"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“ไม่สมควรที่จะเอาอาหารของลูกมาโยนให้ลูกสุนัขกิน”

34. พระเยซูเจ้าทรงรักษาบุตรหญิงของหญิงชาวซีโรฟีนีเซีย (มก 7:24-30)

7 24พระองค์เสด็จออกจากที่นั่น เข้าไปในเขตเมืองไทระและเสด็จเข้าในบ้านหลังหนึ่ง ไม่ทรงต้องการให้ผู้ใดรู้ แต่ทรงซ่อนพระองค์ไม่ได้ 25ทันใดนั้น หญิงคนหนึ่งมีบุตรหญิงถูกปีศาจสิงได้ยินพูดถึงพระองค์ ก็มากราบพระบาท 26นางไม่ใช่ชาวยิวเป็นชาวซีโรฟีนีเซียโดยกำเนิด นางทูลอ้อนวอนพระองค์ให้ทรงขับไล่ปีศาจออกจากบุตรหญิง

27พระองค์ตรัสกับนางว่า “ให้ลูกๆ กินอิ่มเสียก่อน เพราะไม่สมควรที่จะเอาอาหารของลูกมาโยนให้ลูกสุนัขกิน” 28หญิงนั้นทูลตอบว่า “ถูกแล้ว พระเจ้าข้า แต่ลูกสุนัขที่อยู่ใต้โต๊ะก็ยังได้กินเศษอาหารของลูกๆ” 29พระองค์จึงตรัสกับนางว่า “เพราะถ้อยคำนี้ จงไปเถิด ปีศาจออกจากลูกสาวของเธอแล้ว” 30เมื่อกลับมาถึงบ้าน นางก็พบลูกนอนอยู่บนเตียง ปีศาจออกไปแล้ว

  1. อธิบายความหมาย

พระเยซูเจ้าเสด็จออกจากที่ราบเมืองเยเนซาเร็ธในแคว้นกาลิลี (6:53-56) และทรงถกเถียงกับชาวฟาริสีเรื่องขนบธรรมเนียมที่นั่น (7:1-23) แล้วทรงพระดำเนินเป็นระยะทางไกลกว่าปกติไปถึงเขตแดนเมืองไทระในแคว้นฟินิสเซีย เมื่อพระองค์ทรงพำนักอยู่ในดินแดนคนต่างศาสนาแห่งนี้ พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโกและมัทธิวบันทึกเหตุการณ์เพียงเรื่องเดียว ซึ่งแสดงว่าจุดประสงค์ของการเดินทางไม่ใช่เพื่อการประกาศข่าวดี แต่เพื่อเสด็จพร้อมกับบรรดาศิษย์ไปอยู่นอกแคว้นกาลิลีห่างจากประชาชนชาวยิว จะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนเขาอย่างลึกซึ้งและเข้มข้นมากยิ่งขึ้น (เทียบ 6:31)

- พระองค์เสด็จออกจากที่นั่น เข้าไปในเขตเมืองไทระและเสด็จเข้าในบ้านหลังหนึ่ง เขตเมืองไทระมีพื้นที่รวมแคว้นทั้งหมดของชายทะเลเมดิเตอร์เรเนียนระหว่างเมืองนี้กับแคว้นกาลิลีทางทิศใต้ และเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นซีเรียซึ่งอยู่ในภายใต้การปกครองของชาวโรมัน มีพลเมืองอาศัยอยู่หลายชนชาติที่ไม่นับถือศาสนายูดาย

- ไม่ทรงต้องการให้ผู้ใดรู้ แต่ทรงซ่อนพระองค์ไม่ได้ ประโยคนี้แสดงว่าพระเยซูเจ้าทรงแสวงหาสถานที่เงียบสงบห่างไกลจากผู้คน อย่างไรก็ตาม พระนามของพระองค์เลื่องลือไปถึง "บริเวณเมืองไทระและไซดอน" มานานแล้ว (เทียบ 3:8) จนพระเยซูเจ้าไม่อาจปิดบังพระองค์เองได้  

- ทันใดนั้น หญิงคนหนึ่งมีบุตรหญิงถูกปีศาจสิงได้ยินพูดถึงพระองค์ ก็มากราบพระบาท ในต้นฉบับภาษากรีก นักบุญมาระโกใช้สำนวนที่คุ้นเคยว่า "จิตโสโครก" ซึ่งหมายถึง "ปีศาจ" (เทียบ 1:23; 3:30; 5:2) ในทำนองเดียวกัน นักบุญมาระโกบรรยายอากัปกิริยา "มากราบพระบาท" (เทียบ 3:11; 5:22; 5:33) ซึ่งเป็นท่าทีแสดงความเคารพอย่างสูงสุดพร้อมกับการวอนขอด้วยความไว้วางใจ  

- นางไม่ใช่ชาวยิวเป็นชาวซีโรฟีนีเซียโดยกำเนิด นางทูลอ้อนวอนพระองค์ให้ทรงขับไล่ปีศาจออกจากบุตรหญิง นาง "ไม่ใช่ชาวยิว" ถ้าแปลต้นฉบับตามตัวอักษรคือ นางเป็น “ชาวกรีก” ในบริบทนี้ ไม่ได้หมายถึงเชื้อชาติ เพราะหญิงคนนั้นเป็นชาวซีโรฟีนีเซีย แต่ในแง่วัฒนธรรม คือผู้ไม่นับถือศาสนายิว (เทียบ ยน 7:35; กจ 16:1) สถานภาพของหญิงคนนี้ชวนให้คิดถึงหญิงม่ายในเมืองศาเรฟัทที่พบประกาศกเอลียาห์ ผู้ทรงบันดาลให้บุตรชายของนางกลับคืนชีพ (เทียบ 1 พกษ 17:7-24)  

- พระองค์ตรัสกับนางว่า “ให้ลูกๆ กินอิ่มเสียก่อน เพราะไม่สมควรที่จะเอาอาหารของลูกมาโยนให้ลูกสุนัขกิน” ผู้อธิบายพระคัมภีร์มักจะคิดว่า พระเยซูเจ้าตรัสพระวาจานี้โดยคำนึงถึงวิธีการพูดของชาวยิวซึ่งคิดว่าตนเป็นบุตรของพระเจ้า และดูหมิ่นคนต่างศาสนาโดยเรียกเขาเหล่านั้นว่า "สุนัข" เพราะเปรียบได้กับ "สุนัขเร่ร่อนกลางถนน" แต่พระเยซูเจ้าตรัสถึง "ลูกสุนัข" หมายถึงสุนัขที่เลี้ยงตามบ้าน แม้ในบ้านของชาวยิวก็ยังเลี้ยงสุนัขด้วย ดังนั้น พระเยซูเจ้าทรงใช้การเปรียบเทียบนี้เพื่อชี้แจงว่า พระองค์จะทรงนำพระพรแห่งความรอดพ้นในยุคของพระเมสสิยาห์แก่ชาวอิสราเอลเป็นอันดับแรก ไม่ทรงมีเจตนาที่จะดูหมิ่นหรือปฏิเสธคำวอนขอของสตรีผู้นั้นเลย

- หญิงนั้นทูลตอบว่า “ถูกแล้ว พระเจ้าข้า แต่ลูกสุนัขที่อยู่ใต้โต๊ะก็ยังได้กินเศษอาหารของลูกๆ” นางเข้าใจการเปรียบเทียบของพระเยซูเจ้าว่า ลูกสุนัขยังมีเศษอาหารกิน หลังจากบรรดาลูกในบ้านได้กินจนอิ่มแล้ว คือพระเยซูเจ้าทรงเอาพระทัยใส่ช่วยเหลือชาวยิวก่อนและยังทรงแสดงพระเมตตาต่อคนศาสนาอีกด้วย โดยแท้จริงแล้ว พระคริสตเจ้าทรงปฏิบัติศาสนกิจเกือบทั้งหมดในหมู่ชาวยิว และบางกรณียังเสด็จไปในเขตแดนของคนต่างศาสนาไม่ใช่เพื่อเทศนาสั่งสอน แต่เพื่อช่วยเหลือผู้มีความต้องการ (เทียบ 8:1-10) และทรงประกาศล่วงหน้าว่า คนต่างศาสนาจะได้เข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าเช่นกัน (เทียบ มธ 8:11)

- พระองค์จึงตรัสกับนางว่า “เพราะถ้อยคำนี้ จงไปเถิด ปีศาจออกจากลูกสาวของเธอแล้ว” พระเยซูเจ้าทรงตอบสนองคำวอนขอของหญิงคนนั้น ไม่ใช่เพราะคำพูดที่แสดงไหวพริบของนาง แต่เพราะคำพูดที่แสดงความเชื่อและความไว้วางใจ

เมื่อกลับมาถึงบ้าน นางก็พบลูกนอนอยู่บนเตียง ปีศาจออกไปแล้ว การที่เด็กนอนอยู่บนเตียงไม่บ่งบอกชัดเจนว่า เขากำลังนอนพักผ่อนหรือเพราะต้องต่อสู้กับปีศาจจนหมดแรง (เทียบ 1:26; 9:26) แต่สิ่งที่แน่นอนคือ เขาพ้นจากการถูกปีศาจสิงอย่างแท้จริง พระเยซูเจ้าจึงทรงกระทำอัศจรรย์จากที่ห่างไกล ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น (เทียบ มธ 8:5-13; ยน 4-:45-54)