“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

รำพึงพระวาจาประจำวัน โดยคุณพ่อสมเกียรติ  ตรีนิกร
วันพุธที่ 2 มีนาคม 2016
สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลมหาพรต 

“ความเงียบ” ความเงียบมีไว้เพื่อ “ฟัง” ฟังให้ได้ยินชัดเจน การฟังคือพลังและอำนาจเพื่อการเปลี่ยนแปลง พี่น้องครับ วันนี้เริ่มอ่านพระคัมภีร์กันเลยครับ จากเฉลยธรรมบัญญัติ เสียงเรียกร้องของพระเจ้าให้ประชากรได้ “ฟัง” เสียงของพระองค์ อ่านกันก่อนเลยนะครับ... ใช้หัวใจฟังเสียงของพระเจ้านะครับ พระเจ้าตรัส “ฟังแล้วจะมีชีวิต” อ่านกันก่อนนะครับ อยู่เงียบๆ และฟังเสียงขอพระตรัสกับเราครับ

ฉธบ 4:1,5-9……
1บัดนี้ ชาวอิสราเอลเอ๋ย จงฟังข้อกำหนดและกฎเกณฑ์ที่ข้าพเจ้าสอนท่านทั้งหลายให้ปฏิบัติ แล้วท่านจะมีชีวิต และเข้ายึดครองแผ่นดินซึ่งพระยาห์เวห์ พระเจ้าของบรรพบุรุษของท่านทรงมอบให้ท่าน 2ท่านจะต้องไม่เพิ่มเติมสิ่งใดลงไปในข้อความที่ข้าพเจ้าสั่ง และต้องไม่ตัดตอนใดออกไป แต่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระยาห์เวห์ พระเจ้าของท่าน ตามที่ข้าพเจ้าสั่งท่านไว้ 3ท่านได้เห็นสิ่งที่พระยาห์เวห์ทรงกระทำที่ บาอัลเปโอร์กับตาแล้ว ที่นั่นพระยาห์เวห์ พระเจ้าของท่านทรงทำลายล้างทุกคนที่ติดตามพระบาอัลแห่งเปโอร์
4ส่วนท่านทั้งหลายที่ซื่อสัตย์ต่อพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน ยังคงมีชีวิตอยู่จนทุกวันนี้ 5ดูซิ ข้าพเจ้าสอนท่านให้รู้จักข้อกำหนดและกฎเกณฑ์ดังที่พระยาห์เวห์ พระเจ้าของข้าพเจ้าทรงบัญชา เพื่อท่านจะได้ปฏิบัติตามในแผ่นดินที่ท่านกำลังจะเข้าไปยึดครอง 6ท่านจะต้องปฏิบัติตามอย่างซื่อสัตย์ เพื่อชนชาติอื่น ๆ จะได้เห็นว่าท่านมีความเข้าใจและปรีชาญาณ เมื่อเขาได้ยินคำพูดถึงข้อกำหนดเหล่านี้ เขาจะพูดว่า “ชนชาติยิ่งใหญ่นี้เท่านั้นเป็นประชากรที่มีความเข้าใจและปรีชาญาณ" 7เพราะไม่มีชนชาติใดแม้ยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตามจะมีพระเจ้าอยู่ใกล้ชิด ดังที่พระยาห์เวห์พระเจ้าของเราทรงสถิตอยู่ใกล้ชิดเรา ทุกครั้งที่เราร้องทูลพระองค์ 8ไม่มีชนชาติยิ่งใหญ่ชาติใดมีข้อกำหนดและกฎเกณฑ์เที่ยงธรรม เท่ากับธรรมบัญญัตินี้ที่ข้าพเจ้ากำลังสอนท่านอยู่ในวันนี้ 9จงจำใส่ใจ จงทำทุกอย่างเพื่อจะไม่ลืมเหตุการณ์ที่ท่านได้เห็นกับตาตราบที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ อย่าให้เหตุการณ์เหล่านี้เลือนไปจากใจ ท่านจะต้องเล่าให้บุตรหลานของท่านฟัง

อรรถาธิบายและไตร่ตรอง
• ภาษาฮีบรู คำว่า שְׁמַ֖ע อ่านว่าเชมา “Shema” แปลว่า “จงฟัง”.. ถือว่าสำคัญมากๆ ในหมู่ประชากรของพระเจ้า ในเฉลยธรรมบัญญัติ โดยเฉพาะบทที่ 6 ข้อที่ 4 ต้องท่องกันขึ้นใจให้ได้ว่า ต้องฟังเสียงของพระเจ้าเสมอ

• พ่อคิดว่าสำหรับเราคนไทยและทั่วไปด้วย “การฟังเป็นแม่ของการเรียนรู้ การฟังเป็นพลังมากที่สุดเพื่อการเรียนรู้...”

• พ่อเคยสังเกตมานาน หัวใจนักปราชญ์ของเรา คือ สุ จิ ปุ ลิ คือ ฟัง คิด ถาม เขียน...

• พ่อคิดว่า ทำไมหนอการเรียนภาษาต่างประเทศของเราคนไทย หรือการเรียนภาษาอังกฤษของเด็กไทยจึงยากมากนัก เราเรียนมากมายในวัยเด็ก ภาษาอังกฤษเราเรียนตั้งแต่อนุบาล แต่ทว่าคนไทย (ส่วนใหญ่) เราคงต้องยอมรับว่าเราเกือบอ่อนสุดในภูมิภาคนี้ พ่อเคยไปที่บ้านเณรมาเลเซีย ทุกคนในบ้านเณรก็พูดภาษาอังกฤษ พวกสามเณรหลายคนเป็นคนเผ่าบีไดยู บางคนเป็นอีบัน แต่พวกเขาได้ฝึก ได้ฟัง ได้ใช้ ได้ฟังตลอด สวดภาวนา มิสซา เรียน ภาษาอังกฤษตลอด พวกเขาก็ใช้ได้ในระดับที่เรียกว่าดีเอาการที่เดียว

• สำหรับเราคนไทย ทั้งๆ ที่เราก็กำลังคลั่งกับการเข้าสู่สมาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่เราก็ไม่เคยได้ภาษาอังกฤษดีๆจริงๆ เรายังเป็นชาติที่มีความอ่อนแอเหลือเกินเรื่องภาษาอังกฤษ... พ่อคิดว่าทำไมหนอ หลายคนบอกว่าประเทศเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ นั่นคือความภูมิใจของเราในใจความหนึ่ง แต่บางคนก็บอกว่านั่นคือจุดอ่อนของเราในการเรียนรู้พูดภาษาต่างประเทศ... ก็แล้วแต่จะคิดวิเคราะห์กันไป...

• สำหรับพ่อ พ่อคิดว่าจุดอ่อนที่สุดของเราคือเราไม่มีโอกาสที่จะได้ฟัง

• พ่อเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ประถมแรกที่เรียกว่า ป.เตรียม สมัยนั้นไม่มีอนุบาล โรงเรียนบ้านนอกที่พ่อเรียนนะครับ โรงเรียนของวัดนักบุญยอห์นบัปติสตาเจ้าเจ็ดเมื่อหลายสิบปีก่อน

• พ่อจำได้ว่าเมื่อพ่อเข้าเรียนเราก็เริ่มหัดเขียนตัวอักษรไทย และอังกฤษ ตามรอยจุดไข่ปลาที่เขามีไว้ให้เพื่อหัดเขียนตาม.. และก็ออกเสียงตัวอักษรทีละตัวตามครู เราอ่านทีละเล็กทีละน้อย.. แต่ที่แน่ๆ เราไม่เคยได้ยินคนพูดภาษาอังกฤษเลย ไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษให้เราฟังเลย...

• พ่อจำได้ว่าเวลาที่เราเปลี่ยนหนังสือเป็นเล่มใหม่ที่มีภาษาอังกฤษและรูปเยอะหน่อย ครูของพ่อตอนนั้น ท่านเปิดหนังสือและพยายามสอนเราอยู่ประเดี๋ยวหนึ่งแล้วก็บอกพวกเราเสมอว่า... “เอ้านักเรียน...เปลี่ยนวิชาพอแล้ว เราไปเรียนวิชาวาดเขียนกันดีกว่า” และแล้ววิชาก็เปลี่ยนไปเป็นวิชาวาดเขียนแทนเฉยเลย... หรือไม่ก็พาเราลงไปเล่นพลศึกษาแทนเสียเลย เพราะครูเขาก็ไปไม่รอดกับตำราใหม่เหมือนกัน

• และพ่อจำได้ดีว่า มีบ้างครั้งที่เรามีฝรั่งมากับคุณพ่อเจ้าวัดมาเยี่ยมโรงเรียนเรา คนต่างชาติเขาพูดภาษาอังกฤษ มากับคุณพ่อเจ้าวัดก็มีมาอยู่เนืองๆ เป็นเรื่องประหลาดและเป็นคนประหลาดไปเลยในหมู่เรา เพราเป็น “ฝรั่ง” ชาติอะไรไม่รู้เรียกรวมๆว่า “ฝรั่ง” ทั้งหมด แม้มีมาบ้างแต่ไม่ได้บ่อยนักเพราะเราอยู่บ้านนอกมากในสมัยนั้น และทุกครั้งที่มีคนต่างชาติมา ก็เห็นมีแต่พ่อเจ้าวัดที่พูดภาษาได้ เดินพาชมสถานที่ เยี่ยมโรงเรียนของเรา... แต่ที่แน่ๆ ครูสอนภาษาอังกฤษของพวกเรานักเรียนเล็กๆ คุณครูเป็นคนแรกที่วิ่งหนีไปก่อนเหมือนกัน... เราไม่มีโอกาสได้ฟัง ไม่มีโอกาสได้ยินได้ฟังภาษาอังกฤษเป็นประจำ เราเลยไม่สามารถใช้ภาษาได้เสียที...

• พ่อมีข้อคิดว่า
o ถ้าพ่อไปเกิดที่เยอรมันและเป็นเด็กแดงๆอยู่กับครอบครัวที่เยอรมัน สองปีต่อมาพ่อก็เริ่มพูดและเข้าใจภาษาเยอรมันได้แน่นอน
o หรือถ้าไปเกิดที่ฝรั่งเศสก็ได้เหมือนกัน หรือไปเกิดที่จีนก็ได้เช่นเดียวกัน ประเทศไหนก็ได้
o เด็กสามขวบพูดได้และฟังเข้าใจเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์... โดยเขียนไม่เป็น อ่านไม่เข้าใจ แต่สื่อสารได้ร้อยละร้อยแน่นอน... ต่อให้ภาษานั้นอยากแค่ไหนก็ตาม
o ต่อให้ถ้าพ่อไปเกิดที่อิสราเอลแม้ไม่ใช่ชาวยิว ขอให้ได้เกิดที่นั่น และได้ฟังผู้ใหญ่พูดตลอดเวลาแต่แบเบาะรับรองสามขวบพ่อก็สามารถพูดสื่อสารภาษาฮีบรูได้ และฟังเข้าใจอย่างไม่ต้องสงสัย...

• สรุปว่านี่คือ ความจริง นี่คือพลังอำนาจขอการฟัง ฟัง และก็ฟัง

• ถ้าอยากรู้ว่าพลังอำนาจของการฟังๆๆๆๆ มีเพียงไหน ให้ดูคนไทยเวลาฟังเวทีปราศรัย ไม่ว่าแดงเหลืองหรือลุงกำนัล... คนไม่ได้มีความรู้การเมือง มานั่งฟังๆๆๆ ไหลตาม ฟังจนบรรยายได้ อย่าว่าอะไรไปเลย จาพ่อฟังทุกวัน ฟังทุกวัน ติดทีวี ติดสัญญาณให้ชัด นั่งฟัง นอนฟัง จนบรรยายการเมืองได้ชัดเจน เรียกว่า ถ้าให้เป็นกูรูทางการเมือง (ถูกผิดไม่พูดถึงนะครับเพราะคนพูดปราศรัยส่วนใหญ่ก็นะ...มีหน้าที่พูด จริงไม่จริงๆอีกเรื่องนึง แต่ฟัง ฟัง ฟัง ก็รู้เรื่องไปหมดเลย) คนฟังก็ฟังจนไหลตาม เทอาหารเลี้ยง เทกระเป๋าบริจาค ไปกันจนลืมบ้านลืมช่อง ลืมครอบครัว... ไป ไป ไป ฟัง ไปชุมนุม ไปเดิน .. นี่งัยอำนาจของการฟัง เห็นได้ชัดๆในบ้านเรา

• ใช่เลย การฟังคือพลังของการหล่อหลอมและเปลี่ยนแปลง การพัฒนาและการเติบโต... การฟังและเชื่อฟัง คือ การปลูกฝังวัฒนธรรมและภาษาและชีวิตตลอดเวลาความเชื่อในศาสนาและขนบประเพณี...

• พ่อเชื่อเหลือเกินว่า นี่คือเหตุผลที่เราได้ยินจากพระวาจาโดยเฉพาะหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ ที่เน้นความสำคัญที่สุดที่ประชากรของพระเจ้าต้องตั้งใจ “ฟัง” เสียงของพระเจ้า...

• นี่ต้องเป็นประกาศิตเด็ดขาดที่จะช่วยประชากรของพระเจ้าได้รับการหล่อหลอมชนชาติอิสราเอลให้เป็นประชากรพิเศษของพระยาห์เวห์
o เขาต้องฟังบัญญัติของพระยาห์เวห์สุดกำลัง...
o เพื่อหล่อหลอมชีวิตของเขาให้เป็นประชากรของพระเจ้าอย่างแท้จริง

• พ่อเห็นคุณค่าจริงๆของการฟัง โดยเฉพาะการฟังเสียงของพระเจ้า เพราะ
o การฟังเป็นแม่ของการเรียนรู้ทุกชนิด และแน่นอนเป็นแม่ของการเรียนรู้เพื่อรู้จักพระเจ้า
o การฟังเป็นเครื่องมือสำคัญของการอบรมบ่มเพาะชีวิตของพระเจ้า บ่มเพาะความเชื่อในพระเจ้าอย่างลึกซึ้ง
o การฟังคือพลังเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเรามากที่สุด เพื่อให้เราดำเนินชีวิตตามพระเจ้าอย่างมั่นคงตลอดไป หล่อหลอมเราให้เป็นลูกของพระเจ้าด้วยกิจการแห่งชีวิต

พี่น้อง พ่อรู้แล้วว่าทำอย่างไรเพื่อเราจะเป็นคนศักดิ์สิทธิ์ ทำอย่างไรในโอกาสมหาพรตปีนี้และเสมอไปที่จะหล่อหลอมเราให้เป็นคริสตชนแท้จริงแบบที่ได้รับการอบรมเพาะบ่มชีวิตของพระเจ้าลงในชีวิตเรา และเพื่อเพาะปลูกและทำให้ชีวิตของเราได้หยั่งรากลึกในพระเจ้าโดยทางพระเยซูเจ้าได้อย่างแท้จริง

พ่อคิดว่าเราได้เริ่มเทศกาลมหาพรตมาตั้งแต่วันที่เรารับเถ้า.. นี่สัปดาห์ที่สามแล้ว จากเสียงร้องขณะโรยเถ้า “จงเป็นทุกข์กลับใจ และเชื่อ (เชื่อฟัง) พระวรสารเถิด” พระสงฆ์ประกาศเตือนเราชัดเจนในพิธีกรรมรับเถ้า...บัดนี้เมื่อได้อ่านพระวาจาวันนี้ และได้อยู่กับประสบการณ์ความเงียบของบ้านเณรที่พ่อเล่าให้ฟัง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวใจนักปราชญ์... ทำให้พ่อเชื่อมั่นว่าเราจะทำให้คริสตชนของเราเป็นประชากรของพระเจ้าโดดเด่นในความเชื่อและมีวุฒิภาวะทางความเชื่อแท้จริงได้นั้น... แน่นอนที่สุดเราต้อง ฟังการประกาศข่าวดี เราต้องฟังพระวาจา อ่านพระวาจาให้มากที่สุด... มาถึงตรงนี้พ่อมีคำถามตนเองและถามพี่น้องทุกคนทั้งพระสงฆ์นักบวชด้วยว่า พี่น้องครับ

1. เราอ่านพระวาจาของพระเจ้าทุกวันไหม
2. เราใกล้ชิดกับพระคัมภีร์จริงๆไหม มีพระคัมภีร์อยู่กับเราเสมอทุกวันไหม
3. เราฟังเทศน์อย่างจับใจไหม (ผู้เทศน์ทั้งหลายเทศน์อย่างจับใจได้ไหม ขอร้องครับ เพราะนี่คือหน้าที่สำคัญสุดของพระสงฆ์ สังฆานุกร)
4. พระสงฆ์ของเราเทศน์ประกาศพระวาจากันจริงๆไหม
o การเทศน์ไม่ใช่การใช้โวหาร หรือการสอนแบบอาจารย์ หรือเสนอลีลาการเป็นนักพูด...
o แต่การเทศน์สำคัญที่สุดคือ “ประกาศพระวาจาของพระเจ้า” ให้พี่น้องได้ฟัง และ
o พี่น้องได้ฟังทุกๆวันไหม ฟังแล้วน่าสนใจเพียงใด
o พระสงฆ์ได้เป็นผู้เทศน์ได้ชัดเจนในการประกาศพระวาจามากจริงๆ เพียงใด...
o พระสันตะปาปาฟรังซิสเตือนใน Evangelii Gaudium ว่า การเทศน์ต้องเป็นการพูดแบบใจพูดกับใจ หัวใจพูดกับหัวใจ การเทศน์ของพระสงฆ์ต้องมาจากใจ ถึงใจพี่น้องจริงๆให้ได้นะครับ
5. เราไตร่ตรองพระวาจาจริงๆไหม เราสัมผัสและรักพระวาจา จนเรารู้จักพระเยซูเจ้าอย่างลึกซึ้งทุกๆวันไหมครับ
6. เราแต่ละคนได้มีพระคัมภีร์ประจำตัวที่เรารัก และเราอ่านเสมอทุกวันไหม และ
7. เราอยากอ่านหรืออยากฟังเสมอๆถึงเรื่องพระเยซูเจ้าไหม

พี่น้องที่รัก คำถามมากมายที่พ่อถามมานี้
• ถ้าหากว่าคำตอบของพี่น้องนั้นเป็นคำตอบว่าไม่ หรือปฏิเสธเป็นส่วนใหญ่ คือ ถ้าเราไม่ได้ฟังพระวาจา ไม่ได้อยากฟังพระวาจา และการเทศน์สอนที่เราได้ยินนั้นถ้าไม่ได้เป็นการประกาศพระวาจาจริงๆ อย่างมีคุณภาพที่สุดแล้วละก็ พ่อคิดว่าคงเป็นการยากที่เราจะเป็นคริสตชนที่มีคุณภาพเพราะการอบรมด้วยการฟังพระวาจา ฟังพระประสงค์ของพระเจ้า...

• ถ้าหากคำตอบคือใช่... ถ้าเช่นนั้นก็สุดยอดจริงๆ กับการเป็นคริสตชนครับ

ดังนั้น พ่อขอให้พี่น้องทุกท่านได้รักพระวาจา ฟังพระวาจามากๆ เพื่อเราจะได้รับการหล่อหลอมให้หยั่งรากลึกในพระเยซูเจ้า ในความเชื่ออย่างแท้จริงมากขึ้นนะครับ มหาพรตเป็นเวลาที่เราต้องอ่านและฟังเสียงของพระวาจาของพระเจ้าให้มาเป็นพิเศษนะครับ พระเจ้าอวยพรครับ อ่านพระคัมภีร์ด้วยนะครับ

 

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก