(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

กิจการอัครสาวก

อารัมภบท

1 1เธโอฟีลัสที่รัก ในหนังสือเล่มแรกaข้าพเจ้าเล่าถึงทุกสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำและทรงสั่งสอน เริ่มตั้งแต่ต้น 2จนกระทั่งถึงวันที่พระองค์ทรงได้รับการยกขึ้นสวรรค์c หลังจากที่ทรงแนะนำสั่งสอนบรรดาอัครสาวกที่ทรงเลือกสรรโดยทางพระจิตเจ้าb 3พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่อัครสาวกเหล่านั้น และทรงพิสูจน์ด้วยวิธีการต่างๆ ว่า หลังจากทรงรับทุกข์ทรมานแล้ว พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ตลอดเวลาสี่สิบวันที่พระองค์ทรงแสดงพระองค์แก่เขาทั้งหลาย ทรงกล่าวถึงพระอาณาจักรของพระเจ้าd 4ขณะที่ทรงร่วมโต๊ะกับเขา พระองค์ทรงกำชับว่า “อย่าออกจากกรุงเยรูซาเล็มe แต่จงคอยรับพระพรที่พระบิดาทรงสัญญาไว้ ดังที่ท่านได้ยินจากเรา 5ยอห์นทำพิธีล้างด้วยน้ำ แต่ภายในไม่กี่วัน ท่านจะได้รับพิธีล้างเดชะพระจิตเจ้า”f

พระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์

6ผู้ที่มาชุมนุมgกับพระเยซูเจ้าทูลถามพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า พระองค์จะทรงสถาปนาอาณาจักรอิสราเอลอีกครั้งหนึ่งในเวลานี้หรือ”h 7พระองค์ตรัสตอบว่า “ไม่ใช่ธุระของท่านที่จะรู้วันเวลาiที่พระบิดาทรงกำหนดไว้โดยอำนาจของพระองค์ 8แต่พระจิตเจ้าจะเสด็จลงมาเหนือท่านj และท่านจะรับอานุภาพเพื่อจะเป็นพยานkถึงเราในกรุงเยรูซาเล็ม ทั่วแคว้นยูเดีย แคว้นสะมาเรียจนถึงสุดปลายแผ่นดินl

9เมื่อตรัสดังนี้แล้ว พระองค์เสด็จสู่สวรรค์ต่อหน้าเขาทั้งหลาย เมฆmบังพระองค์จากสายตาของเขา 10เขายังคงจ้องมองท้องฟ้าขณะที่พระองค์ทรงจากไป ทันใดนั้นมีชายสองคนสวมเสื้อขาวปรากฏแก่เขา 11กล่าวว่า “ชาวกาลิลีเอ๋ย ท่านทั้งหลายยืนแหงนมองท้องฟ้าอยู่ทำไม พระเยซูเจ้าพระองค์นี้nที่เสด็จสู่สวรรค์ จะเสด็จกลับมาเช่นเดียวoกับที่ท่านทั้งหลายเห็นพระองค์ทรงจากไปสู่สวรรค์”

 

l. พระศาสนจักรที่กรุงเยรูซาเล็ม

บรรดาอัครสาวก

12บรรดาอัครสาวกเดินทางจากภูเขาที่เรียกว่า “ภูเขามะกอกเทศ” กลับไปยังกรุงเยรูซาเล็ม ภูเขานี้อยู่ใกล้กรุงเยรูซาเล็มเป็นระยะทางที่อนุญาตให้เดินได้ในวันสับบาโต 13เมื่อเข้าไปในเมืองแล้ว เขาขึ้นไปยังห้องชั้นบนซึ่งเคยเป็นที่พักของเขา อัครสาวกเหล่านั้นคือ เปโตร ยอห์น ยากอบ อันดรูว์ ฟีลิป โทมัส บาร์โธโลมิว มัทธิว ยากอบบุตรของอัลเฟอัส ซีโมนผู้เป็นชาตินิยมและยูดาสบุตรของยากอบp 14ทุกคนร่วมอธิษฐานภาวนาqสม่ำเสมอเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน พร้อมกับบรรดาสตรี รวมทั้งมารีย์พระมารดาของพระเยซูเจ้าและพระประยูรญาติของพระองค์r

ผู้ได้รับเลือกแทนยูดาส

15ในระหว่างนั้น เปโตรยืนขึ้นในหมู่พี่น้องsที่ชุมนุมกันอยู่ประมาณหนึ่งร้อยยี่สิบคน กล่าวว่า 16“พี่น้องทั้งหลาย จำเป็นที่พระคัมภีร์จะต้องเป็นจริงตามที่พระจิตเจ้าทรงใช้พระโอษฐ์ของกษัตริย์ดาวิดตรัสล่วงหน้าถึงยูดาส ผู้นำคนมาจับกุมพระเยซูเจ้า 17ยูดาสผู้นี้เคยเป็นคนหนึ่งในคณะของเราและร่วมภารกิจกับเรา

18ยูดาสผู้นี้นำเงินที่ได้มาจากการประกอบอาชญากรรมไปซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง เขาล้มคว่ำลงที่นั่น ท้องแตกไส้ทะลัก 19ผู้อาศัยในกรุงเยรูซาเล็มทุกคนรู้เรื่องนี้ดี จึงเรียกที่ดินแปลงนั้นตามภาษาของเขาว่า “ฮาเคลดามา”t (hakeldama) แปลว่า “นาเลือด” 20เพราะมีเขียนไว้ในหนังสือเพลงสดุดีว่า

‘ขอให้ที่อยู่ของเขาถูกทิ้งร้าง

อย่าให้มีผู้ใดอาศัยอยู่เลย

 

และอีกตอนหนึ่งว่า

‘ขอให้ผู้อื่นรับหน้าที่แทนเขา’

 

21ดังนั้น ในบรรดาคนทั้งหลายซึ่งอยู่กับเราตลอดเวลาที่พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงดำเนินชีวิตอยู่กับเรา 22เริ่มตั้งแต่พิธีล้างของยอห์นจนถึงวันที่พระองค์เสด็จสู่สวรรค์นั้น จำเป็นที่คนหนึ่งจะต้องเป็นพยานร่วมกับเราถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์”

23ผู้ที่มาชุมนุมกันเสนอชื่อชายสองคน คือโยเซฟที่เรียกว่าบารซับบาสหรือยุสทัส และอีกคนหนึ่งชื่อมัทธีอัส 24เขาทั้งหลายอธิษฐานภาวนาuว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงทราบจิตใจของมนุษย์ทุกคน ขอทรงแสดงให้ข้าพเจ้าทั้งหลายรู้ว่า พระองค์ทรงเลือกคนใดในสองคนนี้ 25ให้รับหน้าที่รับใช้เป็นอัครสาวกแทนยูดาสที่ละทิ้งหน้าที่นี้เพื่อไปยังที่ของตน” 26เขาจึงจับสลากvระหว่างสองคนนี้ และจับสลากได้มัทธีอัส มัทธีอัสจึงได้เข้าร่วมคณะกับอัครสาวกสิบเอ็ดคนw

 

1a “หนังสือเล่มแรก” นี้หมายถึงพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา

c สำเนาโบราณบางฉบับที่เรียกว่า Western Text ไม่กล่าวถึงการเสด็จขึ้นสวรรค์ที่นี่

b ลูกาเน้นบทบาทของพระจิตเจ้าในงานธรรมทูตแรกๆ ของบรรดาอัครสาวก (ข้อ 5, 8 และบทที่ 2) เช่นเดียวกับที่ทรงมีบทบาทในภารกิจเริ่มแรกของพระคริสตเจ้า (ลก 4:1, 14, 18)

d พระอาณาจักรของพระเจ้า (มธ 4:17 เชิงอรรถ f) เป็นเนื้อหาสำคัญที่บรรดาอัครสาวกต้องประกาศ (ดู กจ 8:12; 19:8; 20:25; 28:23, 31) ดังที่เป็นคำสอนหลักของพระคริสตเจ้า (ดู มธ 3:2 เชิงอรรถ d)

e สำหรับลูกา กรุงเยรูซาเล็มถูกกำหนดไว้เป็นศูนย์กลางของงานไถ่กู้ของพระเจ้าโดยทางพระคริสตเจ้า (ลก 2:22 เชิงอรรถ h, 38 เชิงอรรถ o) เป็นสถานที่ที่ภารกิจของพระเยซูเจ้าในโลกนี้สำเร็จบริบูรณ์ และยังเป็นจุดเริ่มภารกิจสากลของบรรดาอัครสาวกด้วย (1:8)

f “พิธีล้างเดชะพระจิตเจ้า” ที่ยอห์นผู้ทำพิธีล้างได้กล่าวล่วงหน้าไว้ใน มธ 3:13// และที่พระเยซูเจ้าทรงสัญญาไว้ในข้อนี้จะเริ่มต้นเมื่อพระจิตเจ้าเสด็จลงมาในวันเปนเตกอสเต (กจ 2:1-4) ในภายหลังบรรดาอัครสาวกที่เชื่อฟังคำสั่งของพระคริสตเจ้า (มธ 28:19) จะใช้น้ำประกอบพิธีล้างต่อไป (กจ 2:41; 8:12, 38; 9:18; 10:48; 16:15, 33; 18:8; 19:5) เป็นพิธีรับสมาชิกใหม่เข้าสู่พระอาณาจักรของพระเมสสิยาห์ (ดู มธ 3:6 เชิงอรรถ e) แต่พิธีล้างเช่นนี้จะประกอบ “ในพระนามของพระเยซูเจ้า” (กจ 2:38 เชิงอรรถ y) อาศัยความเชื่อในพระคริสตเจ้าในฐานะพระผู้ไถ่กู้ (ดู รม 6:4 เชิงอรรถ a) บรรดาอัครสาวกจะสามารถอภัยบาปและประทานพระจิตเจ้าได้ (กจ 2:38) พร้อมกับพิธีล้างด้วยน้ำแบบคริสตชนนี้ ยังมีพิธีปกมือควบคู่กันด้วย (1 ทธ 4:14 เชิงอรรถ e) จุดประสงค์ของพิธีนี้คือประทานพระพรของพระจิตเจ้าอย่างเปิดเผย เช่นเดียวกับที่บรรดาอัครสาวกได้รับในวันเปนเตกอสเต (กจ 8:16-19; 9:17-18; 19:5-6 เทียบ 10:44-48) พิธีปกมือนี้เป็นต้นกำเนิดของศีลกำลัง คริสตชนบางกลุ่มที่มีความรู้น้อยในสมัยแรกๆ ยังคงประกอบพิธีล้างของยอห์นควบคู่กับศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระคริสตเจ้าอยู่ระยะหนึ่ง (19:3)

g ตั้งแต่ 1:6 นี้ ลูกาเล่าเรื่องต่อไปจากที่ค้างไว้ใน ลก 24:49

h บรรดาอัครสาวกยังรอคอยพระอาณาจักรของพระเมสสิยาห์ ในรูปแบบของการที่ราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิดกลับมามีอำนาจทางการเมืองอีก (ดู มธ 4:17 เชิงอรรถ f)

i ประวัติศาสตร์ของมนุษย์เป็นการเปิดเผยงานกอบกู้ของพระเจ้า ซึ่งค่อยๆ พัฒนาไปตาม “วันเวลา” (ดู ดนล 2:21; 1 ธส 5:1) พระเจ้าทรงกล่าวล่วงหน้าอยู่เสมอถึง “วันเวลา” นี้ (รม 16:25 เชิงอรรถ l; 1 คร 2:7; อฟ 1:4;3:9,11; คส 1:26; 2 ทธ 1:9; เทียบ มธ 25:34) ขั้นตอนแรกคือเวลาเตรียม (ฮบ 1:2; 9:9; 1 ปต 1:11) และเวลาแห่งการเพียรทนของพระเจ้า (กจ 17:30; รม 3:26) ขั้นตอนที่สองคือ เวลาที่กำหนด (กท 4:4 เชิงอรรถ c) หมายถึงเวลาที่พระเมสสิยาห์เสด็จมาตามที่พระเจ้าทรงกล่าวไว้ล่วงหน้าและเริ่มยุคแห่งความรอดพ้น (รม 3:26 เชิงอรรถ m) ขั้นตอนที่สามคือ ระยะเวลาก่อนการเสด็จมาครั้งสุดท้าย (2 คร 6:2 เชิงอรรถ a) ขั้นตอนสุดท้ายคือ “วันสุดท้าย” อันยิ่งใหญ่ (1 คร 1:8 เชิงอรรถ e) (ซึ่งยังจะมีช่วงเวลาหนึ่งนำหน้า 1 ทธ 4:1 เชิงอรรถ a) ได้แก่ การพิพากษาประมวลพร้อม (รม 2:6 เชิงอรรถ b) อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาคริสตศตวรรษแรก การรอคอยการเสด็จมาครั้งที่สองของพระคริสตเจ้าซึ่งสืบเนื่องมาจากความคิดในวรรณกรรมแบบวิวรณ์ของชาวยิวค่อยๆ จางหายไป ไม่ต้องรออนาคตเพราะพระพรแห่งยุคสุดท้ายนั้นได้รับในปัจจุบันอยู่แล้ว (ดู 1 คร 1:8 เชิงอรรถ e)

j บทบาทของพระจิตเจ้าเป็นเรื่องที่ลูกาชอบเป็นพิเศษ (ลก 4:1 เชิงอรรถ b) โดยทั่วไปลูกากล่าวถึงพระจิตเจ้าว่าเป็น “พระอานุภาพ” (1:8; 10:38; ลก 1:35; 24:49; รม 15:13, 19; 1 คร 2:4,5; 1 ธส 1:5; ฮบ 2:4) ที่พระเจ้าทรงส่งมาโดยทางพระคริสตเจ้า (กจ 2:33) เพื่อประกาศข่าวดี

1. พระจิตเจ้าประทานพระพรหลายประการ (1 คร 12:4ฯ) ซึ่งเป็นประกันว่าข่าวสารที่ประกาศนั้นมาจากพระเจ้า พระพรเช่นนี้ได้แก่ การพูดภาษาที่ไม่มีใครเข้าใจ (กจ 2:1 เชิงอรรถ a, 4) การทำอัศจรรย์ (10:38) การกล่าวทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้า (11:27 เชิงอรรถ m; 20:23; 21:11) ปรีชาญาณ (6:3, 5, 10)

2. พระจิตเจ้าประทานพละกำลังให้ประกาศว่าพระเยซูเจ้าเป็นพระเมสสิยาห์โดยไม่หวั่นเกรงต่อการเบียดเบียน (4:8, 31; 5:32; 6:10; เทียบ ฟป 1:19) ให้เป็นพยานยืนยันถึงพระองค์ (1:8; มธ 10:20//; ยน 15:26; 2 ทธ 1:7ฯ ดูเชิงอรรถด้วย)

3. พระจิตเจ้าทรงนำพระศาสนจักรในการตัดสินใจครั้งสำคัญๆ เช่น การรับชนต่างชาติเข้าพระศาสนจักร (8:29, 40; 10:19, 44-47; 11:12-16; 15:8) โดยไม่บังคับให้ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ (15:28) ภารกิจของเปาโลท่ามกลางคนต่างศาสนา (13:2ฯ; 16:6-7; 19:1; ดู มธ 3:16 เชิงอรรถ n) หนังสือกิจการอัครสาวกยังกล่าวถึงการรับพระจิตเจ้าในศีลล้างบาปเพื่อรับการอภัยบาปอีกด้วย (กจ 2:38; ดู รม 5:5 เชิงอรรถ e)

k หน้าที่ประการแรกของบรรดาอัครสาวก คือ การเป็นพยานยืนยันไม่เพียงถึงเรื่องการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าเท่านั้น (2:32; 3:15; 4:33; 5:32; 13:31; 22:15; ลก 24:48) แต่ยังรวมถึงพระชนมชีพเปิดเผยทั้งหมดของพระองค์ด้วย (1:21; 10:39ฯ; ลก 1:2; ยน 15:27)

l ไม่มีสิ่งใดสามารถจำกัดขอบเขตภารกิจของบรรดาอัครสาวกได้ (อสย 45:14 เชิงอรรถ h) การขยายตัวของข่าวดีดำเนินไปตามแผนทางภูมิศาสตร์ของหนังสือกิจการฯ ที่ให้กรุงเยรูซาเล็มรับข่าวดี เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับเผยแผ่ข่าวดีออกไป (ดู ลก 2:38 เชิงอรรถ o)

m เมฆเป็นรายละเอียดประการหนึ่งที่มักจะใช้เมื่อกล่าวถึงการแสดงองค์ของพระเจ้าในพันธสัญญาเดิม (อพย 13:22 เชิงอรรถ h) และในพันธสัญญาใหม่ (ลก 9:34-35//) โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ดนล 7:13 ซึ่งเป็นเครื่องหมายแจ้งการเสด็จมาของบุตรแห่งมนุษย์ ข้อ 11 (มธ 24:30 เชิงอรรถ q; เทียบ 1 ธส 4:17; วว 1:7; 14:14-16)

n สำเนาโบราณบางฉบับละ “ขึ้นสู่สวรรค์”

o พระคริสตเจ้าจะเสด็จมาในพระสิริรุ่งโรจน์ในวันสุดท้าย (ดูเชิงอรรถใน มธ 24 และ ลก 17:22-37; 21:5-33)

p อัครสาวกยูดาสไม่ใช่ยูดาส “น้อง” ของพระเยซูเจ้า (ดู มธ 13:55; มก 6:3) หรือน้องของยากอบ (ยด 1) อัครสาวกยากอบบุตรของอัลเฟอัสก็ไม่ใช่น้องของพระเยซูเจ้า (“องค์พระผู้เป็นเจ้า”) (12:17; 15:13; ฯลฯ)

q มีตัวอย่างมากมายในหนังสือกิจการอัครสาวกเรื่องการอธิษฐานภาวนาอย่างกระตือรือร้นที่พระเยซูเจ้าทรงกำชับ (มธ 6:5 เชิงอรรถ c) และทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่าง (มธ 14:23 เชิงอรรถ f) การอธิษฐานภาวนาร่วมกันโดยมีบรรดาอัครสาวกเป็นผู้นำ เป็นส่วนสำคัญของพิธีบิปัง (พิธีมิสซา) (กจ 2:42, 46; 20:7-11) กจ กล่าวถึงการอธิษฐานภาวนาในโอกาสสำคัญต่างๆ ทุกครั้ง เช่น การเลือกตั้ง การรับศีลบวช และการประกาศกฎเกณฑ์ต่างๆ (1:24; 6:6; 13:3; 14:23) การประทานพระจิตเจ้าแก่ชาวสะมาเรีย (8:15) ในโอกาสที่ถูกเบียดเบียน (4:24-31; 12:5, 12) กจ ยังกล่าวถึงบุคคลที่อธิษฐานภาวนาด้วย เช่น สเทเฟนอธิษฐานภาวนาเพื่อตนเองและเพชฌฆาต (7:59-60) เปาโลภาวนาหลังจากได้เห็นภาพนิมิตของพระคริสตเจ้า (9:11) เปโตรและเปาโลภาวนาก่อนทำอัศจรรย์ต่างๆ (9:40; 28:8) เปโตรภาวนาเมื่อพระเจ้าทรงเรียกให้ไปพบโครเนลิอัส (10:9; 11:5) โครเนลิอัสเองเป็นผู้อธิษฐานภาวนาด้วย (10:2, 4, 30-31) เปาโลและสิลาสภาวนาในคุก (16:25) เปาโลภาวนาเมื่อร่ำลาเพื่อนพี่น้องที่เมืองมิเลทัส (20:36) และที่เมืองไทระ (21:5) โดยทั่วไปการอธิษฐานภาวนามีจุดประสงค์เพื่ออ้อนวอนขอ เพื่อรับอภัยบาป (8:22-24) เพื่อสรรเสริญ (16:25) เพื่อขอบพระคุณ (28:15) และสุดท้ายเพื่อเป็นพยานยืนยันความเชื่อ “การเรียกขานพระนามของพระเยซูเจ้า” เป็นลักษณะพิเศษของคริสตชน (2:21, 38; 9:14, 21; 22:16)

r “พระประยูรญาติ” หมายถึง ญาติสนิทของพระเยซูเจ้า (ดู มธ 12:46 เชิงอรรถ o)

s คำว่า “พี่น้อง” ในพระคัมภีร์ยังใช้ในความหมายกว้างอีกด้วย โดยหมายถึงญาติห่างๆ หรือใกล้ชิดก็ได้ (ปฐก 9:25; 13:8) อาจหมายถึงเพื่อนร่วมชาติ (ปฐก 16:12; อพย 2:11; ฉธบ 2:4; 15:2; สดด 22:22) นอกจากนี้ คำนี้ยังหมายถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งเพราะร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันในพันธสัญญา ในพันธสัญญาใหม่คำว่า “พี่น้อง” บ่อยๆ หมายถึงบรรดาคริสตชนหรือบรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้า (6:3; 9:30; 11:1; 12:17; มธ 28:10; ยน 20:17; รม 1:13) เพราะบรรดาศิษย์ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้าเช่นเดียวกับพระคริสตเจ้า (มธ 12:50//) เขาจึงเป็นบุตรของพระบิดาโดยมีพระคริสตเจ้าทรงเป็นบุตรคนแรก (มธ 25:40; รม 8:29; ฮบ 2:11, 17) และรักกันฉันพี่น้อง (รม 12:10; 1 ธส 4:9; 1 ปต 1:22; 1 ยน 3:14)

t สาเหตุของความตายของยูดาสที่นี่แตกต่างจากที่กล่าวใน มธ 27:3-10 ยูดาสมิได้แขวนคอตายเหมือนกับอาฮิโทเฟล (2 ซมอ 17:23) แต่ตายตามแบบคนชั่วใน ปชญ 4:19 เรื่องไส้ทะลักออกมาเป็นรายละเอียดที่พบบ่อยๆ ในนิยายชาวบ้านเมื่อกล่าวถึงความตายของคนชั่ว “เลือด” ในคำ “นาเลือด มิได้หมายถึงเลือดของพระเยซูเจ้า แต่หมายถึงเลือดของยูดาส ทั้ง มธ และ กจ กล่าวตรงกันว่ายูดาสผู้ทรยศพบจุดจบอย่างกะทันหันและน่าอัปยศ และนำเอาเรื่องนี้มาเกี่ยวข้องกับชื่อ “ฮาเคลดามา” (Hakeldama) ชื่ออัปมงคลของสถานที่ซึ่งรู้จักกันดีในกรุงเยรูซาเล็ม

u สำเนาโบราณบางฉบับใช้กริยาในข้อ 23 และข้อ 24 เป็นเอกพจน์ เพื่อเน้นบทบาทของเปโตร

v การจับสลากเป็นวิธีเลือกบุคคลแบบโบราณ (อพย 33:7 เชิงอรรถ e; 1 ซมอ 14:41 เชิงอรรถ r; ลก 1:9) ต่อมาไม่นานคริสตชนจะใช้วิธีอื่นที่พิจารณาคุณสมบัติของบุคคลมากขึ้น (ดู 6 :3-6; 13:2-3)

w สำเนาโบราณบางฉบับว่า “อัครสาวกสิบสองคน” (ดู มก 3:14 เชิงอรรถ c)