"ชวนคิด ชวนรำพึง" โดย บาทหลวงเชษฐา  ไชยเดช
กฎสามประการในการพูดถึงผู้อื่น
          วันหนึ่ง มีชายคนหนึ่งมาพบโสกราตีสและกล่าวกับท่านว่า “ฟังนะโสกราตีส ฉันอยากจะบอกกับท่านว่า เพื่อนของท่านคนหนึ่ง...” “ขอเวลาสักครู่หนึ่ง” โสกราตีสกล่าวตัดบท “คุณได้กรองสิ่งที่คุณจะพูดด้วยกฎสามประการแล้วหรือยัง”

         “กฎสามประการคืออะไร” ชายคนนั้นถาม โสกราตีสตอบว่า “กฎข้อแรกคือความจริง คุณได้ตรวจสอบหรือยังว่า สิ่งที่คุณต้องการจะบอกกับฉันเป็นความจริง” “ฉันเพียงแต่ได้ยินเขาเล่ามาเท่านั้น” ชายคนนั้นกล่าวตอบ “แล้วกฎข้อที่สองคืออะไร” ชายคนนั้นถาม โสกราตีสตอบเขาว่า “กฎข้อที่สองคือความดี สิ่งที่คุณต้องการจะบอกกับฉันแม้คุณยังไม่ได้ตรวจสอบมัน มันเป็นสิ่งที่ดีใช่ไหม” “ผมว่าในทางตรงกันข้าม มันเป็นสิ่งที่ไม่สู้จะดีนัก” ชายคนนั้นกล่าวตอบ

          โสกราตีสถอนใจยาวก่อนที่จะกล่าวต่อไปว่า “อย่างนั้นเรามาดูกฎข้อสามกันเถอะ นั่นคือความจำเป็น สิ่งที่คุณจะบอกกับฉันมันเป็นสิ่งที่จำเป็นไหม” “พูดตามตรงนะ สิ่งที่ผมจะบอกมันไม่มีความจำเป็นเลย” ชายคนนั้นสารภาพ โสกราตีสยิ้มพลางกล่าวว่า “ถ้าสิ่งที่คุณต้องการจะบอกกับฉันมันไม่จริง ไม่ดี และไม่จำเป็น คุณลืมมันเสียเถอะ มันเป็นสิ่งที่ไร้ค่าและไม่มีประโยชน์ใดๆ ที่จะฟังหรือรับรู้”

 
ข้อคิด 
        โสกราตีสสอนเราว่า ก่อนที่เราจะพูดถึงคนอื่น เราน่าจะใช้กฎสามประการนี้เช่นกัน คือ สิ่งที่เราจะพูดถึงผู้อื่นมันเป็นความจริงไหม? สิ่งที่เราจะพูดถึงผู้อื่นมันดีไหม? และสิ่งที่เราจะพูดถึงผู้อื่นมันจำเป็นไหม? ถ้ามันจริง ดี และจำเป็น เราก็สามารถพูดถึงผู้อื่นได้ แต่ถ้ามันขาดข้อใดข้อหนึ่ง หรือขาดทั้งสามข้อ ถ้าเราไม่พูดถึงผู้อื่นก็จะดีกว่า