บทเทศน์โดยพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์  วีระ  อาภรณ์รัตน์วันอาทิตย์ที่ 30 เทศกาลธรรมดา
23 ตุลาคม 2016
บทอ่าน    บสร  35:12–14,16-18   ;   2 ทธ  4:6- 8, 16-18   ;   ลก  18: 9-14

พระวรสารสัมพันธ์กับ    คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC)  588, 2559, 2613, 2667, 2839
จุดเน้น      เมื่อเราอธิษฐานภาวนาต่อหน้าพระเจ้า  เราควรทำด้วยความสุภาพ


เมื่อนักประวัติศาสตร์ในอนาคตจะเขียนเกี่ยวกับยุคนี้  พวกเขาอาจบันทึกว่าเรากระหายความรู้จักตนเอง  เกือบทุกอาทิตย์ เราจะได้รับเมล เกี่ยวกับการประชุมเชิงปฏิบัติการ   การอบรม  หรือ  การประชุมที่จัดเพื่อช่วยเราให้รู้จักตนเองมากขึ้น  การเชิญร่วมประชุมต่างๆ  มักมีรับประกันว่าจะช่วยผู้ร่วมประชุม  สามี-ภรรยา  ผู้ปกครอง  นายจ้าง  ลูกจ้าง  ชายหญิงให้รู้จักตนเองดีขึ้น  ข้อเสนอหลักๆ คือ  เมื่อใครรู้จักตนเองดีขึ้น  ก็สามารถรับผิดชอบดีขึ้น ควบคุมชีวิต  และจุดมุ่งหมายชีวิตดีขึ้น  มั่นใจตนเองยิ่งขึ้น  พระเยซูเจ้าได้ตรัสในพระวรสารนักบุญยอห์นว่า “ความจริงจะทำให้ท่านเป็นอิสระ” (ยน  8:32)  แต่มันก็ยังสำคัญที่จะถามว่า  “ความจริงคืออะไร” ทั้งชาวฟาริสีและคนเก็บภาษี  ยืนอธิษฐานภาวนาในพระวิหาร   แต่ละคนบอกความจริงของตน  ชาวฟาริสีก็ถูกต้องในการวิเคราะห์ตนเองระดับหนึ่ง  เขาเป็นชาวยิวที่ศรัทธาดีคนหนึ่ง

    แต่ความสัมพันธ์ของเขากับพระเจ้าดูเหมือนได้ตั้งฐานบนการได้รับรางวัล และการลงโทษ  คำอธิษฐานภาวนาเป็นแบบเขาพูดคนเดียว  มากกว่าคำอ้อนวอนจากใจจริง  เขาเข้าหาพระเจ้าเหมือนเขาเป็นนักธุรกิจ กำลังอ้างสิทธิและการคาดหวัง   ศูนย์กลางของชีวิต  คือ  ตนเอง  ไม่ใช่พระเจ้า  ยิ่งที่เขาเปรียบเทียบกับคนเก็บภาษีว่า  เขาเหนือกว่า  เขาเข้าใจผิดเรื่องกฎพื้นฐานที่สุดของลัทธิยิวที่ว่า “ท่านจะต้องรักพระเจ้าของท่าน  สุดจิตใจ  สุดวิญญาณ  และสุดกำลังของท่าน”  (ฉธบ 6:5)

    ส่วนคนเก็บภาษี  ตรงกันข้าม  เขาเป็นคนบาปในสายตาคนอื่น  และในการประเมินค่าตนเอง  การดำเนินชีวิต  ในสังคมยิว  หลายคนมองเขาเหมือนขโมย  และผู้ร่วมมือ (กับชาวโรมัน)  กรูโช  มาร์ก  ได้เคยพูดว่า  “ผมจะไม่ยอมร่วมสมาคมที่ถือว่าผมเป็นเพียงสมาชิกคนหนึ่ง” คนเก็บภาษีได้แบ่งปันความรู้สึกนี้ออกมา  เขารู้ฐานะบาปน่ารังเกียจของตน แตกต่างมากกับชาวฟารีสีถือว่าตนเป็นศูนย์กลาง  และเหนือกว่า (คนอื่น)      

    คนเก็บภาษีตระหนักถึงความจริงพื้นฐานว่าเราไม่สามารถดำเนินชีวิตด้วยวิธีการของเราเองไปสู่สวรรค์  เราขึ้นอยู่กับพระหรรษทาน  ที่พระเจ้าทรงประทานให้เราเปล่าๆ (ฟรีๆ)   พระองค์ไม่ได้เป็นหนี้บุญเราเลย  แต่พระองค์ประทานทุกสิ่งให้เรา   ถ้าเพียงโครงการช่วยเหลือตนเองสามารถช่วยเราให้ยอมรับความจริงนั้น  ไม่ว่าเราจะประสบผลสำเร็จในชีวิตนี้อย่างไร  เมื่อเราจากโลกนี้เข้าสู่ชีวิตนิรันดร  เราขึ้นกับพระเจ้าอย่างสิ้นเชิง  นักบุญเปาโลอัครสาวกได้รู้เรื่องนี้  แต่ได้เข้าใจลึกซึ้งขึ้น  เมื่อท่านอายุมากขึ้น  ตามที่เราได้ยินในบทอ่านวันนี้  ท่านรู้ทุกอย่าง  รวมทั้งความสำเร็จของท่าน  มาจากพระเจ้า  ดังที่กล่าวว่า  “มีแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงยืนอยู่เคียงข้าง  และประทานกำลังแก่ข้าพเจ้า”

    จงคิดว่าเราสามารถรักษาชีวิตเราเอง  หรือ  เข้าสู่ชีวิตนิรันดรโดยอาศัยความพยายามของเราเอง  ต้องหลอกตนเอง  แทนที่เราต้องเผชิญความจริงว่าเราอ่อนแอตามภาษามนุษย์  เมื่อคิดได้อย่างจริงใจเช่นนี้  ก็ทำให้มีที่ว่างสำหรับพระเจ้าเข้ามาในชีวิตของเรา  นี่แหละคือ ความจริงแท้ที่จะทำให้เราเป็นอิสระ
พระสังฆราช  วีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล
จาก  Homilies  โดย Catholic  Diocese  of  Lansing,
(ตุลาคม-ธันวาคม  2016), หน้า 475-477.