ โดยเฉพาะใน ปชญ บทที่ 16 และ 19

n บ่อยๆ พระคัมภีร์ใช้ภาษาเรื่องพายุเมื่อกล่าวถึงการที่พระเจ้าเสด็จมาแสดงพระอานุภาพแก่มนุษย์ (ดู อพย 19:16 เชิงอรรถ g) เกี่ยวกับ “สายฟ้าแลบ” ดู สดด 18:14; ฮบก 3:11; ศคย 9:14

o “ลูกเห็บ” ยังพบได้ใน อพย 9:23-25 และ ยชว 10:11 และยังพบได้อีกในคำทำนายของบรรดาประกาศก (อสย 28:17; อสค 13:13; 38:22; ดู วว 8:7; 11:19; 16:21)

pเช่นเดียวกับทะเลต้นกกท่วมชาวอียิปต์ใน อพย 14:26ฯ และ แม่น้ำคีโชนท่วมพัดศพทหารของสิเสรา (วนฉ 5:21) น้ำท่วมเป็นสัญลักษณ์ของภัยพิบัติยิ่งใหญ่ (สดด 18:4 เชิงอรรถ e)

II. กษัตริย์ซาโลมอนและการวอนขอปรีชาญาณ

 

บรรดากษัตริย์ต้องวอนขอปรีชาญาณ

6 1aกษัตริย์ทั้งหลาย จงฟังให้เข้าใจเถิดb

                    บรรดาผู้ปกครองทั่วแผ่นดิน จงเรียนรู้เถิด

          2ท่านทั้งหลายผู้ทรงอำนาจเหนือประชาชนมากหลาย

                    และภูมิใจที่ปกครองชนชาติจำนวนมาก

          จงเงี่ยหูฟังเถิด

          3อำนาจปกครองของท่านมาจากองค์พระผู้เป็นเจ้า

                    อานุภาพของท่านมาจากพระเจ้าสูงสุดc

          พระองค์จะทรงทดสอบการกระทำของท่าน

และจะทรงพิจารณาเจตจำนงของท่าน

4แม้ท่านเป็นผู้บริหารพระอาณาจักรของพระองค์d

แต่ถ้าท่านมิได้ปกครองอย่างถูกต้อง

มิได้ปฏิบัติตามกฎหมายe

และมิได้ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า

5พระองค์ก็จะเสด็จมาเผชิญหน้าท่านอย่างน่ากลัวโดยรวดเร็ว

เพราะผู้ทรงอำนาจเหนือผู้อื่นจะถูกพระองค์ทรงพิพากษาอย่างเคร่งครัด

          6ผู้ต่ำต้อยสมควรได้รับพระเมตตา

                    แต่ผู้ทรงอำนาจจะถูกพิจารณาคดีอย่างเคร่งครัด

          7พระองค์ผู้ทรงอำนาจปกครองมวลมนุษย์จะไม่ทรงยำเกรงผู้ใด

                    จะไม่ทรงคำนึงถึงความยิ่งใหญ่ใดๆ

          เพราะพระองค์ทรงสร้างทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อย

                    และทรงเอาพระทัยใส่ดูแลทุกคนเท่าเทียมกัน

          8แต่ทรงสอบสวนตรวจตราผู้ทรงอำนาจอย่างเคร่งครัด

          9 ผู้ทรงอำนาจทั้งหลาย ข้าพเจ้าจึงพูดกับท่าน

                    เพื่อท่านจะได้เรียนรู้ปรีชาญาณและไม่หลงผิด

          10ผู้ปฏิบัติตามบทบัญญัติศักดิ์สิทธิ์อย่างเลื่อมใสศรัทธา ก็จะได้รับความศักดิ์สิทธิ์f

                    และผู้ที่เรียนรู้ธรรมบัญญัติจะได้รับการปกป้องจากข้อกล่าวหา

          11ดังนั้น ท่านจงกระตือรือร้นและตั้งใจฟังคำของข้าพเจ้า

                    จงแสวงหา แล้วท่านจะได้รับความรู้

ผู้แสวงหาปรีชาญาณย่อมพบปรีชาญาณg

          12ปรีชาญาณแจ่มใส ไม่มัวหมอง

                    ผู้รักปรีชาญาณก็จะแลเห็นได้โดยง่าย

          ผู้แสวงหาปรีชาญาณก็จะพบ

          13ปรีชาญาณแสดงตนให้เป็นที่รู้จักอยู่แล้วก่อนที่ผู้ใดจะปรารถนา

          14ผู้ลุกขึ้นแสวงหาปรีชาญาณตั้งแต่รุ่งอรุณจะไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย

                    เขาจะพบปรีชาญาณนั่งอยู่หน้าประตูบ้าน

          15การไตร่ตรองถึงปรีชาญาณเป็นความรอบรู้อย่างสมบูรณ์

                    ผู้ตั้งตาคอยปรีชาญาณจะพ้นความกังวลโดยเร็ว

          16ปรีชาญาณจะเดินไปแสวงหาผู้สมควรได้รับด้วย

                    แสดงตนอย่างอ่อนโยนแก่เขาตามทาง

          ไปพบเขา ไม่ว่าเขากำลังคิดจะทำสิ่งใดh

          17iปรีชาญาณเริ่มต้นเมื่อผู้ใดผู้หนึ่งต้องการเรียนรู้อย่างจริงใจj

                    ผู้สนใจจะเรียนรู้คือผู้รักปรีชาญาณ

          18ผู้รักปรีชาญาณย่อมปฏิบัติตามธรรมบัญญัติk

                    ผู้เชื่อฟังธรรมบัญญัติย่อมได้รับการรับรองว่าจะมีชีวิตอมตะl

          19ชีวิตอมตะทำให้เราอยู่ใกล้ชิดพระเจ้า

          20ผู้ปรารถนาปรีชาญาณจะบรรลุถึงอำนาจปกครอง

          21ดังนั้น บรรดาผู้มีอำนาจปกครองประชาชน

ถ้าท่านชื่นชอบที่จะได้ครองบัลลังก์และทรงคทา

ท่านต้องให้เกียรติปรีชาญาณ

แล้วท่านจะครองราชย์ตลอดไปm

กษัตริย์ซาโลมอนทรงอธิบายปรีชาญาณ

            22ข้าพเจ้าจะอธิบายว่าปรีชาญาณคืออะไร เกิดขึ้นอย่างไร

                    ข้าพเจ้าจะไม่ปิดบังความลับnเรื่องปรีชาญาณ

          แต่จะค้นหาความเป็นมาตั้งแต่ต้น

                    และจะเปิดเผยให้รู้ชัดเจนว่าปรีชาญาณคืออะไร

          โดยไม่หันเหไปจากความจริง

          23ข้าพเจ้าจะไม่ร่วมทางไปกับความอิจฉาที่ทรมานใจ

                    เพราะความอิจฉาไม่มีสิ่งใดเกี่ยวข้องกับปรีชาญาณ

          24ผู้มีปรีชาจำนวนมากเป็นความรอดพ้นของโลก

                    กษัตริย์ที่ทรงปรีชาเป็นความรุ่งเรืองมั่นคงของประชากร

          25ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงยอมให้ถ้อยคำของข้าพเจ้าสั่งสอนท่าน

                    แล้วท่านจะได้รับประโยชน์อย่างแน่นอน

6 a สำนวนแปลภาษาละตินมีข้อความเพิ่มเติมเริ่มต้นบทที่ 6 ซึ่งคงจะเคยเป็นหัวข้อของบทนี้ แล้วถูกคัดลอกเข้ามาเป็นตัวบทข้อ 1 ว่า “ปรีชาญาณดีกว่ากำลัง และบุรุษรอบคอบดีกว่าผู้แข็งแรง”

b คำเตือนในภาคที่สองนี้ไม่ต่างจากคำเตือนในภาคแรก (1:1) โดยเจาะจงแนะนำกษัตริย์และผู้มีอำนาจปกครองชนชาติต่างๆ

c พระคัมภีร์สอนว่าอำนาจปกครองมาจากพระเจ้า (1 พศด 29:12; สภษ 8:15-16; บสร 10:4; ดนล 2:37) ผู้เขียนขยายความคำสอนนี้ให้รวมไปถึงผู้มีอำนาจปกครองทุกระดับว่าเขาเป็นผู้รับใช้พระเจ้าผู้ทรงปกครองจักรวาล (ดู ยน 19:11; รม 13:1)

d “ผู้บริหารพระอาณาจักรของพระองค์” ยังแปลได้อีกว่า “ผู้รับใช้อำนาจปกครองของพระองค์”

e “กฎหมาย” หมายถึงกฎธรรมชาติที่มนุษย์ค้นพบได้ในมโนธรรมของตน (เทียบ รม 2:14) แต่ยังหมายถึงประมวลกฎหมายต่างๆ ซึ่งกษัตริย์ต่างศาสนาต้องทรงปฏิบัติตาม เพื่อประชาชนจะได้รับความยุติธรรมโดยทั่วหน้ากันด้วย

f ในบรรทัดนี้มีการเล่นคำในต้นฉบับภาษากรีก ซึ่งแปลตามตัวอักษรได้ว่า “ผู้รักษาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างศักดิ์สิทธิ์ก็จะได้รับความศักดิ์สิทธิ์” หมายความว่าผู้ที่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างเลื่อมใสศรัทธาจะได้รับการรับรองว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ในวันพิพากษา

g ในข้อความต่อไปนี้ คำว่า “ปรีชาญาณ” ไม่หมายถึงคำสั่งสอนเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความจริงของพระเจ้าที่ส่องสว่างแก่จิตใจมนุษย์โดยอาศัยคำสั่งสอนนั้น (ดู ข้อ 13 เทียบ ยน 6:44; ฟป 2:13; 1 ยน 4:19)

h “ไปพบเขาไม่ว่าเขากำลังคิดจะทำสิ่งใด” ยังแปลได้อีกว่า “ไปพบเขาด้วยความคิดริเริ่มต่างๆ”

i ข้อ 17-20 เขียนตามลีลาของวรรณกรรมกรีกที่ให้เหตุผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ภาคแสดงของประโยคแรกมาเป็นประธานของประโยคต่อไป

j “เรียนรู้อย่างจริงใจ” ยังแปลได้อีกว่า “การเริ่มต้นจริงใจของปรีชาญาณ”

k ความรักรวมความเชื่อฟังไว้ด้วย (อพย 20:6; ฉธบ 5:10; 11:1; บสร 2:15; ยน 14:15 ฯลฯ)

l “ชีวิตอมตะ” การปฏิบัติตามบทบัญญัติไม่มีพลังที่จะให้ชีวิตอมตะโดยตรง แต่ให้สิทธิที่จะได้รับชีวิตอมตะจากพระเจ้า (เทียบ ปชญ 2:23; 3:4)

m สำเนาโบราณภาษาละตินบางฉบับเสริมว่า “ท่านทั้งหลายที่เป็นผู้นำประชาชน จงรักแสงสว่างของปรีชาญาณ” ซึ่งน่าจะเป็นข้อความที่ผู้คัดลอกอธิบายเพิ่มเติม

n “ข้าพเจ้าจะไม่ปิดบังความลับ” ประโยคนี้กล่าวพาดพิงถึงการปฏิบัติของผู้นับถือรหัสยลัทธิที่จะเปิดเผยความลับของลัทธิของตนให้แก่ผู้ที่ทำพิธีเข้าศาสนา (“เข้ารีต”) แล้วเท่านั้น ส่วนพระคัมภีร์ยินดีเปิดเผยความลับให้ทุกคนรู้โดยไม่จำกัด

กษัตริย์ซาโลมอนทรงเป็นมนุษย์เหมือนคนอื่น

7 1ข้าพเจ้าเป็นมนุษย์ที่ต้องตายaเหมือนคนอื่น

                    เป็นบุตรหลานของมนุษย์คนแรกที่พระเจ้าทรงปั้นจากดิน

          ร่างกายข้าพเจ้าถูกปั้นขึ้นในครรภ์มารดา

          2ชีวิตข้าพเจ้าเริ่มต้นจากเชื้อของชายที่มีความสุขจากการสมรส

                    ตลอดเวลาสิบเดือนbข้าพเจ้าค่อยๆ มีรูปร่างขึ้นจากโลหิตของมารดา

          3เมื่อเกิดมา ข้าพเจ้าก็สูดอากาศเหมือนคนอื่น

                    ตกลงมาบนแผ่นดินเดียวกันที่รองรับเราทุกคน

          และการร้องไห้ก็เป็นเสียงแรกของข้าพเจ้าเหมือนทารกคนอื่น

          4มารดานำผ้าอ้อมมาพันกายข้าพเจ้าและเลี้ยงดูอย่างดี

          5ไม่มีกษัตริย์องค์ใดประสูติมาแบบอื่น

          6ทางเข้ามาในชีวิตมีทางเดียว ทางออกก็มีทางเดียวเหมือนกันทุกคน

กษัตริย์ซาโลมอนอธิษฐานขอปรีชาญาณ

            7ข้าพเจ้าอธิษฐานขอความรอบรู้ แล้วพระเจ้าก็ประทานให้

                    ข้าพเจ้าวอนขอ แล้วจิตแห่งปรีชาญาณก็มาหาข้าพเจ้า

          8ข้าพเจ้าประมาณค่าปรีชาญาณเหนือกว่าคทาและราชบัลลังก์c

                    ข้าพเจ้าคิดว่าทรัพย์สมบัติไม่มีค่าใดเลยเมื่อเปรียบกับปรีชาญาณ

          9แม้เพชรล้ำค่า ข้าพเจ้าคิดว่าด้อยกว่าปรีชาญาณ

                    ทองทั้งโลกเมื่อเปรียบกับปรีชาญาณ

          ก็เหมือนทรายหยิบมือเดียว

          เงินเมื่อเปรียบกับปรีชาญาณ ก็เหมือนดินโคลน

          10ข้าพเจ้ารักปรีชาญาณมากกว่าสุขภาพและความสวยงาม

                    ข้าพเจ้าคิดว่าปรีชาญาณมีค่ามากกว่าแสงสว่าง

          เพราะรังสีของปรีชาญาณไม่มีวันอับแสง

          11สิ่งดีทั้งหลายมาถึงข้าพเจ้าพร้อมกับปรีชาญาณ

                    ทรัพย์สมบัติล้ำค่าอยู่ในมือของปรีชาญาณ

          12ข้าพเจ้าชื่นชมสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด เพราะปรีชาญาณเป็นผู้นำมาให้d

                    แต่ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าปรีชาญาณเป็นผู้ให้กำเนิดeสิ่งเหล่านี้

          13ข้าพเจ้าเรียนรู้ปรีชาญาณอย่างจริงจัง

                    สอนปรีชาญาณแก่ผู้อื่นโดยไม่หวงแหน

          ข้าพเจ้าจะไม่ปิดบังคุณค่าของปรีชาญาณ

          14ปรีชาญาณเป็นทรัพย์สมบัติที่ไม่มีวันหมดสิ้นสำหรับมนุษย์

                    ผู้ที่มีทรัพย์สมบัตินี้f ก็จะได้เป็นมิตรกับพระเจ้า

          ผู้ได้รับการอบรมสั่งสอนจากปรีชาญาณก็เป็นที่พอพระทัยพระองค์

กษัตริย์ซาโลมอนทรงวอนขอพระเจ้าให้ทรงดลใจ

            15ขอพระเจ้าโปรดประทานให้ข้าพเจ้าพูดอย่างมีปฏิภาณ

                    และคิดถึงของประทานที่ได้รับจากพระองค์อย่างเหมาะสม

          เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้นำปรีชาญาณ

                    และทรงชี้ทางแก่ผู้มีปรีชา

          16เราทั้งหลายและวาจาของเราอยู่ในพระหัตถ์พระองค์

                    ความรอบรู้และความชำนาญในการงานของเราก็อยู่ในพระหัตถ์พระองค์ด้วย

          17พระองค์ประทานความรู้เรื่องต่างๆ โดยไม่หลงผิด

                    ให้ข้าพเจ้ารู้จักโครงสร้างของโลกและพลังของสารต่างๆ

          18ให้รู้จักเวลาทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

                    รู้จักการเปลี่ยนแปลงวิถีของดวงอาทิตย์ และการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล

          19รู้จักการหมุนเวียนของปีg และตำแหน่งของดวงดาว

          20รู้จักธรรมชาติของสัตว์และสัญชาตญาณของสัตว์ป่า

                    รู้จักพลังของจิตต่างๆ และความคิดของมนุษย์

          รู้จักพืชนานาชนิดและสรรพคุณของรากไม้ต่างๆ

          21ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ทุกสิ่งทั้งที่ซ่อนเร้นและที่แจ่มแจ้งh

                    เพราะปรีชาญาณผู้จัดสร้างทุกสิ่งได้สอนข้าพเจ้า

คำสรรเสริญปรีชาญาณi

            22ปรีชาญาณเป็นจิตรอบรู้ ศักดิ์สิทธิ์ เป็นหนึ่งไม่เหมือนใคร

                    หลากหลาย บางเบา ว่องไว

          แทรกซึมทุกอย่าง ไร้ราคี สดใส

                    ไม่เป็นพิษเป็นภัย รักความดี แหลมคม

          23ขัดขืนมิได้ เอื้ออารี รักมนุษย์

                    ยืนยง มั่นคง ไร้กังวล

          ทำสิ่งใดก็ได้ แลเห็นทุกสิ่ง

                    และแทรกซึมเข้าในจิตทั้งหลายที่รอบรู้ บริสุทธิ์ และบางเบา

          24ปรีชาญาณเคลื่อนไหวว่องไวยิ่งกว่าการเคลื่อนไหวใดๆ

                    ผ่านทะลุและแทรกซึมเข้าในทุกสิ่ง เพราะเป็นจิตบริสุทธิ์

          25ปรีชาญาณเป็นสิ่งที่ไหลล้นจากพระอานุภาพของพระเจ้า

                    เป็นรังสีแห่งพระสิริรุ่งโรจน์บริสุทธิ์ของพระผู้ทรงสรรพานุภาพ

          ดังนั้น จึงไม่มีสิ่งใดที่เป็นมลทินเข้าไปในปรีชาญาณ

          26ปรีชาญาณเป็นแสงสะท้อนความสว่างนิรันดรj

                    เป็นกระจกเงาไร้ราคีส่องการกระทำของพระเจ้า

          เป็นภาพลักษณ์แห่งความดีล้ำเลิศของพระองค์

          27ปรีชาญาณทำได้ทุกอย่างด้วยตนเอง

                    ปรีชาญาณไม่เปลี่ยนแปลง แต่ฟื้นฟูทุกสิ่งได้

          ปรีชาญาณเข้าไปในจิตวิญญาณผู้ศักดิ์สิทธิ์ตลอดมาทุกสมัย

                    บันดาลให้เป็นมิตรของพระเจ้าk และให้เป็นประกาศกl

          28เพราะพระเจ้าทรงรักเฉพาะผู้ดำเนินชีวิตด้วยปรีชาญาณ

          29ปรีชาญาณงดงามกว่าดวงอาทิตย์ สุกใสกว่ากลุ่มดาวใดๆ

                    เมื่อเทียบกับแสงสว่าง ปรีชาญาณก็ยังได้เปรียบ

          30เพราะแสงสว่างยังต้องยอมให้กลางคืนเข้ามาแทนที่

                    แต่ความชั่วร้ายจะชนะปรีชาญาณไม่ได้เลย

7 a “มนุษย์ที่ต้องตาย” สำเนาโบราณสำคัญ 2 ฉบับ คือ ฉบับวาติกันและฉบับซีนายละวลีนี้

b “สิบเดือน” นับทางจันทรคติ ตามที่คนโบราณคิดว่าทารกพัฒนาในครรภ์จนถึงเวลาคลอด (ดู โยบ 10:10 เชิงอรรถ c)

c “คทาและราชบัลลังก์” การตีค่าปรีชาญาณในข้อนี้พัฒนาความคิดมาจาก 1 พกษ 3:9-10 และจากข้อความอื่นๆ ที่ยกย่องปรีชาญาณว่ามีค่าที่สุด เช่น โยบ 28:15-19; สภษ 3:14-15; 8:10-11, 19 ผู้เขียนยังเพิ่มคุณสมบัติอื่นๆ ที่ชาวกรีกให้ความสำคัญด้วย (ข้อ 10) ได้แก่ “สุขภาพ” (เทียบ บสร 1:18; 30:14-16) “ความสวยงาม” (เทียบ สดด 45:2; บสร 26:16-17; 36:22) “แสงสว่าง” (ดู ปญจ 11:7)

d “เป็นผู้นำมาให้” อาจแปลได้อีกว่า “เป็นผู้นำ”

e “ผู้ให้กำเนิด” แปลตามสำเนาโบราณภาษากรีกบางฉบับและสำนวนแปลโบราณภาษาละติน ตัวบทที่ใช้กันทั่วไป (Textus receptus) ว่า “บ่อเกิด”

f “มีทรัพย์สมบัตินี้” แปลตามสำเนาโบราณภาษากรีกบางฉบับและสำนวนแปลโบราณภาษาซีเรียค ตัวบทที่ใช้กันทั่วไป (Textus receptus) และสำนวนแปลโบราณภาษาละตินว่า “ใช้ทรัพย์สมบัตินี้”

g “ปี” สำเนาโบราณภาษากรีกและสำนวนแปลโบราณภาษาละติน คำนี้อยู่ในรูปเอกพจน์ แต่ตัวบทที่ใช้กันทั่วไป (Textus receptus) มีคำนี้อยู่ในรูปหูพจน์

h “ที่ซ่อนเร้นและที่แจ่มแจ้ง” ความคิดนี้พัฒนามาจาก 1 พกษ 5:9-14 ผู้เขียนกล่าวถึงกษัตริย์ซาโลมอนว่าทรงมีความรู้เท่าเทียมกับนักปราชญ์ชาวกรีกร่วมสมัย ในบริบทนี้ พระเจ้าทรงเป็นบ่อเกิดของความจริงทุกประการ และความรู้ทั้งหลายของมนุษย์ขึ้นกับพระปรีชาญาณของพระเจ้า

i ผู้เขียนบรรยายคุณสมบัติต่างๆ ของปรีชาญาณ เพิ่มเติมคุณสมบัติของปรีชาญาณที่เปรียบเสมือนเป็นบุคคลบุคคลหนึ่ง (ดู สภษ 8:22 เชิงอรรถ g) เขาเคยสัญญาไว้แล้วใน ปชญ 6:22 ว่าจะบรรยายถึงทั้งธรรมชาติและต้นกำเนิดของปรีชาญาณ เขาจึงเริ่มกล่าวถึงคุณสมบัติต่างๆ ของปรีชาญาณ ซึ่งคล้ายกับพระปรีชาญาณของพระเจ้า โดยใช้คำขยายต่างๆ ถึง 21 คำ (= 3x7) เป็นสัญลักษณ์หมายถึงความสมบูรณ์ของปรีชาญาณโดยแท้จริง (ดู ข้อ 22-24) ต่อจากนั้น เขาจะอธิบายความสัมพันธ์ที่ปรีชาญาณมีกับพระเจ้า โดยใช้ภาพที่แสดงถึงทั้งต้นกำเนิดและการมีส่วนร่วมพระธรรมชาติของพระเจ้าอย่างใกล้ชิด (ข้อ 25-26) ผู้เขียนใช้ศัพท์จากปรัชญากรีกบรรยายถึงคุณสมบัติต่างๆ ของปรีชาญาณ และสรุปว่าปรีชาญาณเป็นหนึ่งเดียวกับพระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้า (ปชญ 8:1) คำสรรเสริญปรีชาญาณในฐานะที่มีความใกล้ชิดกับพระธรรมชาติของพระเจ้า (8:3) มีอำนาจเหมือนพระองค์ (7:23, 25, 27) และร่วมงานเนรมิตสร้างพร้อมกับพระองค์ (7:12, 22; 8:4, 6) คำสรรเสริญปรีชาญาณที่นี่ (รวมทั้งใน ปชญ 9:17 ดู อสย 11:2 เชิงอรรถ c) เป็นการเกริ่นถึงเทววิทยาเรื่องพระจิตเจ้าและคริสตวิทยาในพันธสัญญาใหม่ (เทียบ ยน, อฟ, คส, และ ฮบ)

j “ความสว่างนิรันดร” หมายถึงพระเจ้า ข้อความในพระคัมภีร์ก่อนหน้านั้นบางข้อความชวนให้คิดถึงแสงสว่างเหนือธรรมชาติที่ฉายออกมาจากพระเจ้า (ฮบก 3:4) ส่องสว่างผู้มีความเชื่อหรือประชากรของพระองค์ (สดด 18:28-29; อสย 2:5) เป็นรัศมีแห่งพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ (อสย 60:1, 19-20; บรค 5:9) พำนักอยู่กับพระองค์ (ดนล 2:22 เชิงอรรถ g) แต่ 1 ยน 1:1-5 เท่านั้นจะกล่าวโดยตรงว่าพระเจ้าทรงเป็นความสว่าง

k “มิตรของพระเจ้า” เช่นเดียวกับอับราฮัม (2 พศด 20:7; อสย 41:8; ยก 2:23) และโมเสส (อพย 33:11)

l “ประกาศก” หมายถึงไม่เฉพาะแต่ประกาศกยิ่งใหญ่และผู้ที่พระเจ้าทรงดลใจให้เขียนหนังสือในพระคัมภีร์ (บสร 24:33) เท่านั้น แต่ยังหมายถึงทุกคนที่ดำเนินชีวิตศักดิ์สิทธิ์ ชิดสนิทกับพระเจ้า เขารู้ถึงพระประสงค์และธรรมล้ำลึกของพระเจ้า จึงได้รับอำนาจให้ถ่ายทอดความรู้นี้แก่ผู้อื่น

8 1ปรีชาญาณแผ่พลังไปทั่วทุกมุมโลก

                    ปกครองทุกสิ่งอย่างดีเลิศ

กษัตริย์ซาโลมอนทรงรักปรีชาญาณa

            2ข้าพเจ้ารักปรีชาญาณตั้งแต่วัยเยาว์

                    ข้าพเจ้าตั้งใจให้ปรีชาญาณเป็นคู่ชีวิต

          ข้าพเจ้าหลงรักปรีชาญาณเพราะความงามของเธอ

          3ปรีชาญาณแสดงว่าตนมีศักดิ์ศรีสูงส่ง เพราะมีชีวิตร่วมกับพระเจ้า

                    และเป็นที่รักขององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงครอบครองทุกสิ่ง

          4ปรีชาญาณมีส่วนร่วมในความรู้ของพระเจ้า

                    และเป็นผู้เลือกงานที่พระองค์จะทรงกระทำ

          5ถ้าในชีวิตนี้ ทรัพย์สมบัติเป็นสิ่งน่าปรารถนาแล้ว

                    จะมีสิ่งใดเป็นทรัพย์สมบัติที่มีค่ามากกว่าปรีชาญาณ

          เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นผลงานของปรีชาญาณ

          6ถ้าผู้ใดต้องการทำงานด้วยความรอบรู้

                    ใครจะเป็นนายช่างที่ชำนาญมากกว่าปรีชาญาณ

          7ถ้าผู้ใดรักความชอบธรรม

                    ก็จะรู้ว่าคุณธรรมต่างๆ เป็นผลงานของปรีชาญาณb

          ปรีชาญาณสอนความรู้ประมาณและความรอบคอบ

                    สอนความยุติธรรมและความกล้าหาญ

          ไม่มีสิ่งใดมีประโยชน์ในชีวิตแก่มนุษย์มากกว่าคุณธรรมเหล่านี้

          8ถ้าผู้ใดปรารถนาจะมีประสบการณ์หลากหลาย

                    ปรีชาญาณก็รู้อดีต และเห็นล่วงหน้าถึงอนาคต

          ปรีชาญาณเข้าใจคำคมและไขปริศนาcต่างๆ

                    ปรีชาญาณรู้ล่วงหน้าถึงเครื่องหมายอัศจรรย์และปาฏิหาริย์ต่างๆ

          รวมทั้งเหตุการณ์ตามฤดูกาลและยุคสมัยd

ผู้ปกครองจำเป็นต้องมีปรีชาญาณ

            9ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเลือกปรีชาญาณไว้เป็นเพื่อนร่วมชีวิต

                    รู้ดีว่าปรีชาญาณจะเป็นที่ปรึกษาในเรื่องที่ดี

          เป็นผู้ให้กำลังใจในยามทุกข์และมีกังวล

          10อาศัยปรีชาญาณ ข้าพเจ้าจะได้รับเกียรติในชุมชน

                    แม้ยังหนุ่มก็จะได้รับเกียรติในหมู่ผู้อาวุโส

          11ผู้คนจะกล่าวว่าข้าพเจ้าพิพากษาอย่างเฉียบแหลม

                    บรรดาผู้ทรงอำนาจจะพิศวงชมเชยข้าพเจ้า

          12ถ้าข้าพเจ้าเงียบ ทุกคนก็จะรอคอย

                    ถ้าข้าพเจ้าพูด เขาก็จะตั้งใจฟัง

          ถ้าข้าพเจ้าพูดนาน เขาก็จะเอามือแตะริมฝีปากด้วยความพิศวงe

          13ข้าพเจ้าจะเป็นอมตะเพราะปรีชาญาณ

                    คนรุ่นหลังจะระลึกถึงข้าพเจ้าตลอดไป

          14ข้าพเจ้าจะปกครองบรรดาประชาชาติ

                    และชนชาติต่างๆ จะยอมอ่อนน้อมต่อข้าพเจ้า

          15เมื่อได้ยินนามของข้าพเจ้า บรรดาผู้ปกครองที่ทุกคนเกรงขามก็จะมีความกลัว

                    ข้าพเจ้าจะแสดงความมีใจกรุณาต่อประชากร และความกล้าหาญในการสงคราม         

16เมื่อข้าพเจ้ากลับบ้าน ข้าพเจ้าจะพักผ่อนเคียงข้างปรีชาญาณ

                    เพราะเมื่อมีปรีชาญาณเป็นเพื่อน ใจข้าพเจ้าจะไม่ขมขื่น

          เมื่อข้าพเจ้ามีชีวิตร่วมกับปรีชาญาณ ข้าพเจ้าจะไม่มีความทุกข์

                    จะมีก็แต่ความสุขและความยินดี

กษัตริย์ซาโลมอนทรงคิดจะวอนขอปรีชาญาณจากพระเจ้า

            17ข้าพเจ้าครุ่นคิดเช่นนี้ พินิจพิจารณาในใจว่า

                    ความสนิทสัมพันธ์กับปรีชาญาณfนำชีวิตอมตะมาให้

          18ความเป็นมิตรกับปรีชาญาณนำความสุขแท้จริง

                    ผลงานของปรีชาญาณนำทรัพย์สมบัติเหลือคณนามาให้

          ความคุ้นเคยกับปรีชาญาณจะนำความรอบรู้

                    การสนทนากับปรีชาญาณจะนำชื่อเสียงมาให้

          ข้าพเจ้าจึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อจะได้ปรีชาญาณมาเป็นของตน

          19ข้าพเจ้ามีนิสัยดีตั้งแต่เป็นเด็ก

                    ได้รับจิตวิญญาณที่ดีตั้งแต่กำเนิด

          20หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้น เพราะข้าพเจ้าดีอยู่แล้ว

จึงเข้ามาอยู่ในร่างกายไร้มลทินg

          21ข้าพเจ้ารู้ว่าจะมีปรีชาญาณไม่ได้ ถ้าพระเจ้าไม่ประทานให้

                    และการรู้ว่าของประทานนี้มาจากที่ใด ก็นับว่าเป็นความฉลาดรอบรู้อยู่แล้ว

          ข้าพเจ้าจึงหันไปหาองค์พระผู้เป็นเจ้า วอนขอพระองค์

                    ทูลพระองค์สุดใจว่าดังนี้

8 a กษัตริย์ซาโลมอนขณะที่ยังทรงพระเยาว์ทรงเห็นว่าปรีชาญาณเป็นคู่ชีวิตในอุดมการณ์ เพราะปรีชาญาณไม่เพียงแต่มีความสวยงาม (ข้อ 2) เท่านั้น แต่ยังมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมพระเจ้า (ข้อ 3) และเป็นบ่อเกิดของความรู้ ทรัพย์สมบัติ ความสำเร็จ ความชอบธรรม และประสบการณ์ต่างๆ ของชีวิตด้วย (ข้อ 4-8)

b ผู้เขียนน่าจะยืมความคิดนี้จาก สภษ 31:10-31 มาประยุกต์ใช้กับปรีชาญาณ (ดู สภษ 31:30 เชิงอรรถ i) เขายังกล่าวถึงคุณธรรมหลัก (cardinal virtues) 4 ประการตามความคิดของปรัชญากรีก ซึ่งต่อมานักเทววิทยาชาวคริสต์จะนำมาใช้อีกด้วย

c “คำคมและไขปริศนา” หมายถึงความคิดทางศีลธรรมที่จงใจใช้คำพูดคลุมเครือเข้าใจยาก (เทียบ วนฉ 14:12; สภษ 1:6; บสร 39:2-3; อสค 17:2) กษัตริย์ซาโลมอนทรงมีความสามารถพิเศษในการแก้ปัญหาต่างๆ (1 พกษ 5:12; 10:1-3; ปญจ 12:9; บสร 47:15-17) ส่วน “เครื่องหมายอัศจรรย์และปาฏิหาริย์” หมายถึงอัศจรรย์ต่างๆ ในสมัยอพยพ (ดู อพย 10:16)

d หมายถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะโอกาสต่างๆ ที่มนุษย์ประสบความสำเร็จ (เทียบ ปญจ 3:1-8) คำบรรยายถึงคุณสมบัติของปรีชาญาณในที่นี้เสริมความรู้ต่างๆ ที่มีกล่าวถึงใน 7:17-21

e การเอามือแตะริมฝีปากเป็นการบอกว่าตนจะเงียบไม่พูดอะไรอีก (ดู สภษ 30:32; บสร 5:12) เพราะความแปลกใจหรือเพราะความสับสน (เทียบ โยบ 21:5; 40:4; มคา 7:16) หรือเพราะรู้สึกพิศวง ( โยบ 29:9)

f “ความสนิทสัมพันธ์กับปรีชาญาณ” เป็นของประทานจากพระเจ้า (ดู ข้อ 21) ชีวิตอมตะก่อนอื่นหมดหมายถึงการจะมีผู้ระลึกถึงตนในอนาคต (ดู ข้อ 13) แต่แน่ทีเดียวยังหมายถึงว่าแต่ละคนจะมีชีวิตไม่รู้จักตายอีกด้วย (ดู ปชญ 4:1) เพราะปรีชาญาณจะถ่ายทอดคุณสมบัติที่ตนมีตามธรรมชาติให้แก่มนุษย์

g ข้อความนี้ดูเหมือนจะกล่าวถึงความเชื่อของชาวกรีกที่ว่า วิญญาณของมนุษย์มีความเป็นอยู่ต่างหากแล้ว ก่อนจะมาอยู่ร่วมกับร่างกาย แต่จากบริบทในข้อ 19 ดูเหมือนว่าคำพูดเช่นนี้ต้องการเพียงแก้ความคิดที่ว่า ข้าพเจ้า (คือ “ร่างกาย” หรือ “อัตตา”) ได้รับจิตวิญญาณเป็นมรดกมาตั้งแต่เกิด

คำอธิษฐานของกษัตริย์ซาโลมอนa

9 1“ข้าแต่พระเจ้าของบรรพบุรุษb องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระเมตตา

                    พระองค์ทรงเนรมิตจักรวาลด้วยพระวาจา

          2ทรงปั้นมนุษย์ด้วยพระปรีชาญาณ

                    ให้มนุษย์เป็นนายเหนือทุกสิ่งที่ทรงเนรมิต

          3ให้เขาปกครองโลกด้วยความศักดิ์สิทธิ์และความยุติธรรม

                    ให้เขาตัดสินคดีด้วยใจเที่ยงธรรม

          4โปรดประทานพระปรีชาญาณซึ่งประทับเคียงข้างพระบัลลังก์ของพระองค์

                    โปรดอย่าทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าไปจากบรรดาบุตรของพระองค์

          5เพราะข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้พระองค์ เป็นบุตรผู้รับใช้หญิงของพระองค์

                    ข้าพเจ้าเป็นคนอ่อนแอ จะมีชีวิตอยู่ไม่นาน

          ขาดความรู้ในพระวินิจฉัยและบทบัญญัติต่างๆ

          6แม้คนดีพร้อมที่สุดในหมู่มนุษย์

                    ถ้าขาดพระปรีชาญาณที่มาจากพระองค์ เขาก็จะไม่มีค่าใดเลย

          7พระองค์ทรงเลือกสรรข้าพเจ้าc ให้เป็นกษัตริย์ปกครองประชากรของพระองค์

                    ให้เป็นผู้พิพากษาบรรดาบุตรชายหญิงของพระองค์

          8ทรงบัญชาให้ข้าพเจ้าสร้างพระวิหารบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์

                    ให้สร้างพระแท่นบูชาในนครซึ่งเป็นที่ประทับ

          ตามแบบกระโจมศักดิ์สิทธิ์dที่พระองค์ทรงเตรียมไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม

          9พระปรีชาญาณสถิตกับพระองค์ และรู้จักพระราชกิจของพระองค์

                    เมื่อทรงเนรมิตโลก พระปรีชาญาณก็อยู่กับพระองค์

          เข้าใจดีว่าสิ่งใดเป็นที่พอพระทัย

                    และสิ่งใดสอดคล้องกับบทบัญญัติของพระองค์

          10โปรดทรงส่งพระปรีชาญาณจากสวรรค์ศักดิ์สิทธิ์

                    และจากพระบัลลังก์รุ่งโรจน์ของพระองค์

          เพื่อจะได้อยู่เคียงข้างและร่วมงานกับข้าพเจ้า

                    สอนข้าพเจ้าให้รู้ว่าสิ่งใดเป็นที่พอพระทัย

          11พระปรีชาญาณรู้และเข้าใจทุกสิ่ง

                    จะนำข้าพเจ้าด้วยความรอบรู้ในกิจการต่างๆ ของข้าพเจ้า

          และจะคุ้มครองข้าพเจ้าด้วยสิริรุ่งโรจน์eของตน

          12แล้วกิจการของข้าพเจ้าจะเป็นที่พอพระทัย

                    ข้าพเจ้าจะปกครองประชากรของพระองค์ด้วยความยุติธรรม

          และจะคู่ควรกับพระบัลลังก์พระบิดาของข้าพเจ้า

          13มนุษย์ใดจะรู้จักพระประสงค์ของพระเจ้าได้

                    ผู้ใดจะเข้าใจได้ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์สิ่งใด

          14มนุษย์ผู้รู้ตายใช้เหตุผลอย่างไม่มั่นใจ

                    ความคิดของเราก็ไม่แน่นอน

          15เพราะร่างกายที่เสื่อมสลายได้นี้ถ่วงวิญญาณ

                    และร่างกายซึ่งเป็นเสมือนที่พำนักทำด้วยดินของวิญญาณ

ก็ถ่วงจิตใจที่มีความคิดหนักอยู่แล้วf

16การจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ของโลกนี้ยากมาก

การจะพบสิ่งที่อยู่แค่เอื้อมก็ยากนักหนา

แล้วผู้ใดจะค้นพบสิ่งที่อยู่ในสวรรค์ได้

17ผู้ใดจะล่วงรู้พระประสงค์ของพระองค์ได้

ถ้าพระองค์ไม่ประทานพระปรีชาญาณให้เขา

ถ้าพระองค์ไม่ทรงส่งพระจิตศักดิ์สิทธิ์ลงมาจากเบื้องบน

18วิถีทางของชาวโลกถูกดัดให้ตรงเช่นนี้

มนุษย์ได้รับการสั่งสอนให้รู้ถึงสิ่งที่พอพระทัย

เขาได้รับความรอดพ้นก็อาศัยพระปรีชาญาณนี้เอง”g       

9 a บทอธิษฐานภาวนาบทนี้เลียนแบบบทอธิษฐานภาวนาของกษัตริย์ซาโลมอนใน 1 พกษ 3:6-9 และ 2 พศด 1:8-10 ในบทภาวนา กษัตริย์ซาโลมอนทรงระลึกถึงเหตุการณ์บางประการในพระชนมชีพของพระองค์ (ข้อ 5, 7-8, 12) แต่ทรงขยายวิสัยทัศน์ครอบคลุมไปถึงสภาพของมนุษย์ทุกคนที่พระองค์ทรงมีส่วนร่วมด้วย (ข้อ 1-3, 5ข, 6, 13-17) บทภาวนาบทนี้จึงแบ่งได้เป็น 3 ตอน (ข้อ 1-6, 7-12, 13-18) แต่ละตอนสะท้อนความคิดของตอนอื่น และแต่ละตอนเท้าความถึงการที่พระเจ้าประทานปรีชาญาณให้มนุษย์ (ข้อ 4, 10, 17)

b “บรรพบุรุษ” หมายถึงบรรพบุรุษของชาวอิสราเอล โดยเฉพาะอับราฮัม อิสอัคและยาโคบ (ปฐก 32:10; 2 พศด 20:6) รวมทั้งกษัตริย์ดาวิด (1 พกษ 3:6; 1 พศด 28:9; 2 พศด 1:9)

c “ทรงเลือกสรรข้าพเจ้า” พระเจ้าทรงเลือกซาโลมอนให้ขึ้นเป็นกษัตริย์แทนที่จะทรงเลือกอาโดนียาห์และพระเชษฐาองค์อื่นๆ (1 พกษ 1; 1 พศด 28:5-6)

d “กระโจมศักดิ์สิทธิ์” อาจเข้าใจได้หลายอย่าง บางคนคิดว่าหมายถึงพระวิหารของพระเจ้าในสวรรค์ (สดด 18:7; 96:6; ฮบ 8:2; 9:11; วว3:12) บางคนคิดว่าหมายถึงรูปจำลองในสวรรค์ของพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม (อพย 15:17; 1 พศด 28:19) บางคนยังคิดว่าหมายถึง “กระโจมนัดพบ” ในสมัยอพยพ (บสร 24:10) ที่สร้างขึ้นตามรายละเอียดที่พระเจ้าทรงกำหนด (อพย 25:9,40; กจ 7:44; ฮบ 8:5) ส่วน “พระแท่นบูชาในสวรรค์” ดู วว 6:9; 8:3-4; 14:18 ดังนั้น “แบบ” ของกระโจมศักดิ์สิทธิ์จึงหมายถึงทั้งแบบของพระวิหารและแบบของพระแท่นบูชาที่ตั้งอยู่ภายนอกให้ทุกคนแลเห็นได้ (1 พกษ 8:22, 54, 62-64)

e “สิริรุ่งโรจน์” นี้อาจหมายถึงพระอานุภาพของพระเจ้า (เทียบ รม 6:4) ซึ่งเปรียบเสมือนแสงสว่าง (เทียบ อสย 60:1-3; บรค 5:7,9) ที่ห้อมล้อมอยู่เหมือนก้อนเมฆที่ปกป้อง (เทียบ บสร 14:27)

f ความคิดที่ว่าร่างกายคอยถ่วงวิญญาณ ชวนให้คิดถึงปรัชญากรีกที่สอนว่าร่างกายเป็นศัตรูกับวิญญาณ (ดู รม 7:25 เชิงอรรถ m) แต่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับความคิดเช่นนี้ ในพันธสัญญาเดิม ภาพของกระโจมที่พักอาศัยชวนให้คิดว่าชีวิตของมนุษย์ไม่จีรังยั่งยืน (โยบ 4:21; อสย 33:20; 38:12) ส่วนวลี “ทำด้วยดิน” (หรือ “ผงคลี”) เป็นการกล่าวพาดพิงถึง ปฐก 2:7; โยบ 4:19; ดูในพันธสัญญาใหม่ 2 คร 4:7; 5:1-4; 2 ปต 1:13-14 ส่วนเรื่องความขัดแย้งระหว่างร่างกายกับวิญญาณ ดู รม 7:14-15; กท 5:17

g พระปรีชาญาณช่วยมนุษย์ให้พ้นจากอันตรายทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต ประโยคนี้จึงเกริ่นถึงบทบาทของพระปรีชาญาณในการช่วยมนุษยชาติให้ได้รับความรอดพ้น ซึ่งเป็นคำสอนในภาคที่สามของหนังสือปรีชาญาณ สำเนาโบราณภาษาละตินหลายฉบับเสริมข้อความที่นี่ว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า เขาเหล่านั้นเป็นที่พอพระทัยพระองค์ตั้งแต่แรกเริ่ม”

III. บทบาทของพระปรีชาญาณในประวัติศาสตร์

 

ตั้งแต่อาดัมจนถึงโมเสส

10 1พระปรีชาญาณได้ปกป้องบิดาของมนุษย์ทั้งหลาย

                    คือมนุษย์คนแรกที่พระเจ้าทรงปั้นขึ้นมา

          เมื่อทรงสร้างเขาเพียงคนเดียวa

พระปรีชาญาณช่วยมนุษย์ให้พ้นความผิดbของตน

2และให้อำนาจแก่เขาปกครองทุกสิ่ง

3แต่เมื่อคนอธรรมcคนหนึ่งบันดาลโทสะจนละทิ้งพระปรีชาญาณ

เขาก็พินาศไปเพราะฆ่าน้องชายด้วยความโกรธ

4เมื่อน้ำท่วมแผ่นดินเพราะความผิดของเขา

พระปรีชาญาณก็ช่วยกู้แผ่นดินไว้อีกครั้งหนึ่ง

นำผู้ชอบธรรมdให้พ้นภัยอาศัยไม้ไร้ค่าชิ้นหนึ่ง

5เมื่อชนชาติต่างๆ ร่วมใจกันทำความชั่วร้ายและต้องสับสนวุ่นวาย

พระปรีชาญาณก็พบผู้ชอบธรรมe

รักษาเขาให้ไม่มีคำตำหนิเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า

รักษาเขาไว้ให้แข็งแรง แม้จะสงสารบุตรของตน

6เมื่อบรรดาคนอธรรมถูกทำลายให้พินาศ

พระปรีชาญาณก็ช่วยผู้ชอบธรรมfคนหนึ่งให้รอดพ้น

เขาหนีไปได้เมื่อไฟตกลงมาเหนือเมืองทั้งห้าเมือง

7หลักฐานว่าคนเหล่านั้นเป็นคนชั่วร้าย

ก็คือแผ่นดินถูกทิ้งร้างมีควันกรุ่นอยู่

ต้นไม้ออกผลแต่ไม่รู้จักสุก

ที่นั่นยังมีเสาเกลือเป็นอนุสรณ์ถึงจิตวิญญาณที่ไม่มีความเชื่อ

8ผู้ที่ละทิ้งพระปรีชาญาณได้รับความเสียหาย

จากการที่ไม่รู้จักความดี

และยังทิ้งอนุสรณ์ของความโฉดเขลาไว้แก่ชนรุ่นหลังอีกด้วย

เพื่อความผิดของเขาจะได้ไม่ถูกปิดบังไว้

9แต่พระปรีชาญาณช่วยผู้รับใช้ให้พ้นจากความทุกข์ร้อน

10พระปรีชาญาณนำผู้ชอบธรรมgไปตามทางตรง

เมื่อเขาหนีจากความโกรธแค้นของพี่ชาย

แสดงพระอาณาจักรของพระเจ้าแก่เขา

สอนให้เขารู้จักสิ่งศักดิ์สิทธิ์h

ทำให้เขารับผลสำเร็จจากความเหน็ดเหนื่อย

ทำให้งานหนักของเขาบังเกิดผลมากมาย

11พระปรีชาญาณอยู่เคียงข้างเขาเมื่อคนโลภกดขี่เขา

ช่วยเขาให้มั่งคั่ง

12ปกป้องเขาจากศัตรู

พิทักษ์รักษาเขาจากผู้ที่คอยดักทำร้ายเขา

ให้เขามีชัยชนะในการต่อสู้อย่างทรหด

เพื่อสอนเขาให้รู้ว่าความยำเกรงพระเจ้าเข้มแข็งเหนือสิ่งใดi

13พระปรีชาญาณมิได้ละทิ้งผู้ชอบธรรมที่ถูกขายเป็นทาสj

แต่ช่วยเขาให้พ้นจากบาป

14พระปรีชาญาณลงไปในคุกกับเขา

ไม่ละทิ้งเขาเมื่อเขาถูกจองจำ

และนำคทาครองราชอาณาจักรมาให้เขา

ทำให้เขามีอำนาจเหนือผู้ที่เคยข่มเหงเขา

แสดงว่าผู้ที่เคยใส่ความเขาเป็นคนพูดเท็จ

และประทานเกียรติถาวรแก่เขา

การอพยพ

            15พระปรีชาญาณช่วยประชากรศักดิ์สิทธิ์k

และพงศ์พันธุ์ไร้มลทินให้พ้นจากชนชาติที่กดขี่

16พระปรีชาญาณเข้าในจิตใจของผู้รับใช้คนหนึ่งขององค์พระผู้เป็นเจ้า

ต่อต้านบรรดากษัตริย์lน่าเกรงขามด้วยปาฏิหาริย์

และเครื่องหมายอัศจรรย์ต่างๆ

17พระปรีชาญาณให้ค่าตอบแทนการทำงานเหน็ดเหนื่อยแก่ผู้ศักดิ์สิทธิ์

นำเขาไปในหนทางน่าพิศวง

เป็นร่มเงาให้แก่เขาในเวลากลางวันm

และเป็นแสงดาวในเวลากลางคืน

18พระปรีชาญาณบันดาลให้เขาทั้งหลายข้ามทะเลแดง

นำเขาผ่านกระแสน้ำลึก

19ทำให้บรรดาศัตรูจมน้ำตาย

โยนเขาขึ้นมาจากทะเลลึก

20ดังนั้น บรรดาผู้ชอบธรรมจึงยึดสิ่งของของคนอธรรมไว้ได้n

                    ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า เขาเหล่านั้นขับร้องสดุดีพระนามศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์

          และร่วมใจกันสรรเสริญพระหัตถ์ที่ปกป้องเขาไว้

21เพราะพระปรีชาญาณเปิดปากคนใบ้

และบันดาลให้ทารกพูดได้ชัดเจนo

10 a “เพียงคนเดียว” เป็นการกล่าวพาดพิงถึงความโดดเดี่ยวของอาดัมมนุษย์คนแรก เมื่อพระเจ้าทรงสร้าง เขาจึงต้องการความช่วยเหลือจากพระปรีชาญาณเป็นพิเศษ

b “พ้นความผิด” ชาวยิวเคยอธิบายว่าอาดัมได้เป็นทุกข์กลับใจ จึงได้รับอภัยจากพระเจ้า เพราะพระปรีชาญาณมีความสงสารต่อเขา จึงให้เขายังมีอำนาจปกครองดูแลสิ่งสร้างต่อไป และประทานพละกำลังให้เขาปฏิบัติหน้าที่นี้ได้ บรรดาปิตาจารย์หลายท่านก็รับความคิดนี้ด้วย

c “คนอธรรม” หมายถึงกาอิน (ดู ปฐก 4:8-13) ชาวยิวคิดว่าการที่เขาฆ่าอาแบลน้องชายทำให้เขาต้องรับโทษ มีชีวิตด้วยความทุกข์และตายไปในที่สุด ผู้เขียนหนังสือปรีชาญาณยังคิดอีกว่ากาอินเป็นสาเหตุให้พระเจ้าทรงลงโทษมนุษยชาติด้วยน้ำวินาศ แต่พระคัมภีร์ (ปฐก 6:1-5) ให้เหตุผลอื่นสำหรับน้ำวินาศ

d “ผู้ชอบธรรม” ผู้นี้หมายถึงโนอาห์ (ดู ปฐก 6:9)

e “ผู้ชอบธรรม” ในข้อนี้หมายถึงอับราฮัม (ดู ปฐก 22)

f “ผู้ชอบธรรม” ในข้อนี้หมายถึงโลท (ดู ปฐก 19)

g “ผู้ชอบธรรม” ในข้อนี้หมายถึงยาโคบ (ดู ปฐก 27:41-45; 28:5-6)

h “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ยังแปลได้อีกว่า “บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งหมายถึง “ทูตสวรรค์” (ปฐก 28:12) “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” อาจหมายถึงความจริงที่พระเจ้าทรงเปิดเผยเกี่ยวกับบรรดาทูตสวรรค์ หรือหมายถึงพระสัญญาที่ทรงกระทำกับยาโคบ (ปฐก 28:13-15)

i ดูเหมือนว่ายาโคบมีชัยชนะในการต่อสู้กับพระเจ้าไม่ใช่เพราะเขามีกำลังกาย แต่เพราะมีพลังจิตที่พระปรีชาญาณประทานให้

j “ผู้ชอบธรรมที่ถูกขายเป็นทาส” หมายถึงโยเซฟ (ดู ปฐก บทที่ 37; 39-41)

k ประชากรที่พระเจ้าทรงช่วยให้ออกจากอียิปต์เป็น “ประชากรศักดิ์สิทธิ์และไร้มลทิน” เพราะพระเจ้าทรงเรียกเขาและทรงกระทำพันธสัญญาด้วย (ดู อพย 19:6; ลนต 19:2) ผู้เขียนหนังสือปรีชาญาณมองประวัติศาสตร์ของการอพยพในแง่ดีเท่านั้น และจะทำเช่นนี้ด้วยตลอดภาคที่ 3 ในหนังสือนี้ เขามีเจตนา 3 ประการคือ (1) เพื่อแสดงว่าพระเจ้าทรงปฏิบัติต่างกันต่อผู้ชอบธรรมและต่อคนอธรรม (2) เพื่อยกย่องศาสนาและจริยธรรมของชาวยิวเหนือชนต่างชาติ และ (3) เพื่อแสดงว่าเหตุการณ์ในอดีตเป็นการเกริ่นล่วงหน้าถึงเหตุการณ์ในอนาคตยุคสุดท้าย

l “บรรดากษัตริย์” เป็นการพูดเกินความจริง โดยแท้จริงแล้วผู้เขียนหมายถึงกษัตริย์ฟาโรห์เพียงพระองค์เดียว

m ผู้เขียนกล่าวว่า การที่พระเจ้าทรงดูแลประชากรอิสราเอลระหว่างการเดินทางอพยพอาศัยเมฆในเวลากลางวัน และเพลิงในเวลากลางคืนนั้น เป็นการกระทำของพระปรีชาญาณ (เทียบ อพย 13:21-22; 14:19-20)

n ธรรมประเพณีโบราณของชาวยิวเล่าว่า เมื่ออพยพออกจากอียิปต์ ชาวอิสราเอลได้ยึดอาวุธของชาวอียิปต์ที่จมน้ำตายในทะเล

o พระคัมภีร์เล่าว่าพระเจ้าทรงบันดาลให้โมเสสซึ่งพูดติดอ่าง พูดจาได้คล่องแคล่วกับกษัตริย์ฟาโรห์ (อพย 4:10; 6:12, 30) ในข้อนี้ยังกล่าวอีกว่าพระเจ้าทรงบันดาลให้ชาวอิสราเอลทุกคน แม้แต่ทารก สรรเสริญพระองค์ได้อย่างชัดเจน

11 1พระปรีชาญาณช่วยให้กิจการของเขาทั้งหลายประสบความสำเร็จ

                    อาศัยประกาศกศักดิ์สิทธิ์ผู้หนึ่งa

2เขาทั้งหลายเดินทางผ่านถิ่นทุรกันดารที่ไม่มีผู้อาศัย

และตั้งกระโจมในที่ที่ไม่เคยมีผู้ใดผ่าน

3เขาต้านทานบรรดาศัตรู

และผลักไสบรรดาคู่อริb

 

การเปรียบเทียบครั้งที่หนึ่ง - น้ำดับกระหายชาวอิสราเอล แต่ประหารชีวิตชาวอียิปต์c

4ข้าแต่พระเจ้า เมื่อประชากรกระหายน้ำเรียกหาพระองค์

พระองค์ก็ประทานน้ำจากหินผาให้เขา

ศิลาแข็งแกร่งบำบัดความกระหายของเขาได้

5สิ่งที่พระองค์ทรงใช้ลงโทษศัตรูของเขา

กลับเป็นคุณประโยชน์แก่เขาในยามขัดสน

6สำหรับบรรดาศัตรู กระแสน้ำในแม่น้ำใหญ่ขุ่นเป็นโลหิตเน่าเหม็น

7เป็นการลงโทษที่เขาสั่งให้ฆ่าทารกd

ส่วนประชากรของพระองค์

พระองค์ประทานน้ำให้มากมายเกินความคาดหมาย

8พระองค์ทรงบันดาลให้ประชากรกระหายน้ำ

เพื่อเขาจะได้เข้าใจว่าพระองค์ทรงลงโทษศัตรูของเขาอย่างไร

9เมื่อประชากรถูกทดลองe เป็นการตีสอนด้วยพระเมตตา

เขาก็เข้าใจว่าคนอธรรมต้องทนทุกข์ทรมานเพียงใด

เมื่อถูกพระองค์ทรงลงโทษอย่างรุนแรง

10พระองค์ทรงทดลองประชากรดุจบิดาที่เตือนสอน

แต่ทรงทดสอบศัตรูดุจกษัตริย์ผู้เคร่งครัดที่ทรงลงโทษ

11แม้จะอยู่ใกล้หรืออยู่ไกลประชากรของพระองค์

เขาก็ได้รับความทุกข์ทรมานเช่นเดียวกัน

12เขาต้องรับทุกข์เป็นสองเท่า

ต้องร้องไห้คร่ำครวญเมื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตf

13เมื่อเขารู้ว่าการที่เขาถูกลงโทษ

กลับเป็นประโยชน์ต่อประชากรของพระองค์g

เขาจึงสำนึกว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าประทับอยู่ที่นั่นh

14โมเสสที่เขาเคยนำไปทิ้ง และต่อมาได้เย้ยหยันและขับไล่ไปนั้นi

ในที่สุดก็ทำให้เขาต้องประหลาดใจ

เมื่อต้องกระหายน้ำ ต่างจากการกระหายน้ำของบรรดาผู้ชอบธรรม

 

พระเจ้าทรงลงโทษชาวอียิปต์ตามความเหมาะสม

          15ความคิดโง่เขลาและชั่วร้ายทำให้เขาเหล่านั้น

หลงไปนับถือสัตว์เลื้อยคลานไร้สติปัญญา และแมลงน่ารังเกียจj

พระองค์จึงทรงส่งสัตว์ไร้สติปัญญาkจำนวนมากมาลงโทษเขา

16เขาจะได้รู้ว่ามนุษย์ใช้สิ่งใดทำบาป

ก็จะถูกสิ่งนั้นลงโทษl

17ถูกแล้ว พระหัตถ์ทรงฤทธิ์ของพระองค์

ซึ่งทรงใช้สร้างจักรวาลจากสิ่งไร้รูปร่างm

ส่งฝูงหมีหรือสิงโตร้ายได้อย่างง่ายดาย

18ส่งสัตว์ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ดุร้าย ไม่มีใครรู้จัก

ส่งสัตว์ที่พ่นไฟจากปากหรือปล่อยลมหายใจที่เป็นพิษn

และส่งสัตว์พุ่งประกายไฟน่ากลัวออกจากตา

19สัตว์ร้ายเหล่านี้ทำร้ายเขาได้ด้วยการขย้ำ

แม้เพียงรูปร่างน่ากลัวของมันก็ทำให้ตกใจจนสิ้นชีวิต

20แม้จะไม่มีสัตว์ร้ายเหล่านี้ เพียงพระองค์ทรงเป่าลมเท่านั้น เขาก็สิ้นชีวิตได้

พระยุติธรรมของพระองค์ไล่ตามเขา

พลังพระจิตทรงฤทธิ์ของพระองค์ทำลายล้างเขา

แต่พระองค์ทรงจัดการทุกสิ่งตามขนาด จำนวนและน้ำหนัก

21เพราะพระองค์ทรงเลือกใช้พระอานุภาพยิ่งใหญ่ได้เสมอ

ใครจะต้านทานพลังแห่งพระกรของพระองค์ได้

22เฉพาะพระพักตร์พระองค์ สากลจักรวาลเปรียบเสมือนฝุ่นผงบนตาชั่งo

เหมือนน้ำค้างยามเช้าหยดหนึ่งที่ตกบนพื้นดิน

23แต่พระองค์ทรงพระเมตตาต่อทุกคนp

เพราะพระองค์ทรงกระทำได้ทุกอย่าง

ทรงมองข้ามบาปของมนุษย์ เพื่อเขาจะได้เป็นทุกข์กลับใจ

24พระองค์ทรงรักทุกสิ่งที่มีอยู่

ไม่ทรงรังเกียจสิ่งใดที่ทรงเนรมิต

เพราะถ้าพระองค์ทรงเกลียดสิ่งใด

ก็คงจะไม่ทรงเนรมิตสิ่งนั้น

25หากพระองค์ไม่ทรงประสงค์สิ่งใด สิ่งนั้นจะดำรงอยู่ได้อย่างไร

สิ่งนั้นจะคงอยู่ต่อไปได้อย่างไร ถ้าพระองค์ไม่ทรงเรียกให้เกิดขึ้น

26ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงรักทุกสิ่งที่มีชีวิต

พระองค์ทรงพระกรุณาต่อทุกสิ่ง เพราะทุกสิ่งเป็นของพระองค์

11 a “ประกาศกศักดิ์สิทธิ์” หมายถึงโมเสส (กดว 12:7 เชิงอรรถ d; ฉธบ 18:15)

b ผู้เขียนกล่าวถึงการเดินทางอพยพของชาวอิสราเอลเพียงสั้นๆ เป็นการเกริ่นว่าเหตุการณ์นี้มีความหมายสำคัญยิ่งสำหรับชาวอิสราเอล แม้ผู้เขียนจะไม่อ้างถึง “พระปรีชาญาณ” อีกต่อไป ยกเว้นใน ปชญ 14:2, 5 แต่เขาจะกล่าวถึงพระราชกิจของพระเจ้าโดยคำนึงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางอพยพ เขาจะย้ำโดยตลอดถึงความแตกต่างระหว่างการปฏิบัติของพระเจ้าต่อชาวอิสราเอลประชากรผู้ชอบธรรมของพระองค์ (ดู ปชญ 10:15) กับการปฏิบัติของพระองค์ต่อชาวอียิปต์ ซึ่งเป็นรูปแบบของคนอธรรมผู้ดื้อด้านต่อต้านพระองค์ (ผู้เขียนจะกล่าวนอกเรื่องนี้เพียงใน 2 กรณีเท่านั้นคือ ใน ปชญ 12:2-22 และ 13:1 – 15:13) ผู้เขียนให้รายละเอียดหลายประการต่างจากที่พระคัมภีร์เคยเล่าไว้ เป็นวิธีอธิบายพระคัมภีร์ของบรรดาธรรมาจารย์ ซึ่งนักวิชาการเรียกว่า “Midrash” คือการใช้ข้อความหรือเรื่องราวในพระคัมภีร์เพื่ออธิบายพระคัมภีร์

c ผู้เขียนใช้เรื่อง “น้ำ” แสดงความแตกต่างระหว่างการปฏิบัติของพระเจ้าต่อชาวอิสราเอล กับการปฏิบัติของพระองค์ต่อบรรดาศัตรูของอิสราเอล “น้ำ” ดับกระหายช่วยชีวิตชาวอิสราเอล แต่ทำลายชาวอียิปต์ (ข้อ 5) เป็นหลักการที่ใช้เปรียบเทียบการปฏิบัติเช่นนี้ของพระเจ้า “สิ่งที่พระองค์ทรงใช้ลงโทษศัตรูของเขา กลับเป็นคุณประโยชน์แก่เขา” ในขณะเดียวกันก็ยืนยันถึงเหตุผลว่าทำไมพระเจ้าจึงทรงลงโทษศัตรูโดยใช้สิ่งเดียวกันกับที่ทรงใช้เพื่อทำร้ายชาวอิสราเอล (ดู ข้อ 16) การเปรียบเทียบอื่นๆ ยังพบได้อีกใน 16:1,5,15; 17:1; 18:5; 19:1 แต่ในเรื่องนี้ นักวิชาการมีความคิดเห็นแตกต่างกัน

d อพย 7:14-25 เล่าว่าพระยาห์เวห์ทรงบันดาลให้น้ำของแม่น้ำไนล์กลายเป็นเลือดเพื่อบังคับกษัตริย์ฟาโรห์ให้ทรงปล่อยชาวอิสราเอลออกไปจากแผ่นดิน แต่ผู้เขียนหนังสือปรีชาญาณเล่าถึงอัศจรรย์ประการนี้ว่าเป็นการลงโทษที่กษัตริย์ฟาโรห์เคยทรงบัญชาให้ฆ่าทารกเพศชายชาวอิสราเอลในแม่น้ำไนล์ (เทียบ อพย 1:15ฯ)

e “ถูกทดลอง” พระเจ้าทรงบันดาลให้ชาวอิสราเอลในถิ่นทุรกันดารขาดน้ำดื่มและประสบความทุกข์ยากอื่นๆ เพื่อเขาจะได้เข้าใจว่าชาวอียิปต์ถูกลงโทษอย่างไร

f “ระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต” ยังแปลได้อีกว่า “ระลึกถึงบรรดาผู้ที่ได้จากไป”

g พระเจ้าทรงบันดาลให้ชาวอียิปต์ขาดน้ำดื่ม แต่ทรงทำอัศจรรย์ให้ชาวอิสราเอลมีน้ำดื่ม (11:4)

h สำเนาคำแปลโบราณภาษาละตินหลายฉบับเสริมว่า “และประหลาดใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”

I เรื่องโมเสสถูกทิ้งในแม่น้ำไนล์ (ดู อพย 1:22; 2:3) เขาถูกกษัตริย์ฟาโรห์เย้ยหยัน ใน อพย 5:2-5; 7:13, 22

j ชาวอียิปต์กราบไหว้บูชาสัตว์ต่างๆ หลายชนิด รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลาน (เช่น จระเข้, งู, กิ้งก่า และกบ) และแมลงปีกแข็ง (เช่น ด้วง, แมลงทับ ฯลฯ) ซึ่งได้รับความเคารพนับถือเป็นพิเศษในยุคราชวงศ์โทเลมี

k “สัตว์ไร้สติปัญญา” ได้แก่ กบ (อพย 8:1-2) ยุง (อพย 8:13-14) เหลือบ (อพย 8:20) และตั๊กแตน (อพย 10:12-15)

l ดู ปชญ 12:23; 16:1; 18:4; ปฐก 9:6; วนฉ 1:6-7; 1 ซมอ 15:23; 2 มคบ 4:26; 13:8; สภษ 5:22

m “สร้างจักรวาลจากสิ่งไร้รูปร่าง” เป็นความคิดทางปรัชญากรีก ยังอาจพาดพิงถึง ปฐก 1:2 อีกด้วย

n “ลมหายใจที่เป็นพิษ” แปลตามตัวอักษรว่า “กลิ่นเหม็นของควัน”

o “ฝุ่นผงบนตาชั่ง” ยังแปลได้อีกว่า “น้ำหนักเล็กน้อยที่ทำให้ตาชั่งเอียง”

p ความคิดตั้งแต่ข้อ 23 นี้ไม่ใช่ความคิดใหม่ในหมู่ชาวยิว แต่ก่อนหน้านี้ในพระคัมภีร์ไม่เคยมีข้อความที่กล่าวอย่างชัดเจนเลยว่าพระเจ้าทรงพระเมตตาต่อมนุษย์ทุกคนที่เป็นคนบาป (ดู ยนา 3-4) หรือกล่าวถึงบทบาทของความรักของพระเจ้าต่อสิ่งสร้างที่ทรงค้ำจุนรักษาไว้

12 1พระจิตไม่รู้เสื่อมสลายของพระองค์อยู่ในทุกสิ่งa

          2ดังนั้น ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์จึงทรงลงโทษผู้ทำผิดทีละน้อย

                    ทรงตักเตือนและชักชวนให้เขาระลึกถึงบาปที่เขากำลังทำอยู่

เขาจะได้ละทิ้งความชั่ว และมีความเชื่อในพระองค์

 

พระเจ้าทรงลงโทษชาวคานาอันตามความเหมาะสม

            3บรรดาผู้เคยอาศัยในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์bก็เช่นเดียวกัน

          4พระองค์ทรงลงโทษเขาเพราะการกระทำน่ารังเกียจ

เขาทำเวทมนตร์และพิธีน่ารังเกียจ

5เขาฆ่าบุตรของตนอย่างไร้ความปรานี

กินตับไตไส้พุงและเลือดมนุษย์ในงานเลี้ยง

เข้าร่วมพิธีกรรมอนาจารไร้ศีลธรรมc

6พระองค์ทรงประสงค์ใช้บรรพบุรุษของเรา

ทำลายบิดามารดาเหล่านี้ที่ฆ่าบุตรซึ่งป้องกันตนเองไม่ได้

7เพื่อแผ่นดินมีค่าที่สุดสำหรับพระองค์

จะได้เป็นที่อยู่อาศัยเหมาะสมของบรรดาบุตรพระเจ้า

8ถึงกระนั้น พระองค์ยังทรงกระทำกับเขาด้วยความปรานีd เพราะเขาเป็นมนุษย์

พระองค์ทรงส่งตัวต่อนำหน้ากองทัพของพระองค์

เพื่อทำลายเขาทีละน้อยe

9พระองค์ทรงอำนาจจะมอบคนอธรรมไว้ในมือของผู้ชอบธรรม

จะทรงใช้สัตว์ร้าย หรือพระวาจาทรงอำนาจเพียงคำเดียวทำลายเขาทันทีก็ได้

10แต่พระองค์ทรงลงโทษเขาทั้งหลายทีละน้อย

ก็เพื่อให้เขามีโอกาสกลับใจ

พระองค์ทรงทราบดีว่าเขาเป็นชนชาติชั่วร้าย

มีความชั่วฝังลึกในสันดาน

และจะไม่ยอมเปลี่ยนความคิดของตนเลยf

11เขาเป็นชนชาติที่ถูกสาปแช่งมาตั้งแต่แรกแล้ว

เหตุผลที่ทรงพระทัยปรานี

ที่พระองค์ไม่ทรงลงโทษบาปของเขานั้น

มิใช่เพราะทรงเกรงกลัวผู้ใด

12ผู้ใดอาจทูลพระองค์ได้ว่า “พระองค์ทรงทำอะไร”

หรือผู้ใดจะต่อต้านพระวินิจฉัยของพระองค์ได้

ผู้ใดจะกล้ากล่าวหาพระองค์ว่าทรงทำลายชนชาติที่ทรงสร้าง

ผู้ใดจะตั้งตนต่อสู้พระองค์เพื่อปกป้องคนอธรรม

13เพราะนอกจากพระองค์แล้ว ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่เอาพระทัยใส่ทุกสิ่ง

และที่พระองค์จะต้องพิสูจน์ว่ามิได้ทรงตัดสินอย่างอยุติธรรม

14กษัตริย์หรือเจ้านายพระองค์ใดจะเผชิญหน้ากับพระองค์

เพื่อปกป้องผู้ที่พระองค์ทรงลงโทษได้

15พระองค์ทรงเที่ยงธรรม ทรงปกครองจักรวาลอย่างยุติธรรม

ทรงคิดว่าการลงโทษผู้ไม่สมควรจะรับโทษนั้นg

ไม่สอดคล้องกับพระอานุภาพ

16พระฤทธานุภาพของพระองค์เป็นบ่อเกิดแห่งความยุติธรรมh

                    การที่ทรงเป็นเจ้านายเหนือจักรวาลทำให้พระองค์ทรงปรานีทุกคน

17พระองค์ทรงสำแดงพระฤทธานุภาพแก่ผู้ที่ไม่เชื่อพระอานุภาพของพระองค์

พระองค์ทรงกำจัดความหยิ่งยโสของผู้ที่รู้จักพระองค์

18พระองค์ทรงพลานุภาพอย่างสมบูรณ์ จึงทรงพิพากษาอย่างอ่อนโยน

ทรงปกครองข้าพเจ้าทั้งหลายiด้วยพระทัยปรานี

เพราะพระองค์ทรงใช้พระอานุภาพตามที่พอพระทัย

พระทัยปรานีของพระเจ้าต้องเป็นแบบอย่างสำหรับชาวอิสราเอล

19พระองค์ทรงกระทำเช่นนี้เพื่อสอนประชากรของพระองค์ว่า

ผู้ชอบธรรมต้องรักเพื่อนมนุษย์j

พระองค์ประทานความหวังเต็มเปี่ยมแก่บรรดาบุตรของพระองค์ว่า

เมื่อเขาทำบาปแล้ว พระองค์ก็ประทานโอกาสให้เขากลับใจ

20ถ้าคนเหล่านี้ซึ่งเป็นศัตรูของบรรดาผู้รับใช้พระองค์และควรรับโทษถึงตาย

พระองค์ยังทรงลงโทษเขาโดยเอาพระทัยใส่ด้วยความปรานีถึงเพียงนี้k

ให้เขามีเวลาและโอกาสสำนึกผิดl

21พระองค์ก็ทรงลงโทษบรรดาบุตรของพระองค์อย่างระมัดระวังยิ่งขึ้น

ทรงสาบานกับบรรพบุรุษของเขา

และทรงสัญญาจะประทานพระคุณมากมายให้เขา

22ขณะที่ทรงเตือนสอนข้าพเจ้าทั้งหลาย

พระองค์ก็ทรงโบยตีบรรดาศัตรูด้วยความปรานีm

เพื่อสอนว่า เมื่อตัดสินผู้อื่น ข้าพเจ้าทั้งหลายจะต้องระลึกถึงพระทัยดีของพระองค์

และเมื่อข้าพเจ้าทั้งหลายจะถูกพิพากษาตัดสิน

ก็จะมีความหวังจะได้รับพระเมตตา

ชาวอียิปต์ได้รับโทษทีละน้อย

            23ผู้ที่ดำเนินชีวิตอย่างอธรรมและโฉดเขลา

พระองค์ทรงใช้สิ่งน่ารังเกียจnของเขาทรมานเขา

24เขาหลงทางไปไกลในทิศทางที่ผิด

ยึดถือสัตว์ไร้ค่าน่ารังเกียจoเป็นเทพเจ้า

ถูกหลอกเหมือนทารกไร้สติปัญญา

25ดังนั้น พระองค์ทรงลงโทษเขาให้ถูกเยาะเย้ย

เหมือนเด็กที่ไม่รู้จักคิด

26แต่ผู้ที่ไม่ยอมรับการตักเตือนจากการลงโทษที่เป็นเสมือนการละเล่นของเด็กๆ

ก็จะได้รับโทษจากพระเจ้าอย่างเหมาะสม

27เขาโกรธที่ต้องรับความทุกข์ทรมานจากสัตว์เหล่านี้

และถูกลงโทษจากสัตว์ที่เขาเคยนับถือเป็นเทพเจ้า

จึงเข้าใจและยอมรับพระเจ้าเที่ยงแท้

ซึ่งแต่ก่อนเขาไม่ยอมรับรู้

เพราะเหตุนี้ โทษหนักที่สุดจึงลงมาสู่เขาp

12 a “พระจิต...อยู่ในทุกสิ่ง” หมายถึง “ลมปราณแห่งชีวิต” ที่พระเจ้าประทานแก่บรรดาสิ่งสร้างที่มีชีวิต (ปฐก 2:7; 6:3; โยบ 27:3; 34:14-15; สดด 104:29-30) ณ ที่นี้ผู้เขียนไม่ได้คิดถึง “วิญญาณของโลก” ตามคำสอนของปรัชญาลัทธิสโตอา

b “ผู้เคยอาศัยในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์” ฉธบ 7:1 ให้รายชื่อของชนชาติต่างๆ ที่เคยอาศัยในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ แต่ผู้เขียนหนังสือปรีชาญาณคิดถึงแต่ชาวคานาอันเท่านั้น

c ตัวบทของข้อนี้ไม่สมบูรณ์ การแปลจึงทำโดยคาดคะเน เราไม่พบหลักฐานว่าชาวคานาอันเคยกินเนื้อมนุษย์ แม้ว่าในสมัยโบราณชนหลายชาติปฏิบัติเช่นนี้ สำนวน “เข้าร่วมพิธีกรรมอนาจารไร้ศีลธรรม” อาจเป็นข้อความที่ผู้เขียนยืมมาจากพิธีกรรมของรหัสยลัทธิของชาวกรีกบางกลุ่มในสมัยนั้น

d พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อชาวคานาอันด้วยพระทัยปรานี มิใช่เพียงเพราะเขามีความอ่อนแอประสามนุษย์เท่านั้น (ดู ปฐก 8:11; สดด 78:39; 103:14-15) แต่เพราะเขามีศักดิ์ศรีการเป็นมนุษย์ (ดู ปฐก 1:26-27; สดด 8:5) ซึ่งทำให้มนุษย์มีความสัมพันธ์พิเศษกับพระปรีชาญาณ (สภษ 8:31) นักปรัชญาลัทธิสโตอายอมรับศักดิ์ศรีของมนุษย์เช่นนี้ และยังเน้นความเมตตากรุณาอีกด้วย

e ผู้เขียนเปลี่ยนความหมายของเรื่องตัวต่อใน อพย 23:28; ฉธบ 7:20 เพื่ออธิบายเหตุผลที่ชาวคานาอันไม่ถูกทำลายล้าง เมื่อชาวอิสราเอลเข้ามายึดครองแผ่นดิน พระเจ้าทรงเอาพระทัยใส่ไม่เพียงแต่กับชาวอิสราเอลเท่านั้น แต่ยังทรงสำแดงพระเมตตาต่อชาวคานาอันที่ทำบาปอีกด้วย

f การที่ชาวคานาอันไม่ยอมเปลี่ยนความคิดไม่ใช่เป็นผลจากการที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้เช่นนั้น แต่เพราะเขาเลือกจะไม่ยอมกลับใจ จึงไม่ได้รับพระกรุณา ซึ่งพระเจ้าทรงทราบล่วงหน้าแล้ว คำสาปแช่งที่โนอาห์สาปแช่งคานาอันใน ปฐก 9:25 ถูกนำมาใช้ในบริบทความประพฤติผิดศีลธรรมที่ชาวคานาอันปฏิบัติโดยอิสระ (เทียบ ปชญ 3:12, 19; 4:3-6)

g ต้นฉบับข้อนี้ไม่สมบูรณ์ แปลโดยคาดคะเน

h พระเจ้าทรงพระอานุภาพอย่างสมบูรณ์ จึงไม่ทรงจำเป็นต้องรายงานต่อผู้ใดถึงวิธีการใช้พระอานุภาพนั้น พระองค์ทรงใช้พระอานุภาพอย่างอิสระและไม่มีความลำเอียงใดๆ ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังทรงพระกรุณาต่อคนบาปด้วย

i “ข้าพเจ้าทั้งหลาย” ที่นี่อาจหมายถึงมวลมนุษย์ หรืออาจหมายถึงเพียงชาวอิสราเอลที่รับพระกรุณาเป็นพิเศษ ดังที่จะอธิบายในข้อ 21-22

j “รักเพื่อนมนุษย์” มนุษย์ทุกคนต้องปฏิบัติตามแบบอย่างของปรีชาญาณในวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณ (1:6; 7:23) พันธสัญญาใหม่จะพัฒนาความคิดนี้ต่อไป (ดู มธ 5:43-48)

k “โดยเอาพระทัยใส่...ถึงเพียงนี้” แปลตามตัวอักษรว่า “ด้วยความเอาพระทัยใส่เช่นนี้และด้วยความปรานี”

l “สำนึกผิด” (ดู ปชญ 12:2) ความคิดที่ว่าพระเจ้าทรงพยายามนำประชากรของพระองค์ให้แยกตัวออกจากบาปโดยทรงลงโทษเขาอย่างหนัก เป็นความคิดที่พบบ่อยๆ ในพันธสัญญาเดิม (ดู อมส 4:6 เชิงอรรถ f) ผู้เขียนหนังสือปรีชาญาณขยายความคิดนี้ให้ครอบคลุมมนุษย์ทุกคน ไม่เพียงแต่ชาวอิสราเอลเท่านั้น (เทียบ โยบ 33:14-22; 34:29-32; ยนา 3-4)

m “ด้วยความปรานี” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับว่า “ด้วยการตีหนึ่งหมื่นครั้ง” ซึ่งขัดกับบริบท

n “สิ่งน่ารังเกียจ” เป็นสำนวนที่พระคัมภีร์ใช้หมายถึงเทพเจ้าของชนต่างชาติ และรูปเคารพของเทพเจ้าเหล่านี้ (ดู ฉธบ 7:26; 27:15 ฯลฯ) ผู้เขียนกำลังคิดถึงการกราบไหว้สัตว์ร้ายต่างๆ ที่ชาวอียิปต์นับถือ เป็นการเล่าเรื่องต่อจาก ปชญ 11:15-16

o “สัตว์ไร้ค่าน่ารังเกียจ” แปลตามตัวอักษรว่า “บรรดาสิ่งไร้ค่าในบรรดาสัตว์จากสิ่งน่ารังเกียจ” ต้นฉบับไม่ชัดเจน มีคำแปลได้หลายแบบ

p ในที่สุดกษัตริย์ฟาโรห์ทรงยอมรับว่าพระเจ้า (พระยาห์เวห์) ทรงช่วยประชากรของพระองค์ (ดู อพย 12:31-32) หลังจากไม่ทรงยอมรับเป็นเวลานาน (อพย บทที่ 7-11) ถึงกระนั้น ต่อมาก็ยังทรงท้าทายพระอานุภาพของพระเจ้าต่อไปอีก

คำประณามการกราบไหว้สิ่งสร้างเป็นพระเจ้าa

13 1ทุกคนที่ไม่รู้จักพระเจ้า ย่อมเป็นคนโง่เขลาโดยธรรมชาติ

จากสิ่งดีที่เห็นได้ เขาไม่อาจค้นพบพระองค์ผู้ทรงดำรงอยู่

แม้จะพิจารณาผลงานของพระองค์ เขาก็ยังไม่รู้จักพระผู้ทรงสร้างb

2เขาคิดว่าไฟ ลม อากาศบางเบา กลุ่มดวงดาวต่างๆ

คลื่นรุนแรง ดวงประทีปในท้องฟ้า เป็นเทพเจ้าผู้ปกครองโลก

3ถ้าเขาพิศวงในความงดงามของสิ่งเหล่านี้จนคิดว่าเป็นเทพเจ้า

เขาก็น่าจะรู้ว่าพระผู้ทรงเป็นเจ้านายของสิ่งเหล่านี้ทรงสูงส่งกว่าสักเพียงใด

เพราะพระองค์ผู้ทรงสร้างสิ่งเหล่านี้ทรงเป็นบ่อเกิดของความงดงามc

4ถ้าเขาพิศวงในอำนาจและพลังของสิ่งเหล่านี้

เขาน่าจะรู้ว่าพระผู้ทรงสร้างสิ่งเหล่านี้ทรงพระอานุภาพมากกว่าสักเพียงใด

5เพราะจากความยิ่งใหญ่และความงดงามของสิ่งสร้างที่คล้ายกับพระผู้สร้าง

มนุษย์เราก็น่าจะรู้จักพระองค์ได้

6คนเหล่านี้ควรได้รับคำตำหนิบ้างd

เพราะแม้เขาพยายามแสวงหาพระเจ้าและต้องการพบพระองค์

แต่เขาอาจหลงทางไปเท่านั้น

7เขาหมกมุ่นค้นคว้าผลงานของพระองค์

แต่กลับสะดุดอยู่กับความงดงามที่ปรากฏ

เพราะสิ่งที่เขาเห็นนั้นงดงามน่าชม

8ถึงกระนั้นคนเหล่านี้ก็ไม่พ้นความผิดทั้งหมด

9ถ้าเขารู้จักค้นคว้าหาความรู้เรื่องจักรวาลได้

เหตุไฉนก่อนหน้านั้นเขาจึงค้นพบองค์พระผู้เป็นเจ้าของสิ่งเหล่านี้ไม่ได้

การกราบไหว้รูปเคารพe

          10ผู้ที่ไว้ใจสิ่งไร้ชีวิตช่างน่าสงสารเสียนี่กระไร

เขาเรียกผลงานจากมือมนุษย์ว่าเป็นเทพเจ้า

คือผลงานศิลปะทำด้วยทอง เงิน รูปสัตว์

หรือหินไร้ประโยชน์ที่แกะสลักไว้ด้วยความชำนาญ

11ตัวอย่างเช่นช่างไม้คนหนึ่งโค่นต้นไม้ที่แกะสลักได้ง่ายต้นหนึ่ง

ถากเปลือกออกทั้งหมดด้วยความชำนาญ

และทำงานด้วยความเชี่ยวชาญ

สร้างเครื่องใช้ที่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน

12ส่วนเศษไม้ที่เหลือจากงาน

เขาใช้เป็นฟืนเพื่อปรุงอาหารแล้วกินจนอิ่ม

13ยังมีเศษไม้เหลืออยู่อีกชิ้นหนึ่งใช้ทำอะไรไม่ได้

คดงอและมีตาไม้เต็มไปหมด

เขาก็นำมาแกะสลักเล่นในยามว่าง

ใช้ความชำนาญแกะให้มีรูปร่าง ทำให้เป็นรูปคน

14หรือเป็นรูปสัตว์ไร้ค่า แล้วลงสีพื้น

ใช้สีแดงทาผิว จนไม่มีรอยตำหนิ

15ต่อจากนั้น เขาก็จัดทำที่ตั้งให้เหมาะสม

นำตะปูตีติดไว้บนกำแพง

16เขาเอาใจใส่ไม่ให้รูปนั้นล้มลง

เพราะรู้ว่ารูปนั้นช่วยตนเองไม่ได้

เป็นเพียงรูปแกะสลักที่ต้องการความช่วยเหลือf

17ถึงกระนั้น เขาอธิษฐานภาวนาขอทรัพย์สมบัติ

ขอพรเพื่อการแต่งงานและมีลูกหลาน

เขาไม่อับอายที่จะวอนขอจากสิ่งไร้ชีวิต

เขาวอนขอสุขภาพจากสิ่งที่อ่อนแอ

18วอนขอชีวิตจากสิ่งไร้ชีวิต

วอนขอความช่วยเหลือจากสิ่งที่ทำอะไรไม่ได้

วอนขอความปลอดภัยในการเดินทางจากสิ่งที่เดินไม่ได้

19วอนขอผลกำไรในธุรกิจ วอนขอความสำเร็จในกิจการที่ทำ

วอนขอความชำนาญจากมือที่ทำสิ่งใดไม่ได้

13 a ใน ปชญ 12:23-27 ผู้เขียนกล่าวถึงการกราบไหว้นับถือสัตว์เป็นเทพเจ้า บัดนี้เขาจะประณามการกราบไหว้สิ่งสร้างเป็นพระเจ้าใน 3 รูปแบบ คือ (1) การกราบไหว้พลังของธรรมชาติและดาวดารา (13:1-9) (2) การกราบไหว้รูปเคารพที่มนุษย์สร้างขึ้น (13:10 – 15:17) และ (3) การกราบไหว้สัตว์ต่างๆ (15:18-19) ผู้เขียนคงใช้โครงสร้างความคิดดังที่พบได้ในข้อเขียนของชาวยิวที่นิยมอารยธรรมกรีก โดยเฉพาะข้อเขียนของฟีโล (Philo) ผู้เขียนหนังสือปรีชาญาณยังมีความคิดใหม่ๆ ด้วย เช่น เรื่องการเดินเรือ (14:1-7) เรื่องที่มาของการนับถือรูปเคารพ (14:12-21) เรื่องผลร้ายของการนมัสการรูปเคารพ (14:22-31) และลักษณะพิเศษของชนชาติยิว (15:1-5)

b การสังเกตและศึกษาธรรมชาติควรจะยกจิตใจมนุษย์ขึ้นหาพระเจ้าผู้ทรงเนรมิตสร้างจักรวาล

c “บ่อเกิดของความงดงาม” เป็นความคิดที่มาจากปรัชญากรีก (เทียบ ข้อ 5, 7; บสร 43:9-12) พันธสัญญาเดิมมักกล่าวสรรเสริญพระอานุภาพและความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่ปรากฏในจักรวาลที่ทรงเนรมิตสร้าง (โยบ 36:22-26; สดด 19:1-2; อสย 40:12-14) แต่ไม่เคยกล่าวโดยตรงถึง “ความงดงาม” ของจักรวาล ในฐานะที่เป็นผลงานทางศิลปะของพระผู้สร้าง

d “คำตำหนิบ้าง” เมื่อเปรียบเทียบกับความผิดของผู้ที่กราบไหว้รูปเคารพที่เขาสร้างขึ้นมา (ข้อ 10)

e การประณามการกราบไหว้รูปเคารพ พบได้บ่อยๆ ในปรัชญากรีกร่วมสมัย และพบได้ทั่วไปในพระคัมภีร์ เช่น อสย 44:9-20; ยรม 10:1-16; บรค บทที่ 6

f การบรรยายว่ารูปเคารพเกิดขึ้นอย่างไร เป็นการที่ผู้เขียนเยาะเย้ยการกราบไหว้รูปเคารพเหล่านั้น ไม้ที่ใช้สร้างรูปเคารพเป็นไม้ที่ทำประโยชน์อะไรไม่ได้แล้ว ผู้แกะสลักเป็นเพียงคนตัดไม้ที่ไม่รู้จักคิดหาเหตุผลอย่างผู้มีปรีชา รูปนั้นยังตั้งอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้เลย

14 1หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ผู้ที่เตรียมตัวลงเรือข้ามทะเลที่มีคลื่นใหญ่

วอนขอความช่วยเหลือจากรูปไม้aที่แข็งแรงน้อยกว่าเรือที่นำเขาไป

2ผู้ที่คิดสร้างเรือย่อมหวังผลกำไร

ปรีชาญาณbของนายช่างสร้างเรือนั้นขึ้นมา

3โดยแท้จริง ข้าแต่พระบิดา พระญาณเอื้ออาทรcของพระองค์นำเรือนั้นไป

เพราะพระองค์ทรงจัดแม้หนทางในทะเล

เป็นทางปลอดภัยผ่านกระแสคลื่นd

4ทรงแสดงว่าทรงช่วยให้รอดพ้นจากภัยทุกชนิดได้

แม้คนที่ไม่ชำนาญก็ยังลงเรือได้

5พระองค์ไม่ทรงปรารถนาให้ผลงานแห่งพระปรีชาญาณไร้ประโยชน์

เพราะเหตุนี้ มนุษย์จึงฝากชีวิตไว้กับเรือที่ใช้ไม้ไม่กี่ชิ้น

แม้เขาลงแพข้ามกระแสคลื่น เขาก็ถึงท่าเรือโดยปลอดภัย

6ตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว เมื่อพวกยักษ์ที่เย่อหยิ่งกำลังสูญพันธุ์e

ความหวังของโลกก็พ้นภัยบนแพแพหนึ่งf

พระหัตถ์พระองค์นำเรือไป จึงมีพงศ์พันธุ์รอดชีวิต

เป็นต้นตระกูลของชนรุ่นใหม่ในโลก

7ไม้ที่พระเจ้าทรงใช้เพื่อนำความรอดพ้นgมาให้มนุษย์ช่างน่าสรรเสริญยิ่งนัก

8แต่รูปเคารพที่ทำด้วยมือhและผู้สร้างรูปนั้นน่าถูกสาปแช่ง

          ผู้ทำรูปนั้นควรถูกสาปแช่ง เพราะเขาแกะสลักรูปนั้น

รูปเคารพควรถูกสาปแช่ง เพราะถูกเรียกเป็นพระเจ้า ทั้งๆ ที่ผุพัง

9พระเจ้าทรงเกลียดชังคนอธรรม

          และความอธรรมของเขาเท่าเทียมกัน

10พระองค์ทรงลงโทษทั้งผลงานและผู้ทำ

11ดังนั้น พระองค์จะทรงลงโทษรูปเคารพของชนต่างชาติด้วย

          เพราะรูปเหล่านี้กลายเป็นสิ่งน่าสะอิดสะเอียนในสรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้าง

เป็นอุปสรรคขัดขวางมนุษย์

          เป็นกับดักเท้าคนเบาปัญญา

ที่มาของการกราบไหว้รูปเคารพ

12ความคิดสร้างรูปเคารพเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า

          การประดิษฐ์รูปเหล่านี้ทำให้ศีลธรรมเสื่อมi

13รูปเคารพไม่ได้มีมาตั้งแต่แรก

          และจะไม่มีอยู่ตลอดไป

14รูปเคารพเข้ามาในโลกjเพราะความโอ้อวดของมนุษย์

          พระเจ้าจึงทรงกำหนดให้รูปเคารพสูญสิ้นโดยเร็ว

15บิดาคนหนึ่งkมีความทุกข์ เพราะบุตรสิ้นชีวิตก่อนเวลาอันควร

          จึงสั่งให้ทำรูปบุตรที่ต้องด่วนพรากจากไป

แล้วนับถือมนุษย์ที่เพิ่งตายเป็นเทพเจ้า

          ถ่ายทอดจารีตและพิธีกรรมลึกลับให้แก่ผู้อยู่ใต้อำนาจ

16เวลาผ่านไป ธรรมเนียมชั่วร้ายนี้ก็มีพลังเข้มแข็งมากขึ้นจนปฏิบัติกันเป็นกฎหมาย

17บรรดากษัตริย์รับสั่งให้กราบไหว้รูปแกะสลักเช่นเดียวกัน

          พลเมืองที่อยู่ห่างไกลกราบไหว้พระองค์โดยตรงไม่ได้

จินตนาการถึงกษัตริย์ที่มิได้ประทับอยู่ใกล้

          สร้างพระรูปของพระองค์ที่เขาต้องการถวายพระเกียรติ

แล้วกราบไหว้กษัตริย์ที่ทรงอยู่ห่างไกลด้วยความกระตือรือร้น

          ประหนึ่งว่าประทับอยู่ที่นั่น

18ความทะเยอทะยานของผู้สร้างพระรูปเร่งเร้าให้เขาขยายคารวกิจนี้

          แม้ในหมู่ผู้ที่ยังไม่รู้จักปฏิบัติตาม

19เพราะผู้สร้างพระรูปต้องการให้กษัตริย์พอพระทัย

          จึงพยายามใช้ฝีมือสร้างพระรูปให้งดงามกว่าพระองค์จริง

20ประชาชนรู้สึกประทับใจในความงดงามของพระรูปนั้น

          จึงกราบไหว้ผู้ซึ่งเขาเคยนับถือเป็นมนุษย์ว่าเป็นเทพเจ้า

21รูปเคารพนี้จึงกลายเป็นกับดักมนุษย์

          เพราะเมื่อมนุษย์ตกเป็นเหยื่อของโชคร้ายหรือการปกครองที่โหดร้าย

เขาก็เรียกสิ่งที่ทำด้วยหินหรือไม้ว่าเป็นเทพเจ้าl

 

ผลของการกราบไหว้รูปเคารพ

            22มนุษย์หลงผิดในการรู้จักพระเจ้า

          และดำเนินชีวิตสับสนวุ่นวายmเพราะขาดความรู้นี้

เรียกสภาพเลวร้ายเช่นนี้ว่า “สันติ”

23เขาประกอบจารีตและพิธีกรรมลึกลับโดยฆ่าทารก

          มีงานเลี้ยงเมามาย ประกอบพิธีกรรมอนาจารผิดศีลธรรมn

24เขาไม่รักษาทั้งชีวิตและการแต่งงานให้บริสุทธิ์อีกต่อไป

          เขาทรยศฆ่ากันและเป็นชู้ผิดใจกัน

25ทุกอย่างสับสนวุ่นวาย มีการนองเลือดและการฆ่าฟัน

          การลักขโมย การฉ้อโกง ความเสื่อมศีลธรรม

ความไร้สัจจะ การจลาจลวุ่นวาย การสาบานเท็จ

26การข่มเหงคนดี การเนรคุณ

          การสอนให้ทำชั่ว ความประพฤติผิดธรรมชาติทางเพศo

ชีวิตสมรสที่แตกแยก การผิดประเวณีและการเสื่อมศีลธรรมอื่นๆp

27การนับถือรูปเคารพที่ไร้บุคลิกลักษณะq

          เป็นจุดเริ่ม บ่อเกิด และจุดจบของความชั่วทั้งมวล

28บรรดาผู้นับถือรูปเคารพร่วมพิธีสนุกสนานอย่างบ้าคลั่ง

          ทำนายเท็จ ดำเนินชีวิตอย่างชั่วร้าย

สาบานเท็จโดยไม่ลังเลใจ

29เขาไว้ใจรูปเคารพที่ไร้ชีวิต

          เขาไม่คิดว่าการสาบานเท็จจะนำภัยมาสู่ตน

30เขาจะต้องรับโทษตามความผิดด้วยเหตุผลสองประการ

          คือเขาคิดไม่ถูกต้องเรื่องพระเจ้า นับถือรูปเคารพ

และสาบานเท็จเพื่อหลอกลวง เป็นการดูหมิ่นพระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์

31รูปเคารพที่เขากล่าวนามสาบานไม่มีอำนาจลงโทษผู้ใดเลย

          แต่พระเจ้าจะทรงลงโทษคนบาปอย่างเหมาะสม

ทรงติดตามความผิดของคนอธรรมตลอดไป

14 a “รูปไม้” หมายถึงรูปของเทพเจ้าผู้ปกป้องที่มักจะติดไว้ที่หัวหรือท้ายเรือ (เทียบ กจ 28:11)

b ความชำนาญของนายช่างเป็นผลจากพระปรีชาญาณของพระเจ้า (ปชญ 8:6; เทียบ อพย 31:3; 35:31)      

c “พระญาณเอื้ออาทร” เราพบคำนี้เป็นครั้งแรกในพระคัมภีร์ภาษากรีกฉบับ LXX เป็นคำที่ยืมมาจากปรัชญาและวรรณคดีกรีก แต่ความคิดมาจากพระคัมภีร์ (โยบ 10:12; สดด 145:8 ฯ; 147:9)   

d “ผ่านกระแสคลื่น” เป็นการกล่าวพาดพิงถึงข้อความ 2 ข้อในพระคัมภีร์เรื่องการข้ามทะเลต้นกก (สดด 77:19; อสย 43:16) ผู้เขียนบรรยายถึงพระอานุภาพของพระเจ้าเหนืออำนาจของทะเล พระองค์จึงทรงดูแลความปลอดภัยของผู้เดินทางในทะเล

e เรื่อง “ยักษ์” มีบทบาทสำคัญในธรรมประเพณีและตำนานโบราณของชาวยิว (ดู ปฐก 6:4; บสร 16:7; บรค 3:26) ตำนานเทพของชาวกรีกก็กล่าวถึง “ยักษ์” บ่อยๆ เช่นเดียวกัน

f “แพแพหนึ่ง” หมายถึงเรือของโนอาห์ในเรื่องน้ำวินาศ (ดู ปฐก 10:4)

g “นำความรอดพ้น” แปลตามตัวอักษรว่า “นำความชอบธรรม” “ความชอบธรรม” ในที่นี้หมายความว่าเรือของโนอาห์ทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าเป็นความจริง คือช่วยมนุษย์ให้รอดพ้น

h “รูปเคารพที่ทำด้วยมือ” แปลตามตัวอักษรว่า “สิ่งที่ทำด้วยมือ” ซึ่งหมายถึง “มือมนุษย์” พระคัมภีร์ภาษากรีกมักจะใช้วลีนี้ (เป็นคำเดียวในภาษากรีก) หมายถึง “รูปเคารพ”

i “ความไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า...ศีลธรรมเสื่อม” “ความไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า” แปลตามตัวอักษรว่า “การผิดประเวณี” (ดู ฮชย 1:2 เชิงอรรถ b) ผลตามมาของความเชื่อถือที่ผิดทำให้มนุษย์ดำเนินชีวิตผิดศีลธรรม (ดู รม 1:24-32; อฟ 4:17-19)

j “รูปเคารพเข้ามาในโลก” สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ความตายเข้ามาในโลก” เป็นความคิดที่พบได้ใน ปชญ 2:24 ผู้เขียนคิดว่าแต่แรกเริ่มมนุษยชาตินับถือพระเจ้าเพียงพระองค์เดียว ต่อมาจึงหลงไปนับถือเทพเจ้าต่างๆ ความคิดนี้ยังพบได้ในหนังสือปฐมกาลด้วย

k ผู้เขียนยกตัวอย่างสองประการเพื่ออธิบายว่าความโอ้อวดของมนุษย์ทำให้เกิดการนับถือรูปเคารพ แต่ละตัวอย่างเน้นการนับถือมนุษย์ที่ได้รับยกย่องเป็นเทพเจ้ามากกว่าการสถาปนามนุษย์ให้เป็นพระเจ้า ตัวอย่างแรกมาจากธรรมเนียมของชาวกรีกที่ยกย่องเด็กผู้ตายขึ้นเป็นเทพเจ้าผู้ปกป้องครอบครัว Cicero นักเขียนชาวโรมันก็ยังปฏิบัติเช่นนี้เมื่อยกย่อง Tullia บุตรสาวที่สิ้นชีวิตในวัยเยาว์

l “เรียก...เป็นเทพเจ้า” แปลตามตัวอักษรว่า “นามที่ถ่ายทอดต่อไปไม่ได้” ดู อพย 3:14 เรื่องพระเจ้าทรงเปิดเผยพระนามแก่โมเสส

m “ความสับสนวุ่นวาย” ที่กล่าวถึงนี้หมายถึงทั้งการต่อสู้ภายในจิตใจเพื่อบังคับกิเลส และการต่อสู้ภายนอกในสังคมมนุษย์ที่เกิดจากความประพฤติตามกิเลส

n “พิธีกรรมอนาจารผิดศีลธรรม” เป็นการกล่าวพาดพิงถึงการสำส่อนทางเพศในพิธีกรรมของผู้นับถือเทพเจ้าไดโอนีซัสของชาวกรีก (หรือเทพเจ้า “บัคคัส” ของชาวโรมัน) หรืออาจหมายถึงพิธีกรรมของชาวฟรีเจียที่มีกิจกรรมสำส่อนทางเพศอย่างบ้าคลั่งเช่นเดียวกัน

o “ความประพฤติผิดธรรมชาติทางเพศ” แปลตามตัวอักษรว่า “การหันกลับของการให้กำเนิด”

p สังคมของมนุษย์เสื่อมลง (ข้อ 29-31) ไม่ใช่เพราะมนุษย์คิดไม่ถูกต้องเรื่องพระเจ้า แต่เพราะแสดงคารวกิจต่อรูปเคารพด้วยพิธีกรรมผิดศีลธรรมชนิดต่างๆ ในจดหมายถึงชาวโรม (รม 1:24-31) นักบุญเปาโลคงคิดถึงข้อความนี้ด้วย

q “ไร้บุคลิกลักษณะ” แปลตามตัวอักษรว่า “ไร้นาม” ในพระคัมภีร์ “นาม” หมายถึง “บุคคล” หรือ “บุคลิกที่มีอยู่จริง” ดังนั้น วลี “ไร้นาม” จึงมีความหมายว่ารูปเคารพไม่มีความเป็นอยู่จริง แต่บางคนแปลว่า “รูปเคารพที่ไม่ควรกล่าวนามถึง” (ดู อพย 23:13)

ความเชื่อถือพระเจ้าทำให้ชาวอิสราเอลไม่นับถือรูปเคารพ

            15 1ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์ทรงพระทัยดี ทรงความซื่อสัตย์

          ทรงความเพียรอดทน ทรงปกครองจักรวาลด้วยพระเมตตา

2แม้ข้าพเจ้าทั้งหลายได้ทำบาปแล้ว ก็ยังเป็นของพระองค์

          รู้จักพระอานุภาพaของพระองค์

แต่ข้าพเจ้าทั้งหลายจะไม่ทำบาปอีก

          เพราะรู้ว่าข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นของพระองค์

3การรู้จักพระองค์เป็นความชอบธรรมสมบูรณ์

          การรู้จักพระอานุภาพของพระองค์bเป็นรากของชีวิตอมตะ

4การที่มนุษย์ค้นพบศิลปะเลวร้าย

          หรือการที่ช่างวาดเหน็ดเหนื่อยอย่างไร้ประโยชน์

วาดรูปที่ตกแต่งด้วยสีฉูดฉาดนั้น

          ไม่ทำให้ข้าพเจ้าทั้งหลายหลงผิด

5เมื่อคนโฉดเขลาเห็นรูปเหล่านี้

          ก็เกิดความปรารถนาแรงกล้า

อยากจะได้รูปที่ไม่เคลื่อนไหวของภาพที่ไม่มีชีวิต

6พวกที่สร้าง อยากได้ และกราบไหว้รูปเคารพ

          ย่อมเป็นผู้ที่รักความชั่วร้าย และสมควรจะได้รับตามที่เขามีความหวัง

ผู้ทำรูปเคารพเป็นคนโง่เขลาc

          7ตัวอย่างเช่นช่างปั้นหม้อคนหนึ่ง นำดินเหนียวมาปั้นด้วยความเหน็ดเหนื่อย

                    ปั้นภาชนะต่างๆ ให้เราใช้

          จากดินเหนียวก้อนเดียว เขาปั้นภาชนะที่ใช้ในกิจการที่มีเกียรติและในกิจการไร้เกียรติ

                    เขาปั้นทุกอย่างด้วยวิธีเดียวกัน

          ช่างปั้นเท่านั้นเป็นผู้ตัดสินว่าภาชนะใดจะใช้อย่างไร

          8แต่แล้วจากดินเหนียวก้อนเดียวกัน

          เขาเสียเวลาปั้นรูปเคารพไร้สาระ

เขาเพิ่งเกิดมาจากพื้นดินและในไม่ช้าจะกลับไปยังที่ที่เขาถูกสร้างขึ้นมา

          เมื่อพระเจ้าจะทรงเรียกชีวิตที่ทรงให้เขายืมกลับคืนไป

9เขาไม่เป็นห่วงว่าจะต้องตาย

          ไม่คำนึงว่าชีวิตของตนสั้นนักd

เขากลับต้องการแข่งขันกับช่างเงินช่างทอง

          เลียนแบบช่างทองสัมฤทธิ์ ภูมิใจในการออกแบบของเทียม

10ใจเขาเป็นเหมือนเถ้าถ่าน ความหวังของเขามีค่าน้อยกว่าดิน

          ชีวิตของเขาไร้เกียรติยิ่งกว่าดินเหนียว

11เพราะเขาไม่รู้จักพระองค์ผู้ทรงปั้นเขาขึ้นมา

          ทรงเป่าลมปราณประทานวิญญาณที่ให้พลัง

และทรงหลั่งจิตที่ให้ชีวิตeแก่เขา

12แต่เขาคิดว่าชีวิตเป็นเสมือนของเล่น

          เขามีชีวิตเป็นเสมือนงานออกร้านขายของหากำไร

เขากล่าวว่า “คนเราต้องหากำไรทุกวิธี แม้ด้วยวิธีชั่วร้าย”

13เมื่อเขานำดินมาปั้นเป็นทั้งภาชนะที่แตกง่ายและเป็นรูปเคารพ

          เขารู้ดีกว่าคนอื่นว่าเขาทำบาป

ความโง่เขลาของชาวอียิปต์ที่กราบไหว้รูปเคารพทุกชนิด

14คนโฉดเขลาที่สุด ด้อยความคิดยิ่งกว่าเด็กทารกf

          คือศัตรูที่เคยกดขี่ประชากรของพระองค์g

15เขากราบไหว้รูปเคารพทั้งหลายของชนต่างชาติว่าเป็นพระเจ้า

          รูปเหล่านี้มีตาแต่มองไม่เห็น

มีจมูกแต่ไม่หายใจ มีหูแต่ไม่ได้ยิน

          มีนิ้วมือแต่สัมผัสอะไรไม่ได้ มีเท้าแต่เดินไม่ได้

16เพราะมนุษย์ทำรูปเคารพเหล่านี้

          ผู้ปั้นได้รับลมหายใจเพียงชั่วคราว

ถูกแล้ว ไม่มีมนุษย์คนใดปั้นรูปเคารพให้มีชีวิตเหมือนตนได้

17เมื่อมนุษย์ต้องตาย มือชั่วร้ายของเขาผลิตได้แต่สิ่งที่ไร้ชีวิตเท่านั้น

          เขามีค่ามากกว่าสิ่งที่ตนกราบไหว้เป็นพระเจ้า

เขามีชีวิต ส่วนรูปเคารพไม่มีชีวิตเลย

18บรรดาศัตรูเหล่านั้นยังกราบไหว้แม้กระทั่งสัตว์น่ารังเกียจที่สุดเป็นพระเจ้า

          สัตว์เหล่านี้โง่เขลายิ่งกว่าสัตว์อื่นทั้งหลาย

19ไม่มีความงดงาม ต่างจากสัตว์อื่นๆ ที่อาจน่ารัก

          พระเจ้าไม่ทรงชมเชยและไม่ประทานพระพรให้h

15 a แม้ชาวอิสราเอลจะได้ทำบาป เขาก็ยังคงเป็นประชากรของพระเจ้า เพราะรู้ดีว่าพระองค์ทรงสำแดงพระอานุภาพต่อสรรพสิ่งด้วยพระทัยปรานี เปิดโอกาสให้มนุษย์เป็นทุกข์กลับใจได้ (11:23–12:2; 12:16-18) เขายังรู้อยู่เสมอว่าพระองค์ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของตน เพราะพระองค์เคยทรงสัญญาไว้กับบรรพบุรุษและทรงซื่อสัตย์ต่อพระสัญญานั้นตลอดมา (12:19, 21-22; 15:1)

b “การรู้จักพระอานุภาพของพระองค์” คือความรู้ที่เป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตชอบธรรมอย่างแท้จริง (ดู ยรม 9:23-24) ความคิดเรื่อง “ราก” ของชีวิตอมตะ ดู 3:15 ความคิดนี้เสริมความคิดเรื่องความชอบธรรม (ดู 1:1, 15; 3:1-9) ในพันธสัญญาใหม่ ยน 17:3 จะพัฒนาความคิดนี้ให้สมบูรณ์ขึ้น

c ในข้อความต่อไปนี้ ผู้เขียนกล่าวประณามผู้สร้างรูปเคารพและเยาะเย้ยผู้ปั้นรูปเคารพจากดินเหนียว ซึ่งเป็นอาชีพพื้นๆ ในสมัยที่ชาวกรีกปกครอง การบรรยายถึงช่างปั้นนี้คล้ายกับการบรรยายถึงคนตัดไม้ใน 13:11-19

d แทนที่ช่างปั้นจะคิดถึงจุดจบของชีวิตมนุษย์ที่จะต้องกลายเป็นดิน (ปฐก 3:19) เพราะเขากำลังใช้ดินมาปั้นเป็นรูปเคารพ เขากลับทำตนเป็นที่น่าหัวเราะเยาะ เพราะไปแข่งขันกับช่างที่ใช้วัสดุประเสริฐกว่า เช่นเงิน ทอง หรือทองสัมฤทธิ์

e “วิญญาณที่ให้พลัง” และ “จิตที่ให้ชีวิต” มีความหมายเหมือนกัน

f “ด้อยความคิดยิ่งกว่าเด็กทารก” เพราะเขาถูกหลอกได้ง่ายกว่าเด็กทารก

g “ศัตรูที่เคยกดขี่ประชากรของพระองค์” หมายถึงชาวอียิปต์ที่เคยเบียดเบียนชาวอิสราเอลทั้งก่อนสมัยอพยพ และในสมัยที่ราชวงศ์โทเลมีปกครอง ผู้เขียนเคยกล่าวถึงชาวอียิปต์แล้วใน 12:23-27 บัดนี้กลับมากล่าวถึงอีก เพราะในสมัยนั้นชาวอียิปต์รับความคิดทางศาสนามาจากแหล่งต่างๆ (ข้อ 15) และนับถือกราบไหว้รูปเคารพของเทพเจ้านานาชนิด

h เมื่อพระเจ้าทรงสร้างโลกตั้งแต่แรกเริ่ม พระองค์ทรงอวยพระพรแก่ทุกสิ่งที่พระองค์ประทานชีวิตให้ (ปฐก 1:22, 28; 2:3) เมื่อมนุษย์คนแรกทำบาป พระองค์ทรงสาปแช่งงู (ปฐก 3:14-15) สัตว์ต่างๆ ที่ชาวอียิปต์กราบไหว้เป็นเทพเจ้าก็สมควรได้รับการสาปแช่งเช่นเดียวกัน

การเปรียบเทียบครั้งที่สอง - เรื่องกบและเรื่องนกคุ่มa

            16 1พระเจ้าจึงทรงใช้สัตว์คล้ายกับที่เขากราบไหว้ลงโทษเขาอย่างสาสม

          เขารับทรมานจากสัตว์หลายชนิด

2แต่พระองค์ไม่ทรงใช้สัตว์ต่างๆ ลงโทษประชากรของพระองค์

          กลับทรงทำดีกับเขา ประทานนกคุ่มเป็นอาหารเลิศรส

ตอบสนองความหิวโหยอย่างมากของเขา

3ส่วนชาวอียิปต์ แม้จะหิวอาหารมาก

          เมื่อเห็นสัตว์น่าขยะแขยงที่พระองค์ทรงส่งมารบกวน

กลับไม่มีความอยากกินอาหารตามธรรมชาติมนุษย์

          แต่ประชากรของพระองค์ แม้ต้องอดอยากอยู่ระยะหนึ่ง

ก็ได้กินอาหารเลิศรส

4ผู้กดขี่เหล่านั้นต้องประสบความอดอยากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          เพื่อแสดงให้ประชากรของพระองค์เข้าใจว่า พวกศัตรูได้รับทรมานอย่างไร

 

การเปรียบเทียบครั้งที่สาม ตั๊กแตนและรูปงูทองสัมฤทธิ์

            5เมื่อสัตว์ร้ายน่ากลัวโจมตีประชากรของพระองค์

          เขาต้องเสียชีวิตเพราะถูกงูพิษกัด

พระพิโรธของพระองค์มิได้ทำลายเขาทุกคน

6แม้เขาต้องรับทุกข์ระยะเวลาสั้นๆ เป็นการตักเตือน

          เขามีเครื่องหมายbของความรอดพ้น

เตือนให้เขาระลึกถึงข้อกำหนดแห่งธรรมบัญญัติของพระองค์

7ผู้ที่หันไปมองเครื่องหมายนั้นก็จะรอดพ้น

          มิใช่จากฤทธิ์ของสิ่งที่เขาเห็น

แต่จากพระองค์ผู้ทรงเป็นพระผู้กอบกู้มนุษย์ทั้งมวลc

8โดยวิธีนี้ พระองค์ทรงพิสูจน์ให้บรรดาศัตรูเห็นชัดเจนว่า

          พระองค์ทรงเป็นผู้ช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายทั้งหลายd

9ชาวอียิปต์ตายเพราะถูกตั๊กแตนและแมลงกัด

          และไม่พบยาที่ช่วยรักษาชีวิตไว้ได้

เขาสมควรที่จะรับการลงโทษโดยสัตว์เหล่านี้e

10ส่วนบรรดาบุตรของพระองค์ แม้แต่เขี้ยวงูพิษก็ทำอันตรายเขาไม่ได้

          เพราะพระองค์ทรงพระกรุณาช่วยรักษาเขาให้หาย

11เขาถูกงูกัดเพื่อเตือนให้ระลึกถึงพระวาจาของพระองค์

          แต่เขาก็ได้รับการรักษาให้หายทันที

เกรงว่าเขาจะลืมพระวาจาของพระองค์

          และจะไม่ได้รับพระพรจากพระกรุณาf

12ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า มิใช่สมุนไพรหรือยาพอกรักษาเขาให้หาย

          แต่เพราะพระวาจาของพระองค์รักษาโรคทุกชนิดได้

13พระองค์ทรงอำนาจเหนือชีวิตและความตาย

          ทรงนำมนุษย์ลงไปยังประตูแดนมรณะ และให้เขากลับขึ้นมาอีกg

14มนุษย์ใจร้ายอาจฆ่าคนได้

          แต่จะนำลมหายใจที่ออกจากร่างไปแล้วกลับมาอีกไม่ได้

และไม่อาจนำวิญญาณที่ถูกจองจำในแดนมรณะhให้เป็นอิสระได้

การเปรียบเทียบครั้งที่สี่ ลูกเห็บและมานนา

            15ไม่มีผู้ใดหนีพ้นพระหัตถ์พระองค์

16คนอธรรมไม่ยอมรู้จักพระองค์

          ถูกพระกรทรงฤทธิ์ของพระองค์ลงโทษ

พระองค์ทรงส่งฝนผิดปกติ ลูกเห็บ และพายุฝนที่ตกไม่หยุดมาเบียดเบียนเขา

          และทรงส่งไฟมาเผาผลาญเขาi

17สิ่งน่าประหลาดที่สุดก็คือ

          น้ำซึ่งดับได้ทุกสิ่ง กลับทำให้ไฟลุกโชติช่วงขึ้น

เพราะจักรวาลร่วมสู้รบเคียงข้างผู้ชอบธรรม

18บางครั้ง ไฟกลับอ่อนแสงลง

          ไม่เผาทำลายสัตว์ที่พระองค์ทรงส่งมาลงโทษคนอธรรมj

เขาจะได้เข้าใจจากสิ่งที่เขาเห็นนี้ว่า

          ตนถูกพระเจ้าทรงตัดสินลงโทษ

19อีกครั้งหนึ่ง ไฟแม้อยู่ในน้ำ ก็ยังลุกโชติช่วงขึ้น

          เพื่อทำลายผลิตผลของแผ่นดินที่ชั่วร้าย

20แต่พระองค์ประทานอาหารของทูตสวรรค์แก่ประชากรของพระองค์

          ทรงจัดหาkขนมปังที่สำเร็จแล้วลงมาจากสวรรค์

โดยที่พวกเขาไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย

          เป็นอาหารเลิศรส ถูกปากของทุกคนl

21อาหารที่พระองค์ประทานนี้แสดงความอ่อนโยนของพระองค์ต่อบรรดาบุตร

          ปรับตัวให้ถูกปากของทุกคนที่กิน

เปลี่ยนรสให้เข้ากับความปรารถนาของทุกคน

22หิมะและน้ำแข็งmทนไฟ ไม่ละลาย

          เพื่อแสดงให้ชาวอิสราเอลรู้ว่า

ไฟที่ลุกไหม้ขณะที่มีลูกเห็บ

          และส่องแสงแปลบปลาบกลางสายฝน

ทำลายผลิตผลของศัตรู

23แต่ไฟเดียวกันนี้กลับลืมพลังของตนเอง

          เพื่อให้บรรดาผู้ชอบธรรมมีอาหารกิน

24บรรดาสิ่งสร้างรับใช้พระองค์ผู้ทรงสร้างทุกสิ่งขึ้นมา

          ใช้อำนาจของตนอย่างเคร่งครัดลงโทษคนอธรรม

แต่กลับแสดงความอ่อนโยนn ทำดีต่อบรรดาผู้ไว้วางใจในพระองค์

25แม้ในเวลานั้น สิ่งสร้างยังปรับเข้ากับสภาพการณ์ต่างๆ ได้o

          รับใช้พระองค์ผู้ทรงเอื้อเฟื้อเลี้ยงดูทุกคน

ตามความปรารถนาของผู้วอนขอp

26ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า บรรดาบุตรที่ทรงรักจะได้เรียนรู้ว่า

          ผลิตผลต่างๆ เลี้ยงมนุษย์ไม่ได้

แต่พระวาจาของพระองค์รักษาชีวิตของบรรดาผู้มีความเชื่อในพระองค์

27สิ่งที่ไฟทำลายไม่ได้ก็ละลายไปทันที

          เมื่อรับความร้อนเพียงเล็กน้อยจากแสงแดด

28มนุษย์จะได้รู้ว่าเขาต้องขอบพระคุณพระองค์ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น

          และวอนขอพระองค์ยามรุ่งอรุณq

29เพราะความหวังของคนอกตัญญูจะละลายไปเหมือนน้ำค้างแข็งในฤดูหนาว

          แล้วซึมหายไปเหมือนน้ำที่ไร้ประโยชน์

16 a หลังจากกล่าวอย่างยืดยาวถึงเรื่องการกราบไหว้รูปเคารพ (บทที่ 13-15) ผู้เขียนใช้เรื่องราวตอนสุดท้ายของหนังสือ (บทที่ 16-19) กลับมากล่าวถึงวิธีปฏิบัติที่ตรงข้ามกันของพระเจ้าต่อชาวอียิปต์และต่อชาวอิสราเอล (ดู 11:4 เชิงอรรถ c) ผู้เขียนเคยเกริ่นถึงการเปรียบเทียบครั้งที่สองนี้แล้วในเรื่องภัยพิบัติ (ดู 11:15-16; 12:23-27) เขาขยายความเรื่องที่พระคัมภีร์เล่าแล้ว (เช่น ข้อ 3) ต่อไปอีก อธิบายความหมายของเหตุการณ์อย่างอิสระตามวิธีเล่าของพวกธรรมาจารย์ ที่นักวิชาการเรียกว่า “Midrash”

b “เครื่องหมาย” สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ที่ปรึกษา”

c ผู้เขียนอธิบายความหมายเรื่องงูพิษใน กดว 21:4-9 ในแง่ดีต่อชาวอิสราเอล และยืนยันว่ารูปงูทองสัมฤทธิ์ไม่มีอำนาจอะไรในตัวเองเลย เขามองเหตุการณ์นี้เป็นการเตือนชาวอิสราเอลให้ระลึกถึงธรรมบัญญัติและเป็นเครื่องหมายของความรอดพ้นที่พระเจ้าประทานแก่มนุษย์ทุกคน เราไม่พบคำอธิบายเช่นนี้อย่างชัดเจนในเรื่องที่เล่าใน กดว – ยน 3:13-17 จะกล่าวถึงรูปงูทองสัมฤทธิ์รวมกับแผนการการกอบกู้มนุษย์ทุกคนให้รอดพ้นอีกเช่นเดียวกัน

d ผู้เขียนคิดว่าชาวอียิปต์เข้าใจเจตนาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ (เทียบ 11:13) แต่บางทีผู้เขียนกำลังคิดถึงเหตุการณ์ร่วมสมัยเท่านั้น

e “สัตว์เหล่านี้” ดูเหมือนว่าผู้เขียนรวมเอาภัยพิบัติเรื่องตั๊กแตน (อพย 10:4-15) กับภัยพิบัติเรื่องเหลือบ (อพย 8:16-20) และเรื่องยุง (อพย 8:12-15) เข้าไว้ด้วยกัน แม้คำที่ใช้จะคลุมเครือ ความคิดที่ว่าแมลงเหล่านี้นำความตายมาให้คงเป็นการขยายความของ อพย บทที่ 10 และ สดด 78:45 หนังสือวิวรณ์ (วว 9:3-12) จะใช้เรื่องภัยพิบัติเหล่านี้กล่าวพาดพิงถึงเหตุการณ์ในยุคสุดท้ายอีกด้วย

f “จะไม่ได้รับพระพรจากพระกรุณา” ยังแปลได้อีกว่า “เขาจะไม่สนใจถึงพระพรของพระองค์”

g ผู้เขียนสอนว่าพระเจ้าทรงพระอานุภาพเหนือชีวิตและความตาย ไม่เพียงในความหมายที่ว่าพระองค์ทรงช่วยผู้ที่พอพระทัยให้พ้นจากความตายที่คุกคามเท่านั้น (สดด 9:13; 107:17-19; อสย 38:10-17) แต่ในความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้นอีก คือการปลุกผู้ตายให้กลับคืนชีพขึ้นมามีชีวิตในร่างกายอีกด้วย (1 พกษ 17:17-23; 2 พกษ 4:33-35; 13:21)

h “วิญญาณที่ถูกจองจำในแดนมรณะ” แปลตามตัวอักษรว่า “วิญญาณที่ถูกรับไว้” ไม่มีการกล่าวโดยตรงถึง “แดนมรณะ” แต่ความหมายชัดเจน

i เหตุการณ์ที่เล่าในข้อนี้เป็นการกล่าวพาดพิงถึงภัยพิบัติเรื่องลูกเห็บ (อพย 9:13-35) แต่ผู้เขียนขยายความใส่รายละเอียดต่างๆเพิ่มเติมเข้าไปอีกด้วย (ดู สดด 78:47-49; 105:32)

j ผู้เขียนคิดว่าภัยพิบัติแรกๆ ยังคงดำเนินอยู่เมื่อภัยพิบัติเรื่องลูกเห็บเกิดขึ้นในอียิปต์ (เทียบ อพย 9:13-35)

k “จัดหา” สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ส่ง”

l เรื่องราวในข้อนี้กล่าวถึง “มานนา” ซึ่งเป็น “อาหารของทูตสวรรค์” (สดด 78:25) เป็น “ขนมปังจากสวรรค์” (สดด 105:40) ซึ่ง “มีรสเหมือนขนมผสมน้ำผึ้ง” (อพย 16:31) ผู้เขียนคิดถึงการขยายความของบรรดาธรรมาจารย์ในสมัยต่อมาที่ว่ามานนาปรับรสของตนให้ถูกปากกับผู้กินแต่ละคน ซึ่งเป็นการแสดงถึงพระทัยดีของพระเจ้าต่อชาวอิสราเอล

m “หิมะและน้ำแข็ง” ในที่นี้หมายถึง “มานนา” ซึ่ง อพย 16:14 เปรียบกับ “น้ำค้าง” ส่วน กดว 11:7 (ในต้นฉบับภาษากรีก) เปรียบเทียบกับ “น้ำแข็ง” * (ดู 19:21)

n “ความเคร่งครัด...ความอ่อนโยน” ของสิ่งสร้างในข้อนี้เป็นการเปรียบเทียบของผู้เขียนกับความตึงและความหย่อนของสายเครื่องดนตรีที่พระเจ้าทรงปรับให้เข้ากับสถานการณ์ (“เคร่งครัด” หรือ ”ตึง” กับศัตรู แต่ “อ่อนโยน” หรือ “หย่อน” กับชาวอิสราเอล เทียบ 19:18)

o “ปรับเข้ากับสภาพการณ์ต่างๆ ได้” ผู้เขียนหมายถึงคุณสมบัติพิเศษของ “มานนา” แต่ไม่ต้องการเน้น “อัศจรรย์” ในด้านที่เป็น “เหตุการณ์ผิดธรรมชาติ” แต่ในด้านที่เป็นบทสอนถึงพระเมตตากรุณาของพระเจ้าที่ทรงเลี้ยงดูประชากรของพระองค์

p “ผู้วอนขอ” ยังแปลได้อีกว่า “ผู้อธิษฐานภาวนา”

q ผู้เขียนกล่าวพาดพิงถึง อพย 16:21 เรื่องชาวอิสราเอลเก็บมานนาทุกเช้าเป็นเสมือนการอธิษฐานภาวนาตอนรุ่งอรุณของประชากร

การเปรียบเทียบครั้งที่ห้า ความมืดและเสาเพลิงa

            17 1การวินิจฉัยของพระองค์ใหญ่ยิ่ง ยากที่จะอธิบายได้

          ผู้ไร้การศึกษาจึงหลงผิด

2คนอธรรมคิดจะกดขี่ชนชาติศักดิ์สิทธิ์

          เขาก็กลับเป็นเชลยของความมืด

ถูกกลางคืนที่ยาวนานจองจำไว้

          ถูกกักขังอยู่ภายในบ้าน ห่างจากพระญาณเอื้ออาทรนิรันดรของพระเจ้า

3เขาทำบาปอย่างเร้นลับ คิดว่าไม่มีผู้ใดเห็น

          และคิดว่าพระองค์จะทรงลืมความผิดเสมือนมีม่านคลุมไว้

          เขาจึงมีความหวาดกลัวสยดสยอง

          กระจัดกระจายไปเหมือนเห็นภาพหลอนb

4แม้ที่หลบซ่อนที่เขาอยู่ก็ไม่ทำให้พ้นความหวาดกลัวไปได้

          เพราะมีเสียงน่ากลัวดังก้องอยู่รอบด้าน

ภูตผีซึมเศร้าใบหน้าหมองคล้ำปรากฏมาหลอกหลอน

5ไม่มีแสงสว่างมากพอจะให้ความสว่างแก่เขาได้

          ดวงดาวสุกใสก็ไม่อาจส่องสว่างในราตรีน่าสยดสยองนั้น

 6มีแต่ไฟน่ากลัวปรากฏขึ้น

          แต่เมื่อภาพนั้นหายไป เขาก็ยังกลัวเพราะคิดว่าสิ่งที่เขาได้เห็นนั้นชั่วร้ายยิ่งกว่าเดิม

7เวทมนตร์คาถาของเขาไม่มีผลในเวลานี้c

          ความรอบรู้ที่เขาเคยอวดอ้างยิ่งทำให้เขาอับอาย

8เขาสัญญาว่าจะขจัดความกลัวและความกังวลออกไปจากจิตใจที่อ่อนแอ

          แต่น่าหัวเราะที่เขาต้องตกใจกลัวสิ่งที่ไม่น่ากลัวเลย

9แม้ไม่มีสัตว์ร้ายเป็นเหตุให้เขาต้องกลัว

          เขากลับหวาดกลัวเมื่อแมลงบินผ่าน และงูส่งเสียงฟู่ฟู่

10เขาตายด้วยความกลัวตัวสั่น

          ไม่ยอมเปิดตามองดูแม้แต่อากาศ ซึ่งเขาจะหนีไปไหนก็ไม่พ้น

11คนอธรรมย่อมขลาดกลัวโดยธรรมชาติ

          และเป็นพยานตัดสินลงโทษตนเอง

เมื่อถูกมโนธรรมdติเตียน เขาก็มองทุกสิ่งในแง่ร้ายยิ่งขึ้นเสมอ

12ผู้ใดมีความกลัวก็เป็นเพราะว่าเขาไม่ยอมพิจารณาตามเหตุผล

13ยิ่งเขาใช้เหตุผลน้อยลงเท่าใด

          เขายิ่งหวาดกลัวมากขึ้นเท่านั้น เพราะไม่รู้สาเหตุของความทุกข์ทรมานนั้น

14ตลอดคืนนั้น ชาวอียิปต์นอนหลับอย่างไม่เป็นสุขเหมือนกันทุกคน

          แม้คืนนั้นจะไม่มีอำนาจใดเหนือเขาเลย

เพราะคืนนั้นมาจากห้วงลึกไร้อำนาจของแดนมรณะ

15บางครั้งเขาถูกภาพหลอนน่ากลัวทรมาน

          บางครั้งเขารู้สึกตัวแข็งเพราะความตกใจ

ความกลัวที่คาดไม่ถึงผุดขึ้นมาทันที

16ใครอยู่ที่ไหนก็ล้มอยู่ที่นั่น

          เหมือนถูกขังอยู่ในคุกที่ไม่มีกรงเหล็ก

17เขาจะเป็นชาวนาหรือคนเลี้ยงแกะ

          หรือคนทำงานในถิ่นทุรกันดาร

เขาก็ต้องประสบชะตากรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

          เพราะทุกคนอยู่ในความมืดประหนึ่งว่ามีโซ่เส้นเดียวกันมัดอยู่

18เสียงลมพัดหวีดหวิว เสียงนกร้องไพเราะในสุมทุมพุ่มไม้

          เสียงน้ำไหลแรงซ่า เสียงหินที่ตกลงมาดังสนั่น

19เสียงวิ่งโลดเต้นของสัตว์ที่ไม่มีใครเห็น

          เสียงคำรามของสัตว์ป่าดุร้าย หรือเสียงกึกก้องจากช่องภูเขา

ล้วนทำให้เขาหวาดกลัวจนตัวแข็ง

20ทั่วโลกมีแสงสว่างเจิดจ้า

          ทุกคนกำลังทำงานอยู่อย่างอิสระเสรี

21กลางคืนมืดมิดปกคลุมเพียงชาวอียิปต์เท่านั้น

          เป็นภาพของความมืดที่กำลังจะมาครอบคลุมเขาในไม่ช้า

แต่ชีวิตของเขากลายเป็นภาระหนักสำหรับตนมากกว่าความมืด

17 a ข้อความในบทนี้กล่าวถึงภัยพิบัติเรื่องความมืดใน อพย 10:21-23 ผู้เขียนเปรียบเทียบความมืดนี้กับแสงสว่างที่ยังส่องทั่วโลกและชาวอิสราเอล (ข้อ 18 และ 18:1) และยังเปรียบเทียบกับธรรมบัญญัติซึ่งเป็นเสมือนแสงสว่างส่องโลกอีกด้วย (18:4) แต่การเปรียบเทียบจริงๆ อยู่ที่ “เสาเพลิง” ใน 18:3

b ผู้เขียนขยายความเรื่องความมืดที่เป็นภัยพิบัตินี้ให้มีรายละเอียดน่าตื่นเต้นตามแบบวิธีเขียนที่เรียกว่า “Midrash” คือใช้ตำนานทั้งของชาวบ้านและทั้งคำอธิบายของบรรดาธรรมาจารย์เป็นแหล่งข้อมูล ดังที่ Philo ชาวอเล็กซานเดรียก็จะใช้ด้วยในภายหลัง น่าสังเกตว่าข้อความนี้เป็นการกล่าวพาดพิงถึงเหตุการณ์ในยุคสุดท้าย (apocalyptic) ด้วย ความมืดที่ครอบคลุมชาวอียิปต์เป็นรูปแบบล่วงหน้าของความมืดในแดนมรณะด้วย (ดู ข้อ 14, 20)

c “เวทมนตร์คาถา...ในเวลานี้” บรรดาผู้วิเศษใช้เวทมนตร์คาถาประสบความสำเร็จชั่วคราว (ดู อพย 7:11, 22; 8:3) แต่ต่อมาต้องประสบความล้มเหลว (อพย 8:14) และยังทำร้ายตนเองด้วย (อพย 9:11) เมื่อกล่าวถึงบรรดาผู้วิเศษสมัยกษัตริย์ฟาโรห์ ผู้เขียนคงจะกล่าวโจมตีบรรดาผู้วิเศษในสมัยของตนด้วย

d “มโนธรรม” เป็นครั้งแรกที่เราพบคำนี้ในพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีก (ดู กจ 23:1 เชิงอรรถ a) ในที่นี้ “มโนธรรม” หมายถึงความสำนึกทางศีลธรรมที่ตำหนิจิตใจของผู้ทำบาป การใช้เหตุผลขจัดสาเหตุที่ตนคิดไปว่าก่อให้เกิดความกลัวได้ แต่มโนธรรมที่รู้สึกว่าตนได้ทำผิดทำให้เขาใช้เหตุผลไม่ถูกต้อง จึงขจัดความกลัวไม่ได้

18 1แต่แสงสว่างเจิดจ้าส่องเหนือบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์

          ชาวอียิปต์ได้ยินเสียงของเขา แต่ไม่เห็นตัวเขาa

พูดกันว่าประชากรของพระเจ้าเป็นสุข

          เพราะไม่ต้องรับทุกข์ทรมานเหมือนตนb

2ชาวอียิปต์ยังขอบใจเขาที่มิได้แก้แค้นความผิดที่ตนเคยทำกับเขา

          และขอโทษเขาที่ตนเคยเป็นศัตรูกับเขาc

3แต่พระองค์กลับประทานเสาเพลิงโชติช่วง

          เพื่อนำประชากรของพระองค์ไปตามทางที่เขาไม่รู้จัก

เป็นเสมือนแดดอ่อนเพื่อช่วยเขาในการอพยพที่มีเกียรติ

4ส่วนชาวอียิปต์สมควรจะขาดความสว่างและถูกกักขังอยู่ในความมืด

          เพราะเขาเคยกักขังบรรดาบุตรของพระองค์ไว้

พระองค์มีพระประสงค์จะใช้บุตรเหล่านี้

          ประทานธรรมบัญญัติเป็นแสงสว่างไม่มีวันดับสูญให้ชาวโลก

การเปรียบเทียบครั้งที่หก - คืนแห่งการไว้ทุกข์และคืนแห่งการปลดปล่อยd

5ชาวอียิปต์ตัดสินใจฆ่าทารกของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์

          ทารกที่ถูกทิ้งให้ตาย มีคนเดียวที่รอดชีวิต

พระองค์ทรงลงโทษให้บุตรของชาวอียิปต์จำนวนมากต้องเสียชีวิตe

          และทรงทำลายล้างพวกเขาทุกคนในคลื่นใหญ่f

6บรรพบุรุษของข้าพเจ้าทั้งหลายได้รับรู้ล่วงหน้าgถึงคืนนั้น

          เขาจะได้มีใจกล้าหาญเพราะมั่นใจในพระสัญญาที่เขาเคยเชื่อ

7ประชากรของพระองค์รอคอยความรอดพ้นของผู้ชอบธรรม

          และรอคอยความพินาศของศัตรู

8ถูกต้องแล้ว สิ่งที่พระองค์ทรงใช้ลงโทษศัตรู

          พระองค์ก็ทรงใช้ประทานเกียรติแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายที่ทรงเรียกมาอยู่กับ
                   พระองค์h

9บรรดาบุตรหลานศักดิ์สิทธิ์ของผู้ชอบธรรมถวายสักการบูชาอย่างลับๆi

          พร้อมใจกันจะปฏิบัติตามพระบัญญัติข้อนี้ของพระเจ้า

คือบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์จะร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน

          เขาจึงขับร้องเพลงสดุดีของบรรพบุรุษj

10เสียงร้องสับสนอลหม่านของศัตรูดังก้อง

          และเสียงคร่ำครวญของผู้ร่ำไห้ถึงลูกๆ ก็ได้ยินไปทั่วบริเวณ

11นายและทาสต้องรับโทษเช่นเดียวกัน

          กษัตริย์และสามัญชนต้องทนทุกข์ลักษณะเดียวกัน

12ทุกแห่งมีคนตายเช่นเดียวกันจำนวนมาก

          คนที่รอดชีวิตไม่เพียงพอที่จะฝังคนตาย

เพราะในชั่วพริบตาเดียว ลูกหลานที่มีค่ายิ่งของเขาถูกทำลายสิ้น

13ผู้ที่เคยเลื่อมใสเวทมนตร์คาถาจนไม่ยอมเชื่อถึงพระเจ้า

          เมื่อบุตรคนแรกต้องตายก็ยอมรับว่า

ประชากรอิสราเอลเป็นบุตรของพระเจ้าk

14เมื่อความสงบเงียบปกคลุมทุกสิ่ง

          ราตรีกาลวิ่งผ่านไปได้ครึ่งทางแล้ว

15พระวาจาทรงอานุภาพของพระองค์กระโจนลงมาจากพระบัลลังก์บนสวรรค์

          ดุจนักรบห้าวหาญกระโจนลงสู่กลางแผ่นดินที่จะต้องพินาศl

ถือพระบัญชาเด็ดขาดของพระองค์ไว้เสมือนดาบคม

16ไปที่ใดก็มีคนตายมากมายที่นั่น

          เท้าเหยียบแผ่นดิน ศีรษะจรดท้องฟ้า

17ทันใดนั้นm ภาพหลอนและความฝันที่ชาวอียิปต์เห็นทำให้เขาตกใจ

          ความหวาดกลัวที่ไม่คาดคิดเข้ามาจู่โจมเขา

18เขาล้มลงเกลื่อนกลาดใกล้จะตาย

          แต่ละคนเผยสาเหตุที่จะต้องตาย

19ความฝันน่าสยดสยองเคยเตือนเขาล่วงหน้าแล้ว

          เพื่อจะไม่ต้องตายโดยไม่รู้ถึงสาเหตุที่เขาต้องทรมาน

พระเจ้าทรงคาดโทษจะทำลายล้างชาวอิสราเอลในถิ่นทุรกันดาร

20พระเจ้ายังทรงส่งความตายมาทดสอบบรรดาผู้ชอบธรรมด้วยn

          คนจำนวนมากต้องตายในถิ่นทุรกันดาร

แต่พระเจ้ามิได้ทรงพระพิโรธต่อเขานานนัก

21เพราะคนไร้ที่ติoคนหนึ่งรีบมาปกป้องเขาทั้งหลาย

          เขาใช้ตำแหน่งเฉพาะของตนเป็นอาวุธ คือคำอธิษฐานภาวนา

และการเผากำยานชดเชยบาปp

          เขาระงับพระพิโรธของพระองค์ ทำให้ภัยพิบัติจบลง

แสดงว่าตนเป็นผู้รับใช้ของพระองค์

22เขามีชัยชนะเหนือพระพิโรธq มิใช่ด้วยกำลังร่างกาย มิใช่ด้วยกำลังอาวุธ

          แต่ใช้วาจาrระงับพระพิโรธของพระเจ้าผู้ทรงลงโทษ

ทูลพระองค์ให้ทรงระลึกถึงคำปฏิญาณและพันธสัญญาที่ทรงกระทำไว้กับบรรพบุรุษ

23ขณะที่คนทั้งหลายล้มตายทับถมกันเป็นกองแล้ว

          เขาเข้ามายืนอยู่และระงับพระพิโรธ

ขัดขวางพระพิโรธมิให้เข้าใกล้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่

24เสื้อยาวกรอมเท้าของเขาเป็นเครื่องหมายถึงสากลพิภพ

          มีนามทรงเกียรติของบรรพบุรุษจารึกไว้บนรัตนชาติสี่แถวที่เป็นเครี่องประดับ

มงกุฎประดับศีรษะsของเขาเป็นเครื่องหมายแสดงความยิ่งใหญ่ของพระองค์

25เมื่อทูตสวรรค์ผู้ทำลายtเห็นเครื่องหมายเหล่านี้ ก็ถอยไปด้วยความกลัว

          การที่พระเจ้าทรงส่งพระพิโรธเพียงเล็กน้อยมาทดสอบชาวอิสราเอลก็เพียงพอแล้ว

18 a “ได้ยินเสียงของเขา แต่ไม่เห็นตัวเขา” ผู้เขียนคิดว่าชาวอียิปต์และชาวอิสราเอลพำนักอาศัยอยู่ด้วยกัน (ดู อพย 11:4-7; 12:12-13, 29-36)

b “ไม่ต้องรับทุกข์ทรมานเหมือนตน” แปลตามสำเนาโบราณบางฉบับ และตามสำนวนแปลโบราณภาษาละติน

c “ขอโทษเขาที่ตนเคยเป็นศัตรูกับเขา” ยังแปลได้อีกว่า “ขอให้เขาได้จากไป” (ดู อพย 10:24; 11:8; 12:33)

d ผู้เขียนใช้ “กฎแห่งกรรม” มาเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง (เทียบ 11:16) ผู้เขียนกล่าวพาดพิงถึงโทษที่ชาวอียิปต์ได้รับ (บุตรคนแรกถูกประหารชีวิต และกองทัพถูกน้ำทะเลท่วมทำลาย ในข้อ 5) เป็นการที่พระเจ้าทรงลงโทษที่กษัตริย์ฟาโรห์ทรงเคยสั่งให้บุตรชายชาวอิสราเอลถูกประหารชีวิตในแม่น้ำไนล์ (อพย 1:22)

e “บุตรของชาวอียิปต์จำนวนมากต้องเสียชีวิต” ความคิดนี้คงมาจาก อพย 4:22-23 พระบัญชาของกษัตริย์ฟาโรห์ให้ประหารชีวิตบุตรชายของชาวอิสราเอลในแม่น้ำไนล์ เป็นเหตุผลที่ผู้เขียนเคยใช้อธิบายว่าพระเจ้าทรงลงโทษชาวอียิปต์ โดยให้น้ำกลายเป็นเลือดใน 11:6-7 แล้ว แต่ในที่นี้เขาใช้พระบัญชานี้มาเป็นเหตุผลอธิบายความตายของบุตรคนแรกของชาวอียิปต์

f หนังสือ “Book of Jubilee” (48:14) และคำอธิบายของบรรดาธรรมาจารย์รวมเหตุการณ์ทั้งสองนี้เข้าไว้ด้วยกันแล้ว คือเรื่องบุตรคนแรกของชาวอียิปต์ถูกประหารชีวิต และกองทัพของกษัตริย์ฟาโรห์ถูกน้ำทะเลท่วมตาย

g “บรรพบุรุษ...ได้รับรู้ล่วงหน้า” ในที่นี้อาจหมายความว่าชาวอิสราเอล (ในอียิปต์) รู้ล่วงหน้าแล้วว่าตนจะได้อพยพออกจากแผ่นดินอียิปต์ ( อพย 11:4-7) หรืออาจหมายถึงมากกว่านั้นว่า อับราฮัมและยาโคบเคยรู้ล่วงหน้าแล้วว่าพระเจ้าทรงสัญญาจะให้ลูกหลานของเขาพ้นจากการเป็นทาสในอียิปต์ (ปฐก 15:13-14; 46:3-4)

h การทำลายล้างบุตรคนแรกของชาวอียิปต์ การกินเลี้ยงฉลองปัสกา และการอพยพ ในที่สุดทำให้ชาวอิสราเอลได้ชื่อว่า “ประชากรของพระเจ้า” (ดู ฉธบ 7:6 เชิงอรรถ b)

i “บุตรหลานศักดิ์สิทธิ์ของผู้ชอบธรรม” หมายถึงบุตรหลานของบรรพบุรุษที่พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานพระพรต่างๆ ให้ ส่วน การ “ถวายสักการบูชาอย่างลับๆ” หมายถึงการเลี้ยงปัสกา (อพย 12:27; ฉธบ 16:2, 5) ที่เรียกว่าเป็นการถวายสักการบูชา “อย่างลับๆ” ก็เพราะการกินเลี้ยงนี้ทำกันภายในบ้าน (อพย 12:46)

j ผู้เขียนเล่าถึงงานเลี้ยงปัสกาครั้งแรกตามพิธีที่ปฏิบัติกันในภายหลัง เมื่อมีการขับร้องเพลงสดุดีบทที่ 113–118 ที่เรียกว่า “Hallel” ในพิธีดังกล่าว

k ชาวอียิปต์มั่นใจในเวทมนตร์คาถา หวังว่าบรรดาผู้วิเศษของตนจะเอาชนะโมเสสได้ เพราะคิดว่าโมเสสก็ใช้เวทมนตร์คาถาเช่นเดียวกัน (ดู อพย 7:11-13; 8:3, 14; 9:11) แต่ครั้งนี้พระเจ้าทรงทำอัศจรรย์โดยตรง

l หนังสืออพยพกล่าวว่าพระเจ้าทรงบันดาลโดยตรงให้บุตรคนแรกของชาวอียิปต์ต้องตาย (อพย 11:4; 12:12, 23, 27, 29) หรือทรงกระทำการนี้โดยอาศัย “ทูตสวรรค์ผู้ทำลาย” (อพย 12:23) แต่ในที่นี้ผู้เขียนกล่าวว่าเป็นการกระทำของพระวาจาของพระเจ้า ซึ่งพระคัมภีร์เคยกล่าวแล้วว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามพระวินิจฉัยของพระองค์ (อสย 11:4; 55:11; ยรม 23:29; ฮชย 6:5) ข้อความในข้อนี้คงได้รับแรงบันดาลใจจากความคิดใน 1 พศด 21:15-27 โดยเฉพาะข้อ 16 “พระวาจา” ที่กล่าวถึงที่นี่มีความหมายทางอันตวิทยา คือหมายถึง “การพิพากษาครั้งสุดท้าย” เมื่อสิ้นโลก จึงมิได้หมายถึง “พระวจนาตถ์” ที่ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ ดังที่ข้อความนี้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในพิธีกรรมของเทศกาลพระคริสตสมภพ (บทเริ่มพิธีของมิสซาวันที่ 30 ธันวาคม) แต่หมายถึงการเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า (ดู 1 ธส 5:2-4; วว 19:11-21)

m รายละเอียดในข้อความต่อไปนี้ไม่มีพื้นฐานในหนังสืออพยพเลย

n “การทดสอบผู้ชอบธรรม” หมายถึงโทษที่โคราห์ ดาธานและอาบีรัมได้รับเพราะการกบฏต่อโมเสส (กดว 17:6-15)

o “คนไร้ที่ติ” หมายถึงอาโรน เพราะพระยาห์เวห์ทรงเลือกสรรเขาและเขาดำเนินชีวิตซื่อสัตย์ต่อพระองค์

p “การเผากำยานชดเชยบาป” ผู้เขียนยังเพิ่ม “การอธิษฐานภาวนา” ซึ่งไม่มีกล่าวถึงในเรื่องเล่าของพระคัมภีร์ เพื่อสอนว่ามหาสมณะเป็นผู้วอนขอพระเจ้าแทนประชากร (เทียบ 2 มคบ 3:31; 15:12; สดด 99:6; ฮบ 7:25)

q “พระพิโรธ” สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ประชาชน”

r “วาจา” ในที่นี้อาจหมายถึงคำอธิษฐานภาวนา (ข้อ 21) หรืออาจหมายถึงพระบัญชาของพระเจ้าซึ่งสั่งให้ “ทูตสวรรค์ผู้ทำลาย” หยุดลงโทษ (ข้อ 25)

s ผู้เขียนคิดว่าอาโรนสวมอาภรณ์ยาวกรอมเท้าพร้อมกับ “เอโฟด” หรือ “เสื้อกั๊ก” ที่มีเครื่องประดับหน้าอกประกอบด้วยรัตนชาติ 12 เม็ดที่มีนามของบรรพบุรุษ บุตรทั้ง 12 คนของยาโคบ (ดู ลนต 28:17ฯ; 39:6ฯ) เขายังสวม “แถบคาดศีรษะ” ทำด้วยทองคำที่สลักอักษรคำว่า “เจิมถวายแด่พระยาห์เวห์” (อพย 28:36ฯ; 39:30ฯ) อีกด้วย เครื่องประดับของมหาสมณะได้รับความหมายให้หมายถึงจักรวาลตามความคิดของชาวยิวในสมัยอารยธรรมกรีก (เช่นที่ตรงนี้)

t “ทูตสวรรค์ผู้ทำลาย” อาจเป็นองค์เดียวกันกับใน 1 พศด 21:15-16 (เทียบ อพย 12:13)

การเปรียบเทียบครั้งที่เจ็ด ทะเลแดงa

            19 1พระเจ้าทรงลงโทษผู้ไม่ยำเกรงพระองค์จนถึงที่สุดอย่างไร้ความปรานี

          เพราะทรงทราบล่วงหน้าแล้วว่าเขาทั้งหลายจะทำอย่างไร

2คือเมื่อชาวอียิปต์ปล่อยประชากรของพระองค์ไปแล้ว

          เร่งให้ออกเดินทางb เขาก็จะเปลี่ยนใจไล่ตาม

3ขณะที่ชาวอียิปต์กำลังไว้ทุกข์ร่ำไห้ที่หลุมศพผู้ตายนั้น

          เขาเปลี่ยนใจวางแผนการไร้สติอีกแผนหนึ่ง

ออกไล่ตามผู้ที่เขาขอร้องให้ออกเดินทางเสมือนว่าเป็นผู้หลบหนี

4ชะตากรรมที่เขาควรจะได้รับc ผลักดันเขาให้ทำสิ่งเลวร้ายที่สุดเช่นนี้

          ทำให้เขาลืมเรื่องที่เกิดขึ้น

ความทุกข์ทรมานที่เขาได้รับเป็นการลงโทษน้อยเกินไปdจึงทวีมากขึ้น

                5ขณะที่ประชากรของพระองค์เดินทางอย่างน่าอัศจรรย์

          ชาวอียิปต์ก็พบความตายอย่างที่ไม่มีใครเคยได้ยินมาก่อน

6สิ่งสร้างทั้งมวลได้รับรูปแบบใหม่eตามธรรมชาติของตน

          เชื่อฟังพระบัญชาเพื่อปกป้องบรรดาบุตรของพระองค์ให้พ้นภัย

7ทุกคนเห็นเมฆก้อนหนึ่งมาปกคลุมค่าย

          ในที่ที่เคยเป็นน้ำ แผ่นดินแห้งก็ปรากฏขึ้น

ทางเดินอย่างอิสระเปิดขึ้นในทะเลแดง

          และที่ที่มีคลื่นใหญ่ก็กลับเป็นทุ่งราบเขียวชอุ่มf

8ประชากรทั้งหมดเดินผ่านทางนั้นโดยมีพระหัตถ์พระองค์ปกป้องไว้

          เขาเห็นอัศจรรย์น่าพิศวง

9ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า เขาทั้งหลายขับร้องสรรเสริญพระองค์ผู้ทรงช่วยเขาให้รอดพ้น

          ร่าเริงประหนึ่งม้าที่วิ่งไปมาในทุ่งหญ้า

ประหนึ่งลูกแกะที่กระโดดโลดเต้น

10เขายังระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างที่เขาถูกเนรเทศ

          เมื่อแผ่นดินทำให้เกิดตัวริ้นแทนสัตว์เลี้ยง

และแม่น้ำทำให้เกิดกบมากมายแทนปลา

11ต่อมา เขายังเห็นนกชนิดใหม่

          เมื่อหิวโหยและร้องขออาหารเลิศรส

12นกคุ่มออกมาจากทะเล

          เพื่อให้เขาทั้งหลายกินจนอิ่มg

ชาวอียิปต์มีความผิดมากกว่าชาวโสดม

13การลงโทษตกเหนือคนบาป

          หลังจากมีฟ้าแลบฟ้าร้องเป็นการเตือนล่วงหน้าh

เขาต้องรับทรมานเหมาะสมกับความเลวร้ายของตน

          เพราะเขาเคยแสดงความเกลียดชังอย่างโหดร้ายต่อคนต่างชาติ

14ชาวโสโดมiไม่ต้อนรับผู้ที่เขาไม่รู้จัก

          แต่ชาวอียิปต์กลับทำให้ผู้มีบุญคุณที่มาขอพักอาศัยกลายเป็นทาส

15ยิ่งกว่านั้น ชาวโสโดมต้องถูกลงโทษj

          เพราะได้ต้อนรับคนต่างถิ่นอย่างไม่เป็นมิตร

16ส่วนชาวอียิปต์ หลังจากต้อนรับคนต่างถิ่นด้วยงานเลี้ยง

          และให้มีสิทธิเท่ากับตนkแล้ว

กลับข่มเหงเขาให้ทำงานหนัก

17ดังนั้น ชาวอียิปต์ต้องตาบอดl

          เหมือนชาวโสโดมที่ประตูบ้านของผู้ชอบธรรมm

เมื่อถูกล้อมด้วยความมืดมิด

          แต่ละคนต่างคลำหาทางเข้าประตูบ้านของตน

พระเจ้าทรงบันดาลให้โลกมีความประสานกลมกลืนอีกครั้งหนึ่งn

18บรรดาโลกธาตุสับเปลี่ยนกันอย่างกลมกลืน

          เหมือนสายพิณบรรเลงเพลงไพเราะ

ทั้งๆ ที่แต่ละสายยังรักษาเสียงของตนไว้

          เมื่อตั้งใจสังเกตเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็จะเห็นว่าเป็นเช่นนั้น

19สัตว์บกกลายเป็นสัตว์น้ำo

          สัตว์น้ำกลับไปอยู่บนบกp

20ไฟมีแรงมากขึ้นในน้ำ

          น้ำลืมธรรมชาติของตน ไม่ดับไฟ

21เปลวไฟกลับไม่เผาไหม้เนื้อของสัตว์ที่บอบบางซึ่งเดินอยู่ในไฟ

          และไม่ละลายอาหารจากฟ้าซึ่งเหมือนน้ำค้างแข็งที่ละลายได้ง่าย

บทสรุป

            22ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงบันดาลให้ประชากรของพระองค์ยิ่งใหญ่

                    และได้รับเกียรติทุกวิถีทาง

          พระองค์ไม่ทรงทอดทิ้งเขา

                    แต่ทรงคอยช่วยเหลือเขาอยู่ทุกแห่งทุกเวลา

19 a หลังจากพิจารณาถึงความดื้อรั้นของผู้ไม่ยำเกรงพระเจ้าและกล่าวถึงการถูกพระองค์ทรงลงโทษอย่างไร้ปรานีแล้ว การเปรียบเทียบก็ปรากฏชัดในข้อ 5 (ชาวอียิปต์ประสบความตาย แต่ประชากรอิสราเอลพ้นภัยอย่างอัศจรรย์) ต่อจากนั้นผู้เขียนเล่าว่าชาวอิสราเอลข้ามทะเลแดงไปอย่างน่าอัศจรรย์ (ข้อ 6-9) โดยเพิ่มรายละเอียดอย่างอิสระจากตำนานโบราณ (ดู อพย 14:15 เชิงอรรถ a)

b “เร่งให้ออกเดินทาง” สำเนาโบราณบางฉบับว่า “อนุญาตให้ออกเดินทาง” หรือ “ตกลงใจให้ออกเดินทาง”

c “ชะตากรรมที่เขาควรจะได้รับ” แปลตามตัวอักษรว่า “ความจำเป็นที่สมควร” ผู้เขียนใช้สำนวนภาษากรีกนี้หมายถึงพระทัยแข็งกระด้างของกษัตริย์ฟาโรห์ (อพย 14:4, 8) การลงโทษนี้จึงไม่ใช่ชะตากรรมที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เป็นการลงโทษสมกับความผิดซึ่งน่าจะได้รับโทษมากกว่านั้นเสียอีก

d การที่พระเจ้าทรงพากเพียรไม่ทรงลงโทษผู้ทำผิดในทันทีเพราะทรงพระกรุณานั้น จะไม่คงอยู่ตลอดไป เพราะพระองค์ทรงกำหนดวันพิพากษาสุดท้ายล่วงหน้าไว้แล้ว เราพบความคิดเช่นนี้บ่อยๆ ในวรรณกรรมประเภท “วิวรณ์” (apocalyptic)

e “สิ่งสร้างทั้งมวลได้รับรูปแบบใหม่” ผู้เขียนคิดว่าการช่วยประชากรอิสราเอลออกจากอียิปต์คล้ายกับเป็นการจัดระเบียบของสิ่งสร้างขึ้นใหม่ เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่กล่าวไว้ใน ปฐก 1:1-6 เช่นกล่าวถึง “ความมืด-ความสว่าง” “ท้องฟ้า-แผ่นดิน-และทะเล” ซึ่งในโอกาสนี้ทำผิดกฎธรรมชาติที่ทรงกำหนดไว้

f “ทุ่งราบเขียวชอุ่ม” ชวนให้คิดถึงข้อความใน อสย 63:14 ซึ่งกล่าวถึงที่ราบที่ชาวอิสราเอลเดินทางผ่านขณะกลับจากการเนรเทศ ต่อมาบรรดาธรรมาจารย์ชาวยิวจะกล่าวถึงไม่เพียงแต่ “หญ้าเขียวชอุ่ม” เท่านั้น แต่จะกล่าวถึงหนทางที่มีต้นไม้ดอกไม้ผลขึ้นเรียงรายด้วย ธรรมาจารย์เหล่านี้จะขยายรายละเอียดของการข้ามทะเลแดงให้มีอัศจรรย์ถึง 10 ประการ

g ผู้เขียนอ้างถึง กดว 11:31 ตามตัวอักษร คือนกคุ่มออกมาจากทะเลเหมือนกับยุง และริ้นออกมาจากแผ่นดิน และฝูงกบออกมาจากแม่น้ำไนล์

h รายละเอียดเหล่านี้ได้มาจาก สดด 77:17-18 หรือจากคำแปลพระคัมภีร์ภาษาอาราเมอิกที่เรียกว่า ‘Targum’ เมื่อเล่าเรื่องใน อพย 14:24

i “ชาวโสโดม” (ดู ปฐก 19:1-29) พระคัมภีร์คิดว่าชาวโสโดมเป็นคนชั่วร้ายที่สุดในโลก แต่ผู้เขียนหนังสือปรีชาญาณกล่าวว่าชาวอียิปต์ละเมิดกฎการต้อนรับคนต่างถิ่นมากกว่าชาวเมืองโสโดมเสียอีก

j “ชาวโสโดมต้องถูกลงโทษ” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับไม่ชัดเจน แม้ชาวโสโดมทำผิดน้อยกว่าชาวอียิปต์ เขาก็ต้องได้รับโทษเช่นเดียวกัน เพราะไม่ยอมต้อนรับคนต่างถิ่น

k “ให้มีสิทธิเท่ากับตน” นี่คืออุดมการณ์ซึ่งชาวยิวที่กรุงอเล็กซานเดรียในสมัยของผู้เขียนเรียกร้องความเสมอภาคจากชาวอียิปต์ โดยกล่าวเป็นนัยว่าในสมัยที่ครอบครัวของยาโคบอพยพเข้ามาในอียิปต์นั้น เขาได้รับสิทธิเท่าเทียมกับชาวอียิปต์

l “ชาวอียิปต์ต้องตาบอด” อพย 10:21-23 กล่าวถึงภัยพิบัติเรื่อง “ความมืด” แต่ผู้เขียนบรรยายขยายความออกให้เป็นว่าชาวอียิปต์ต้อง “ตาบอด” (เพราะมองอะไรไม่เห็น)

m “ผู้ชอบธรรม” หมายถึงโลท (10:6; ดู ปฐก 19:11)

n วรรณกรรมกรีกมักเปรียบเทียบความกลมกลืนในธรรมชาติกับเสียงดนตรีที่ไพเราะ ในที่นี้ผู้เขียนพยายามใช้ภาษาเปรียบเทียบอธิบายเหตุการณ์เมื่อชาวอิสราเอลอพยพออกจากแผ่นดินอียิปต์ แต่การเปรียบเทียบไม่สู้จะชัดเจนนัก เพราะกล่าวถึงการที่โลกธาตุเปลี่ยนคุณสมบัติของตนจนกลายเป็น “โลกใหม่” เพื่อรับใช้ประชากรของพระเจ้า (ข้อ 6)

o “สัตว์น้ำ” ในที่นี้คือสัตว์เลี้ยงของชาวอิสราเอลที่เดินตามดินแห้งข้ามทะเลพร้อมกับประชากร จึงนับว่ากลายเป็น “สัตว์น้ำ” ไป

p “สัตว์น้ำกลับไปอยู่บนบก” หมายถึงฝูงกบที่ขึ้นมาจากแม่น้ำไนล์ (อพย 8:2)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก