"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“พระองค์ทรงทำได้ทุกสิ่ง”

52.เศรษฐีหนุ่ม  (2)
- ท่านรู้จักบทบัญญัติแล้ว คือ อย่าฆ่าคน อย่าล่วงประเวณี อย่าลักขโมย อย่าเป็นพยานเท็จ อย่าฉ้อโกง จงนับถือบิดามารดา” ก่อนที่พระเยซูเจ้าทรงตอบคำถามของเศรษฐีหนุ่ม พระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่าทรงรู้จักเขาเป็นอย่างดีเพราะตรัสว่า “ท่านรู้จักบทบัญญัติแล้ว”พระองค์ไม่ทรงเตือนเขาให้จดจำบทบัญญัติทุกประการ แต่ทรงเตือนเพียงบางประการที่กำหนดความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับผู้อื่น คือ“อย่าฆ่าคน อย่าล่วงประเวณี อย่าลักขโมย อย่าเป็นพยานเท็จ อย่าฉ้อโกง จงนับถือบิดามารดา”

น่าสังเกตว่า ยกเว้นข้อสุดท้ายบทบัญญัติทุกข้อที่กล่าวมานี้เป็นข้อห้าม คือระบุว่าต้องงดเว้นหรือต้องหลีกเลี่ยงสิ่งใดโดยแท้จริงแล้ว พระบัญชาที่ว่า “อย่าฉ้อโกง” ไม่อยู่ในประมวลบทบัญญัติสิบประการ แต่เราพบในประมวลกฏหมายเฉลยธรรมบัญญัติ(เทียบ ฉธบ 24:14-15) บางทีนักบุญมาระโกอาจเพิ่มเติ่มข้อนี้ลงไปเมื่อคำนึงถึงสภาพทางสังคมของเศรษฐีหนุ่มผู้ตั้งคำถามเพราะเขาอาจถูกผจญให้เอารัดเอาเปรียบคนยากจนและลูกจ้าง

- ชายผู้นั้นทูลว่า “พระอาจารย์ ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติเหล่านี้ทุกข้อมาตั้งแต่เป็นเด็กแล้ว” พระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนเศรษฐีหนุ่มให้พิจารณามโมธรรมเรื่องบทบัญญัติเกี่ยวกับความรักต่อผู้อื่น และเขาผ่านการตรวจสอบของบทบัญญัติเหล่านี้ จึงทูลตอบพระองค์ด้วยใจสงบราบคาบว่า “ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติเหล่านี้ทุกข้อมาตั้งแต่เป็นเด็กแล้ว”น่าสังเกตว่า แม้เศรษฐีหนุ่มได้ปฏิบัติบทบัญญัติตั้งแต่เด็ก เขาก็ยังไม่มีความสุข รู้สึกว่าการกระทำของตน(ขาดอยู่)เพียงพอ จึงไปพบพระเยซูเจ้าเพื่อทูลถามว่า จะต้องทำอะไรอีกเพื่อจะได้รับชีวิตนิรันดร เหมือนกับจะพูดว่า “แม้ข้าพเจ้าปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทั้งหมด แต่ความจริงแล้ว ชีวิตยังไม่มีความสุขอย่างเต็มเปี่ยมเลย”

- พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเขาด้วยพระทัยเอ็นดู นี่เป็นข้อสังเกตของนักบุญมาระโก ซึ่งต้องการเน้นท่าทีการแสดงความรักและความอ่อนโยนของพระเยซูเจ้าพระองค์พอพระทัยที่ทรงพบบุคคลผู้มีใจศรัทธาและปรารถนาดำเนินชีวิตครบครัน

- ตรัสกับเขาว่า “ท่านยังขาดสิ่งหนึ่ง จงไปขายทุกสิ่งที่มี มอบเงินให้คนยากจน และท่านจะมีขุมทรัพย์ในสวรรค์ แล้วจงติดตามเรามาเถิด” พระวาจาของพระเยซูเจ้าตอบสนองความปรารถนาของเศรษฐีหนุ่มที่จะดำเนินชีวิตครบครัน และแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมว่า เขาควรทำสิ่งใดเพื่อทดแทนสิ่งที่ยังขาด พระวาจานี้ไม่เป็นข้อบังคับเด็ดขาดที่ทุกคนต้องปฏิบัติ แต่เป็นคำแนะนำสำหรับผู้ที่ปรารถนาดำเนินชีวิตอย่างครบครันมากยิ่งขึ้น ชาวยิวร่วมสมัยของพระเยซูเจ้าคิดว่า ทรัพย์สมบัติเป็นพระพรของพระเจ้า เพราะทำให้เขาสามารถช่วยเหลือผู้อื่นด้วยกิจการที่ดีและการให้ทาน ยิ่งกว่านั้น พระเยซูเจ้าทรงเห็นว่าทรัพย์สมบัติเป็นอันตรายและเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้เข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า ผู้ยอมสละทรัพย์สมบัติก็เท่ากับว่าเขาปล่อยวางทำตนให้เป็นอิสระ เพื่อจะได้เดินทางอย่างคล่องแคล่วตามพระยุคลบาทของพระองค์ โดยแท้จริงแล้ว สิ่งหนึ่งที่เศรษฐีหนุ่มยังขาดอยู่ก็คือสิ่งที่เขามีมากเกินไปซึ่งจะต้องเสียสละให้แก่ผู้ขัดสน

- เมื่อได้ฟังพระวาจานี้ ชายผู้นั้นหน้าสลดลงเพราะเขามีทรัพย์สมบัติจำนวนมาก จึงจากไปด้วยความทุกข์
นักบุญมาระโกบรรยายใบหน้าโศกเศร้าของเศรษฐีหนุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ แสดงชัดเจนว่า ในแง่หนึ่งเขาเสียใจจริง ๆ ที่ไม่สามารถติดตามพระคริสตเจ้าได้ และอีกแง่หนึ่ง เขาไม่เข้าใจคุณค่าคำสอนของพระเยซูเจ้าอย่างถ่องแท้ ทั้ง ๆ ที่พระองค์ทรงมีเสน่ห์ดึงดูดใจเขา เศรษฐีหนุ่มคงจะคิดว่าคำแนะนำให้สละทุกสิ่งเป็นการเรียกร้องมากเกินไปจนเขาปฏิบัติไม่ได้ เพราะทรัพย์สมบัติทำให้เขามีความยินดีและความสุขที่ถูกต้องซึ่งเขายังไม่พร้อมที่จะสละอย่างทันทีทันใด

- พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรโดยรอบ เมื่อเศรษฐีหนุ่มเดินจากไปด้วยความเศร้าโศก สิ่งแรกที่พระเยซูทรงกระทำคือ “ทอดพระเนตรโดยรอบ” เพื่อทรงสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลที่อยู่ห้อมล้อม พระองค์ทรงพยายามผูกมิตรด้วยสายพระเนตรอ่อนโยนเพื่อให้ผู้ฟังคำนึงถึงความหมายของพระวาจาโดยไม่มองข้ามผู้ตรัส เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องตระหนักว่า พระวาจาเหล่านี้เป็นคำแนะนำของพระเยซูเจ้า และเราได้รับเชิญให้ยอมรับว่าเป็นพระองค์เองผู้ตรัสจริง พระวาจานี้ไม่ใช่ความจริงที่เป็นนามธรรม แต่เป็นคำสั่งสอนที่พระองค์ประทานแก่บรรดาศิษย์เมื่อเริ่มติดตามพระองค์ การที่ “พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรโดยรอบ” ยังเป็นอีกวิธีที่ทรงใช้เพื่อเน้นความสำคัญของคำสั่งสอนและดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง

- แล้วตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “ยากจริงหนอที่คนมั่งมีจะเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า” ตัวอย่างของเศรษฐีหนุ่มที่เดินจากไปด้วยใบหน้าสลด เป็นโอกาสให้พระเยซูเจ้าทรงสังเกตว่า ทรัพย์สมบัติเป็นอันตรายยิ่งใหญ่สำหรับผู้มีความเชื่อ ในพันธสัญญาเดิม เราพบคำตักเตือนที่ชวนให้คิดว่า ยากยิ่งนักที่ทรัพย์สมบัติจะร่วมอยู่ด้วยกับความชอบธรรมได้ (เทียบ บสร 31:5-11; อสค 7:19-20) แต่พระวรสารโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา เน้นอันตรายของผู้ร่ำรวยที่จะได้พระอาณาจักรและได้รับความรอดพ้นตลอดนิรันดร (เทียบ ลก 3:11; 6:30; 7:5; 11:41 ฯลฯ)

-บรรดาศิษย์แปลกใจกับพระวาจานี้ เหตุผลที่บรรดาศิษย์แปลกใจคือ พระเยซูเจ้าทรงพลิกโฉมหน้าคำสอนของชาวยิวจากหน้ามือเป็นหลังมือคำสอนทางจริยธรรมของชาวยิวเข้าใจง่าย เขาเชื่อว่าถ้าผู้ใดมีทรัพย์สมบัติแสดงว่าผู้นั้นเป็นคนดี ถ้าผู้ใดร่ำรวยก็หมายความว่าพระเจ้าทรงให้เกียรติและอวยพระพรเขา ดังที่เพลงสดุดีสรุปว่า “ข้าพเจ้าเคยเป็นหนุ่ม บัดนี้ชราแล้ว ยังไม่เคยเห็นคนชอบธรรมคนใดถูดทอดทิ้ง หรือลูกหลานของเขาต้องขอข้าวใครกิน” (สดด 37:25)