"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“ลูกเอ๋ย บาปของท่านได้รับการอภัยแล้ว”

9. พระเยซูเจ้าเสด็จมาเพื่อเรียกคนบาป (3)

         นักบุญมาระโกไม่บันทึกว่าทั้งผู้หามคนอัมพาตและผู้ป่วยคิดอย่างไร  แต่บันทึกว่า “ที่นั่นมีธรรมาจารย์บางคนนั่งอยู่ด้วย” จึงบรรยายความคิดของคนเหล่านั้น เป็นครั้งแรกในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโกที่ “ธรรมาจารย์” ปรากฏตัวและมีบทบาท ในบทที่ 1 นักบุญมาระโกบันทึกเพียงว่าพระเยซูเจ้า “ทรงสอนเขาอย่างทรงอำนาจ ไม่เหมือนกับบรรดาธรรมาจารย์” (1:22) ตั้งแต่บทนี้เป็นต้นไป นักบุญมาระโกเล่าว่า บรรดาธรรมาจารย์จะมาพบพระองค์เพื่อคอยจับผิด เขาตั้งใจแน่วแน่ที่จะขัดแย้งกับพระองค์ เรื่องเหล่านี้เป็นโอกาสที่เราจะเข้าใจความคิดของพระเยซูเจ้าชัดเจนมากขึ้น ดังที่เราจะพิจารณาในกรณีต่อไป
        บรรดาธรรมาจารย์คิดในใจว่า “ทำไมคนนี้จึงพูดเช่นนี้ เขากล่าวดูหมิ่นพระเจ้า ใครเล่าอภัยบาปได้นอกจากพระเจ้าเท่านั้น” เขาแน่ใจว่า พระเจ้าเท่านั้นที่จะทรงอภัยบาป และความคิดนี้ก็ถูกต้อง บาปเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อพระเจ้า เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าถูกทำลายแล้ว ลำพังมนุษย์จะคืนดีกับพระเจ้าไม่ได้ พระเจ้าเท่านั้นประทานการคืนดีและความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์อีกครั้งหนึ่งได้ ความคิดของธรรมาจารย์ว่า ใครเล่าอภัยบาปได้นอกจากพระเจ้าเท่านั้น ก็ถูกต้อง แต่การที่เขาตัดสินว่าพระเยซูเจ้าทรง “กล่าวดูหมิ่น    พระเจ้า” เป็นความเข้าใจผิด ความหมายแรกของการกล่าวดูหมิ่นพระเจ้าคือการสาปแช่งพระนามของพระองค์ ผู้กล่าวดูหมิ่นพระเจ้าเช่นนี้จึงสมควรจะต้องรับโทษถึงตายโดยถูกหินทุ่ม การกล่าวดูหมิ่นพระเจ้าในความหมายทางอ้อมคือ พระเยซูเจ้าทรงอ้างอำนาจซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระเจ้า นี่เป็นครั้งแรกที่บรรดาธรรมาจารย์กล่าวหาพระเยซูเจ้าว่าทรงกล่าวดูหมิ่นพระเจ้า และจะกล่าวหาเช่นนี้ เพื่อตัดสินลงพระองค์ในศาลให้รับโทษประหารชีวิต (เทียบ 14:64) ในเรื่องที่กำลังอธิบายอยู่ธรรมาจารย์ตัดสินผิด เพราะเขาคิดว่า พระเจ้าจะทรงมอบอำนาจให้อภัยบาปแก่พระเยซูเจ้าไม่ได้พระเจ้าทรงมอบภารกิจแก่พระเยซูเจ้าให้ทรงประกาศการอภัยบาปไม่ได้เช่นกัน นี่เป็นเพียงความคิดของเขา แต่ “พระเยซูเจ้าทรงทราบความคิดของเขาด้วยพระจิตของพระองค์” พระองค์ทรงอ่านใจมนุษย์เช่นเดียวกับพระเจ้า ดังที่เราอ่านในบทสดุดีว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงตรวจสอบ และทรงรู้จักข้าพเจ้า” (สดด 139:1)

      พระเยซูเจ้าจึงทรงย้ำว่าทรงได้รับอำนาจอภัยบาปจากพระบิดาจริง ทรงช่วยธรรมาจารย์ให้เข้าใจความจริงนี้โดยทรงเปรียบเทียบพระจาวา 2 ประโยค ตรัสว่า “อย่างใดง่ายกว่ากัน การบอกคนอัมพาตว่า ‘บาปของท่านได้รับการอภัยแล้ว’ หรือบอกว่า ‘ลุกขึ้น แบกแคร่เดินไปเถิด’”

      การเปรียบเทียบของพระเยซูเจ้ามีความหมายว่า ในความคิดของพระองค์ มนุษย์จะพูดว่า “บาปของท่านได้รับการอภัยแล้ว” หรือพูดว่า “ลุกขึ้น แบกแคร่เดินไปเถิด” ก็ง่ายพอ ๆ กัน และคำพูดทั้งสองนี้ไม่เกิดผล ถ้าไม่มีอำนาจพิเศษจากพระเจ้า แต่ในความคิดของผู้ฟัง การพูดที่จะให้อภัยบาปก็ง่ายกว่าคำพูดที่จะรักษาโรค เพราะการอภัยบาปเป็นนามธรรมตรวจสอบพฤติกรรมไม่ได้ ส่วนการรักษาโรคเป็นรูปธรรมที่มองเห็นได้ ส่วนพระเยซูเจ้าทรงเน้นว่าคำพูดทั้งสองง่ายเท่ากันและเกิดผลได้ถ้าได้รับอำนาจจากพระเจ้า พระองค์จึงทรงทำอัศจรรย์อย่างน่าพิศวง “เพื่อให้ท่านรู้ว่า บุตรแห่งมนุษย์มีอำนาจอภัยบาปได้บนแผ่นดินนี้”

      คำที่พระเยซูเจ้าทรงใช้เมื่อพูดถึงพระองค์เองคือ “บุตรแห่งมนุษย์” สำนวนนี้เราพบในหนังสือดาเนียล หมายถึงมนุษย์ที่พระเจ้าทรงมอบอำนาจให้พิพากษามนุษย์ทุกคนเมื่อสิ้นพิภพ พระเยซูเจ้าทรงใช้ชื่อนี้เพื่อเสนอแนะว่า พระองค์เป็นพระเมสสิยาห์ ทรงได้รับอำนาจจากพระบิดา ประชาชนที่ได้เป็นพยานถึงอัศจรรย์นี้ก็สรรเสริญขอบพระคุณพระเจ้าเพราะคนอัมพาตหายจากโรค การสรรเสริญเช่นนี้เป็นนัยว่า เขายอมรับพระเยซูเจ้าไม่ทรงกล่าวดูหมิ่นพระเจ้า ทรงเป็นผู้ได้รับอำนาจจากพระองค์ การให้อภัยบาปไม่เป็นการดูหมิ่นพระเจ้าแต่แสดงอำนาจที่พระเจ้าทรงมอบแก่พระองค์

     ดังนั้น ต่อหน้าผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ “พระองค์ตรัสแก่คนอัมพาตว่า ‘เราสั่งท่าน จงลุกขึ้น แบกแคร่ กลับไปบ้านเถิด‘ เขาก็ลุกขึ้นแบกแคร่ออกเดินไปทันทีต่อหน้าคนทั้งปวง” พระเยซูเจ้าทรงแสดงอย่างชัดเจนว่า ภารกิจของพระองค์คือการให้อภัยบาป นำการคืนดีกับพระองค์แก่มนุษย์  ทุกคน พระองค์ไม่เสด็จมาเพื่อรักษาโรคฝ่ายกายเท่านั้น แต่มาเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับพระเจ้า นำมนุษย์ให้มีความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงสงสารผู้ป่วยจึงทรงรักษาเขาให้หาย เป็นการแสดงความรักต่อมนุษย์ผู้อ่อนแอ บาปมีอำนาจทำลายมนุษย์มากกว่าโรคภัยไข้เจ็บ “ทุกคนต่างประหลาดใจ ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าและพูดว่า ‘พวกเรายังไม่เคยเห็นอะไรเช่นนี้มาก่อนเลย’” ท่าทีของพระเยซูเจ้าต่อคนอัมพาตแสดงความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อมนุษย์ผู้เป็นคนบาป เราจะเห็นท่าทีนี้ปรากฏในเรื่องเล่าต่อไป