“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

รำพึงพระวาจาประจำวัน โดยคุณพ่อสมเกียรติ  ตรีนิกร
วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม 2017
สัปดาห์ที่ 6 เทศกาลปัสกา
วันนี้ มาสรุปความรู้จักท่านนักบุญเปาโล อัครสาวกแห่งการเดินทางเพื่อประกาศข่าวดีกัน... ปัสกาคือข่าวดี....
     กิจการอัครสาวก เราอ่านต่อเนื่องมาตั้งแต่ปัสกา ยาวนานทีเดียวง.. จริงทีเดียว... เราเห็นว่ากิจการอัครสาวกมากกว่าครึ่งหนึ่งคือเรื่องราวของเปาโล หรือตั้งแต่เขาชื่อ “เซาโล” จอมเบียดเบียน และเราก็ทราบว่า นักบุญลูกาเขียนกิจการอัครสาวกอย่างยอดเยี่ยมด้วยพลังของพระจิตเจ้า ทำให้เราเห็นชีวิตคริสตชนตั้งแต่แรกเริ่มที่เยรูซาเล็ม ทำให้เราเห็นชีวิตของพระศาสนจักรที่เติบโตอย่างรวดเร็ว... โดยเอาศัย “นักบุญเปาโล”


• หลังจากที่ท่านได้กลับใจ.... ท่านเดินทางไม่หยุดหย่อน ทำทุกอย่างเพื่อประกาศพระนามพระคริสตเจ้า... แต่มีเกล็ดหนึ่งของกิจการที่น่าสนใจมาก... วันนี้หลังจากที่เราอ่านเรื่องราวของเปาโลมาพอสมควร และท่านยังมีจดหมายอีก 13 ฉบับ ที่เราได้ยินได้ฟังจนคุ้นเคย... พ่อคิดว่า เราต้องรู้จักเปาโลจริงๆ เสียที พ่อจึงตัดสินใจ อธิบายถึง “การกลับใจของเปาโล” ที่มาจากกิจการอัครสาวกที่เล่าถึงสามครั้งซ้ำๆกันในบริบทที่แตกต่างกัน เรื่องการกลับใจอันดังก้องโลกของเปาโล คือสิ่งที่ลูกาจัดเรียบเรียงไว้ถึงสามแห่งในหนังสือกิจการอัครสกวก 28 บทนั้น... พ่อจะขอนำเสนอความเข้าใจและการไตร่ตรองเรื่องนี้นะครับ เพราะอันที่จริงเรื่องนี้คือหัวใจของหนังสือกิจการอัครสาวก เพราะลูกาเล่า “สามครั้ง”
พี่น้องที่รัก พ่อขอเสนอข้อเขียนที่พ่อเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ให้อ่านดังนี้ครับ ยาวหน่อยนะครับ... แต่มีประโยชน์มากถ้าเราจะได้ทราบเรื่องนี้อย่างดีๆ สักครั้งครับ

ประเด็นสำคัญเรื่องการกลับใจของเปาโล ในหนังสือกิจการอัครสาวก
• หนังสือกิจการอัครสาวกมีความยาว 28 บท ใน 28 บทนี้ลูกาเล่าเรื่องเดียวกันสามครั้งคือในบทที่ 9, 22 และ 26 คือเรื่อง “การกลับใจของเปาโล”
o กจ 9 ลูกาเล่าเรื่องการกลับใจของเปาโล
o กจ 22 ลูกาเล่าว่า เปาโลเล่าเรื่องการกลับใจของตนต่อหน้าชาวยิว
o กจ 26 ลูกาเล่าว่า เปาโลประกาศเรื่องนี้อีกครั้งอย่างสง่าต่อหน้ากษัตริย์อากริปปา

• ข้อสังเกต
o เรื่องนี้เป็นเรื่องยาวพอสมควร
o ทำไมต้องมีเรื่องนี้ถึง 3 ครั้ง ในหนังสือกิจการฯ
o และทั้งสามครั้งดูเหมือนเป็นแก่นสำคัญเพราะชีวิตของเปาโล เรื่องราวของเปาโลทั้งหมดกินเนื้อที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของหนังสือกิจการฯ
o ข้อความที่เน้นเหมือนกันคือ “พระดำรัสของพระเยซูเจ้าที่ตรัสผ่านทางแสงสว่างแรงกล้าขณะที่เซาโลเดินทางไปดามัสกัส จนท่านต้องล้มลงและตาบอดไปสามวัน พระสุรเสียงนั้นตรัสว่า “เซาโล ท่านเบียดเบียนเราทำไม... เราคือเยซูที่ท่านกำลังเบียดเบียน”

ประเด็นสำคัญ จากเรื่องการกลับใจของเปาโล
• เปาโล โดยธรรมชาตินิสัยคือใจร้อนรน “ขณะนั้น เซาโลยังคงเคียดแค้นคุกคามจะฆ่าบรรดาศิษย์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า” เราเห็นความกระตือรือร้นของท่าน เพราะความที่เราทราบว่าท่านเป็นฟาริสี โดยธรรมชาติย่อมต้องยึดธรรมบัญญัติอย่างเคร่งครัดที่สุด รากศัพท์ของคำว่า “ฟาริสี”
• ภาษาฮีบรูมาจากราก “P R Sh” (Parash / Perushime) แปลว่าพวกที่เก็บรักษาธรรมบัญญัติของโมเสสอย่างเคร่งครัด พวกที่เคร่งครัดธรรมบัญญัติของโมเสส และยึดมั่นในขนบธรรมเนียมของชาวยิวมากๆ
• เปาโลมุ่งไปเบียดเบียนถึงเมืองดามัสกัส ทำให้เห็นว่า การเผยแพร่ของความเชื่อถึงพระเยซูเจ้านั้นเติบโตไปอย่างรวดเร็ว บัดนี้ถึงดามัสกัสก็มีศาลาธรรมที่มีคริสตชนอยู่ที่นั่นแล้ว
• ความมุ่งมั่นของเซาโล คือการเบียดเบียนคริสตชน แน่นอนที่สุดเป้าหมายคือเพื่อจัดการกับพวกยิวนอกรีต คือละจากธรรมบัญญัติ ไปติดตามคำสอนของพระคริสตเจ้าที่มาทางบรรดาอัครสาวก ดังนั้นเปาโลมุ่งที่จะ “ได้จับกุมทุกคนที่พบ ไม่ว่าชายหรือหญิงที่ดำเนินชีวิตตามวิถีทาง ของพระคริสตเจ้า แล้วนำไปยังกรุงเยรูซาเล็ม”
• เปาโลได้พบกับพระคริสตเจ้าระหว่างเดินทาง โดยอาศัยภาพลักษณ์ของการประทับอยู่ของพระเจ้าในพันธสัญญาเดิม คือ “แสงสว่างและเสียง”
• ข้อความตอนนี้ต้องอ่านอย่างใส่ใจดีๆ เสียงของพระเยซูที่ตรัส “เซาโล เซาโล ท่านเบียดเบียนเราทำไม”
• พระดำรัสของพระเจ้าต่อท่านทำให้เห็นถึง เทววิทยาที่ลึกซึ้งอย่างยิ่งของลูกา และอันที่จริงเป็นเทววิทยาที่ลึกซึ้งที่สุดของพระศาสนจักร และความเข้าใจที่เราได้รับจากเปาโล ที่ต้องเรียกว่าลึกซึ้งที่สุด คือ การเบียดเบียนพระศาสนจักร “คริสตชน” คือการเบียดเบียนพระคริสตเจ้าเอง นี่คือเทววิทยาเรื่อง “เรื่องพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า”
• เพราะอันที่จริงเซาโลเบียดเบียนทุกคนที่เชื่อ และเดินในหนทางของพระคริสตเจ้า ไม่ว่า “ชายหรือหญิง” เซาโลไม่เคยเบียดเบียนพระองค์โดยตรง แต่ความหมายของ “พระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า” ปรากฎชัดที่สุดที่นี่เอง และหนักแน่นที่สุดในคำสอนของเปาโลเองในจดหมายทั้งหลายของท่าน กล่าวได้ว่า เปาโลเชื่อหนักแน่นที่สุดเรื่อง “พระศาสนจักรคือพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า”
• เพราะเมื่อเซาโลพบพระคริสตเจ้าจึงถามว่า “พระเจ้าข้า พระองค์คือใคร” พระองค์ตรัสว่า “เราคือเยซู ซึ่งท่านกำลังเบียดเบียน”
• เซาโลมองไม่เห็นสิ่งใดเลยเป็นเวลาสามวัน ไม่ได้กินและไม่ได้ดื่ม สำหรับคนปกติถ้าไม่ได้กินดื่มเป็นเวลาสามวัน หรือมองไม่เห็นเป็นเวลาสามวันอาจหมายถึงชีวิต ในที่สุดเซาโล “คนเดิม” นั้น บัดนี้ “ตายจากไปแล้ว” เพราะเราทราบว่า เมื่อเขากลับแลเห็น เขากินและดื่ม และชีวิตของเขาไม่ได้เห็นเช่นเดิมอีกเลย
• อานาเนียที่พระคริสตเจ้าสั่งให้ไปหาเปาโล มีความวิตกกังวลของอานาเนีย สะท้อนให้เราเห็นว่า อันที่จริงเซาโลนั้น น่าจะเป็นอันตรายและเป็นนักเบียดเบียนตัวยงจริงๆ อย่างที่เราทราบจากธรรมชาตินิสัยของเซาโล ดังที่อานาเนียทูลตอบว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าได้ยินหลายคนพูดถึงชายผู้นี้ และได้ยินว่า ที่กรุงเยรูซาเล็มเขาได้ทำร้ายบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์”
• ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้สำหรับพระเจ้า ไม่มีอะไรที่ยากเกินไปสำหรับพระประสงค์ของพระองค์ “จงไปเถิด เพราะชายผู้นี้เป็นเครื่องมือที่เราเลือกสรรไว้เพื่อนำนามของเราไปประกาศแก่คนต่างศาสนา”
• คำทักทายของอานาเนียคือ “มิติแห่งชีวิตคริสตชน” “เซาโลน้องรัก” จากที่อานาเนียรู้ว่าเขาคือศัตรู แต่บัดนี้ โดยทางพระคริสตเจ้า อาศัยพระคริสตเจ้า และโดยเฉพาะอาศัยพระจิตเจ้าแห่งศีลล้างบาป หรือ “การกลับใจ” เปลี่ยนสถานะจากศัตรูตัวฉกาจมาเป็น “น้องรัก”
• เราทราบว่า เรื่อง “ความเป็นพี่น้องแห่งศีลล้างบาป” คือหัวใจแห่งการประกาศของเปาโลโดยตลอดหลังจากที่ท่านกลับใจแล้วอย่างแท้จริง
• อุปสรรคแห่งการแลเห็น บัดนี้ได้หลุดไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว เราคงแน่ใจได้ว่า แสงสว่างสามารถผ่านเข้าสู่สายตาของเซาโลที่แลไม่เห็นมาหลายวันอีกครั้ง อุปสรรคที่เคยทำให้ไม่เห็นพระคริสตเจ้าในเพื่อนพี่น้อง ได้ทำให้ท่านเห็นอีกครั้ง โดยมิตรภาพแท้จริง
• ศีลล้างบาป คือ คำตอบ ทันทีเขาจึงลุกขึ้นรับศีลล้างบาป เมื่อกินอาหารแล้วก็มีกำลังขึ้น เซาโลที่ตายไปแล้วกลับมีชีวิตใหม่ กลับคืนชีพ สามารถลุกขึ้น กินและดื่ม และมีกำลังอีกครั้ง แต่กำลังนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเซาโลที่ออกจากเยรูซาแล็มมาเพื่อเบียดเบียนที่ดามัสกัสอย่างแท้จริง

เปาโล ผู้เบียดเบียนคริสตชนด้วยความเกลียดชังและเอาให้ถึงตาย
• หนังสือกิจการอัครสาวกเล่าเรื่องความจริงจังที่จะเบียดเบียนคริสตชนของเซาโล (ชื่อเดิม) ในการที่นักบุญสเทเฟนถูกทุ่มหินให้ถึงตาย เพราะความเกลียดชังของพวกยิว หนุ่มเซาโลผู้นี้ก็อยู่ที่นั่นเป็นพยานรู้เห็นในการทำร้ายสเทเฟนด้วย
• กิจการอัครสาวกบทที่ 9 เล่าครั้งแรกถึงการเดินทางไปดามัสกัสของเซาโล เป้าหมายคือเพื่อจับใครก็ตามที่เชื่อในพระเยซูเจ้าให้ต้องรับโทษทางศาสนายิว ระหว่างทาง ท่านพบกับพระเยซูเจ้าในแสงสว่างที่ทำให้ท่านล้มลง และเสียงที่ตรัสกับท่าน “เซาโล เซาโล เจ้าเบียดเบียนเราทำไม” และในที่สุดท่านได้รับศีลล้างบาปและมีชีวิตใหม่ในการเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า
• ดังนั้นจากผู้เบียดเบียนตัวยง พระเยซูเจ้าทรงเรียกและเลือกให้เป็นผู้ประกาศพระนามของพระองค์ และท่านเปาโลก็ได้กระทำเช่นนั้นจนตลอดชีวิต แม้จนกระทั่งต้องสละชีวิตเพื่อยืนยันถึงพระเยซูเจ้าองค์นี้ท่านก็ได้กระทำด้วยความกล้าหาญ
• ข้อคิดสำคัญคือ “การเบียดเบียนพระศาสนจักรหรือคริสตชนเท่ากับเป็นการเบียดเบียนพระคริสตเจ้าเอง ‘เซาโล เซาโล เจ้าเบียดเบียนเราทำไม’” พระเจ้าสามารถเรียกและเลือกใช้เสมอสำหรับผู้ที่พระองค์ทรงปรารถนา และไม่มีใครสามารถขัดพระประสงค์ของพระองค์ได้

การไตร่ตรองกับชีวิตคริสตชนของเรา
• พระเจ้าทรงสามารถเรียกและเลือกใช้แม้ผู้ที่อ่อนแอ แต่อาศัยพระองค์เขาสามารถเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและภักดีต่อพระองค์ เพราะเป็นกิจการของพระเยซูเจ้า
• พระศาสนจักรยืนยันความเชื่อ ความจริงใจ และทุ่มเทชีวิตเพื่อการติดตามพระเยซูเจ้า
• เพราะท่านคืออัครสาวก และเป็นอัครสาวกแท้จริงคือ ได้ประกาศว่าพระเยซูคือพระคริสตเจ้า เป็นองค์พระผู้ช่วยให้รอดพ้น
• จากท่านอัครสาวกนี้เอง เราคริสตชนได้เรียนรู้จักพระคริสตเจ้า เรียนรู้จักคำสอนเที่ยงแท้ที่ผ่านมาถึงเรา คำสอนซึ่งเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต และคำสอนนั้นคือ พระคริสตเจ้าเอง
• เราคริสตชนจึงสามารถยืนยันความเชื่อ อาศัยความเชื่อของท่าน เป็นแบบอย่างความร้อนรนของเรา จึงเป็นการฟื้นฟูชีวิตคริสตชนของเราให้เข้มแข็งขึ้น
• ความผิดพลาดในชีวิตนั้นไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต แต่เป็นการเริ่มต้นของความจำเป็นที่เราต้องกลับใจเสมอ เปาโลแม้เคยเดินทางหนึ่งที่ปฏิเสธพระเยซูเจ้า แต่ด้วยการพบกับพระองค์ ด้วยการกลับใจซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ท่านเลือกเดินทางใหม่ ติดตามพระคริสตเจ้าอย่างน่าสรรเสริญ
• สำหรับเราคริสตชน ชีวิตคริสตชน
o ถ้าศีลล้างบาปทำให้เราเป็นบุตรของพระเจ้า เราก็ย่อมเป็นพี่น้องกัน
o แล้วยิ่งกว่านั้น อาศัยศีลกำลังที่เราได้รับ เราได้รับแล้วเราอาจจะลืมไปเสียแล้วอันที่จริง อาศัยพลังที่เราได้รับเราย่อมต้องเป็น “พี่” เป็น “น้อง” กันด้วยไม่ใช่หรือ
o เราสามารถจะกล่าวแก่กันและกันได้อย่างลึกซึ้งเหมือนอานาเนียที่ไปพบเปาโลและโปรดศีลล้างบาปให้เขา ปกมือเหนือเปาโล เราสามารถพูดแก่กันและกัน เรียกว่าและกันได้จริงๆไหมว่า “เซาโลน้องรัก” “พี่น้องคริสตชนที่รัก”
o อะไรที่ทำให้เราทุกคนสามารถเป็นพี่น้องกันแบบเปาโลและอานาเนีย...
o การหันหน้ามาสู่ทางเดินเดียวกัน...Reconciliation หรือการกลับใจ ใช่ไหม...?

• จากเทววิทยาที่ลึกซึ้งของลูกา “เทววิทยาเรื่องศีลล้างบาป” ทำให้ทุกคนเข้าเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร และเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า ที่จดหมายท่านนักบุญเปาโล กล่าวไว้อย่างงดงามและเปี่ยมด้วยความเชื่อว่า “พระศาสนจักรคือพระกายของพระคริสตเจ้า”
• บางทีเราอาจจะต้องยอมรับความจริงพร้อมกันอย่างลึกซึ้งว่า “มีศีลล้างบาปเดียว มีกายเดียว และมีพระคริสตเจ้าเพียงผู้เดียว” เพราะว่าการตระหนักและเชื่อศรัทธาเช่นนี้จะก่อให้เกิดเอกภาพแท้จริงในชีวิตพระศาสนจักร สังฆมณฑลฯ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในในชุมชนวัด และในครอบครัวของเรา
• บางที อาจเป็นเวลาที่เราจะหันมาพิจารณา “Ecclesiology” (เทววิทยาเรื่องพระศาสนจักร) อย่างจริงๆ ว่า พี่น้องคริสตชนทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปคือสมาชิกพระศาสนจักร คือ สมาชิกแห่งพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า และที่สำคัญ เป็น “พี่น้องกัน”
• บางทีการอ่านกิจการอัครสาวก การได้อ่านชีวิตของเปาโลจะช่วยให้เราคิดถึงถ้อยคำที่เป็นชื่อของถนนที่เปาโลต้องไป เมื่อพบพระคริสตเจ้าที่ชื่อว่า “ถนนตรง” พ่อเชื่อว่าจะเป็นการดีถ้าเราจะไตร่ตรองชื่อถนนสายนี้แบบตรงๆ ตามตัวอักษร “ถนนตรง” ชีวิตคริสชนของเรา หรือนักบวช หรือพระสงฆ์ เราน่าจะมุ่งสู่ “ถนนตรง” จะดีไหม ซื่อตรง
• คงจะดีที่สุดถ้าเราเอาเทววิทยาของลูกาเกี่ยวกับเปาโลมาเป็นวิสัยทัศน์ชีวิต และแนวทางของพระศาสนจักร คือ “การกลับใจ” และเปลี่ยนทางเดินใหม่ตามพระบัญชาของพระคริสตเจ้า ซึ่งกฤษฎีกาฯ เรียกร้องให้เราทุกคนให้พระศาสนจักรต้องกลับใจอย่างต่อเนื่อง และก้าวเดินในความศักดิ์สิทธิ์
• ข้อคิดชีวิตของเปาโล คือ ดูเหมือนท่านเป็นต้นแบบของคนที่มีชีวิตพระคริสตเจ้าจริงๆ คือ ท่านเป็นต้นแบบคริสตชนศักดิ์สิทธิ์ และท่านเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมด้วย และทั้งนี้อันที่จริงชีวิตคริสตชนที่ดีและพลเมืองดีต้องไม่เป็นอะไรที่ขัดแย้งกัน
• ขอให้ชีวิตของเปาโล เป็นต้นแบบชีวิตคริสตชนของเรา ชีวิตธรรมทูต เพราะศีลล้างบาปนั้นทำให้เราเป็นธรรมทูตอยู่แล้วนั่นเอง

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก