“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“พระองค์มิใช่พระเจ้าของผู้ตาย แต่เป็นพระเจ้าของผู้เป็น”

63. การกลับคืนชีพของบรรดาผู้ตาย (มก 12:18-27)
      12 18ต่อมาชาวสะดูสีบางคนมาพบพระเยซูเจ้าคนเหล่านี้สอนว่าไม่มีการกลับคืนชีพเขาทูลถามพระองค์ว่า19“พระอาจารย์โมเสสเขียนสั่งไว้ว่าถ้าพี่ชายตายทิ้งภรรยาไว้โดยไม่มีบุตรก็ให้น้องชายของเขารับเอาหญิงนั้นมาเป็นภรรยาเพื่อจะได้สืบสกุลของพี่ชาย20ยังมีพี่น้องเจ็ดคนคนแรกมีภรรยาแล้วตายไปโดยไม่มีบุตร21คนที่สองก็รับนางเป็นภรรยาแล้วตายไปโดยไม่มีบุตรคนที่สามก็เช่นเดียวกัน22ทั้งเจ็ดคนไม่มีบุตรเลยในที่สุดหญิงคนนั้นก็ตายไปด้วย23เมื่อมนุษย์จะกลับคืนชีพในวันกลับคืนชีพหญิงนั้นจะเป็นภรรยาของใครเพราะทั้งเจ็ดคนต่างได้นางเป็นภรรยา”


24พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “ท่านคิดผิดไปแล้วมิใช่หรือท่านไม่เข้าใจพระคัมภีร์และไม่รู้จักพระอานุภาพของพระเจ้า25เมื่อผู้ตายจะกลับคืนชีพนั้นจะไม่มีการแต่งงานเป็นสามีภรรยากันอีกแต่เขาจะเป็นเหมือนทูตสวรรค์26ส่วนเรื่องผู้ตายกลับคืนชีพนั้นท่านไม่ได้อ่านหนังสือของโมเสสตอนที่กล่าวถึงพุ่มไม้หรือว่าพระเจ้าตรัสกับเขาอย่างไรพระองค์ตรัสว่า“เราคือพระเจ้าของอับราฮัมพระเจ้าของอิสอัคและพระเจ้าของยาโคบ27พระองค์มิใช่พระเจ้าของผู้ตายแต่เป็นพระเจ้าของผู้เป็น ท่านคิดผิดไปมากทีเดียว”

a) อธิบายความหมาย
          เหตุการณ์นี้ยังเกิดขึ้นวันที่สามในสัปดาห์การรับทรมานของพระเยซูเจ้าคือ วันอังคารศักดิ์สิทธิ์ พระเยซูเจ้ายังคงประทับอยู่ในบริเวณพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม ในข้อความ11:27-12:37 นักบุญมาระโกรวบรวมการโต้เถียงระหว่างพระเยซูเจ้ากับหัวหน้าชาวยิวกลุ่มต่าง ๆ เป็น 5 ครั้ง กลุ่มที่หนึ่งคือสมาชิกสภาซันเฮดรินซึ่งไม่ประสบความสำเร็จในการโต้เถียงกับพระเยซูเจ้าเรื่องอำนาจของพระองค์มาจากที่ใดกลุ่มที่สองคือชาวฟาริสีร่วมกับพรรคพวกของกษัตริย์เฮโรดซึ่งพยายามจับผิดพระเยซูเจ้าโดยถามพระองค์ว่า “เป็นการถูกต้องหรือไม่ที่จะเสียภาษีแก่ซีซาร์” และนี่เป็นกลุ่มที่สามที่พระเยซูเจ้าทรงเผชิญหน้ากับผู้อริ นั่นคือชาวสะดูสีซึ่งไม่เชื่อเรื่องการกลับคืนชีพของบรรดาผู้ตาย (เทียบ กจ 23:8) ข้อความเชื่อนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคริสตชนสมัยแรก ๆ เพราะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นความคิดหลักของคริสต์ศาสนา (เทียบ 1 คร 15)

-ต่อมา ชาวสะดูสีบางคนมาพบพระเยซูเจ้า คำว่า “สะดูสี” ดูเหมือนว่ามาจากชื่อของมหาสมณะศาโดกที่กษัตริย์ซาโลมอนทรงเลือกมาแทนมหาสมณะอาบียาธาร์(เทียบ 1 พกษ 1:7-8)แม้กลุ่มชาวสะดูสีมีสมาชิกจำนวนน้อยก็จริงแต่มีอิทธิพลมาก เพราะประกอบไปด้วยชนชั้นผู้นำในสังคม ส่วนใหญ่เป็นคนในตระกูลสมณะชั้นผู้ใหญ่ร่วมกับผู้อาวุโสหมายถึงฆราวาสผู้เป็นหัวหน้าตระกูลสำคัญ ๆ ชาวสะดูสีเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมและเป็นผู้ประนีประนอมกับรัฐบาลโรมันเพื่อรักษาผลประโยชน์ในการปกครอง หลังจากพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายในปี ค.ศ. 70 กลุ่มนี้ก็ได้สูญหายไป

- คนเหล่านี้สอนว่าไม่มีการกลับคืนชีพ ชาวสะดูสียอมรับว่าธรรมบัญญัติของโมเสสเท่านั้นบันทึกพระวาจาของพระเจ้าแก่อิสราเอลคือหนังสือปัญจบรรพ และเขามั่นใจว่าในหนังสือเหล่านี้ไม่มีคำสอนเรื่องการกลับคืนชีพของบรรดาผู้ตาย โดยแท้จริงแล้ว ความเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพของผู้ตายปรากฏอย่างชัดเจนเพียงในหนังสือพระคัมภีร์ที่เขียนในช่วง 200 ก่อนคริสตกาลเท่านั้น เช่น หนังสือประกาศกดาเนียล หนังสือมัคคาบีและหนังสือปรีชาญาณ

- เขาทูลถามพระองค์ว่า ชาวสะดูสีทูลถามพระเยซูเจ้าโดยใช้วิธีการโต้เถียงของธรรมาจารย์คือ ก่อนที่จะตั้งคำถามโดยตรงให้คู่สนทนาตอบ เขามักเริ่มต้นโดยอ้างข้อความจากพระคัมภีร์ แล้วเล่าประสบการณ์ชีวิตที่ดูเหมือนขัดแย้งกับข้อความในพระคัมภีร์ เพื่อสรุปว่าข้อความเชื่อในเรื่องการกลับคืนชีพของผู้ตายไร้สาระ

- “พระอาจารย์ โมเสสเขียนสั่งไว้ว่า ถ้าพี่ชายตาย ทิ้งภรรยาไว้โดยไม่มีบุตร ก็ให้น้องชายของเขารับเอาหญิงนั้นมาเป็นภรรยา เพื่อจะได้สืบสกุลของพี่ชาย ข้อความนี้เป็นการอ้างคำสั่งโดยสังเขปจากหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ(25:5-10) ข้อกำหนดให้พี่น้องของผู้ตายแต่งงานกับภรรยาม่ายของเขา เพื่อสืบสกุล เรียกว่า Levirate Law จากคำภาษาละตินว่า levir ซึ่งแปลว่าพี่เขยน้องเขย หญิงม่ายที่ไม่มีบุตรชายจะต้องเป็นภรรยาของพี่เขยหรือน้องเขย บุตรคนแรกที่เกิดจากการแต่งงานนี้นับว่าเป็นบุตรของสามีคนแรกที่ตายแล้ว และจะเป็นทายาทของเขา กฎหมายนี้ยังพบได้ในประมวลกฎหมายของเพื่อนบ้านใกล้เคียง มีจุดประสงค์เพื่อสืบสกุลรักษาชื่อวงศ์ตระกูลไว้และเพื่อรักษาทรัพย์สินของวงศ์ตระกูลไว้ด้วย

- ยังมีพี่น้องเจ็ดคน คนแรกมีภรรยาแล้วตายไปโดยไม่มีบุตร คนที่สองก็รับนางเป็นภรรยาแล้วตายไปโดยไม่มีบุตร คนที่สามก็เช่นเดียวกัน ทั้งเจ็ดคนไม่มีบุตรเลย ในที่สุดหญิงคนนั้นก็ตายไปด้วย ชาวสะดูสีเล่าเรื่องค่อนข้างตลกไม่ใช่เรื่องจริง แม้เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นเองก็ตาม แต่ยังมีน้ำหนักเพื่อแสดงว่าความเชื่อในเรื่องการกลับคืนชีพไม่สมเหตุสมผล

- เมื่อมนุษย์จะกลับคืนชีพในวันกลับคืนชีพ หญิงนั้นจะเป็นภรรยาของใคร เพราะทั้งเจ็ดคนต่างได้นางเป็นภรรยา” แม้ชาวฟาริสีไม่เชื่อเรื่องการกลับคืนชีพ แต่ในที่นี้เขาสมมุติว่าการกลับคืนชีพเกิดขึ้นจริง โดยย้ำข้อนี้ถึง 2 ครั้งตามลีลาการเขียนของนักบุญมาระโก เพื่อเน้นว่าข้อสมมุติฐานนี้ไร้สาระ เนื่องจากว่าจะทำให้เกิดปัญหาตามมาทีหลังที่แก้ไม่ตก เพราะไม่มีหลักการเพื่อตัดสินว่าหญิงที่เคยเป็นภรรยาของชายทั้งเจ็ดคน เมื่อกลับคืนชีพจะเป็นภรรยาของผู้ใครในเจ็ดคนนี้ ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน โดยแท้จริงแล้ว คำถามนี้แสดงว่าชาวสะดูสีเข้าใจชีวิตหลังการกลับคืนชีพอย่างหยาบ ๆ คือผู้ตายจะกลับมีชีวิตในร่างกายเหมือนในโลกนี้

- พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “ท่านคิดผิดไปแล้วมิใช่หรือ ท่านไม่เข้าใจพระคัมภีร์และไม่รู้จักพระอานุภาพของพระเจ้า  พระเยซูเจ้าทรงแสดงด้วยวิธีนิ่มนวลว่า ชาวสะดูสีปฏิเสธการกลับคืนชีพของบรรดาผู้ตายและคาดคะเนชีวิตหลังการกลับคืนชีพอย่างหยาบ ๆ เพราะเหตุผลเดียวคือความไม่รู้ อันดับแรก เขาทั้งหลายไม่รู้พระคัมภีร์ซึ่งสรรเสริญพระทัยดี ความซื่อสัตย์และพระอานุภาพของพระเจ้า อันดับที่สอง เขาทั้งหลายไม่เข้าใจพระอานุภาพของพระองค์ซึ่งสามารถสร้างชีวิตมนุษย์ต่างจากชีวิตบนแผ่นดินนี้คำกล่าวหานี้ของพระเยซูเจ้าทำให้ชาวสะดูสีโกรธแค้นมาก เพราะเขาภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนที่เป็นครอบครัวสมณะ ซึ่งมีหน้าที่รักษาพระคัมภีร์อย่างเคร่งครัด มิให้ปะปนกับธรรมประเพณีของธรรมาจารย์

- เมื่อผู้ตายจะกลับคืนชีพนั้น จะไม่มีการแต่งงานเป็นสามีภรรยากันอีก แต่เขาจะเป็นเหมือนทูตสวรรค์ การอ้างถึงทูตสวรรค์เป็นความคิดลักษณะพิเศษของลัทธิยิว เพื่อเน้นความแตกต่างโดยสิ้นเชิงของชีวิตบนแผ่นดินนี้กับชีวิตในอนาคตของร่างกายผู้กลับคืนชีพ ชีวิตของผู้กลับคืนชีพเป็นชีวิตนิรันดร อมตะเป็นเหมือนชีวิตของทูตสวรรค์ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีผู้สืบสกุลเพื่อรักษาชีวิตมนุษย์ต่อไป พระเยซูเจ้าทรงยืนยันว่า ชีวิตสามีภรรยาเป็นสภาพชั่วคราวของมนุษย์ เป็นเครื่องหมายและรูปแบบของพันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับประชากรของพระองค์

- ส่วนเรื่องผู้ตายกลับคืนชีพนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าทรงอธิบายธรรมชาติของการกลับคืนชีพแล้ว พระองค์ทรงพิสูจน์ว่าการกลับคืนชีพเป็นเหตุการณ์แน่นอน เพราะพระวาจาของพระเจ้าเปิดเผยในธรรมบัญญัติของโมเสส คือในหนังสือปัญจบรรพที่ชาวสะดูสียอมรับ

- ท่านไม่ได้อ่านหนังสือของโมเสสตอนที่กล่าวถึงพุ่มไม้หรือว่าพระเจ้าตรัสกับเขาอย่างไร พระองค์ตรัสว่า “เราคือพระเจ้าของอับราฮัม พระเจ้าของอิสอัคและพระเจ้าของยาโคบ ข้อความนี้เป็นการอ้างถึงหนังสืออพยพเรื่องพุ่มไม้ที่ลุกเป็นไฟแต่ไม่มอด (เทียบ อพย 3:1-6; 15-16) เมื่อพระเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์แก่โมเสสจำนวน 2 ครั้งว่า “เราคือพระเจ้าของอับราฮัม พระเจ้าของอิสอัคและพระเจ้าของยาโคบ” (อพย 3:1,15) แม้ในที่นี้ ไม่มีการยืนยันอย่างชัดเจนว่าพระเจ้าทรงสัญญาว่าจะให้ชีวิตแก่บรรพบุรุษหลังจากความตาย แต่เมื่อพิจารณาบริบททั้งหมดของพระคัมภีร์ก็ปรากฏชัดเจนว่า ความสนิทสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างพระเจ้ากับบรรพบุรุษเป็นพระสัญญาและพื้นฐานของชีวิตที่ไม่มีสิ้นสุด

- พระองค์มิใช่พระเจ้าของผู้ตาย แต่เป็นพระเจ้าของผู้เป็น นี่เป็นการยืนยันความจริงที่สรุปพระวาจาของพระเจ้าที่ได้อ้างไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเรียกร้องให้เราไตร่ตรองอย่างดีเพื่อเข้าใจความหมายอย่างเต็มปี่ยม ชาวยิวไม่สามารถคาดคะเนถึงชีวิตของวิญญาณที่แยกออกจากร่างกายอย่างชัดเจน วิญญาณมีชีวิตเหมือนเงาเท่านั้น ดังนั้น ถ้าพระเจ้าทรงยืนยันกับโมเสสว่า พระองค์เป็นพระเจ้าของบรรพบุรุษ ก็ไม่เพียงหมายความว่าบรรพบุรุษเคยกราบไหว้พระองค์และมีความสัมพันธ์กับพระองค์เท่านั้น แต่ต้องหมายความว่าพระองค์ยังทรงรักเขาซึ่งเป็นบุคคลผู้มีความเชื่อ และเพราะเห็นแก่เขาพระองค์จะทรงช่วยเหลือลูกหลานให้พ้นจากการเป็นทาสที่อียิปต์ ดูเหมือนว่า พระเยซูเจ้าทรงอ้างความจริงนี้ คือถ้าพระเจ้ายังทรงรักบรรพบุรุษที่มีชีวิตและตายไปนานแล้ว และยังทรงมีความสัมพันธ์กับเขา ก็หมายความว่าเขายังมีชีวิตอยู่ทั้งกายและวิญญาณ เพราะชาวยิวคิดถึงวิญญาณโดยปราศจากวิญญาณไม่ได้ “พระองค์มิใช่พระเจ้าของผู้ตาย แต่เป็นพระเจ้าของผู้เป็น” เป็นคำนิยามถึงพระเจ้าที่งดงามที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับแก่นแท้ของประสบการณ์มนุษย์ในพระคัมภีร์

- ท่านคิดผิดไปมากทีเดียว”ชาวสะดูสีคิดผิดเพราะคาดคะเนชีวิตบนสวรรค์เหมือนชีวิตในโลกนี้ และไม่เข้าใจว่าความสนิทสัมพันธ์ด้วยความรักระหว่างพระเจ้ากับผู้มีความเชื่อในพระองค์จะไม่มีวันสูญสลาย

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก