“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

lll. การเดินทางของบารนาบัสและเปาโลเพื่อประกาศข่าวดี

 

การประชุมที่กรุงเยรูซาเล็ม

การส่งธรรมทูตออกไปประกาศข่าวดี

13 1ในพระศาสนจักรที่เมืองอันทิโอก มีประกาศกและอาจารย์aคือบารนาบัส สิเมโอนที่เรียกกันว่าคนดำ ลูสิอัสชาวไซรีน มานาเอนซึ่งได้รับการศึกษาอบรมมาด้วยกันกับกษัตริย์เฮโรดอันทิปาส และเซาโล 2ขณะที่เขาร่วมพิธีนมัสการbองค์พระผู้เป็นเจ้าและจำศีลอดอาหาร พระจิตเจ้าตรัสว่า “ท่านทั้งหลายจงแยกบารนาบัสและเซาโลไว้ปฏิบัติภารกิจที่เราเรียกเขาให้มาปฏิบัติเถิด” 3เมื่อเขาจำศีลอดอาหารและอธิษฐานภาวนาแล้ว จึงปกมือcเหนือบารนาบัสและเซาโล แล้วส่งเขาทั้งสองคนออกไป

เอลีมัสผู้วิเศษ

4เมื่อบารนาบัสและเซาโลได้รับมอบภารกิจจากพระจิตเจ้าแล้ว จึงเดินทางไปยังเมืองเซลูเคีย และจากที่นั่นก็แล่นเรือไปยังเกาะไซปรัสd 5ครั้นถึงเมืองซาลามิส ทั้งสองคนประกาศพระวาจาของพระเจ้าในศาลาธรรมของชาวยิวe มียอห์นเป็นผู้ช่วย

6เขาทั้งสามคนเดินข้ามเกาะไปถึงเมืองปาโฟส พบผู้วิเศษชาวยิวคนหนึ่งชื่อ บารเยซู ซึ่งอ้างตนเป็นประกาศก 7เป็นเพื่อนสนิทของเซอร์จีอัส เปาลัส ผู้ว่าราชการ ซึ่งเป็นคนเฉลียวฉลาดและส่งคนไปเชิญบารนาบัสกับเซาโลมาเพราะต้องการฟังพระวาจาของพระเจ้า 8แต่บารเยซูที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า “เอลีมัส” หมายถึง “ผู้วิเศษ” โต้แย้งบารนาบัสและเซาโล พยายามมิให้ผู้ว่าราชการมีความเชื่อ 9เซาโลซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเปาโลf ได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม จ้องหน้าเอลีมัส และพูดว่า 10“เจ้าลูกปีศาจ เจ้าเป็นศัตรูของความชอบธรรมทุกประการ เจ้ามีแต่เล่ห์กลและความหลอกลวงเต็มตัว เมื่อไรเจ้าจะเลิกบิดเบือนวิถีทางที่ถูกต้องขององค์พระผู้เป็นเจ้าเล่า 11บัดนี้ พระหัตถ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าลงโทษเจ้าแล้ว เจ้าจะตาบอด มองไม่เห็นแสงอาทิตย์ระยะหนึ่ง”

ทันใดนั้น ดวงตาของเอลีมัสก็มัวลงและมืดบอดไป เขาจึงคลำหาคนให้ช่วยจูงมือ 12เมื่อผู้ว่าราชการเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ก็ประหลาดใจในคำสั่งสอนขององค์พระผู้เป็นเจ้าและมีความเชื่อ

เปาโลและบารนาบัสมาถึงเมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดีย

13เปาโลและเพื่อนร่วมทางแล่นเรือจากเมืองปาโฟสถึงเมืองเปอร์กาในแคว้นปัมฟีเลีย ที่นี่ยอห์นแยกจากเขากลับไปกรุงเยรูซาเล็ม 14ส่วนคนอื่นๆ เดินทางจากเมืองเปอร์กาต่อไปถึงเมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดีย ครั้นถึงวันสับบาโตเขาเข้าไปนั่งในศาลาธรรม 15เมื่ออ่านธรรมบัญญัติและหนังสือประกาศกแล้ว บรรดาหัวหน้าศาลาธรรมก็ส่งคนไปเชิญเปาโลและบารนาบัส พูดว่า “พี่น้อง ถ้าท่านมีถ้อยคำเตือนใจgประชาชน ก็จงพูดเถิด”

16เปาโลยืนขึ้น โบกมือhให้คนทั้งหลายเงียบแล้วพูดว่า

เปาโลเทศน์สอนชาวยิวi

“ชาวอิสราเอล และท่านทั้งหลายผู้ยำเกรงพระเจ้าj จงฟังข้าพเจ้าเถิด 17พระเจ้าของประชาชนอิสราเอลkนี้ทรงเลือกบรรพบุรุษของเรา และทรงยกย่องประชาชนขณะที่ยังอยู่ในแผ่นดินอียิปต์ พระองค์ทรงสำแดงพระอานุภาพยิ่งใหญ่นำเขาออกจากแผ่นดินนั้น 18และเอาพระทัยใส่ดูแลlเขาในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลาประมาณสี่สิบปี 19แล้วพระองค์ทรงทำลายชนชาติเจ็ดชาติในแผ่นดินคานาอันและประทานแผ่นดินนั้นให้เขาเป็นมรดก 20เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในระยะเวลาประมาณสี่ร้อยห้าสิบปีm

หลังจากนั้น พระเจ้าประทานผู้วินิจฉัยให้ปกครองเขา จนถึงประกาศกซามูเอล 21เมื่อประชาชนขอให้มีกษัตริย์ พระองค์ก็ประทานซาอูลบุตรของคีช จากตระกูลเบนยามินn ให้เป็นกษัตริย์ปกครองอยู่เป็นเวลาสี่สิบปี 22เมื่อทรงปลดกษัตริย์ซาอูลจากตำแหน่งแล้ว ก็ทรงแต่งตั้งดาวิดให้เป็นกษัตริย์ปกครองประชากรอิสราเอล ดังที่มีคำยืนยันในพระคัมภีร์ว่า ‘เราพบดาวิดบุตรของเจสซี เขาเป็นคนที่เราพอใจ เขาจะทำตามความประสงค์ของเราทุกประการ’ 23จากเชื้อสายของกษัตริย์ดาวิดนี้ พระเจ้าประทานoพระเยซูเจ้าเป็นผู้ช่วยอิสราเอลให้รอดพ้นตามพระสัญญา 24ยอห์นเตรียมรับเสด็จพระองค์ ประกาศพิธีล้างให้ประชาชนอิสราเอลทั้งปวงกลับใจ 25ขณะที่ยอห์นกำลังทำภารกิจของตนให้สำเร็จไป เขากล่าวว่า ‘ข้าพเจ้ามิได้เป็นอย่างที่ท่านทั้งหลายคิดp แต่บัดนี้ มีผู้หนึ่งกำลังมาภายหลังข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าไม่สมควรแม้แต่จะแก้สายรัดรองเท้าของเขา’

26พี่น้องทั้งหลาย ผู้เป็นบุตรจากเชื้อสายของอับราฮัมและท่านที่เคารพยำเกรงพระเจ้า พระเจ้าทรงส่งข่าวเรื่องความรอดพ้นนี้แก่เราq 27ชาวเยรูซาเล็มและบรรดาหัวหน้าไม่ยอมรับพระเยซูเจ้าrจึงตัดสินลงโทษพระองค์ ทำให้ข้อความของบรรดาประกาศกที่อ่านทุกวันสับบาโตเป็นจริง 28แม้ว่าเขาไม่พบเหตุผลที่จะประหารชีวิตพระองค์ได้s เขาก็ยังขอปีลาตให้ประหารชีวิตพระองค์t 29เมื่อทำให้ทุกสิ่งที่เขียนไว้เกี่ยวกับพระองค์เป็นจริงแล้วu เขาจึงปลดพระองค์ลงจากไม้กางเขนและนำไปวางไว้ในพระคูหา 30แต่พระเจ้าทรงบันดาลให้พระองค์กลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย 31ตลอดเวลาหลายวัน พระองค์ทรงแสดงพระองค์แก่ผู้ที่เดินทางจากแคว้นกาลิลีมายังกรุงเยรูซาเล็มพร้อมกับพระองค์ และบัดนี้เขาทั้งหลายเป็นพยานยืนยันถึงพระองค์ต่อหน้าประชาชนv

32เราขอประกาศข่าวดีให้ท่านทั้งหลายรู้ว่า พระสัญญาที่ประทานแก่บรรดาบรรพบุรุษนั้น 33พระเจ้าทรงกระทำให้เป็นจริงสำหรับเราทั้งหลายผู้เป็นลูกหลานw โดยทรงบันดาลให้พระเยซูเจ้ากลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย ดังที่มีเขียนไว้ในเพลงสดุดีบทที่สองxว่า ‘ท่านเป็นบุตรของเรา เราให้กำเนิดท่านในวันนี้y 34การที่พระเจ้าทรงบันดาลให้พระองค์กลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย ไม่เน่าเปื่อยอีกเลยนั้น พระองค์ตรัสไว้ดังนี้ ‘เราจะให้ท่านรับพระพรศักดิ์สิทธิ์อย่างแน่นอนตามที่ได้สัญญาไว้กับกษัตริย์ดาวิด’z 35และยังตรัสไว้ที่อื่นอีกว่า ‘พระองค์จะไม่ทรงปล่อยให้ผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์เน่าเปื่อย 36เมื่อกษัตริย์ดาวิดทรงปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าตลอดพระชนมชีพแล้ว ก็สิ้นพระชนม์ ถูกฝังไว้กับบรรดาบรรพบุรุษและเน่าเปื่อย 37แต่ผู้ที่พระเจ้าทรงบันดาลให้กลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายนั้นไม่เน่าเปื่อย

38พี่น้องทั้งหลาย จงรู้เถิดว่า เดชะพระเยซูเจ้าพระองค์นี้ พระเจ้าทรงประกาศจะอภัยบาปให้ท่าน และความชอบธรรมทั้งหลายที่ท่านไม่ได้รับโดยปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของโมเสสนั้น 39ทุกคนที่มีความเชื่อจะได้รับเดชะพระเยซูเจ้า 40จงระวัง อย่าให้คำพูดนี้ของบรรดาประกาศกเกิดขึ้นกับท่าน

41จงดูเถิด ท่านทั้งหลายที่ดูหมิ่นผู้อื่น

จงประหลาดใจและไปให้พ้นเถิด

เพราะว่า กิจการที่เรากำลังทำอยู่ในขณะที่ท่านมีชีวิต

เป็นกิจการที่ท่านจะไม่เชื่อเลยaa ถ้ามีใครเล่าให้ฟัง

42ขณะที่เปาโลและบารนาบัสออกจากศาลาธรรม ประชาชนขอร้องเขาbbให้มาพูดถึงเรื่องนี้อีกในวันสับบาโตต่อไป 43เมื่อการประชุมเลิกแล้ว ชาวยิวและชาวกรีกที่กลับใจมาเลื่อมใสศาสนายิวccหลายคนเดินตามเปาโลและบารนาบัสdd ทั้งสองคนจึงสนทนากับเขาเหล่านั้นต่อไปและตักเตือนให้ มั่นคงอยู่ในพระหรรษทานของพระเจ้าee

44วันสับบาโตต่อมา ชาวเมืองเกือบทั้งหมดมาชุมนุมฟังพระวาจาของพระเจ้าff 45เมื่อชาวยิวเห็นประชาชนจำนวนมากเช่นนี้ ก็เกิดความอิจฉาอย่างมาก จึงคัดค้านคำพูดของเปาโลและด่าว่าเขา

46เปาโลและบารนาบัสตอบเขาอย่างกล้าหาญggว่า “จำเป็นที่เราจะต้องประกาศพระวาจาของพระเจ้าให้ท่านฟังก่อนผู้อื่น แต่เมื่อท่านปฏิเสธไม่ยอมรับและไม่คิดว่าตนเหมาะสมจะรับชีวิตนิรันดร เราจึงหันไปหาคนต่างศาสนา 47เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้ามีพระบัญชาแก่เราดังนี้ว่า

‘เราแต่งตั้งท่านให้เป็นแสงสว่างส่องนานาชาติ

เพื่อท่านจะได้นำความรอดพ้นไปจนสุดปลายแผ่นดิน’”hh

48เมื่อคนต่างศาสนาได้ยินดังนี้ ก็มีความยินดีและสรรเสริญพระวาจาของพระเจ้าii และทุกคนที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้สำหรับชีวิตนิรันดรก็มีความเชื่อjj

49พระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้าแผ่ไปทั่วแคว้นนั้น 50แต่ชาวยิวยุยงบรรดาสตรีชั้นสูงที่เลื่อมใสในศาสนายิวและบรรดาผู้นำของเมือง ให้เบียดเบียนเปาโลและบารนาบัส และขับไล่ทั้งสองคนออกไปจากดินแดนของตน 51เขาทั้งสองคนจึงสะบัดฝุ่นจากเท้าเป็นเครื่องหมายตัดความสัมพันธ์ แล้วเดินทางต่อไปยังเมืองอิโคนิยุม 52บรรดาศิษย์ต่างมีความชื่นชมและได้รับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม

 

13 a เรื่อง “ประกาศก ดู 11:27 เชิงอรรถ m พระพรพิเศษแห่งการเป็นครูหรืออาจารย์ (didaskalos) คือความสามารถที่จะสั่งสอนผู้อื่นในเรื่องจริยธรรมและคำสอน โดยปกติการสอนเช่นนี้ใช้พระคัมภีร์เป็นหลัก (1 คร 12-14 และเชิงอรรถ) ประกาศกและอาจารย์ทั้งห้าคนที่มีชื่อที่นี่คือผู้ปกครองพระศาสนจักรที่เมืองอันทิโอก จงเปรียบเทียบกับรายชื่อของอัครสาวกสิบสองคน (1:13) และของสังฆานุกรทั้งเจ็ดคน (6:5) ผู้ปกครองคริสตชนที่เมืองอันทิโอกทั้งห้าคนคงเป็นชาวยิวที่พูดภาษากรีก เช่นเดียวกับสังฆานุกรทั้งเจ็ดคนที่กรุงเยรูซาเล็ม

b “ร่วมพิธีนมัสการ” คำที่ใช้เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในพันธสัญญาเดิม หมายถึง การถวายบูชาในพระวิหาร สำหรับคริสตชนซึ่งไม่มีการถวายสัตว์เป็นบูชาอีก การอธิษฐานร่วมกันจึงเป็นพิธีกรรมของคริสตชน (ดู รม 1:9 เชิงอรรถ e)

c เมื่อคำนึงถึง 14:26 (ดู 15:40) ดูเหมือนว่าการปกมือในที่นี้เป็นการที่กลุ่มคริสตชนฝากฝังธรรมทูตเหล่านี้ไว้กับพระหรรษทานของพระเจ้า ในฐานะที่พระจิตเจ้าทรงเลือกสรร (ข้อ 2) และทรงส่งเขาออกไป (ข้อ 4) ความหมายของพิธีนี้จึงไม่เหมือนกับใน 6:6 เมื่อสังฆานุกรทั้งเจ็ดคนได้รับมอบภารกิจจากบรรดาอัครสาวก (ดู 1 ทธ 4:14 เชิงอรรถ e)

d เกาะไซปรัสเป็นบ้านเกิดของบารนาบัส (4:36)

e นโยบายปกติของเปาโล (17:2) คือการเข้าหาชาวยิวเป็นอันดับแรก (ดู 13:14; 14:1; 16:13; 17:10,17; 18:4, 19; 19:8; 28:17, 23) โดยมีหลักการว่าชาวยิวมีสิทธิ์ได้รับการประกาศข่าวดีเป็นพวกแรก (ดู 3:26; 13:46; มก 7:27; รม 1:16; 2:9-10) หลังจากที่ชาวยิวปฏิเสธไม่ยอมรับเท่านั้นเปาโลจึงหันไปหาคนต่างศาสนา (ดู กจ 13:46; 18:6; 28:28)

f ชาวยิวและคนตะวันออกโดยทั่วไปมักจะมีอีกชื่อหนึ่งที่นิยมกันในสังคมกรีก-โรมัน เช่น ยอห์น มีอีกชื่อหนึ่งว่า “มาระโก” (12:12) โยเซฟ บาร์ซับบัสมีชื่อ “ยุสทัส” (1:23) ทาบิธามีชื่อ “ดอร์คัส” (เนื้อทราย) (9:36) ซีโมนมีชื่อ "นีแกร์" (คนดำ) (13:1) ฯลฯ ลูกาเรียกชื่อ “เปาโล” ตามชื่อโรมันเป็นครั้งแรกที่นี่และจะไม่ใช้ชื่อ “เซาโล” อีกต่อไป ตั้งแต่นี้ไป ลูกาจะกล่าวถึงเปาโลในฐานะผู้นำ ไม่ใช่ผู้ช่วยบารนาบัสอีกต่อไป แต่เป็นหัวหน้าคณะธรรมทูต (ข้อ 13)

g “ถ้อยคำเตือนใจ” หมายถึง บทเทศน์ที่อธิบายข้อความในพระคัมภีร์ (เทียบ รม 15:4) ธรรมเนียมที่ใช้ในศาลาธรรมนี้จะถูกนำมาใช้เมื่อคริสตชนมาชุมนุมกันเพื่อนมัสการพระเจ้า บรรดาประกาศกหรืออาจารย์เป็นผู้เทศน์สอนเช่นนี้ (ดู 11:23; 14:22; 15:32; 16:40; 20:1, 2; 1 คร 14:3, 31; 1 ทธ 4:13; ฮบ 13:22)

h การโบกมือเช่นนี้ปฏิบัติกันในโลกกรีก-โรมัน เมื่อนักพูดในที่สาธารณะต้องการเรียกความสนใจของผู้ฟังให้เงียบ โดยยกมือขวาขึ้น ให้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วก้อยโค้งไปข้างหน้าเล็กน้อย ส่วนนิ้วที่เหลือทั้งสามเหยียดออก (ดู 19:33; 21:40; 26:1)

i คำเทศน์ครั้งแรกของเปาโลนี้ลูกาเสนอให้เป็นรูปแบบของการเทศน์ที่เปาโลใช้กับชาวยิว บทเทศน์นี้แบ่งได้เป็น 2 ภาค ภาคแรกได้แก่ข้อ 16-25 เป็นบทสรุปประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น (เทียบกับบทเทศน์ของสเทเฟนในบทที่ 7) โดยพูดถึงคำพยานของยอห์นผู้ทำพิธีล้างเป็นบทผนวก (เปาโลไม่เคยพูดถึงยอห์นผู้ทำพิธีล้างเลยในจดหมายของตน) ภาคที่สองได้แก่ ข้อ 26-39 อ้างว่า พระเยซูเจ้าซึ่งได้สิ้นพระชนม์และได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพเป็นพระเมสสิยาห์ที่ชาวยิวกำลังรอคอยอยู่ (ภาคนี้มีเนื้อหาคล้ายกับคำปราศรัยของเปโตร แต่บทเทศน์ของเปาโลนี้จบลงด้วยคำสอนเรื่องพระเจ้าบันดาลความชอบธรรมให้แก่ผู้มีความเชื่อ ซึ่งเป็นคำสอนหลักของเปาโล) ข้อ 40-41 เป็นบทสรุปเตือนผู้ฟังอย่างแข็งขันโดยใช้ข้อความจากพระคัมภีร์ (ดู 28:26-27)

j ผู้ฟังเปาโลแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ ชาวยิวโดยกำเนิดและ “ผู้ยำเกรงพระเจ้า” (10:2 เชิงอรรถ b)

k แปลอีกอย่างหนึ่งว่า “พระเจ้าแห่งอิสราเอลชาติของเรา”

l สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ทรงอดทน”

m สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ตลอดเวลาประมาณ 450 ปี พระองค์ได้ประทานผู้วินิจฉัยให้ปกครองเขา” ต้นฉบับตรงนี้ออกจะคลุมเครือ

n เปาโลมีชื่อ “เซาโล” หรือ “ซาอูล” เหมือนกับกษัตริย์ซาอูลและเป็นคนในตระกูลเบนยามินด้วย (รม 11:1; ฟป 3:5)

o สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ทรงบันดาลให้(พระเยซูเจ้า)กลับคืนพระชนมชีพ” คำกริยาในภาษากรีกมีความหมายได้สองอย่างคือ “แต่งตั้ง” (ข้อ 22) หรือ “บันดาลให้กลับคืนชีพ” เปาโลใช้คำนี้ในความหมายทั้งสองเหมือนกับใน 3:20-26; “พระสัญญาสำเร็จอย่างสมบูรณ์ในการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า (ข้อ 32-33; ดู 26:6-8 ด้วย) ยิ่งกว่านั้นเพราะการกลับคืนพระชนมชีพ พระเยซูเจ้าจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระผู้ช่วยให้รอดพ้น (เทียบ 5:31; ดู 2:21; 4:12; รม 5:9-10; ฟป 3:20)

p สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นผู้ที่ท่านทั้งหลายคิด”

q สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ให้แก่ท่าน”

r สำเนาโบราณบางฉบับเสริมว่า “และไม่เข้าใจพระคัมภีร์”

s คริสตชนอ้างเสมอว่า พระเยซูเจ้าทรงไม่ผิด แต่ทรงถูกพิพากษาและถูกประหารชีวิตอย่างอยุติธรรม (ดู 3:13-14; มธ 27:3-10, 19, 23-24; ลก 23:14, 22, 47)

t สำเนาโบราณบางฉบับว่า “เขาได้มอบพระองค์ให้แก่ปีลาตเพื่อจะประหารชีวิต”

u สำเนาโบราณบางฉบับเสริมว่า “เขาได้ตรึงพระองค์ และขออนุญาตปีลาตนำพระศพลงมาจากไม้กางเขน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึง…”

v การที่เปาโลอ้างถึงคำพยานของบรรดาอัครสาวกชาวกาลิลีนี้ค่อนข้างแปลก เพราะในจดหมายเปาโลไม่เคยแยกการเป็นพยานของบรรดาอัครสาวกจากการเป็นพยานของตนเอง (1 คร 15:3-11) ดังนั้น ทรรศนะของ ลก ใน กจ จึงไม่ตรงกับทรรศนะของเปาโลในจดหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้

w สำเนาโบราณบางฉบับว่า “สำหรับบรรดาบุตรของเรา” หรือ “สำหรับบรรดาบุตรของเขา”

x สำเนาโบราณบางฉบับว่า “เพลงสดุดีบทที่หนึ่ง”

y พระคริสตเจ้าได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระเมสสิยาห์ เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพ และตั้งแต่เวลานั้นพระธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ได้รับศักดิ์ศรีในฐานะที่เป็นพระบุตรของพระเจ้า (ดู รม 1:4 เชิงอรรถ c)

z พระพรศักดิ์สิทธิ์ที่ทรงสัญญาไว้คือ พระเมสสิยาห์ และพระพรที่พระเมสสิยาห์จะทรงนำมาให้พระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ กษัตริย์ดาวิดองค์ใหม่คือพระเมสสิยาห์นี้เอง

aa ลก ชอบกล่าวบ่อยๆ ว่า ชาวยิวไม่ยอมเชื่อและปฏิเสธไม่ยอมรับพระคริสตเจ้า (เทียบ มธ 21:33ฯ; 22:1ฯ, 1 เชิงอรรถ a; กจ 13:5 เชิงอรรถ e) ลก จะกล่าวถึงเรื่องนี้อีกเป็นการสรุปใน 28:26-27

bb สำเนาโบราณบางฉบับว่า “เมื่อเปาโลและบารนาบัสกำลังออกจากศาลาธรรม เขาคิดว่าจะต้องกล่าวถึง…”

cc “ผู้กลับใจนับถือศาสนายิว” (proselytes) ในที่นี้มีความหมายกว้างๆ เหมือนกับคำว่า “ผู้ยำเกรงพระเจ้า” หรือ “ผู้นมัสการพระเจ้า” (ดู 10:2 เชิงอรรถ b) ซึ่งยังไม่ได้เข้าพิธีสุหนัต

dd สำเนาโบราณบางฉบับเสริมว่า “คิดว่าเป็นการดีที่จะรับศีลล้างบาป”

ee สำเนาโบราณบางฉบับเสริมอีกว่า “และโดยวิธีนี้พระวาจาของพระเจ้าได้เผยแผ่ไปทั่วเมือง”

ff สำเนาโบราณบางฉบับว่า “พระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” หรือ “ฟังเปาโลกล่าวถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นเวลานาน”

gg ลก เน้นถึง “ความกล้าหาญ” และ “ความมั่นใจ” ของบรรดาอัครสาวกแล้ว (ดู 4:13,29,31) และยังกล่าวถึงคุณลักษณะนี้ของเปาโลบ่อยๆ ด้วย (ดู 9:27-28; 14:3; 19:8; 26:26; 28:31) เปาโลยังเน้นคุณลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน (2 คร 3:12; 7:4; อฟ 3:12; 6:19-20; ฟป 1:20; 1 ธส 2:2)

hh เป็นการอ้างถึงข้อความจากต้นฉบับ LXX อย่างอิสระ ถ้อยคำเหล่านี้อาจหมายถึงเปาโล (เทียบ 26:17-18) ซึ่งเป็นอัครสาวกและอาจารย์ของคนต่างชาติ (เทียบ รม 11:13; อฟ 3:8; 1 ทธ 2:7) หรืออาจหมายถึงพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ (เทียบ กจ 26:23 ซึ่งเป็นการอ้างอย่างกว้างๆ ถึง อสย 49:6 ด้วย) และเช่นเดียวกับ ลก 2:32 ซึ่งอ้างถึง (อสย 49:6) พระคริสตเจ้าเป็นแสงสว่างของคนต่างชาติ แต่ในเมื่อบรรดาอัครสาวกเท่านั้นเป็นพยาน ทำให้แสงสว่างนี้แผ่ขยายออกไปได้ (ดู กจ 1:8 เชิงอรรถ k) เปาโลคิดว่าข้อความของ อสย นี้เป็นคำสั่งที่ท่านต้องปฏิบัติตาม

ii สำเนาโบราณบางฉบับว่า “พระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้า”

jj “ชีวิตนิรันดร” (เทียบ ข้อ 46) คือชีวิตในโลกที่จะมาถึง (เทียบ 3:15) ผู้ที่มีชื่อ “บันทึกไว้ในสวรรค์” (ลก 10:20) หรือ ใน “หนังสือแห่งชีวิต” (ฟป 4:3; วว 20:12 เชิงอรรถ i) เท่านั้นจะบรรลุถึงชีวิตนิรันดร “ผู้ที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้สำหรับชีวิตในโลกหน้า” เป็นสำนวนที่บรรดาธรรมาจารย์ใช้บ่อยๆ ตามคำสอนของพระคริสตเจ้าและบรรดาอัครสาวก เงื่อนไขประการแรกของ “การที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้สำหรับชีวิตอันรุ่งโรจน์” นี้คือ ความเชื่อในพระคริสตเจ้า (ดู ยน 10:26 เชิงอรรถ m; รม 8:28-30 และก่อนนี้ใน กจ 2:39)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก