“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

รำพึงพระวาจาประจำวัน โดยคุณพ่อสมเกียรติ  ตรีนิกร
วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน 2016

สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลปัสกา 

กจ 13:13-25…..
13เปาโลและเพื่อนร่วมทางแล่นเรือจากเมืองปาโฟสถึงเมืองเปอร์กาในแคว้นปัมฟีเลีย ที่นี่ยอห์นแยกจากเขากลับไปกรุงเยรูซาเล็ม 14ส่วนคนอื่น ๆ เดินทางจากเมืองเปอร์กาต่อไปถึงเมืองอันทิโอกในแคว้นปิสีเดีย ครั้นถึงวันสับบาโตเขาเข้าไปนั่งในศาลาธรรม 15เมื่ออ่านธรรมบัญญัติและหนังสือประกาศกแล้ว บรรดาหัวหน้าศาลาธรรมก็ส่งคนไปเชิญ เปาโลและ บารนาบัสพูดว่า “พี่น้อง ถ้าท่านมีถ้อยคำเตือนใจ ประชาชน ก็จงพูดเถิด”


16เปาโลยืนขึ้น โบกมือ ให้คนทั้งหลายเงียบแล้วพูดว่า
“ชาวอิสราเอล และท่านทั้งหลายผู้ยำเกรงพระเจ้า จงฟังข้าพเจ้าเถิด 17พระเจ้าของประชาชนอิสราเอล นี้ทรงเลือกบรรพบุรุษของเรา และทรงยกย่องประชาชนขณะที่ยังอยู่ในประเทศอียิปต์ พระองค์ทรงสำแดงพระอานุภาพยิ่งใหญ่นำเขาออกจากแผ่นดินนั้น 18และเอาพระทัยใส่ดูแลเขาในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลาประมาณสี่สิบปี 19แล้วพระองค์ทรงทำลายชนชาติเจ็ดชาติในแผ่นดินคานาอันและประทานแผ่นดินนั้นให้เขาเป็นมรดก 20เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในระยะเวลาประมาณสี่ร้อยห้าสิบปี}

หลังจากนั้น พระเจ้าประทานผู้วินิจฉัยให้ปกครองเขา จนถึงประกาศกซามูเอล 21เมื่อประชาชนขอให้มีกษัตริย์ พระองค์ก็ประทานซาอูลบุตรของคิช จากตระกูลเบนยามิน ให้เป็นกษัตริย์ปกครองอยู่เป็นเวลาสี่สิบปี 22เมื่อทรงปลดกษัตริย์ซาอูลจากตำแหน่งแล้ว ก็ทรงแต่งตั้งดาวิดให้เป็นกษัตริย์ปกครองประชากรอิสราเอล ดังที่มีคำยืนยันในพระคัมภีร์ว่า “เราพบดาวิดบุตรของเจสซี เขาเป็นคนที่เราพอใจ เขาจะทำตามความประสงค์ของเราทุกประการ” 23จากเชื้อสายของกษัตริย์ดาวิดนี้ พระเจ้าประทาน พระเยซูเจ้าเป็นผู้ช่วยอิสราเอลให้รอดพ้นตามพระสัญญา 24ยอห์นเตรียมรับเสด็จพระองค์ ประกาศพิธีล้างให้ประชาชนอิสราเอลทั้งปวง กลับใจ 25ขณะที่ยอห์นกำลังกระทำภารกิจของตนให้สำเร็จไป เขากล่าวว่า “ข้าพเจ้ามิได้เป็นอย่างที่ท่านทั้งหลายคิด แต่บัดนี้ มีผู้หนึ่งกำลังมาภายหลังข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าไม่สมควรจะแก้สายรัดรองเท้าของเขา”

อรรถาธิบายและไตร่ตรอง
• “บรรดาหัวหน้าศาลาธรรมก็ส่งคนไปเชิญ เปาโลและ บารนาบัสพูดว่า “พี่น้อง ถ้าท่านมีถ้อยคำเตือนใจ ประชาชน ก็จงพูดเถิด””

• พระวาจาของพระเจ้าจากหนังสือกิจการวันนี้ เมื่อเปาโลมีโอกาสปราศรัยกับพี่น้องชาวยิวที่ศาลาธรรมของชาวยิวที่ห่างไกลจากเยรูซาเล็ม คือ ที่เมืองอันทิโอกแคว้นปิสีเดีย...
o ที่นั่น เปาโลมีโอกาสได้ไปเทศนาประกาศพระวรสาร และมีโอกาสได้รับเชิญให้ “เตือนใจ” ประชาชน ที่ศาลาธรรมเรียกร้องให้เปาโลได้ประกาศถ้อยคำเตือนใจ... และเปาโลก็ได้ยืนขึ้น ขอให้ทุกคนเงียบ และอะไรคือถ้อยคำเตือนใจ..
o พ่อนั่งอ่านและสนใจว่า อะไรหนอคือคำเตือนใจสำหรับพี่น้องชาวยิว “เชื้อสายยิว” แม้อยู่ไกลจากเยรูซาเล็ม อยู่ที่อันทิโอกในศาลาธรรม พวกชาวยิวยังคงเป็นยิว

• พวกเขารวมตัวกันในศาลาธรรม ทุกวันสับบาโต ที่สำคัญมาก พวกเขา “อ่าน หรือ ฟัง” เสียงของพระคัมภีร์ คือ “ธรรมบัญญัติ และหนังสือประกาศก”
o ธรรมบัญญัติ มีไว้เพื่อ ย้ำเตือนพระบัญญัติของพระเจ้า ที่ต้องท่องจำ ต้องจดจำ ต้องปฏิบัติ และดำเนินชีวิต
o ประกาศก เพื่อเตือนสอนพวกเขาให้สัตย์ซื่อในธรรมบัญญัติ และเสียงเรียกร้องให้รอคอยต่อไป รอคอยพระแมสซียาห์เสด็จมาด้วยความซื่อสัตย์ต่อพระบัญญัติของพระเจ้า

• ดังนั้น พระวาจาจากกิจการอัครสาวกวันนี้ทำให้เราเห็นว่า ชาวยิวยังคงซื่อสัตย์ต่อความเป็นประชากรของพระเจ้าจริงๆ... ข้อนี้สอนเราได้มากจริงๆ ว่าเราเอง คริสตชน
o เราได้ซื่อสัตย์ต่อพระบัญญัติพระเจ้า โดยเฉพาะบัญญัติแห่งความรักหรือไม่ และ
o เราได้ฟังเสียงของประกาศกแห่งยุคสมัยของเรา
o เราได้ฟังเสียงเรียกร้องตักเตือนเราให้ซื่อสัตย์ในความเป็นคริสตชนเพียงใด
o เราได้ยืนยันความสัตย์ซื่อในการดำเนินชีวิตฟังเสียงร้องของคนยากจน คนชายขอบสังคมจริงๆ ไหม

• จากพระคัมภีร์วันนี้ ที่เมืองอันทิโอก... เปาโลได้รับการขอร้องให้ “เตือนใจประชาชน” คำเตือนใจ... พ่อยากจะบอกกับพี่น้องว่าเป็นโอกาสเตือนจริงๆ และคำเตือนที่เปาโลได้เริ่มประกาศแก่ประชาชนในศาลาธรรม คือ “เตือนให้ย้อนมองประวัติศาสตร์แห่งความสัตย์ซื่อตลอดประวัติศาสตร์แห่งความรอด และประวัติศาสตร์และความรักของพระเจ้าต่อประชากรของพระองค์ นับจากอับราฮัมต่อเนื่องมา”

• นี่คิด น่าตระหนัก น่าทึ่งครับ...
o เปาโลได้ร่ายยาวประวัติศาสตร์แห่งความรอด ที่เป็นความทรงจำอยู่เสมอ และความทรงจำนี้ คือ “คำเตือนใจ”
o ที่น่าทึ่งครับ อ่านพระคัมภีร์วันนี้และจะได้ทบทวนประวัติศาสตร์ต่อไป ทบทวนคำสอนและคำตักเตือนเราต่อไป... คำถามไตร่ตรองจากพ่อคือ
o พี่น้องครับ เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์แห่งความรอดในพระคัมภีร์ดีๆไหมครับ
o พี่น้องเล่าเรื่องของอับราฮัมและลูกหลานได้อย่างดีๆไหม
o พี่น้องเล่าเรื่องโยเซฟในอียิปต์ได้อย่างดีๆไหม
o พี่น้องเล่าเรื่องโมเสส และเรื่องการเดินทางในถิ่นทุระกันดารได้จริงๆ มีความรู้และความรักต่อประสบการณ์ในทะเลทรายของประชากรของพระเจ้าดีจริงๆไหม
o พี่น้องรู้จักเรื่องราวของบรรดาผู้วินิจฉัยดีๆไหมครับ
o พี่น้องรู้จักเรื่องราวของกษัตริย์ของอิสราเอล ซาอูล ดาวิด ฯลฯ ดีๆไหม
o เปาโลรวบรัดเร็วมาก มาถึงพันธสัญญาใหม่ พี่น้องรู้จักเรื่องราวของพระเยซูเจ้า และพร้อมจะบอกเล่าเรื่องพระองค์ด้วยความประทับใจ ด้วยความรัก ทำให้เราไม่สามารถเก็บไว้คนเดียว แต่เราปรารถนาจะประกาศพระองค์จริงๆ ไหม
o เปาโลเล่ามาถึง ยอห์นบัปติส นำหน้าพระคริสตเจ้า พี่น้องรู้จักเรื่องราวของยอห์น ความงดงามของการเตรียมทางพระคริสตเจ้าจริงๆ ไหม

• พ่อเห็นว่า การที่เปาโลได้ประกาศในศาลาธรรม และได้เริ่มเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ความรอดจากพันธสัญญาเดิม... จนถึงพันธสัญญาใหม่... ทั้งหมดที่เล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า คือ โอกาส “ตักเตือน” จริงๆ
o พี่น้องครับ “ประสบการณ์ของความเป็นคริสตชนของเรา” ประสบการณ์และประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรของเรา คือ “การตักเตือนสอนเราให้มีกำลังใจดำเนินชีวิตอย่างดี”
o คำถามของพ่อคือเรารู้เราเข้าใจ เราจดจำ “ประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร” ได้อย่างดีๆไหมครับ
o ความจริงที่พ่อได้พบสำหรับพวกเราคริสตชนชาวไทย เราคนไทย เราอาจจะอ่อนในเรื่องประวัติศาสตร์ของเราเองมากๆ และอันที่จริงเรื่องประวัติศาสตร์นี้คนไทยเรามีความรู้จักน้อยเหลือเกิน....
o พี่น้องที่รัก สำหรับเราคริสตชน จะทำอย่างไรหนอให้เราเป็นเหมือนเปาโล และบรรดาอัครสาวก ที่รู้ “รากฐานแห่งความเชื่อ” ของเรา “รากแห่งประวัติศาสตร์และประสบการณ์ของพระคัมภีร์และพระศาสนจักรของเรา”
o พี่น้องเห็นด้วยกับพ่อไหมว่า เรามีความเชื่อ เราศรัทธา แต่เราอาจจะต้องเอาจริงมากขึ้นกับการเรียนรู้ความเชื่อของเรา ประวัติศาสตร์แห่งความรอดในพระคัมภีร์ของเรา และประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรของเรา...

• พ่อคิดว่า ตามที่เปาโลมีโอกาสตักเตือนประชาชนชาวยิวในศาลาธรรม เปาโลเริ่มที่ประวัติพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมและต่อด้วยพันธสัญญาใหม่ทันที...
o พ่ออาจจะไม่มีอะไรเน้นมากวันนี้ แต่ที่เน้นวันนี้คือที่เราไม่ได้เน้นมากๆมาโดยตลอด คือ ความรู้ ความรักจริง ต่อพระคัมภีร์ ต่อประวัติศาสตร์แห่งความรอด และประวัติศาสตร์พระศาสนจักรของเรา

• พ่อคิดว่า ถึงเวลาจริงๆ เมื่ออ่านพระคัมภีร์วันนี้... พ่อขอสรุปเพียงประเด็นที่เราอาจจะละเลยมานานในบรรดาสมาชิกพระศาสนจักรของเรา พ่อขอให้เราได้รับการตักเตือนชีวิตด้วยการรู้จักชีวิตคริสตชนของเราจริงๆ รู้จักและรักพระคัมภีร์มากๆ ประวัติศาสตร์แห่งคามรอดสำคัญเหลือเกิน เราจำเป็นต้องรู้จักและรักชีวิตของพระศาสนจักรมากๆ รู้จักและรักประสบการณ์ศาสนา ชีวิต ครอบครัวแห่งความเชื่อคริสตชนของเราให้มากขึ้นเสมอนะครับ

• ขอให้พระวาจาวันนี้ เป็นโอกาส “ตักเตือน” ตัวพ่อเอง และตักเตือนพี่น้องที่รักทุกท่าน ให้ศรัทธาในประสบการณ์ของพระคัมภีร์ โดยเฉพาะเรื่องราวของพระคริสตเจ้า เรื่องราวประวัติศาสตร์แห่งความรอด... เราต้องรู้จักเรื่องราวของพระศาสนจักรถ่องแท้ และต้องรู้จักและรักให้มากขึ้นกว่าที่เคยนะครับ...

• วันนี้พ่อเชิญชวนเราฟังเปาโลเล่าถึงประวัติศาสตร์แห่งความรอด และวิงวอนขอพระเจ้าโปรดอวยพรให้เราแต่ละคน ให้พวกเราคริสตชนคาทอลิกไทยได้รักพระเจ้าในประสบการณ์ประวัติศาสตร์แห่งความรอดในพระคัมภีร์อย่างพิเศษนะครับ พระเจ้าอวยพรครับ

วันนี้ขอให้อ่านประวัติศาสตร์ความรอดในพันธสัญญาเดิมที่เราควรรู้จักกันสักหน่อย แบบสรุปที่พ่อเคยสรุปไว้นะครับ

• พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ประชากรอิสราแอลเป็นประชากรชาติที่มีความสำคัญอย่างมาก เหตุที่พวกเขาเป็นประชากรพิเศษ เป็นประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรรในเป็นพระชากรของพระเจ้า เราเห็นว่าโดยตลอดพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมนั้นได้บันทึกประวัติศาสตร์ของเขา โดยเฉพาะสิ่งที่โดดเด่นคือความเชื่อของพวกเขา

• ดังนั้นการที่เราจะแยกประวัติศาสตร์ความเชื่อออกจากประวัติศาสตร์ของพวกเขาในพระคัมภีร์นั้นเป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง เพราะเรื่องราวสำคัญของพันธสัญญาเดิมนั้นคือเรื่องราวของความสัมพันธ์ของประชากรนี้ต่อพระเป็นเจ้าผู้ทรงพระนามว่าพระยาเวห์

• เพื่อการศึกษาพระคัมภีร์ที่เรากำลังทำการศึกษานี้ เราควรระบุระยะเวลาของประวัติศาสตร์ โดย

• เริ่มต้นจากปีประมาณ 1850 ก่อนคริสตกาล กล่าวถึงพวกกึ่งเร่ร่อนอันเป็นบรรพบุรุษของอิสราแอล ซึ่งตามข้อมูลจากพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมนั้นกล่าวถึงอัยกาซึ่งได้ละจากดินแดนแถบเมโสโปเตเมีย และออกเดินทางไปตามเส้นทางที่อุดุมสมบูรณ์ที่เรียกว่าดินแดนสมบูรณ์รูปจันทร์เสี้ยว (Fertile Crescent) โดยเริ่มจากบริเวณที่แม่น้ำไทกริสและยูเฟรติสไหลมาบรรจบกัน มุ่งหน้าขึ้นไปทางเหนือเล็กน้อยโดยมุ่งไปทางตะวันตกเส้นทางไปสู่ อารารัต (Ararat) และจากนั้นก็มุ่งลงทางใต้ไปสู่คานาอัน (Canaan) โดยระหว่างเดินทางเร่ร่อนนี้เอง บรรพบุรุษของอิสราแอลย่อนำพระเจ้าของบรรพบุรุษ หรือพระเจ้าประจำครอบครัวที่เรียกว่า “พระเจ้าของบิดา” (God of my fathers) ติดไปด้วย โดยกลุ่มของอัยกาที่อพยพเร่ร่อนเหล่านี้ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมนั้นทราบกันในนามของยุคอัยกา (Patriarchal Period) ซึ่งเรื่องเหล่านี้พบในหนังสือปฐมกาล ในนามของ อับราฮัม อิสอัค ยาโคบและลูก ๆ

• ลูกหลานของบรรดาอัยกาภายหลังได้ละจากดินแดนคานาอัน และมุ่งหน้าลงใต้ไปสู่ประเทศอียิปต์ ซึ่งโดยรวมน่าจะเป็นผลของจากการกวาดต้อนพวกอิกซอส ซึ่งพวกนี้คือกลุ่มนำอารายธรรมเซมิติก และอินโดยูโรเปียน ซึ่งน่าจะมาจากทางแถบเมโสโปเตเมียภาคเหนือ หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจการปกครอง บรรดาลูกหลานของอัยกากลับกลายเป็นทาสของชาวอียิปต์ และหลังจากนั้นพวกเขาได้อพยพออกจากแผ่นดินอียิปต์กลับไปสู่แผ่นดินคานาอันอ่านทางทะเลทรายและคาบสมุทรซีนาย ในยุคนี้บทบาทส่วนใหญ่ที่บันทึกในพระคัมภีร์นั้นเน้นที่โมเสส ยุคนี้จึงมักเรียกว่า “Mosaic Period”

• ลูกหลานของบรรดาอัยกานั้นโดยรากฐานแล้วพวกเขาตั้งรกรากอยู่กันเป็นเผ่า ๆ แยกจากกันซึ่งเป็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบพวกเซมิติกทั่วไป ซึ่งพวกเขาน่าจะแยกกันอยู่เป็นเผ่า ๆ อยู่แล้วตั้งแต่ในประเทศอียิปต์ โดยมีความผูกพันธ์ต่อกันแบบหลวมแม้เวลาที่พวกเขาอพยอออกมาแล้วก็ยังคงอยู่กันเป็นเผ่าแบบนั้นเอง และแน่นอนแต่ละเผ่าน่าจะมีความต้องการเป็นปึกแผ่น และมีความปรารถนาที่จะมีผู้นำหรือเรียกว่ากษัตริย์ปกครอง แม้ยังไม่มีกษัตริย์จริง แต่คงมีความต้องการเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ในขณะที่พวกเขาเดินทางกลับไปยังแผ่นดินคานาอันพวกนั้นสิ่งที่จำเป็นสำหรับพวกเขาในแต่ละเผ่าคือ สันติภาพ ความสงบ และความอยู่รอด ซึ่งโดยเหตุนี้บรรดาผู้นำตามสถานการณ์ (Charismatic leader) ที่เรียกว่า “ผู้วินิจฉัย” ได้ถือกำเนิดมาในเผ่าต่าง ๆ ตามสถานการณ์เรียกร้องในยามถูกรุกราน ทั้งนี้เพื่อปกป้องจากการโจมตีของศัตรูต่อเผ่าต่าง ๆ บรรดาผู้นำเหล่านี้ทำให้เผ่าต่าง ๆ หลายครั้งต้องรวมตัวกันเป็นการเฉพาะกิจเพื่อต่อต้านศัตรู ยุคนี้เองเป็นยุคที่เราเรียกว่า “ยุคผู้วินิจฉัย” (Period of the judges)

• วันเวลาผ่านไป เผ่าต่าง ๆ ต่างสะสมประสบการณ์ในการร่วมตัวกันโอกาสต่าง ๆ จนว่าเผ่าต่าง ๆ เหล่านี้ทีละเล็กทีละน้อยรวมตัวกันเป็นอาณาจักร พวกเขามีกษัตริย์ของพวกเขาเอง โดยที่ซาอูลเป็นคนแรก จากนั้นเป็นดาวิด และต่อมาคือซาโลมอน ซึ่งยุคนี้เองเป็นยุคที่เรียกว่า “ยุคกษัตริย์” (Monarchy) อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดายที่ราชอาณาจักรนี้ไม่ยั่งยืนเป็นปึกแผ่นไปไกลกว่าสมัยของซาโลมอน เพราะว่าราชอาณาจักรถูกหั่นเป็นสอง ราชอาณาจักรอิสราแอลคือราชอาณาจักรทางภาคเหนือ และราชอาณาจักรยูดาห์ซึ่งอยู่ทางภาคใต้

• เวลาผ่านไป จากข้อมูลของพระคัมภีร์เราทราบว่าราชอาณาจักรทั้งสองนี้ตกเป็นเมืองขึ้นในที่สุด อิสราแอลโดยอัสซีเรียในปี 712 ก่อนคริสตกาล และยูดาห์โดยบาบิโลนในปี 587 ก่อนคริสตกาล ประชากรอิสราแอลถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย และยุคนี้เป็นยุคที่เราเรียกว่า “ยุคเนรเทศ” (The Period of the exile)

• หลังจากนั้นเมื่อมาถึงยุคของอาณาจักรเปอร์เซียเรืองอำนาจเข้ามาแทนอำนาจของบาบิโลน โดยในยุคนี้เองกษัตริย์ไซรัส แห่งเปอร์เซียได้ออกกฤษฎีกาอนุญาตให้บรรดาผู้นำชาวยิวในที่เนรเทศกลับไปบ้าน คือกลับไปยังแผ่นดินของตน เพื่อสร้างพระวิหารและฟื้นฟูนครเยรูซาแล็มขึ้นใหม่ โดยกฤษฎีกานี้เองเป็นยุคใหม่ที่เรียกว่ายุก “กลับจากเนรเทศ” (period of the return from exile) มีพวกยิวกลุ่มใหญเดินทางกลับมายังปาเลสไตน์หรือแผ่นดินคานาอัน แต่มีชาวยิวจำนวนมากเช่นกันไม่เดินทางกลับมา แต่ต้องการตั้งรกรากอยู่ต่อไปนอกปาเลสไตน์ ซึ่งกลุ่มนี้เรียกว่า “ยิวโพ้นทะเล” (Diaspora)

• อาณาจักรเปอร์เซียเองนั้นมีได้อยู่ถาวร โดยกษัตริย์เปอร์เซียองค์หลังต่อ ๆ มาพยายามที่จะครอบครองกรีก แต่ในที่สุดพระเจ้าอาเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งมาเซโดเนียซึ่งครองราชย์ระหว่างปี 336-323 ก.ค.ศ. ได้เรื่องอำนาจขึ้น และได้ขยายอำนาจของตนออกไปอย่างกว้างขวาง อาเล็กซานเดอร์ได้ครอบครองอาเซียน้อยและเคลื่อนเข้ากรีก และจากนั้นก็ครอบครองประเทศต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อยซึ่งแน่นอนรวมทั้งยียิปต์ และที่สุดก็ครอบครองทั้งอาณาจักรเปอร์เซียด้วย อาเล็กซานเดอร์มีความสนใจ และหลงไหลอารยธรรมของกรีก การขยายอำนาจจึงทำให้อาเล็กซานเดอร์เป็นผู้เผยแพร่อารยธรรมกรีก (Hellenism) ซึ่งหมายถึงการเจริญชีวิตตามแนวความคิดและอารยธรรมแบบกรีก

• ในปี 323 ก.ค.ศ. อาเล็กซานเดอร์สิ้นพระชนม์ ผลก็คืออาณาจักรของเขาถูกแบ่งเป็นเสี่ยงโดยบรรดานายพลสี่คน โดยที่อียิปต์และปาเลสไตน์ตกอยู่ในมือของปโตเลมี ขณะที่ซีเรียเป็นของเซเลวคัส และโดยการปกครองของปโตเลมีนั้นชาวยิวได้รับการเอาใจใส่และดูแลอย่างมีความสุข ทั้งพวกยิวที่อยู่ในปาเลสไตน์และที่อยู่ในอียิปต์ แต่ภายหลังพวกเวเลซิดครอบครองปาเลสไตน์ และได้กดขี่ขมเห่งรุนแรง เหตุนี้จึงนำมาซึ่งการกบฏในหมู่ชาวยิวโดยการนำของครอบครัวฮาสโมเนียน หรือครอบครัวมัคคาบีนั่นเอง ชัยชนะของพวกยิวในที่สุดนำมาซึ่งการสร้างสร้างปฏิรูปศาสนาและการเมืองในระยะศตวรรษที่สองก่อนคริสตกาล และอย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นในหมู่พวกยิวเองก็มีความแตกแยกระหว่างพวกฟาริสีซึ่งเคร่งครัดและนิยมศาสนายิว กับพวกซัดดุสีซึ่งนิยมอารยธรรมเฮเลนิส (กรีก)

• ในที่สุดในปี 63 ก่อน คริสตกาลปอมเปย์นายพลชาวโรมันได้เข้ายึดครองกรุงเยรูซาแล็ม และได้ครอบครองรัฐของพวกยิวอย่างราบคราบ

• จากนี้ ชาวโรมมันปกครองปาเลสไตน์ จนกระทั่งเริ่มเวลาของพระเยซู ณ ค.ศ. 1 ที่พระเยซูเจ้าบังเกิดที่เบธเลเฮม และเข้าสู่ยุคพันธสัญญาใหม่

จากเหตุการณ์หรือจากประสบการนำสู่พระวาจาในพระคัมภีร์

            ประชากรอิสราแอลทั้งหลายเข้าใจประวัติศาสตร์เหล่านี้อย่างลึกซึ้ง เข้มข้นและหนักแน่น โดยเข้าใจและเชื่อว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ในประวัติศาสตร์เป็นผลงานพระหัตถ์ของพระเจ้า ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม และที่สำคัญคือพวกเขาเชื่อว่าพระเจ้าทรงมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด(God’s intervention)ในเหตุการณ์เหล่านี้ พระเจ้าพระยาห์เวห์ได้เข้ามาอยู่ใกล้ชิดพวกเขาโดยผ่านทางเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ หรือกล่าวได้ว่า ทุกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์นี้เปิดเผยบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับพระเจ้าแก่ประชากรของพระองค์

           โดยแสงสว่างของความเชื่อ โดยความเชื่อที่ปักแน่นลึกซึ้ง ชาวอิสราแอลได้เล่าต่อ ๆ กันเป็นเรื่องราวมากมายที่แน่นอนในการเล่าต่อกันนั้นบุคคลสำคัญและเป็นหลักของเรื่องราวคือพระยาห์เวห์ โดยที่แรกเริ่มนั้นเรื่องราวเหล่านี้ถูกส่งต่อ ๆ กันเป็นเรื่องเล่าปากเปล่าซึ่งก่อให้เกิดเป็นธรรมประเพณีแบบบอกเล่าปากเปล่า (Oral Tradition) ซึ่งเรื่องเล่าเหล่านี้ควบคู่กับชีวิตและความเชื่อของพวกเขา เรื่องเล่าเหล่านี้มีจำนวนมากมายมหาศาล จากนั้นเมื่อประชาชนเริ่มเรียนรู้จักการเขียนแล้ว เรื่องเล่ามากมายนั้นได้ถูกเลือกสรรเพื่อบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเก็บรักษาไว้อย่างมั่นคง (Written Tradition) และเป็นหลักในการเข้าใจความเชื่อและการดำเนินชีวิตของประชากรศักดิ์สิทธิ์

 

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก