(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

การให้ทาน

6 1“จงระวัง อย่าปฏิบัติศาสนกิจaของท่านต่อหน้ามนุษย์เพื่ออวดคนอื่น มิฉะนั้น ท่านจะไม่ได้รับบำเหน็จจากพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ 2ดังนั้น เมื่อท่านให้ทาน จงอย่าเป่าแตรข้างหน้าท่านเหมือนที่บรรดาคนหน้าซื่อใจคดbมักทำในศาลาธรรมและตามถนน เพื่อจะได้รับคำสรรเสริญจากมนุษย์ เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า เขาได้รับบำเหน็จของเขาแล้ว 3ส่วนท่าน เมื่อให้ทาน อย่าให้มือซ้ายของท่านรู้ว่ามือขวากำลังทำสิ่งใด เพื่อทานของท่านจะได้เป็นทานที่ไม่เปิดเผย 4แล้วพระบิดาของท่านผู้ทรงหยั่งรู้ทุกสิ่ง จะประทานบำเหน็จให้ท่าน”

การอธิษฐานภาวนา

5“เมื่อท่านอธิษฐานภาวนาcจงอย่าเป็นเหมือนบรรดาคนหน้าซื่อใจคด เขาชอบยืนอธิษฐานภาวนาในศาลาธรรมและตามมุมลาน เพื่อให้ใครๆ เห็น เราบอกความจริงแก่ท่านว่า เขาได้รับบำเหน็จของเขาแล้ว 6ส่วนท่าน เมื่ออธิษฐานภาวนา จงเข้าไปในห้องส่วนตัว ปิดประตู อธิษฐานต่อพระบิดาของท่านผู้สถิตทั่วทุกแห่ง แล้วพระบิดาของท่านผู้ทรงหยั่งรู้ทุกสิ่งจะประทานบำเหน็จให้ท่าน”

วิธีอธิษฐานภาวนา บทภาวนาของพระเยซูเจ้า

7“เมื่อท่านอธิษฐานภาวนา จงอย่าพูดซ้ำเหมือนคนต่างศาสนา เขาคิดว่า ถ้าเขาพูดมากพระเจ้าจะทรงสดับฟัง 8อย่าทำเหมือนเขาเลย เพราะพระบิดาของท่านทรงทราบแล้วว่าท่านต้องการอะไร ก่อนที่ท่านจะขอเสียอีก 9ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงอธิษฐานภาวนาดังนี้d

‘ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์สถิตในสวรรค์

พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ

10พระอาณาจักรจงมาถึง

พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์

11โปรดประทานอาหารประจำวันeแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้

12โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า*

เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น

13โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การผจญ

แต่โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้าย[1]เทอญ’”

14“เพราะถ้าท่านให้อภัยผู้ทำความผิด พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ ก็จะประทานอภัยแก่ท่านด้วย 15แต่ถ้าท่านไม่ให้อภัยผู้ทำความผิด พระบิดาของท่านก็จะไม่ประทานอภัยแก่ท่านเช่นเดียวกัน”

การจำศีลอดอาหาร

16“เมื่อท่านทั้งหลายจำศีลอดอาหาร จงอย่าทำหน้าเศร้าหมองเหมือนบรรดาคนหน้าซื่อใจคด เขาทำหน้าหมองคล้ำ เพื่อแสดงให้ผู้คนรู้ว่าเขากำลังจำศีลอดอาหาร เราบอกความจริงแก่ท่านว่า เขาได้รับบำเหน็จของเขาแล้ว 17ส่วนท่าน เมื่อจำศีลอดอาหาร จงล้างหน้า ใช้น้ำมันหอมใส่ศีรษะ 18เพื่อไม่แสดงให้ผู้คนรู้ว่าท่านกำลังจำศีลอดอาหาร แต่ให้พระบิดาของท่านผู้สถิตทั่วทุกแห่งทรงทราบ และพระบิดาของท่านผู้ทรงหยั่งรู้ทุกสิ่ง ก็จะประทานบำเหน็จให้ท่าน”

สมบัติแท้

19“ท่านทั้งหลายจงอย่าสะสมทรัพย์สมบัติบนแผ่นดินนี้เลย ที่นี่ทรัพย์สมบัติทั้งหลายถูกสนิมและตัวขมวนทำลาย ถูกขโมยเจาะช่องเข้ามาขโมยไปได้ 20แต่จงสะสมทรัพย์สมบัติในสวรรค์เถิด ที่นั่นไม่มีสนิมและตัวขมวนทำลาย ขโมยก็เจาะช่องเข้ามาขโมยไปไม่ได้ 21เพราะทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ใด ใจของท่านก็จะอยู่ที่นั่นด้วย”

ประทีปของร่างกาย

22“ประทีปของร่างกายคือดวงตา ดังนั้น ถ้าดวงตาของท่านเป็นปกติดี ร่างกายของท่านก็จะสว่างไปด้วย 23แต่ถ้าดวงตาของท่านไม่ดี ร่างกายของท่านก็จะมืดไปด้วย ฉะนั้น ถ้าความสว่างในท่านมืดไปแล้ว ความมืดจะยิ่งมืดมิดสักเพียงใด”[2]

พระเจ้าและเงินทอง

24“ไม่มีใครเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนายได้ เขาจะชังนายคนหนึ่งและจะรักนายอีกคนหนึ่ง เขาจะจงรักภักดีต่อนายคนหนึ่งและจะดูหมิ่นนายอีกคนหนึ่ง ท่านทั้งหลายจะปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าและเงินทองพร้อมกันไม่ได้”

ความวางใจในพระเจ้า

25“ฉะนั้น เราบอกท่านทั้งหลายว่า อย่ากังวลถึงชีวิตของท่านว่าจะกินอะไร อย่ากังวลถึงร่างกายของท่านว่าจะนุ่งห่มอะไร ชีวิตย่อมสำคัญกว่าอาหาร และร่างกายย่อมสำคัญกว่าเครื่องนุ่งห่มมิใช่หรือ 26จงมองดูนกในอากาศเถิด มันมิได้หว่าน มิได้เก็บเกี่ยว มิได้สะสมไว้ในยุ้งฉาง แต่พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงเลี้ยงมัน ท่านทั้งหลายมิได้มีค่ามากกว่านกหรือ 27ท่านใดบ้างที่กังวลแล้วต่ออายุของตนให้ยาวออกไปอีกสักหนึ่งวันได้ 28ท่านจะกังวลถึงเครื่องนุ่งห่มทำไม จงสังเกตดูดอกไม้ในทุ่งนาเถิด มันเจริญงอกงามขึ้นได้อย่างไร มันไม่ทำงาน มันไม่ปั่นด้าย 29แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า กษัตริย์ซาโลมอนเมื่อทรงเครื่องอย่างหรูหรา ก็ยังไม่งดงามเท่าดอกไม้นี้ดอกหนึ่ง 30แม้แต่หญ้าในทุ่งนา ซึ่งมีชีวิตอยู่วันนี้ รุ่งขึ้นจะถูกโยนทิ้งในเตาไฟ พระเจ้ายังทรงตกแต่งให้งดงามเช่นนี้ พระองค์จะไม่สนพระทัยท่านมากกว่านั้นหรือ ท่านช่างมีความเชื่อน้อยจริง 31ดังนั้น อย่ากังวลและกล่าวว่า ‘เราจะกินอะไร หรือจะดื่มอะไร หรือเราจะนุ่งห่มอะไร’ 32เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้คนต่างศาสนาแสวงหา พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงทราบแล้วว่า ท่านต้องการทุกสิ่งเหล่านี้ 33จงแสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มทุกสิ่งเหล่านี้ให้”

34“ดังนั้น ท่านทั้งหลายอย่ากังวลถึงวันพรุ่งนี้ เพราะวันพรุ่งนี้จะกังวลสำหรับตนเอง แต่ละวันมีทุกข์พออยู่แล้ว”

 

6 a “ปฏิบัติศาสนกิจ” แปลตามตัวอักษรว่า “ทำความชอบธรรม” ได้แก่ปฏิบัติกิจการดีซึ่งทำให้ผู้กระทำเป็นผู้ชอบธรรมเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้า สำหรับชาวยิว กิจการดีที่ว่านี้ คือการให้ทาน (ข้อ 2-4) การอธิษฐานภาวนา (ข้อ 5-6) การจำศีลอดอาหาร (ข้อ 16-18) เป็นกิจการหลัก

b “คนหน้าซื่อใจคด” หมายถึงคนศรัทธาจอมปลอม ที่แสดงความศรัทธาเพียงผิวเผิน และมุ่งให้ใครๆ เห็น ในพระวรสาร คำนี้มักจะหมายถึงชาวฟาริสีโดยเฉพาะ (เทียบ 15:7; 22:18; 23:13-15)

c พระเยซูเจ้าทรงให้แบบฉบับการอธิษฐานภาวนาใน 14:23 และทรงแนะนำสั่งสอนบรรดาศิษย์ถึงหน้าที่และวิธีการอธิษฐานภาวนาด้วย คำอธิษฐานภาวนาต้องแสดงความถ่อมตนเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้า (ลก 18:10-14) และต่อหน้ามนุษย์ (มธ 6:5-6; มก 12:40//) คำภาวนาต้องมาจากใจมากกว่าจากปากเฉยๆ (6:7) ต้องมีความไว้ใจในพระทัยดีของพระเจ้า (6:8; 7:7-11//) และต้องมั่นคงไม่ท้อถอย (ลก 11:5, 8; 18:1-8) พระเจ้าทรงสดับฟังผู้ที่ภาวนาด้วยความเชื่อ (21:22//) ในพระนามพระเยซูเจ้า (18:19-20; ยน 14:13-14; 15:7, 16; 16:23-27) วอนขอสิ่งที่ดี (7:11) เช่น วอนขอพระจิตเจ้า (ลก 11:13) วอนขอการอภัยบาป (มก 11:25) วอนขอความดีสำหรับผู้เบียดเบียน (5:44//; เทียบ ลก 23:34) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง วอนขอให้พระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึง และความรอดพ้นในเวลาวิกฤตการณ์สุดท้าย (24:20//; 26:41//; ลก 21:36 ดู ลก 22:31-32) นี่เป็นเนื้อหาของคำภาวนาตัวอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงสอนไว้ (มธ 9:9-15//)

d บทภาวนาของพระเยซูเจ้าตามที่มัทธิวบันทึกไว้ มีคำอ้อนวอน 7 ข้อ เลข 7 เป็นเลขที่มัทธิวชอบมาก ดังจะเห็นได้ในลำดับพระวงศ์ของพระเยซูเจ้ามี 2 คูณ 7 ชั่วคน (1:17) บรมสุข 7 ประการ (5:4 เชิงอรรถ e) เรื่องอุปมา 7 เรื่อง (13:3 เชิงอรรถ b) เราต้องให้อภัยไม่ใช่แค่ 7 ครั้ง แต่ 70 คูณ 7 ครั้ง (8:22) ทรงประณามชาวฟาริสี 7 ครั้ง (23:13 เชิงอรรถ h) และพระวรสารแบ่งเป็น 7 ตอน

e คำภาษากรีก (epiousios) มีความหมายคลุมเครือ คำแปลที่เคยใช้ (“ประจำวัน”) มีความเป็นไปได้มากที่สุด แต่คำนี้ยังอาจแปลได้อีกว่า “ที่จำเป็นสำหรับชีวิต” หรือ “สำหรับวันพรุ่งนี้” คำแปลที่ถูกต้องจะเป็นอะไรก็ตาม ความหมายก็คือว่า เราต้องวอนขอพระเจ้าให้ประทานเพียงสิ่งที่จำเป็นเพื่อดำรงชีพเท่านั้น ไม่ใช่ขอความร่ำรวยหรือสิ่งฟุ่มเฟือย

* ต้นฉบับใช้คำว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลาย” ตัดคำว่า “ทั้งหลาย” ออกเพื่อให้ตรงกับบทภาวนาตามพิธีกรรม และเป็นที่เข้าใจอยู่แล้วว่าความหมายเป็นพหูพจน์

[1] หรือ “พ้นภัย” สำเนาบางฉบับเพิ่ม “เหตุว่าพระอาณาจักร พระอานุภาพ และพระสิริรุ่งโรจน์เป็นของพระองค์ตลอดนิรันดร อาเมน” (ข้อความนี้เพิ่มเข้ามาจากการใช้ในพิธีกรรม)

[2] ตาจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่ว่าจะรับแสงสว่างได้ดีหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตาบอดทางร่างกายยังเลวน้อยกว่าตาบอดทางจิตใจ