“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“ท่านเห็นอะไรไหม ”

40. เปโตรประกาศความเชื่อ(2) 

-ขณะทรงพระดำเนิน ในภาคนี้ (8:27-10:52) นักบุญมาระโกจะเตือนผู้อ่านบ่อย ๆ ว่า พระเยซูเจ้าทรงสั่งสอนบรรดาศิษย์ “ขณะทรงพระดำเนิน” (เทียบ 9:33-34; 10:17, 32, 46, 52) เพื่อเน้นว่า บรรดาศิษย์ไม่เพียงต้องเดินด้วยอากัปกิริยาฝ่ายกายเท่านั้น แต่ต้องก้าวเดินฝ่ายจิตอีกด้วยแม้เขาจะเข้าใจคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าอย่างช้า ๆ และด้วยความยากลำบาก คำถามของพระองค์ชี้ให้บรรดาศิษย์รู้ว่าทรงรอคอยให้เขาก้าวหน้าในความเข้าใจเรื่องใด



- พระองค์ตรัสถามบรรดาศิษย์ว่า “คนทั้งหลายว่าเราเป็นใคร” พระเยซูเจ้าทรงสนพระทัยว่าประชาชนคิดอย่างไรเกี่ยวกับพระองค์ ตั้งแต่แรกเริ่มของศาสนบริการประชาชนประหลาดใจอย่างมากในการกระทำของพระองค์และเคยถามกันว่า “นี่มันเรื่องอะไร เป็นคำสั่งสอนแบบใหม่ที่มีอำนาจ เขาสั่งแม้กระทั่งปีศาจและมันก็เชื่อฟัง” (1:27)บัดนี้ บรรดาศิษย์ทูลรายงานความคิดเห็นของประชาชนที่สรุปการไตร่ตรองของตน

- เขาทูลตอบว่า “บ้างว่าเป็นยอห์นผู้ทำพิธีล้าง บ้างว่าเป็นประกาศกเอลียาห์ บ้างก็ว่าเป็นประกาศกองค์หนึ่ง” บรรดาศิษย์ทูลรายงานความคิดเห็นเหมือนที่นักบุญมาระโกเล่าว่าเป็นความคิดเห็นของประชาชนที่ทูลรายงานต่อกษัตริย์เฮโรดอันทิปาส (เทียบ 6:14-16) ตั้งแต่เวลานั้นจนถึงบัดนี้ แม้พระเยซูเจ้าทรงทวีขนมปังเลี้ยงประชาชนจำนวนมาก และทรงทำอัศจรรย์รักษาผู้ป่วยจากโรคร้ายแรง ประชาชนจึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงความคิดเกี่ยวกับพระคริสตเจ้าเลย เป็นความคิดที่มองพระองค์ในแง่บวกว่า ทรงเป็นบุคคลที่พระเจ้าทรงส่งมาเพื่อเตรียมการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ผู้จะทรงสถาปนาพระอาณาจักรของกษัตริย์ดาวิดอีกครั้งหนึ่ง ในความคิดของเขา พระเยซูเจ้าทรงเป็นเพียงประกาศกผู้หนึ่งเช่นเดียวกับประกาศกเอลียาห์ (เทียบ 9:11-13) หรือนักบุญยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง (เทียบ 1:7-8) น่าสังเกตว่า พระเยซูเจ้าไม่ทรงวิพากษ์วิจารณ์ความคิดเห็นดังกล่าว แต่ทรงตั้งถามอย่างหนักแน่นแก่บรรดาศิษย์

- พระองค์ตรัสถามอีกว่า “ท่านล่ะ ว่าเราเป็นใคร” การที่พระเยซูเจ้าทรงตั้งคำถามถึง 2 ครั้งโดยแยกความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปจากความคิดเห็นของบรรดาศิษย์ แสดงว่าพระองค์ทรงมีความสัมพันธ์พิเศษกับเขา ซึ่งมีประสบการณ์กว้างขวางและลึกซึ้งกับพระเยซูเจ้ามากกว่าผู้อื่น

- เปโตรทูลตอบว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า” คำตอบของนักบุญเปโตรแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากคำตอบของประชาชน เขาคิดว่าพระเยซูเจ้าไม่ทรงเป็นเพียงประกาศกองค์หนึ่งที่กำลังเตรียมการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ แต่เป็นพระคริสตเจ้า หมายถึงพระเมสสิยาห์นั่นเอง คือกษัตริย์พระองค์สุดท้ายและถาวรของประชากรที่พระเจ้าทรงส่งมาเพื่อประทานชีวิตที่สมบูรณ์ คำว่า “พระคริสตเจ้า” มาจากภาษากรีกหมายถึง “ผู้รับเจิม” คือพระเมสสิยาห์ในภาษาฮีบรู เพราะในวัฒนธรรมของชาวยิวกษัตริย์ทรงขึ้นครองราชย์โดย วิธีการเจิม (เทียบ 1 ซมอ 10:1; 16:13; 1 พกษ 1:39; 19:15-16) ชาวยิวหลายคนเชื่อพระสัญญาในพันธสัญญาเดิมเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ เขาจึงรอคอยกษัตริย์ดังกล่าว บัดนี้ นักบุญเปโตรยืนยันว่า พระเจ้าทรงส่งพระเมสสิยาห์แก่ชาวอิสราเอลแล้วคือพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเปิดเผยความจริงนี้ในพระวาจาและกิจการของพระองค์

- พระองค์ทรงกำชับบรรดาศิษย์มิให้กล่าวเรื่องเกี่ยวกับพระองค์แก่ผู้ใด คำยืนยันของนักบุญเปโตรที่ว่า พระเยซูเจ้าเป็นพระคริสตเจ้าหรือพระเมสสิยาห์อาจจะทำให้ชาวยิวเข้าใจผิดพระเยซูเจ้าเองไม่ทรงเคยใช้พระนาม “พระเมสสิยาห์” อ้างถึงพระองค์เพราะชาวยิวที่ได้ยินพระนามนี้เข้าใจในความหมายกษัตริย์ในด้านการเมืองการปกครอง ผู้เสด็จมาต่อสู้กับศัตรูทำให้ประชากรอิสราเอลเป็นอิสระ พระเยซูเจ้าไม่ทรงเป็นเช่นนั้น จึงทรงกำชับบรรดาศิษย์ไม่ให้เรียกพระองค์เป็นพระเมสสิยาห์ จนกว่าจะทรงเปิดเผยความลับเรื่อง “บุตรแห่งมนุษย์” แก่บรรดาศิษย์ว่าเป็นพระเมสสิยาห์ผู้ทรงรับทรมานและสิ้นพระชนม์ 

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก