“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“จงจัดเตรียมปัสกาไว้สำหรับพวกเราที่นั่นแหละ”

73. การเตรียมงานเลี้ยงปัสกา (มก 14:12-16)
a) ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
          1. บรรดาศิษย์ทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “พระองค์มีพระประสงค์ให้เราจัดเตรียมการเลี้ยงปัสกาที่ไหน” ปัจจุบันเราทั้งหลายต้องการให้ทุกอย่างพร้อมสรรพ รวดเร็ว สำเร็จรูป ไม่ต้องเสียเวลารอคอย โดยแท้จริงแล้ว ชีวิตทั้งหมดเป็นการรอคอยเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความตาย มนุษย์ปรารถนาที่จะมีความสุข ก็รู้ว่าความสุขนั้นไม่เป็นสิ่งของ แต่เป็นวิถีการดำเนินชีวิตซึ่งเรียกร้องการเตรียมตัว เช่น เตรียมใจให้รู้จักรัก ยิ่งกว่านั้น ถ้าเราไม่รู้จักเตรียมตัว พยายามออกแรง เราก็จะไม่มีความก้าวหน้า ไม่มีวัฒนธรรม ดนตรี วรรณกรรม ศิลปะ เพราะทุกอย่างเรียกร้องการฝึกฝน มนุษย์ร่วมสมัยจำเป็นต้องเข้าใจว่า การพัฒนาตนเองจะเห็นผลอย่างช้า ๆ เรียกร้องการออกแรงและการฝึกฝน


           2. บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักร เคยอธิบายเครื่องหมายที่พระเยซูเจ้าประทานแก่ศิษย์ 2 คน ที่จะเข้าเมืองว่าดังนี้ ชายที่แบกหม้อน้ำอยู่และนำเขาเข้าไปใน “ห้องใหญ่ชั้นบน” เป็นสัญลักษณ์ของน้ำแห่งศีลล้างบาป ซึ่งทำให้มีส่วนร่วมในการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า และทำให้มีส่วนร่วมในงานเลี้ยงของพระองค์ คือพิธีบูชาขอบพระคุณซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองวันปัสกาใหม่ "ห้องใหญ่ชั้นบน" ยังเป็นสัญลักษณ์ของหมู่คณะที่มาร่วมชุมนุมกันเพื่อรับประทานปังและดื่มเหล้าองุ่น เป็นสถานที่แห่งความสนิทสัมพันธ์และการอธิษฐานภาวนา บรรดาศิษย์กลุ่มแรกก็ได้รับพระจิตเจ้าที่นั่นด้วย เขาเหล่านั้นกลายเป็นประชากรอิสระ เป็นพยานถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า

           3. ทั้งเหตุการณ์ปัสกาและการประกอบพิธีปัสกาของคริสตชนเกิดขึ้นในบริบทของเหตุการณ์และการเฉลิมฉลองระลึกถึงการอพยพคือ การที่พระเจ้าทรงบันดาลให้ประชากรอิสราเอลเป็นอิสระพ้นจากการเป็นทาสของอียิปต์ ด้วยเหตุนี้ ฉลองปัสกาของคริสตชนจึงรวมองค์ประกอบที่จำเป็นประการหนึ่งคือ มนุษย์ทุกคนจะได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ ดังนั้น มนุษย์จึงได้รับเรียกให้ต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยนี้ โดยต่อต้านการถูกเบียดเบียนข่มเหง ความขัดสนและความชั่วร้าย การที่มนุษย์จะบรรลุความสำเร็จเป็นส่วนหนึ่งในแผนการของพระเจ้า จำเป็นต้องมุ่งมั่นร่วมมืออย่างเต็มกำลัง ดังนั้น ทั้งศาสนาคริสต์และศาสนายูดายจึงไม่เห็นด้วยกับระบบทาส การอยู่นิ่งไม่สนใจผู้อื่น การยอมให้คนยากจนและผู้ถูกกดขี่ข่มเหงได้รับการเอารัดเอาเปรียบจากผู้มั่งมีและผู้ทรงอำนาจ ศาสนาคริสต์ไม่ได้มองข้ามคุณค่ามนุษย์ ตรงกันข้ามสอนให้ดูแลเอาใจใส่แผ่นดิน อย่างไรก็ตาม การอยู่นิ่งเฉยต่อหน้าความชั่วร้าย การไม่เอาใจใส่คุณค่ามนุษย์และไม่สนใจเสรีภาพของมนุษย์ นำความเสียหายแก่ศาสนาคริสต์มากกว่าการถูกโจมตีจากศัตรู คริสตชนผู้ประพฤติดังกล่าวนี้แสดงว่า ไม่ยอมเดินตามหนทางของการอพยพ ซึ่งพระเจ้าพอพระทัยชี้แจงในพันธสัญญาเดิม และพระคริสตเจ้าทรงบันดาลให้สำเร็จสมบูรณ์ ดังนั้น การต่อสู้เพื่อส่งเสริมและปลดปล่อยมนุษย์ จึงเป็นส่วนหนึ่งของแผนการแห่งความรอดพ้น

            4. การฉลองปัสกาของคริสตชนจึงรวมความหมายการฉลองปัสกาของชาวยิวอีกด้วย แต่ไม่เป็นสิ่งเดียวกันในทุกด้าน เพราะการฉลองปัสกาของคริสตชนทำให้ความหมายการฉลองปัสกาของชาวยิวสมบูรณ์ในการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า เพราะพระเจ้าทรงทรงทำลายรากฐานของความชั่วร้ายโดยอาศัยไม้กางเขนของพระเยซูเจ้า และทรงบันดาลให้มนุษย์คืนดีกับพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงมอบผลสำเร็จของการคืนดีคือชีวิตสมบูรณ์โดยการกลับคืนพระชนมชีพ การฉลองปัสกาของคริสตชนเป็นชัยชนะสมบูรณ์ของพระเจ้าและของมนุษย์ เป็นการปกครองของพระเจ้าเหนือมนุษย์ในการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า และเป็นความรุ่งโรจน์ของมนุษย์ผู้มีส่วนร่วมในการปกครองของพระเจ้าอาศัยการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์

           5. ดังนั้น มนุษย์บรรลุถึงพระเจ้าผู้ทรงเป็นรากฐานและบ่อเกิดของความดีทั้งหลาย และได้รับการปลดปล่อยทั้งหมดของชีวิตจากพระองค์ ผู้ทรงบันดาลให้คำสัญญาทุกประการเป็นความจริง อย่างไรก็ตาม การฉลองปัสกาของคริสตชนไม่สำเร็จไปโดยเหตุการณ์ร้ายแรงหรือการเข้าแทรกแซงจากภายนอก แต่เกิดขึ้นจากกิจการของมนุษย์ผู้หนึ่งผู้ได้ต่อสู้กับความชั่วร้าย และนอบน้อมเชื่อฟังพระเจ้าจนถึงวาระสุดท้าย ดังนั้น มีมนุษย์ที่ดีคนหนึ่งอยู่ในโลกคือพระคริสตเจ้า ผู้ทรงบรรลุจุดมุ่งหมายแท้จริงที่สอดคล้องกับแผนการของพระผู้สร้าง โดยมีทัศนคติการรับใช้ ดังนั้น ไม่เป็นเรื่องของลูกแกะไร้มลทินที่ไม่รู้ตัวแต่เป็นเรื่องของมนุษย์ผู้ชอบธรรมและอิสระคนหนึ่ง การฉลองปัสกาของพระเยซูเจ้าจึงเป็นพระพรที่พระองค์ทรงจ่ายด้วยราคาแพง พระเยซูเจ้าพระองค์เองทรงเป็นปัสกาที่แท้จริง ทรงเป็นมนุษย์ผู้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับพระเจ้าในการปลดปล่อยมนุษย์ และทรงรับประกันว่า คำพูดสุดท้ายของผู้ต่อสู้ รับทรมาน และตายเป็นคำพูดแห่งชีวิต

             6. พระเยซูเจ้าไม่ทรงเป็นผู้วิเศษที่แสวงหากิจการงานยากลำบากเพื่อทำสถิติ และไม่ทรงเป็นนักแสดงที่ยอมเล่นตามบทละครที่เขียนไว้แล้ว คริสตชนสมัยแรก ๆ มั่นในว่าพระเยซูเจ้าไม่ทรงถูกศัตรูครอบงำ ไม่ทรงยอมรับทรมานเพราะเป็นชะตากรรม แต่ทรงยอมรับทรมานด้วยความสมัครใจและรู้ตัว ทรงให้ความหมายแก่สิ่งที่ต้องเผชิญหน้าซึ่งเป็นผลตามมาของการเลือกอย่างเจาะจง พระวรสารบันทึกรายละเอียดหลายประการที่แสดงความมั่นใจเช่นนี้ การที่พระเยซูเจ้าทรงถูกพิพากษาทั้งในศาลของผู้นำด้านศาสนาและด้านการเมือง การถูกตัดสินลงโทษ การถูกทอดทิ้ง และการถูกประหารชีวิตไม่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ พฤติกรรมนี้ของพระเยซูเจ้าเข้าใจยากแลจะนำมาปฏิบัติได้ยากเช่นกัน ดูเหมือนว่าพระองค์ทรงเข้าใจความหมายสมบูรณ์ของประวัติศาสตร์อิสราเอลและของมนุษยชาติ แล้วทรงนำมาปฏิบัติในพระชนมชีพของพระองค์ แต่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเราคือ ความพยายามที่จะเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของตน โดยคำนึงถึงความเชื่อและการรับใช้เพื่อนมนุษย์

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก