“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

การก่อตั้งพระศาสนจักรที่เมืองโครินธ์

18 1หลังจากนั้น เปาโลออกจากกรุงเอเธนส์ไปเมืองโครินธ์a 2เขาพบชาวยิวคนหนึ่ง ชื่ออาควิลา ชาวแคว้นปอนทัส เพิ่งมาจากอิตาลีพร้อมกับภรรยาชื่อปริสซิลลาb เพราะพระจักรพรรดิคลาวดิอัสทรงออกพระราชกฤษฎีกาให้ชาวยิวทุกคนออกจากกรุงโรมc เปาโลไปพบเขาทั้งสองคน 3พักอยู่และทำงานร่วมกันd เพราะมีอาชีพเดียวกันคือเป็นช่างทำกระโจม 4ทุกวันสับบาโต เปาโลถกเถียงในศาลาธรรม พยายามชักชวนชาวยิวและชาวกรีกให้มีความเชื่อ

5เมื่อสิลาสและทิโมธีกลับมาจากแคว้นมาซิโดเนียeแล้ว เปาโลอุทิศตนเต็มที่ในการประกาศพระวาจาเป็นพยานยืนยันแก่ชาวยิวว่า พระเยซูเป็นพระคริสตเจ้าf 6แต่เมื่อชาวยิวเหล่านั้นต่อต้านและพูดดูหมิ่นพระเจ้า เปาโลก็สะบัดฝุ่นจากเสื้อผ้าเป็นการตอบโต้g พูดกับเขาว่า “ถ้าท่านไม่รอดพ้น ก็เป็นเรื่องของท่าน ข้าพเจ้าไม่รับผิดชอบแล้ว ตั้งแต่นี้ไป ข้าพเจ้าจะไปหาคนต่างศาสนา”

7เปาโลออกจากศาลาธรรมไปยังบ้านของทิธีอัสยุสตัสh ผู้เลื่อมใสในพระเจ้า บ้านของเขาอยู่ติดกับศาลาธรรม 8คริสปัสหัวหน้าศาลาธรรมและทุกคนในครอบครัวมีความเชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า ชาวโครินธ์หลายคนที่ฟังเปาโลก็มีความเชื่อและรับศีลล้างบาปiด้วย

9คืนหนึ่ง องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสแก่เปาโลในนิมิตว่า “อย่ากลัว จงพูดต่อไป อย่าเงียบเลย 10เพราะเราอยู่กับท่าน ไม่มีใครกล้าทำร้ายท่าน เพราะหลายคนในเมืองนี้เป็นประชากรของเราแล้ว” 11เปาโลพักอยู่ที่นั่นและสั่งสอนพระวาจาของพระเจ้าแก่ชาวเมืองนั้นเป็นเวลาหนึ่งปีหกเดือน

เปาโลถูกนำขึ้นศาล

12ขณะที่กัลลิโอเป็นผู้ว่าราชการแคว้นอาคายาj ชาวยิวช่วยกันจู่โจมจับเปาโลและนำเขาไปขึ้นศาล 13กล่าวฟ้องว่า “ชายผู้นี้ชักชวนประชาชนให้นมัสการพระเจ้าอย่างผิดกฎหมาย”k

14เปาโลกำลังจะกล่าวตอบ กัลลิโอก็พูดกับชาวยิวว่า “ชาวยิวเอ๋ย ถ้าเป็นเรื่องอาชญากรรมหรือการฉ้อฉลเลวร้าย ข้าพเจ้ายินดีจะรับฟังคำร้องของท่านอย่างแน่นอน 15แต่ถ้าเป็นเพียงปัญหาเรื่องคำสอน เรื่องถ้อยคำ เรื่องชื่อ และเรื่องธรรมบัญญัติของท่าน ท่านจงไปจัดการกันเองเถิด ข้าพเจ้าไม่ต้องการเป็นผู้พิพากษาตัดสินในเรื่องเช่นนี้” 16กัลลิโอจึงสั่งชาวยิวเหล่านั้นให้ออกไปจากศาล 17ทุกคนจับโสสเธเนสlหัวหน้าศาลาธรรม และโบยตีต่อหน้าศาล แต่กัลลิโอมิได้สนใจเลย

เปาโลกลับมาที่เมืองอันทิโอกและออกเดินทางครั้งที่สามเพื่อประกาศข่าวดี

18เปาโลพักอยู่ในเมืองโครินธ์อีกหลายวัน กล่าวลาบรรดาพี่น้อง แล่นเรือไปยังแคว้นซีเรียmพร้อมกับปริสซิลลาและอาควิลา ก่อนออกเรือที่เมืองเคนเครีย เปาโลโกนศีรษะ เพราะได้บนขอไว้n 19ทั้งสามคนมาถึงเมืองเอเฟซัส เปาโลแยกจากปริสซิลลาและอาควิลาที่นั่น แล้วเข้าไปในศาลาธรรม ถกเถียงกับชาวยิว 20ชาวยิวเหล่านี้ขอให้เปาโลพักอยู่กับเขานานกว่านั้น แต่เปาโลปฏิเสธ 21ขณะที่อำลากันนั้น เปาโลพูดว่า “ข้าพเจ้าจะกลับมาพบท่านอีกถ้าพระเจ้าทรงพระประสงค์” แล้วจึงแล่นเรือออกไปจากเมืองเอเฟซัส 22เมื่อมาถึงเมืองซีซารียา เปาโลขึ้นไปคำนับทักทายกลุ่มคริสตชนo แล้วเดินทางต่อไปยังเมืองอันทิโอก

23หลังจากอยู่ในเมืองอันทิโอกระยะหนึ่ง เปาโลออกจากที่นั่น เดินทางไปทั่วแคว้นกาลาเทียและฟรีเจีย เพื่อทำให้บรรดาศิษย์มีความเชื่อมั่นคงยิ่งขึ้น

อปอลโล

24ในช่วงเวลานั้น ชาวยิวคนหนึ่งชื่ออปอลโลp ชาวเมืองอเล็กซานเดรีย มาที่เมืองเอเฟซัส เขารอบรู้พระคัมภีร์ มีวาทศิลป์ 25ได้รับการสั่งสอนเรื่องวิถีทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า มีจิตใจกระตือรือร้นมากในการพูดและการสอนเรื่องเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าอย่างถูกต้อง แต่รู้จักเพียงพิธีล้างของยอห์นเท่านั้น 26เขาเริ่มเทศน์สอนอย่างกล้าหาญในศาลาธรรม ปริสซิลลาและอาควิลาได้ฟัง จึงเชิญเขาไปที่บ้านและอธิบายให้เขาเข้าใจวิถีทางqของพระเจ้าอย่างละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น

27อปอลโลต้องการไปยังแคว้นอาคายา บรรดาพี่น้องก็ให้กำลังใจและเขียนจดหมายถึงบรรดาศิษย์ที่นั่นให้ต้อนรับเขาr เมื่อไปถึง อปอลโลให้ความช่วยเหลืออย่างมากแก่ผู้ที่พระเจ้าทรงบันดาลให้มีความเชื่อ 28เขาตอบโต้อย่างแข็งขันกับชาวยิวต่อหน้าคนทั้งหลาย โดยอ้างข้อความจากพระคัมภีร์พิสูจน์ว่าพระเยซูเจ้าเป็นพระคริสตเจ้า

 

18 a เมื่อโครินธ์เป็นเมืองที่จูเลียสซีซาร์ได้สร้างขึ้นใหม่ กลายเป็นเมืองหลวงของแคว้นอาคายาแห่งจักรวรรดิโรมัน เป็นเมืองเจริญรุ่งเรือง มีท่าเรือสองแห่ง ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวโรมันและพูดภาษาละติน แต่การเป็นศูนย์กลางการค้าขายได้ดึงดูดผู้คนจากทุกชาติ มีกลุ่มชาวยิวใหญ่พอสมควรอาศัยอยู่ด้วย ระดับศีลธรรมของเมืองนี้ตกต่ำจนเป็นที่กล่าวขานกันทั่วไป

b ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ปริสคา” (รม 16:3; 1 คร 16:19; 2 ทธ 4:19)

c ซูเอโตเนียสนักประวัติศาสตร์ชาวโรมันบอกให้เราทราบว่าพระราชกฤษฎีกานี้ออกในปี 49 หรือ 50 และมีผลบังคับเพียงระยะเวลาสั้นมาก (เทียบ 28:17; รม 16:3)

d แม้ว่าเปาโลยอมรับว่าธรรมทูตมีสิทธิที่จะได้รับการเลี้ยงดูจากคริสตชน (1 คร 9:6-14; กท 6:6; 2 ธส 3:7-9; เทียบ ลก 10:7) แต่เปาโลก็ยังมีอาชีพเลี้ยงตนเองด้วย (1 คร 4:12) เพราะเขาไม่ปรารถนาที่จะเป็นภาระแก่ผู้ใด (2 คร 12:13ฯ; 1 ธส 2:9; 2 ธส 3:8) และเพื่อแสดงว่าตนประกาศข่าวดีโดยไม่หวังผลประโยชน์ (กจ 20:33ฯ; 1 คร 9:15-18; 2 คร 11:7-12) เปาโลยอมรับความช่วยเหลือจากชาวฟีลิปปีเท่านั้น (2 คร 11:8ฯ; ฟป 4:10-18; ดู กจ 16:15 เชิงอรรถ k ด้วย) เปาโลได้แนะนำบรรดาศิษย์ให้มีอาชีพเพื่อเลี้ยงตนเอง (1 ธส 4:11ฯ; 2 ธส 3:10-12) และช่วยเหลือคนยากจนด้วย (กจ 20:35; อฟ 4:28)

e หลังจากนี้ เปาโลได้เขียนจดหมายสองฉบับถึงชาวเธสะโลนิกา สิลาสและทิโมธีได้นำเงินช่วยเหลือมาจากแคว้นมาซิโดเนียด้วย (2 คร 11:8-9; ฟป 4:15) และได้ช่วยเปาโลประกาศข่าวดีที่เมืองโครินธ์ (2 คร 1:19)

f เรื่องพระเยซูเจ้าเป็นพระเมสสิยาห์ เป็นหัวข้อสำคัญในการประกาศข่าวดีแก่ชาวยิว (เทียบ 2:36; 3:18, 20; 5:42; 8:5, 12; 9:22; 17:3; 18:28; 24:24; 26:23)

g การสะบัดฝุ่นจากเสื้อเป็นสัญลักษณ์หมายถึงการตัดความสัมพันธ์ ประโยคต่อไปแปลตามตัวอักษรว่า “ขอให้เลือดของท่านอยู่บนศีรษะของท่านเถิด” เป็นสำนวนที่พบบ่อยในพระคัมภีร์ (เทียบ ลนต 20:9-16; 2 ซมอ 1:15-16) และหมายความว่า ชาวยิวต้องรับผิดชอบการกระทำของตน “เลือด” คือ การลงโทษ มิใช่ธุระของเปาโล ซึ่งมีมโนธรรมบริสุทธิ์ในเรื่องนี้ (แปลตามตัวอักษรว่า “ข้าพเจ้าสะอาด”)

h สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ทิตัส ยุสตัส” หรือ “ยุสตัส”

i สำเนาโบราณบางฉบับเสริมว่า “โดยมีความเชื่อในพระเจ้าเดชะพระนามพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” (ดู 8:36 เชิงอรรถ n) เพราะฉะนั้น บรรดาผู้กลับใจจึงเป็นคนต่างชาติ

j ศิลาจารึกที่เมืองเดลฟีบอกให้เราทราบว่ากัลลิโอเป็นผู้ว่าราชการในปี 51-52 ดังนั้น การที่เปาโลถูกนำไปขึ้นศาลต่อหน้ากัลลิโอต้องเกิดขึ้นตอนปลาย (ข้อ 18) ของสิบแปดเดือนที่เปาโลอยู่ (ข้อ 11) ที่เมืองโครินธ์ อาจเป็นฤดูใบไม้ผลิของปี 52

k “กฎหมาย” ในที่นี้อาจหมายถึงกฎหมายโรมัน (ดู 16:21; 17:7) หรือกฎหมายของชาวยิว (ธรรมบัญญัติ) ซึ่งกฎหมายโรมันยอมรับ กัลลิโอเห็นว่าข้อกล่าวหาเป็นเพียงปัญหาเรื่องการตีความกฎหมายของชาวยิวเท่านั้น (ข้อ 15) เขาจึงประกาศว่าไม่มีความสามารถในเรื่องนี้

l โสสเธเนสผู้นี้คงไม่ใช่โสสเธเนสใน 1 คร 1:1

m หมายถึง เมืองอันทิโอก จุดเริ่มต้นงานธรรมทูตของเปาโล

n ภาษากรีกคลุมเครือไม่ชัดว่าเปาโลหรืออาควิลาได้บนบานไว้ แต่น่าจะเป็นเปาโลมากกว่า การบนบานเช่นนี้เป็นการสัญญาจะเป็นนาศีร์ (ดู กดว 6:1 เชิงอรรถ a) ชั่วระยะเวลาหนึ่ง (โดยปกติเป็นเวลาสามสิบวัน) โดยปฏิบัติตามข้อบังคับต่างๆ เช่น การปล่อยผมยาวไม่ตัดตลอดช่วงเวลานั้น เราไม่ทราบว่าเปาโลได้บนบานที่เมืองเคนเครียหรือสิ้นสุดการบนบานที่นั่น (เทียบ 21:23-27 ในกรณีนั้นเปาโลและชาวยิวอีกสี่คนได้ยุติการบนบานโดยตัดผมในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม)

o บางทีอาจเป็นพระศาสนจักรที่กรุงเยรูซาเล็ม

p สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอปอลโล ดู 1 คร เมื่อเขาไปถึงเมืองโครินธ์ คริสตชนที่นั่นนิยมชมชอบเขามาก จนมีการแบ่งแยกเป็นพรรคเป็นพวก (ดู 1 คร 1:12; 3:4-11, 22; ดู ทต 3:13 ด้วย) ข้อสังเกตเกี่ยวกับอปอลโลคล้ายกับลักษณะของศิษย์ของยอห์นผู้ทำพิธีล้าง เปาโลจะพบศิษย์เหล่านี้ที่เมืองเอเฟซัสในข้อความบทที่ 19 ข้อมูลทั้งสองกรณีเกี่ยวกับความรู้ไม่สมบูรณ์ของคริสตชน ทำให้เราเห็นสภาพของพระศาสนจักรที่เมืองอเล็กซานเดรียในเวลานั้นได้

q สำเนาโบราณบางฉบับละ “ของพระเจ้า”

r การที่กลุ่มคริสตชนสมัยแรกใช้จดหมายแนะนำตัว ดู รม 16:1; 2 คร 3:1ฯ; คส 4:10; 2 ยน 9-10, 12

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก