“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

รำพึงพระวาจาประจำวัน โดยคุณพ่อสมเกียรติ  ตรีนิกร
วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม 2016

สัปดาห์ที่ 27 เทศกาลธรรมดา

กท 3:1-5…….
1ชาวกาลาเทียโง่เขลาเอ๋ย ใครสะกดท่านให้มึนงงไปได้ทั้ง ๆ ที่ภาพของพระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน ปรากฏอยู่ต่อหน้าท่านแล้ว 2ข้าพเจ้าอยากรู้จากท่านเพียงข้อเดียวเท่านั้นว่า ท่านได้รับพระจิตเจ้าเพราะท่านปฏิบัติตามธรรมบัญญัติหรือเพราะท่านเชื่อการประกาศข่าวดี 3ท่านโง่เขลาถึงเพียงนี้เทียวหรือ ท่านเริ่มต้นด้วยพระจิตเจ้า แต่บัดนี้ท่านจะมาจบลงด้วยการกระทำตามธรรมชาติอีก

4ประสบการณ์มากมายที่ท่านได้รับมานั้น ไร้ประโยชน์เสียแล้วหรือ 5ก็ดูเหมือนจะไร้ประโยชน์เสียแล้วจริง ๆ พระองค์ผู้ประทานพระจิตเจ้าให้ท่าน และทรงแสดงการอัศจรรย์ต่าง ๆ ในหมู่ท่านทั้งหลายทรงกระทำเช่นนั้นเพราะท่านปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ หรือเพราะท่านยอมเชื่อการประกาศข่าวดี

อรรถาธิบายและไต่ตรอง
• อ่านพระวาจาจากจดหมายนักบุญเปาโลถึงชาวกาลาเทียวันนี้... พ่อมีคำถามสำคัญมากๆว่า
o ทุกวันนี้เราอยู่ด้วยอะไร เราเจริญชีวิตด้วยกฎของอะไร กฎของธรรมชาติ หรือกฎเหนือธรรมชาติ
o โลกเรานี้หนอกระแสแรงเหลือเกิน... กระแสโลกและกระแสธรรม เราจะอยู่กันด้วยกระแสโลก กระแสของโลกจะพาเราไหลไปได้อย่างง่ายๆกระนั้นหรือ
o พ่อเคยคุยสนทนากับการพัฒนาชีวิตในกระแสโลกปัจจุบัน มีหลายคนเสนอว่า กระแสโลกทีไหลแรงเหลือเกินเหมือนกระแสน้ำเช่นนี้
o เราคริสตชนต้องพยายามเดินทวนกระแสให้ได้ ทวนกระแสของโลกเหมือนการทวนกระแสน้ำ แต่พ่อคิดว่าไม่ใช่นะ ถ้ากระแสน้ำไหลแรงๆ และเราพยายามเดินทวนกระแสไปเรื่อยๆ เมื่อเราพยายามยกขาแต่ละข้างเพื่อก้าวเดิน โอกาสที่เราจะพลาดและถูกกระแสนำพัดไปนั้นมีสูงเหลือเกิน
o แต่อันที่จริงพ่อคิดว่า แทนที่เราจะมานั่งวิ่งทวนกระแสมากๆ จะทำให้เรามีโอกาสหลุดไปกับกระแสมากกว่า
o พ่อคิดว่า ในกระแสโลกที่รุนแรงเช่นปัจจุบันในทุกรูปแบบ เราน่าจะ “ยืนหยัดให้มั่นคง” นิ่ง อยู่บนหลักการและความเชื่อที่แข็งแรงและถูกต้อง แข็งแรงที่สุด เราจึงจะมั่นคงและก็ “ทวนกระแส” โดยธรรมชาติอยู่แล้วนี่นา

• พี่น้องครับ วันนี้พ่อเขียนสั้นๆ เท่านั้นพ่อขอให้เราอ่านพระคัมภีร์วันนี้ นักบุญเปาโลเตือนชาวกาลาเทีย และเชิญเราทุกคน พ่อขออยากเชิญเราทุกคนจริงๆ ดังนี้ครับ
o อยากเห็นพวกเราคริสตชน “มั่นคง” ยืนหยัด และไม่หวั่นไหว ทวนกระแสด้วยความ “มั่นคง” ทวนกระแสด้วยการยืนหยัดในความจริง ในความถูกต้อง ในกระแสแห่งธรรมและความดี
o พ่อเชื่อว่า ชีวิตที่ยืนหยัดมั่นคงในความเป็นคริสตชน ยึดมั่นในหนทาง ความจริง และชีวิตของพระเยซูเจ้า เราจะสามารถโดดเด่นในการทวนกระแสโลกได้อย่างแน่นอน

• อ่านพระคัมภีร์วันนี้นะครับ เปาโลสอนเราให้เลือกยืนหยัดในความจริง ในความดี และในความรักของพระคริสตเจ้าที่สถิตอยู่กับเรา ขอพระเจ้าอวยพรนะครับ ถ้าเราได้รับพระจิตเจ้าในชีวิต เราต้องดำเนินชีวิตฝ่ายจิตอย่างแท้จริงครับ

• แต่เหตุผลของการเลือกยืนหยัดในความจริงและความดี... เลือกทวนกระแสน้ำ... พ่อคิดว่าจำเป็นมากๆ ที่เราจะต้องเจริญชีวิตศิษย์พระคริสตเจ้าจริงๆ

• เวลานี้พ่อกำลังยกร่างแผนอภิบาลสังฆมณฑลได้นิดหน่อย และเรืองสำคัญนี้ก็ยืนยันว่า เราต้องมีชีวิตศิษย์พระคริสต์อย่างชัดเจน พ่อขอแบ่งปันความเป็นศิษย์พระคริสต์นิดหน่อยนะครับ.. เราจะได้ยืนหยัดอย่างมีพลัง คือ พลังของพระคริสตเจ้าในชีวิตเรา... ที่เราจะได้รับพลังสำคัญที่สุดเพื่อการเป็นดำเนินชีวิตคริสตชนของเราครับ

ความจริงแท้ คือ คริสตชนแต่ละคนเป็นศิษย์พระคริสต์

• กฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ฯ ยืนยันจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดว่าคริสตชนทุกคนโดยอาศัยศีลล้างบาป ได้เป็นบุตรของพระเจ้า เป็นส่วนของพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า (เทียบ 1คร 12) เราทุกคนได้กลายเป็นพระวิหารของพระจิตเจ้า เป็นกิ่งองุ่นที่ติดกับลำต้น (เทียบ ยน 15) จึงจำเป็นที่เราทุกคนจะต้องเจริญชีวิตเติบโตและเป็นพระจักษ์พยานยืนยันถึงเป็นหนึ่งของเราแต่ละคน ครอบครอบครัว ชุมชนวัด และโดยรวมของทุกคน เราต้องเจริญชีวิตแนบแน่น เด่นชัด และเป็นรูปธรรม ในความเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าและกับเพื่อนพี่น้องทุกคน โดยมุ่งปฏิบัติตามพระวาจาพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติตามพระบัญญัติแห่งความรัก จนกระทั่งเราทุกคนเป็นผู้ประกาศข่าวดีตามพระบัญชาของพระเยซูคริสต์อย่างแท้จริงในชีวิต (เทียบ มธ 28: 19-20) เราต้องดำเนินชีวิตในบัญญัติแห่งความรักจนผู้คนรอบข้างสัมผัส เข้าใจได้ถึงความรักของพระเจ้า และตอบรับความรักของพระองค์

“ชีวิตหมู่คณะ” (communitarian life) คือเครื่องหมายที่เห็นได้ของการเป็นศิษย์พระคริสตเจ้า

• พระบัญญชา ณ อาหารค่ำสุดท้าย “พวกท่านจงรักกันและกันดังที่เรารักท่าน” (ยน 13: 34) และ “ให้ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน... เพื่อโลกจะได้เชื่อว่าพระองค์ทรงส่งข้าพเจ้ามา” (ยน 17: 21) บัญญัติแห่งความรักนี้ เป็นพระพรยิ่งใหญ่สำหรับพระศาสนจักรที่มีมิติของชีวิตหมู่คณะที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวคริสตชน ชุมชนคริสตชนย่อย (BEC) ในวิถีชุมชนวัด องค์กรคาทอลิกและองค์กรพระพรพิเศษต่างๆ ชมรมวิชาชีพ ชุมชนวัด หมู่คณะนักบวช หมู่คณะสงฆ์ และสังฆมณฑล

• ชีวิตหมู่คณะในรูปแบบต่างๆ ดังกล่าวนี้ จำเป็นต้องได้รับการถ่ายทอดลงสู่ภาคปฏิบัติเป็นชีวิตจริงด้วยประจักษ์พยานชีวิตความรักต่อกัน ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เฉกเช่นคริสตชนในยุคแรก (เทียบ กจ 2: 42-47) อันส่งผลให้มีผู้กลับใจเป็นจำนวนมาก (เทียบ กจ 4: 34) นี่เป็นเป้าหมายที่สำคัญตามกฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ฯ ของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย จำเป็นที่สมาชิกของพระศาสนจักรต้องกล้าหาญเจริญชีวิตเด่นชัดในความรัก เพื่อเติมเป็นสายน้ำแห่งชีวิตในโลกปัจจุบันที่แห้งแล้งของชีวิตฝ่ายจิต

ดังนั้น พระศาสนจักรแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ มุ่งสุดกำลังที่จะเร่งสร้าง ฟื้นฟูชีวิตศิษย์พระคริสต์ในสำนึก ในความจริง และในรูปธรรมของชีวิต ทั้งส่วนตัว ครอบครัว กลุ่ม หมู่คณะหรือชุมชน องค์กรและสถาบันต่างๆ ดังนื้

1. ให้ทุกคน ทุกครอบครัว ทุกกลุ่มชีวิต กลุ่มพระพรพิเศษต่างๆ นำสมาชิกทุกคนให้มีโอกาสได้สัมผัสชีวิตจิตแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (Spirituality of Communion, cf. Novo Millennio Ineunte ข้อ 43-45) ให้เกิดเป็นวิถีชีวิตชุมชนคริสตชนย่อยที่มีบรรยากาศของอารยธรรมแห่งความรัก ตามพระบัญชาของพระคริสตเจ้า ให้ทุกคนได้รับการฟื้นฟู มีความกระตือรือร้น เร่าร้อนในชีวิตความเชื่อ อย่างพิเศษในรูปแบบใหม่ๆที่เหมาะกับปัจจุบัน เพื่อให้ทุกคนสรรพพร้อมที่จะเสวนาชีวิตกับโลกปัจจุบัน และสามารถเข้าร่วมในพันธกิจประกาศข่าวดีได้อย่างมีประสิทธิผล
2. ให้สถาบันต่างๆ ของพระศาสนจักรในรูปแบบหมู่คณะ ชุมชน องค์กรพระพรพิเศษ ขบวนการ สมาคม ฯลฯ ต้องตระหนักรับรู้ชัดเจน และเชื่อมั่นในความจริงที่ว่า ทุกคนมีส่วนเป็นชุมชนแห่งความเชื่อ ต้องดำเนินชีวิตเป็น “ชุมชนคริสตชนย่อย” ที่มีชีวิตชีวา
3. ให้ชีวิตหมู่คณะ (community life) ที่ปรากฎอีกหลากหลายรูปแบบ ต้องมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน ดำเนินชีวิตด้วยชีวิตจิตแห่งความเป็นหนึ่งเดียว และมุ่งสู่เอกภาพแท้จริง จนกลายเป็นเอกภาพในการประกาศข่าวดี มุ่งมั่นที่สุดเพื่อ “การฟื้นฟูชีวิตศิษย์พระคริสต์ ที่เจริญชีวิตเข้มข้นเพื่อประกาศข่าวดีใหม่”

พระเยซูผู้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนและทรงกลับคืนพระชนม์ชีพ คือ การเปิดเผยความรักของพระเจ้าที่ชัดเจนที่สุด

• พระเยซูคริสต์ “ผู้ทรงถ่อมพระองค์ลงมารับสภาพดุจทาส เป็นมนุษย์ดุจเรา” (ฟป 2:7) ทรงเจริญชีวิตอย่างยากจน และอยู่เคียงข้างคนบาปและคนต่ำต้อยทุกรูปแบบในสังคมร่วมสมัยกับพระองค์ ทรงยืนยันว่า “ทรงพอพระทัยความเมตตากรุณา มากกว่าเครื่องบูชา” (เทียบ มธ. 12:17) ได้ทรงเติมเต็มธรรมบัญญัติเดิมด้วยบัญญัติใหม่แห่งความรัก “ท่านทั้งหลายจงรักกันเหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12)

• เราคริสตชนทุกคนมีความเชื่อในพระวาจาและกิจการของพระเยซูเจ้า ที่พระองค์ได้สถาปนาพระอาณาจักรพระเจ้าขึ้นในโลก เริ่มต้นจากบรรดาศิษย์และผู้ติดตาม ผู้ที่เชื่อในพระองค์ โดยอาศัยการเจริญชีวิตเป็นศิษย์ของพระองค์ เจริญชีวิตในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความรักเมตตา ที่สุด พระเยซูทรงพิสูจน์ให้เห็นว่าทรงรักเรามนุษย์ โดยได้ทรงมอบชีวิตของพระองค์ ยอมรับความตายบนไม้กางเขน เพราะ “ไม่มีความรักใดยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” (ยน 15:13) เราเชื่อมั่นในการกลับคืนพระชนม์ชีพจากความตายและเสด็จสู่สวรรค์ พระองค์โปรดให้พระจิตเจ้าเสด็จมายังพระศาสนจักรคือชุมชนแห่งความเชื่อ โดยมีความเชื่อในพระเยซู ทั้งนี้เพื่อให้ชุมชนพระศาสนจักรจะได้นำความรักและความรอดพ้นไปสู่มนุษย์ทุกคน

• ดังนั้น พระเยซูคริสตเจ้าจึงทรงเป็นต้นแบบชีวิตแห่งความรักและการอุทิศตนตามพระประสงค์ของพระบิดาอย่างสมบูรณ์ ที่มอบให้ไว้สำหรับเราคริสตชนทุกคนได้เจริญชีวิตติดตามพระองค์นอกจากนั้น พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าองค์ความรัก ที่ยังคงประทับอยู่กับพระศาสนจักรใน ปัจจุบันและเสมอไป “ที่ใดมีสองหรือสามคนรวมกันในนามของเรา เราอยู่ที่นั่นในหมู่พวกเขา” (มธ 18,20) โดยอาศัยการเป็นประจักษ์พยานด้วยชีวิตจริง และการแบ่งปันบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตอารยธรรมแห่งความรักนี้แก่กันและกันและแก่ทุกคน เป็นแรงจูงใจภายในช่วยให้คริสตชนเติบโต เข้มแข็ง ก้าวออกสู่สังคมรอบข้างเพื่อนำเสนอพระเจ้าองค์ความรักพระองค์นี้แก่ผู้อื่น

• พี่น้องที่รัก...ให้เราจุ่มตัวในความจริงของพระคริสตเจ้า เพื่อเรามีพลังดำเนินชีวิตของเรา ชีวิตหมู่คณะของเรา ด้วยพลังของพระคริสตเจ้าจากภายในของเราจริงๆ ให้เรามีพลังของพระคริสตเจ้าเป็นพลังชีวิตของเรา

 

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก