“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า"อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“ข้าพเจ้าจะเข้าใจได้อย่างไร ถ้าไม่มีใครอธิบาย”
(กจ 8: 31)
1.คำนำ
          หนังสือกิจการอัครสาวกเล่าเรื่องว่า ข้าราชบริพารชาวเอธิโอเปียผู้หนึ่ง เป็นผู้ดูแลราชทรัพย์ทั้งหมดของพระราชินีคานดาสี เขาได้ไปนมัสการพระเจ้าในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม ขณะเดินทางกลับ เขานั่งในรถม้าและอ่านหนังสือของประกาศกอิสยาห์อยู่ พระจิตเจ้าทรงดลใจสังฆนุกรฟิลิปให้วิ่งตามรถม้าไป เมื่อวิ่งตามทันรถม้า เขาได้ยินข้าราชบริพารผู้นั้นกำลังอ่านหนังสือของประกาศกอิสยาห์ จึงถามว่า “ท่านเข้าใจข้อความที่กำลังอ่านหรือ” ข้าราชบริพารผู้นั้นตอบว่า “ข้าพเจ้าจะเข้าใจได้อย่างไร ถ้าไม่มีใครอธิบาย” แล้วเขาก็เชิญสังฆนุกรฟิลิปขึ้นไปนั่งในรถม้าอธิบายข้อความที่เขากำลังอ่านอยู่
            ทุกวันนี้มีอีกหลายคนที่เปิดพระคัมภีร์อ่าน แต่มีความรู้สึกเหมือนข้าราชบริพารชาวเอธิโอเปียผู้นั้นว่า ถ้าไม่มีใครอธิบายเขาก็ไม่เข้าใจข้อความในพระคัมภีร์ โดยแท้จริงแล้ว ข้อความบางตอนเข้าใจง่ายอาจไม่จำเป็นต้องมีผู้อธิบาย แต่ถ้าผู้ใดปรารถนาอ่านพระคัมภีร์เล่มใดเล่มหนึ่งจนจบและเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดที่ผู้นิพนธิ์ต้องการถ่ายทอด ผู้นั้นจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์มาอธิบายให้ฟัง เพื่อนำคำสอนมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

           ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจจะอธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก เพราะคิดว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจไม่ว่าเขามีความเชื่อในพระเยซูเจ้าแล้วหรือยัง นักบุญมาระโกเขียนพระวรสารฉบับนี้เพื่ออธิบายขบวนการที่มนุษย์ต้องผ่าน ถ้าเขาอยากเป็นศิษย์แท้จริงของพระเยซูเจ้า การเป็นศิษย์ของพระองค์ไม่เกิดขึ้นเพียงเมื่อคนหนึ่งรับศีลล้างบาปเท่านั้น แต่เป็นการดำเนินชีวิตทุกวันตามคุณค่าที่พระองค์ทรงสั่งสอน 
           พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโกสั้นที่สุดในพระวรสารทั้งสี่ฉบับ แต่เป็นพระวรสารที่มีเสน่ห์ ดึงดูดใจผู้อ่านทำให้เขาแปลกใจ เพราะนักบุญมาระโกมีวิธีเล่าเรื่องตรงไปตรงมาอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ข้อแรกนักบุญมาระโกอธิบายจุดประสงค์ของการนิพนธ์อย่างชัดเจนคือต้องการตอบคำถามพื้นฐานที่ว่า “พระเยซูเจ้าทรงเป็นใคร”

          ในข้อแรกนั้นนักบุญมาระโกยืนยันว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระบุตรของพระเจ้า” แต่เขาเปิดเผยความหมายสมบูรณ์ของชื่อนี้เพียงในตอนจบเมื่อสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน สำหรับนักบุญมาระโกเหตุการณ์ทั้งหมดในพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าเข้าใจได้ ถ้าพิจารณาโดยใช้แสงสว่างที่มาจากการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า หนทางที่พระเยซูเจ้าทรงดำเนินตั้งแต่ทรงรับพิธีล้างที่แม่น้ำจอร์แดนมุ่งไปสู่ไม้กางเขน นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมคนจำนวนมากปฏิเสธไม่ยอมติดตามพระเมสสิยาห์ผู้ทรงประกาศล่วงหน้าถึงการรับทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์

         น่าสังเกต คนแรกที่ประกาศยืนยันความเชื่อว่าพระเยซูเจ้าเป็นพระบุตรของพระเจ้าเป็นคนต่างศาสนาคือ นายร้อยชาวโรมันที่ควบคุมนักโทษบนเนินเขากัลวารีโอ นักบุญมาระโกเสนอการยืนยันความเชื่อนี้แก่บุคคลเป้าหมาย ซึ่งเป็นคนต่างศาสนาเพื่อท้าทายเขาให้ตอบรับและยอมเป็นศิษย์ติดตามพระเยซูเจ้า

         แม้หลายศตวรรษผ่านไป พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโกยังคงมีความสำคัญ ผู้อ่านทุกคนได้รับเรียกให้ตอบคำถามที่ว่า “พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า”

         ข้อความในคอลัมน์นี้ต้องการช่วยผู้อ่านให้เข้าใจความหมายของคำถามนี้มากยิ่งขึ้น และส่งเสริมให้ผู้อ่านจงใจตอบคำถามนี้อย่างซื่อสัตย์ ข้าพเจ้าจึงจะอธิบายความหมายของพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโกเป็นตอน ๆ และจะเสนอวิธีประยุกต์ใช้คำสอนนี้ในชีวิตประจำวัน 

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก