"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“แต่ใจของเขาอยู่ห่างไกลจากเรา”

33. ขนบธรรมเนียมของชาวฟาริสี (4)
- พระองค์ยังตรัสอีกว่า “สิ่งที่ออกจากภายในมนุษย์นั้นแหละทำให้เขามีมลทิน โดยปกติแล้ว เมื่อนักบุญมาระโกเล่าเหตุการณ์ในพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า และเริ่มข้อความด้วยสำนวน "พระองค์ยังตรัสอีกว่า" มักแสดงถึงการรวบรวมพระวาจา 2 ประโยคที่พระเยซูเจ้าตรัสในสถานการณ์ต่างกันเข้าไว้ด้วยกัน แต่ในที่นี้ ข้อความดังกล่าวเป็นพระวาจาที่ต่อเนื่องมาจากคำปราศรัยข้างต้นของพระองค์ เพื่ออธิบายและสนับสนุนความคิดนั้น


- จากภายในคือจากใจมนุษย์นั้น คำว่า "ใจ" เป็นคำสำคัญของการไตร่ตรองดังกล่าว ตามความคิดของชาวเซมิติก "ใจ" เป็นแหล่งที่มาของความคิด เจตจำนงและความรู้สึกของมนุษย์ เป็นศูนย์กลางของบุคลิกภาพ บ่อเกิดของความสำนึกและการเลือกอย่างอิสระ

- เป็นที่มาของความคิดชั่วร้าย ความเป็นมลทินเกิดจากใจ และกิจการชั่วร้ายก็มาจากใจ  พระเยซูเจ้าจึงทรงเริ่มต้นโดยอ้างถึง "ความคิดหรือความปรารถนาชั่วร้าย" ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของกิจการชั่วร้ายที่สร้างความปั่นป่วนในชีวิตทางศาสนาและสังคม นักบุญมาระโกกล่าวถึงกิจการชั่วร้ายทั้ง 12 ประการ ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม เริ่มต้นด้วยบาป 4 ประการที่ปรากฏชัดเจนภายนอกและทำลายบรรยากาศการอยู่ร่วมกันคือ การประพฤติผิดทางเพศ การลักขโมย การฆ่าคน การมีชู้ ต่อจากนั้น กล่าวถึงการถูกผจญและท่าทีภายในที่เป็นอันตรายเพราะเป็นรากฐานของบาปคือ ความโลภ การทำร้าย การฉ้อโกง การสำส่อน กลุ่มสุดท้ายมักจะเกี่ยวข้องกับชีวิตฝ่ายจิตมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ คือ ความอิจฉา การใส่ร้าย ความหยิ่งยโสและ ความโง่เขลา
- การประพฤติผิดทางเพศ หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ของบุคคลที่ยังไม่ได้แต่งงาน

- การลักขโมย ซึ่งทำลายชีวิตสังคมและความไว้วางใจระหว่างบุคคล

- การฆ่าคน พระเจ้าเท่านั้นทรงเป็นเจ้าของชีวิต แต่มนุษย์พร้อมที่จะฆ่าผู้อื่นเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายของตน

- การมีชู้ คือเมื่อผู้ที่แต่งงานแล้วมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ใช่คู่สมรสของตน เป็นการกระทำที่ทำลายชีวิตครอบครัว

- ความโลภ เป็นความปรารถนาที่จะริบสิ่งของของผู้อื่น มิใช่เพื่อกักตุนไว้เหมือนคนตระหนี่ แต่เพื่อบำเรอความสุขของตนเอง ไม่เป็นเพียงความปรารถนาที่จะได้ทรัยพย์สินเงินทองหรือสิ่งของเท่านั้น แต่รวมถึงความปรารถนาที่จะมีอำนาจและความสุขสะดวกสบายฝ่ายกายอีกด้วย   

- การทำร้าย เป็นผลของใจมนุษย์ที่ปรารถนาทำร้ายผู้อื่น และมีความสุขในกิจการชั่วร้ายที่นำความทุกข์แก่ผู้อื่น เช่น ชอบก่อปัญหาให้แก่เพื่อนบ้าน ใช้อารมณ์ร้ายและความฉุนเฉียวในการติดต่อกับผู้อื่น  

- การฉ้อโกง เป็นการกระทำโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความเท็จ หรือปกปิดความจริงซึ่งควรแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง

- การสำส่อน เป็นการแปลคำภาษากรีกที่มีความหมายตามตัวอักษรว่า ใจที่ไม่ชอบมีระเบียบวินัย อยากทำตามใจตนเอง ไม่รู้จักพอประมาณ และไม่มีความอับอาย นักพระคัมภีร์จึงอธิบายว่าคำนี้อ้างถึงการไม่รู้จักควบคุมกามารมณ์ที่ทำให้จิตใจปั่นป่วน แม้ยังไม่แสดงออกในการกระทำโดยการประพฤติผิดทางเพศหรือการมีชู้ จึงเป็นการผจญที่มองไม่เห็น แต่ทำลายความสัมพันธ์ดีงามซึ่งกันและกัน แต่นักพระคัมภีร์อีกบางคนคิดว่าคำนี้หมายถึงการกระทำของผู้ที่ไม่ปิดบังบาปที่กระทำ และไม่ลังเลใจที่จะทำให้ผู้อื่นช็อก

- ความอิจฉา เมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีแล้วไม่พอใจ อยากจะมีหรือเป็นอย่างเขาบ้าง เป็นแหล่งที่มาของการวิพากษ์วิจารณ์ และการใส่ร้ายป้ายสี  

- การใส่ร้าย เป็นผลตามมาโดยตรงของความอิจฉา และทำลายความสนิทสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวเพราะสร้างความสงสัยและความกลัวในหมู่คน

- ความหยิ่งยโส เป็นการแปลคำภาษากรีกที่มีความหมายตามตัวอักษรว่า แสดงตนอยู่เหนือผู้อื่น จึงบรรยายท่าทีของผู้ที่ดูหมิ่นผู้ที่เขาคิดว่าด้อยกว่าตน เรียกร้องให้ทุกคนยอมรับว่าเขาอยู่เหนือผู้อื่น ไม่อยากให้ผู้ใดตัดสินเขา แต่เขาตัดสินทุกคน ตั้งตนแทนพระเจ้า เป็นท่าทีที่แพร่หลายในทุกสถานการณ์ของสังคม พยายามบังคับผู้อื่นให้ปฏิบัติตามความประสงค์ของตน และอาจจะใช้ความรุนแรงเพื่อมีอำนาจปกครอง

- ความโง่เขลา ไม่หมายถึงความโง่ที่เป็นผลของความอ่อนแอทางสติปัญญา หรือไม่มีความรู้เพราะความบกพร่องทางสมอง แต่หมายถึงความโง่เขลาทางศีลธรรม คือผู้ที่เลือกทำความผิดโดยรู้ตัว พระคัมภีร์เรียกคนใดคนหนึ่งว่าเป็นคนโง่เขลา ถ้าผู้นั้นไม่รู้หรือไม่อยากเข้าใจว่าวิถีชีวิตดีที่สุดคือ การปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระเจ้า (เทียบ สภษ 1:22-32; 5:23; บสร 22:9-18) เขาจึงดำเนินชีวิตเหมือนกับว่าพระเจ้าไม่ทรงมีอยู่จริง (เทียบ สดด 14:1)

- สิ่งชั่วร้ายทั้งหมดนี้ออกมาจากภายใน และทำให้มนุษย์มีมลทิน” แน่นอนประโยคนี้ไม่หมายความว่า ไม่มีกิจการชั่วร้ายอื่น ๆ นอกจากที่ได้บันทึกไว้ข้างต้นนี้ แต่พระเยซูเจ้าทรงให้ตัวอย่างของกิจการ ความคิดและความรู้สึก ซึ่งมีรากฐานความชั่วร้ายอยู่ในใจมนุษย์ สิ่งชั่วร้ายเหล่านี้ทำให้มนุษย์เป็นมลทินเฉพาะพระพัตร์พระเจ้า ไม่ใช่อาหารหรือสิ่งของที่เขาอาจสัมผัสโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ดังที่ชาวฟาริสีและบรรดาธรรมจารย์สั่งสอน