"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“เขาจึงไม่เป็นสองอีกต่อไป แต่เป็นเนื้อเดียวกัน”

50.คำถามเรื่องการหย่าร้าง (มก 10:1-12)
     101พระเยซูเจ้าเสด็จออกจากที่นั่นเข้าไปในเขตแคว้นยูเดียและอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำจอร์แดนประชาชนมาเฝ้าพระองค์อีกครั้งหนึ่งพระองค์จึงทรงสอนเขาอีกเช่นเคย2ชาวฟาริสีบางคนทูลถามหวังจะจับผิดพระองค์ว่า “เป็นการถูกต้องหรือไม่ที่ชายจะหย่ากับภรรยา” 3พระองค์ตรัสตอบว่า “โมเสสได้บัญญัติไว้ว่าอย่างไร”4เขาทูลตอบว่า “โมเสสอนุญาตให้ทำหนังสือหย่าร้างและหย่ากันได้” 5พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “เพราะใจดื้อแข็งกระด้างของท่านโมเสสจึงได้เขียนบัญญัติข้อนี้ไว้6แต่เมื่อแรกสร้างโลกนั้นพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นชายและหญิง

7ดังนั้นชายจะละบิดามารดา8และชายหญิงจะเป็นเนื้อเดียวกันดังนี้เขาจึงไม่เป็นสองอีกต่อไปแต่เป็นเนื้อเดียวกัน9ดังนั้นสิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันไว้มนุษย์อย่าแยกเลย” 10เมื่อกลับเข้าไปในบ้านแล้วบรรดาศิษย์ทูลถามถึงเรื่องนี้อีก11พระองค์จึงตรัสตอบว่า “ผู้ใดหย่าร้างภรรยาและแต่งงานกับอีกคนหนึ่งก็ทำผิดประเวณีต่อภรรยาคนเดิม12และถ้าหญิงคนหนึ่งหย่ากับสามีไปแต่งงานกับอีกคนหนึ่งก็ทำผิดประเวณีเช่นเดียวกัน”
a)    อธิบายความหมาย
            ในบทที่ 10 นี้ นักบุญมาระโกแสดงให้เห็นว่า หลังจากที่พระเยซูเจ้าเสด็จผ่านแคว้นกาลิลีทั้งหมดแล้ว (เทียบ 9:30)ก็ทรงเดินทางออกจากแคว้นนี้ เพื่อไปยังแคว้นยูเดีย (เทียบ 10:1) แล้วเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายการเดินทางของพระองค์ในฐานะมนุษย์ (เทียบ 10:32; 11:1) ในพระวรสารเล่มนี้ ก็เช่นเดียวกับพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิวและนักบุญลูกา บันทึกว่านี่เป็นการเดินทางของพระเยซูเจ้าไปสู่กรุงเยรูซาเล็มครั้งเดียวและครั้งสุดท้าย ซึ่งต่างจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์นที่เล่าเรื่องการเดินทางของพระเยซูเจ้าก่อนหน้านี้สองสามครั้ง นักบุญมาระโกจึงไม่สนใจที่จะบันทึกการเดินทางทั้งหลายของพระเยซูเจ้าอย่างละเอียดถี่ถ้วน แต่ต้องการรวบรวมคำสั่งสอนของพระองค์ ดังที่เราเห็นชัดเจนในบทที่ 10 นี้

         ข้อความตอนแรกนี้บันทึกการโต้เถียงของพระเยซูเจ้ากับชาวฟาริสีเกี่ยวกับความเหมาะสมและการอนุญาตให้หย่าร้างได้ตามที่ธรรมบัญญัติของโมเสสกำหนด พระเยซูเจ้าไม่ทรงปฏิเสธข้อกำหนดเหล่านี้ แต่ทรงเปลี่ยนมุมมองของคำถามเรื่องการหย่าร้างจากปัญหาทางด้านกฎหมายมาเป็นประเด็นแผนการดั้งเดิมของพระเจ้า

-พระเยซูเจ้าเสด็จออกจากที่นั่นเข้าไปในเขตแคว้นยูเดียและอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำจอร์แดน  ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์บางคนคิดว่า การอ้างถึงแคว้นยูเดียก่อนแคว้นเปอร์เรีย คือดินแดนอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำจอร์แดนเป็นเส้นทางที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะถ้าผู้ใดต้องการเดินทางจากแคว้นกาลิลีไปยังแคว้นยูเดียและกรุงเยรูซาเล็ม โดยหลีกเลี่ยงการผ่านเส้นทางแคว้นสะมาเรีย ก็ต้องข้ามแม่น้ำจอร์แดนและเดินทางผ่านแคว้นเปอร์เรียก่อน แล้วจึงข้ามแม่น้ำอีกครั้งหนึ่งในบริเวณเมืองเยริโคในแคว้นยูเดียได้ บางทีนักบุญมาระโกต้องการชี้แจงตั้งแต่แรกว่า การเดินทางของพระเยซูเจ้าครั้งนี้มีจุดหมายปลายทางในแคว้นยูเดีย โดยไม่ต้องการอธิบายเส้นทางอย่างละเอียด

- ประชาชนมาเฝ้าพระองค์อีกครั้งหนึ่งพระองค์จึงทรงสอนเขาอีกเช่นเคย  นักบุญมาระโกสรุปว่า หลังจากที่พระเยซูเจ้าทรงพรากจากประชาชนเพื่อเสด็จไปกับบรรดาศิษย์เท่านั้นและทรงสั่งสอนเขาเป็นพิเศษ (เทียบ 9:30)พระองค์ยังทรงยินยอมที่จะมาร่วมกับประชาชนอีกครั้งหนึ่งเพื่อทรงสั่งสอนเขาเหล่านั้นด้วย

- ชาวฟาริสีบางคนทูลถามหวังจะจับผิดพระองค์ ชาวฟาริสีทูลถามหวังจะจับผิดพระเยซูเจ้าแล้วเมื่อมาขอให้ทรงแสดงเครื่องหมายจากฟ้า (เทียบ 8:11) และเราจะพบการทูลถามหวังจะจับผิดพระเยซูเจ้าอีก เมื่อชาวฟาริสีทูลถามพระองค์ว่า “เป็นการถูกต้องหรือไม่ที่จะเสียภาษีแก่ซีซาร์” (เทียบ 12:13-15)

- ว่า “เป็นการถูกต้องหรือไม่ที่ชายจะหย่ากับภรรยา” เป็นที่รู้จักกันดีแล้วว่า ธรรมบัญญัติของโมเสสอนุญาตให้หย่าร้างได้ (เทียบ ฉธบ 24:1-4) คำถามของชาวฟาริสีหวังจับผิดพระเยซูเจ้าจึงไม่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัตินี้โดยตรง แต่ในเรื่องการตีความหมายประโยคที่อธิบายเหตุผลว่า แต่ต่อมา สามีไม่พอใจที่จะอยู่กันนางเพราะพบว่า “นางมีข้อบกพร่อง น่าละอาย” ดังนั้น ประเด็นการโต้เถียงกันระหว่างธรรมาจารย์กับพระเยซูเจ้าก็คือ ข้อบกพร่องน่าละอายของภรรยาหมายถึงอะไร สำหรับบรรดาศิษย์ของรับบี ชาไมสาเหตุเดียวที่อนุญาตให้หย่าร้างได้นั่นก็คือ การมีชู้ ส่วนสำหรับบรรดาศิษย์ของรับบี ฮิลเลล์ ข้อบกพร่องใด ๆ ของภรรยาทุกกรณี แม้ไม่มีเจตนาก็เพียงพอแล้วเพื่อหย่าร้างได้

 - พระองค์ตรัสตอบว่า “โมเสสได้บัญญัติไว้ว่าอย่างไร” เช่นเดียวกับในสถานการณ์อื่น ๆพระเยซูเจ้าตรัสตอบโดยตั้งคำถามแก่ผู้ทูลถามพระองค์(เทียบ 2:8; 3:4; 11:20)คำถามนี้มีจุดประสงค์ที่จะกลับไปพิจารณาจุดมุ่งหมายของธรรมบัญญัติที่พระเจ้าทรงมอบแก่โมเสสที่ภูเขาซีนาย 

- เขาทูลตอบว่า “โมเสสอนุญาตให้ทำหนังสือหย่าร้างและหย่ากันได้” น่าสังเกตคำกริยาที่ใช้ พระเยซูเจ้าทรงถามว่า “โมเสสได้บัญญัติไว้ว่าอย่างไร” แต่ชาวฟาริสีตอบว่า “โมเสสอนุญาต” โดยแท้จริงแล้ว กฎหมายหย่าร้างมีไว้เพื่อปกป้องสิทธิของสตรี เพราะกำหนดให้สามีที่ต้องการหย่าร้างต้องมีเงื่อนไขที่จำเป็นและต้องทำหนังสือรับรองอย่างเป็นทางการ แต่ชาวฟาริสีสนใจเพียงมุมมองที่เป็นผลประโยชน์สำหรับตน และตีความหมายว่าการหย่าร้างเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ผู้อื่นไม่อาจล่วงละเมิดได้