"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“ท่านปรารถนาให้เราทำสิ่งใด”

54. บุตรของเศเบดีขออภิสิทธิ์ (มก 10:35-45)
    1035ยากอบและยอห์นบุตรของเศเบดีเข้ามาทูลพระองค์ว่า “พระอาจารย์ข้าพเจ้าทั้งสองปรารถนาให้พระองค์ทรงกระทำตามที่ข้าพเจ้าจะขอนี้” 36พระองค์ตรัสถามว่า “ท่านปรารถนาให้เราทำสิ่งใด” 37ทั้งสองคนทูลตอบว่า “ขอโปรดให้ข้าพเจ้าคนหนึ่งนั่งข้างขวาอีกคนหนึ่งนั่งข้างซ้ายของพระองค์ในพระสิริรุ่งโรจน์เถิด” 38พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านไม่รู้ว่ากำลังขออะไรท่านดื่มถ้วยซึ่งเราจะดื่มได้ไหมหรือรับการล้างที่เราจะรับได้หรือไม่” 39ทั้งสองคนทูลว่า “ได้พระเจ้าข้า” พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “ถ้วยที่เราจะดื่มนั้นท่านจะได้ดื่มและการล้างที่เราจะรับนั้นท่านก็จะได้รับ40แต่การที่จะนั่งข้างขวาหรือข้างซ้ายของเรานั้นไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะให้แต่สงวนไว้สำหรับผู้ที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้”


41เมื่อได้ยินดังนั้นอัครสาวกอีกสิบคนรู้สึกโกรธยากอบและยอห์น42พระเยซูเจ้าจึงทรงเรียกเขาทั้งหมดมาพบตรัสว่า “ท่านทั้งหลายย่อมรู้ว่าคนต่างชาติที่คิดว่าตนเป็นหัวหน้าย่อมเป็นเจ้านายเหนือผู้อื่นและผู้เป็นใหญ่ย่อมใช้อำนาจบังคับ43แต่ท่านทั้งหลายไม่ควรเป็นเช่นนั้นผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นใหญ่จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น44และผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นคนที่หนึ่งในหมู่ท่านก็จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ทุกคน45เพราะบุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่นและมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย”
a) อธิบายความหมาย
        ทุกครั้งที่พระเยซูเจ้าทรงทำนายถึงพระทรมาน การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพ นักบุญมาระโกบันทึกปฏิกิริยาของบรรดาศิษย์ผู้ไม่เข้าใจคำทำนายของพระองค์ เราได้พบปฏิกิริยาดังกล่าวนี้ เมื่อพระองค์ทรงทำนายถึงพระทรมานครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง (เทียบ 8:32; 9:32) ส่วนข้อความข้างต้นนับว่าเป็นปฏิกิริยาของบรรดาศิษย์ต่อคำทำนายครั้งที่สาม ซึ่งแสดงอีกครั้งหนึ่งว่าบรรดาอัครสาวกมีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมในความคิดของชาวยิวร่วมสมัยเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ที่จะทรงปกครองชาวอิสราเอล เป็นความหวังทางการเมือง ตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก เรื่องนี้ไม่ให้เกียรติบุตรเศเบดีคือนักบุญยากอบและยอห์นเลย ซึ่งพระศาสนจักรสมัยแรกให้เกียรติเป็นอย่างมาก (เทียบ 5:37; 9:2; กจ12:2; กท2:9) ดังนั้นจึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอย่างแน่นอน นักบุญมัทธิวทำให้ผู้ขอตำแหน่งจากพระเยซูเจ้าสำหรับบุตรของเศเบดีคือมารดาของเขา ส่วนนักบุญลูกาละเว้นเรื่องนี้ไว้

-ยากอบและยอห์น บุตรของเศเบดี เข้ามาทูลพระองค์ว่า “พระอาจารย์ ข้าพเจ้าทั้งสองปรารถนาให้พระองค์ทรงกระทำตามที่ข้าพเจ้าจะขอนี้” การที่อัครสาวกสองคนนี้มาขอบางอย่างจากพระเยซูเจ้าก็ถูกต้องแล้ว เพราะพระองค์ทรงสอนบรรดาศิษย์ให้ขอพระพรตามที่พระเจ้าพอพระทัยจะประทานให้ แต่ปัญหาคือ สิ่งที่เขาขอนั้นสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้าหรือไม่

- พระองค์ตรัสถามว่า “ท่านปรารถนาให้เราทำสิ่งใด” บางทีพระองค์ตรัสถามเช่นนี้ด้วยความกังวลพระทัย เหมือนตรัสกับพระองค์เองว่า ดูสิว่า ครั้งนี้เขาเข้าใจเราแล้ว

- ทั้งสองคนทูลตอบว่า “ขอโปรดให้ข้าพเจ้าคนหนึ่งนั่งข้างขวา อีกคนหนึ่งนั่งข้างซ้ายของพระองค์ในพระสิริรุ่งโรจน์เถิด” พี่น้องสองคนนี้เรียกร้องเกียรติยศและอำนาจ การ “นั่งข้างขวา” ของผู้ใดผู้หนึ่งหมายถึง เป็นผู้มีเกียรติต่อจากผู้นั้นและมีส่วนร่วมในอำนาจของเขา อันดับที่สามเป็นของผู้ที่ “นั่งข้างซ้าย” วลีที่ว่า “ในพระสิริรุ่งโรจน์” พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก มักจะหมายถึงการแสดงองค์ของพระเยซูเจ้าอย่างรุ่งโรจน์เมื่อจะเสด็จมาในวันสิ้นพิภพ (เทียบ 8:38; 13:26) เหมือนกับว่าบุตรเศเบดีไม่ขอสิทธิพิเศษบนแผ่นดินนี้ แต่ปรารถนาที่จะเป็นคนแรกในสวรรค์ อย่างไรก็ตาม ไม่แน่ชัดว่าสองพี่น้องนี้ใช้คำว่า “พระสิริรุ่งโรจน์” ในความหมายนี้ หรือคงจะคิดถึงการมีชัยชนะของพระเยซูเจ้าในไม่ช้าในฐานะพระเมสสิยาห์ กษัตริย์

- พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านไม่รู้ว่ากำลังขออะไร คำตำหนิของพระองค์มุ่งที่จะแสดงว่า พี่น้องสองคนนี้ไม่เข้าใจว่าหนทางนำไปสู่พระสิริรุ่งโรจน์ต้องผ่านทางการรับทรมาน ทั้งสำหรับพระเยซูเจ้าและสำหรับมนุษย์ทุกคนที่ต้องการติดตามพระองค์ เขาทั้งสองคนไม่เข้าใจว่าพระสิริรุ่งโรจน์หมายถึงอะไร พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้ามีความสัมพันธ์กับการรับทรมาน

- ท่านดื่มถ้วยซึ่งเราจะดื่มได้ไหม บ่อยครั้งในพันธสัญญาเดิม เราพบคำว่า “ถ้วย” เป็นสัญลักษณ์ของการรับทรมานหรือชะตากรรมที่จะต้องตาย (เทียบ สดด 75:9; อสย51:17, 22;ยรม 25:15, 28; 32:1;19:12; พคค4:21; อสค23:33) เราจะพบคำนี้อีกเมื่อพระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาในสวนเกทเสมนี (เทียบ14:24, 36)

- หรือรับการล้างที่เราจะรับได้หรือไม่” คำภาษากรีกที่เราแปลว่า “การล้าง” ตามตัวอักษรหมายถึงการจุ่มหรือการดิ่งลง ในพันธสัญญาเดิม การรับทรมานมักจะเปรียบเทียบกับสภาพของผู้ที่จมในน้ำหรือดิ่งลงในทะเล การล้างในที่นี้จึงหมายถึงร่างกายทั้งตัวจมอยู่ในความทุกข์ทรมานภาพทั้งสองนี้คือถ้วยที่จะต้องดื่มและการล้างที่จะต้องรับเสริมเติมกันแสดงความมั่นใจที่ผู้ชอบธรรมจำเป็นต้องมีเพื่อเผชิญหน้ากับความตายที่ไม่ยุติธรรม พระเยซูเจ้าทรงพร้อมแล้ว และทรงต้องการรู้ว่านักบุญยากอบและยอห์นพร้อมแล้วหรือยัง