“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
““เอฟฟาธา” แปลว่า “จงเปิดเถิด” ”

35. พระเยซูเจ้าทรงรักษาคนใบ้หูหนวก (มก 7:31-37)
7 31พระองค์เสด็จออกจากเขตเมืองไทระผ่านเมืองไซดอน ไปยังทะเลสาบกาลิลีกลางดินแดนทศบุรี 32มีผู้นำคนใบ้หูหนวกคนหนึ่งมาเฝ้าพระองค์ ทูลขอร้องให้พระองค์ทรงปกพระหัตถ์ 33พระองค์ทรงแยกคนใบ้หูหนวกคนนั้นไปจากกลุ่มชน ทรงใช้นิ้วพระหัตถ์ยอนหูของเขา ทรงใช้พระเขฬะแตะลิ้นของเขา 34ทรงเงยพระพักตร์ขึ้นเบื้องบน ถอนพระทัย แล้วตรัสว่า “เอฟฟาธา” แปลว่า “จงเปิดเถิด” 35ทันใดนั้นหูของเขากลับได้ยิน สิ่งที่ขัดลิ้นอยู่ก็หลุด เขาพูดได้ชัดเจน

36พระเยซูเจ้าทรงห้ามประชาชนเหล่านั้นมิให้พูดเรื่องนี้กับผู้ใด แต่ยิ่งห้าม ก็ยิ่งเล่าลือกันมากขึ้น 37ต่างก็ประหลาดใจมาก กล่าวว่า “คนคนนี้ทำสิ่งใดดีทั้งนั้น เขาทำให้คนหูหนวกกลับได้ยิน และคนใบ้กลับพูดได้”

a)    อธิบายความหมาย
การที่พระเยซูเจ้าทรงรักษาคนใบ้หูหนวกให้หายจากโรค เป็นเหตุการณ์เรื่องหนึ่งในจำนวน 3 เรื่อง ที่นักบุญมาระโกเท่านั้นได้บันทึกไว้ในพระวรสาร และได้เขียนไว้โดยบรรยายรายละเอียดที่น่าสนใจมากมาย อัศจรรย์นี้ต่อเนื่องจากเรื่องการรักษาบุตรหญิงของหญิงชาวซีโรฟีนีเซียในเขตเมืองไทระ

- พระองค์เสด็จออกจากเขตเมืองไทระผ่านเมืองไซดอน ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ทุกคนยอมรับว่า รายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางของพระเยซูเจ้าพร้อมกับบรรดาอัครสาวกไม่มีความชัดเจนเลย เพราะถ้าพระเยซูเจ้าประทับอยู่ที่เขตเมืองไทระ และทรงพระประสงค์ที่จะเสด็จไปยังดินแดนทศบุรี ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองไทระ เหตุใดพระองค์จึงเสด็จผ่านเมืองไซดอนซึ่งอยู่ทางทิศเหนือห่างจากเมืองไทระ 30 กิโลเมตร เหมือนกับว่าผู้ที่อยู่กรุงเทพฯ ต้องการเดินทางไปจันทบุรี เขาจะผ่านไปทางอยุธยาก่อนแล้วจึงวกกลับทางทิศตะวันออกระยะหนึ่ง แล้วจึงเลี้ยวลงมาทางทิศใต้เพื่อมุ่งไปจันทบุรี บางทีนักบุญมาระโกใช้ประโยคสั้น ๆ นี้เพื่อสรุปการเดินทางของพระเยซูเจ้าผู้เสด็จไปในสถานที่ต่าง ๆ โดยใช้เวลาหลายเดือน

- ไปยังทะเลสาบกาลิลีกลางดินแดนทศบุรี จากเมืองไซดอนฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พระเยซูเจ้าอาจเสด็จทางทิศตะวันออกผ่านแคว้นซีเรียจนถึงตอนเหนือของทะเลสาบกาลิลี แล้วเลี้ยวลงทางทิศใต้ด้านตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนและทะเลสาบกาลิลีจนถึงดินแดนทศบุรี  ในที่นี่ พระเยซูเจ้าทรงเคยรักษาชาวเกราซาที่ถูกปีศาจสิง และทรงส่งเขาให้ไปประกาศพระราชกิจของพระเจ้าแก่ญาติพี่น้อง (เทียบ 5:1-20) ดูเหมือนว่าการประกาศของเขาเกิดผล เพราะผู้คนในแคว้นนั้นเริ่มรู้จักกิตติศัพท์ของพระเยซูเจ้ามากขึ้น

- มีผู้นำคนใบ้หูหนวกคนหนึ่งมาเฝ้าพระองค์ ทั้งคนใบ้หูหนวกและผู้นำเขามาเฝ้าพระเยซูเจ้าคงจะเป็นคนต่างศาสนาเพราะดินแดนทศบุรีอยู่นอกเขตของชาวยิว คำว่า "คนใบ้หูหนวก"   ถ้าแปลตามต้นฉบับภาษากรีกว่า "หูหนวกและมีอาการพูดด้วยความยากลำบากหรือพูดติดอ่าง" แต่มักจะแปลว่าคนใบ้หูหนวก โดยแท้จริงแล้ว คนใบ้พูดออกเสียงได้ แต่คำพูดของเขาไม่ชัดเจนเพราะไม่เคยได้ยินเสียงมนุษย์

- ทูลขอร้องให้พระองค์ทรงปกพระหัตถ์ คนโบราณคิดว่าผู้วิเศษจะรักษาโรคต่าง ๆ ได้ ก็จำเป็นต้องสัมผัสผู้ป่วย เช่น วางมือเหนือศีรษะของเขา (เทียบ 5:23; 6:5; 8:23)  

- พระองค์ทรงแยกคนใบ้หูหนวกคนนั้นไปจากกลุ่มชน การกระทำของพระเยซูเจ้าต่างจากพฤติกรรมของผู้วิเศษหรือผู้รักษาโรค พระองค์ไม่ทรงประสงค์ชื่อเสียง ไม่ทรงรักษาผู้ป่วยให้หายเพื่อจะได้รับการยกย่องชมเชย จึงทรงแยกคนใบ้ออกจากกลุ่มชนดังที่ทรงเคยกระทำมาแล้ว 3 ครั้ง (เทียบ 4:34; 6:31; 6:32) ในกรณีนี้ พระองค์ทรงแยกบรรดาศิษย์ออกจากประชาชน เราจึงสันนิษฐานว่า ทั้งผู้ป่วยและบรรดาอัครสาวกเป็นพยานสังเกตการกระทำของพระเยซูเจ้าด้วย

- ทรงใช้นิ้วพระหัตถ์ยอนหูของเขา พระเยซูเจ้าไม่ทรงทำอัศจรรย์รักษาผู้ป่วยเหมือนครั้งก่อน ๆ  (7:30)  เมื่อบุตรหญิงของหญิงชาวซีโรฟีนีเซียนอนป่วยอยู่ที่บ้านและไม่ได้มาพบพระองค์ แต่ในครั้งนี้พระเยซูเจ้าพอพระทัยใช้อากัปกริยาแปลก ๆ ที่ให้คนใบ้เข้าใจได้ เพื่อเตรียมจิตใจของเขาให้รับรู้ว่าพระองค์จะทรงช่วยเหลือเขา พระองค์ทรงทราบว่าคนใบ้หูหนวกมักจะคิดว่าตนมีปมด้อย และมีความวิตกกังวลในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น พระเยซูเจ้าจึงทรงแสดงความอ่อนโยนต่อเขา

- ทรงใช้พระเขฬะแตะลิ้นของเขา คนโบราณคิดว่า น้ำลายมีฤทธิ์เป็นยารักษาโรคได้ อย่างไรก็ตาม พระเยซูเจ้าทรงทำเช่นนี้เพื่อให้คนใบ้หูหนวกเข้าใจว่าทรงพร้อมที่จะรักษาเขา ไม่ใช้ด้วยฤทธิ์อำนาจของนำลาย แต่ด้วยพระวาจาที่จะตรัสซึ่งก่อให้เกิดอัศจรรย์

- ทรงเงยพระพักตร์ขึ้นเบื้องบน การเงยพระพักตร์ขึ้นเป็นท่าทีของพระองค์ในการอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดา (เทียบ 6:41; ยน 11:41; 17:1) ดังนั้น ก่อนจะทรงทำอัศจรรย์ พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาวอนขอการรับรองจากพระบิดา เพราะทรงทราบว่าพระอานุภาพทุกอย่างมาจากพระเจ้า และพระองค์ทรงเป็นเครื่องมือตามพระประสงค์ของพระบิดา

- ถอนพระทัย การถอนหายใจเป็นอาการแสดงความรู้สึกสงสารและตื้นตันใจ ในที่นี้ เป็นความรู้สึกที่พระเยซูเจ้าทรงมีต่อผู้ยากไร้

- แล้วตรัสว่า “เอฟฟาธา” แปลว่า “จงเปิดเถิด” “เอฟฟาธา” เป็นคำภาษาอาราเมอิกซึ่งนักบุญมาระโกเอาใจใส่แปลทันทีเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจอย่างถูกต้องว่า คำนี้ไม่ใช่คาถาของผู้วิเศษที่ร่ายในภาษาแปลก ๆ ซึ่งไม่มีผู้ใดเข้าใจ แต่เป็นคำธรรมดา ๆ ในภาษาถิ่นของพระองค์ เพราะพระเยซูเจ้าไม่ทรงเป็นผู้วิเศษที่ใช้เวทย์มนต์คาถา แต่ทรงเป็นผู้นำความรอดพ้น คำสั่งที่ว่า “จงเปิดเถิด” พระองค์ไม่ได้ตรัสกับอวัยวะส่วนหูหรือลิ้นที่ไม่ปกติของคนใบ้หูหนวก แต่ตรัสกับผู้ป่วย เหมือนกับว่าพระองค์ตรัสกับเขาว่า "จงหายจากโรคเถิด" แน่นอน เมื่อผู้ป่วยหายดีแล้ว อวัยวะส่วนที่บกพร่องก็กลับทำงานเป็นปกติด้วย 

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก