"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา จงฟังท่านเถิด ”

43. พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์(2)
- แล้วประกาศกเอลียาห์กับโมเสสแสดงตนสนทนาอยู่กับพระเยซูเจ้า การปรากฏมาของประกาศกเอลียาห์กับโมเสสเป็นการรับรองว่า ความเป็นอยู่ของพระเยซูเจ้าเปลี่ยนไปเป็นบุคคลของสวรรค์ เพราะในประวัติศาสตร์อิสราเอล บุคคลยิ่งใหญ่ทั้งสองคนนี้ตายไปแล้วหลายศตวรรษ และสายตามนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ นอกจากพระเจ้าเท่านั้นทรงบันดาลให้มองเห็นได้ การที่บุคคลเหล่านี้จากสวรรค์มาอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเยซูเจ้าและสนทนากับพระองค์ยังแสดงว่า พระเยซูเจ้าทรงอยู่ในสภาพสวรรค์ด้วยเช่นกัน

       ในพันธสัญญาเดิมเราพบข้อความเดียวที่อ้างอิงถึงประกาศกเอลียาห์กับโมเสสสนทนาอยู่ด้วยกันคือคำลงท้ายของหนังสือประกาศกมาลาคีที่ว่า “จงระลึกถึงธรรมบัญญัติของโมเสสผู้รับใช้ของเรา จงระลึกถึงข้อกำหนดและคำวินิจฉัยที่เราได้สั่งเขาบนภูเขาโฮเรบสำหรับอิสราเอลทั้งหมด ดูซิ เราจะส่งประกาศกเอลียาห์มาหาท่าน ก่อนที่วันยิ่งใหญ่และน่าสะพรึงกลัวของพระยาห์เวห์จะมาถึง เขาจะทำให้ใจของพ่อกลับมาหาลูก และใจของลูกกลับไปหาพ่อ เพื่อเราจะไม่ต้องมาทำลายล้างแผ่นดิน” (มลค 3:22-24)

       ข้อความนี้ชวนให้ระลึกถึงโมเสสในฐานะคนกลางระหว่างพระเจ้ากับประชากร เพราะเป็นผู้ถ่ายทอดธรรมบัญญัติและพระประสงค์ของพระเจ้าแก่เขาทั้งหลาย ส่วนเอลียาห์เป็นประกาศกยิ่งใหญ่ซึ่งได้รับมอบหมายจากพระเจ้าให้นำประชากรที่ไม่ซื่อสัตย์กลับมาปฏิบัติตามพันธสัญญา แล้วเขาก็ถูกยกขึ้นไปสวรรค์ ชาวยิวจึงคิดว่าประกาศกเอลียาห์จะต้องกลับมาอีกครั้งหนึ่งในยุคสุดท้าย เพื่อเตรียมประชากรให้ต้อนรับการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ การสนทนาระหว่างพระเยซูเจ้ากับอัครสาวกทั้งสามคนขณะที่เสด็จลงมาจากภูเขาแสดงถึงการรอคอยนี้ (9:10-13)

      ในพระคัมภีร์ โมเสสและประกาศกเอลียาห์เท่านั้นเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับภูเขาซีนายหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าภูเขาโฮเรบ ขณะที่โมเสสเดินทางไปสู่แผ่นดินแห่งพระสัญญา เขาได้รับธรรมบัญญัติจากพระเจ้าสำหรับประชากรและทำพันธสัญญากับพระองค์ในภูเขานี้ (เทียบ อพย 19-40) เมื่อประกาศกเอลียาห์สิ้นหวังเพราะคำขู่ของพระนางเยเซเบล เขาก็หนีไปยังบนภูเขานี้ พระเจ้าทรงสำแดงองค์และทรงให้กำลังใจแก่เขาเพื่อปฏิบัติภารกิจใหม่ที่นั่น (เทียบ 1 พกษ 19:1-18) ดังนั้น บุคคลทั้งสองคนนี้จึงเป็นผู้แทนของธรรมบัญญัติและบรรดาประกาศก ซึ่งหมายถึงความเอาพระทัยใส่ของพระเจ้าต่อประชากรของพระองค์ตลอดประวัติศาสตร์ การที่บุคคลยิ่งใหญ่นี้ซึ่งเป็นผู้แทนพันธสัญญาเดิมมาปรากฏเพื่อสนทนากับพระเยซูเจ้าก็ต้องการเน้นความยิ่งใหญ่ของพระองค์ เพราะเวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว การกระทำของพระเจ้าต่ออิสราเอลจะสมบูรณ์ในพระเยซูเจ้า

- เปโตรจึงทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระอาจารย์เจ้าข้า ที่นี่สบายน่าอยู่จริง การที่นักบุญเปโตรเป็นคนพูดแทนทุกคนก็สอดคล้องกับอุปนิสัยของเขา (เทียบ 1:37; 8:30, 32; 10:28) เขาแสดงความสุขที่ได้รับพระพรสามารถมองเห็นภาพนิมิตรุ่งโรจน์น่าประหลาดใจเช่นนี้

- เราจงสร้างเพิงขึ้นสามหลังเถิด หลังหนึ่งสำหรับพระองค์ หลังหนึ่งสำหรับโมเสส อีกหลังหนึ่งสำหรับ- ประกาศกเอลียาห์” เราไม่เข้าใจว่าเหตุใดนักบุญเปโตรต้องการสร้างกระโจม 3 หลัง บางคนคิดว่านักบุญเปโตรกำลังอ้างถึงเทศกาลอยู่เพิง (เทียบ ฉธบ 16:13; ลนต 23:34-36) ถ้าเป็นเช่นนี้จริงก็จะอธิบายวลีที่ว่า “ต่อมาอีกหกวัน” (9:2) เพราะชาวยิวฉลองเทศกาลอยู่เพิงเป็นเวลาหกวันหลังจาก “วันชดเชยบาป” (Yom Kippur) (เทียบ ลนต 23:26-32)

- เขาไม่รู้ว่ากำลังพูดอะไร สำหรับนักบุญมาระโกแล้ว คำเสนอของนักบุญเปโตรไร้ความหมาย เพราะจะสร้างกระโจมสำหรับบุคคลของสวรรค์ได้อย่างไร ยิ่งกว่านั้น ไม่เหมาะสมที่จะเทียบเท่าพระเยซูเจ้ากับโมเสสและประกาศกเอลียาห์อีกด้วย เพราะพระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้า ดังที่พระบิดาจะทรงเปิดเผยต่อไป

- เพราะศิษย์ทั้งสามคนต่างตกใจกลัว เมื่อมนุษย์ประสบเหตุการณ์พิเศษเหนือธรรมชาติอย่างกะทันหัน ปฏิกิริยาของเขาคือความกลัว (เทียบ 4:41; 5:15, 33; 6:50; 16:8) ซึ่งทำให้เขาวุ่นวายใจ ขัดขวางมิให้ใช้เหตุผลในการตัดสินใจอย่างสงบ และบางครั้งไม่กล้าพูดกับใครด้วยซ้ำ