บทเทศน์โดยพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์  วีระ  อาภรณ์รัตน์วันอาทิตย์สมโภชพระตรีเอกภาพ
22 พฤษภาคม 2016
บทอ่าน
    สภษ  8:22-31   ;   รม  5:1-5   ;    ยน  16:12-15
พระวรสารสัมพันธ์กับ    คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC)   91, 243-4, 485, 687, 690, 692, 729, 1117, 1287, 2466, 2615, 2691
ประมวลคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร  (CSDC)  29, 104
จุดเน้น     เราฉลองมหัศจรรย์ของพระเจ้า  พระบิดา  พระบุตร  และพระจิต


    วันนี้เราฉลองข้อความเชื่อพื้นฐานที่สุดของศาสนาคริสต์ คือ พระตรีเอกภาพ  พระเจ้าหนึ่งเดียว  มีสามพระบุคคล  ทรงเท่าเสมอกัน และ แตกต่างกัน  พระศาสนจักรตระหนักดีว่า  มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด  ถือเป็นพระธรรมล้ำลึก  แต่เราได้รับการเปิดเผยความจริง (จากพระเจ้า)

    บทอ่านต่างๆ ในวันนี้ช่วยให้เราเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างสามพระบุคคล  และก็เข้าใจความสัมพันธ์กันด้วย
    ธรรมล้ำลึกทางเทววิทยานี้มิใช่เป็นปริศนาเพื่อหาทางแก้  แต่ค่อนข้างเหมือนเรากำลังว่ายน้ำในมหาสมุทร  เราไม่อาจเข้าใจได้ทั้งหมด  แต่เรามีประสบการณ์ได้  และยอมรับได้ว่ามีพระองค์จริงๆ และพระองค์ยิ่งใหญ่

    ในพันธสัญญาเดิม  มีข้อความบางตอนอ้างอิงถึงพระตรีเอกภาพ  แต่ความหมายยังซ่อนอยู่เป็นส่วนใหญ่  จนกระทั่งพระเยซูเจ้าทรงบังเกิดเป็นมนุษย์  พระองค์ทรงเผยแสดงความจริงเรื่องสามพระบุคคลในพระตรีเอกภาพ... สมบูรณ์ยิ่งขึ้น  ดังที่พระคริสตเจ้าได้ทรงสัญญาก่อนเสด็จขึ้นสวรรค์  พระจิตเจ้าได้เสด็จมาในวันเปนเตกอสเต  เพื่อช่วยเหลือ  และเสริมกำลังพระศาสนจักรยุคแรกให้ต่องานพันธกิจการไถ่กู้ของพระเยซูเจ้า   พระจิตเจ้าได้เสด็จมาช่วยพระศาสนจักร  นำสมาชิกไปสู่ทางแห่งความจริง  พระจิตเจ้ายังทรงต่องานในพระศาสนจักร  และอาศัยพระศาสนจักร  ทรงเสริมกำลังพระศาสนจักรและสมาชิกให้สานต่องานของพระเยซูเจ้าที่มอบหมายให้พระศาสนจักรกระทำ

    ฉลองพระตรีเอกภาพเป็นงานฉลองทางการและสากลในพระศาสนจักร  ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13  โดยบรรดาพี่น้องโปรเตสแตนต์    ในพิธีกรรมวันนี้  มีบทภาวนาพิเศษถวายเกียรติแด่พระตรีเอกภาพ  แต่ทุกมิสซาก็มีข้ออ้างอิงมากมายถึงพระตรีเอกภาพ  และคำภาวนาที่แสดงถึงความศรัทธาของเรา

    บางครั้งเราอธิษฐานต่อพระตรีเอกภาพโดยมิได้ตระหนักในสิ่งที่เรากำลังทำ  เช่นเวลาทำเครื่องหมายกางเขน  เป็นการภาวนาธรรมดาๆ สำหรับเราคาทอลิก  หลายคนไม่คิดว่าเป็นการภาวนาต่อพระตรีเอกภาพ  เวลาทำเครื่องหมายไม่ได้คิดถึงคำพูดเลย  กลายเป็นแค่พิธีเท่านั้น

    ในระหว่างมิสซาวันนี้  ลองสังเกตว่าเราทำเครื่องหมายกางเขนกี่ครั้ง  จงคิดถึงคำพูด  ฟังผู้อื่นสวดด้วย  ตลอดมิสซาที่เราถวายเกียรติพระตรีเอกภาพ  แน่นอน  บทข้าพเจ้าเชื่อเป็นบทที่ชัดเจนที่สุด  เราจะพบว่าคนอื่นสวดยืนยันความเชื่อและนมัสการพระตรีเอกภาพ

    หนังสือคำสอนก็บอกเราว่า พระตรีเอกภาพทรงเป็นรูปแบบและแหล่งที่มาของเอกภาพของพระศาสนจักร  และของครอบครัวด้วย (812, 2205)  เมื่อเราไตร่ตรองสิ่งต่างๆ เหล่านี้  ให้เราอธิษฐานต่อพระตรีเอกภาพทรงนำเราให้มีเอกภาพเข้มแข็ง  มีความเคารพต่อกันแม้จะมีความแตกต่าง  ให้มองพระตรีเอกภาพเป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิต  แม้มีสามพระบุคคลก็มีเอกภาพอย่างสมบูรณ์  หนึ่งในความรัก  พระองค์ทรงปรารถนาให้เราดำเนินชีวิตในความรัก  และเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าและกับกันและกัน

พระสังฆราช  วีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล
จาก  Homilies  โดย Catholic  Diocese  of  Lansing,
(เมษายน-มิถุนายน  2016), หน้า 233-235.