“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น

A. อารัมภบท

1 1เมื่อแรกเริ่มนั้น พระวจนาตถ์ทรงดำรงอยู่แล้วa

พระวจนาตถ์ประทับอยู่กับพระเจ้า

และพระวจนาตถ์เป็นพระเจ้า

2พระองค์ประทับอยู่กับพระเจ้าแล้วตั้งแต่แรกเริ่ม

3พระเจ้าทรงสร้างทุกสิ่งอาศัยพระวจนาตถ์

ไม่มีสักสิ่งเดียวที่พระเจ้าไม่ทรงสร้าง

โดยทางพระวจนาตถ์b

4ชีวิตอยู่ในพระองค์c

และชีวิตเป็นแสงสว่างสำหรับมนุษย์

5แสงสว่างส่องในความมืด

และความมืดชนะแสงสว่างนั้นไม่ได้d

6พระเจ้าทรงส่งชายผู้หนึ่งมา

เขาชื่อยอห์นe

7เขามาในฐานะพยาน

เพื่อเป็นพยานถึงแสงสว่าง

ให้ทุกคนมีความเชื่ออาศัยเขา

8เขาไม่ใช่แสงสว่าง

แต่เป็นพยานถึงแสงสว่าง

9แสงสว่างแท้จริง

ซึ่งส่องสว่างแก่มนุษย์ทุกคน

กำลังจะมาสู่โลกf

10พระวจนาตถ์ประทับอยู่ในโลก

และโลกถูกสร้างโดยอาศัยพระองค์

แต่โลกไม่รู้จักพระองค์g

11พระองค์เสด็จมาสู่บ้านเมืองของพระองค์

แต่ประชากรของพระองค์hไม่ยอมรับพระองค์

12ผู้ใดที่ยอมรับพระองค์

คือผู้ที่เชื่อในพระนามพระองค์i

พระองค์ประทานอำนาจให้ผู้นั้นกลายเป็นบุตรของพระเจ้าj

13เขามิได้เกิดจากสายเลือด

มิได้เกิดจากความปรารถนาตามธรรมชาติ

มิได้เกิดจากความต้องการของมนุษย์

แต่เกิดจากพระเจ้าk

14พระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์l

และเสด็จมาประทับอยู่ในหมู่เราm

เราได้เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์n

เป็นพระสิริรุ่งโรจน์ที่ทรงรับจากพระบิดา

ในฐานะพระบุตรเพียงพระองค์เดียว

เปี่ยมด้วยพระหรรษทานและความจริงo

15ยอห์นเป็นพยานถึงพระองค์

และประกาศว่า

“ผู้ที่มาภายหลังข้าพเจ้า

ได้นำหน้าข้าพเจ้า

เพราะพระองค์ทรงดำรงอยู่ก่อนข้าพเจ้า”

16จากความไพบูลย์ของพระองค์

เราทุกคนได้รับพระหรรษทานต่อเนื่องกันp

17เพราะพระเจ้าได้ประทานธรรมบัญญัติผ่านทางโมเสส

แต่พระหรรษทานและความจริงมาทางพระเยซูคริสตเจ้า

18ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลย

พระบุตรเพียงพระองค์เดียวq ผู้สถิตในพระอุระของพระบิดานั้น

ได้ทรงเปิดเผยให้เรารู้

B. พระภารกิจของพระเยซูเจ้า

I. การประกาศระบบใหม่

ก. สัปดาห์แรก ยอห์นเป็นพยาน

19ยอห์นเป็นพยานดังนี้ เมื่อชาวยิวrจากกรุงเยรูซาเล็มส่งบรรดาสมณะและชาวเลวีไปถามยอห์นว่า “ท่านเป็นใคร” 20เขามิได้ปิดบังความจริง แต่ยืนยันว่า “ข้าพเจ้าไม่ใช่พระคริสต์” 21ดังนั้น เขาเหล่านั้นจึงถามว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านเป็นใคร เป็นเอลียาห์หรือ”s ยอห์นตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่ใช่เอลียาห์” “ท่านเป็นประกาศกหรือ”t เขาตอบอีกว่า “ไม่ใช่” 22เขาเหล่านั้นจึงถามว่า “ท่านเป็นใคร เราจะได้นำคำตอบไปให้ผู้ที่ส่งเรามา ท่านพูดถึงตนเองอย่างไร” 23ยอห์นตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นเสียงของผู้ที่ร้องตะโกนในถิ่นทุรกันดารว่า จงทำทางขององค์พระผู้เป็นเจ้าให้ตรงเถิด” ดังที่ประกาศกอิสยาห์ได้กล่าวไว้

24ผู้ที่ถูกส่งไปถามนั้นเป็นชาวฟาริสี 25เขาถามยอห์นอีกว่า “ทำไมท่านจึงทำพิธีล้าง ถ้าท่านไม่ใช่พระคริสต์ ไม่ใช่เอลียาห์ และไม่ใช่ประกาศก” 26ยอห์นตอบพวกเขาว่า “ข้าพเจ้าใช้น้ำทำพิธีล้างให้ท่านทั้งหลาย แต่มีผู้หนึ่งประทับอยู่ในหมู่ท่าน เป็นผู้ที่ท่านไม่รู้จัก 27ผู้นั้นมาภายหลังข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สมควรแม้แต่จะแก้สายรัดรองเท้าของเขา”

28เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่หมู่บ้านเบธานี อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำจอร์แดนu ซึ่งยอห์นกำลังทำพิธีล้างอยู่

29วันรุ่งขึ้น ยอห์นเห็นพระเยซูเจ้าเสด็จมาหาตน จึงกล่าวว่า “นี่คือลูกแกะของพระเจ้าv ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก 30ผู้นี้คือผู้ที่ข้าพเจ้าเคยพูดถึงว่า ‘บุรุษผู้หนึ่งมาภายหลังข้าพเจ้า แต่นำหน้าข้าพเจ้า เพราะอยู่มาก่อนข้าพเจ้า 31ข้าพเจ้าไม่รู้จักพระองค์ แต่ข้าพเจ้าถูกส่งมาให้ทำพิธีล้าง เพื่อทำให้พระองค์เป็นที่รู้จักแก่อิสราเอล’” 32ยอห์นยังยืนยันอีกว่า “ข้าพเจ้าเห็นพระจิตเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์เหมือนนกพิราบw และทรงอยู่เหนือพระองค์ 33ข้าพเจ้าไม่รู้จักพระองค์ แต่ผู้ที่ทรงส่งข้าพเจ้ามาใช้น้ำทำพิธีล้าง ตรัสกับข้าพเจ้าว่า ‘ท่านเห็นพระจิตเจ้าเสด็จลงมาประทับอยู่เหนือผู้ใด ผู้นั้นคือผู้ที่ทำพิธีล้างเดชะพระจิตเจ้า’x 34ข้าพเจ้าเห็นและเป็นพยานยืนยันว่าท่านผู้นี้เป็นพระบุตรของพระเจ้า”y

ศิษย์กลุ่มแรก

35วันรุ่งขึ้น ยอห์นกำลังยืนอยู่ที่นั่นกับศิษย์สองคน 36เมื่อเห็นพระเยซูเจ้าเสด็จผ่านไป จึงพูดว่า “นี่คือลูกแกะของพระเจ้า” 37เมื่อศิษย์ทั้งสองคนได้ยินยอห์นพูดดังนี้จึงติดตามพระเยซูเจ้าไป 38พระเยซูเจ้าทรงหันพระพักตร์มาทอดพระเนตรเห็นเขากำลังติดตามพระองค์ จึงตรัสถามว่า “ท่านทั้งหลายแสวงหาอะไร” เขาทูลตอบว่า “รับบี” แปลว่า พระอาจารย์ “พระองค์ทรงพำนักอยู่ที่ไหน” 39พระเยซูเจ้าตรัสว่า “มาดูซิ” เขาจึงไปดู เห็นที่ประทับของพระองค์ และพักอยู่กับพระองค์ในวันนั้น ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณบ่ายสี่โมงz

40อันดรูว์น้องชายของซีโมนเปโตรเป็นคนหนึ่งในสองคนที่ได้ยินคำพูดของยอห์น และตามพระเยซูเจ้าไป 41อันดรูว์พบซีโมนพี่ชายเป็นคนแรกaa จึงพูดว่า “เราพบพระเมสสิยาห์แล้ว” พระเมสสิยาห์หรือพระคริสตเจ้า แปลว่า ผู้รับเจิม 42เขาพาพี่ชายไปเฝ้าพระเยซูเจ้า พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นเขา จึงตรัสว่า “ท่านคือซีโมนบุตรของยอห์น ท่านจะมีชื่อว่า ‘เคฟาส’ แปลว่า ‘เปโตร’ หรือ ‘ศิลา’”

43วันรุ่งขึ้น พระเยซูเจ้าทรงตัดสินพระทัยเสด็จไปยังแคว้นกาลิลี ทรงพบฟีลิปและตรัสกับเขาว่า “จงตามเรามาเถิด” 44ฟีลิปมาจากเมืองเบธไซดาเช่นเดียวกับอันดรูว์และเปโตร 45ฟีลิปพบนาธานาเอลbb และบอกเขาว่า “เราพบผู้ที่โมเสสในธรรมบัญญัติและบรรดาประกาศกเขียนถึง ผู้นั้นคือพระเยซูบุตรของโยเซฟ ชาวนาซาเร็ธ” 46นาธานาเอลจึงพูดกับฟีลิปว่า “จะมีอะไรดีมาจากนาซาเร็ธได้รึ” ฟีลิปตอบว่า “มาดูซิ” 47พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นนาธานาเอลเข้ามาเฝ้า จึงตรัสถึงเขาว่าcc “นี่คือชาวอิสราเอลแท้ เป็นคนไม่มีมารยา” 48นาธานาเอลทูลถามว่า “พระองค์ทรงรู้จักข้าพเจ้าได้อย่างไร” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ก่อนที่ฟีลิปจะเรียกท่าน เราเห็นท่านอยู่ใต้ต้นมะเดื่อเทศ”dd 49นาธานาเอลทูลตอบว่า “รับบี พระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้าee พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ของชนชาติอิสราเอล” 50พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านเชื่อเพราะเราพูดว่า เราเห็นท่านอยู่ใต้ต้นมะเดื่อเทศหรือ ท่านจะเห็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นอีก” 51แล้วพระองค์ตรัสเสริมว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านจะเห็นท้องฟ้าเปิด และจะเห็นบรรดาทูตสวรรค์ของพระเจ้าขึ้นลงรับใช้บุตรแห่งมนุษย์”ff

 

เรียนพระคัมภีร์กับคุณพ่อสมเกียรติ ตรีนิกร
พระวรสารนักบุญยอห์น บทที่ 1

 



 

1 a พันธสัญญาเดิมกล่าวถึงพระวาจาของพระเจ้า และพระปรีชาญาณของพระองค์ ซึ่งประทับอยู่กับพระเจ้าก่อนที่จะทรงเนรมิตสร้างโลก (ดู สภษ 8:22 เชิงอรรถ e; ปชญ 7:22 เชิงอรรถ i) พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างทุกสิ่งอาศัยพระวาจา พระองค์ได้ทรงส่งพระวาจามาในโลก เพื่อเปิดเผยแผนการอันเร้นลับของพระองค์ พระวาจากลับไปหาพระเจ้าเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจของตน (สภษ 8:22-36; ปชญ 9:9-12; บสร 24:3-22; อสย 55:10-11) เรื่องบทบาทของพระวาจาในการเนรมิตสร้าง ดู ปฐก 1:3, 6; ยดธ 16:14; สดด 33:6; บสร 42:15; อสย 40:8, 26; 44:24-28; 48:13 เรื่องภารกิจของพระวาจา ดู สดด 107:20; 147:15-18; ปชญ 18:14-16 สำหรับยอห์นก็เช่นกัน (13:3; 16:28) พระวาจาหรือ พระวจนาตถ์ ทรงดำรงอยู่ในพระเจ้าก่อนทรงเนรมิตสร้างโลก (ข้อ 1, 2; 8:24 เชิงอรรถ g; 10:30 เชิงอรรถ p) พระวจนาตถ์ได้เสด็จมาในโลก (ข้อ 9-14; 3:19; 9:39; 12:46; ดู มก 1:38 เชิงอรรถ n) เพราะพระบิดาทรงส่งมา (3:17, 34; 5:36, 43; 6:29; 7:29; 8:42; 9:7; 10:36; 11:42; 17:3, 25; เทียบ ลก 4:43) เพื่อประกอบภารกิจ (ยน 4:34 เชิงอรรถ k) คือการประกาศให้โลกทราบข่าวดีเรื่องความรอดพ้น (ยน 1:33 เชิงอรรถ x; 3:11 เชิงอรรถ e) เมื่อภารกิจนั้นสำเร็จแล้ว พระวจนาตถ์ทรงกลับไปหาพระบิดา (ยน 1:18; 7:33; 8:21; 12:35; 13:3; 16:5; 17:11, 13; 20:17) การที่พระวจนาตถ์ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์ ทำให้ผู้นิพนธ์พันธสัญญาใหม่ โดยเฉพาะยอห์น เห็นว่าพระวาจา ปรีชาญาณซึ่งดำรงอยู่ต่างหากแต่นิรันดรนั้นทรงเป็นอีกพระบุคคลหนึ่ง ความคิดเช่นนี้ยังพบได้อีกใน ฮบ 1:1-2; ยน 1:1-2; วว 19:13 เป็นต้น

b ข้อความนี้อาจแบ่งได้อีกวิธีหนึ่ง คือ ไม่มีสักสิ่งเดียวถูกสร้างโดยไม่อาศัยพระองค์ (4) สิ่งที่ถูกสร้างในพระองค์เป็นชีวิต

c สำเนาโบราณบางฉบับใช้กริยาในปัจจุบันกาลแทนอดีตกาล

d หมายความว่า ความมืด (ความชั่วร้าย,อำนาจของความชั่วร้าย) ไม่อาจเอาชนะความสว่าง (ความดี พระวจนาตถ์) ได้ (เทียบ 7:33ฯ; 8:21; 12:31, 32; 14:30; 1 ยน 2:8, 14; 4:4; 5:18) บางคนแปลข้อความนี้ว่า ความมืดไม่อาจเข้าใจแสงสว่างได้

e ข้อ 6-8 เป็นข้อความแทรกเข้ามากล่าวถึงภารกิจของยอห์นผู้ทำพิธีล้าง เช่นเดียวกับข้อ 15 (ดู มธ 3:1//)

f ประโยคนี้อาจแปลได้อีกว่า พระวจนาตถ์ทรงเป็นแสงสว่างแท้ ซึ่งส่องสว่างมนุษย์ทุกคนที่มาในโลก

g ใน ยน โลก มีความหมายได้ 3 อย่างต่างกันดังนี้ (1) หมายถึง จักรวาลหรือแผ่นดินนี้ (2) มนุษยชาติ (3) ผู้ที่เป็นศัตรูต่อพระเจ้า เกลียดชังพระคริสตเจ้า และศิษย์ของพระองค์ (7:7; 15:18, 19; 17:14) ความหมายสุดท้ายนี้ตรงกับความคิดของชาวยิวร่วมสมัยซึ่งแยก โลกนี้ (8:23) ที่ซาตานครอบงำอยู่ (12:31; 14:30; 16:11; 1 ยน 5:19) กับ โลกที่กำลังจะมา ซึ่งอาจจะมีความหมายตรงกันกับความคิดของยอห์นว่า ชีวิตนิรันดร (12:25) บรรดาศิษย์จะต้องอยู่ในโลกนี้ (แผ่นดินนี้) แม้ว่าเขาไม่ใช่คนของโลกนี้ (คือผู้ที่เกลียดชังพระคริสตเจ้า) ก็ตาม เทียบความหมายในเชิงลบของคำว่า แผ่นดิน ใน วว 6:15; 13:3,8; 14:3; 17:2, 5, 8; ดู รม 8:16 เชิงอรรถ j ด้วย

h อาจจะหมายถึงชาวยิว

i สำเนาโบราณบางฉบับว่า ถูกเรียกว่า

j ผู้ที่เชื่อในพระนามพระองค์ เป็นประโยคที่ปิตาจารย์หลายท่านได้ละไว้ ผู้ที่เชื่อในพระบุตรของพระเจ้า (3:15 เชิงอรรถ j) ก็กลายเป็นบุตรของพระเจ้าด้วย (มธ 5:9; 6:9; รม 8:14; กท 3:26 เชิงอรรถ o; 4:5 เชิงอรรถ d; ยก 1:27 เชิงอรรถ p; 1 ยน 3:1)

k สำเนาโบราณหลายฉบับตามคำอ้างอิงของปิตาจารย์ละตินหลายท่านอ่านกริยานี้ในเอกพจน์ ซึ่งหมายถึงการบังเกิดของพระเยซูเจ้าจากพระเจ้า ไม่หมายถึงการที่คริสตชนบังเกิดเป็นบุตรของพระเจ้า

l แปลตามตัวอักษรว่า กลายเป็นเนื้อหนัง คำว่า เนื้อหนัง หมายถึง ธรรมชาติมนุษย์ที่อ่อนแอและตายได้ (ดู 3:6; 17:2; ปฐก 6:3; สดด 56:5; อสย 40:6) การใช้คำนี้ (ดู รม 7:5 เชิงอรรถ c) เน้นว่าพระคริสตเจ้าได้ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์จริงๆ (ดู 1 ยน 4:2; 2 ยน 7 และใน เปาโล รม 1:3; กท 4:4; ฟป 2:7; คส 1:19)

m การบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระวจนาตถ์ ทำให้พระเจ้าประทับอยู่กับมนุษย์อย่างที่เราแลเห็นได้ การประทับอยู่ของพระองค์จึงไม่เป็นการประทับอยู่ที่น่ากลัวและมองไม่เห็น ดังที่เคยประทับในกระโจมนัดพบ หรือในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มในพันธสัญญาเดิม (อพย 25:8 เชิงอรรถ d; เทียบ กดว 35:34) ทั้งยังไม่เป็นการประทับอยู่เพียงด้วยพระปรีชาญาณในธรรมบัญญัติของโมเสส (บสร 24:7-22; บรค 3:36-4:4)

n พระสิริรุ่งโรจน์ หมายถึงการที่พระเจ้าทรงสำแดงว่าพระองค์ประทับอยู่ (อพย 24:16 เชิงอรรถ f) ไม่มีใครสามารถเห็นความแจ่มจรัสของพระสิริรุ่งโรจน์นี้ และยังมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ (อพย 33:20 เชิงอรรถ i) แต่บัดนี้ธรรมชาติมนุษย์ของพระวจนาตถ์บังพระสิริรุ่งโรจน์นี้ไว้เหมือนกับเมื่อเมฆเคยบังในอดีต ถึงกระนั้น ในบางครั้งพระสิริรุ่งโรจน์ของพระวจนาตถ์นี้ก็ยังทะลุม่านที่บังไว้ เช่นเมื่อพระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งเรือง (เทียบ ลก 9:32 35; ยน 1:14) และเมื่อพระเยซูเจ้าทรงทำอัศจรรย์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงว่าพระเจ้าทรงทำงานอยู่ในพระองค์ (ยน 2:11 เชิงอรรถ f; 11:40; เทียบ 14:24-27; และ 15:7; 16:7ฯ) การกลับคืนพระชนมชีพจะเปิดเผยพระสิริรุ่งโรจน์นี้อย่างสมบูรณ์ (ดู 17:5 เชิงอรรถ f)

o พระหรรษทานและความจริง ทำให้เราคิดถึง ความรักและความซื่อสัตย์ ที่พระเจ้าทรงสำแดงแก่โมเสส (อพย 34:6 เชิงอรรถ c; ดู ฮชย 2:16-22) การเปรียบเทียบกับโมเสสนี้ทำให้เราเห็นว่าพระวจนาตถ์ทรงเปิดเผยพระเจ้าให้มนุษย์รู้จักมากกว่าที่โมเสสเคยได้รับ (ดู 2:11 เชิงอรรถ f; 6:31 เชิงอรรถ i)

p แปลตามตัวอักษรได้ว่า พระหรรษทานซ้อนพระหรรษทาน

q สำเนาโบราณบางฉบับว่า พระเจ้า พระบุตรเพียงพระองค์เดียว พระเยซูเจ้าเป็นพระบุตรเพียงพระองค์เดียว (ข้อ 14, 18; 3:16-18) ทรงเป็นที่รักของพระบิดา (15:9; 17:23) ทรงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระบิดาอย่างสมบูรณ์ (10:30-38 เชิงอรรถ p; 14:10-11; 17:21) ทรงรู้จักและรักกัน (5:20, 30; 10:15; 14:31; เทียบ มธ 11:27//)

r ชาวยิว ใน ยน มักหมายถึงผู้นำทางศาสนาของชาวยิว ซึ่งเป็นศัตรูต่อพระเยซูเจ้า (ดู 2:18; 5:10; 7:13; 9:22; 18:12; 19:38; 20:19) แต่บางครั้งหมายถึงชาวยิวทั้งชาติ (เทียบ ข้อ 11 เชิงอรรถ h)

s ชาวยิวรอคอยการกลับมาของประกาศกเอลียาห์ (ดู มลค 3:23-24 และ มก 9:12)

t ประกาศกผู้นั้น จาก ฉธบ 18:15, 18 เชิงอรรถ e ชาวยิวสรุปว่า พระเมสสิยาห์ที่พวกเขารอคอยนั้นจะเป็นประกาศกเหมือนโมเสส (ซึ่งเป็นประกาศกสมบูรณ์แบบ ดู กดว 12:7 เชิงอรรถ d) ประกาศกผู้นี้จะทำอัศจรรย์ใหญ่โตเหมือนในสมัยอพยพอีกครั้งหนึ่ง (ดู ยน 3:14; 6:14, 30-31; 7:40, 52; 13:1 เชิงอรรถ a; กจ 3:22-23; 7:20-44; ฮบ 3:1-11; ดู มธ 16:14 เชิงอรรถ c)

u ไม่ใช่หมู่บ้านเบธานี ที่อยู่ใกล้กรุงเยรูซาเล็ม (11:18)

v ลูกแกะของพระเจ้า เป็นสัญลักษณ์สำคัญมากประการหนึ่งที่ยอห์นใช้กับพระคริสตเจ้า (เทียบ วว 5:6, 12; ฯลฯ) ลูกแกะของพระเจ้า นี้รวมความคิด 2 ประการด้วยกัน คือ (1) ความคิดเรื่อง ผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์ (อสย 53) ซึ่งรับเอาบาปของมนุษย์ทั้งหลายมาแบกไว้ และถวายตนเป็น ลูกแกะเพื่อชดเชยบาป (ลนต 14) และ (2) ความคิดเรื่องลูกแกะปัสกา (อพย 12:1 เชิงอรรถ a ดู ยน 19:36 ด้วย) ซึ่งชาวยิวกินในพิธีระลึกถึงการกอบกู้ชาติอิสราเอล (เทียบ กจ 8:31-35; 1 คร 5:7; 1 ปต 1:18-20)

w สำเนาโบราณบางฉบับละข้อความ เหมือนนกพิราบ

x พิธีล้างเดชะพระจิตเจ้า วลีนี้สรุปจุดประสงค์ทั้งหมดที่พระเมสสิยาห์เสด็จ (ดู ข้อ 1 เชิงอรรถ a) ได้แก่ การที่มนุษยชาติสามารถบังเกิดใหม่เดชะพระจิตเจ้า พันธสัญญาเดิมได้กล่าวล่วงหน้าถึงเหตุการณ์นี้แล้ว (ดู กจ 2:33 เชิงอรรถ u) พระจิตเจ้าประทับอยู่เหนือพระเมสสิยาห์ (1:33; อสย 11:2; 42:1) พระองค์จึงประทานพระจิตเจ้าให้แก่ผู้อื่น (พิธีล้างเดชะพระจิตเจ้า ดูที่นี่ และ กจ 1:5 เชิงอรรถ f) แต่พระองค์ประทานพระจิตเจ้าได้หลังการกลับคืนพระชนมชีพเท่านั้น (7:39; 16:7, 8; 20:22; กจ 2) พระเยซูเจ้า ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์ (1 ยน 4:2; 2 ยน 7) แต่ธรรมชาติมนุษย์เป็นสิ่งที่เสื่อมสลายได้ (ข้อ 14 เชิงอรรถ l) เมื่อพระองค์ ถูกยกขึ้น และกลับไปหาพระบิดาแล้วเท่านั้น พระวรกายของพระองค์ซึ่งได้รับความรุ่งเรืองจึงมีอานุภาพของพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ และประทานชีวิตได้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป พระจิตเจ้าจะทรงหลั่งลงมาสู่โลกจากพระวรกายนี้ เหมือนกับจากธารน้ำที่ไม่มีวันเหือดแห้ง (7:37-39; 19:34 เชิงอรรถ r ดู รม 5:5 เชิงอรรถ e) การที่น้ำเป็นสัญลักษณ์ ดู 4:1 เชิงอรรถ a

y สำเนาโบราณบางฉบับเขียนว่า ผู้เลือกสรรของพระเจ้า

z ตลอดสัปดาห์แรกนี้ มีการแยกเหตุการณ์ในแต่ละวันอย่างชัดเจน (ข้อ 29, 35, 41, 43; 2:1 เชิงอรรถ a)

aa สำเนาโบราณบางฉบับว่า แต่เช้าตรู่

bb นาธานาเอลอาจเป็นคนเดียวกันกับบารโธโลมิวในพระวรสารสหทรรศน์ (มธ 10:3// เทียบ ยน 21:2)

cc ถึงเขา สำเนาโบราณบางฉบับว่า ถึงนาธานาเอล หรือ แก่เขา

dd ยน มักจะเน้นถึงลักษณะของพระเยซูเจ้าว่าพระองค์ทรงมีความรู้เหนือธรรมชาติเกี่ยวกับบุคคลและสิ่งต่างๆ (ดู 2:24ฯ; 4:17-19, 29; 6:61, 64, 71; 13:1, 11, 27-28; 16:19, 30; 18:4; 21:17)

ee พระบุตรของพระเจ้า ในที่นี้หมายความเพียงว่า พระองค์เป็นพระเมสสิยาห์ (เหมือนกับวลี กษัตริย์ของชนชาติอิสราเอล) (ดู มธ 4:3 เชิงอรรถ d)

ff ความฝันของยาโคบ (ปฐก 28:10-17) จะเป็นความจริง เมื่อบุตรแห่งมนุษย์จะ ถูกยกขึ้น (ยน 3:14 เชิงอรรถ i)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก