"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“พระอาจารย์ต้องการใช้มัน”

56. พระเมสสิยาห์เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม (มก 11:1-11)
     11 1เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จพร้อมกับบรรดาศิษย์เข้ามาใกล้กรุงเยรูซาเล็ม ที่หมู่บ้านเบธฟายีและเบธานี ใกล้กับภูเขามะกอกเทศ พระองค์ทรงใช้ศิษย์สองคนไป 2ตรัสแก่เขาว่า “จงเข้าไปในหมู่บ้านข้างหน้า เมื่อเข้าไปแล้ว ท่านจะพบลูกลาตัวหนึ่งผูกอยู่ ยังไม่มีใครเคยขี่ลาตัวนั้นเลย จงแก้เชือกและจูงมันมาเถิด

3ถ้ามีผู้ใดถามว่า ‘ทำไมท่านจึงทำเช่นนี้’ จงบอกเขาว่า ‘พระอาจารย์ต้องการใช้มัน และจะส่งกลับคืนมาให้ทันที’” 4ศิษย์ทั้งสองคนออกไป พบลูกลาตัวหนึ่งผูกอยู่ที่ประตูด้านนอกบนถนน ขณะที่เขากำลังแก้เชือก 5บางคนที่ยืนอยู่ที่นั่นถามว่า “ทำอะไรกัน แก้เชือกลูกลาทำไม” 6ศิษย์ทั้งสองคนก็ตอบตามที่พระเยซูเจ้าได้ตรัสไว้ เขาจึงยอมให้นำลูกลาไป 7ศิษย์ทั้งสองคนจูงลูกลามาถวายพระเยซูเจ้า ปูเสื้อคลุมของตนบนหลังลา พระองค์จึงทรงลูกลาตัวนั้น 8คนจำนวนมากปูเสื้อคลุมของตนตามทาง บางคนปูกิ่งไม้ซึ่งตัดมาจากทุ่งนาด้วย 9พวกที่เดินไปข้างหน้า และผู้ที่ตามมาข้างหลังต่างโห่ร้องว่า “โฮซานนา ขอถวายพระพรแด่ผู้มาในพระนามองค์พระผู้เป็นเจ้า 10ขอพระพรจงมีแด่พระอาณาจักรที่กำลังจะมาถึงของกษัตริย์ดาวิด บรรพบุรุษของเรา โฮซานนา ณ สวรรค์สูงสุด” 11พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม เข้าไปในพระวิหาร เมื่อทอดพระเนตรสิ่งต่างๆ โดยรอบแล้ว พระองค์ก็เสด็จออกไปยังหมู่บ้านเบธานี พร้อมกับอัครสาวกสิบสองคน ขณะนั้นเป็นเวลาค่ำแล้ว

a) อธิบายความหมาย
         พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโกตั้งแต่บทที่ 11 ถึงบทที่ 13 เป็นภาคสำคัญที่เริ่มต้น(ด้วยการ)เล่าสัปดาห์การรับทรมานของพระเยซูเจ้า สถานที่ของเหตุการณ์ต่าง ๆ คือกรุงเยรูซาเล็ม พระวิหารและหมู่บ้านโดยรอบ นักบุญมาระโกให้รายละเอียดในสามวันแรกดังนี้ วันอาทิตย์ใบลาน พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม (เทียบ 11:1-11) วันจันทร์เล่าเรื่องการสาปแช่งต้นมะเดื่อเทศและการชำระพระวิหารโดยขับไล่พ่อค้า (เทียบ 11:12-19) และวันอังคาร รวบรวมเหตุการณ์หลายเรื่อง เช่น คำสั่งสอนเกี่ยวกับการอธิษฐานภาวนา (เทียบ 11:20-25) การโต้เถียงกับคู่อริในห้าเรื่อง (เทียบ 11:27-12-:44) และจบลงด้วยคำปราศรัยเรื่องอวสานกาล (เทียบ 13:1-36)

         ข้อความพระเมสสิยาห์เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม (มก 11:1-11) นี้เป็นเหตุการณ์ที่พระเยซูเจ้าพอพระทัยให้เกิดขึ้น เพราะพระองค์ทรงสำแดงองค์อย่างเปิดเผยต่อหน้าแม้บรรดาศัตรูว่า ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ ผู้ที่พระเจ้าทรงส่งลงมาแก่ประชากรอิสราเอล

- เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จพร้อมกับบรรดาศิษย์เข้ามาใกล้กรุงเยรูซาเล็ม ที่หมู่บ้านเบธฟายีและเบธานี ใกล้กับภูเขามะกอกเทศ แม้ทุกวันนี้ ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ยังไม่สามารถกำหนดอย่างแน่นอนว่า หมู่บ้านทั้งสองแห่งนี้อยู่ที่ใด(ในประเทศ..) แต่คงจะต้องอยู่ใกล้กรุงเยรูซาเล็มทางทิศตะวันออกของภูเขามะกอกเทศ คำว่า “เบธฟายี” หมายถึง “บ้านของมะเดื่อเทศ” และคำว่า “เบธานี” หมายถึง “บ้านของผู้ยากจน” ถ้าจะเดินทางจากกรุงเยรูซาเล็มไปหมู่บ้านเบธานีก็จะต้องลงมาจากยอดภูเขามะกอกเทศ (สูง 808 เมตร) และผ่านหมู่บ้านเบธฟายี

- พระองค์ทรงใช้ศิษย์สองคนไป พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ริเริ่มจัดวันฉลอง ทรงสำแดงว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงจัดการทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะทรงมีจิตสำนึกว่าเป็นพระเมสสิยาห์อย่างแท้จริง

- ตรัสแก่เขาว่า “จงเข้าไปในหมู่บ้านข้างหน้า ธรรมประเพณีถือว่าหมู่บ้านเบธฟายีตั้งอยู่ด้านหน้าภูเขามะกอกเทศ ปัจจุบันมีสักการสถานเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์นี้ ภายในมีหินขัดก้อนใหญ่ และบนฝาผนังมีภาพวาดเมื่อปูนยังหมาด ๆ คือภาพแสดงการกลับคืนชีพของลาซารัส ภาพบรรดาอัครสาวกนำลากับลูกลาไปหาพระองค์ ภาพประชากรถือกิ่งใบลาน และภาพบันทึกชื่อหมู่บ้านเบธฟายี

- เมื่อเข้าไปแล้ว ท่านจะพบลูกลาตัวหนึ่งผูกอยู่ ข้อความนี้ชวนผู้อ่านให้ระลึกถึง ข้อความในพันธสัญญาเดิมที่ว่า “ธิดาแห่งศิโยนเอ๋ย จงร่าเริงอย่างยิ่ง ธิดาแห่งกรุงเยรูซาเล็มเอ๋ย จงโห่ร้องด้วยความยินดีเถิด ดูซิ กษัตริย์ของท่านกำลังเสด็จมาหาท่าน พระองค์ทรงเที่ยงธรรมและทรงชัยชนะ ทรงถ่อมพระองค์และประทับบนหลังลา บนหลังลาตัวน้อย ลูกแม่ลา” (ศคย 9:9) พระเมสสิยาห์– กษัตริย์จะทรงเปลื้องเครื่องทรงที่หรูหราสง่างามอย่างกษัตริย์ในอดีต จะทรงลาตามประเพณีของเจ้านาย พระเยซูเจ้าจึงทรงทำให้คำพยากรณ์นี้เป็นความจริงเมื่อทรงลาเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม

- ยังไม่มีใครเคยขี่ลาตัวนั้นเลย จงแก้เชือกและจูงมันมาเถิด ลาตัวนั้นสมควรเป็นสัตว์ที่ยังไม่เคยมีผู้ใดใช้งานเลย เพื่อเป็นเครื่องบูชาถวายแด่พระเยซูเจ้า

- ถ้ามีผู้ใดถามว่า ‘ทำไมท่านจึงทำเช่นนี้’ จงบอกเขาว่า ‘พระอาจารย์ต้องการใช้มัน และจะส่งกลับคืนมาให้ทันที’” คำว่า “พระอาจารย์” ในต้นฉบับภาษากรีกว่า “องค์พระผู้เป็นว่า” (Kyrios) ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโกเป็นครั้งแรกที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกพระองค์เองโดยใช้พระนามนี้ อย่างไรก็ตาม หญิงชาวซีโรฟีนีซียเคยใช้คำเดียวกัน “Kyrios” เมื่อทูลตอบพระเยซูเจ้าว่า “ถูกแล้ว พระเจ้าข้า ”(7:28)

- ศิษย์ทั้งสองคนออกไป พบลูกลาตัวหนึ่งผูกอยู่ที่ประตูด้านนอกบนถนน ขณะที่เขากำลังแก้เชือก บางคนที่ยืนอยู่ที่นั่นถามว่า “ทำอะไรกัน แก้เชือกลูกลาทำไม” ศิษย์ทั้งสองคนก็ตอบตามที่พระเยซูเจ้าได้ตรัสไว้ เขาจึงยอมให้นำลูกลาไป ศิษย์ทั้งสองคนจูงลูกลามาถวายพระเยซูเจ้า ปูเสื้อคลุมของตนบนหลังลา พระองค์จึงทรงลูกลาตัวนั้น พระเยซูเจ้าในฐานะพระเมสสิยาห์ – กษัตริย์ทรงมีสิทธิที่จะเอาสัตว์ที่เป็นพาหนะจากประชาชนมาใช้ (เทียบ 1 ซมอ 8:17) พระองค์จะทรงลาเหมือนประทับบนบัลลังก์ บรรดาศิษย์จึงปูเสื้อคลุมของตนบนหลังลา

- คนจำนวนมากปูเสื้อคลุมของตนตามทาง บางคนปูกิ่งไม้ซึ่งตัดมาจากทุ่งนาด้วย การกระทำเช่นนี้เป็นธรรมเนียมแสดงความเคารพและความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ (เทียบ 2 พกษ 9:13) และต่อผู้มีชัยชนะ เปรียบเทียบกับการปูพรมตามทางที่กษัตริย์จะทรงพระดำเนิน

- พวกที่เดินไปข้างหน้า และผู้ที่ตามมาข้างหลังต่างโห่ร้องว่า “โฮซานนา คำว่า “โฮซานนา” เป็นคำภาษาฮีบรูและอาราเมอิกแปลตามตัวอักษรได้ว่า “โปรดทรงช่วยให้รอดพ้น” เป็นคำวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า ซึ่งต่อมาภายหลังนำมาใช้เป็นเพียงคำโห่ร้องเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวยิวใช้คำนี้ในวันที่เจ็ดของเทศกาลอยู่เพิง (เทียบ สดด 118:25)

- ขอถวายพระพรแด่ผู้มาในพระนามองค์พระผู้เป็นเจ้า เป็นคำโห่ร้องของประชาชนที่ต้อนรับพระเมสสิยาห์ โดยประยุกต์ใช้คำนี้มาจากบทเพลงสดุดีที่ 118:26 ซึ่งกล่าวถึงผู้จาริกแสวงบุญที่เดินทางมากรุงเยรูซาเล็ม ส่วนวลีที่ว่า “ผู้มา” เป็นสำนวนที่ใช้บ่อย ๆ หมายถึงพระเมสสิยาห์ที่ประชากรอิสราเอลกำลังรอคอย (เทียบ มธ 11:3; ลก 7:19; ยน 3:31, 6:14, 11:27)

- ขอพระพรจงมีแด่พระอาณาจักรที่กำลังจะมาถึงของกษัตริย์ดาวิด บรรพบุรุษของเรา โฮซานนา ณ สวรรค์สูงสุด” พันธสัญญาใหม่เสนอภาพพระเยซูเจ้าทรงเป็นบุตรหลานตามกฎหมายของกษัตริย์ดาวิดและทรงเป็นทายาทของพระอาณาจักรในราชวงศ์กษัตริย์ดาวิด วลีที่ว่า “ณ สวรรค์สูงสุด” เป็นคำโห่ร้องที่ชวนให้คิดถึงบทเพลงของบรรดาทูตสวรรค์ เมื่อประเยซูเจ้าประสูติ (เทียบ ลก 2:14) เป็นคำสรรเสริญพระเจ้าผู้ประทานความรอดพ้นผ่านทางพระเมสสิยาห์

- พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม เข้าไปในพระวิหาร ในสมัยของพระเยซูเจ้า คำว่า “พระวิหาร” ที่กรุงเยรูซาเล็มไม่หมายถึงเพียงสักการสถานเท่านั้น แต่ยังหมายถึงตึกและลานหลายแห่งที่ตั้งอยู่ในที่ราบบนยอดเนินเขา ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ตั้งอยู่สุเหร่าโอมาร เป็นพระวิหารที่สร้างขึ้นใหม่ หลังจากชาวยิวถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยที่กรุงบาบิโลน เมื่อพระวิหารที่กษัตริย์ซาโลมอนทรงสร้างถูกทำลายพร้อมกับกรุงเยรูซาเล็มในปี 587 ก่อนคริสตกาล ต่อมา กษัตริย์เฮโรดมหาราชทรงขยายและบูรณะพระวิหารนี้

- เมื่อทอดพระเนตรสิ่งต่างๆ โดยรอบแล้ว เราพบรายละเอียดนี้เฉพาะในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโกเท่านั้น เป็นการเตรียมการขับไล่พ่อค้าออกจากพระวิหารในวันรุ่งขึ้น การทอดพระเนตรโดยรอบของพระเมสสิยาห์เป็นการตัดสินอย่างเด็ดขาดของพระองค์เกี่ยวกับพิธีกรรมในพันธสัญญาเดิม

-พระองค์ก็เสด็จออกไปยังหมู่บ้านเบธานี พร้อมกับอัครสาวกสิบสองคน ขณะนั้นเป็นเวลาค่ำแล้ว เช่นเดียวกับเวลาเย็นในวันต่อมา (เทียบ 11:19; 13:1, 3) พระเยซูเจ้าทรงแสวงหาที่หลบภัยและที่พักผ่อนในหมู่บ้านเบธานี ทรงพักอยู่กับมิตรสหาย