"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“จงตั้งใจฟังให้ดี”

19. อุปมาสั้น ๆ สี่เรื่อง (2)
- เช่นเดียวกัน พระวาจาที่สองประกอบด้วย 2 ประโยคที่กล่าวถึงสิ่งตรงกันข้ามแต่ทั้งสองประโยคมีความคิดเดียวกันและคล้องจองกัน ประโยคที่สองจะซ้ำความคิดของสิ่งที่บอกในประโยคแรก ในบริบทของนักบุญมัทธิวพระวาจานี้เป็นคำเชิญชวนบรรดาศิษย์ให้มีความกล้าหาญในการประกาศความจริงที่พระเยซูเจ้าทรงมอบหมาย (เทียบ  มธ 10:26)  แต่นักบุญมาระโกเชื่อมโยงพระวาจานี้กับอุปมาเรื่องตะเกียง


- ไม่มีสิ่งใดที่ซ่อนอยู่จะไม่ปรากฏชัดแจ้ง ประโยคนี้ต้องการบอกว่าธรรมล้ำลึกเรื่องพระอาณาจักร
พระเจ้าคือการเปิดเผยพระอานุภาพที่ช่วยให้รอดพ้นของพระองค์ในพระคริสตเจ้าซึ่งเวลานี้ยังซ่อนอยู่แต่สักวันหนึ่งจะปรากฏชัดแจ้งแก่ผู้ไม่มีความเชื่อเพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะซ่อนอยู่ตลอดไป

- ไม่มีสิ่งใดที่ปิดบังไว้จะไม่ปรากฏออกมา ประโยคนี้รับรองความคิดของประโยคก่อน แต่มุมมองต่างกัน เวลานี้ยอมรับว่า พระอาณาจักรของพระเจ้าอาจจะซ่อนไว้ระยะเวลาหนึ่ง แต่จุดประสงค์ของพระอาณาจักรคือเพื่อปรากฏออกมาให้ทุกคนเห็น พูดอีกนัยหนึ่ง พระเยซูเจ้าตรัสว่า สักวันหนึ่งพระเจ้าผู้ทรงพระอานุภาพจะทรงทำให้พระอาจักรของพระเจ้าปรากฏแจ้งแก่ทุกคน ในบริบทพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าผู้ทรงได้รับการปฏิเสธจากประชาชน ก็เป็นคำยืนยันความเชื่อและความหวังว่า สักวันหนึ่งชาวอิสราเอลและมนุษย์ทั้งหลายจะยอมรับว่า พระเยซูเจ้าเป็นพระเมสสิยาห์

- ใครมีหูสำหรับฟังก็จงฟังเถิด” คำเหล่านี้มีไว้สำหรับศิษย์ของพระองค์ทุกสมัยคือ พระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนเราให้มีความหวังเดียวกับที่พระองค์ทรงสำแดงในเวลานั้น คือสักวันหนึ่งทุกคนจะมารู้จักและมีความเชื่อในพระองค์

- พระองค์ตรัสอีกว่า “จงตั้งใจฟังให้ดี พระวาจาที่สามนี้เริ่มต้นโดยซ้ำประโยคก่อน พระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนผู้ฟังให้ตั้งใจรับฟังคำสอนของพระองค์ เพราะเราเข้าใจพระเจ้าเท่าที่เราเปิดใจยอมรับพระวาจา

- ท่านตวงให้เขาอย่างไรเขาก็จะตวงให้ท่านอย่างนั้น แต่ละคนได้รับธรรมล้ำลึกของพระเจ้าในขนาดเท่าที่ตนสามารถที่จะฟังและเห็นพระเยซูเจ้า การตวงหมายถึงการตีความหมาย การชั่ง การตัดสิน ความเชื่อในพระคริสตเจ้าสอดคล้องกับทัศนะที่มีเกี่ยวกับพระองค์ เราจะถูกพิพากษาตามที่กระทำเช่นนี้

- และจะเพิ่มให้อีกด้วย น่าสังเกตว่าประโยคนี้ไม่มีประธาน เราไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้เพิ่มให้ แต่ในที่นี้ประธานคือพระเจ้า เพราะภูมิหลังวิธีการเขียนพระคัมภีร์ในภาษาอาราเมอิกหลีกเลี่ยงที่จะใช้พระนามของพระเจ้าเพื่อแสดงความเคารพอย่างสูงต่อพระองค์ ดังนั้น ยิ่งเราให้ความสำคัญแก่พระวาจา ต้อนรับและพยายามปฏิบัติมากเท่าใด พระเจ้าก็ยิ่งจะประทานความรู้และความสามารถทางจิตใจมากเท่านั้นเรารับจากพระองค์อยู่เสมอมากกว่าที่ปรารถนาจะได้รับ

- ผู้ที่มีมากจะได้รับมากขึ้นส่วนผู้ที่มีน้อยสิ่งเล็กน้อยที่เขามีจะถูกริบไปด้วย”ยังมีความคิดเช่นเดียวกับพระวาจาข้อ 24 ที่เน้นว่าผู้มีมากหมายถึงผู้ที่ซื่อสัตย์ต่อของประทานของพระเจ้า ผู้ที่ไม่เปลี่ยนแปลงความคิด ผู้ที่ยอมให้พระวาจาของพระเจ้าเป็นทรัพย์สมบัติของตน ทรัพย์สมบัตินี้ยิ่งจะร่ำรวย แต่ถ้าไม่มีพระวาจาของพระเจ้า ถ้าไม่ฟังและรำพึงภาวนาก็จะสูญเสียความจริงเกี่ยวกับโลกและตนเอง ในที่สุด ทุกสิ่งจะแห้งแล้งและจนลง พระเยซูเจ้าจึงทรงเปิดเผยธรรมล้ำลึกของพระอาณาจักร ทุกคนที่มีเจตนาดีจะมีความหวังที่จะได้รับความรอดพ้นจากพระเจ้า