“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

รำพึงพระวาจาประจำวัน โดยคุณพ่อสมเกียรติ  ตรีนิกร
วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2017
ระลึกถึง บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง พระสงฆ์และมรณสักขี
พ่อค้นพบสิ่งที่พ่อเขียนไว้เมื่อสิบกว่าปีก่อน .... พ่อนำมาให้อ่าน เป็นบทวิเคราะห์จดหมายจากที่จองจำของท่าน น่าอ่านจดหมายของนักโทษนักบุญองค์นี้ครับ
ตัวจดหมายที่คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิดได้เขียน
และได้ตีพิมพ์ในหนังสือเกี่ยวกับคุณพ่อนิโคลาส

จดหมายส่วนแรก

“...วันที่ 11 มกรา พ.ศ. 84 จนถึงวันที่ 16 พฤศภาคม เป็นระหว่างที่ลูกอยู่ในที่คุมขัง เหมือนนกใหม่ถูกขังในกรง นับว่ารู้สึกลำบากมาก เศร้าใจไม่ใช่น้อย มีเครื่องมือที่ทำให้ลูกมีน้ำอดน้ำทนก็คือคำภาวนา และสวดมนต์ตามหนังสือที่พระสงฆ์ต้องสวดนั้น...
ในระหว่างนี้ลูกรู้สึกลำบากมากทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิตต์ ฝ่ายกายการกินการหลับนอนผิดกว่าที่โรงตำรวจศาลาแดงมาก ไม่มีใครส่งอาหารปิ่นโตให้อีกต่อไป ฝ่ายจิตต์เศร้าใจนอนตื่นเมื่อไรก็คิดว่าถูกโทษ 15 ปี โดยไม่มีความผิดแม้แต่น้อย เป็นต้นไม่มีโอกาสสวดมนต์ตามหนังสือสวดมนต์ ข้อนี้ทำให้ลูกเป็นทุกข์โศรกมาก แต่ยังมีความบรรเทาอยู่อย่างหนึ่งคือสวดลูกประคำ...”

“...ขอคุณบิดาอย่าเป็นทุกข์ถึงลูกเลย การที่ลูกต้องโทษคราวนี้ โดยลูกไม่ได้นึกได้ฝันเลย คุณบิดาก็ทราบดีว่าลูกรักประเทศชาติ จนยอมสละความสนุกสบายฝ่ายข้างโลก ได้อุตสาห์อบรมพี่น้องชาวทัยให้อยู่ในศีลธรรมอันดีเป็นระยะ 15 ปี ลูกได้ช่วยชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกนั้นยังเตือนคนอื่นอีกให้รักชาติ แต่อนิจจา ลูกกลับถูกหาว่าขายชาติ ทรยศต่อชาติ พยานโจทย์ 3 ปาก นับว่าไร้ศีลธรรมอย่างที่สุด กล้าใส่ความสงฆ์ผู้ทรงศีลโดยเจตนาเช่นนี้ ถึงกระนั้นก็ดีลูกรู้สึกว่าพระเจ้าทรงบันดาลให้เป็นไปเช่นนี้ ลูกจึงขอน้อมรับโทษทันฑ์อันนี้ตามน้ำพระทัยของพระเพื่อชดเชยความผิดบาปของลูก และเพื่อความสันติภาพของ (สากล) โลก ทั้งความเจริญของประเทศชาติที่รักของลูกด้วย ลูกสวดเสมอขอพระเอ็นดูยกความผิดของพยานเท็จที่ปรักปรำลูก ตามฉบับแห่งพระเยซูอาจารย์แห่งสากลโลก...”

ตีความประเด็นสำคัญ

• จากตัวจดหมายทำให้เราเห็นความจริงว่า ระยะเวลา 5 เดือน คือจากเดือนมกราคม ถึง เดือนพฤษภาคม ซึ่งคุณพ่อบุญเกิดได้ถูกจำคุกนั้นเป็นเวลาแห่งความทุกข์อย่างมาก โดยเฉพาะหมายถึง “การขาดอิสรภาพ” ซึ่งคุณพ่อได้ใช้ถ้อยคำเปรียบเทียบ ให้เห็นถึงความที่ท่านไม่คุ้นเคยกับสภาพดังกล่าว การที่ต้องดิ้นรน กระวนกระวาย และต้องปรับตัวเพื่อรับสภาพที่ขาดอิสรภาพอย่างแท้จริง ซึ่งคุณพ่อได้สรุปให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า “เหมือนนกใหม่ถูกขังในกรง” ซึ่งโดยธรรมชาติของนกที่มีอิสรภาพแต่เมื่อถูกจับขังกรงในระยะแรกๆ นั้นย่อมต้องดิ้นรน กระวนกระวาย และออกแรงทั้งหมดเพื่อบินสู่อิสรภาพเพียงใด บ่อยครั้งการต่อสู้ดิ้นรนเพื่ออิสรภาพนี้อาจทำให้นกใหม่ที่เพิ่งถูกขังในกรงนั้นถึงตายได้เลยทีเดียว

• “นับว่ารู้สึกลำบากมาก เศร้าใจไม่ใช่น้อย” จากข้อความนี้ น่าสังเกตว่า คุณพ่อได้แสดงความรู้สึกหรือปฏิกิริยาต่อสภาพการณ์ดังกล่าว ซึ่งสามารถเห็นได้ชัด โดยแบ่งเป็นสองระดับคือฝ่ายร่างกายและฝ่ายจิตใจ ซึ่งแน่นอนทั้งสองระดับนี้รวมความย่อมหมายถึงสภาพทั้งครบของคุณพ่อที่ต้องรับทรมานจากการถูกคุมขังในคุกนี้
- ฝ่ายร่างกาย “รู้สึกลำบากมาก”
- ฝ่ายจิตใจ “เศร้าใจไม่ใช่น้อย”

• ด้วยสภาพความยากลำบากเช่นนี้ คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด ได้แสดงออกซึ่งสภาพชีวิตจิตอันสูงส่งของท่าน ซึ่งแน่นอนที่สุด ต่อหน้าสภาพของการถูกเบียดเบียน ต่อสภาพของการขาดอิสรภาพ ต่อความลำบากและความเศร้าใจอย่างมากนี้ เราสามารถเห็นความศักดิ์สิทธิ์ของท่านจากข้อความที่สำคัญในจดหมาย ดังต่อไปนี้

• “มีเครื่องมือที่ทำให้ลูกมีน้ำอดน้ำทนก็คือคำภาวนา และสวดมนต์ตามหนังสือที่พระสงฆ์ต้องสวดนั้น...” กล่าวได้ว่า “คำภาวนา” คือเครื่องมือที่ทำให้ท่านมีความสามารถอดทน “เครื่องมือที่ทำให้ลูกมีน้ำอดน้ำทนก็คือคำภาวนา” จากข้อความนี้ ทำให้เห็นความจริงว่า ชีวิตภายในของท่านที่แสดงออกทางคำภาวนานั้น มีความหนักแน่นและเป็นจริงเพียงใด กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าชีวิตภายในของท่านซึ่งหมายถึงการมีชีวิตสนิทกับพระโดยอาศัยการภาวนานั้น ทำให้ท่านสามารถอดทนต่อความอยุติธรรมและการเบียดเบียนได้เพียงใด “ความสุขแท้ แก่ผู้ที่ถูกเบียนเบียนข่มเหงเพราะความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า” (เทียบ มธ 5:10 ) ดังนั้นเราจึงสามารถกล่าวได้ว่า “คำภาวนา” หรือ “การยอมรับว่าพระเจ้าสำคัญที่สุดสำหรับท่าน” คือ ความสามารถของท่านในการมีน้ำอดน้ำทน

• “สวดมนต์ตามหนังสือที่พระสงฆ์ต้องสวดนั้น...” ประเด็นนี้น่าจะต้องถือว่าเป็นส่วนที่โดดเด่นที่สุดในการเป็นพระสงฆ์ของท่าน และน่าจะกล่าวได้ไหมว่า ท่านเป็นพระสงฆ์เสมอ และตลอดเวลา แม้ในเวลาที่ต้องอยู่อย่างขาดอิสรภาพและทนทุกข์

• ข้อที่น่าสังเกตคือ ท่านใช้คำในจดหมายของท่านว่า “ตามหนังสือที่พระสงฆ์ต้องสวดนั้น...” ย่อมหมายถึงความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ภาวนา ต่อหน้าที่ที่ท่านรับในฐานะสงฆ์ “ความสุขแท้ แก่ผู้หิวกระหายความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า เพราะเขาจะอิ่ม” (มธ 5:6) ดังนั้นเราจะตีความได้ไหมว่า ท่านเป็นสงฆ์ในทุกกรณีอย่างซื่อสัตย์และไม่ขาดตกบกพร่องเลย ความไม่เอื้ออำนวยต่อการภาวนาแบบที่ต้องซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าในหน้าที่สงฆ์นั้น ทำให้ท่านกระหายและต้องการภาวนาเพียงใด

สรุปประเด็นสำคัญที่สามารถเรียนรู้จักคุณพ่อนิโคลาส จากจดหมายนี้

• ท่านแสดงออกให้เห็นถึงความยากลำบากของการถูกเบียดเบียน แม้ยากลำบากเหลือเกินรวมทั้งเศร้าใจ แต่ท่านก็สามารถถ่ายทอดให้กับพระสังฆราชของท่าน เป็นการถ่ายทอดที่เปี่ยมด้วยความรู้สึกอย่างมากและเปี่ยมด้วยความเชื่อสูงสุดของท่าน

• ต่อหน้าการเบียดเบียนซึ่งทำให้ท่านขาดอิสรภาพ ท่านสามารถยืนหยัดอดทนโดยอาศัยชีวิตสนิทกับพระ “คำภาวนา” เห็นได้ชัดว่าท่านเป็นคนศักดิ์สิทธิ์เพียงใด

• “หนังสือสวดซึ่งพระสงฆ์ต้องสวด” ยืนยันถึงความสำนึกอันหนักแน่นถึงความเป็นสงฆ์ของท่าน ที่ต้องซื่อสัตย์แม้ในยามที่ต้องทนทุกข์นี้

การรำพึงไตร่ตรอง
• การถูกเบียดเบียนของคุณพ่อบุญราศี บุญเกิด ทำให้ท่านขาดอิสรภาพ นำมาซึ่งสภาพที่เจ็บปวดอย่างที่สุด เราคริสตชนสามารถเรียนรู้ถึงความอยุติธรรม และความเป็นจริงในปัจจุบันของเราเพียงใด? เรามีประสบการณ์การถูกเบียดเบียน การขาดอิสรภาพ หรือเห็นผู้อื่นขาดอิสรภาพ ที่ทำให้เกิดความทุกข์ทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิตเพียงใด?
• “การภาวนา” หรือ “ความเชื่อในพระเจ้า” เป็นเครื่องมือสำคัญเพียงใดในชีวิตคริสตชนของเรา ที่ทำให้เรามีน้ำอดน้ำทนในการเจริญชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเราอาจได้รับความอยุติธรรม “พระเจ้าข้าโปรดยกโทษเขาเถิด”?
• ในความทุกข์และความไม่เอื้ออำนวยในการภาวนา ท่านบุญราศีบุญเกิด ได้ซื่อสัตย์ต่อการภาวนาในฐานะสงฆ์ “สวดมนต์ตามหนังสือที่พระสงฆ์ต้องสวดนั้น...” เราในฐานะสงฆ์ เราได้พยายามซื่อสัตย์เพียงใดในการภาวนาดังกล่าวนี้ ซึ่งเราสัญญาตอบรับเป็นภาระหนักหน่วงและจำเป็นในฐานะสงฆ์?

จดหมายส่วนแรกตอนที่สอง

“ในระหว่างนี้ลูกรู้สึกลำบากมากทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิตต์ ฝ่ายกายการกินการหลับนอนผิดกว่าที่โรงตำรวจศาลาแดงมาก ไม่มีใครส่งอาหารปิ่นโตให้อีกต่อไป ฝ่ายจิตต์เศร้าใจนอนตื่นเมื่อไรก็คิดว่าถูกโทษ 15 ปี โดยไม่มีความผิดแม้แต่น้อย เป็นต้นไม่มีโอกาสสวดมนต์ตามหนังสือสวดมนต์ ข้อนี้ทำให้ลูกเป็นทุกข์โศรกมาก แต่ยังมีความบรรเทาอยู่อย่างหนึ่งคือสวดลูกประคำ...”

ตีความประเด็นสำคัญ
สถานที่จองจำคุณพ่อ ซึ่งเลวร้ายกว่าเดิม ไม่ใช่เพียงขาดอิสรภาพเท่านั้น แต่เป็นสภาพที่แย่ลงกว่าเดิมมากๆ อย่างแน่นอน คุณพ่อได้บรรยายถึงสภาพที่เปลี่ยนไปซึ่งหมายถึงความทุกข์ทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิตที่ทวีมากขึ้นกว่าเดิม
จดหมายตอนนี้ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของจดหมายที่เขียนภายหลังจากส่วนแรกที่ได้กล่าวถึง เพราะดูเหมือนเวลานี้คุณพ่อย้ายมาอยู่ในเรือนจำไม่ใช่ในโรงพัก เห็นได้ถึงความแตกต่างที่ลำบากมากขึ้น จดหมายของคุณพ่อฉบับนี้ควรแก่การติดตาม และเห็นได้ถึงความทรมานที่สืบเนื่องของท่าน และสิ่งที่ท่านยังคงเน้นย้ำนั้นแสดงให้เห็นชีวิตจิตอันลึกซึ้ง และความสัตย์ซื่อต่อกระแสเรียกพระสงฆ์ของท่านอย่างน่าศรัทธายิ่ง

• ท่านย้ำถึงความลำบากที่มากขึ้นทั้งฝ่ายกายและจิต สังเกตได้จากการเล่าของท่านในตัวจดหมายนี้ ทำให้เห็นว่าที่ที่ท่านถูกจองจำเวลานี้ มีความแตกต่างอย่างมากจากที่เดิม คือที่โรงตำรวจศาลาแดง

• ท่านได้แยกประเด็นความลำบากเป็นสองระดับเช่นเคย คือฝ่ายกาย การกินการหลับนอนที่ลำบากกว่าเดิม ซึ่งไม่ทราบว่าหนักเพียงใด แต่สามารถประมาณได้จากถ้อยคำของท่านที่ให้น้ำหนักว่า “ผิดกว่าที่โรงตำรวจศาลาแดงมาก”

• และที่ท่านขยายความในจดหมาย ซึ่งทำให้เราเห็นความทุกข์ดังกล่าวที่กำลังกระทบถึงการกินอยู่และคงจะกำลังกระทบความรู้สึกในจิตใจ คือ “ไม่มีใครส่งอาหารปิ่นโตให้อีกต่อไป” ซึ่งน่าจะเป็นไปได้ว่าเวลานี้ท่านไม่สามารถพบกับใครๆ ที่รักท่าน ที่เคยมาเยี่ยมท่าน ส่งอาหารให้ท่าน กล่าวได้ว่า ท่านขาดอิสรภาพ และขณะนี้ขาดแม้กระทั่งความบรรเทาใจจากผู้ที่มาเยี่ยมเยียนท่าน เพราะความจำกัดของสถานที่กังขังท่านอย่างแน่นอน

• ข้อที่น่าสังเกตคือ ความทุกข์ฝ่ายจิต ที่ท่านทราบถึงชะตากรรม 15 ปีที่ต้องถูกจองจำโดยไร้ความผิด เราสามารถเห็นได้จากถ้อยคำของท่านที่กล่าวว่า “นอนตื่นเมื่อไรก็คิดว่าถูกโทษ 15 ปี โดยไม่มีความผิดแม้แต่น้อย” ทำให้สามารถเข้าใจท่านได้ไหมว่า ท่านถูกรบกวนด้วยความทุกข์ที่เกิดจากความอยุติธรรมทุกวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น “นอนตื่นเมื่อไร...” หมายความว่าความทุกข์ประการนี้รบกวนท่านตลอดเวลา เราจินตนาการได้ไหมว่า ท่านระทมทุกข์ในทุกขณะเพียงใด

• “...เป็นต้นไม่มีโอกาสสวดมนต์ตามหนังสือสวดมนต์ ข้อนี้ทำให้ลูกเป็นทุกข์โศรกมาก” จากประโยคดังกล่าว ดูเหมือนว่าการตื่นนอนขึ้นมาพบกับสภาพจริงที่ต้องถูกจองจำอยู่ในจำคุก เป็นสภาพที่ต้องทนทุกข์อย่างมากสำหรับคุณพ่อ แต่ทว่า ความน่าทึ่งในประโยคเดียวกันที่ดูเหมือนจะเข้มข้นกว่ามากนัก ซึ่งเป็นสาเหตุลึกๆ ที่ทำให้คุณพ่อต้องตื่นนอนขึ้นมาอย่างไร้ความสุขโดยสิ้นเชิง นั่นคือ การที่คุณพ่อไม่มีโอกาสสวดมนต์ตามหนังสือสวดมนต์ โดยคุณพ่อได้ย้ำว่าข้อนี้ทำให้ท่านเป็นทุกข์โศกมาก เราสามารถสรุปจากตัวบทของจดหมายนี้ที่คุณพ่อบันทึกไว้ได้ไหมว่า จดหมายนี้แสดงให้เห็นความจริงอันลึกซึ้งแห่งชีวิตจิตของคุณพ่อ โดยเฉพาะชีวิตจิตของท่านในฐานะพระสงฆ์ ถ้าการขาดอาหารหรือความสะดวกทำให้เกิดความทุกข์ หรือการถูกจำคุกอย่างไร้ความผิดถึง 15 ปีทำให้เกิดความทุกข์ แต่น่าจะตีความได้ว่า สำหรับท่าน การขาดโอกาสที่จะทำหน้าที่สงฆ์อันศักดิ์สิทธิ์ของท่านนั้นทำให้ท่านเป็นทุกข์โศกมากกว่าสิ่งใดๆ

• “…แต่ยังมีความบรรเทาอยู่อย่างหนึ่งคือสวดลูกประคำ...” เราคงต้องขอบคุณพระเจ้า สำหรับแบบอย่างของคุณพ่อที่ได้จารึกไว้ในจดหมายของท่านนี้ เพราะท่านยืนยันถึงความสัมพันธ์ของท่านอย่างลึกซึ้งต่อพระเจ้า และดูเหมือนเป็นหนทางที่พระศาสนจักรรำลึกและมั่นใจเสมอ คือ บทบาทของแม่พระในชีวิตของพระสงฆ์ หรือกล่าวได้ไหมว่า “การสวดลูกประคำนี้กลายเป็นรากฐาน และความบรรเทาใจในชีวิตของคุณพ่ออย่างหนักแน่นที่สุด และจะกล่าวได้ไหมว่าการสวดลูกประคำนี้ เป็นสิ่งเดียวที่คุณพ่อสามารถผูกมัดตนเองกับองค์พระเป็นเจ้า ด้วยความเชื่อ ความวางใจ และความหวัง อีกทั้งความเข้มแข็งจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต”

สรุปประเด็นสำคัญที่สามารถเรียนรู้จักคุณพ่อนิโคลาส จากจดหมายนี้

• 15 ปีของการถูกจองจำโดยไร้ความผิด นำความทุกข์ทรมานมาสู่ชีวิตของคุณพ่อ
• โดยเฉพาะฝ่ายกาย การขาดคนเยี่ยมเยียนซึ่งหมายถึงการถูกทอดทิ้งอันมาจากความจำกัดของกฎเกณฑ์ของสถานที่จองจำ การขาดอาหารที่เหมาะสม
• แต่มากไปกว่านั้น และดูเหมือนจะสำคัญที่สุด คือการที่คุณพ่อต้องขาดโอกาสทำหน้าที่สงฆ์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ ในการภาวนาตามบทภาวนาที่พระสงฆ์ต้องสวด
• สิ่งเดียวที่เป็นความบรรเทาใจสำหรับท่านยังคงเป็นชีวิตที่สนิทกับพระเจ้า โดยผ่านทางการสวดสายประคำ ความบรรเทาใจจากการเสนอวิงวอนของพระแม่มารีอาพระมารดาของพระสงฆ์

การรำพึงไตร่ตรอง

• การกินการหลับนอนซึ่งเป็นสาระสำคัญเพื่อมีชีวิต คุณพ่อบุญเกิดต้องเผชิญกับสภาพที่ลำบากเพื่อจะมีชีวิตในเรือนจำ แต่ดูเหมือนสาระสำคัญของชีวิตสำหรับท่านที่สำคัญกว่า คือสาระแห่งชีวิตฝ่ายจิต โดยเฉพาะในความเป็นสงฆ์ สำหรับเราเล่าอะไรคือสาระสำคัญที่สุดในชีวิตคริสตชน ในชีวิตสงฆ์ของเรา? อาหารการกิน หรือชีวิตภาวนา?
• การขาดการภาวนาตามหน้าที่สงฆ์ของเรา นำความทุกข์มาสู่ชีวิตของเราในฐานะเป็นพระสงฆ์ของพระคริสตเจ้า ดังเช่นคุณพ่อบุญเกิดเพียงใด?
• การภาวนาตามบทสวดที่เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ต้องสวดนั้น มีคุณค่าตามที่เราสัญญากับพระเจ้าในชีวิตสงฆ์ของเราเพียงใด?
• โดยแบบอย่างของคุณพ่อบุญเกิด สงฆ์รุ่นพี่แห่งคณะสงฆ์ของเราผู้ที่ได้รับการรับรองจากพระศาสนจักรให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์นี้ ได้สร้างความปรารถนาแก่เราพระสงฆ์ ที่จะเดินตามรอยเท้าของท่านเพียงใด?
• แม่พระมีบทบาทสำคัญในชีวิตสงฆ์ของเราเพียงใด ในฐานะที่พระนางได้ชื่อว่าเป็น “มารดาของพระสงฆ์”?

-------------------------------------------

จดหมายส่วนที่สอง
ซึ่งน่าจะเป็นส่วนที่สำคัญ และล้ำค่าที่สุดของจดหมายของคุณพ่อ

“...ขอคุณบิดาอย่าเป็นทุกข์ถึงลูกเลย การที่ลูกต้องโทษคราวนี้ โดยลูกไม่ได้นึกได้ฝันเลย คุณบิดาก็ทราบดีว่าลูกรักประเทศชาติ จนยอมสละความสนุกสบายฝ่ายข้างโลก ได้อุตสาห์อบรมพี่น้องชาวทัยให้อยู่ในศีลธรรมอันดีเป็นระยะ 15 ปี ลูกได้ช่วยชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกนั้นยังเตือนคนอื่นอีกให้รักชาติ แต่อนิจจา ลูกกลับถูกหาว่าขายชาติ ทรยศต่อชาติ พยานโจทย์ 3 ปาก นับว่าไร้ศีลธรรมอย่างที่สุด กล้าใส่ความสงฆ์ผู้ทรงศีลโดยเจตนาเช่นนี้ ถึงกระนั้นก็ดีลูกรู้สึกว่าพระเจ้าทรงบันดาลให้เป็นไปเช่นนี้ ลูกจึงขอน้อมรับโทษทันฑ์อันนี้ตามน้ำพระทัยของพระเพื่อชดเชยความผิดบาปของลูก และเพื่อความสันติภาพของ (สากล) โลก ทั้งความเจริญของประเทศชาติที่รักของลูกด้วย ลูกสวดเสมอขอพระเอ็นดูยกความผิดของพยานเท็จที่ปรักปรำลูก ตามฉบับแห่งพระเยซูอาจารย์แห่งสากลโลก...”

ตีความประเด็นสำคัญ

ในจดหมายส่วนที่สองที่เรามีอยู่ในมือนี้ เป็นเครื่องยืนยันแก่พวกเราว่า คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด สมควรแก่การได้รับการประกาศเป็นบุญราศี มรณสักขี และควรแก่การเป็นแบบอย่างสำหรับชาวเราทุกคน โดยเฉพาะบรรดาพระสงฆ์ของพระคริสตเจ้า และบรรดาคริสตชนทุกคนด้วย อาจสรุปได้ว่า จดหมายของท่านในช่วงนี้ทำให้เห็นความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของท่านต่อพระเป็นเจ้า ซึ่งกล่าวได้เช่นกันว่าความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของท่านต่อพระเจ้านี้ เป็นเหตุผล และเป็นความหมายแท้จริงในความสัมพันธ์ของท่านต่อพระสังฆราชของท่าน ต่อประชาชนทุกคน โดยเฉพาะประชาชนชาวไทย และสุดท้ายความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับพระเจ้า หรือความศักดิ์สิทธิ์ของท่านเป็นสาเหตุของการให้อภัย และรักแม้ผู้ที่ใส่ความเบียดเบียนท่าน โดยความสัมพันธ์อันลึกซึ้งทุกระดับ กับพระเจ้า สังฆราช เพื่อนพี่น้อง และแม้ศัตรูนี้ ปรากฏชัดในจดหมายของท่าน

เราลองอ่านจดหมายของท่านใหม่อีกครั้ง ตามที่ได้เน้นให้เห็นซึ่งประเด็นต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมา เราจะพบความจริงว่า ท่านมีชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ ลึกซึ้ง สนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า กับพระสังฆราชของท่าน ต่อประเทศชาติ และทุกคน รวมทั้งผู้เบียดเบียนท่านด้วย

• ต่อสถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นแก่ท่าน ท่านสรุปว่า “ถึงกระนั้นก็ดีลูกรู้สึกว่าพระเจ้าทรงบันดาลให้เป็นไปเช่นนี้ ลูกจึงขอน้อมรับโทษทัณฑ์อันนี้ตามน้ำพระทัยของพระ” กล่าวโดยสรุปคือ ท่านมีความเชื่อมั่นและวางใจอีกทั้งหวังในพระเจ้า ซึ่งเป็นเครื่องหมายของชีวิตศักดิ์สิทธิ์ และเปี่ยมด้วยพระหรรษทาน ความเชื่อ ความไว้ใจ และความรัก ท่านมอบชีวิตของท่านทั้งครบไว้ในองค์พระเจ้า “พระประสงค์จงสำเร็จ” ซึ่งการที่ท่านยอมรับ “พระประสงค์ หรือ น้ำพระทัย” ย่อมหมายความว่า พระเจ้าทรงสำคัญที่สุดในชีวิตของท่าน และความจริงประการนี้ปรากฏอยู่ในจดหมายของท่านที่ได้เขียนขณะถูกจองจำ

• การกระทำของคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิดนี้ เป็นการเลียนพระแบบฉบับขององค์พระเยซูเจ้า เพราะพระเยซูพระอาจารย์เจ้าทรงถือเอาพระประสงค์ของพระบิดาเจ้านั้นสำคัญ และเป็นอันดับแรกในพันธกิจแห่งการช่วยมนุษยชาติให้รอด

• ถ้อยคำเรียกพระสังฆราชของคุณพ่อในจดหมายนี้น่าจะเพียงพอที่เราจะกล่าวว่า คุณพ่อเป็นแบบอย่างของพระสงฆ์ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับพระสังฆราชของท่านเพียงใด และท่านกับพระสังฆราชของท่านนั้นมีความสัมพันธ์กันฉันบิดาและบุตรเพียงใด “...ขอคุณบิดาอย่าเป็นทุกข์ถึงลูกเลย” สังเกตว่าตลอดจดหมายนี้ท่านได้ใช้คำแทนตัวท่านเองว่า “ลูก” โดยตลอด

• กล่าวได้ไหมว่า ในความทุกข์ของท่านนั้นเอง ท่านยังเป็นห่วงพระสังฆราชของท่าน และไม่ปรารถนาให้พระสังฆราชของท่านต้องเป็นทุกข์เพราะเรื่องของท่านนี้

• คุณพ่อเองยังได้ประกาศระดับความสัมพันธ์ของท่านกับพระสังฆราชของท่านนั้น ว่าเป็นความสัมพันธ์อันเนื่องมาจากความสัมพันธ์กับพระเจ้าอย่างแท้จริง กล่าวคือ พระเจ้าคือสายสัมพันธ์ของท่านกับพระสังฆราชของท่าน

• ท่านประกาศยืนยันต่อพระสังฆราชของท่าน และแน่ใจว่าพระสังฆราชของท่านทราบดีถึงความรักต่อประเทศชาติอย่างลึกซึ้งของท่าน โดยที่เราอาจเข้าใจได้ว่า เป็นที่รู้กันดีว่าท่านรักประเทศชาติหรือแผ่นดินไทยนี้เพียงใด “คุณบิดาก็ทราบดีว่าลูกรักประเทศชาติ จนยอมสละความสนุกสบายฝ่ายข้างโลก”

• สิ่งที่ดูเหมือนจะซ่อนอยู่ในความล้ำลึก แห่งความเป็นสงฆ์ของคุณพ่อนั้น คงจะอยู่ที่ว่า ท่านแน่ใจว่าชีวิตสงฆ์ของท่านนี้เป็นการสละความสุขสบายฝ่ายโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อความรัก และความดีของประเทศชาติด้วย กล่าวได้ว่าชีวิตสงฆ์ของท่านไม่ใช่เพื่อตัวท่าน และเพื่อพระศาสนจักรเท่านั้น แต่ท่านเข้าใจถึงความเป็นสากลแห่งพระศาสนจักร และความเป็นสากลแห่งความรักของพระเจ้า ดังนั้น ท่านจึงกล่าวอย่างมั่นใจว่า “ลูกรักประเทศชาติ จนยอมสละความสนุกสบายฝ่ายข้างโลก”

• ท่านได้ยืนยันความรัก และหน้าที่สงฆ์ของท่านต่อประเทศชาติอย่างมีสำนึก ทำให้เราเห็นถึงความสำนึกถึงความเป็นสงฆ์อย่างสากลของท่าน อันจะต้องนำความรอดมาสู่ทุกคนไม่เว้นใครเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามประกาศถึงศีลธรรมอันดีในชีวิตของเพื่อนมนุษย์ โดยมีพระเจ้าเป็นเหตุผลและแรงจูงใจสำคัญ “ได้อุตสาห์อบรมพี่น้องชาวทัยให้อยู่ในศีลธรรมอันดีเป็นระยะ 15 ปี ”

• ในจดหมายของคุณพ่อนี้ เราเห็นได้ว่า คุณพ่อนอกจากเป็นสงฆ์ของพระคริสตเจ้าแล้ว เราพบว่าท่านเป็นคนไทยอย่างแท้จริงในสายเลือด เป็นสายเลือดที่รักชาติ รักแผ่นดิน อาจกล่าวได้ว่า ความรักต่อพระเจ้าในความเป็นสงฆ์อันศักดิ์สิทธิ์ของคุณพ่อนี้เองที่เป็นแรงผลักสำคัญ และต้องถือว่ามีเหตุผลมากที่สุด ที่ท่านจะประกาศความรักชาติได้อย่างเปิดเผย อันจะเห็นได้ชัดว่าท่านรักพระเจ้าเพียงใด เพราะคำสอนสำคัญของพระอาจารย์เจ้าคือให้เรารักพระเจ้าสุดจิตใจและรักผู้อื่นเหมือนรักตนเอง “ลูกได้ช่วยชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกนั้นยังเตือนคนอื่นอีกให้รักชาติ”

• คุณพ่อสามารถยกโทษให้กับศัตรูของท่าน แม้การถูกใส่ร้าย ถูกปรักปรำนี้ นำความทุกข์ทั้งปวงมาให้กับท่าน แต่ในที่สุดเราพบความจริงว่า ผู้ที่รักพระเจ้า รักเพื่อนมนุษย์ ย่อมจะต้องมีความหวังในเพื่อนมนุษย์แม้ศัตรูเสมอ “ผู้มีใจอ่อนโยน ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก” (มธ. 5:5) ดังนี้จึงทำให้เห็นว่าคุณพ่อมีจิตใจที่เปี่ยมด้วยความหวัง และได้แสดงออกซึ่งความอ่อนโยนในจิตใจของท่านเพียงใด “ลูกสวดเสมอขอพระเอ็นดูยกความผิดของพยานเท็จที่ปรักปรำลูก ตามฉบับแห่งพระเยซูอาจารย์แห่งสากลโลก...”

• เห็นได้ชัดที่สุดว่า การกระทำของคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด เป็นการเลียนแบบชีวิตของพระอาจารย์เจ้าอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะในการขอพระเจ้าโปรดยกความผิดให้แก่ศัตรูของท่าน “พระเยซูเจ้าตรัสว่า ‘พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร’” (ลก 23:34)

สรุปประเด็นสำคัญที่สามารถเรียนรู้จักคุณพ่อนิโคลาส ในจดหมายส่วนที่สองนี้
• คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด ในจดหมายจากที่จองจำของท่านเน้นให้เห็นชีวิตศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริงของท่าน คือความรักต่อพระเจ้าเป็นพื้นฐานที่แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมในชีวิตของท่านคือ
- ความรักต่อพระเจ้าถือเป็นฐานสำคัญที่สุด “ความเชื่อ ความหวัง และความรัก” ต่อพระเจ้าในชีวิตสงฆ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ของท่าน
- ความรักต่อพระสังฆราชของท่านในฐานะที่ท่านเป็นลูก และสังฆราชเป็นบิดาของท่านโดยทางศีลบวช และความอ่อนน้อมเชื่อฟัง อีกทั้งความปรารถนาดีต่อพระสังฆราชของท่าน
- ความรักต่อประเทศชาติ เป็นพยานที่โดดเด่น อันเนื่องมาจากความเป็นสงฆ์ผู้ทรงศีลและศักดิ์สิทธิ์ของท่าน
- ความรักและความอ่อนโยนต่อศัตรูของท่าน โดยการขอพระเจ้าประทานอภัยแก่ศัตรูของท่าน
• ชีวิตของท่าน คือพยานแห่งความรักและพระกรุณาอีกทั้งความอ่อนโยนของพระเจ้าอย่างแท้จริง

การรำพึงไตร่ตรอง

• ความเชื่อ ความไว้ใจ และความรัก ของเราในฐานะสงฆ์ต่อพระเจ้าเล่าเป็นอย่างไร?

• ชีวิตคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด เป็นแบบอย่างที่มีค่าในเรื่องความเชื่อ ความรัก และความหวังในพระเจ้าเพียงใด?

• คุณพ่อบุญเกิด มีความสัมพันธ์อันดี ลึกซึ้ง ฉันบุตรต่อพระสังฆราชของท่าน และเราในฐานะสงฆ์เช่นเดียวกับท่าน ในฐานะสงฆ์ที่ได้รับการบวชจากพระสังฆราช ให้เป็นผู้ร่วมงานกับท่าน ความสัมพันธ์ของเรากับพระสังฆราชควรเป็นเช่นเดียวกันใช่ไหม?

• สำนึกของเรา ในฐานะสงฆ์ผู้มีหน้าที่บันดาลความศักดิ์สิทธิ์ และผู้ปกครองด้วยความรักเยี่ยงนายชุมพาบาล อีกทั้งต้องประกาศคุณค่าแห่งพระวรสารด้วยความร้อนรน อาศัยชีวิตที่เป็นพยานต่อประชากรทั้งมวล... เรารักประชาชน คริสตชน และพี่น้องทุกคนอย่างไร?

• เรารักประเทศชาติของเราด้วยความรัก ดังเช่นคุณพ่อนิโคลาส พระสงฆ์ผู้เป็นแบบอย่างของเราไหม? และเรารักประเทศชาติ โลกนี้ ดังเช่นพระเจ้าทรงรักหรือไม่?

• เราสามารถรักทุกคน แม้ผู้ที่เบียดเบียนเราดังเช่นองค์พระอาจารย์เจ้า และแบบอย่างของคุณพ่อนิโคลาสหรือไม่ เราต้องไม่ลืมว่า พระคริสตเจ้าคือมหาสงฆ์ และคุณพ่อนิโคลาสคือพระสงฆ์ และเราเองก็เป็นสงฆ์เช่นกัน?

• พระสงฆ์มีหน้าที่สำคัญที่สุดคือ ถวายบูชา พระเยซูเจ้าทรงเป็นทั้งเครื่องบูชาและพระสงฆ์ คุณพ่อนิโคลาสถวายชีวิตเป็นเครื่องบูชาเช่นกัน เราในฐานะสงฆ์ของพระเจ้า เราถวายอะไรบ้างนอกจากปังและเหล้าองุ่น? เราถวายตัวเราเองเป็นเครื่องบูชาด้วยหรือไม่ในชีวิตประจำวันของเรา?

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก