"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“แต่ใจของเขาอยู่ห่างไกลจากเรา”

33. ขนบธรรมเนียมของชาวฟาริสี (3)
- ท่านก็อนุญาตให้เขาไม่ต้องช่วยเหลือบิดามารดาอีกต่อไป พระเยซูเจ้าทรงยืนยันว่าชาวฟาริสีต้องรับผิดชอบต่อการล่วงละเมิดต่าง ๆ ที่ประชาชนได้กระทำด้วยวิธีนี้ เพราะเป็นผู้สอนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของพระเจ้าและ เป็นผู้ยืนยันว่า เมื่อบนบานสิ่งใดแม้จะผิดความยุติธรรมและละเมิดสิทธิของผู้อื่นก็จำเป็นต้อง ปฏิบัติจะถอนคำพูดไม่ได้ แต่สำหรับพระเยซูเจ้าความรักอยู่เหนือการถวายเครื่องบูชา และความรักต่อพระเจ้าแยกออกไม่ได้จากความรักต่อเพื่อนพี่น้อง (เทียบ 12:29-33)


- ท่านใช้ขนบธรรมเนียมที่ท่านสอนต่อๆ กันมาทำให้พระวาจาของพระเจ้าเป็นโมฆะ ท่านยังปฏิบัติเช่นนี้อีกมากมาย” บรรดาธรรมจารย์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่มชาวฟาริสีจึงต้องรับผิดชอบมาก กว่าชาวฟาริสีอีก เพราะเขาไม่เป็นเพียงผู้สื่อสารขนบธรรมเนียมดั้งเดิม แต่การสั่งสอนของเขาเสริมสร้างขนบธรรมเนียมนี้มากยิ่งขึ้น สำหรับพระเยซูเจ้า ในบริบทนี้ "พระวาจาของพระเจ้า" หมายถึงธรรมบัญญัติทั้งหมด ไม่เพียงแต่บทบัญญัติประการที่สี่เท่านั้น พระองค์จึงทรงตำหนิบรรดาธรรมจารย์อย่างรุนแรง เพราะเขาทำให้พระวาจาของพระเจ้าเป็นโมฆะโดยประดิษฐ์ขนบธรรมเนียมของมนุษย์มา แทนพระวาจา

- พระองค์ทรงเรียกประชาชนเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง ผู้มาฟังพระวาจาของพระเยซูเจ้าเปลี่ยนเป็นคนละกลุ่ม แม้ประโยคนี้ชวนให้คิดว่า พระเยซูเจ้าทรงเริ่มสั่งสอนอีกประเด็นหนึ่ง แต่โดยแท้จริงแล้ว เป็นการวกกลับมาหัวข้อเดิมที่ชาวฟาริสีถามพระเยซูเจ้า (เทียบ 7:5) และพระองค์ทรงตอบเขาทางอ้อม (เทียบ 7:6-13) โดยประทานคำสั่งสอนกว้างมากกว่าคำถามเฉพาะเจาะจงของเขา ชาวฟาริสีประณามบรรดาอัครสาวกที่ไม่ล้างมือก่อนกินอาหาร แต่พระเยซูเจ้าทรงกล่าวหาชาวฟาริสีที่ปฏิบัติศาสนาเพียงภายนอก และปฏิบัติตามขนบประเพณีที่หลายครั้งขัดแย้งกับบทบัญญัติ บัดนี้ พระองค์ทรงตอบคำถามของเขาโดยตรง ทรงชี้แจงว่าความไม่มีมลทินที่พระเจ้าทรงเรียกร้อง ไม่ใช่ความบริสุทธิ์ภายนอกของร่างกาย แต่เป็นความบริสุทธิ์ภายในของจิตใจ

- ตรัสว่า “ทุกคนจงฟังและเข้าใจเถิด เช่นเดียวกับใน 4:2, 24 การเรียกร้องให้ฟังและเข้าใจมีไว้เพื่อเกริ่นนำอุปมาหรือคำเปรียบเทียบที่ เรียกร้องให้ขบคิดเพื่อแสวงหาความจริงลึกซึ้ง

- ไม่มีสิ่งใดเลยจากภายนอกของมนุษย์ทำให้เขามีมลทินได้ แต่สิ่งที่ออกมาจากภายในของมนุษย์นั้นแหละทำให้เขามีมลทิน นี่เป็นหลักเกณฑ์จริยธรรมโดยทั่วไป พระศาสนจักรสมัยแรก ๆ จะอ้างหลักเกณฑ์นี้เพื่อตัดสินปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหมู่คริสตชนใหม่ที่ไม่ใช่ชาวยิว (เทียบ กจ 10:10-16; 15:28-29; กท 2:11-17; รม 14:14-23; คส 2:10-23; ทต 1:15) โครงสร้างทางวรรณกรรมของหลักเกณฑ์นี้คือ ความคิดคล้องจองกันที่มี 2 ประโยคขัดแย้งกัน ประโยคหนึ่งปฏิเสธอีกประโยคหนึ่งยืนยันความจริง ความหมายของประโยคปฏิเสธเป็นการย้ำคำสอนของพระคัมภีร์เกี่ยวกับความดี ดั้งเดิมของสิ่งสร้างทั้งหลาย ส่วนประโยคที่
สองค่อนข้างเป็นปริศนา แต่พระเยซูเจ้าจะทรงอธิบายความหมายอย่างชัดเจนแก่บรรดาศิษย์เมื่อทรงสนทนา เฉพาะกลุ่มในภายหลัง (เทียบ 7:20-23)

- ใครมีหูสำหรับฟัง ก็จงฟังเถิด” เราเคยพบประโยคนี้มาก่อนแล้ว (เทียบ 4:9,23) ซึ่งมีจุดประสงค์ที่จะเรียกให้ตั้งใจไตร่ตรองถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพราะผู้ที่ไตร่ตรองถึงความจริงนี้อย่างจริงใจเท่านั้น จะเข้าใจความหมายอย่างถ่องแท้

- เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปในบ้าน ห่างจากประชาชน เช่นเดียวกับสถานการณ์อื่น ๆ (เทียบ 4:10,34; มธ 13:36; ลก 8:9) พระเยซูเจ้าทรงสงวนคำอธิบายพระวาจาที่ตรัสแก่ประชาชนทั่วไปไว้อย่างลึกซึ้ง แก่บรรดาศิษย์เท่านั้น

- บรรดาศิษย์จึงทูลถามพระองค์ถึงข้อความที่เป็นปริศนานั้น "คำที่เป็นปริศนา" หมายถึงคำพูดสั้น ๆ ที่เข้าใจยาก บรรดาศิษย์จึงทูลขอพระเยซูเจ้าให้ทรงอธิบายความหมาย นักบุญมาระโกแสดงบ่อย ๆ ว่า บรรดาศิษย์ไม่มีสติปัญญาดีกว่าผู้อื่น จึงไม่เข้าใจพระวาจาของพระเยซูเจ้า (เทียบ 6:52;8:17)

- พระองค์ตรัสถามเขาว่า “ท่านก็ไม่มีปัญญาด้วยหรือ ท่านไม่เข้าใจหรือว่าสิ่งต่างๆ จากภายนอกที่เข้าไปในมนุษย์นั้นทำให้เขามีมลทินไม่ได้ เพราะมันไม่ได้เข้าไปในใจ แต่ลงไปในท้อง แล้วออกไปจากร่างกาย” ข้อความนี้ตำหนิบรรดาศิษย์ที่ไม่เข้าใจคำสั่งสอนที่ว่า "ไม่มีสิ่งใดเลยจากภายนอกของมนุษย์ทำให้เขามีมลทินได้" คืออาหารที่มนุษย์กินเพื่อดำรงชีวิตไม่เป็นสาเหตุทำให้เขามีมลทินด้านศีล ธรรม เพราะอิทธิพลของอาหารจบลงในด้านร่างกายเท่านั้น ไม่สามารถเข้าถึงจิตใจได้ หมายถึงมโนธรรม ยกเว้นในกรณีที่ผู้กินอาหารเป็นทาสของความโลภและไม่รู้จักประมาณตน

-ดังนี้ ทรงประกาศว่าอาหารทุกชนิดไม่เป็นมลทิน ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์บางคนคิดว่า ข้อความนี้ไม่ใช่พระวาจาของพระเยซูเจ้า แต่เป็นข้อสรุปของนักบุญมาระโก อย่างไรก็ตาม ประโยคนี้สรุปอย่างชัดเจนถึงพระวาจาที่พระเยซูเจ้าตรัสไว้ก่อน เพราะพระองค์ทรงยืนยันว่า โดยธรรมชาติ ไม่มีอาหารใดที่เป็นมลทินและทำให้ผู้กินเป็นมลทิน