(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

งานมงคลสมรสที่หมู่บ้านคานา

2 1สามวันต่อมาa มีงานมงคลสมรสที่หมู่บ้านคานาในแคว้นกาลิลี พระมารดาของพระเยซูเจ้าทรงอยู่ในงานนั้นb 2พระเยซูเจ้าทรงได้รับเชิญพร้อมกับบรรดาศิษย์มาในงานนั้นด้วย 3เมื่อเหล้าองุ่นหมด พระมารดาของพระเยซูเจ้าจึงมาทูลพระองค์ว่า “เขาไม่มีเหล้าองุ่นแล้ว” 4พระเยซูเจ้าตรัสว่า “แม่ครับc แม่ต้องการอะไรจากลูกd เวลาของลูกeยังมาไม่ถึง” 5พระมารดาของพระเยซูเจ้าจึงกล่าวแก่บรรดาผู้รับใช้ว่า “เขาบอกให้ท่านทำอะไร ก็จงทำเถิด” 6ที่นั่นมีโอ่งหินตั้งอยู่หกใบ เพื่อใช้ชำระตนตามธรรมเนียมของชาวยิว แต่ละใบจุน้ำได้ประมาณหนึ่งร้อยลิตร 7พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาผู้รับใช้ว่า “จงตักน้ำใส่โอ่งให้เต็ม” เขาก็ตักน้ำใส่จนเต็มถึงขอบ 8แล้วพระองค์ทรงสั่งเขาอีกว่า “จงตักไปให้ผู้จัดงานเลี้ยงเถิด” เขาก็ตักไปให้ 9ผู้จัดงานเลี้ยงได้ชิมน้ำที่เปลี่ยนเป็นเหล้าองุ่นแล้ว ไม่รู้ว่าเหล้านี้มาจากไหน แต่ผู้รับใช้ที่ตักน้ำรู้ดี ผู้จัดงานเลี้ยงจึงเรียกเจ้าบ่าวมา 10พูดว่า “ใครๆ เขานำเหล้าองุ่นอย่างดีมาให้ก่อน เมื่อบรรดาแขกดื่มมากแล้ว จึงนำเหล้าองุ่นอย่างรองมาให้ แต่ท่านเก็บเหล้าอย่างดีไว้จนถึงบัดนี้”

11พระเยซูเจ้าทรงกระทำเครื่องหมายอัศจรรย์fครั้งแรกนี้ที่หมู่บ้านคานา แคว้นกาลิลี พระองค์ทรงแสดงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ และบรรดาศิษย์เชื่อในพระองค์ 12หลังจากนั้น พระเยซูเจ้าเสด็จไปเมืองคาเปอรนาอุมพร้อมกับพระมารดา พระประยูรญาติและบรรดาศิษย์ ทุกคนพำนักอยู่ที่นั่นเพียงสองสามวัน

ข. เทศกาลปัสกา

การชำระพระวิหาร

13เทศกาลปัสกาของชาวยิวใกล้จะมาถึง พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม 14ในบริเวณพระวิหาร พระองค์ทรงพบพ่อค้าขายโค พ่อค้าขายแกะ พ่อค้าขายนกพิราบ และคนแลกเงินนั่งอยู่ที่โต๊ะ 15พระองค์ทรงใช้เชือกเป็นแส้ ทรงขับไล่ทุกคนรวมทั้งแกะและโคออกจากพระวิหาร ทรงปัดเงินกระจายเกลื่อนกลาด และทรงคว่ำโต๊ะของผู้แลกเงิน 16แล้วตรัสกับคนขายนกพิราบว่า “จงนำของเหล่านี้ออกไป อย่าทำบ้านของพระบิดาของเราให้เป็นตลาด” 17บรรดาศิษย์จึงระลึกได้ถึงคำที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า “ความรักที่ข้าพเจ้ามีต่อบ้านของพระองค์เป็นเสมือนไฟที่เผาผลาญข้าพเจ้า18ชาวยิวจึงเข้ามาทูลถามพระองค์ว่า “ท่านมีเครื่องหมายอะไรแสดงให้เรารู้ว่าท่านมีอำนาจทำดังนี้” 19พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “จงทำลายพระวิหารนี้ แล้วเราจะสร้างขึ้นใหม่ภายในสามวัน”g 20ชาวยิว

พูดว่า “พระวิหารหลังนี้ต้องใช้เวลาสร้างถึงสี่สิบหกปีh แล้วท่านจะสร้างขึ้นใหม่ในสามวันหรือ” 21แต่พระองค์กำลังตรัสถึงพระวิหารซึ่งหมายถึงพระกายของพระองค์I 22ดังนั้น เมื่อพระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายแล้ว บรรดาศิษย์จึงระลึกได้ว่าพระองค์ตรัสไว้ดังนี้ เขาจึงเชื่อทั้งพระคัมภีร์และพระวาจาที่พระองค์ตรัสไว้

พระเยซูเจ้าที่กรุงเยรูซาเล็ม

23ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มในเทศกาลปัสกา คนจำนวนมากเชื่อในพระนามพระองค์เพราะได้เห็นเครื่องหมายอัศจรรย์ต่างๆ ที่ทรงกระทำ 24แต่พระเยซูเจ้าไม่วางพระทัยในคนเหล่านั้น ทรงรู้จักทุกคน 25พระองค์ไม่ทรงปรารถนาให้ผู้ใดเป็นพยานในเรื่องมนุษย์ เพราะทรงทราบดีว่ามีสิ่งใดอยู่ในใจมนุษย์

 

เรียนพระคัมภีร์กับคุณพ่อสมเกียรติ ตรีนิกร
พระวรสารนักบุญยอห์น บทที่ 2

 


 

2 a สามวันต่อมา คือ สามวันหลังจากที่ทรงพบกับฟีลิปและนาธานาเอล ดังนั้น เหตุการณ์ที่บันทึกไว้ตอนเริ่มต้นพระวรสารจึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในหนึ่งสัปดาห์ โดยแบ่งเรื่องราวแต่ละวันไว้ชัดเจน (ดู 1:39 เชิงอรรถ z) สัปดาห์แรกนี้จบลงด้วยการที่พระคริสตเจ้าทรงแสดงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ที่หมู่บ้านคานา (ข้อ 11)

b พระนางมารีย์อยู่ด้วยเมื่อพระเยซูเจ้าทรงแสดงพระสิริรุ่งโรจน์ครั้งแรก พระนางจะอยู่อีกครั้งหนึ่งที่เชิงไม้กางเขน (19:25-27) การเล่าเรื่องทั้งสองนี้มีรายละเอียดหลายประการที่เหมือนกัน แสดงว่ายอห์นต้องการเน้นความสำคัญพิเศษของพระนาง

c แม่ครับ แปลตามตัวอักษรได้ว่า สตรีเอ๋ย การเรียกเช่นนี้จะพบอีกใน 19:26 การที่ลูกคนหนึ่งใช้คำว่า สตรีเอ๋ย เรียกมารดาของตน ไม่ใช่วิธีพูดของชาวยิว เราไม่พบตัวอย่างเช่นนี้อีกเลยในพระคัมภีร์ แม้ว่าสำนวนนี้จะเป็นการทักทายอย่างสุภาพต่อสตรีอื่นๆ ทั่วไป ยน ใช้วลีนี้โดยเจตนาจะให้เป็นสัญลักษณ์ถึงนางเอวา (เทียบ ปฐก 3:15, 20) ในฐานะที่พระนางมารีย์คือนางเอวาคนใหม่ มารดาของผู้มีชีวิตทุกคน

d แปลตามตัวอักษรว่า ธุระอะไรของข้าพเจ้าและของท่าน เป็นสำนวนภาษาฮีบรูที่พบบ่อยๆ ในพันธสัญญาเดิม (วนฉ 11:12; 2 ซมอ 16:10; 19:23; 1 พกษ 17:18; ฯลฯ) และในพันธสัญญาใหม่ (มธ 8:29; มก 1:24; 5:7; ลก 4:34; 8:28) เป็นวลีที่ใช้เพื่อแสดงความไม่พอใจเมื่อบุคคลอื่นเข้ามาแทรกแซงในเรื่องที่ไม่ใช่ธุระของเขา หรือเพื่อปฏิเสธการเสนอความคิดเห็นของผู้อื่น บางครั้งมีความหมายเพียงว่า “เรามีความคิดเห็นไม่ตรงกัน” หรือกำลังคิดคนละอย่าง บริบทเท่านั้นจะบอกว่าวลีนี้มีความหมายอย่างไร ในที่นี้พระเยซูเจ้าทรงต้องการบอกพระมารดาให้รู้ว่ายังไม่ถึงเวลาของพระองค์เท่านั้น ความคิดของพระองค์จึงไม่เหมือนกันทีเดียวกับความคิดของพระนางซึ่งเป็นห่วงแต่เพียงเพื่อช่วยกู้หน้าของคู่บ่าวสาว

e เวลา ของพระเยซูเจ้าหมายถึง การรับพระสิริรุ่งโรจน์และการเสด็จกลับไปประทับ ณ เบื้องขวาของพระบิดา ยน กล่าวบ่อยๆ ว่าเวลานี้ใกล้จะมาถึงแล้ว (7:30; 8:20; 12:23, 27; 13:1; 17:1; 19:27) พระบิดาเท่านั้นทรงเป็นผู้กำหนด เวลา นี้ซึ่งไม่อาจมาถึงก่อนได้ อัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำเพราะพระมารดาชี้แนะนั้นจึงเป็นสัญลักษณ์ถึง เวลา ของพระคริสตเจ้านี้ด้วย

f ประกาศกแท้จริงทุกคนต้องมี เครื่องหมาย หรือการอัศจรรย์ที่เขาทำในพระนามของพระเจ้าเป็นหลักฐานรับรอง (อสย 7:11; ดู ยน 3:2; 6:29, 30; 7:3, 31; 9:16, 33) ประชาชนจึงหวังว่าพระเมสสิยาห์จะต้องทำอัศจรรย์แบบเดียวกับโมเสสเป็นเครื่องหมาย (ยน 1:21 เชิงอรรถ t) พระเยซูเจ้าจึงทำ อัศจรรย์ เครื่องหมาย เพื่อปลุกความเชื่อในพระภารกิจที่ทรงได้รับจากพระเจ้า (ข้อ 11, 23; 4:48-54; 11:15, 42; 12:37 ดู 3:11 เชิงอรรถ e) แท้จริงแล้ว กิจการทุกอย่าง ของพระคริสตเจ้าแสดงว่าพระเจ้าได้ทรงส่งพระองค์มา (5:36; 10:25, 37) และพระบิดาประทับอยู่ในพระองค์ (10:30 เชิงอรรถ p) โดยแสดงพระสิริรุ่งโรจน์อย่างทรงอำนาจ (1:14 เชิงอรรถ n) พระบิดาทรงเป็นผู้กระทำกิจการต่างๆ (10:38; 14:10) แต่หลายคนปฏิเสธไม่ยอมเชื่อ (3:12; 5:38-47; 6:36, 64; 7:5; 8:45; 10:25; 12:37) บาปของเขาจึงยังคงอยู่ต่อไป (9:41; 15:24)

g ใน ยน ถ้อยคำที่พระเยซูเจ้าทรงใช้บางครั้งมีความหมายสองอย่าง นอกเหนือจากความหมายปกติที่ผู้ฟังเข้าใจแล้ว ยังมีความหมายในเชิงเปรียบเทียบที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นอีกด้วย ดู 2:20 (พระวิหาร) 3:3 (เกิดใหม่) 4:15 (น้ำเป็น) 6:34 (ปังแห่งชีวิต) 7:35 (จากไป) 11:11 (ปลุกให้ตื่น) 12:34 (ถูกยกขึ้น) 13:9 (การล้าง) 13:36ฯ (จากไป) 14:22 (แสดงตน) ดังนั้น เมื่อผู้ฟังเข้าใจเพียงความหมายเดียว พระเยซูเจ้าจึงจำเป็นต้องอธิบายให้เข้าใจอีกความหมายหนึ่งด้วย (ดู 3:11 เชิงอรรถ e)

h การเริ่มบูรณะซ่อมแซมพระวิหารได้เริ่มต้นขึ้นในปี 19 ก่อน ค.ศ. ดังนั้น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเทศกาลปัสกาปี ค.ศ.28 หรือหลังจากนั้น

i พระวรกายของพระคริสตเจ้าเป็นสัญลักษณ์สำคัญประการหนึ่งในข้อเขียนของยอห์น (ดู วว 21:22; เทียบ เปาโล 1คร 12:12 เชิงอรรถ b) พระวรกายของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพจะเป็นศูนย์รวมของการนมัสการเดชะพระจิตเจ้าตามความจริง (4:21ฯ) เป็นวิหารที่ประทับของพระเจ้า (1:14) เป็นวิหารฝ่ายจิตซึ่งจะมีน้ำทรงชีวิตไหลออกมา (7:37-39; 19:34)