(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

พระเยซูเจ้าทรงถูกผจญในถิ่นทุรกันดารa[1]

4 1เวลานั้น พระจิตเจ้าbทรงนำพระเยซูเจ้าไปในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้ปีศาจcมาผจญพระองค์

           2เมื่อทรงอดอาหารสี่สิบวันสี่สิบคืนแล้ว ทรงหิว 3ปีศาจผู้ผจญจึงเข้ามาใกล้ ทูลว่า “ถ้าท่านเป็นบุตรพระเจ้าd จงสั่งก้อนหินเหล่านี้ให้กลายเป็นขนมปังเถิด” 4แต่พระองค์ตรัสตอบว่า “มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า

มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น

แต่ดำรงชีวิตด้วยพระวาจาทุกคำ

ที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า

5ต่อจากนั้น ปีศาจอุ้มพระองค์ไปยังนครศักดิ์สิทธิ์ วางพระองค์ลงที่ยอดพระวิหาร แล้วทูลว่า 6“ถ้าท่านเป็นบุตรพระเจ้า จงกระโดดลงไปเบื้องล่างเถิด เพราะมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า

พระเจ้าทรงสั่งทูตสวรรค์เกี่ยวกับท่าน

ให้คอยพยุงท่านไว้ มิให้เท้ากระทบหิน

 7พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ในพระคัมภีร์ยังมีเขียนไว้ด้วยว่า

อย่าท้าทายองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านเลย

8อีกครั้งหนึ่ง ปีศาจนำพระองค์ไปบนยอดเขาสูงมาก ชี้ให้พระองค์ทอดพระเนตรอาณาจักรรุ่งเรืองต่างๆ ของโลก 9แล้วทูลว่า “เราจะให้ทุกสิ่งนี้แก่ท่าน ถ้าท่านกราบนมัสการเรา” 10พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “เจ้าซาตาน จงไปให้พ้น ยังมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า

จงกราบนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน

และรับใช้พระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้น

11ปีศาจจึงได้ละพระองค์ไป แล้วทูตสวรรค์ก็เข้ามาปรนนิบัติรับใช้พระองค์

พระเยซูเจ้าเสด็จกลับแคว้นกาลิลี

12เมื่อพระเยซูเจ้าทรงทราบว่ายอห์นถูกจองจำ จึงเสด็จไปยังแคว้นกาลิลี 13ทรงออกจากเมืองนาซาเร็ธe มาประทับอยู่ที่เมืองคาเปอรนาอุม บนฝั่งทะเลสาบ ในดินแดนเผ่าเศบูลุนและนัฟทาลี 14ทั้งนี้ เพื่อให้พระดำรัสที่ตรัสไว้ทางประกาศกอิสยาห์เป็นความจริงว่า

15ดินแดนเศบูลุนและดินแดนนัฟทาลี

เส้นทางไปสู่ทะเล ฟากโน้นของแม่น้ำจอร์แดน

แคว้นกาลิลีแห่งบรรดาประชาชาติ

16ประชาชนที่จมอยู่ในความมืด

ได้เห็นความสว่างยิ่งใหญ่

ผู้ที่อาศัยอยู่ในดินแดนและในเงาแห่งความตาย

แสงได้ส่องขึ้นมาเหนือพวกเขาแล้ว

 17นับแต่นั้นมา พระเยซูเจ้าทรงเริ่มประกาศเทศนาว่า “จงกลับใจเถิด เพราะอาณาจักรสวรรค์fอยู่ใกล้แล้ว”

 ทรงเรียกศิษย์ชุดแรกสี่คน

18ขณะที่ทรงดำเนินไปตามชายฝั่งทะเลสาบกาลิลี พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพี่น้องสองคนคือซีโมนที่เรียกว่าเปโตรกับอันดรูว์น้องชายกำลังทอดแห เขาเป็นชาวประมง 19พระองค์ตรัสสั่งว่า “จงตามเรามาเถิด เราจะทำให้ท่านเป็นชาวประมงหามนุษย์” 20เขาทั้งสองคนก็ทิ้งแหไว้ แล้วตามพระองค์ไปทันที

21เมื่อทรงดำเนินไปจากที่นั่น พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพี่น้องอีกสองคนคือ ยากอบบุตรของเศเบดี และยอห์นน้องชายกำลังซ่อมแหอยู่ในเรือกับเศเบดีผู้บิดา พระองค์ทรงเรียกเขา 22ทันใดนั้น เขาทั้งสองคนก็ทิ้งเรือและบิดา แล้วตามพระองค์ไป

พระเยซูเจ้าทรงประกาศข่าวดี และทรงรักษาผู้เจ็บป่วย

23พระองค์เสด็จไปทั่วแคว้นกาลิลี ทรงสั่งสอนในศาลาธรรม ทรงประกาศข่าวดีเรื่องพระอาณาจักร ทรงรักษาโรคและความเจ็บไข้ทุกชนิดของประชาชนg

24กิตติศัพท์เกี่ยวกับพระองค์เลื่องลือไปทั่วแคว้นซีเรียh ประชาชนจึงนำผู้เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ผู้ที่ถูกความทุกข์เบียดเบียน ผู้ถูกปีศาจสิง ผู้เป็นลมบ้าหมู และผู้ที่เป็นง่อยมาเฝ้าพระองค์ พระองค์ทรงรักษาคนเหล่านั้นให้หายจากโรคและความเจ็บไข้ 25ประชาชนจำนวนมากจากแคว้นกาลิลี จากทศบุรีi จากกรุงเยรูซาเล็ม จากแคว้นยูเดีย และจากฟากโน้นของแม่น้ำจอร์แดนต่างติดตามพระองค์

 

4 a พระจิตเจ้าทรงนำพระเยซูเจ้าไปในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลาสี่สิบวันเพื่อถูกทดลอง เช่นเดียวกับที่ชาวอิสราเอลอยู่ในถิ่นทุรกันดารสี่สิบปี (ฉธบ 8:2, 4 และ กดว 14:34) โดยการอ้างข้อความจากพระคัมภีร์ จะเห็นได้ว่า ทั้งพระเยซูเจ้าและประชากรอิสราเอลได้ถูกผจญเหมือนกันสามประการ คือ (1) แสวงหาอาหารจากที่อื่นนอกจากพระเจ้า (ฉธบ 8:3 เทียบ อพย 16) (2) ทดลองพระเจ้าเพื่อทำตามใจตนเอง (ฉธบ 6:16 เทียบ อพย 17:1-7) (3) ปฏิเสธพระเจ้าเพื่อกราบไหว้พระเท็จเทียมที่รับใช้อำนาจแห่งโลกนี้ (ฉธบ 6:13; เทียบ อพย 6:10-15; อพย 23:23-33) พระเยซูเจ้าทรงจำศีลอดอาหารเป็นเวลา 40 วัน 40 คืน เช่นเดียวกับโมเสส (ฉธบ 9:18; อพย 34:28; ฉธบ 9:9) และเช่นเดียวกับโมเสส พระองค์ทรงมองเห็น “โลกทั้งหมด” จากภูเขาสูง (ฉธบ 34:1-4) พระเจ้าทรงใช้ทูตสวรรค์มาช่วยเหลือพระองค์ (ข้อ 11) ดังที่ทรงสัญญาว่าจะทรงป้องกันผู้ชอบธรรม (สดด 91:11-12) และใน มก 1:13 พระเจ้าทรงป้องกันพระองค์ให้ปลอดภัยจากสัตว์ร้าย ดังที่ทรงป้องกันผู้ชอบธรรม (สดด 91:13) และชาวอิสราเอล (ฉธบ 8:15) โดยวิธีเปรียบเทียบเช่นนี้ พระเยซูเจ้าก็ทรงเป็นเสมือนโมเสสคนใหม่ (ดู 2:16 เชิงอรรถ g, 20 และ อพย 4:19) ทรงเป็นผู้นำการอพยพครั้งใหม่ (เทียบ ฮบ 3:1-4:11) และดังนี้ เป็นพระเมสสิยาห์ด้วย ดังจะเห็นได้จากคำพูดเป็นนัยของปีศาจ (ถ้าท่านเป็นบุตรพระเจ้า) ทรงเป็นผู้เบิกทางที่แท้จริงไปสู่ความรอดพ้น ซึ่งไม่ใช่โดยวางใจในตนเองและด้วยความสะดวกสบาย แต่โดยเชื่อฟังพระเจ้าและสละตนเอง แม้เรื่องนี้จะเล่าโดยยกข้อความมาจากพระคัมภีร์ แต่ก็ยังอาจเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ได้ด้วย แม้พระเยซูเจ้าไม่ทรงมีบาป พระองค์ก็ยังสามารถถูกทดลองจากภายนอกได้ (ดู 16:23) จำเป็นที่พระองค์จะต้องถูกทดสอบเพื่อจะเป็นผู้นำของเราได้ (ดู 26:36-46//; ฮบ 2:10, 17-18; 4:15; 5:2, 7-9) พระองค์ต้องสละความคิดที่จะเป็นพระเมสสิยาห์ที่มีบทบาทความรุ่งเรืองทางการเมือง แต่ยินดีรับบทบาทฝ่ายจิตโดยเชื่อฟังอย่างสิ้นเชิงต่อพระเจ้า (ฮบ 12:2)

b พระจิตเจ้า “พระปราณ” และพลังสร้างสรรค์ของพระเจ้า ซึ่งได้นำบรรดาประกาศก (อสย 11:2 เชิงอรรถ c) จะทรงนำพระเยซูเจ้าให้ประกอบภารกิจของพระองค์จนสำเร็จ (ดู 3:16 เชิงอรรถ n; ลก 4:1 เชิงอรรถ b) ในภายหลังจะทรงนำพระศาสนจักร (กจ 1:8 เชิงอรรถ j)

c “ปีศาจ” คำภาษากรีก “diabolos” หมายถึงผู้กล่าวหา ผู้ใส่ความ เพราะงานของมันคือคอยจับผิดมนุษย์ บางครั้งแปลจากคำฮีบรู satan (ปรปักษ์) (โยบ 1:6 เชิงอรรถ g ดู ปชญ 2:24 เชิงอรรถ t) เข้าใจกันว่าปีศาจเป็นผู้รับผิดชอบต่อทุกสิ่งที่ตรงข้ามกับงานของพระเจ้าและของพระคริสตเจ้า (13:39ฯ; ยน 8:44; 13:2; กจ 10:38; อฟ 6:11; 1ยน 3:8) ความพ่ายแพ้ของมันจะเป็นเครื่องหมายถึงชัยชนะถาวรของพระเจ้า (25:41; ฮบ 2:14; วว 12:9, 12; 20:2, 10)

d ชื่อในพระคัมภีร์ว่า “บุตรพระเจ้า” ไม่จำเป็นต้องมีความหมายว่าเป็นบุตรตามธรรมชาติ แต่อาจหมายถึงเพียงการเป็นบุตรบุญธรรม กล่าวคือ เป็นผลมาจากการที่พระเจ้าทรงเลือกอย่างอิสระ และสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างพระเจ้าและสิ่งสร้าง ในความหมายนี้ ชื่อนี้ใช้ได้กับทูตสวรรค์ (โยบ 1:6) ใช้ได้กับประชากรที่ทรงเลือกสรร (อพย 4:2; ปชญ 18:13) ใช้ได้กับชาวอิสราเอลแต่ละคน (ฉธบ 14:1; ฮชย 2:1 เทียบ มธ 5:9, 45) และใช้ได้กับผู้นำชาวอิสราเอล (สดด 2:7) ดังนั้น เมื่อใช้คำนี้กับกษัตริย์ผู้รับเจิม (1 พศด 17:13; สดด 2:7; 89:26) ก็ไม่จำเป็นต้องหมายความว่า ผู้รับเจิมนี้เป็นมากกว่ามนุษย์ และเราไม่จำเป็นต้องคิดว่า คำนี้มีความหมายมากกว่าการเป็นบุตรบุญธรรม เมื่อซาตานนำมาใช้ (4:3, 6) หรือคนถูกปีศาจสิง (มก 3:11; 5:7-8; ลก 4:41) หรือนายร้อย (มก 15:39; เทียบ ลก 23:47) นำมาใช้ ดังนั้น ข้อความที่ว่า “บุตรที่รักของเรา” เมื่อพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง (3:17) และเมื่อทรงสำแดงองค์อย่างรุ่งเรือง (17:5) ในตัวเองจึงไม่มีความหมายมากไปกว่าการที่พระเจ้าพอพระทัยพระเมสสิยาห์ผู้รับใช้เป็นพิเศษเท่านั้น ในทำนองเดียวกัน เป็นไปได้ว่าคำถามของมหาสมณะ (26:63) หมายถึงการเป็นพระเมสสิยาห์เท่านั้น ถึงกระนั้น ชื่อ “บุตรพระเจ้า” อาจหมายถึงการเป็นบุตรที่มีความหมายมากกว่าและลึกซึ้งกว่านี้ พระเยซูเจ้าทรงเสนอแนะความหมายนี้อย่างแจ้งชัด เมื่อตรัสถึงพระองค์เองว่าเป็น “บุตร” (21:37) มีศักดิ์เหนือกว่าทูตสวรรค์ (24:36) มีพระเจ้าเป็น “พระบิดา” ในความหมายที่ผู้อื่นไม่มี (ยน 20:17 และเปรียบเทียบ “พระบิดาของเรา” ใน มธ 7:21) ทรงมีความสัมพันธ์พิเศษกับพระบิดาในด้านความรู้และความรัก (มธ 11:27) คำยืนยันเหล่านี้พร้อมกับข้อความที่กล่าวว่าพระเมสสิยาห์มีฐานะเป็นพระเจ้า (22:42-46) และข้อความที่กล่าวว่า “บุตรแห่งมนุษย์” มีกำเนิดจากสวรรค์ (8:20 เชิงอรรถ h) ในที่สุดได้รับการรับรองจากการกลับคืนพระชนมชีพอย่างรุ่งเรืองของพระเยซูเจ้า ทำให้ชื่อ “บุตรพระเจ้า” มีความหมายเฉพาะถึงพระธรรมชาติพระเจ้าอย่างแท้จริง ดังที่จะพบได้ในสมัยต่อมา เช่น ในจดหมายของเปาโล (รม 9:5 เชิงอรรถ d) เป็นความจริงว่า ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงพระชนม์อยู่ในโลกนี้ บรรดาศิษย์ยังไม่มีความรู้ชัดเจนเรื่องพระเทวภาพของพระองค์ ข้อความใน 14:33 และ 16:16 ซึ่งเพิ่มตำแหน่ง “บุตรพระเจ้า” เข้าไปกับข้อความเดิมของมาระโก น่าจะสะท้อนให้เห็นความเชื่อที่ได้พัฒนามาอีกขั้นหนึ่งแล้ว เป็นความเชื่อที่บรรดาศิษย์ได้รับมาจากพระจิตเจ้าในวันเปนเตกอสเต ความเชื่อนี้มีฐานจากพระวาจาที่พระเยซูเจ้าตรัสไว้ เพื่อแสดงว่าทรงมีจิตสำนึกว่าทรงเป็นบุตรของพระบิดาอย่างพิเศษ ไม่เหมือนกับใครอื่น

e “นาซาเร็ธ” สำเนาโบราณบางฉบับใช้ว่า nazara (ดู ลก 4:16)

f การที่พระเจ้าทรงมีอำนาจปกครองประชากรอิสราเอลที่ทรงเลือกสรรและโดยผ่านทางอิสราเอล ทรงปกครองมนุษยโลก เป็นสาระสำคัญของการเทศน์สอนของพระเยซูเจ้า เช่นเดียวกับพันธสัญญาเดิมมีความคิดตลอดมาว่า พระองค์ทรงปกครองสากลโลก ซึ่งหมายความว่าทรงเป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรของบรรดา “ผู้ศักดิ์สิทธิ์” อย่างแท้จริง เพราะมนุษย์จะยอมรับสิทธิ์ของพระองค์ในฐานะกษัตริย์โดยรู้จักและรักพระองค์ บาปซึ่งเป็นการกบฏต่อพระเจ้าได้ทำให้อำนาจการปกครองนี้อ่อนแอลง จึงต้องได้รับการรื้อฟื้นขึ้นใหม่ เมื่อพระเจ้าและพระเมสสิยาห์ของพระองค์จะเข้ามาแทรกแซงในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติอย่างสมบูรณ์ (ดนล 2:28 เชิงอรรถ h) พระเยซูเจ้าได้เทศน์สอนเช่นเดียวกับยอห์นผู้ทำพิธีล้าง (3:2) และประกาศว่าการเข้าแทรกแซงของพระเจ้านี้กำลังจะมาถึง (4:17, 23; ลก 4:43) เหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นอย่างที่ชาวอิสราเอลทั่วไปคาดหวังไว้ในรูปแบบของการกอบกู้อิสรภาพทางการเมือง (มก 11:10; ลก 19:11; กจ 1:6) แต่จะเกิดขึ้นในรูปแบบขบวนการทางจิตใจเท่านั้น (มก 1:34 เชิงอรรถ m; ยน 18:36) งานไถ่กู้ของพระเยซูเจ้าในฐานะ “บุตรแห่งมนุษย์” (8:20 เชิงอรรถ h) และในฐานะ “ผู้รับใช้” (8:17 เชิงอรรถ f; 20:28 เชิงอรรถ g; 26:28 เชิงอรรถ i) ช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระจากอำนาจปกครองของซาตาน ซึ่งต่อต้านอำนาจปกครองของพระเจ้า (4:8; 8:29 เชิงอรรถ k; 12:25-26) แต่ก่อนที่พระอาณาจักรของพระเจ้าจะเป็นความจริงสมบูรณ์ในยุคสุดท้าย เมื่อผู้เลือกสรรจะอยู่กับพระบิดาเจ้า ร่วมสุขในงานเลี้ยงในสวรรค์ (8:11 เชิงอรรถ c; 13:43; 26:29) พระอาณาจักรนี้แทรกเข้ามาในโลกอย่างเงียบๆ ไม่มีอะไรพิเศษ (13:31-33) พระอาณาจักรนี้เริ่มต้นอย่างต่ำต้อยและลึกลับ (13:11) ก่อให้เกิดการต่อต้าน (13:24-30) มาถึงโดยไม่มีใครสังเกตเห็น (12:28; ลก 17:20-21) พระอาณาจักรนี้พัฒนาเติบโตขึ้นในโลกอย่างเชื่องช้า (มก 4:26-29) และบังเกิดผลโดยกลุ่มชนที่พระเยซูเจ้าทรงตั้งขึ้น (มธ 16:18 เชิงอรรถ g) การที่กรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายนับว่าเป็นการตัดสินลงโทษจากพระเจ้า ซึ่งสถาปนาพระอาณาจักรของพระคริสตเจ้าอย่างทรงอำนาจ (16:28; ลก 21:31) บรรดาศิษย์ได้เป็นธรรมทูตประกาศพระอาณาจักรนี้ไปทั่วโลก (มธ 10:7; 24:14; กจ 1:3 เชิงอรรถ d) เมื่อเวลาแห่งการพิพากษาสุดท้ายมาถึง (13:37-43, 47-50; 25:31-46) การเสด็จกลับมาของพระคริสตเจ้าในพระสิริรุ่งโรจน์ (16:27; 25:31) จะเป็นกิจกรรมสุดท้ายซึ่งสถาปนาพระอาณาจักรของพระคริสตเจ้า พระองค์จะถวายพระอาณาจักรให้แก่พระบิดาเจ้า (1 คร 15:24) ก่อนจะถึงเวลานั้น ต้องนับว่าพระอาณาจักรนี้เป็นของประทานเปล่าๆ จากพระเจ้า (20:1-16; 22:9-10; ลก 12:32) ที่ผู้ต่ำต้อยยอมรับ (มธ 5:3; 18:3-4; 19:14, 23-24) พร้อมกับผู้มีใจกว้าง (13:44-46; 19:12; มก 9:47; ลก 9:62; 18:29ฯ) แต่ไม่เป็นที่ยอมรับจากคนหยิ่งจองหองและเห็นแก่ตัว (มธ 21:31-32, 43; 22:2-8; 23:13) ไม่มีผู้ใดสามารถเข้าในพระอาณาจักรนี้ได้โดยไม่มีเสื้องานแต่งงาน ซึ่งหมายถึงชีวิตใหม่ (22:11-13; ยน 3:3, 5) ไม่ใช่ทุกคนได้รับอนุญาตให้เข้าไปได้ (มธ 8:12; 1 คร 6:9-10; กท 5:21) เราจะต้องตื่นเฝ้าระวังอยู่เสมอพร้อมจะรับพระอาณาจักรซึ่งจะมาถึงโดยไม่คาดฝัน (25:1-13 ดูความรู้เกี่ยวกับพระวรสารสหทรรศน์เพื่อเข้าใจว่า มธ ใช้ “พระอาณาจักร” เป็นแนวทางเรียบเรียงพระวรสารของตน)

g การรักษาโรคอย่างอัศจรรย์ เป็นเครื่องหมายเด่นชัดว่า ยุคของพระเมสสิยาห์ได้เริ่มต้นแล้ว (ดู 10:1, 7ฯ; 11:4ฯ)

h “แคว้นซีเรีย” ในที่นี้มีความหมายกว้างๆ รวมถึงแคว้นกาลิลีและบริเวณรอบๆ นั้น (เทียบ มก 1:28)

i “ทศบุรี” เป็นสหพันธ์ประกอบด้วยเมืองอิสระสิบเมือง รวมทั้งบริเวณรอบๆ เมืองเหล่านั้น เมืองเหล่านั้นส่วนใหญ่กระจัดกระจายอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน และไกลไปถึงทางตะวันออกเฉียงเหนือถึงเมืองดามัสกัสด้วย