“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

IV. ธรรมล้ำลึกแห่งอาณาจักรสวรรค์

 ก.     เรื่องเล่า

11 1เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสสั่งสอนศิษย์สิบสองคนแล้ว ก็เสด็จจากที่นั่นไปเทศนาสั่งสอนตามเมืองต่างๆ ในแคว้นกาลิลีa

คำถามของยอห์นผู้ทำพิธีล้าง คำชมของพระเยซูเจ้า

2ขณะที่ยอห์นถูกจองจำอยู่ในคุก เขาได้ยินข่าวกิจการของพระเยซูเจ้า จึงใช้ศิษย์bไปทูลถามพระองค์ว่า 3“ท่านคือผู้ที่จะต้องมาหรือเราจะต้องรอคอยใครอีก”c 4พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “จงไปบอกยอห์นถึงสิ่งที่ท่านได้ยินและได้เห็น 5คนตาบอดกลับแลเห็น คนง่อยเดินได้ คนโรคเรื้อนหายจากโรค คนหูหนวกได้ยิน คนตายกลับคืนชีพ คนยากจนได้รับการประกาศข่าวดีd 6ผู้ที่ไม่แคลงใจในเราย่อมเป็นสุข”

7ขณะที่คนเหล่านั้นกำลังจะจากไป พระเยซูเจ้าตรัสกับประชาชนเกี่ยวกับยอห์นว่า “ท่านทั้งหลายไปดูอะไรในถิ่นทุรกันดาร ไปดูต้นอ้อไหวไปมาตามสายลมหรือ มิใช่เช่นนั้น 8แล้วท่านไปดูอะไรเล่า ดูคนสวมเสื้อผ้าสวยงามหรือ คนที่สวมเสื้อผ้าสวยงามอยู่ในพระราชวัง 9ถ้าเช่นนั้นท่านไปดูอะไร ไปดูประกาศกหรือ ถูกแล้ว เราบอกท่าน 10และเหนือกว่าประกาศกเสียอีก ผู้นี้เองที่พระคัมภีร์กล่าวถึงว่า

เราส่งทูตของเรานำหน้าท่าน

เพื่อเตรียมทางไว้สำหรับท่าน

 

11“เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ในหมู่ผู้ที่เกิดจากหญิง ไม่มีใครยิ่งใหญ่กว่ายอห์นผู้ทำพิธีล้าง ถึงกระนั้น ผู้ต่ำต้อยที่สุดในอาณาจักรสวรรค์ ก็ยังยิ่งใหญ่กว่ายอห์นe 12ตั้งแต่สมัยของยอห์นผู้ทำพิธีล้างจนถึงวันนี้ อาณาจักรสวรรค์ต้องการความอดทนและความพยายาม ผู้ที่ใช้ความอดทนและความพยายามเท่านั้นจึงจะเข้าสู่อาณาจักรสวรรค์ได้f 13ประกาศกทั้งหลายและธรรมบัญญัติต่างประกาศพระวาจาถึงสมัยของยอห์น 14ถ้าท่านทั้งหลายยอมเชื่อ ยอห์นนี่เองคือประกาศกเอลียาห์ซึ่งจะต้องมาg 15ใครมีหู ก็จงฟังเถิด”

พระเยซูเจ้าทรงประณามคนร่วมสมัย

16“เราจะเปรียบคนยุคนี้กับสิ่งใด เขาเป็นเสมือนเด็กๆ ที่นั่งตามลานสาธารณะ ร้องบอกเพื่อนๆ ว่า

17พวกเราเป่าขลุ่ย

พวกเจ้าก็ไม่เต้นรำ

พวกเราร้องเพลงโศกเศร้า

พวกเจ้าก็ไม่ร่ำไห้

18ยอห์นมา ไม่กิน ไม่ดื่ม เขาก็ว่า ‘คนนี้มีปีศาจสิง’ 19บุตรแห่งมนุษย์มา กินและดื่ม เขาก็ว่า ‘ดูซิ นักกิน นักดื่ม เป็นเพื่อนกับคนเก็บภาษีและคนบาป’ แต่พระปรีชาญาณของพระเจ้าผ่านการพิสูจน์แล้วว่าถูกต้องโดยกิจการ”h

พระเยซูเจ้าทรงตำหนิเมืองริมทะเลสาบ

20แล้วพระเยซูเจ้าทรงตำหนิบรรดาเมืองที่พระองค์ทรงทำอัศจรรย์มากกว่าที่เมืองอื่น เพราะชาวเมืองไม่ยอมกลับใจว่า

21“จงวิบัติเถิด เมืองโคราซิน จงวิบัติเถิด เมืองเบธไซดา เพราะถ้าอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในเจ้าเกิดขึ้นที่เมืองไทระและเมืองไซดอนแล้วi ชาวเมืองเหล่านั้นคงได้นุ่งกระสอบ เอาขี้เถ้าโรยศีรษะ กลับใจเสียนานแล้ว 22ฉะนั้น เราบอกเจ้าว่า ในวันพิพากษา เมืองไทระและเมืองไซดอนจะได้รับโทษเบากว่าเจ้า

23ส่วนเจ้า เมืองคาเปอรนาอุม เจ้ายกตนขึ้นถึงฟ้าเทียวหรือ ตรงกันข้าม เจ้าจะตกลงไปถึงแดนผู้ตาย เพราะว่าถ้าอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในเจ้าเกิดขึ้นที่เมืองโสโดมแล้ว เมืองโสโดมก็คงจะอยู่จนถึงวันนี้ 24ฉะนั้น เราบอกเจ้าว่า ในวันพิพากษา เมืองโสโดมจะได้รับโทษเบากว่าเจ้า”

ผู้ต่ำต้อยได้รับข่าวดี

25เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ข้าแต่พระบิดา เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ข้าพเจ้าสรรเสริญพระองค์ที่ทรงปิดบังเรื่องเหล่านี้jจากบรรดาผู้มีปรีชาและรอบรู้ แต่ทรงเปิดเผยแก่บรรดาผู้ต่ำต้อย 26ถูกแล้ว พระบิดาเจ้าข้า พระองค์พอพระทัยเช่นนั้น 27พระบิดาทรงมอบทุกสิ่งแก่ข้าพเจ้า ไม่มีใครรู้จักพระบุตร นอกจากพระบิดา และไม่มีใครรู้จักพระบิดา นอกจากพระบุตรและผู้ที่พระบุตรเปิดเผยให้รู้”k

พระคริสตเจ้าทรงเป็นเจ้านายที่สุภาพอ่อนโยน

28“ท่านทั้งหลายที่เหน็ดเหนื่อย และแบกภาระหนักl จงมาพบเราเถิด เราจะให้ท่านได้พักผ่อน 29จงรับแอกของเราแบกไว้ และมาเป็นศิษย์ของเรา เพราะเรามีใจสุภาพ อ่อนโยน และถ่อมตนm จิตใจของท่านจะได้รับการพักผ่อน 30เพราะว่าแอกของเราอ่อนนุ่มและภาระที่เราให้ท่านแบกก็เบา”

 

11 a “ในแคว้นกาลิลี” แปลตามตัวอักษรว่า “ของพวกเขา” หมายถึงของชาวยิว

b สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ศิษย์สองคน”

c “ใครอีก” ยอห์นกำลังรอคอยพระเมสสิยาห์ ซึ่งพระเจ้าจะทรงใช้มาลงโทษหรือประทานรางวัลแก่มนุษย์ (3:8, 10, 12)

d พระเยซูเจ้าทรงอ้างถ้อยคำของประกาศกอิสยาห์ เพื่อแสดงให้ยอห์นเห็นว่า กิจการของพระองค์เป็นยุคของพระเมสสิยาห์แล้ว แต่ทรงทำอัศจรรย์เพื่อช่วยเหลือมนุษย์ให้รอดพ้น มิได้ใช้ความรุนแรงเพื่อลงโทษ (เทียบ ลก 4:17-21)

e พระเยซูเจ้าตรัสข้อความนี้เพื่อเปรียบเทียบยุคสมัย มิใช่บุคคล ยอห์นแม้จะยิ่งใหญ่ แต่อยู่ก่อนยุคของพระเมสสิยาห์ ข้อความนี้จึงมิได้ดูหมิ่นยอห์นแต่ประการใด ยุคของพระเมสสิยาห์นั้นยิ่งใหญ่กว่ายุคใดๆ ที่มาก่อนหน้านั้น

f “ความอดทนและความพยายาม” แปลตามตัวอักษรว่า “ความรุนแรง” ซึ่งเข้าใจได้หลายอย่าง (1) ความรุนแรงในแง่ดี คือการเสียสละตนเองแม้จะเจ็บปวด เพื่อเข้าอยู่ในพระอาณาจักร (2) ความรุนแรงผิดๆ ของผู้ที่ต้องการสร้างพระอาณาจักรด้วยกำลัง (เช่นกลุ่มชาวยิวชาตินิยม) (3) ความรุนแรงแห่งอำนาจของปีศาจ หรือสมุนของมันในโลก ซึ่งพยายามครอบครองโลกนี้ และขัดขวางความก้าวหน้าของพระอาณาจักรของพระเจ้า (4) อาจเข้าใจได้อีกว่า “พระอาณาจักรสวรรค์มีพลังภายในที่จะขยายตัวออกไป นั่นคือ เอาชนะอุปสรรคต่างๆ เพื่อสถาปนาตนเอง”

g ยอห์นเป็นผู้ปิดยุคแห่งพันธสัญญาเดิม ท่านเป็นผู้ต่องานที่ประกาศกมาลาคี ประกาศกคนสุดท้ายได้ทิ้งไว้ และทำให้คำทำนายสุดท้ายของมาลาคีเป็นความจริง (มลค 3:23)

h “โดยกิจการ” สำเนาโบราณบางฉบับว่า “จากลูกๆ ของตน” (ดู ลก 7:35) ผู้นำชาวยิวประพฤติตนเหมือนเด็กที่เอาใจยาก ไม่ยอมเล่นร่วมกับผู้อื่นเลย (ไม่ว่าจะเล่นงานแต่งงานและงานศพ) เพราะเขาไม่ยอมรับข้อเสนอใดๆ จากพระเจ้า ไม่ว่าจะมาในรูปของความเคร่งครัดของยอห์น หรือจะมาในความอ่อนโยนของพระเยซูเจ้า ท่าทีที่แตกต่างกันนี้ เข้าใจได้จากบทบาทต่างกัน ยอห์นเป็นผู้เตรียมยุคของพระเมสสิยาห์ แต่พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้สถาปนายุคนี้ (เทียบ 9:14-15; 11:11-13) ถึงแม้มนุษย์จะไม่ยอมรับแผนการอันทรงปรีชาของพระเจ้าก็แสดงว่าตนถูกต้อง โดยพฤติกรรมของยอห์นและของพระเยซูเจ้า “กิจการ” ของพระเยซูเจ้าโดยเฉพาะอัศจรรย์ของพระองค์ช่วยให้เกิดความเชื่อมั่น หรือแสดงความคิดของผู้ที่ไม่ยอมเชื่อ (ข้อ 6 และข้อ 20-24) พระเยซูเจ้ายังทรงเปรียบเป็นเหมือน “ปรีชาญาณ” (11:28-30; 12:42; 23:24//; ยน 6:35 เชิงอรรถ k; 1 คร 1:24) ด้วย บางคนคิดว่าข้อความนี้เป็นเพียงคำพังเพยที่กล่าวถึงปรีชาญาณผิดๆ ของผู้ไม่มีความเชื่อ ซึ่งจะเก็บเกี่ยวผลเป็นการลงโทษจากพระเจ้า (ข้อ 20-24)

i “เมืองไทระและเมืองไซดอน” เป็นเมืองที่บรรดาประกาศกเคยต่อว่าในอดีต จึงนับเป็นรูปแบบของความอสัตย์อธรรม (อสย 23; อสค 26-28; อมส 1:9-10; ศคย 9:2-4)

j “เรื่องเหล่านี้” ข้อ 25-27 ไม่ต่อเนื่องกับเนื้อเรื่องที่ มธ เพิ่งกล่าวถึง (ลก จัดข้อความนี้ไว้ที่อื่น) ดังนั้น “เรื่องเหล่านี้” ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่เพิ่งกล่าวมา แต่หมายถึง “ธรรมล้ำลึกแห่งพระอาณาจักร” (13:11) ซึ่งพระเจ้าทรงเปิดเผยให้แก่ “ผู้ต่ำต้อย” คือบรรดาศิษย์ (เทียบ 10:42) แต่ทรงปิดบังไว้จาก “ผู้มีปรีชา” คือจากบรรดาชาวฟาริสีและธรรมาจารย์

k ข้อความในข้อ 26-27 นี้แสดงว่า พระเยซูเจ้าทรงมีความสำนึกพิเศษถึงความสัมพันธ์ลึกซึ้งที่ทรงมีกับพระเจ้า และการที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกบรรดาศิษย์มาหาพระองค์ในข้อ 28-30 ทำให้เราคิดถึงข้อความจากวรรณกรรมปรีชาญาณหลายตอน (สภษ 8:22-36; ปชญ 8:3-4; 9:9-18; บสร 24:3-9, 19-20) ดังนั้น พระเยซูเจ้าทรงแสดงว่าทรงมีบทบาทเหมือนปรีชาญาณ (ดู 11:19 เชิงอรรถ h) มิใช่ในแบบสมมติเป็นบุคคลอีกต่อไป แต่เป็นบุคคลจริงๆ เป็น “พระบุตร” ของ “พระบิดา” โดยเฉพาะ (เทียบ 4:3) ข้อความนี้มีลักษณะคล้ายกับสำนวนของยอห์น (ดู ยน 1:18; 3:11, 35; 6:46; 10:15) จึงเป็นข้อความที่สะท้อนธรรมประเพณีของพระวรสาร “สหทรรศน์” ในรูปแบบดั้งเดิมว่า พระเยซูเจ้าทรงมีจิตสำนึกว่าทรงเป็นบุตรพระเจ้า เช่นเดียวกับที่เราพบในพระวรสารนักบุญยอห์น

l “ภาระหนัก” คือการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติและกฎเกณฑ์ที่ชาวฟาริสีได้เพิ่มเติมขึ้นมา สำนวนว่า “แอกของธรรมบัญญัติ” เป็นการเปรียบที่ธรรมาจารย์ใช้บ่อยๆ (ดู บสร 51:26; ยรม 2:20; 5:5; พคค 3:27; ศฟย 3:9 (LXX); เทียบ อสย 14:25)

m “ใจอ่อนโยนและถ่อมตน” เป็นสำนวนที่ใช้บ่อยๆ เมื่อกล่าวถึง “ผู้ยากจน” ในพันธสัญญาเดิม (ดู ดนล 3:87; ศฟย 2:3 เชิงอรรถ d) พระเยซูเจ้าทรงรับท่าทีเช่นนี้ในความสัมพันธ์กับพระเจ้ามาเป็นของพระองค์ พระองค์จึงทรงอ้างว่าเป็นอาจารย์สอนปรีชาญาณเช่นเดียวกับ “ผู้รับใช้” ที่ประกาศกอิสยาห์กล่าวไว้ (อสย 61:1-2; ลก 4:18; ดู มธ 12:18-21; 21:5) ท่าทีเช่นนี้ต่อความยากจนปรากฏชัดใน “ความสุขแท้จริง” และในข้อความของพระวรสารอีกหลายตอน

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก