“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“ท่านเห็นอะไรไหม ”

41. พระเยซูเจ้าทรงทำนายครั้งแรกถึงพระทรมาน(มก 8:31-33)

         831พระเยซูเจ้าทรงเริ่มสอนบรรดาศิษย์ว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับการทรมานอย่างมากจะถูกบรรดาผู้อาวุโสมหาสมณะและธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับและจะถูกประหารชีวิตแต่สามวันต่อมาจะกลับคืนชีพ” 32พระองค์ทรงประกาศพระวาจานี้อย่างเปิดเผยเปโตรนำพระองค์แยกออกไปทูลทัดทาน33แต่พระเยซูเจ้าทรงหันไปทอดพระเนตรบรรดาศิษย์ทรงตำหนิเปโตรว่า “เจ้าซาตานถอยไปข้างหลังเราอย่าขัดขวางเจ้าไม่คิดอย่างพระเจ้าแต่คิดอย่างมนุษย์”


a)    อธิบายความหมาย
           ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์มักจะแบ่งพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโกออกเป็น 2 ภาคใหญ่ ๆ  ต่อจากอารัมภบท(1:1-13)ภาคแรก(1:14-8:29) บันทึกพระวาจาและกิจการของพระเยซูเจ้าในการปฏิบัติศาสนบริการ โดยมีคำถามแฝงอยู่ตลอดเวลาว่า “พระองค์เป็นพระเมสสิยาห์ได้หรือไม่” ในที่สุด นักบุญเปโตรในนามของบรรดาศิษย์แก้ปัญหานี้โดยประกาศยืนยันว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า” (8:29) ส่วนภาคที่สอง (8:30-15:47) เริ่มต้นเมื่อพระเยซูเจ้าทรงกำชับบรรดาศิษย์มิให้กล่าวเรื่องพระเมสสิยาห์แก่ผู้ใด (8:31) และขณะที่ทรงพระดำเนินไปสู่กรุงเยรูซาเล็ม ทรงทำนายครั้งแรกถึงพระทรมานที่จะทรงได้รับ (8:31-10:52)

           ดูเหมือนว่าคำยืนยันของนักบุญเปโตรและคำทำนายของพระเยซูเจ้าถึงพระทรมานเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างกันและธรรมประเพณีของพระศาสนจักรถ่ายทอดแยกจากกันแต่นักบุญมาระโกได้บันทึกอย่างต่อเนื่องด้วยความเฉลียวฉลาดเพื่อผู้อ่านจะได้เข้าใจว่า ทัศนคติของพระเยซูเจ้าเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับความหวังของชาวยิวทั่วไปในเรื่องความรุ่งเรืองที่พระเมสสิยาห์จะนำมาสู่ชนชาติของตน  เมื่อบรรดาศิษย์ได้รับคำสั่งสอนจากพระวาจาเหล่านี้ เขาจะมีความคิดผิด ๆ เกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ไม่ได้อีกต่อไป แม้จะต้องประสบความยากลำบากจนถึงที่สุด เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติของตนและยอมรับว่า พระเมสสิยาห์จะทรงต้องรับทรมานและจะทรงถูกทุกคนปฏิเสธไม่ยอมรับ

- พระเยซูเจ้าทรงเริ่มสอนบรรดาศิษย์ว่า ตลอดการเดินทางไปสู่กรุงเยรูซาเล็ม (8:31-10:52)พระเยซูเจ้าทรงสั่งสอนบรรดาศิษย์เป็นการส่วนตัวตรัสสามครั้งถึงการรับทรมานในอนาคต (8:31; 9:31; 10:32-34) แต่ละคำทำนายมีโครสร้างเดียวกันที่อ้างถึงประสบการณ์สี่เรื่องซึ่งเป็นชะตากรรมของบุตรแห่งมนุษย์ คือรับการทรมานอย่างมากถูกปฏิเสธไม่ยอมรับ ถูกประหารชีวิตและกลับคืนชีพ

-“บุตรแห่งมนุษย์ คำว่า “บุตรแห่งมนุษย์” เป็นสำนวนภาษาเซมิติกที่พระเยซูเจ้าทรงใช้หมายถึงพระองค์เองมีลักษณะค่อนข้างลึกลับ เพราะในแง่หนึ่งชวนให้คิดถึงธรรมชาติมนุษย์ของพระเยซูเจ้าดังที่เราพบบ่อย ๆ ในหนังสือของประกาศกเอเสเคียล แต่อีกแง่หนึ่งรวมถึงความยิ่งใหญ่และศักดิ์ศรีของพระองค์ดังที่เราพบในหนังสือของประกาศกดาเนียล(เทียบดนล7:13-14)พระเยซูเจ้าทรงใช้คำนี้ในบริบทสามแห่งคือ เมื่อตรัสถึงอำนาจของพระองค์เหนือบาปและวันสับบาโต (เทียบ 2:10,28) ทรงทำนายพระทรมาน (8:31; 9:31; 10:32-34) และการเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระองค์ (8:38; 13:26) การที่พระเยซูเจ้าทรงใช้คำนี้ทำให้พระวาจาของพระองค์สง่างามและเป็นวัตถุวิสัยมากยิ่งขึ้น เพราะไม่เป็นเพียงความคิดเห็นเชิงอัตวิสัยที่อาจถกเถียงกันได้เกี่ยวกับพระองค์เอง

- จะต้องรับการทรมานอย่างมาก ต่างจากนักบุญมัทธิวและนักบุญลูกา นักบุญมาระโกบอกเราเพียงในข้อนี้ว่า พระเยซูเจ้าทรงจำเป็นต้องได้รับการทรมานอย่างมากเพื่อจะเป็นไปตามข้อความในพระคัมภีร์ พระองค์ทรงยืนยันว่าจะไม่ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามแผนการที่พระบิดาทรงกำหนดเกี่ยวกับพระองค์ และทรงเปิดเผยทางบรรดาประกาศก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบทเพลงของ “ผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์” (เทียบ อสย53) พระประสงค์ของพระองค์ผูกพันอยู่เสมอกับพระประสงค์ของพระบิดาเจ้า (เทียบ ลก2:49) และพระองค์พอพระทัยที่จะปฏิบัติตามพระประสงค์นี้เพราะทรงทราบว่า หนทางไปสู่พระสิริรุ่งโรจน์ก็ต้องผ่านทางไม้กางเขนและการรับทรมาน (เทียบ ฟป2:5-11)

-จะถูกบรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ บุคคลสามกลุ่มดังกล่าวนี้เป็นสมาชิกของสภาซันเฮดริน ซึ่งเป็นศาลสูงสุดของชาวยิวทั้งในด้านศาสนาและด้านบ้านเมือง มหาสมณะทำหน้าที่เป็นประธาน และมีสมาชิกจำนวน 70 คน ประกอบไปด้วยผู้อาวุโส หมายถึงฆราวาสผู้แทนหัวหน้าตระกูลหัวหน้าสมณะและธรรมาจารย์คือผู้เชี่ยวชาญในการตีความหมายธรรมบัญญัติของชาวยิว การทำนายครั้งแรกของพระเยซูเจ้าถึงพระทรมานเน้นความคิดที่พระองค์จะทรง “ถูกปฏิเสธไม่ยอมรับ” ซึ่งเป็นสำนวนค่อนข้างรุนแรงมีความหมายมากกว่าเพียงถูกตัดสินลงโทษในศาล บุตรแห่งมนุษย์จะได้รับการเยาะเย้ยและเหยียดหยาม(9:12) ยิ่งกว่านั้น สำนวนนี้คงจะแฝงไปด้วยข้อความจากพระคัมภีร์ที่พระศาสนจักรสมัยแรกเริ่มเคยอ้างบ่อย ๆ ว่า “ศิลาที่ช่างก่อสร้างทิ้งไป กลายเป็นศิลาหัวมุม พระยาห์เวห์ทรงกระทำการนี้ เป็นสิ่งมหัศจรรย์แก่ตาของเรา” (สดด118:22-23) นักบุญมาระโกอ้างข้อความนี้เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเล่าอุปมาเรื่องคนเช่าสวนชั่วร้าย (เทียบ 12:10-11)

-และจะถูกประหารชีวิต อุปมาเรื่องคนเช่าสวนชั่วร้ายอ้างถึงการถูกประหารชีวิตของพระเยซูเจ้าอย่างชัดเจน ดังนั้น พระศาสนจักรสมัยแรก ๆ เข้าใจว่าหัวหน้าชาวยิวได้ปฏิเสธไม่ยอมรับผู้แทนคนสุดท้ายที่พระเจ้าทรงส่งมาคือบุตรแห่งมนุษย์ และประหารชีวิตพระองค์ แต่พระเจ้าทรงรับรองพระองค์และทรงทำให้เป็นพื้นฐานของความรอดพ้น

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก