(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

. บทเทศน์บนภูเขาa

ความสุขแท้จริง

5 1พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นประชาชนจำนวนมาก จึงเสด็จขึ้นบนภูเขาb เมื่อประทับแล้ว บรรดาศิษย์เข้ามาห้อมล้อมพระองค์ 2พระองค์ทรงเริ่มตรัสสอนว่า

3cผู้มีใจยากจนd ย่อมเป็นสุข

เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา

4ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า ย่อมเป็นสุข

เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน

5ผู้มีใจอ่อนโยนe ย่อมเป็นสุข

เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก

6ผู้หิวกระหายความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข

เพราะเขาจะอิ่ม

7ผู้มีใจเมตตา ย่อมเป็นสุข

เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา

8ผู้มีใจบริสุทธิ์ ย่อมเป็นสุข

เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า

9ผู้สร้างสันติ ย่อมเป็นสุข

เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า

10ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข

เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา

11“ท่านทั้งหลายย่อมเป็นสุข เมื่อถูกดูหมิ่นข่มเหงและใส่ร้ายต่างๆ นานาเพราะเรา 12จงชื่นชมยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านในสวรรค์นั้นยิ่งใหญ่นัก บรรดาประกาศกก่อนหน้าท่านก็เคยถูกเบียดเบียนเช่นเดียวกันf

เกลือดองแผ่นดิน และแสงสว่างส่องโลก

13“ท่านทั้งหลายเป็นเกลือดองแผ่นดิน ถ้าเกลือจืดไปแล้ว จะเอาอะไรมาทำให้เค็มได้อีกเล่า เกลือนั้นย่อมไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากจะถูกทิ้งให้คนเหยียบย่ำ”

14“ท่านทั้งหลายเป็นแสงสว่างส่องโลก เมืองที่ตั้งอยู่บนภูเขาจะไม่ถูกปิดบัง 15ไม่มีใครจุดตะเกียงแล้วเอามาวางไว้ใต้ถังg แต่ย่อมตั้งไว้บนเชิงตะเกียง จะได้ส่องสว่างแก่ทุกคนในบ้าน 16ในทำนองเดียวกัน แสงสว่างของท่านต้องส่องแสงต่อหน้ามนุษย์ เพื่อคนทั้งหลายจะได้เห็นกิจการดีของท่าน และสรรเสริญพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์”

พระเยซูเจ้าทรงทำให้ธรรมบัญญัติสมบูรณ์

17“จงอย่าคิดว่าเรามาเพื่อลบล้างธรรมบัญญัติหรือคำสอนของบรรดาประกาศก เรามิได้มาเพื่อลบล้าง แต่มาเพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์h 18เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายiว่า ตราบใดที่ฟ้าและดินยังไม่สูญสิ้นไป แม้แต่ตัวอักษรหรือจุดเพียงจุดเดียวจะไม่ขาดหายไปจากธรรมบัญญัติจนกว่าทุกอย่างจะสำเร็จไป 19ดังนั้น ผู้ใดละเมิดธรรมบัญญัติเพียงข้อเดียว แม้เล็กน้อยที่สุด และสอนผู้อื่นให้ละเมิดด้วย จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ต่ำต้อยที่สุดในอาณาจักรสวรรค์ ส่วนผู้ที่ปฏิบัติและสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติด้วย จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในอาณาจักรสวรรค์”

มาตรฐานใหม่สูงกว่ามาตรฐานเดิม

20“เราบอกท่านทั้งหลายว่า ถ้าความชอบธรรมของท่านไม่ดีไปกว่าความชอบธรรมของบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีแล้ว ท่านจะเข้าอาณาจักรสวรรค์ไม่ได้เลย”

21“ท่านได้ยินคำกล่าวjแก่คนโบราณว่า อย่าฆ่าคน ผู้ใดฆ่าคนจะต้องขึ้นศาล 22แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า ทุกคนที่โกรธเคืองพี่น้อง จะต้องขึ้นศาล ผู้ใดกล่าวแก่พี่น้องว่า ‘ไอ้โง่’k ผู้นั้นจะต้องขึ้นศาลสูงl ผู้ใดกล่าวแก่พี่น้องว่า ‘ไอ้โง่บัดซบ’m ผู้นั้นจะต้องถูกปรับโทษถึงไฟนรก 23ดังนั้น ขณะที่ท่านนำเครื่องบูชาไปถวายยังพระแท่น ถ้าระลึกได้ว่าพี่น้องของท่านมีข้อบาดหมางกับท่านแล้ว 24จงวางเครื่องบูชาไว้หน้าพระแท่น กลับไปคืนดีกับพี่น้องเสียก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาถวายเครื่องบูชานั้น 25จงคืนดีกับคู่ความของท่านขณะที่กำลังเดินทางไปศาลด้วยกัน มิฉะนั้น คู่ความจะมอบท่านแก่ผู้พิพากษา และผู้พิพากษาจะมอบท่านให้ผู้คุม ซึ่งจะขังท่านในคุก 26เราบอกความจริงแก่ท่านว่า ท่านจะออกจากคุกไม่ได้ จนกว่าท่านจะชำระหนี้จนเศษสตางค์สุดท้าย”

27“ท่านได้ยินคำกล่าวที่ว่า อย่าล่วงประเวณี 28แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดมองหญิงด้วยความใคร่ ก็ได้ล่วงประเวณีกับนางในใจแล้ว 29ถ้าตาขวาของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป จงควักมันทิ้งเสีย เพราะเพียงแต่เสียอวัยวะส่วนเดียว ยังดีกว่าปล่อยให้ร่างกายทั้งหมดของท่านตกนรก 30ถ้ามือขวาของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป จงตัดมันทิ้งเสีย เพราะเพียงแต่เสียอวัยวะส่วนเดียว ยังดีกว่าปล่อยให้ร่างกายทั้งหมดตกนรก”

31“มีคำกล่าวว่า ผู้ใดจะหย่ากับภรรยา ก็จงทำหนังสือหย่ามอบให้นาง 32แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดที่หย่ากับภรรยา ยกเว้นกรณีแต่งงานไม่ถูกต้องตามกฎหมายn ก็เท่ากับทำให้นางล่วงประเวณี และผู้ใดที่แต่งงานกับหญิงที่ได้หย่าร้าง ก็ล่วงประเวณีด้วย”

33“ท่านยังได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า อย่าผิดคำสาบาน แต่จงทำตามที่ได้สาบานไว้ต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า 34แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า อย่าสาบานเลย อย่าอ้างถึงสวรรค์ เพราะเป็นที่ประทับของพระเจ้า 35อย่าอ้างถึงแผ่นดิน เพราะเป็นที่รองพระบาทของพระองค์ อย่าอ้างถึงกรุงเยรูซาเล็ม เพราะเป็นนครหลวงของพระมหากษัตริย์ 36อย่าอ้างถึงศีรษะของท่าน เพราะท่านไม่อาจเปลี่ยนผมสักเส้นให้เป็นดำเป็นขาวได้ 37ท่านจงพูดเพียงว่า ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’o คำพูดที่มากไปกว่านั้นมาจากมารร้าย”

38“ท่านเคยได้ยินเขากล่าวว่า ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ 39แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า อย่าโต้ตอบคนชั่วp ผู้ใดตบแก้มขวาของท่าน จงหันแก้มซ้ายให้เขาด้วย 40ผู้ใดอยากฟ้องท่านที่ศาลเพื่อจะได้เสื้อยาวของท่านq ก็จงแถมเสื้อคลุมให้เขาด้วย 41ผู้ใดจะเกณฑ์ให้ท่านเดินไปกับเขาหนึ่งหลัก จงไปกับเขาสองหลักเถิด 42ผู้ใดขออะไรจากท่าน ก็จงให้ อย่าหันหลังให้ผู้ที่มาขอยืมสิ่งใดจากท่าน”

43“ท่านทั้งหลายได้ยินคำกล่าวว่า จงรักเพื่อนบ้าน จงเกลียดศัตรูr 44แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า จงรักศัตรูs จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียนท่านt 45เพื่อท่านจะได้เป็นบุตรของพระบิดาเจ้าสวรรค์ พระองค์โปรดให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นเหนือคนดีและคนชั่ว โปรดให้ฝนตกเหนือคนชอบธรรมและคนอธรรม 46ถ้าท่านรักแต่คนที่รักท่าน ท่านจะได้บำเหน็จรางวัลอะไรเล่า บรรดาคนเก็บภาษีuมิได้ทำเช่นนี้ดอกหรือ 47ถ้าท่านทักทายแต่พี่น้องของท่านเท่านั้น ท่านทำอะไรพิเศษเล่า คนต่างศาสนามิได้ทำเช่นนี้ดอกหรือ 48ฉะนั้น ท่านจงเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ ดังที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่าน ทรงความดีอย่างสมบูรณ์เถิด”

 

5 a จิตตารมณ์ใหม่ของพระอาณาจักรของพระเจ้า (4:17 เชิงอรรถ f) ได้รับการอธิบายในปฐมเทศนา ซึ่งไม่มีในพระวรสารของมาระโก ลูกากล่าวถึงปฐมเทศนาในรูปแบบที่ต่างไป (ลก 6:20-49) ไม่มีเรื่องเกี่ยวข้องกับกฎหมายและธรรมเนียมของชาวยิว (มธ 5:17-6:18) ซึ่งไม่เป็นที่สนใจสำหรับผู้อ่าน มัทธิวรวบรวมพระวาจาที่พระเยซูเจ้าตรัสไว้ในโอกาสต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างภาพรวมที่สมบูรณ์ คำปราศรัยที่ มธ รวบรวมมาเรียบเรียงไว้นี้กล่าวถึงเรื่องสำคัญ 5 เรื่อง (1) จิตตารมณ์ซึ่งบุตรแห่งพระอาณาจักรควรจะมีในการดำเนินชีวิต (5:3-48) (2) วิธีการปฏิบัติตามกฎหมายและธรรมเนียมยิวให้สมบูรณ์ขึ้น (6:1-18) (3) การตัดใจจากทรัพย์สมบัติ (6:19-34) (4) ท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ (7:1-12) (5) การเข้าในพระอาณาจักรเรียกร้องให้ตัดสินใจอย่างมั่นคงแน่วแน่ ซึ่งแสดงออกในกิจการ (7:13-27)

b “ภูเขา” หมายถึงเนินแห่งหนึ่งใกล้เมืองคาเปอรนาอุม

 

c “ผู้...ย่อมเป็นสุข” พระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมใช้สูตรเช่นนี้แสดงความยินดีต่อผู้มีความเลื่อมใสศรัทธา มีความปรีชาฉลาดและความร่ำรวย (สดด 1:1-2; 33:12; 127:5-6; สภษ 3:3; บสร 31:8) พระเยซูเจ้าทรงกล่าวตามความนึกคิดของบรรดาประกาศกว่าความยากจนก็มีส่วนร่วมรับพระพรเหล่านี้ด้วย “ความสุขแท้” สามประการแรก (5:3-5; ลก 6:20-21) ประกาศว่าบุคคลที่คนทั่วไปคิดว่าเป็นคนน่าสงสารและอับโชคนั้นเป็นผู้มีโชค เพราะเป็นผู้สมควรจะรับพระพรของพระอาณาจักร “ความสุขแท้” ประการอื่นๆ เกี่ยวข้องกับท่าทีทางความประพฤติของมนุษย์โดยตรง ยังมี “ความสุขแท้” ประการอื่นในพระวรสารอีกด้วย เช่น ใน 11:6; 13:16; 24:46 ลก 11:27-28 (และดู ลก 1:45 วว 1:3; 14:13)

 d คำว่า “ยากจน” มีใช้แล้วในความหมายของคุณลักษณะทางจิตใจในหนังสือเศฟันยาห์ (ดู ศฟย 2:3 เชิงอรรถ d) มัทธิวทำให้ความหมายนี้ชัดโดยเติมคำว่า “มีใจ” ซึ่งไม่พบในลูกา “คนยากจน” และ “คนต่ำต้อย” ไม่มีใครคุ้มครองและมักถูกข่มเหงจึงเป็นผู้ที่เปิดรับพระอาณาจักร และนี่คือความคิดหลักใน “ความสุขแท้” ของมัทธิว (เทียบ ลก 4:18; 7:22=มธ 11:5; ลก 14:13; ยก 2:5) “ความยากจน” มีความหมายเดียวกันกับ “ความเป็นเด็กทางจิต” เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นเพื่อเข้าพระอาณาจักร (18:1 เชิงอรรถ f = มก 9:33ฯ เทียบ มธ 11:25ฯ//; ลก 9:46ฯ) พระเจ้าทรงเปิดเผยธรรมล้ำลึกให้แก่ “ทารก” หรือ “เด็กเล็กๆ” nepioi (เทียบ ลก 12:32; 1 คร 1:26ฯ) เขาเหล่านี้คือ “คนยากจน” ptochoi “ผู้ต่ำต้อย” tapeinoi (18:4; 23:12; ลก 1:48, 52; 14:11; 18:14) และคนเหล่านี้คือ “คนสุดท้าย” ตรงข้ามกับ “คนแรก” (มก 9:35) คือ “ผู้เล็กน้อย” หรือ “คนธรรมดา” ตรงข้ามกับ “ผู้ยิ่งใหญ่” (ลก 9:48; มธ 19:30//; 20:26//; ลก 17:10) ถึงแม้ว่าสูตรใน 5:3 จะเน้นจิตตารมณ์ความยากจนทั้งสำหรับคนรวยและคนยากจน พระเยซูเจ้าก็ทรงตระหนักถึงความยากจนจริงๆ โดยเฉพาะสำหรับบรรดาศิษย์ (6:19ฯ; เทียบ 4:18ฯ//; 6:25//; ลก 12:33ฯ; เทียบ ลก 5:1ฯ; มธ 9:9//; 19:21//, 27; เทียบ มก 10:28//; ดู กจ 2:44ฯ; 4:32ฯ) พระองค์ทรงเป็นแบบฉบับในด้านความยากจน (8:20//; ลก 2:7) และในด้านความต่ำต้อย (มธ 11:29; 20:28//; 21:5; ยน 13:12ฯ; เทียบ 2 คร 8:9; ฟป 2:7ฯ) พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่าทรงเป็นหนึ่งเดียวกับคนต่ำต้อยและโชคร้าย (25:45; เทียบ 18:5ฯ//)

e สำเนาโบราณบางฉบับสลับข้อ 5 กับข้อ 4 “ผู้อ่อนโยน” หมายถึงคนสามัญที่ไม่มีความสำคัญในสังคม เป็นไปได้ที่ข้อนี้เป็นเพียงคำอธิบายความหมายของข้อ 3 “คนมีใจยากจน” จึงแทรกเข้ามาเป็นข้อ 4 หากละข้อนี้ออกไป จำนวนของ “ความสุขแท้” จะเหลือเพียงเจ็ดประการ (ดู 6:9 เชิงอรรถ d)

f บรรดาศิษย์เป็นผู้สืบตำแหน่งของบรรดาประกาศก (เทียบ 10:41; 13:17; 23:34)

g ถังใช้เป็น “เครื่องตวง” ในสมัยโบราณ เครื่องตวงนี้เป็นภาชนะมีขา การวางตะเกียงใต้ถังในที่นี้จึงเป็นการซ่อนตะเกียงไว้ใต้ภาชนะนี้ เหมือนกับวางใต้เตียงใน มก 4:21ฯ มิใช่เป็นการเอาถังมาครอบให้ไฟดับ

h พระเยซูเจ้าเสด็จมามิใช่เพื่อทำลายธรรมบัญญัติ (ฉธบ 4:8) ทั้งมิใช่มาเพื่อบันดาลให้ธรรมบัญญัติศักดิ์สิทธิ์จนแตะต้องไม่ได้ แต่เสด็จมาสั่งสอนและปฏิบัติ เพื่อทำให้ธรรมบัญญัติมีรูปแบบใหม่และถาวร ดังนี้ ธรรมบัญญัติจะบรรลุถึงจุดหมายอย่างสมบูรณ์ (ดู มธ 1:22 เชิงอรรถ j; มก 1:15 เชิงอรรถ e) ความสมบูรณ์นี้จะเห็นได้ชัดในเรื่องความชอบธรรม (ข้อ 20 เทียบ 3:15; ลนต 19:15; รม 1:16 เชิงอรรถ i) ซึ่งใน มธ 5:21-48 ได้ให้ตัวอย่างที่ชัดเจนหลายประการ พระเยซูเจ้าทรงทำให้บัญญัติเดิมมีลักษณะภายในเพิ่มขึ้นและครอบคลุมไปถึงความปรารถนาในส่วนลึกด้วย (เทียบ 12:34; 23:25-28) เราจะละเว้นรายละเอียดของธรรมบัญญัติมิได้ เว้นแต่ว่าจะได้ปฏิบัติตามธรรมบัญญัตินี้อย่างสมบูรณ์แล้วเท่านั้น (ข้อ 18-19; เทียบ 13:25) ปัญหาจึงมิใช่อยู่ที่จะทำให้บทบัญญัติง่ายขึ้น แต่เป็นการปฏิบัติตามอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น (11:28) ความรักซึ่งสรุปธรรมบัญญัติเดิมอยู่แล้ว (7:12; 22:34-40//) เป็นบทบัญญัติใหม่ของพระเยซูเจ้า (ยน 13:34) และทำให้ธรรมบัญญัติทั้งหมดสมบูรณ์ไป (รม 13:8-10; กท 5:14 เทียบ คส 3:14)

i “เราบอกความจริง…” ตามตัวอักษรว่า “โดยแท้จริง (amen) เรากล่าวแก่ท่าน…” คำ อาเมน (=โดยแท้จริง เมื่อใช้เริ่มต้นประโยค - สดด 41:13 เชิงอรรถ f; รม 1:25 เชิงอรรถ p) เน้นอำนาจในการยืนยันความจริง (มธ 6:2, 5, 16; ยน 1:51)

j “คำกล่าวแก่คนโบราณ” หมายถึงธรรมประเพณีที่สอนต่อกันมา โดยเฉพาะในศาลาธรรม

k “ไอ้โง่” แปลว่า raqa. ในภาษาอาราเมอิก ที่มัทธิวใช้ในพระวรสาร

l “ศาลสูง” หมายถึงสภาซันเฮดรินในกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งต่างกับ “ศาล” ทั่วไปในเมืองต่างๆ (ข้อ 21-22)

m “ไอ้โง่บัดซบ” เป็นความหมายทั่วไปของคำกรีก “moros” แต่ชาวยิวมักใช้คำนี้เป็นคำด่าผู้ที่ทรยศ

n “แต่งงานไม่ถูกต้องตามกฎหมาย” เช่นระหว่างญาติใกล้ชิด (ดู 19:9 เชิงอรรถ b) คำภาษากรีก “porneia” โดยทั่วไปมีความหมายว่า “การล่วงประเวณี หรือมีชู้”

o แปลตามตัวอักษรว่า “คำพูดของท่านจงเป็นว่า ใช่ ใช่ ไม่ใช่ ไม่ใช่” ดูเหมือนว่าวลีนี้เป็นสูตรที่รู้จักกันดี (ดู 2 คร 1:17; ยก 5:12) อาจเข้าใจได้หลายอย่าง (1) แสดงความจริงตรงไปตรงมา ถ้าใช่ก็บอกว่าใช่ ถ้าไม่ใช่ ก็บอกว่าไม่ใช่ (2) แสดงความจริงใจ คำว่าใช่ หรือไม่ใช่ ที่กล่าวออกมาสอดคล้องกับ “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” ที่อยู่ในใจ (3) เป็นการยืนยันอย่างหนักแน่น โดยกล่าวซ้ำสองหน “ใช่ ใช่” หรือ “ไม่ใช่ ไม่ใช่” เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องออกพระนามพระเจ้ามาสาบาน

p ตัวอย่างในข้อ 39-40 กล่าวถึงความเสียหายที่ได้รับจากผู้อื่น สิ่งที่ไม่ต้องทำคือการตอบโต้ในลักษณะที่เป็นการแก้แค้น ข้อ 38 เป็นกฎเกณฑ์การกำหนดโทษสำหรับผู้พิพากษา ไม่ใช่การแก้แค้นส่วนตัว (เทียบ อพย 21:25; สดด 5:10 เชิงอรรถ c) พระวรสารมิได้ห้ามการป้องกันตัวที่สมเหตุสมผลต่อการละเมิดที่ผิด (ดู ยน 18:22ฯ) และมิได้ห้ามต่อต้านความชั่วร้ายในโลกเลย

q การยึดเสื้อผ้าเป็นประกัน พระคัมภีร์อนุญาตให้ยึดได้แต่เสื้อคลุมตัวนอกในเวลากลางวันเท่านั้น (เทียบ อพย 22:25ฯ; ฉธบ 24:12ฯ) การยึดเสื้อยาวทำเฉพาะเมื่อขายคนเป็นทาส (เทียบ ปฐก 37:23) การยึดเสื้อยาวเป็นประกันในข้อนี้จึงเป็นการพูดเกินความจริง (เทียบ 19:24)

r ข้อความว่า “จงเกลียดศัตรู” ไม่พบในพระคัมภีร์ น่าจะเป็นคำอธิบายเพิ่มของบรรดาธรรมาจารย์ คำว่า “เกลียด” ในที่นี้มาจากลักษณะของภาษาอาราเมอิก หมายความเพียงว่า “รักน้อยกว่า” หรือเป็นเพียงสำนวนพูดที่ต่อเนื่องของภาษาเดิม “ไม่บังคับให้รัก” (เทียบ ลก 14:25 กับ มธ 10:37) ถึงกระนั้น บสร 12:4-7 และเอกสารจากคุมราน (1QS 1:10) แสดงความรังเกียจต่อคนบาป ซึ่งไม่แตกต่างจากความเกลียดชังมากนัก บางทีพระเยซูเจ้าอาจอ้างถึงข้อความนี้ก็ได้

s สำเนาโบราณบางฉบับเสริมว่า “จงทำดีต่อผู้ที่เกลียดชังท่าน”

t สำเนาโบราณบางฉบับเสริมว่า “และให้ผู้ที่ทำร้ายท่าน” (เทียบ ลก 6:27ฯ)

u “คนเก็บภาษี” เป็นผู้ที่ทำงานให้ชาวโรมันซึ่งปกครองชาวยิวในสมัยนั้น จึงถูกเหยียดหยามจากคนทั่วไป (เทียบ 9:10)