“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“ทุกคนจะถูกดองด้วยเกลือและไฟ”

49.บำเหน็จรางวัลและการชักนำผู้อื่นให้ทำบาป(2)
-ถ้ามือข้างหนึ่งของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป จงตัดมันทิ้งเสีย ท่านจะเข้าสู่ชีวิตนิรันดรโดยมีมือข้างเดียว ยังดีกว่ามีมือทั้งสองข้างแต่ต้องตกนรกในไฟที่ไม่รู้ดับ ถ้าเท้าข้างหนึ่งของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป จงตัดมันทิ้งเสีย ท่านจะเข้าสู่ชีวิตนิรันดรโดยมีเท้าข้างเดียว ยังดีกว่ามีเท้าทั้งสองข้างแต่ถูกโยนลงนรก

ถ้าตาข้างหนึ่งของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป จงควักมันออกเสีย ท่านจะเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า โดยมีตาข้างเดียว ยังดีกว่ามีตาทั้งสองข้างแต่ต้องถูกโยนลงนรก (ข้อ 43, 45, 47)เป็นข้อความสั้น ๆ ที่ไม่เพียงกล่าวถึงเหตุให้ทำบาปเท่านั้น แต่เบี่ยงเบนความสนใจจากความเสียหายฝ่ายจิตที่ทำกับผู้อื่นไปสู่ความเสียหายที่อาจต้องเผชิญกับตนเอง พระวาจาทั้ง 3 ประโยคนี้มีโครงสร้างเดียวกัน แน่นอน การพูดถึงอวัยวะสามส่วนในร่างกายมนุษย์คือมือ เท้าและตา เป็นเพียงตัวอย่างของความเสียหาย แต่เราไม่ควรตีความหมายตามตัวอักษรอย่างตรงไปตรงมา ในที่นี้ พระเยซูเจ้าทรงสอนว่า เมื่อเราต้องเผชิญกับเหตุการณ์บางอย่างที่อาจเป็นโอกาสให้ทำบาปหนัก เราต้องพร้อมเสมอที่จะยอมเสียสละทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรือบุคคลที่เรารักมากที่สุด เพราะการปฏิเสธตนเองเช่นนี้ยังดีกว่าที่จะต้องสูญเสียทรัพย์สมบัติสูงสุดคือความรอดพ้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้ว ทรัพย์สมบัติฝ่ายวัตถุทั้งหมดก็ไร้คุณค่า

- ถ้ามือข้างหนึ่งของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป จงตัดมันทิ้งเสีย ท่านจะเข้าสู่ชีวิตนิรันดรโดยมีมือข้างเดียว
คำว่า “ชีวิตนิรันดร” ในต้นฉบับภาษากรีกเป็นคำ ๆ เดียวคือ “ชีวิต” เท่านั้น แต่จากบริบทนี้เราเข้าใจว่า หมายถึง “ชีวิตนิรันดร” ในข้อ 47 ใช้วลีที่ว่า “เข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า” มาแทนวลี“เข้าสู่ชีวิตนิรันดร” ซึ่งทำให้ความหมายของคำว่า “ชีวิต” ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เป็นบำเหน็จรางวัลที่สงวนไว้สำหรับผู้ชอบธรรม เพื่อตอบแทนกิจการดีงามของเขา เป็นความหมายเดียวกันของพระวาจาที่พระเยซูเจ้าเคยตรัสว่า “มนุษย์จะได้ประโยชน์ใดในการที่จะได้โลกทั้งโลกเป็นกำไร แต่ต้องเสียชีวิต” (8:36)

-ยังดีกว่ามีมือทั้งสองข้างแต่ต้องตกนรกในไฟที่ไม่รู้ดับ  วลีที่ว่า “ตกนรก” ในต้นฉบับภาษากรีกคือ “เข้าไปยังเกเฮนนา” หมายถึง “หุบเขาของฮินโนม” (go away to Gehenna, i.e. valley of Hinnom) ซึ่งตั้งอยู่เลียบเชิงภูเขาศิโยนจากทิศตะวันตกไปทางทิศใต้ที่นั่น กษัตริย์อาคัสและมนัสเสห์ทรงเคยตั้งศาสนพิธีเผามนุษย์เป็นเครื่องบูชาถวายแด่เทพโมเลค (เทียบ 2 พกษ21:6) แต่เมื่อกษัตริย์โยสิยาห์ทรงปฏิรูปศาสนาของพระยาห์เวห์ ทรงบัญชาให้เผาขยะของกรุงเยรูซาเล็มในบริเวณนั้น (เทียบ 2 พกษ23:10)  เพื่อขัดขวางมิให้รื้อฟื้นศาสนพิธีต่อเทพโมเลคอีกต่อไป กองขยะจุดไฟเผาตลอดทั้งวันทั้งคืน จึงเกิดมีสำนวนที่ว่า “ไฟที่ไม่รู้ดับ”
ประกาศกเยเรมีห์คิดว่า สถานที่แห่งนี้ถูกสาปแช่ง (เทียบ ยรม 7:32; 19:6) ต่อมาภายหลัง ชาวยิวจึงคิดว่าคนอธรรมจะถูกโยนลงไปเพื่อรับทรมานในหุบเขาของฮินโนม  ซึ่งเปรียบเหมือนประตูเข้าไปสู่นรก

-ข้อ 48 “ที่นั่นหนอนไม่รู้ตาย ไฟไม่รู้ดับ” ข้อนี้คัดมาจากข้อสุดท้ายของหนังสือประกาศกอิสยาห์ (เทียบ อสย 66:24) ซึ่งบรรยายชะตากรรมของผู้เป็นกบฏ “หนอน” เป็นสัญลักษณ์ของความสำนึกผิด

-เพราะทุกคนจะถูกดองด้วยเกลือและไฟ ไฟจะชำระคนบาปและผู้มีความเชื่อให้บริสุทธิ์ โดยอาศัยการทดลอง เราพบประโยคนี้เพียงในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโกเท่านั้น จึงอธิบายความหมายได้ยาก เพราะไม่สามารถเปรียบเทียบกับข้อความอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ในพันธสัญญาเดิม ก่อนที่สมณะจะเผาเครื่องบูชา เขาจะโรยเกลือไว้ข้างบนเครื่องบูชาเพื่อให้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า เพราะเกลือเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ (เทียบ ลนต  2:13; อสค 43:24) ส่วนการทดลองด้วยไฟคงจะหมายถึงความทุกข์ทรมานและความยากลำบากในชีวิตประจำวัน

-เกลือเป็นสิ่งดี พระเยซูเจ้าคงจะใช้ภาพของเกลือเพื่ออ้างถึงคุณลักษณะที่บรรดาศิษย์ต้องมีเป็นพิเศษ บางคนคิดว่า อาจหมายถึงความพร้อมที่จะเสียสละตนเอง เพราะเกลือเคยใช้ในการถวายเครื่องบูชา อีกบางคนคิดว่า อาจหมายถึงข่าวดีที่ต้องประกาศ หรือความสัมพันธ์ที่ดี ความรักต่อเพื่อมนุษย์ ปรีชาญาณในยุคสุดท้ายหรือเป็นเพียงสัญลักษณ์ของสันติภาพ

- แต่ถ้าเกลือจืด ท่านจะนำสิ่งใดมาทำให้เกลือเค็มได้อีก เราพบความคิดนี้ในพระวรสารฉบับอื่นว่า “ท่านทั้งหลายเป็นเกลือดองแผ่นดิน ถ้าเกลือจืดไปแล้ว จะเอาอะไรมาทำให้เค็มอีกเล่า เกลือนั้นย่อมไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากจะทิ้งให้คนเหยียบย่ำ” (มธ5:13; ลก 14:34)

-จงมีเกลือไว้ในท่านเถิด และจงอยู่อย่างสันติกับผู้อื่น” ในที่นี้เกลือเป็นสัญลักษณ์ของปรีชาญาณที่มนุษย์รักษาไว้เพื่อเป็นแหล่งที่มาของสันติภาพ จะได้ทำงานและดำเนินชีวิตในพระนามของพระเยซูเจ้า “จงใช้ทุกโอกาสเพื่อปฏิบัติตนต่อคนต่างศาสนาด้วยความเฉลียวฉลาดรอบคอบ จงให้คำพูดของท่านอ่อนโยนและถูกกาลเทศะอยู่เสมอ” (คส 4:5-6) “จงอยู่ด้วยกันอย่างสันติ”(1 ธส5:13) “ในส่วนของท่าน จงอยู่อย่างสันติกับทุกคนถ้าเป็นไปได้” (รม12:18)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก