“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

รำพึงพระวาจาประจำวัน โดยคุณพ่อสมเกียรติ  ตรีนิกร
วันพุธที่ 11 ตุลาคม 2017
สัปดาห์ที่ 27 เทศกาลธรรมดา
ลก 11:1-4….
       1วันหนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง เมื่อทรงอธิษฐานจบแล้ว ศิษย์คนหนึ่งทูลพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า โปรดสอนเราให้อธิษฐานภาวนาเหมือนกับที่ยอห์นสอนศิษย์ของเขาเถิด” 2พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “เมื่อท่านทั้งหลายอธิษฐานภาวนา จงพูดว่า


“ข้าแต่พระบิดา พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ
พระอาณาจักรจงมาถึง
3โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายทุกวัน
โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย
4เหมือนข้าพเจ้าทั้งหลายให้อภัยแก่ผู้อื่น
โปรดช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายไม่ให้แพ้การผจญ”

อรรถาธิบายและไตร่ตรอง
• พ่อชอบวัดแห่งหนึ่งที่อิสราเอล ที่เยรูซาเล็ม บนฝั่งภูเขามะกอก ชื่อวัด “ข้าแต่พระบิดา” วัดนี้สร้างขึ้น ณ สถานที่ ตามธรรมประเพณี ที่พระวรสารนักบุญลูกาวันนี้ที่เราได้อ่าน พระเยซูเจ้าภาวนาในสถานที่แห่งหนึ่ง และบรรดาศิษย์ได้ขอให้พระองค์สอนให้พวกเขาสวดภาวนาบ้าง พ่อชอบไปที่วัดนี้บ่อยๆ และในบริเวณ ก็เป็นของอารามคาร์แมล วัดที่ไม่ได้ใหญ่เลย แต่มีบริเวณรอบๆ ที่ติดบทภาวนาข้าแต่พระบิดาจากภาษาต่างๆเป็นร้อยภาษาทีเดียว

• พ่อชอบเดินไปและสำรวจบริเวณ ณ ที่ที่มีเสน่ห์มากจุดหนึ่งก็คือ ถ้ำเล็กๆ ธรรมชาติ และแต่งเติมนิดหน่อยตามกาลเวลาและเพื่อการแสวงบุญ เป็นถ้ำที่เชื่อว่าพระเยซูเจ้ากับบรรดาศิษย์ข้ามมาจากฝั่งนครเยรูซาเล็ม มาอยู่บริเวณนี้บนภูเขามะกอก และพระองค์กับบรรดาศิษย์ก็สนทนา ค้างคืน ภาวนาที่นี่เป็นประจำ.. และ ณ ที่นี้ พระองค์ทรงสอนบรรดาศิษย์ให้สวดภาวนา บท “ข้าแต่พระบิดา” ครับ ทุกวันนี้ผู้แสวงบุญมากมาย และนักท่องเที่ยวมาที่นี่ วัดที่ชื่อว่า “วัดข้าแต่พระบิดา” (Pater Noster) และคนมากมายก็เข้าคิวรอเข้าไปในถ้ำเล็กนี้ เข้าไปได้มากสุดน่าจะสามสิบคนก็คงแน่นมากๆ และทุกคนทุกกลุ่ม จากทุกชาติภาษา เมื่อเข้ามาในถ้ำนี้ สิ่งที่ทำกันเป็นประเพณีคือสวดบทข้าแต่พระบิดาในภาษาของตนเอง หรือร้องเพลงข้าแต่พระบิดาในภาษาของตนเอง ซึ่งตลอดทั้งวันที่วัดเปิด กลุ่มนักท่องเที่ยวแสวงบุญก็จะเข้ามา และเข้าคิวเป็นกลุ่มๆลงไปภาวนาแบบนี้ น่าประหลาดใจครับ คนจากทุกชาติภาษา ต่างเข้ามาและร้องเรียกพระเจ้าสูงสุดว่า “พระบิดา” พระเจ้าเดียวกันที่พระเยซูเจ้าสอนให้บรรดาศิษย์เรียก น่าทึ่งจริง เสียงจากทุกภาษาทั่วโลกแม้ไม่ได้มาที่เยรูซาเล็ม แต่ทุกวัน ทุกนาที ทุกวินาที ไม่ได้ขาด แม้แต่เสี้ยววินาทีด้วย ที่โลกใบนี้จากทุกมุมทุกแห่งของโลก ต่างมีเสียงสวดภาวนา “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” น่าทึ่งจริงๆครับ

• ในวัดข้าแต่พระบิดานี้ มีบริเวณกำแพงขยายไปโดยรอบ... มีคำภาวนาข้าแต่พระบิดาเป็นภาษาต่างๆ เขียนไว้บนกระเบื้องและนำมาติดไว้ในวัด ขนาดใหญ่เล็กต่างกันไป มีภาษาต่างๆ ทั่วโลกมากกว่าร้อยภาษา และทุกชาติที่มาแสวงบุญต่างก็เดินหาภาษาของตนเอง เพื่อสวดภาวนา มีเสน่ห์ดี แปลกดี

• แต่ประเด็นที่พ่ออยากจะบอกคือ อัศจรรย์ครับ พระเจ้าทรงเป็นพระบิดาของมนุษย์ทุกชาติทุกภาษา พระองค์ถูกเรียกว่า “พระบิดา” และพระเยซูเจ้าทรงเรียกพระเจ้าแบบนี้ สอนบรรดาศิษย์ให้ภาวนา และเรียกพระเจ้าว่า “พระบิดา”
o สำหรับชาวยิว อาจารย์ รับบี ไม่เคยมีใครสอนให้เรียกพระเจ้าว่าพระบิดา มีแต่เน้นความยิ่งใหญ่ ไกลห่างเอื้อมไม่ถึง ต้องเกรงกลัวตัวสั่น พระเจ้าเป็นพระผู้สูงสุด ผู้สร้างสวรรค์และแผ่นดิน พระผู้ควรรับการถวายพระพร และคำอื่นๆที่ใช้เรียกพระเจ้าตามแบบของรับบีชาวยิว
o แต่พระเยซูเจ้า เมื่อศิษย์คนหนึ่งขอให้พระองค์สอนพวกเขาให้ภาวนาถึงพระเจ้า แบบที่รับบีหรืออาจารย์ทั่วไปสอน แบบที่ยอห์นบัปติสสอนศิษย์ของตน เสียงร้องขอนั้นชัดในพระวรสารวันนี้ “พระเจ้าข้า โปรดสอนเราให้อธิษฐานภาวนาเหมือนกับที่ยอห์นสอนศิษย์ของเขาเถิด” และผลตามมาจากคำขอ ก็คือการเรียกขานพระนามพระเจ้า การร้องหาพระเจ้า พลิกโฉมประวัติศาสตร์ของการภาวนาของชาวยิว คือ ความใกล้ชิด การร้องหาแบบเด็กเล็กๆเรียกบิดาของตน “พระบิดา พ่อ อับบา”

• แน่นอนครับ ภาษากรีกต้นฉบับที่พ่อได้พบในพระคัมภีร์ ใช้คำว่า Pater บันทึกในพระวรสาร แต่ขณะที่พ่อเดินสำรวจภาษาที่พระเยซูเจ้าใช่พูดในสมัยของพระองค์ ภาษาที่พระองค์คุ้นเคย และใช้สอนบรรดาศิษย์ พ่อเดินไปดูภาษาอารายมายอิก ภาษาฮีบรู ภาษาซีเรียก... คำที่ใช้สวดข้าแต่พระบิดาคือคำที่มีรากมาจาก “อับบา อาบูนา อาบูน” ทั้งสามภาษาที่ใกล้กันที่พ่อบอก ใช้รากเดียวกันหมดเลย.... เป็นคำที่เด็กเล็กๆใช้เรียก “คุณพ่อ พ่อ ป๊า จา อาปา ฯลฯ” เป็นภาษาของความใกล้ชิดจริงๆ ใกล้ชิดแบบเด็กเล็กๆที่ใกล้ชิดบิดาของตนเอง... น่าทึ่งครับ

• พี่น้องที่รัก “พ่อ” “บิดา” คือความรักความวางใจที่สุด ไว้ใจที่สุด รักที่สุดด้วยหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่ละคนล่ะ

o แต่ แต่ แต่ ความหมายของพ่อ บิดา คือ แน่ๆ ท่านรักลูก รักเรา พ่ออยากจะบอกว่า.. เราอาจรู้สึกรักบิดา พ่อ มากน้อยต่างกันไปตามสภาพของสังคม
o ความหมาย Meaning ของคำว่า “บิดา” นั่นหมายถึง ความรัก การปกป้อง การเลี้ยงดู การเอาใจใส่ และการช่วยเหลือให้พันอันตรายใดๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เราพบได้ในบทภาวนา “ข้าแต่พระบิดา” ที่พระเยซูเจ้าสอนเราจริงๆ

• นอกจากนั้น เป็นการยืนยัน ความรักยิ่งใหญ่ของพระเจ้าต่อเรา เป็นการยืนยันมิติใหม่ของความรักและความใกล้ชิดกับพระเจ้าที่เคยห่างไกล แต่พระเยซูเจ้าทรงสอนเราด้วยประสบการณ์ของพระองค์ที่ทรงมีกับพระเจ้าพระบิดา พระองค์สอนและแบ่งปันความจริงๆแห่งการเป็นพระเจ้า “พระบิดาให้กับเรา” พ่อคิดว่าพวกเราคริสตชน เราต้องเรียนรู้ รักพระเจ้าให้ลึกซึ้งขึ้นเสมอทุกวันในการภาวนา

• แน่นอนครับ... เด็กๆคงจะดื้อบ้าง ไม่น่ารักบ้าง หรือขัดใจบิดาบ้าง แต่ปกติ คนที่เป็นพ่อ หรือเป็นบิดาจะมีธรรมชาติหนึ่งที่มีแน่นอนคือรัก ปกป้อง คุ้มครอง เลี้ยงดูใหอาหาร รักษา และเอาใจใส่จริงๆ “บิดา” ปกติ (ย้ำว่า “ปกติ” เพราะอาจมีบิดาที่ไม่ปกติ) เป็นเช่นนั้นครับ

• ในวันนี้ พระเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่ที่สุด ที่พระเยซูสอนเราให้เรียกพระองค์ว่า “พระบิดา” พ่อจึงคิดว่า สิ่งที่เรามั่นใจได้จริงๆ นะครับ... เราอาจไม่ได้รักพระองค์มากนัก บ่อยๆ อาจดื้อ เสเพล แต่พระบิดาผู้เป็นพระเจ้าที่เราเรียกว่า “พระบิดา” พ่ออยากบอกกับพี่น้องว่า พระองค์รักเราแน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัยใดๆ แม้ในยามที่เราไม่ได้รักพระองค์ เราลืมพระองค์ ทอดทิ้งห่างไกลจากพระองค์ แต่ที่แน่ๆ พระองค์ “บิดา” ไม่มีวันไม่รักลูกของพระองค์ได้เลย เพราะพระองค์เป็นพระบิดา พระเจ้าที่สมบูรณ์แบบในการเป็นพระบิดาของเราครับ...

• เขียนไปแล้วดูไกลตัวใช่ไหม เทศน์ไปแล้วใกล้สุดจริงๆคือพระบิดา แต่ดูไกลๆใช่ไหม ต้องมีการเปรียบเทียบสักหน่อยไหมครับ... Analogy
o พ่อเองก็เคยมี “จา” (บิดาของพ่อที่พ่อเรียก “จา” จนหลายคนก็เรียกตาม) ประสบการณ์ที่พ่อมั่นใจ... พ่อเห็นจาพ่อเมื่อจายังมีชีวิตอยู่สวดภาวนาทุกวันไม่เคยขาด แม้ยามเจ็บป่วยก็ยิ่งสวดมากขึ้น จาของพ่อลูกเยอะ 15 คน เลยสวดเยอะ
o ถ้าไปถามจาว่า จาสวดอะไร สวดให้ใคร จาจะตอบว่า “สวดให้ลูกๆ...ทุกคน” และจะมีคำตอบที่โยงตามมาว่า “สวดให้พ่อเกียรติเยอะที่สุด” โอ...พ่อโดนเต็มๆ จาห่วงมาก สวดขอพระให้มากๆ เพราะพ่อเป็นพระสงฆ์ จารัก ห่วง เป็นห่วง และทำอะไรไม่ได้นอกจากสวดให้ เวลาพ่อเดินทางไกลๆ จาก็จะจดจ่อสวดให้ปลอดภัย
o พ่อก็เข้าใจจริงๆ เพราะว่าทุกวันจาของพ่อจะหามุมเงียบๆส่วนตัวและก็สวดภาวนา “สายประคำ” คิดถึงลูกๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คิดถึงและภาวนาให้พ่อเกียรตินี่แหละ พ่อเองนี่แหละที่จาห่วงและคิดถึงในคำภาวนา... พ่ออาจจะสรุปว่า มีหลายๆวันที่ผ่านไปในชีวิตการงานของพ่อ หลายวันที่พ่อไม่ได้คิดถึงจาจนบางทีผ่านไปสักสี่ห้าวัน จาจะโทรมาคำถามนี้ทุกที... “หมู่นี้งานยุ่งหรอพ่อ...” เงียบเลยพ่อไม่มีข้อแก้ตัวนอกจากรีบเลิกทุกอย่างถ้าทำได้และขับรถกลับเจ้าเจ็ดทันที เหมือนเด็กเกเรลืมกลับบ้านครับ...
o พ่อคิดว่าในชีวิตของจา น่าจะไม่มีสักวัน นับจากที่ลูกคนนี้บวชเป็นพระสงฆ์แล้ว น่าจะไม่มีสักวันที่จาไม่ได้คิดถึงพ่อ และหรือไม่ได้ภาวนาให้พ่อ...

• ตัวอย่างเปรียบเทียบนี้คงทำให้เข้าใจความหมายของคำว่า “บิดา” นี่เป็นแบบที่เราสัมผัสได้ในโลกของเราที่มีความจำกัดมากมายนะครับ แล้วสำหรับพระเจ้า “พระบิดา พระบิดาเจ้าสวรรค์ พระบิดาของเรา” พระเจ้าที่พระเยซูเจ้าสอนให้เราเรียกว่า “พระบิดา” เราจึงไม่มีความจำเป็นต้องต้องสงสัยในความเชื่อ เชื่อในความรักของพระองค์อีกเลย

• พี่น้องที่รัก สวดภาวนาขอพรบิดากันเสมอนะครับ สรรเสริญพระบิดากันเสมอ ตามที่พระเยซูเจ้าทรงสอนเรา และให้เราแน่ใจว่า พระองค์เป็นพระบิดาของมนุษย์ทุกคนจริงๆครับ.. ขอพระเจ้าพระบิดาทรงรักและอวยพรทุกท่าน ทั้งนี้ อาศัยพระบารมีพระคริสตเจ้า ผู้พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลายเทอญ

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก