“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

รำพึงพระวาจาประจำวัน โดยคุณพ่อสมเกียรติ  ตรีนิกร
วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม 2016

สัปดาห์ที่ 7 เทศกาลปัสกา

กจ 19:1-8…

1ขณะที่อปอลโลยังอยู่ที่เมืองโครินธ์ เปาโลเดินทางผ่านที่ราบสูงมาถึงเมืองเอเฟซัส พบกับศิษย์บางคน 2จึงถามว่า “เมื่อท่านทั้งหลายมีความเชื่อนั้น ท่านได้รับพระจิตเจ้าหรือไม่”
เขาตอบว่า “พวกเรายังไม่เคยได้ยินด้วยซ้ำไปว่า มีพระจิตเจ้า”
3เปาโลจึงถามว่า “แล้วท่านได้รับพิธีล้างใดเล่า”
เขาตอบว่า “พิธีล้างของยอห์น”


4เปาโลจึงกล่าวว่า “ยอห์นทำพิธีล้างแสดงการกลับใจ โดยบอกประชาชนให้เชื่อผู้ที่จะเสด็จมาภายหลังคือพระเยซูเจ้า” 5เมื่อเขาเหล่านั้นได้ฟังดังนี้ ก็ได้รับศีลล้างบาปเดชะพระนามของพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า 6เปาโลปกมือเหนือเขา พระจิตเจ้าก็เสด็จลงมาประทับอยู่ด้วย เขาจึงพูดภาษาที่ไม่มีใครเข้าใจ และกล่าวคำทำนาย 7คนกลุ่มนี้มีประมาณสิบสองคน
8เปาโลเข้าไปในศาลาธรรมและเทศน์สอนอย่างกล้าหาญตลอดเวลาสามเดือน ใช้เหตุผลหว่านล้อมผู้ฟังให้เชื่อเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า

อรรถาธิบายและไตร่ตรอง

• พิธีล้างของยอห์นบัปติส ไม่ใช่การประทานพระจิตเจ้าหรือศีลล้างบาปที่ได้รับพระจิตเจ้า พิธีล้างของยอห์นบัปติสเป็นเครื่องหมายการชำระล้าง การกลับใจ การยอมจุ่มตัวในน้ำเป็นเครื่องหมายของการเปลี่ยนแปลง แต่ศีลล้างบาปแท้จริง มาทางพระเยซูคริสตเจ้าผู้ประทานพระจิตเจ้าแก่ทุกคน และทำให้ทุกคนได้รับ “ชีวิตใหม่” กลายเป็น “บุตรของพระเจ้า”

• เปาโลได้ถามประชาชนที่มีความเชื่อว่า พวกเขาได้รับพระจิตเจ้าด้วยหรือไม่ ภาษาต้นฉบับน่าสนใจครับ

• εἰ πνεῦμα ἅγιον ἐλάβετε πιστεύσαντες; (อ่าน เอย พะนิวมา ฮากีออน เอลาเบเต ปิสเตวซานเต) (Act 19:2) รากภาษาที่ใช้กับคำว่า พระจิตเจ้าในที่นี้คือ “πνεῦμα ἅγιον” อ่านออกเสียงว่า “พะนิวมา ฮากีออน” แปลตรงๆว่า “จิตศักดิ์สิทธิ์” หรือ Holy Spirit แบบที่คำภาษาอังกฤษทั่วไปใช้กัน

• พ่อเคยอธิบายคำว่า “พระจิต” มาแล้ว ได้เน้นว่า คือ “ลมหายใจ” คือ “ชีวิต” คือ “พลัง” คือ “ลมแห่งชีวิต” เป็นพลังของพระเจ้าจริงๆ ที่ประทับกับคนที่ได้รับศีลล้างบาปในพระนามของพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า หรือในพระนามของพระเจ้า ตามพระบัญชาของพระเยซูเจ้า คือ ให้โปรดศีลล้างบาป “ในพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต”

• พี่น้องที่รัก วันนี้ พ่ออยากให้เราได้เข้าสู่วันจันทร์ของอาทิตย์สุดท้ายของเทศกาลปัสกา สัปดาห์ที่เจ็ดแล้วครับ... วันนี้เราได้เริ่มสัมผัสกลิ่นอายของพระวาจาเรื่อง “พระจิตเจ้า เรื่องการปกมือ” พ่อคิดว่าเป็นโอกาสดีครับ เป็นโอกาสตลอดอาทิตย์นี้ที่เราจะเตรียมให้อาทิตย์สุดท้ายของปัสกาของเราเป็นการเตรียมสมโภชพระจิตเจ้าในวันอาทิตย์หน้าที่เราเรียกว่า “วันสมโภชพระจิตเจ้า”

• วันนี้พ่ออยากจะให้เราได้รู้จักภาพลักษณ์ของพระคัมภีร์ เรื่องการมอบพระจิตเจ้าสักหน่อยครับ
o “การเป่าลม” พลังกระแสลม เป็นการมอบพระจิตเจ้า พระเยซูเคยเป่าลมเหนือบรรดาศิษย์ ทำให้พวกเขาได้รับพระจิตเจ้า ตามที่เราทราบจากพระวรสารนักบุญยอห์น พระองค์เสด็จกลับคืนชีพแล้วมาหาพวกเขา เป่าลมเหนือพวกเขา และตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้า” ใช่ครับ การเป่าลมคือการมอบ “พลัง” พ่อจำได้ว่า ตอนพ่อเป็นเด็กๆ เมื่อเราล้ม เจ็บ หัวโน หัวโขก หรือเจ็บตรงไหนก็ตาม ผู้ใหญ่โอ๋เราปลอบเรา และก็สิ่งที่นิยมทำกันเสมอคือ “เปาลม” (โอมเพี้ยง) เปาโลมตรงที่เจ็บ แล้วเด็กๆที่กำลังร้องไห้ก็จะรู้สึกว่าหาย รู้สึกว่าได้พลังใหม่ทันที... การเป่าลม เป็นเครื่องหมายของพลังจริงนะครับ ประสบการณ์บอก หรือเมื่อเราตื่นเต้น เราหายใจลึกๆ ระบายลมหายใจช้าๆ ก็มีพลังได้ครับ...
o “การปกมือ” เป็นการถ่ายทอดพลังเช่นกัน เราจะรู้สึกดีเมื่อเราได้รับการวางมืออ่อนโยน ปกบนศีรษะของเรา ตอนเป็นเด็ก เวลาเจ็บก็เช่นกัน พ่อแม่จะอุ้มปลอบใจ เอามือวางๆนวดๆบนศีรษะ เด็กๆก็รู้สึกได้รับพลัง... ความจริง เมื่ออาทิตย์ที่แล้วพ่อไปเขมรมาครับ พ่อถวายมิสซาให้ซิสเตอร์ที่นั่น เมื่อมิสซาจบ ซิสเตอร์มิชชันนารีไทย ก็ขอให้พ่ออวยพรเป็นพิเศษแต่ละคน พ่อก็เดินไปหาพวกเขาทีละคน ปกมือวางบนศีรษะของเขาปกมือแน่นๆ และภาวนาให้พวกเขาร่วมทั้งคุณพ่อรุ่นน้องที่ไปด้วยกันก็คุกเข่าขอให้พ่อปกมืออวยพรให้ด้วย.. และเมื่อพ่อจบที่คุณพ่อรุ่นน้องคนนั้น พ่อก็คุกเข่าลงขอให้เขาภาวนาอวยพรและปกมือบนศีรษะให้พ่อด้วย... เมื่อเราได้รับการปกมือ ภาวนาและวอนขอพระเจ้า พ่อบอกตรงๆ รู้สึกดีจริงๆ รับรู้ได้ถึงความอ่อนโยนและพระพรที่ลงมาบนศีรษะของเรา... พ่อไม่แปลใจที่เวลาที่พ่อปกมือพ่อก็รู้สึกแบบนั้น อยากให้เขาได้รับพ่อ ภาวนาขอพรพระเจ้าเพื่อเขา การปกมือเป็นการมอบพลังจริงๆด้วยครับ รู้สึกและรับรู้ได้อย่างอ่อนโยนและทรงพลัง

• พ่อไม่แปลกใจที่พระวาจาวันนี้เราได้อ่าน และได้พบว่า เมื่อประชาชนได้ฟังเปาโล และได้เชื่อในพระเยซูเจ้า พวกเขาได้รับ “การปกมือ” คือ “ได้รับพระจิตเจ้า” และพวกจึงพร้อมสรรพที่จะออกไปประกาศข่าวดีด้วยพลังของพระจิตเจ้า “เปาโลปกมือเหนือเขา พระจิตเจ้าก็เสด็จลงมาประทับอยู่ด้วย เขาจึงพูดภาษาที่ไม่มีใครเข้าใจ และกล่าวคำทำนาย”

• ประเด็นหนึ่งที่ยากจะเข้าใจสักหน่อย... ภาษาที่พวกเขาพูดหลังจากได้รับการปกมือ ภาษาที่ไม่มีใครเข้าใจได้ อันนี้แปลกจังเลยครับ เคยมีคนบอกพ่อว่า มีการปกมือในปัจจุบัน และก็มีการล้มพับหลับไป หรือมีการพูดภาษาแปลกๆที่ มีคนบอกพ่อว่า มีคนที่ได้รับพระจิตจากการปกมือและพูดภาษา เขาบอกว่าเป็นภาษาฮีบรู... อยากให้พ่อไปฟัง ไปพิสูจน์ว่าเป็นภาษาฮีบรูจริงๆ หรือเปล่า พ่อก็ไม่เคยไป ไม่อยากไป และไม่ค่อยมั่นใจว่าจำเป็นต้องไปพิสูจน์เรื่องนี้

• พ่อขอดูภาษาพระคัมภีร์ที่เขียนอย่างดีๆหน่อยครับ
o “เขาจึงพูดภาษาที่ไม่มีใครเข้าใจ และกล่าวคำทำนาย” ภาษากรีกต้นฉบับ คือ
o “ἐλάλουν τε γλώσσαις καὶ ἐπροφήτευον” อ่านว่า “เอลาลูน เต โกลสซัยส์ กัย เอโปรเฟเตวออน” เราเห็นสองสามคำสำคัญครับ
1. ἐλάλουν เอลาลูน แปลว่า “พูด”
2. γλώσσαις โกลสซัยส์ แปลว่า “ลิ้นหรือภาษา” ในรูปพหูพจน์
3. ἐπροφήτευον เอโปรเฟเตวออน แปลว่า “ทำนาย”
o ข้อสังเกต ไม่มีคำในภาษาต้นฉบับที่บอกว่า “ภาษาที่ไม่มีใครเข้าใจ” ทำให้เห็นว่า คำแปลภาษาไทยของเราคลาดเคลื่อนจากต้นฉบับภาษากรีกพอสมควร
o ถ้าจะสรุปคงต้องเน้นว่า พวกเขาพูดภาษาต่างๆได้... น่าจะดีกว่า เพราะไปสอดรับกับวันเปนเตกอสเต เมื่อบรรดาศิษย์ได้รับพระจิตเจ้าสัณฐานเหมือนลิ้นไฟ พวกเขาสามารถพูดภาษาที่คนฟังได้ยินเป็นภาษาของตน แม้ว่าประชาชนจะมาจากทั่วไปหมดก็ตาม “เมื่อวันเปนเตกอสเตมาถึง บรรดาศิษย์ทุกคน มาชุมนุมในสถานที่เดียวกัน ทันใดนั้นมีเสียงจากฟ้าเหมือนเสียงลมพัดแรงกล้า ทุกคนที่อยู่ในบ้านได้ยิน เขาเห็นเปลวไฟลักษณะเหมือนลิ้น แยกไปอยู่เหนือศีรษะของเขาแต่ละคน ทุกคนได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม และเริ่มพูดภาษาอื่น ๆ ตามที่พระจิตเจ้าประทานให้พูด ขณะนั้นที่กรุงเยรูซาเล็มมีชาวยิวผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระเจ้า มาจากทุกชาติทั่วโลก เมื่อประชาชนได้ยินเสียงนี้ จึงมาชุมนุมกันจำนวนมาก รู้สึกฉงนสนเท่ห์เพราะแต่ละคนได้ยินคนเหล่านี้พูดภาษาของตน” (ดู กจ 2:1-6)
1. “ลม” และ “พระจิตเจ้า” เป็นคำเดียวกันในภาษาฮีบรู กรีกและละติน
2. “เปลวไฟ” ลักษณะเหมือนลิ้น (อสย 5:24; เทียบ อสย 6:6-7) เป็นสัญลักษณ์หมายถึงการพูดเป็นภาษาต่าง ๆ

• ดังนั้น พ่อสรุปว่า การรับพระจิตเจ้า ทำให้บรรดาคริสตชนสามารถพูดภาษาต่างๆที่ทุกคนเข้าใจได้ บรรดาศิษย์พูดจนทุกคนต่างได้ยินเป็นภาษาของตน คือ “เข้าใจได้”

• พ่อคิดต่อนิดหนึ่งครับ ภาษาอะไรที่พูดแล้วทำให้ทุกคนเข้าใจได้.. พวกเขาพูดได้ทุกภาษากระนั้นหรือ.. คนที่ไดรับพระจิตเจ้าแล้วพูดได้ทุกภาษาหรือพูดภาษาได้มากมายกระนั้นหรือ น่าคิดจริงๆ หนังกิจการย้ำว่า ทุกคนเข้าใจ หนังสือกิจการอ้างอิงคนที่ได้ฟังบรรดาอัครสาวกพูดและเข้าใจในภาษาของตน.. มีหลายชาติเหลือเกิน ดูสิครับ...
o “เราชาวปาร์เธีย ชาวมีเดีย และชาวเอลาม บางคนอาศัยอยู่ในเขตเมโสโปเตเมีย แคว้นยูเดีย แคว้นคัปปาโดเซีย แคว้นปอนทัสและแคว้นเอเชีย แคว้นฟรีเจียและแคว้นปัมฟีเลีย บางคนมาจากประเทศอียิปต์และเขตของประเทศลิเบีย รอบ ๆ เมืองไซรีน บางคนมาจากกรุงโรม ทั้งชาวยิวและผู้กลับใจเข้านับถือลัทธิยิวบางคนเป็นชาวเกาะครีตและชาวอาหรับ พวกเราได้ยินคนเหล่านี้ประกาศกิจการอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าเป็นภาษาของเรา”” (กจ 2:9-11)
o ยากที่จะเข้าใจว่า บรรดาศิษย์พูดภาษาเหล่านี้ได้อย่างไร...

• ยังยากอยู่ครับ ที่จะบอกว่า พลังของพระจิตเจ้าภาษาที่ทำให้ทุกคนได้ยิน และเข้าใจกันทุกอย่าง เป็นภาษาของตน.. อธิบายยากจัง... พ่อเสนอความคิดต่ออีกนิด ความเข้าใจของคนเราจะง่ายมากถ้าเราได้สัมผัสกับ “ผล” ในพระคัมภีร์มีตอนที่เปาโลเน้นสอนกับชาวกาลาเทีย “ผลของพระจิตเจ้า” คือ อะไรบ้าง ลองดูสิครับ
o “ส่วนผลของพระจิตเจ้าก็คือความรัก ความชื่นชม ความสงบ ความอดทน ความเมตตา ความใจดี ความซื่อสัตย์ ความอ่อนโยน และการรู้จักควบคุมตนเอง” (กท 5:22-23)
o พ่อคิดว่า สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่มนุษย์เข้าใจได้ทุกชาติทุกภาษาเลยครับ.. จริงไหมครับ “ความรัก ความชื่นชม ความสงบ ความอดทน ความเมตา....”

• สงสัยว่าพ่อได้คำตอบแล้วล่ะครับ
o ภาษาของคนที่ได้รับพระจิตเจ้า ที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าใจได้หมด สัมผัสได้กันทั่วหน้า นั่นคือ ภาษาของพระจิตเจ้า คือ “ความรัก...” และทั้งเก้าประการที่เป็น “ผลของพระจิตเจ้า” ที่เปาโลเน้นสอนไว้นี่เองก็เป็นได้
o พี่น้องที่รักครับ พ่อขอให้เราได้รับพระจิตเจ้า ได้รับ “ผลของพระจิตเจ้า” จนกระทั่งทุกคนรอบข้างเราสัมผัสพระเจ้าในพระเจ้าได้จริงๆ เข้าใจได้ถึง ความรัก ความชื่นชม ความสงบ ความอดทน ความเมตตา ความใจดี ความซื่อสัตย์ ความอ่อนโยนและการรู้จักควบคุมตนเองของเราคริสตชนทุกคนนะครับ... ขอพระเจ้าอวยพรครับ

 

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก