"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“ตกใจกลัวเช่นนี้ทำไม ท่านยังไม่มีความเชื่อหรือ ”

22. พระเยซูเจ้าทรงทำให้พายุสงบ (มก 4:35-41)
        4 35เย็นวันเดียวกันนั้น พระเยซูเจ้าตรัสสั่งบรรดาศิษย์ว่า “เราจงข้ามไปทะเลสาบฝั่งโน้นกันเถิด”  36บรรดาศิษย์จึงละประชาชนไว้ และออกเรือที่พระองค์ประทับอยู่นั้นไป มีเรือลำอื่น ๆ ติดตามไปด้วย  37ขณะนั้นเกิดพายุแรงกล้า คลื่นซัดเข้าเรือจนน้ำเกือบจะเต็มเรืออยู่แล้ว 38พระองค์บรรทมหลับหนุนหมอนอยู่ที่ท้ายเรือ  บรรดาศิษย์จึงปลุกพระองค์ ทูลถามว่า “พระอาจารย์ พระองค์ไม่สนพระทัยที่พวกเรากำลังจะตายอยู่แล้วหรือ”  39พระองค์จึงทรงลุกขึ้น บังคับลม ตรัสสั่งทะเลว่า “เงียบซิ  จงสงบลงเถิด” ลมก็หยุด ท้องทะเลราบเรียบอย่างยิ่ง  40แล้วพระองค์ตรัสถามเขาว่า  “ตกใจกลัวเช่นนี้ทำไม ท่านยังไม่มีความเชื่อหรือ” 41เขาเหล่านั้นกลัวมาก พูดกันว่า  “ท่านผู้นี้เป็นใครหนอ ลมและทะเลจึงยอมเชื่อฟังเช่นนี้”


a) อธิบายความหมาย
       หลังจากนักบุญมาระโกบันทึกคำปราศรัยครั้งแรกของพระเยซูเจ้าแล้ว (4:1-34) ข้อความที่เรากำลังพิจารณานี้เป็นการเริ่มต้นอีกภาคหนึ่งในลำดับเหตุการณ์พระชนมชีพของพระเยซูเจ้า (4:35-5:43) ซึ่งเล่าอัศจรรย์สี่ประการที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำคือ  1)พระเยซูเจ้าทรงทำให้พายุสงบ (4:35-41)  2) ทรงรักษาชาวเกราซาที่ถูกปีศาจสิง (5:1-20) 3) ทรงรักษาหญิงตกเลือด และ4) ทรงปลุกบุตรหญิงของไยรัสให้คืนชีพ(5:21-43)
น่าสังเกตว่า คำปราศรัยของพระเยซูเจ้าโดยใช้อุปมาและการทำอัศจรรย์เป็นเหตุการณ์ที่แสดงกิจการประกาศข่าวดี 2 รูปแบบซึ่งเสริมซึ่งกันและกัน นักบุญลูกาเชื่อมโยงสองเหตุการณ์นี้เข้าด้วยกัน สังเกตได้จากการเริ่มต้นทั้งสองภาคคล้ายคลึงกันคือ"พระเยซูเจ้าทรงเริ่มสั่งสอนที่ริมทะเลสาบอีกครั้งหนึ่ง ประชาชนจำนวนมากมาชุมนุมห้อมล้อมพระองค์จนต้องเสด็จลงไปประทับบนเรือในทะเลสาบ ส่วนประชาชนทั้งหมดอยู่บนฝั่ง" (4:1) และการเล่าเรื่องอัศจรรย์เริ่มต้นโดยบันทึกว่า ในวันเดียวกันนั้นพระเยซูเจ้ายังประทับอยู่ในเรือและบรรดาศิษย์ละประชาชนไว้

- เย็นวันเดียวกันนั้น
   หลังจากที่พระเยซูเจ้าทรงใช้อุปมาเทศนาสั่งสอนตลอดทั้งวัน พระองค์ก็ทรงเหน็ดเหนื่อย

- พระเยซูเจ้าตรัสสั่งบรรดาศิษย์ว่า “เราจงข้ามไปทะเลสาบ"
น่าสังเกตว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ริเริ่มแผนการที่จะแล่นเรือข้ามทะเลสาบ ทั้ง ๆ ที่จะต้องประสบอันตรายต่อชีวิตเพราะเกิดพายุแรงกล้า พระองค์ทรงสั่งเช่นนี้และบรรดาศิษย์ก็ปฏิบัติตาม คำสั่งของพระเยซูเจ้าชวนให้คิดถึงเหตุการณ์ที่เมืองคาเปอรนาอุม เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า“เราไปที่อื่นกันเถิด" (มก 1:38)เราในที่นี้ไม่ใช่สรรพนามหมายถึงพระเยซูเจ้า แต่หมายถึง "พวกเรา"พระองค์ทรงใช้สรรพนามนี้เพื่อแสดงความเป็นกันเองกับบรรดาศิษย์ พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกับเขา

"ไปฝั่งโน้นกันเถิด"
พระเยซูเจ้าพร้อมกับบรรดาศิษย์ทรงอยู่ฝั่งตะวันตกของทะเลสาบซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวยิวส่วนฝั่งตะวันออกเป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างศานา นี่เป็นครั้งแรกที่นักบุญมาระโกบันทึกว่าพระเยซูเจ้าเสด็จไปดินแดนของคนต่างศาสนา การข้ามทะเลสาบไปฝั่งโน้นนำพระเยซูเจ้าไปยังดินแดนของชาวเกราซาและพระองค์ทรงรักษาคนถูกปีศาจสิง ต่อจากนั้น จะทรงข้ามทะเลสาบกลับไปยังดินแดนของชาวอิสราเอลอีกครั้งหนึ่ง(5:21)

- บรรดาศิษย์จึงละประชาชนไว้ และออกเรือที่พระองค์ประทับอยู่นั้นไป
บรรดาศิษย์แยกตัวจากประชาชน ปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเยซูเจ้าและลงเรือออกทะเล แต่พระองค์ประทับในเรือนั้นแล้ว ตลอดวันพระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอนโดยประทับนั่งในเรือเพราะมีประชาชนมากมายถึงเวลาเย็นทรงเหน็ดเหนื่อยแต่ก็ไม่ทรงขึ้นบก พระองค์ประทับนั่งในเรือต่อไป

- มีเรือลำอื่น ๆ ติดตามไปด้วย
รายละเอียดที่นักบุญมาระโกเล่านี้เป็นเพียงข้อสังเกตการณ์ ไม่บันทึกต่อไปว่าเป็นเรือเหล่านั้นเป็นของชาวประมงหรือผู้ต้องการติดตามพระเยซูเจ้า

- ขณะนั้นเกิดพายุแรงกล้า คลื่นซัดเข้าเรือจนน้ำเกือบจะเต็มเรืออยู่แล้ว
เหตุการณ์นี้ไม่เป็นเรื่องแปลก เพราะจนถึงทุกวันนี้ยังเกิดลมพัดแรงที่บริเวณทะเลสาบกาลิลี ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนถึง 208 เมตร มีภูเขาสูงล้อมรอบ ลมเย็นและรุนแรงพัดมาจากภูเขาทำให้เกิดคลื่นสูง น้ำจึงกระเพื่อมแรง ทะเลและพายุเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายที่คุกคามมนุษย์ โดยเฉพาะด้านชีวิตจิต ดังที่เราอ่านในหนังสือปฐมกาลว่า  "ความมืดมิดปกคลุมอยู่เหนือทะเลลึก และลมพายุแรงกล้าพัดอยู่เหนือน้ำ" (ปฐก 1:2)พายุยังชวนให้คิดถึงข้อความในเพลงสดุดีว่า "เมื่อพระองค์ตรัส ก็ทรงปลุกลมพายุ บันดาลให้เกิดคลื่นสูงใหญ่ คลื่นขึ้นไปจนถึงท้องฟ้า และลงไปลึกจนถึงก้นเหว เขาตกใจกลัวมากเพราะอันตราย เขาเดินโซเซโงนเงนเหมือนคนเมาเหล้า ความชำนาญทั้งหมดของเขาหายไป" (สดด 107:25-27)