“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“จงเหยียดมือซิ”

11. พระเยซูเจ้าทรงรักษาชายมือลีบ (มก 3:1-6)
       1พระเยซูเจ้าเสด็จเข้าไปในศาลาธรรมอีกครั้งหนึ่งที่นั่นมีชายมือลีบคนหนึ่ง 2 ประชาชนบางคนคอยจ้องมองดูว่าพระองค์จะทรงรักษาชายมือลีบในวันสับบาโตหรือไม่เพื่อจะหาเหตุกล่าวโทษพระองค์ 3 พระองค์ตรัสสั่งชายมือลีบว่า “ลุกขึ้นมายืนตรงกลางนี่ซิ”  4 แล้วตรัสถามคนทั้งหลายว่า “ในวันสับบาโตนั้นควรทำความดีหรือความชั่วควรจะช่วยชีวิตหรือปล่อยให้ตายไป” คนเหล่านั้นก็นิ่งอยู่ 5 พระองค์จึงทอดพระเนตรเขาเหล่านั้นด้วยความกริ้วเศร้าพระทัยเพราะจิตใจหยาบกระด้างของเขาแล้วตรัสสั่งชายมือลีบว่า “จงเหยียดมือซิ” เขาก็เหยียดมือมือนั้นก็หายลีบเป็นปกติ 6 ชาวฟาริสีจึงออกไปและประชุมกับพรรคพวกของกษัตริย์เฮโรดทันที เพื่อปรึกษาว่าจะกำจัดพระองค์ได้อย่างไร
a) อธิบายความหมาย
            ข้อความในตอนนี้เล่าเรื่องการโต้เถียงกันระหว่างพระเยซูเจ้ากับคูอริ เป็นกรณีสุดท้ายในจำนวน 5 กรณีที่นักบุญมาระโกบันทึกในข้อความ 2:1-3:6 ซึ่งมีชื่อว่า “การโต้เถียงกันในแคว้นกาลิลี”  เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับวันพักผ่อนในวันสับบาโตเช่นเดียวเรื่องที่เราได้อ่านมาแล้วในกรณีที่บรรดาศิษย์ได้เด็ดรวงข้าวมากินในวันสับบาโต (เทียบ 2:23-28) แต่เหตุการณ์ในกรณีสุดท้ายนี้เปลี่ยนฉากจากนาข้าวสาลีเป็นศาลาธรรม

- “พระเยซูเจ้าเสด็จเข้าไปในศาลาธรรมอีกครั้งหนึ่ง” การที่นักบุญมาระโกบอกว่า พระเยซูเจ้าเสด็จเข้าไปในศาลาธรรม “อีกครั้งหนึ่ง” ชวนผู้อ่านให้ระลึกว่าพระองค์เคยเสด็จเข้าไปในศาลาธรรมแล้วที่เมืองคาเปอรนาอุม(เทียบ 1:21)เมื่อทรงรักษาคนถูกปีศาจสิงให้หายอย่างไรก็ตามศาลาธรรมในครั้งนี้คงจะต้องเป็นคนละแห่งกับศาลาธรรมที่เมืองคาเปอรนาอุม เพราะไม่มีบันทึกว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ไหน โดยแท้จริงแล้ว เป็นเรื่องปกติที่ทุกวันสับบาโตพระเยซูเจ้าเสด็จไปร่วมมนัสการพระเจ้ากับชาวยิวในศาลาธรรม

- นักบุญมาระโกบรรยายรายละเอียดในเรื่องนี้ว่า ”ที่นั่นมีชายมือลีบคนหนึ่ง”การมีมือลีบทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถร่วมพิธีกรรมอย่างเต็มที่ เพราะชาวยิวถือว่าคนพิการเป็นผู้มีมลทิน แม้เขาอยู่ในหมู่ประชาชนก็จริง แต่อยู่ในบริเวณชายขอบสังคม ต้องอยู่ห่างจากผู้อื่น ไม่มีบทบาทใด ๆ ในพิธีกรรม

- ”ประชาชนบางคน” ในที่นี้ไม่มีบอกว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้ใด นักบุญมาระโกจะอธิบายในข้อสุดท้ายว่า เขาเป็นชาวฟิริสีและพรรคพวกของกษัตริย์เฮโรด (เทียบ 3:6) “พรรคพวกของกษัตริย์เฮโรด” หมายถึงชาวยิวที่เล่นการเมือง สนับสนุนราชวงศ์ของกษัตริย์เฮโรดและได้รับผลประโยชน์จากการนี้โดยปกติแล้ว กลุ่มผู้สนับสนุนราชวงศ์ของกษัตริย์เฮโรดไม่ลงรอยกับชาวฟาริสีเพราะมีทัศคติแตกต่างกันมาก ชาวฟาริสีไม่เห็นด้วยที่ราชวงศ์ของกษัตริย์เฮโรดซึ่งเป็นชาวต่างชาติและเป็นมิตรกับชาวโรมันมาเป็นกษัตริย์ปกครองชาวยิว แต่ในกรณีนี้ชาวฟิริสีและพรรคพวกของกษัตริย์เฮโรดรวมหัวกัน เพื่อจะกำจัดพระเยซูเจ้า

- เขา “คอยจ้องมองดูว่าพระองค์จะทรงรักษาชายมือลีบในวันสับบาโตหรือไม่เพื่อจะหาเหตุกล่าวโทษพระองค์”พระเยซูเจ้าทรงทำอัศจรรย์หลายครั้งแล้ว ดังนั้น ประชาชนที่อยู่ในศาลาธรรมคงมีความหวังว่าพระเยซูเจ้าจะทรงรักษาผู้ป่วย แต่ชาวฟาริสีผู้เป็นอริกับพระเยซูเจ้าไม่สงสารผู้ป่วย และไม่ปรารถนาให้พระองค์ทรงรักษาผู้ป่วยให้หายเขาเพียงต้องการทดสอบว่าพระเยซูเจ้าจะทรงทำอัศจรรย์รักษาผู้ป่วยในวันสับบาโตหรือไม่ เพื่อจะมีเหตุกล่าวโทษพระองค์ 

          ธรรมบัญญัติกำหนดว่าวันสับบาโตเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ จึงห้ามทำงานในวันนี้ ชาวยิวตีความหมายว่า การรักษาผู้ป่วยให้หายเป็นงานชนิดหนึ่ง ถ้าไม่จำเป็นหรือไม่ใช่ผู้ป่วยที่อยู่ในขั้นอันตรายถึงกับต้องเสียชีวิต ห้ามช่วยเหลืออย่างเด็ดขาด เช่น ในวันสับบาโตช่วยสตรีที่กำลังจะคลอดบุตรได้ แต่จะช่วยผู้ที่ขาหักหรือข้อเท้าพลิกไม่ได้ สำหรับชาวฟาริสีแล้ว การถือกฏวันสับบาโตสำคัญกว่าสุขภาพของบุคคล แต่พระเยซูเจ้าไม่พอพระทัยวิธีการนี้ สำหรับพระองค์บุคคลต้องมาก่อนและอยู่เหนือกฏต่าง ๆ น่าสังเกตว่า การที่ชาวฟาริสีและพรรคพวกของกษัตริย์เฮโรดคอยจ้องมองพระเยซูเจ้า ก็ไม่ใช่เพราะเขามีความกระตือรือร้นต่อธรรมบัญญัติ แต่เพื่อหาเหตุกล่าวโทษและประหารชีวิตพระองค์

- พระเยซูเจ้าตรัสสั่งชายมือลีบว่า“ลุกขึ้นมายืนตรงกลางนี่ซิ”พระเยซูเจ้าคงจะทรงสั่งให้ผู้ป่วยลุกขึ้นและมายืนตรงกลางก็เพื่อจุดประสงค์ 2 ประการ ประการแรกให้เขาที่อยู่บริเวณชายขอบสังคมได้กลับมาอยู่ในหมู่ของชาวยิวและมีบทบาทพร้อมกับผู้อื่น จะไม่มีผู้ใดต้องขจัดเขา ประการที่สอง พระองค์ทรงต้องการให้ทุกคนเห็นการกระทำของพระองค์

- แล้วพระเยซูเจ้าตรัสถามคนทั้งหลายว่า“ในวันสับบาโตนั้นควรทำความดีหรือความชั่วควรจะช่วยชีวิตหรือปล่อยให้ตายไป”  น่าสังเกตว่า พระองค์ไม่ทรงตั้งคำถามว่า “ในวันสับบาโตอนุญาตให้รักษาผู้ป่วยได้หรือไม่” เพราะถ้าพระองค์ทรงตั้งคำถามเช่นนี้ทุกคนจะให้คำตอบเดียวคือไม่อนุญาต เพราะหัวหน้าชาวยิวตีความหมายว่า การรักษาผู้ป่วยในวันสับบาโตเป็นงานที่ธรรมบัญญัติห้ามปฏิบัติ พระเยซูเจ้าจึงทรงเปลี่ยนคำถาม แทนที่ใช้คำว่า “รักษาให้หาย” กลับทรงใช้คำที่มีความหมายกว้าง ๆ เป็นหลักการทั่วไป พระองค์ตรัสถามว่า “ในวันสับบาโตควรทำความดีหรือทำความชั่ว ควรช่วยชีวิตหรือปล่อยให้ตายไป” คำถามเช่นนี้เรียกร้องคำตอบเดียวคือ “ควร” หรือ “ไม่ควร” ไม่มีคำตอบครึ่ง ๆ กลาง ๆ  ว่า “จะช่วยก็ได้ไม่ช่วยก็ได้” สำหรับพระองค์ การทำความดีหรือการช่วยชีวิตหมายถึงการรักษาผู้ป่วยให้หาย ส่วนการไม่รักษาผู้ป่วยให้หายเมื่อมีโอกาสที่จะรักษาก็เท่ากับว่าไม่ส่งเสริมชีวิต กลับเป็นการส่งเสริมความตาย

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก