"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“จงเหยียดมือซิ”

11. พระเยซูเจ้าทรงรักษาชายมือลีบ (2)
       - ”คนเหล่านั้นก็นิ่งอยู่” เขานิ่งอยู่เพราะถ้าตอบ เขาก็ต้องตอบว่า “ควรทำความดี” เขาไม่สนใจและไม่สงสารสภาพของผู้ป่วย จึงไม่เห็นด้วยที่จะรักษาผู้ป่วยให้หาย โดยแท้จริงแล้ว เขาน่าจะตอบพระองค์ว่า “แน่หละ ควรรักษาชายมือลีบให้หายเพื่อเป็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า” แต่ชาวฟาริสีและพรรคพวกของกษัตริย์เฮโรดมีเจตนาร้ายต่อพระองค์จึงไม่พูดอะไรเลย
       - ”พระองค์จึงทอดพระเนตรเขาเหล่านั้นด้วยความกริ้วเศร้าพระทัยเพราะจิตใจหยาบกระด้างของเขา”พระเยซูเจ้าทรงเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึกเหมือนเรา เมื่อเห็นคนใจแข็งกระด้างไม่สงสารผู้อื่น พระองค์ทรงเมินเฉยไม่ได้ จึงกริ้วและเศร้าพระทัยไม่ใช่เพราะเขาเหล่านั้นคิดปองร้ายพระองค์ แต่เพราะทรงเห็นว่าเขาไม่สามารถเข้าใจพระประสงค์ของพระเจ้า เขากำลังทำร้ายตนเอง
 
        - ”แล้วพระเยซูเจ้าตรัสสั่งชายมือลีบว่า ‘จงเหยียดมือซิ’ เขาก็เหยียดมือมือนั้นก็หายลีบเป็นปกติ”การรักษาผู้ป่วยให้หายในวันสับบาโตแสดงอย่างชัดเจนว่า พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยกับระบบที่ทำให้กฏธรรมบัญญัติอยู่เหนือความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ น่าสังเกตว่า พระเยซูเจ้าทรงรักษาให้หายโดยพระวาจาอย่างเดียว ไม่ทรงปฏิบัติกิจการอื่นๆ ที่ถือว่าเป็นงาน ดังนั้น พระองค์ไม่ทรงกระทำผิดกฏวันสับบาโต พระวาจาทรงอำนาจของพระองค์ทำให้สิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม คู่อริก็ยังสรุปว่าพระเยซูเจ้าทรงกระทำผิดต่อกฏธรรมบัญญัติ

       - ”ชาวฟาริสีจึงออกไปและประชุมกับพรรคพวกของกษัตริย์เฮโรดทันที เพื่อปรึกษาว่าจะกำจัดพระองค์ได้อย่างไร” การตัดสินใจนี้แสดงอีกครั้งว่า ชาวฟาริสีและพรรคพวกของกษัตริย์เฮโรดไม่สนใจที่จะปกป้องธรรมบัญญัติ เขาเพียงต้องการคอยจับผิดพระเยซูเจ้าเท่านั้น

         เราคงจะคิดว่า การกระทำเช่นนี้ไร้เหตุผล แต่เราต้องเข้าใจบริบทของชาวยิวสมัยนั้น ถ้าเราหาเหตุผลที่เขาต้องการประหารชีวิตพระเยซูเจ้า เราคงจะพบคำตอบดังที่บันทึกไว้ในพระวรสารตามคำบอกเล่าโดยนักบุญยอห์นเมื่อชาวยิวพูดกับพระเยซูเจ้าว่า “พวกเราจะเอาหินขว้างท่าน ไม่ใช่เพราะกิจการที่ดี แต่เพราะท่านพูดดูหมิ่นพระเจ้า ท่านเป็นเพียงมนุษย์ แต่ตั้งตนเป็นพระเจ้า” (ยน10:33)  หรือดังที่นักบุญยอห์นอธิบายว่า “ชาวยิวยิ่งพยายามจะฆ่าพระองค์ให้ได้ เพราะพระองค์ไม่เพียงแต่ละเมิดวันสับบาโตเท่านั้น แต่ยังทรงเรียกพระเจ้าเป็นพระบิดาของพระองค์อีกด้วย ซึ่งเป็นการทำตนเสมอพระเจ้า”(ยน5:18)

          หัวหน้าชาวยิวรับไม่ได้ที่พระเยซูเจ้าทรงให้อภัยบาป ทรงตีความหมายขนบประเพณีของชาวยิวแบบใหม่อย่างพิเศษโดยไม่อ้างถึงผู้อื่นเช่น เรื่องการจำศีลอดอาหาร การถือกฏวันสับบาโต เพราะการกระทำนี้เป็นการแสดงตนว่าทรงมีอำนาจเท่าเทียมพระเจ้า ดังนั้น ผลตามมาคือเขาต้องการกำจัดพระองค์ การโต้เถียงกันในแคว้นกาลิลีนี้ซึ่งจบลงด้วยคำยืนยันเจตนาดังกล่าว จึงเป็นการสรุปพระวรสารทั้งหมด คือพระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์เป็นพระบุตรผู้เสด็จมาช่วยมนุษย์ให้รอดพ้น แต่ทรงถูกหัวหน้าชาวยิวประหารชีวิต

b) ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
         1. พระเยซูเจ้าทรงอธิบายถึงพระประสงค์ของพระเจ้า ผู้ทรงสั่งให้ถือวันสับบาโตเป็นวันพักผ่อน คือ เพื่อทำความดีและช่วยชีวิต ไม่ใช่ทำความชั่วและปล่อยให้ตายไป คริสตชนปฏิบัติการพักผ่อนในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันของพระเจ้า เพื่อระลึกถึงงานกอบกู้มนุษย์ที่พระเจ้าทรงกระทำในพระเยซูคริสตเจ้า และระลึกถึงงานสร้างใหม่ที่พระองค์ทรงกระทำโดยอาศัยการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า การพักผ่อนในวันสับบาโตหรือในวันอาทิตย์สำหรับคริสตชนเป็นวิธีแสดงคารวกิจต่อพระเจ้า เป็นการขอบพระคุณพระองค์สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์ทรงกระทำเพื่อมนุษย์อย่างไรก็ตาม การพักผ่อนในวันนั้น ไม่หมายความว่า เราได้รับการยกเว้นที่จะรักและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ถ้าเรารักพระเจ้าเหนือสิ่งใดอย่างแท้จริง ความรักต่อพระเจ้าก็จะล้นไปสู่ความรักต่อเพื่อนพี่น้องเช่นกัน เราแสดงคารวกิจต่อพระเจ้าในวันอาทิตย์ไม่เพียงเมื่อร่วมพิธีกรรมและหยุดทำงานเท่านั้น แต่ด้วยวิธีปฏิบัติความรักต่อเพื่อนพี่น้องของเรา

         2. ชาวฟาริสีจับตามองพระเยซูเจ้าเหมือนกับแมวที่จ้องมองรูของหนูเพื่อพร้อมที่จะตะครุบมัน พระองค์ทรงกระทำบางสิ่งบางอย่างที่เขาคิดว่าผิดธรรมบัญญัติ เขาถือว่าการรักษาผู้ป่วยในวันสับบาโตสงวนไว้สำหรับผู้ที่ใกล้จะตายหรือป่วยหนักเท่านั้น แต่พระเยซูเจ้าทรงสอนว่า การช่วยเหลือผู้ป่วยไม่จำกัดในกรณีดังกล่าว  เพราะเราต้องช่วยเหลือผู้อื่นทุกวันรวมทั้งวันอาทิตย์ คริสตชนจึงควรถามตนเองว่า เรามีทัศนคติเหมือนชาวฟาริสีหรือไม่ เราอาจคิดว่าคริสตชนต้องไปวัดวันอาทิตย์ อ่านพระคัมภีร์ สวดภาวนาก่อนและหลังรับประทานอาหาร แต่ไม่จำเป็นต้องสนใจความต้องการของผู้อื่นส่วนพระเยซูเจ้าทรงสอนว่า สิ่งเหมาะสมที่ต้องปฏิบัติในวันของพระเจ้าคือ การช่วยเหลือผู้อื่น  วันหยุดนี้ไม่เป็นเพียงวันที่เราหยุดพักจากการทำงาน แต่เป็นวันที่เราต้องจับตามองความต้องการของผู้อื่นและช่วยเหลือเขา

          3. นักบุญยากอบเขียนไว้ว่า “คนที่รู้ว่าต้องทำความดี แต่ไม่ทำ ก็ทำบาป”(ยก4:17 ) เราจะรักพระเจ้าอย่างแท้จริงไม่ได้ถ้าไม่เกลียดชังบาปและทำความดีที่ควรทำ ชาวฟาริสีที่อยู่ในศาลาธรรมแทนที่จะยินดีเมื่อเห็นพระเยซูเจ้าทรงรักษาผู้ป่วย กลับรวมหัวกับพรรคพวกของกษัตริย์เฮโรดเพื่อกำจัดพระเยซูเจ้า เราอาจปฏิบัติเช่นกัน  ถ้าเราไม่ระวังพฤติกรรม เราอาจมีท่าทีเช่นเดียวกับชาวฟาริสีคือ อาจจะพัฒนาท่าทีคอยจับผิดผู้อื่น  มีใจแข็งกระด้างและคิดร้ายต่อเพื่อนพี่น้อง

          4. ”พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรชาวฟาริสีด้วยความกริ้วและเศร้าพระทัยเพราะจิตใจหยาบกระด้างของเขา” เรารักพระเยซูเจ้าและรู้ว่าพระองค์ทรงเป็นบุคคลที่น่ารัก มีพระทัยถ่อมตนและสุภาพอ่อนโยน จึงยากที่เราจะวาดภาพพระเยซูเจ้ากริ้ว แต่เราต้องเข้าใจว่าความโกรธไม่เป็นบาปเสมอไป ความโกรธคือปฏิกิริยาของมนุษย์ต่อสถานการณ์ที่ไม่สมควรเกิดขึ้นหรือไม่เอื้ออำนวยต่อเรา หลายครั้ง เมื่อเราโกรธในเวลาที่ไม่สมควร กับบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องหรือเพราะเหตุผลไม่ถูกต้อง ความโกรธก็เป็นบาป แต่พระเยซูเจ้าไม่ทรงมีอารมณ์โกรธโดยไร้เหตุผล พระองค์ทรงควบคุมความกริ้วได้ เราจึงต้องพิจารณาว่าความโกรธของเราเป็นบาปหรือไม่ เพราะเราโมโหบ่อย ๆ

          5. พระเยซูเจ้าตรัสสั่งชายมือลีบว่า ”จงเหยียดมือซิ” ถ้าผู้ป่วยคิดว่าตนเหยียดมือไม่ได้ อัศจรรย์ก็จะไม่เกิดขึ้น แต่เมื่อเขาเชื่อและไว้ใจในคำสั่งของพระเยซูเจ้าและปฏิบัติตาม มือของเขาก็หายลีบ กลับเป็นปกติ เรื่องนี้สอนเราว่า เราทุกคนต้องร่วมมือพระเยซูเจ้าด้วยความเชื่อ คือต้องมีความไว้วางใจว่าพระบัญชาของพระองค์ปฏิบัติได้และต้องลงมือปฏิบัติ การร่วมมือของเราทั้งส่วนตัวและส่วนรวมในพระศาสนจักรเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้แผนการของพระเจ้าจะเป็นความจริง นี่คือเหตุผลที่พระเจ้าประทานตา ขา หู มือและปากแก่เรา เพื่อเราจะดำเนินชีวิตตามพระฉบับของพระองค์จนกว่าพระองค์จะเสด็จมา

           6. ชาวฟาริสีเป็นกลุ่มที่ตีความกฎหมายที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์พระศาสนจักรไม่เพียงตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัด แต่ยังยึดมั่นในกฎระเบียบและกฎเกณฑ์ที่เป็นธรรมประเพณีของมนุษย์ เขาคิดว่ากฎระเบียบเหล่านี้มีผลบังคับใช้เท่ากับพระวาจาของพระเจ้า เราควรถามตนเองว่า เราแยกแยะบทบัญญัติที่เป็นพระบัญชาของพระเจ้าออกจากกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่มนุษย์ตราไว้หรือไม่ เรารู้จักวินิจฉัยว่า ข้อกำหนดที่มนุษย์ตั้งขึ้นอาจละเมิดได้และไม่มีผลบังคับใช้เท่ากับบทบัญญัติของพระเจ้า เพราะบทเหล่านี้ต้องมาก่อนทุกสิ่งทุกอย่าง

            7. พระเยซูเจ้าทรงสั่งให้ผู้ป่วยมายืนตรงกลางหมู่ของประชาชน เพื่อเขาจะไม่ต้องอยู่บริเวณชายขอบของสังคม เราน่าจะตนเองว่า เราปฏิบัติเช่นนี้หรือไหม เราให้ความสำคัญแก่คนยากจนและคนทั่วไปเช่นเดียวกับบุคคลที่มีเกียรติในสังคม หรือพยายามขจัดคนเหล่านั้นให้อยู่ในบริเวณชายขอบสังคม