“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

ความขัดแย้งกับชาวยิวที่เมืองเธสะโลนิกา

17 1เมื่อเปาโลและสิลาสเดินทางผ่านเมืองอัมฟีโปลิสและอปอลโลเนียแล้ว ก็มาถึงเมืองเธสะโลนิกา ที่เมืองนี้ชาวยิวมีศาลาธรรมของตน 2เปาโลเข้าไปในศาลาธรรมดังที่เคยปฏิบัติ อ้างพระคัมภีร์มาพูดโต้ตอบกับชาวยิวในวันสับบาโตสามวัน 3เพื่ออธิบายและพิสูจน์ว่าพระคริสตเจ้าจำเป็นต้องทนทุกข์ทรมานและกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย เปาโลพูดว่า “พระเยซูผู้ที่ข้าพเจ้าประกาศแก่ท่านนี้คือพระคริสตเจ้า” 4ชาวยิวบางคนaเห็นพ้องด้วยและสมัครใจเข้าร่วมกลุ่มกับเปาโลและสิลาส ชาวกรีกจำนวนมากที่เลื่อมใสในศาสนายิวb รวมทั้งสตรีชั้นสูงหลายคนก็เข้ามาร่วมกลุ่มกับเขาทั้งสองคนด้วย

5ชาวยิวอื่นๆ อิจฉา จึงจ้างคนพาลจากลานสาธารณะจำนวนหนึ่ง ให้รวมกันก่อความวุ่นวายขึ้นในเมือง คนพวกนี้ไปที่บ้านของยาโสนc ค้นหาเปาโลและสิลาสเพื่อจะนำไปขึ้นศาลประชาชน 6เมื่อไม่พบ เขาจึงนำตัวยาโสนและพี่น้องบางคนไปอยู่ต่อหน้าข้าราชการ ตะโกนว่า “คนที่ก่อความวุ่นวายไปทั่วโลกมาอยู่ที่เมืองนี้แล้ว 7ยาโสนรับคนพวกนี้ไว้ในบ้าน ทุกคนฝ่าฝืนกฎของพระจักรพรรดิ พูดว่า มีกษัตริย์อีกองค์หนึ่งdชื่อ ‘เยซู’ 8การกล่าวหาเช่นนี้ทำให้ประชาชนและข้าราชการรู้สึกเดือดร้อน” 9แต่เมื่อได้รับเงินค่าประกันตัวจำนวนหนึ่งจากยาโสน และคนอื่นๆ แล้วก็ปล่อยคนเหล่านั้นไป

ความขัดแย้งอีกครั้งหนึ่งที่เมืองเบโรอา

10คืนนั้น บรรดาพี่น้องรีบส่งเปาโลและสิลาสไปยังเมืองเบโรอาe เมื่อไปถึงที่นั่น เขาทั้งสองคนเข้าไปในศาลาธรรมของชาวยิว 11ชาวยิวที่เมืองนี้มีจิตใจดีกว่าชาวยิวที่เมืองเธสะโลนิกา เขารับข่าวดีด้วยความกระตือรือร้นอย่างมาก ทุกวันเขาอ่านพระคัมภีร์เพื่อตรวจสอบดูว่าพระคัมภีร์กล่าวดังที่เปาโลสอนหรือไม่ 12ชาวยิวหลายคนมีความเชื่อ ชาวกรีกทั้งสตรีฐานะดีและบุรุษจำนวนไม่น้อยก็มีความเชื่อเช่นเดียวกัน

13เมื่อชาวยิวที่เมืองเธสะโลนิการู้ว่าเปาโลประกาศพระวาจาของพระเจ้าที่เมืองเบโรอา ก็ไปที่นั่นเพื่อปลุกระดมและก่อกวนประชาชนด้วย 14บรรดาพี่น้องจึงส่งเปาโลไปยังชายทะเลทันที ส่วนสิลาสและทิโมธียังคงพักอยู่ที่เมืองเบโรอา 15เพื่อนร่วมทางพาเปาโลไปถึงกรุงเอเธนส์ แล้วเดินทางกลับพร้อมกับคำสั่งของเปาโลให้สิลาสและทิโมธีรีบเดินทางไปสมทบโดยเร็วที่สุดf

เปาโลที่กรุงเอเธนส์

16ขณะที่เปาโลกำลังรอสิลาสและทิโมธีอยู่ที่กรุงเอเธนส์ เขาไม่พอใจมากที่เห็นรูปเคารพเต็มเมืองg 17ที่ศาลาธรรมเขาถกเถียงกับชาวยิวและชาวกรีกที่เลื่อมใสในศาสนายิว ทุกๆ วันเขาไปที่ลานสาธารณะh พูดคุยกับทุกคนที่พบ 18นักปรัชญาบางคนทั้งพวกเอปีคูเรียนและพวกสโตอิกiเริ่มถกเถียงกับเปาโล บางคนถามว่า “คนเพ้อเจ้อคนนี้ต้องการพูดเรื่องใด”j บางคนให้ข้อสังเกตว่า “ดูเหมือนว่าเขากำลังพูดหว่านล้อมให้คนเชื่อเรื่องพระของคนต่างชาติ” เขาพูดดังนี้เพราะเปาโลประกาศข่าวเรื่องพระเยซูเจ้าและการกลับคืนพระชนมชีพk 19ดังนั้น เขาจึงนำตัวเปาโลไปยังที่ประชุมอภิรัฐสภาl แล้วพูดว่า “จงอธิบายให้เรารู้เถิดว่า คำสอนใหม่ที่ท่านกำลังสอนนี้คืออะไร 20ท่านเล่าเรื่องแปลกๆ ให้เราฟัง เราอยากรู้ว่าเรื่องเหล่านี้หมายความว่าอะไร” 21ชาวเอเธนส์ทุกคนและบรรดาคนต่างชาติที่อยู่ที่นั่นไม่ทำอะไร นอกจากเล่าและฟังเรื่องใหม่ๆ เป็นการฆ่าเวลา

คำปราศรัยของเปาโลต่อหน้าอภิรัฐสภาm

22เปาโลยืนอยู่ตรงกลางที่ประชุมอภิรัฐสภา พูดว่า “ชาวเอเธนส์ทั้งหลาย ข้าพเจ้าพบว่าท่านมีความเลื่อมใสในศาสนามากจริงๆ 23เมื่อข้าพเจ้าเดินชมเมือง สังเกตเห็นปูชนียวัตถุต่างๆ ของท่าน พบแท่นบูชาแท่นหนึ่งมีคำจารึกว่า “แด่พระเจ้าที่เราไม่รู้จัก”n ข้าพเจ้ามาประกาศให้ท่านรู้จักพระเจ้าองค์นี้ที่ท่านเคารพทั้งๆ ที่ท่านไม่รู้จัก

24พระองค์คือพระเจ้าผู้ทรงสร้างโลกและทรงสร้างทุกสิ่งที่อยู่ในโลก พระองค์ทรงเป็นเจ้านายของสวรรค์และแผ่นดิน พระองค์ไม่สถิตในวิหารที่มือมนุษย์สร้างขึ้น 25พระองค์ไม่ทรงต้องการการปรนนิบัติจากมือมนุษย์o ประหนึ่งว่าทรงขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ประทานชีวิต ลมหายใจและทุกสิ่งให้แก่มนุษย์ทุกคน 26พระองค์ทรงทำให้มนุษย์ทุกชาติสืบเชื้อสายมาจากมนุษย์คนเดียวp และทรงทำให้เขาทั้งหลายอยู่ทั่วพื้นแผ่นดิน โดยทรงกำหนดช่วงเวลาและขอบเขตให้เขาอยู่q 27พระเจ้าทรงกระทำดังนี้เพื่อให้มนุษย์แสวงหาพระเจ้าr เขาพบพระองค์ได้ แม้จะต้องคลำหา เพราะพระองค์ทรงอยู่ไม่ห่างจากเราแต่ละคน 28เรามีชีวิต เคลื่อนไหวและมีความเป็นอยู่sในพระองค์ ดังที่กวีบางคนtของท่านกล่าวไว้ว่า

“พวกเราเป็นบุตรของพระองค์”u

29เราเป็นบุตรของพระเจ้า เราจึงไม่ควรคิดว่า พระเจ้าทรงเป็นเหมือนรูปทองคำ เงินหรือหิน ซึ่งแกะสลักอย่างมีศิลปะตามจินตนาการของมนุษย์v 30บัดนี้ พระเจ้าทรงมองข้ามเวลาในอดีตเมื่อมนุษย์ยังไม่มีความรู้ พระองค์ทรงบัญชาให้มนุษย์ทุกคนทั่วทุกแห่งกลับใจ 31เพราะพระองค์ทรงกำหนดวันหนึ่งไว้เมื่อจะทรงพิพากษาโลกด้วยความยุติธรรมw โดยผ่านมนุษย์ผู้หนึ่งที่พระองค์ทรงแต่งตั้งและทรงรับรองต่อมนุษย์ทุกคน โดยทรงทำให้ผู้นี้กลับคืนชีวิตจากบรรดาผู้ตาย”x

32เมื่อเขาเหล่านั้นฟังคำพูดเรื่องการกลับคืนชีวิตของบรรดาผู้ตาย บางคนหัวเราะเยาะ บางคนพูดว่า “รอไว้ฟังเรื่องนี้จากท่านในคราวหน้าก็แล้วกัน”y 33เปาโลจึงออกไปจากที่ประชุมสภา 34แม้กระนั้น บางคนก็ยังติดตามเปาโลและมีความเชื่อ คือ ดีโอนีซีอัสz สมาชิกอภิรัฐสภา และสตรีคนหนึ่งชื่อดามาริส รวมทั้งคนอื่นอีกจำนวนหนึ่งด้วย

 

17 a อาริสทาร์คัสเพื่อนที่ซื่อสัตย์ที่สุดคนหนึ่งของเปาโล (ดู 20:4; คส 4:10) อาจเป็นคนหนึ่งในพวกนี้ด้วย

b สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ชาวกรีกและผู้เลื่อมใสในศาสนายิว” ถ้าอ้างเช่นนี้จะเป็นการแยกระหว่าง “ชาวกรีกที่เลื่อมใสในศาสนายิวแต่ยังไม่เข้าสุหนัต” (10:2 เชิงอรรถ b) จากชาวกรีกที่ไม่เคยสนใจต่อศาสนายิวเลย ผู้กลับใจส่วนใหญ่ในเมืองเธสะโลนิกาเป็นคนต่างศาสนา (ดู 1 ธส 1:9-10)

c ยาโสนผู้นี้อาจเป็นคนเดียวกับที่กล่าวถึงใน รม 16:21

d แท้จริงแล้ว คริสตชนหลีกเลี่ยงการเรียกชื่อพระเยซูเจ้าด้วยชื่อแบบจักรพรรดิว่า “บาซีเลอุส” (“กษัตริย์”) แต่ชอบใช้คำว่า “พระคริสตเจ้า” (เมสสิยาห์ หรือผู้รับเจิม) และคำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” มากกว่า

e แม้ว่าเปาโลและสิลาสได้ออกจากเมืองเธสะโลนิกาไปแล้ว การเบียดเบียนคริสตชนที่เมืองเธสะโลนิกาก็ยังไม่เลิก (เทียบ 1 ธส 2:14)

f ลูกากำลังสรุปเหตุการณ์อย่างรวบรัด อันที่จริงทิโมธีคงเดินทางไปกับเปาโลด้วย เพราะในภายหลังเปาโลส่งเขาจากกรุงเอเธนส์ไปยังเมืองเธสะโลนิกา (1 ธส 3:1ฯ)

g กรุงเอเธนส์เป็นศูนย์กลางความรู้และศิลปวิทยาของชาวกรีก ลูกาจึงให้ความสำคัญแก่การที่เปาโลไปเทศน์สอนที่นั่นเป็นพิเศษ บทเทศน์ของเปาโลที่นี่เป็นตัวอย่างเดียวที่เปาโลใช้เหตุผลทางปรัชญาตอบโต้กับลัทธินับถือเทพเจ้าหลายองค์ของชาวกรีก โดยไม่อ้างข้อความจากพระคัมภีร์เลย

h เป็นครั้งแรกที่เปาโลเทศน์สอนในตลาดนอกศาลาธรรม การเทศน์สอนแบบนี้ที่กรุงเอเธนส์ทำให้คิดถึงโสคราเตสนักปรัชญา

i พวกเอปีคูเรียนและสโตอิกเป็นนักปรัชญาสองพวกที่สำคัญในสมัยนั้น

j แปลตามตัวอักษรว่า “ผู้เก็บเมล็ดผู้นี้ต้องการพูดอะไร” คำภาษากรีก “spermologos” มักใช้กับนกที่ใช้ปากจิกเมล็ดพืช ฯลฯ แล้วจึงนำมาใช้กับ “ขอทาน” ที่เก็บเศษอาหารจากที่ต่างๆ และยังหมายถึงคนช่างพูดที่พูดซ้ำซากแบบนกแก้ว

k “พระเยซูและการกลับคืนพระชนมชีพ” ในภาษากรีก “เยซู และ Anastasis” ชาวกรีกที่ได้ยินวลีนี้คิดว่าเปาโลกำลังพูดถึงเทพเจ้าใหม่สององค์คือ “พระเยซู” และ “เทพี Anastasis” ผู้เป็นภรรยา

l “อภิรัฐสภา” ภาษากรีก Areopagus หมายถึง เนินที่อยู่ทางทิศใต้ของ “ตลาด” และยังอาจหมายถึงสภาสูงของนครรัฐ (อภิรัฐสภา) ประโยคนี้จึงเข้าใจได้สองอย่าง (1) นักปราชญ์นำเปาโลไปยังเนินเขาให้ห่างจากประชาชนในตลาดเพื่อหลีกเลี่ยงความอึกทึก หรือ (2) เปาโลถูกนำไปต่อหน้าสมาชิกอภิรัฐสภา (อย่างที่เราแปล)

m โครงสร้างของคำปราศรัยมีดังนี้ ข้อ 22-23 เป็นบทนำ ต่อจากนั้นเปาโลพัฒนาคำสอนเรื่องพระเจ้าเที่ยงแท้แต่พระองค์เดียว ซึ่งตรงข้ามกับความคิดของคนต่างศาสนาว่า (1) พระเจ้าทรงสร้างจักรวาล เพราะฉะนั้นเราต้องไม่คิดว่าพระองค์ทรงอาศัยอยู่ในพระวิหารหรือทรงต้องการคารวกิจจากมนุษย์ (ข้อ 24-25) (2) พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์และประทานพระพรต่างๆ ให้เขา เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องเหลวไหลที่จะคิดว่าพระองค์เป็นวัตถุ เช่นรูปเคารพ (ข้อ 26-29) คำปราศรัยจบลงด้วยการเรียกร้องให้กลับใจเพื่อจะพ้นจากการพิพากษาลงโทษ (ข้อ 30-31) คำปราศรัยทั้งสองภาคต้องการประณามการเคารพรูปเคารพ เปาโลให้เหตุผลที่ชาวยิวโดยทั่วไปมักใช้ในการเผยแผ่คำสอนเรื่องพระเจ้าเพียงพระองค์เดียวกับคนต่างศาสนา

n ชาวกรีกเคยถวายแท่น “แด่พระเจ้าที่เราไม่รู้จัก เพื่อเอาใจบรรดาเทพเจ้าซึ่งพวกเขาไม่รู้จักชื่อ เปาโลนำการปฏิบัติเช่นนี้มาใช้เป็นประโยชน์ เพื่อจะไม่ต้องกล่าวประณามคนต่างศาสนาที่ไม่รู้จักพระเจ้าเที่ยงแท้ ดังที่พบบ่อยๆ ในพระคัมภีร์ เช่น โยบ 18:21; ปชญ 13:1; 14:22; ยรม 10:25; 1 คร 15:34; กท 4:8; อฟ 4:17-19; 1 ธส 4:5; 2 ธส 1:8; 1 ปต 1:14 ดังนี้ เปาโลจึงพ้นจากข้อกล่าวหาว่าสอนเรื่องเทพเจ้าใหม่ๆ

o ความคิดที่ว่าพระเจ้าไม่ทรงต้องการการปรนนิบัติรับใช้จากมนุษย์เป็นเรื่องปกติในความคิดทั้งของชาวกรีกและของชาวยิวนิยมกรีก เป็นรูปแบบความคิดที่พบได้ในพระคัมภีร์ตั้งแต่เดิมแล้ว (1 พศด 29:10ฯ; สดด 50:9-13; อมส 5:21ฯ)

p สำเนาโบราณบางฉบับว่า “จากเลือดสายเดียว”

q “ช่วงเวลา” หมายถึง ฤดูกาลต่างๆ เพราะการสับเปลี่ยนฤดูกาลทำให้แผ่นดินสามารถผลิตผลพืชพันธุ์ธัญญาหารสำหรับเลี้ยงชีวิตมนุษย์ (14:17; เทียบ ปฐก 1:14; ปชญ 7:18; บสร 33:8) “ขอบเขต” ที่อาศัยอยู่ของมนุษย์ อาจหมายถึง ขอบเขตที่พระเจ้าทรงกำหนดให้แผ่นดินแห้งแยกจากน้ำ (ปฐก 1:9-10; โยบ 38:8-11; สดด 104:9; สภษ 8:28-29; เทียบ สดด 74:17; ยรม 5:22-24) ยังอธิบายได้อีกว่า “ช่วงเวลา” และ “ขอบเขต” หมายถึง การที่พระเจ้าทรงกำหนดให้แต่ละชาติอยู่ที่ไหนและมีความเจริญรุ่งเรืองเมื่อไร (ปฐก 10; ฉธบ 32:8ฯ) ไม่ว่าจะเข้าใจอย่างไร ข้อความนี้หมายถึงระเบียบที่พบได้ในจักรวาล ซึ่งนำเราให้รู้จักพระเจ้าได้

r สำเนาโบราณบางฉบับว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า”

s ความคิดคล้ายกันนี้พบได้ในข้อความของกวี Epimenides ชาว Cnossos (ศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ.)

t สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ท่านบางคน” หรือ “นักปราชญ์บางคนของท่าน”

u เป็นข้อความยกมาจากหนังสือ Phainomena ของอาราตัส ชาวซีลีเซีย (ศตวรรษที่ 3 ก่อน ค.ศ.) Cleanthes นักปราชญ์ลัทธิสโตอา (ศตวรรษที่ 3) ใช้สำนวนคล้ายกันนี้ด้วย คำเทศน์สอนของชาวยิวเรื่องพระเจ้าเที่ยงแท้เพียงพระองค์เดียว ยังอ้างว่า พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามภาพลักษณ์เหมือนพระองค์ (ปฐก 1:26-27; ปชญ 2:23; บสร 17:1-8) เพื่อพิสูจน์ว่าการเคารพรูปเคารพเป็นเรื่องเหลวไหล

v ในอดีตบรรดาประกาศกก็เคยโจมตีผู้เคารพรูปเคารพอยู่แล้ว (ดู อสย 40:20 เชิงอรรถ m)

w เทียบ สดด 9:8; 96:13; 98:9 บรรดาอัครสาวกเชิญชวนให้ผู้ฟังกลับใจโดยให้คำนึงถึงการพิพากษาลงโทษจากพระเจ้า (เทียบ 10:42-43; 1 ธส 1:10 เป็นต้น)

x การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าเป็นเหตุผลสนับสนุนความเชื่อที่ว่าพระองค์จะเสด็จมาเป็นผู้พิพากษาและพระผู้ไถ่กู้ในวันสุดท้าย (ดู รม 14:9; 2 ทธ 4:1; 1 ปต 4:5)

y ชาวกรีกแม้ที่เป็นคริสตชนแล้ว รับคำสอนเรื่องการกลับคืนชีพได้ยาก เพราะความคิดที่มีอยู่แล้วว่าร่างกายเป็นสิ่งเลวร้าย (ดู 1 คร 15:12ฯ) ชาวสะดูสีในสภาซันเฮดรินที่กรุงเยรูซาเล็มประณามและโจมตีข้อความเชื่อของคริสตชนเรื่องนี้ ส่วนชาวเอเธนส์ในอภิรัฐสภาเพียงแต่หัวเราะเยาะเท่านั้น การเทศน์ของเปาโลที่กรุงเอเธนส์เกือบล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่นี้ไป เปาโลจะไม่ใช้หลักปรัชญาของชาวกรีกในคำเทศน์ของตนอีกต่อไป (1 คร 2:1-5)

z ผู้อ่านร่วมสมัยของลูกาคงรู้จักดีโอนีซีอัสผู้นี้ดี ในสมัยต่อมามีนิยายหลายเรื่องเกี่ยวกับผู้นี้ โดยเฉพาะหลังศตวรรษที่ 5 เมื่อผู้ประพันธ์คนหนึ่ง (“pseudo Dionysius”) ได้เขียนบทความหลายเรื่องเกี่ยวกับชีวิตชิดสนิทกับพระเจ้าโดยใช้ชื่อนี้ ในภายหลังยังมีนิทานที่กล่าวว่าดีโอนีซีอัสผู้นี้เป็นคนเดียวกันกับนักบุญเดนิส พระสังฆราชองค์แรกแห่งกรุงปารีส (ศตวรรษที่ 3)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก