“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

เปโตรกลับมาที่กรุงเยรูซาเล็ม

11 1บรรดาอัครสาวกและพี่น้องที่อยู่ในแคว้นยูเดียรู้ว่าคนต่างศาสนาได้ยอมรับพระวาจาของพระเจ้าด้วย 2เมื่อเปโตรขึ้นไปที่กรุงเยรูซาเล็ม บรรดาผู้มีความเชื่อที่เข้าสุหนัตตำหนิเขาa 3ถามว่า “ทำไมท่านเข้าไปในบ้านของผู้ที่ไม่ได้เข้าสุหนัตและกินอาหารร่วมกับเขา” 4เปโตรจึงเริ่มเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เขาฟังตามลำดับว่า 5“วันหนึ่ง ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังอธิษฐานภาวนาอยู่ที่เมืองยัฟฟา ข้าพเจ้าเข้าสู่ภวังค์และเห็นนิมิต สิ่งหนึ่งคล้ายผ้าผืนใหญ่ ถูกมัดไว้ทั้งสี่มุมกำลังถูกหย่อนลงจากท้องฟ้า มาที่ข้าพเจ้า 6ข้าพเจ้าจ้องดูสิ่งนั้นอย่างตั้งใจ ก็เห็นสัตว์สี่เท้าของแผ่นดิน สัตว์ป่าสัตว์เลื้อยคลาน และนกในท้องฟ้า 7ข้าพเจ้าได้ยินเสียงหนึ่งกล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า ‘เปโตรเอ๋ย จงลุกขึ้น ฆ่าสัตว์เหล่านี้กินซิ’ 8ข้าพเจ้าทูลตอบว่า ‘ทำไม่ได้ พระเจ้าข้า เพราะสิ่งมีมลทินและไม่สะอาดไม่เคยเข้าปากข้าพเจ้าเลย’ 9เสียงจึงตอบจากท้องฟ้าเป็นครั้งที่สองว่า ‘สิ่งที่พระเจ้าทรงชำระให้สะอาดแล้ว ท่านอย่าเรียกว่ามีมลทินเลย’ 10เสียงจากท้องฟ้านี้เกิดขึ้นถึงสามครั้ง แล้วทุกสิ่งก็ถูกดึงขึ้นไปบนท้องฟ้า

11ทันใดนั้น มีชายสามคนมาหยุดยืนอยู่หน้าบ้านที่ข้าพเจ้าพัก เขาถูกส่งจากเมืองซีซารียามาพบข้าพเจ้า 12พระจิตเจ้าทรงบอกข้าพเจ้าให้ไปกับเขาโดยไม่ต้องลังเล พี่น้องหกคนเหล่านี้ไปพร้อมกับข้าพเจ้าด้วย เราเข้าไปในบ้านของโครเนลิอัส 13เขาเล่าให้เราฟังว่า เขาเห็นทูตสวรรค์องค์หนึ่งปรากฏมาในบ้านของเขาพูดว่า ‘จงส่งคนไปที่เมืองยัฟฟา ไปเชิญซีโมนที่รู้จักกันในนามว่าเปโตรมาที่นี่ 14เขาจะกล่าวถ้อยคำที่จะนำความรอดพ้นมาให้ท่านและทุกคนในครอบครัว’

15ขณะที่ข้าพเจ้าเริ่มพูด พระจิตเจ้าก็เสด็จลงมาเหนือเขาเหล่านั้น เหมือนกับที่ได้เสด็จลงมาเหนือเราในตอนแรก 16ข้าพเจ้าจึงระลึกถึงพระวาจาที่องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสไว้ว่า ‘ยอห์นทำพิธีล้างด้วยน้ำ แต่ท่านทั้งหลายจะได้รับการล้างเดชะพระจิตเจ้า’ 17ในเมื่อพระเจ้าbประทานพระพรแก่เขาเช่นเดียวกับที่ประทานแก่เราผู้เชื่อในพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าเป็นใครเล่าที่จะขัดขวางพระเจ้าได้”c

18เมื่อได้ยินดังนี้ ทุกคนก็สงบลง สรรเสริญพระเจ้าว่า “ถ้าเป็นเช่นนี้ พระเจ้าก็ประทานให้คนต่างศาสนากลับใจมารับชีวิตด้วยเช่นเดียวกัน”

การก่อตั้งพระศาสนจักรที่เมืองอันทิโอก

19การเบียดเบียนที่เกิดขึ้นสมัยสเทเฟนทำให้บรรดาศิษย์กระจัดกระจายไปdและมาถึงแคว้นฟีนีเซีย เกาะไซปรัสและเมืองอันทิโอกe บรรดาศิษย์ประกาศพระวาจาแก่ชาวยิวเท่านั้น 20ในบรรดาคนเหล่านี้ บางคนเป็นชาวไซปรัสและชาวไซรีน เขาไปถึงเมืองอันทิโอก เทศน์สอนชาวกรีกfด้วย ประกาศข่าวดีเรื่องพระเยซูgองค์พระผู้เป็นเจ้า 21พระหัตถ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าอยู่กับเขา คนจำนวนมากเชื่อและกลับใจมาหาองค์พระผู้เป็นเจ้า

22บรรดาศิษย์ในพระศาสนจักรที่กรุงเยรูซาเล็มhรู้ข่าวนี้ จึงส่งบารนาบัสไปยังเมืองอันทิโอก 23เมื่อบารนาบัสมาถึงและเห็นผลแห่งพระหรรษทานของพระเจ้า ก็มีความชื่นชม จึงเตือนiทุกคนให้มีจิตใจซื่อสัตย์มั่นคงต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าj 24บารนาบัสเป็นคนดี เปี่ยมด้วยความเชื่อและพระจิตเจ้า จึงมีผู้คนจำนวนมากเข้ามาเป็นศิษย์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า

25บารนาบัสเดินทางไปที่เมืองทาร์ซัสเพื่อตามหาเซาโล 26เมื่อพบแล้ว ก็พามาที่เมืองอันทิโอก ทั้งสองคนอยู่ร่วมกันในพระศาสนจักรที่นั่นkเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม สั่งสอนคนจำนวนมาก ที่เมืองอันทิโอกนี้เองบรรดาศิษย์ได้รับชื่อว่า “คริสตชน”l เป็นครั้งแรก

พระศาสนจักรที่เมืองอันทิโอกส่งบารนาบัสและเซาโลเป็นผู้แทนไปยังกรุง เยรูซาเล็ม

27ระหว่างนั้น ประกาศกบางคนmลงมาจากกรุงเยรูซาเล็มไปยังเมืองอันทิโอกn 28คนหนึ่งในจำนวนนี้ชื่ออากาบัสลุกขึ้นยืน พระจิตเจ้าทรงดลใจเขาให้ประกาศว่า จะเกิดการกันดารอาหารอย่างมากทั่วโลก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระจักรพรรดิคลาวดิอัสo 29ศิษย์แต่ละคนจึงตัดสินใจจะส่งความช่วยเหลือให้บรรดาพี่น้องที่อยู่ในแคว้นยูเดียตามที่ตนจะช่วยได้ 30เขาทำดังกล่าวโดยฝากเงินช่วยเหลือให้บารนาบัสและเซาโลนำไปให้บรรดาผู้อาวุโสp

 

11 a สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ต่อมาไม่นานเปโตรได้ตัดสินใจเดินทางไปกรุงเยรูซาเล็ม เมื่อได้พูดกับพี่น้องและให้กำลังใจเขาแล้ว ก็ได้ออกเดินทางเทศน์สอนตามชนบท และสั่งสอนประชาชน เมื่อเปโตรมาถึงและเล่าให้เขาฟังถึงพระหรรษทานของพระเจ้า บรรดาพี่น้องที่เข้าสุหนัตจึงได้ต่อว่าเขา”

b สำเนาโบราณบางฉบับละ “พระเจ้า” (เพราะเป็นพระเยซูเจ้าที่ประทานพระจิตเจ้า)

c เปโตรอธิบายว่าทำไมจึงยอมให้คนต่างศาสนารับศีลล้างบาป เขาไม่ได้ตอบข้อโต้แย้งที่เขาได้พักอยู่กับคนที่ไม่ได้เข้าสุหนัต (ดู ข้อ 3 เทียบ 10:1 เชิงอรรถ a) ตามความคิดของลูกา เปโตรเป็นคนแรกที่รับคนต่างศาสนาเข้าในพระศาสนจักร แม้จะได้เล่าเรื่องขันทีชาวเอธิโอเปียแล้ว (8:26-39) การประกาศข่าวดีที่เมืองอันทิโอกได้เกิดขึ้นก่อนแล้ว แต่ลูกาจะเล่าเรื่องนี้ในภายหลัง (ข้อ 19ฯ) สภาสังคายนาที่กรุงเยรูซาเล็ม (15:5-29) จะเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องหรือเป็นการกล่าวซ้ำเรื่องราวใน 11:1-18

d ข้อ 19 เป็นการเล่าเรื่องต่อจาก 8:1 และ 8:4 แล้วอธิบายว่าการก่อตั้งพระศาสนจักรที่เมืองอันทิโอกเป็นผลจากความตายของสเทเฟน แต่มีเรื่องกิจการของฟีลิป (8:5-40) และกิจการของเปโตร (9:31-11:18) แทรกเข้ามา อย่างไรก็ตาม เรื่องการก่อตั้งพระศาสนจักรที่เมืองอันทิโอกต้องเกิดขึ้นหลังการกลับใจของเปาโล (9:1-30) ซึ่งเป็นเหตุการณ์หลังจากความตายของสเทเฟนเช่นเดียวกัน

e เมืองอันทิโอกที่กล่าวนี้ คือเมืองอันทิโอกริมแม่น้ำโอรอนเตส เป็นเมืองหลวงของแคว้นซีเรียแห่งจักรวรรดิโรมัน เป็นเมืองใหญ่อันดับที่สามของจักรวรรดิ รองจากกรุงโรมและกรุงอเล็กซานเดรีย

f สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ชาวยิวที่พูดภาษากรีก” (เทียบ 9:29) คำว่า “ชาวกรีก” มีความหมายตรงข้ามกับคำว่า “ชาวยิว” (ข้อ 19) หมายถึงทุกคนที่ไม่เข้าสุหนัต

g น่าสังเกตว่าที่นี้ใช้วลี “พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า” ไม่ใช้ “พระคริสตเจ้า” เพราะคำว่า “พระคริสตเจ้า” มีความหมายเฉพาะสำหรับชาวยิวที่กำลังรอคอยพระเมสสิยาห์อยู่ เมื่อบรรดาศิษย์เทศน์สอนคนต่างศาสนา (ชาวกรีก) จึงเรียกพระเยซูเจ้าว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” (ดู 25:26 เชิงอรรถ h)

h พระศาสนจักรแม่ที่กรุงเยรูซาเล็มมีสิทธิ์ควบคุมดูแลพระศาสนจักรในที่อื่นๆ (ดู 8:14; 11:1 และดู กท 2:2 เชิงอรรถ b)

i “เตือน” เป็นการเล่นคำจากชื่อ “บารนาบัส” ซึ่งแปลว่า “บุตรแห่งการตักเตือน” (4:36)

j สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ในองค์พระผู้เป็นเจ้า”

k ประโยคนี้มีความหมายคลุมเครือ “เขาทั้งสองคนทำงานร่วมกัน” หรือ “เขาทั้งสองคนได้รับการต้อนรับจากพระศาสนจักร”

l “คริสตชน” หมายถึงผู้สนับสนุนหรือติดตามคริสตุส(หรือเครสตุส) ชื่อนี้แสดงว่าคนต่างศาสนาที่เมืองอันทิโอกคิดว่าตำแหน่ง “คริสตุส” (ผู้รับเจิม) เป็นชื่อเฉพาะของบุคคล

m เช่นเดียวกับบรรดาประกาศกในพันธสัญญาเดิม (ฉธบ 18:18 เชิงอรรถ e; มธ 5:12; 2 ปต 1:21) ประกาศกหรือผู้ประกาศพระวาจาในพันธสัญญาใหม่คือผู้ได้รับพระพรพิเศษ (1 คร 12:1 เชิงอรรถ a) ให้พูดในพระนามของพระเจ้า ได้รับการดลใจจากพระจิตเจ้า ในสมัยพันธสัญญาใหม่ พระเจ้าประทานพระพรพิเศษนี้ให้ด้วยพระทัยกว้างมากขึ้น (2:17-18) และบางครั้งอาจเป็นพระพรที่ผู้มีความเชื่อทั่วไปได้รับด้วย (19:6; 1 คร 11:4-5; 14:26, 29-33, 37) แต่มีบางคนโดยเฉพาะได้รับพระพรพิเศษจนได้รับชื่ออยู่ตลอดเวลาว่า “ประกาศก” (11:27; 13:1; 15:32; 21:9, 10) ผู้ที่เป็น “ประกาศก” เช่นนี้อยู่ในอันดับที่สองรองจากบรรดาอัครสาวกในรายการของพระพรพิเศษต่างๆ (1 คร 12:28-29; อฟ 4:11; ดู ลก 11:49; รม 12:6; 1 คร 12:10) เพราะเขาได้รับแต่งตั้งไว้เพื่อเป็นพยานยืนยันถึงพระจิตเจ้า (1 ธส 5:19-20; วว 2:7) เขาเป็นผู้ถ่ายทอดการเปิดเผยของพระจิตเจ้าให้แก่ผู้อื่น ( 1 คร 14:6, 26, 30; อฟ 3:5; วว 1:1) เช่นเดียวกับที่บรรดาอัครสาวกเป็นพยานยืนยันถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า (กจ 1:8 เชิงอรรถ k; รม 1:1 เชิงอรรถ b) และประกาศข่าวดี (กจ 2:22 เชิงอรรถ n) บรรดาประกาศกไม่เพียงแต่กล่าวทำนายถึงอนาคต (11:28; 21:11) หรืออ่านจิตใจของมนุษย์ (1 คร 14:24-25; ดู 1 ทธ 1:18) เท่านั้น เขายัง “เสริมสร้าง” “ตักเตือน” และ “ให้กำลังใจ” อีกด้วย (1 คร 14:3; ดู กจ 4:36; 11:23-24) เขาทำเช่นนั้นเพราะการเปิดเผยเหนือธรรมชาติ ในเรื่องนี้เขาจึงเหมือนกับผู้ที่ “พูดภาษาที่ไม่มีใครเข้าใจ” (กจ 2:1 เชิงอรรถ a, 4; 19:6) แต่พระพรของบรรดาประกาศกใหญ่กว่าเพราะคำพูดของเขาเข้าใจได้ (1 คร 14) งานหลักที่เห็นได้ชัดเจนของประกาศกได้แก่ การอธิบายคำประกาศพระวาจาของบรรดาประกาศกในพระคัมภีร์อาศัยการดลใจของพระจิตเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำกล่าวต่างๆ ของบรรดาประกาศกในพันธสัญญาเดิม (1 ปต 1:10-12) ดังนั้น เขาจึงอธิบาย “ธรรมล้ำลึก” แห่งแผนการของพระเจ้า (รม 16:25 เชิงอรรถ l; 1 คร 13:2; อฟ 3:5) เพราะเหตุนี้ บรรดาประกาศกจึงได้ชื่อว่าเป็นรากฐานของพระศาสนจักรร่วมกับบรรดาอัครสาวก (อฟ 2:20 เชิงอรรถ s) หนังสือวิวรณ์ของยอห์นเป็นตัวอย่างชัดเจนของการอธิบายการประกาศพระวาจาของพันธสัญญาเดิม ในพันธสัญญาใหม่ดังกล่าว (วว 1:3; 10:11; 19:10; 22:7-10, 18-19) แม้จะมีศักดิ์ศรีสูงส่งเช่นนี้ พระพรของบรรดาประกาศกยังถ่ายทอดความรู้ที่ไม่สมบูรณ์และชั่วคราว เพราะผูกพันอยู่กับความเชื่อ (รม 12:6) ซึ่งจะต้องสูญสิ้นไปเมื่อได้เห็นพระเจ้าโดยตรง (1 คร 13:8-12)

n สำเนาโบราณบางฉบับเสริมว่า “ทุกคนจึงมีความชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง ขณะที่เรามาชุมนุมกับเขา คนหนึ่งได้ลุกขึ้น…”

o ในรัชสมัยของพระจักรพรรดิคลาวดิอัส (41-54) เกิดการกันดารอาหารทั่วจักรวรรดิ (49-50) เริ่มที่ประเทศกรีซก่อน แล้วต่อมาที่กรุงโรมด้วย โยเซฟุสบันทึกไว้ว่าการกันดารอาหารนี้ได้เกิดขึ้นในสมัยที่ทิเบริอัส อเล็กซานเดอร์เป็นผู้ว่าราชการแคว้นยูเดีย (46-48)

p หนังสือกิจการไม่บอกว่าในการมาที่กรุงเยรูซาเล็มครั้งนี้ เปาโลได้พบบรรดาอัครสาวก แต่จะบอกใน 15:2 บางทีเพราะเวลานั้นบรรดาอัครสาวกไม่อยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม ตามเรื่องราวใน กจ ดูเหมือนว่าเปาโลเดินทางมากรุงเยรูซาเล็ม 3 ครั้ง (9:26; 11:29ฯ; 15:2) ก่อนจะไปแคว้นกาลาเทียทั้ง 2 ครั้ง (16:6; 18:23) อย่างไรก็ตาม เปาโลกล่าวว่าตนได้ไปกรุงเยรูซาเล็มเพียง 2 ครั้ง (กท 1:18; 2:1ฯ; เทียบ 4:13) รายละเอียดใน กจ อาจเกิดจากวิธีรวบรวมแหล่งข้อมูลของลูกา การเดินทางใน 11:29 อาจเป็นครั้งเดียวกันกับการเดินทางใน 15:2 ความช่วยเหลือที่เปาโลนำไปให้แก่คริสตชนที่กรุงเยรูซาเล็มในครั้งนี้ อาจแตกต่างจากที่เปาโลนำไปในภายหลัง (24:17) เมื่อการเรี่ยไรครั้งใหญ่ที่ทำตามคำขอร้องของพระศาสนจักรในกรุงเยรูซาเล็มสำเร็จสมบูรณ์แล้ว (กท 2:10; เทียบ รม 15:31; 1 คร 16:1 เชิงอรรถ a; 2 คร 8:4; 9:1, 12, 13)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก