“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

รำพึงพระวาจาประจำวัน โดยคุณพ่อสมเกียรติ  ตรีนิกร
วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน 2016

สัปดาห์ที่ 5 เทศกาลปัสกา 

กจ 15:7-21…..
         เปโตรกล่าวว่า “พี่น้องทั้งหลาย ท่านรู้แล้วว่า ตั้งแต่แรกเริ่ม พระเจ้าทรงเลือกสรรข้าพเจ้าในหมู่ท่านทั้งหลาย เพื่อให้คนต่างศาสนาได้ฟังพระวาจาที่เป็นข่าวดี จากปากของข้าพเจ้าและมีความเชื่อ 8พระเจ้าผู้ทรงล่วงรู้จิตใจ ทรงเป็นพยานยืนยันแก่คนต่างศาสนาโดยประทานพระจิตเจ้าให้เขาเหมือนกับที่ประทานให้พวกเรา 9พระองค์มิได้ทรงลำเอียง แต่ทรงชำระจิตใจของเขาให้บริสุทธิ์ ด้วยความเชื่อ 10บัดนี้ ทำไมท่านทั้งหลายจึงทดลองพระเจ้า นำแอกที่ทั้งบรรพบุรุษของเราและพวกเราแบกไม่ไหวมาวางบนคอของบรรดาศิษย์ 11เราเชื่อว่าเราได้รับความรอดพ้นอาศัยพระหรรษทานของพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้า เช่นเดียวกับคนต่างศาสนาด้วย”


12ทุกคนในที่ประชุมนิ่งเงียบ ฟังบารนาบัสกับเปาโลเล่าเรื่องเครื่องหมายอัศจรรย์และปาฏิหาริย์ที่พระเจ้าทรงกระทำในหมู่คนต่างศาสนาโดยผ่านตน
13เมื่อทั้งสองคนเล่าจบแล้ว ยากอบจึงพูดว่า “พี่น้องทั้งหลาย จงฟังข้าพเจ้าเถิด 14ซีโมน เล่าแล้วว่า ตั้งแต่แรกพระเจ้าทรงพระกรุณาเลือกสรรประชากรชาติหนึ่งจากนานาชาติให้เป็นประชากรของพระองค์ 15การกระทำเช่นนี้สอดคล้องกับถ้อยคำของบรรดาประกาศก ตามที่มีเขียนไว้ ในพระคัมภีร์ว่า
16หลังจากนี้ เราจะกลับมา
และจะซ่อมแซมกระโจมที่พังลงของกษัตริย์ดาวิด
จะซ่อมแซมสิ่งปรักหักพังของกระโจมนี้
และจะตั้งใหม่ให้ตรง
17เพื่อให้มนุษย์อื่น ๆ แสวงหาองค์พระผู้เป็นเจ้า
พร้อมกับนานาชาติที่เราเรียกว่าเป็นของเรา
องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสเช่นนี้ และทรงกระทำสิ่งเหล่านี้
18ซึ่งเป็นที่รู้กันตลอดมาแล้ว
19” ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า ไม่ควรก่อความยุ่งยากแก่คนต่างศาสนาที่กลับใจมาหาพระเจ้า 20ควรเขียนจดหมายไปบอกเขาให้งดเว้นการกินเนื้อสัตว์ที่ถวายแก่รูปเคารพแล้ว ให้งดเว้นการแต่งงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และงดเว้นการกินเลือดและเนื้อสัตว์ที่ถูกรัดคอให้ตาย 21กฎเหล่านี้ของโมเสสเป็นที่รู้จักกันทั่วทุกเมืองตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว เพราะมีผู้ประกาศในศาลาธรรมทุกวันสับบาโต

อรรถาธิบายและไตร่ตรอง
• “สังคายนาที่กรุงเยรูซาเล็ม”... สังคายนาครั้งแรกของพระศาสนจักร เมื่อมีปัญหา มีความยากลำบาก ก็หาทางออกร่วมกัน... “สังคายนา” “General Council” วันนี้พ่อขอให้ความรู้เกี่ยวกับการประชุมสังคายนา และการประชุมสมัชชาสักหน่อยครับ
o สังคายนาที่เยรูซาเล็ม เป็นการสังคายนาที่เกิดขึ้น ในช่วงปี ค.ศ. 50 คือประมาณ 20 ปีหลังจากพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพ หนังสือกิจการอัครสาวกบทที่ 15 ทำให้เราได้รู้ว่ามีการประชุมถกเถียงกันเรื่องการกลับใจของคนต่างชาติ ว่าจะต้องถือธรรมเนียมเรื่องการเข้าสุหนัตของชาวยิวหรือไม่ ซึ่งการเข้าสุหนัตเป็นกฎหมายหรือข้อเรียกร้องที่มาจากพระเจ้า เทียบ หนังสือปฐมกาลบที่ 17:14 กฎข้อนี้ต้องดำรงอยู่ตลอดไปเทียบ ปฐก 17:13-19
o หนังสือกิจการวันนี้เราพบว่าสาระสำคัญ คือ ที่ประชุมได้ฟังเปาโลกับบารนาบัส “การฟัง” จึงเป็นหัวใจของการประชุมหาทางออก” แต่ที่สุด ยากอบได้ยืนขึ้นกล่าวในฐานะหัวหน้าที่เยรูซาเล็ม... เมื่อยากอบกล่าว ทุกคนก็ได้ “ฟัง” เช่นกัน การฟังเสียงของการประชุม การฟังกันและกัน และการฟังผู้ใหญ่ในที่สุด คือ หัวใจของพระศาสนจักรในการแก้ปัญหา หรือการหาแนวทางเดินรวมกัน

• (Synod ปัจจุบันแปลคำนี้ว่า “สมัชชา”) เป็นการประชุมเช่นเดียวกับสังคายนา แต่เล็กกว่า ประเด็นที่กระทำนั้นย่อยกว่าและเน้นบางเรื่องเป็นพิเศษ
o คำนี้มีรากภาษามาจากภาษากรีก คำนี้น่าสนใจครับ
1. Syn แปลว่า “ร่วมกัน ไปด้วยกัน together”
2. hodos ภาษากรีกแปลว่า “ถนน หนทาง ทางเดิน”
3. ดังนั้น คำว่า Synod หรือ Syn+hodos จึงแปลว่า การหาทางเดินร่วมกัน เดินทางร่วมกันบนถนนสายเดียวกัน เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน

o เมื่อพระศาสนจักรมีปัญหา มีความยากลำบาก หรือมีความจำเป็นต้องปรับตนเอง แก้ไขบางสิ่งที่ไปไม่ได้ ไม่ราบรื่น และโดยเฉพาะการที่ต้องการเน้นการพัฒนาการอภิบาลเป็นเป็นบางเรื่องเป็นพิเศษ พระศาสนจักรก็จะจัดให้มีการหาทางเดินร่วมกัน ประชุมเพื่อหาทางที่จะเดินหน้าด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกัน...

• กิจการอัครสาวกบทที่ 15 เป็นการเล่าถึงปัญหาที่ยุ่งยากสำหรับคนต่างศาสนาด้วยเรื่องธรรมเนียมของชาวยิว เพราะคริสตชนพวกแรกเป็นชาวยิวที่ติดตามพระคริสตเจ้า พวกเขามีธรรมเนียมยิวมากมายที่ต้องถือ

• และเมื่อศาสนาเติบโต เมื่อการประกาศข่าวดีของเปาโลกับบาร์นาบัสนำความเชื่อไปสู่คนต่างศาสนามากมาย และคนต่างชาติต่างศาสนาต้องการกลับใจมาเป็นคริสตชน... ผลตามมาก็คือปัญหาเรื่องธรรมเนียมของชาวยิว เป็นที่ยากลำบากสำหรับคนต่างศาสนาว่าต้องถือธรรมเนียมยิวด้วยหรือไม่..

• ในเมื่อคริสต์ศาสนาเป็นหนทางใหม่ ไม่ใช่ศาสนายิว แต่ชาวยิวที่กลับใจเป็นคริสตชนกลับไม่สามารถยอมรับคนต่างศาสนาที่จะเข้ามาเป็นคริสตชน เชื่อในพระเยซูเจ้า พวกเขาจำเป็นต้องรับธรรมเนียมยิวด้วย ชาวยิวไม่ยอมรับคนต่างศาสนาที่ไม่เป็นยิวไม่ได้ หรือไม่ถือธรรมเนียมยิวไม่ได้ โดยเฉพาะธรรมเนียมเรื่องการเข้าสุหนัต

• ปัญหาเป็นคืออะไรจริง เราต้องอ่านกิจการบทที่ 15 ช่วงแรกก่อนและเราจะเห็นและอ่านต่อบทอ่านในวันนี้ได้อย่างดีครับ อ่านกิจการ 15:1-6 นี้ก่อนครับ
o “คริสตชนชาวยิวบางคนลงมาจากแคว้นยูเดีย และสอนบรรดาพี่น้องว่า “ถ้าท่านทั้งหลายมิได้เข้าสุหนัตตามธรรมประเพณีของโมเสส ท่านจะรอดพ้นไม่ได้” เปาโลและบารนาบัสไม่เห็นด้วย จึงโต้แย้งกับเขาเหล่านั้นอย่างรุนแรง มีการตกลงกันให้เปาโลและ
o บารนาบัสพร้อมกับพี่น้องบางคนขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อปรึกษาปัญหานี้กับบรรดา อัครสาวก และบรรดาผู้อาวุโส เมื่อพระศาสนจักรจัดให้เขาเหล่านั้นออกเดินทางไปแล้ว เขาเดินทางผ่านแคว้นเฟนีเซียและสะมาเรีย เล่าเรื่องการกลับใจของคนต่างศาสนา ทำให้พี่น้องทุกคนชื่นชมอย่างยิ่ง
o เมื่อมาถึงกรุงเยรูซาเล็มเขาได้รับการต้อนรับจากพระศาสนจักร บรรดา อัครสาวกและบรรดาผู้อาวุโส บารนาบัสและเปาโลเล่าเรื่องต่าง ๆ ที่พระเจ้าทรงกระทำโดยผ่านตน ผู้มีความเชื่อบางคนที่เคยอยู่ในกลุ่มชาวฟาริสีลุกขึ้นกล่าว ว่า “ต้องให้คนต่างศาสนาเข้าสุหนัต และปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของโมเสส”
o บรรดาอัครสาวกและผู้อาวุโส จึงประชุมกันเพื่อพิจารณาปัญหานี้ หลังจากโต้เถียงกันมากแล้ว เปโตรลุกขึ้น กล่าวแก่ที่ประชุม”

• เราจะเห็นว่า พระศาสนจักรตั้งแต่แรกเมื่อมีปัญหาที่เป็นความขัดแย้ง พระศาสนจักรรวมกันที่เยรูซาเล็ม กลับไปหาจุดกำเนิด กลับไปหาผู้ใหญ่ที่เยรูซาเล็มเพื่อประชุมหาทางออกร่วมกัน

• แน่นอนมีการถกเถียงกัน และมีการตัดสินจากผู้นำหรือผู้มีอำนาจหน้าที่ เปโตรได้กล่าวต่อที่ประชุม และยากอบสังฆราชที่เยรูซาเล็มก็ยืนขึ้นและกล่าวกับที่ประชุม หลังจากได้ฟังอย่างถี่ถ้วนและได้พิจารณาแล้วจึงมีการตัดสินอย่างรอบคอบ และมีประกาศให้พระศาสนจักรทั้งมวลได้ทราบ....

• นี่เป็นวิธีของพระศาสนจักรเสมอมาในการตัดสินและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น... พระศาสนจักรเลือกใช้วิธีการการหาทางเดินร่วมกัน ทำสังคายนาเพื่อพัฒนาตนเอง เพื่อปรับเปลี่ยนตนเองเสมอ... นี่คือหนทางของพระศาสนจักรของเราครับ

• การประชุมสังคายนา เป็นหนทางแห่งการหาทางออกที่อ่อนโยนและเปี่ยมด้วยความเป็นหนึ่งเดียว...
o เปาโลกับบาร์นาบัสในที่สุดได้รับคำตอบจากผู้ใหญ่ที่เยรูซาเล็ม ตรงนี้เราต้องอ่านพระคัมภีร์วันนี้ครับ จะเห็นคำตอบนั้นในที่สุดไม่จำเป็นต้องถือธรรมเนียมมากมาย แต่เท่าที่จำเป็นก็พอ เพื่อให้การประกาศข่าวดีได้เติบโตต่อไปยังคนต่างศาสนาอย่างไม่ต้องมีห่วง หรือต้องมี “แอก” ของชาวยิวอีกต่อไป

• พี่น้องอ่านพระคัมภีร์ตอนนี้สิครับ เราจะได้เห็นวิธีการ การฟัง การแก้ปัญหา และการตัดสินโดยผู้ใหญ่ของเยรูซาเล็ม เป็นรูปแบบของพระศาสนจักรในการแก้ปัญหาและหาทางเดินร่วมกันอย่างดีครับ
o อันที่จริงต้องบอกว่า โชคดีสำหรับพวกเรา สังคายนาที่เยรูซาเล็มได้ยกเรื่องการเข้าสุหนัตออกไป มิฉะนั้น พวกเราคริสตชนรวมทั้งพ่อเองด้วย ผู้ชายทุกคนที่เป็นคริสตชนคงโดนเข้าสุหนัตกันหมด ต้องบอกว่าดีครับ รอดไป และคงมีธรรมเนียมอื่นๆที่ไม่จำเป็นอีกมากมายที่กลายเป็น “แอก” หรือเป็น “ภาระ” ที่เราคริสตชนต้องแบกกันอย่างมากมาย ขอบคุณพระเจ้าที่พระศาสนจักรของเรามีคำสอน มีสังคายนา มีสมัชชา มีกระประชุมเพื่อแก้ปัญหา เพื่อพัฒนา ให้เดินทันกระแสโลก และรับการท้าทายของกระแสโลกแต่ละยุคสมัยเสมอมา ขอบคุณพระเจ้าที่หลักของเราคริสตชน คือ “ความเชื่อ” และ “ความเชื่อฟัง” เสมอมา

• สังคายนาคือการหาทางออกด้วยการประชุม ด้วยการปรับเปลี่ยนชีวิตของพระศาสนจักร พ่อจำได้ว่า เมื่อตอนที่นักบุญพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ทรงเรียกให้มีสังคายนาวาติกันครั้งที่สองนั้น ก็เป็นการกระทำที่น่าทึ่งมากครับ เวลานั้นเหมือนกับว่าพระศาสนจักรของเราปิดตัวเองมานาน แม้พระองค์ยามนั้นจะทรงชรามากแต่ทรงเปี่ยมด้วยปรีชาญาณ

• พระองค์ประการว่า จำเป็นและถึงเวลาที่เราต้องเปิดหน้าต่างของพระศาสนจักรเพื่อให้อากาศบริสุทธิ์ (Fresh Air) ได้ไหลผ่านเข้ามาสู่พระศาสนจักรบ้าง.... นี่คือวิธีการของพระศาสนจักรเสมอ เปิดตนเอง ปรับปรุงเมื่อถึงเวลา และพัฒนาอยู่เสมอ....

• พี่น้องที่รักพ่อพบความจริงและอยากจะเน้นสุดท้ายนี้ว่า สังคายนาคือวิธีการของพระศาสนจักรส่วนรวมก็จริง เป็นแนวทางที่งดงาม ดังนั้น

o การฟื้นฟู การปรับปรุง การเปลี่ยนแปลงที่ดี และงดงาม การกล้าฟัง กล้าคิด กล้านบนอบเชื่อฟังน่าจะเป็นวิธีการของเรา ทั้งในระดับส่วนตัวและส่วนรวม คือทุกคนเช่นเดียวกันในระดับสังคม ชุมชนวัน ครอบครัว
o การพูดคุยด้วยความรักและความเป็นหนึ่งเดียวพร้อมกับความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและแก้ไขย่อมเป็นวิธีการที่ดีเสมอ เพื่อหาทางเดินร่วมกัน เพื่อเดินไปด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกันนั่นเอง...

• พระสันตะปาปาฟรังซิสเพิ่งเตือนเราใน พระสมณะสาสน์เตือนใจ “ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร” (Evangelii Gaudium)
o ให้เราทุกคนกล้าเปลี่ยนแปลง กล้าทบทวน “ตนเอง” เริ่มจากตนเอง พระสันตะปาปาก็เริ่มจากพระองค์เองเหมือนกัน
o กล้าเปลี่ยนแปลเพื่อความยินดีแห่งพระวรสารจะไปถึงทุกคนมากกว่าที่เคย... พระองค์ไม่อยู่ในวังพระสันตะปาปาอย่างที่เคย แต่ไปอยู่ร่วมกันคนอื่นๆ ในวาติกัน ที่บ้านมาร์ธาต่อไป ถวายมิสซาต่อๆ กับทุกคนๆในบ้าน... น่าทึ่งครับ และพระองค์สอนเตือนใน EG อย่างน่ารักดังนี้ครับ
o คริสตชนทุกคน ทุกคนจริงๆ ต้องรู้สึกให้ได้ถึงความจำเป็น รู้สึกจริงๆว่าต้องนำความรักของพระคริสต์ไปยังผู้อื่น และต้องทำให้เป็น “พันธกิจถาวร” ของเราทุกคน เราต้องเอาชนะความยากของปัจจุบัน คือ โลก กระแสโลก ที่หยิบยื่นปัจเจกนิยมให้กับเรา แต่เราต้องเอาชนะด้วยการออกไปเพื่อนำความรักไปจริงๆ (EG 2)
o ต้องค้นพบหนทางใหม่ที่สร้างสรรค์ โดยไม่ทำให้ข่าวดีของพระเยซูเจ้าต้องถูกเก็บเงียบไปเป็นอันขาด (EG 11)
o การฟื้นฟูนี้ พระศาสนจักรต้องไม่กลัวที่จะตรวจสอบทบทวนตนเอง เจาะลึกถึงตนเองจริงๆ ถึงธรรมเนียมชีวิตที่เป็นๆกันอยู่ อะไรก็ตามที่ขัดหรือไม่ตรงกับหัวใจของพระวรสาร แม้หลายอย่างอาจจะหยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์แล้วก็ต้องกล้าทบทวนจริงๆ (EG 43)

          พี่น้องที่รัก การฟื้นฟู การสังคายนาหรือการประชุมสมัชชาฯต่างๆ ก็เพื่อความก้าวหน้าเสมอ พ่อเห็นชัดและศรัทธาในความจริงที่ว่าพระศาสนจักรของเราเติบโตเสมอมา นับตั้งแต่เยรูซาเล็มจนปัจจุบัน ดังนั้นพ่อคิดว่า
1. เราคริสตชนควรที่จะรักดังที่พระคริสต์ทรงรักเราเสมอ
2. กล้าหาญ ที่จะรักต่อไปอย่างไร้พรมแดนของความรักจริงๆ
3. ต้องไม่กลัวที่จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเสมอเพื่อความดี ตามคำสอนและแนวทางของพระศาสนจักรเสมอนะครับ
4. ให้เรา รัก ฟัง เชื่อฟัง และเสวนาด้วยความรัก เพื่อความดีและความรักของพระคริสตเจ้าจะเติบโตในชีวิตเราเสมอไป ขอพระเจ้าอวยพรทุกท่านครับ

 

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก