“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“จงระวังอย่าให้ใครหลอกลวงท่านได้”

68. ความทุกข์จะเริ่มขึ้น ความทุกขเวทนาอย่างใหญ่หลวงของกรุงเยรูซาเล็ม (3)
- ถ้าองค์พระผู้เป็นเจ้ามิได้ทรงให้วันเหล่านั้นสั้นลงแล้ว มนุษย์ทุกคนก็จะพินาศ แต่พระองค์ทรงให้วันเหล่านั้นสั้นลงเพราะทรงเห็นแก่ผู้ที่พระองค์ทรงเลือกสรรไว้ วันแห่งความทุกขเวทนาในวาระสุดท้ายจะสั้นลง เพราะเห็นแก่ผู้กระจัดกระจายทั่วโลกที่ยอมรับข่าวดีเรื่องพระคริสตเจ้าและซื่อสัตย์อย่างมั่นคง คนเหล่านี้ได้รับพระพรจากพระเจ้าผู้ทรงเรียกและเลือกสรรเขาให้มีความเชื่อ ในพันธสัญญาเดิม “ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรรไว้” หมายถึงสมาชิกที่เป็นประชากรของพระเจ้า

ซึ่งได้ชื่อว่า “ประชากรที่ทรงเลือกสรร” (เทียบ สดด 105:43; 106:5; อสย 43:20; 65:9, 15, 23) ในพันธสัญญาใหม่หมายถึงผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้าซึ่งตอบสนองกระแสเรียกจากพระเจ้า (เทียบ รม 8:33; 16:13; คส 3:12; 2 ทธ 2:18; ฯลฯ) ข้อความทั้งหมดนี้ต้องการสรรเสริญพระปรีชาญาณอันหาขอบเขตมิได้ของพระเจ้า ผู้ทรงจัดเตรียมตั้งแต่นิรันดรภาพให้ความทุกขเวทนายิ่งใหญ่จะต้องคงอยู่ไม่นานเกินไป เพราะเห็นแก่ผู้ที่ทรงเลือกสรรไว้

- “เวลานั้น ถ้าผู้ใดบอกท่านว่า ‘พระคริสต์อยู่ที่นี่’ หรือ ‘พระคริสต์อยู่ที่นั่น’ จงอย่าเชื่อ พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นและทรงรู้ความจริง แต่มีหลายคนที่พูดว่า “ฉันจะช่วยท่านให้รอดพ้น ฉันมีความจริงและคนเหล่านี้จะทำเครื่องหมายอัศจรรย์โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พระเยซูเจ้าทรงทำนายเหตุการณ์เหล่านี้ จึงทรงตักเตือนเราว่า “จงอย่าเชื่อเขาเลย”

- เพราะจะมีพระคริสต์เทียมและประกาศกเทียมหลายคนเกิดขึ้น จะทำเครื่องหมายอัศจรรย์และปาฏิหาริย์ นี่เป็นการอ้างถึงคนบ้าคลั่งและผู้หลอกลวงจำนวนมากที่ปรากฏตัวในช่วงเวลาก่อนกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลาย คนเหล่านี้ปลุกระดมความรู้สึกอ่อนไหวของประชาชนเพื่อหวังผลประโยชน์ของตนเอง (เทียบ ฉธบ 13:2-4; ยรม 14:15; 23:25-28; กจ 5:36-37; 2 ธส 2:9-10; วว 13:13-14)

- ถ้าเป็นไปได้จะหลอกลวงผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรรไว้ ประโยคนี้เช่นเดียวกับข้อความอื่น ๆ ในพระคัมภีร์ต้องการเน้นความยิ่งใหญ่ของเครื่องหมายอัศจรรย์ที่พระคริสต์เทียมและประกาศกเทียมจะกระทำ (เทียบ 2 ธส 2:9-12; วว 13:13; 19:20) แต่ในเวลาเดียวกัน ยังต้องการแจ้งให้ทราบว่า ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรรจะได้เชื่อฟังคำตักเตือนของพระเยซูเจ้าและของบรรดาอัครสาวก และจะรู้จักปกป้องตนให้พ้นจากเสน่ห์และการหลอกลวงของบุคคลเหล่านั้น

- ท่านทั้งหลายจงระวังให้ดี เราได้กล่าวถึงเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ให้ฟังไว้ก่อนแล้ว พระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนบรรดาศิษย์อยู่เสมอว่า ให้มอบความไว้วางใจในพระเจ้าผู้ทรงพระทัยดี

b) ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
         1. เรามักจะถามกันว่าโลกจะสิ้นสุดอย่างไร โดยปกติ เราคาดคะเนเหตุการณ์ในแง่ลบ มองความเลวร้ายในปัจจุบันและคาดการณ์ว่าในอนาคตจะยิ่งร้ายกว่านี้คือ ความชั่วร้ายที่เราเห็นจะคงอยู่ตลอดไป แต่ในคำปราศรัยนี้พระเยซูเจ้าตรัสถึงอนาคตด้วยความชื่นชมยินดี เพราะอนาคตเป็นการมาถึงของพระอาณาจักรพระเจ้า ชีวิตมนุษยชาติไม่ใช่การมุ่งไปสู่ความล้มเหลว การสิ้นสุดของชีวิต การสิ้นสุดของทุกสิ่งที่ดี แต่เป็นการมุ่งไปสู่จุดมุ่งหมายของทุกสิ่งที่ดี คือความสมบูรณ์ของทุกสิ่งที่ดีและการสิ้นสุดของความชั่วร้ายทั้งสิ้น

         2. มนุษย์ตระหนักถึงขอบเขตจำกัดของตน โดยปกติแล้ว เขากลัวขอบเขตจำกัดอย่างมาก เพราะคิดว่าจะไม่มีอะไรเกินเลยขอบเขตนั้น แต่โดยแท้จริงแล้ว ในขอบเขตจำกัดของตน เรามีความสนิทสัมพันธ์กับผู้อื่น เฉพาะอย่างยิ่ง ความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า ดังนั้น การรู้ว่าขอบเขตจำกัดในชีวิตของตนไม่เป็นจุดจบของทุกสิ่ง แต่เป็นความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าก็เปลี่ยนแปลงทัศนคติของชีวิต คืออนาคตนี้ที่มีความสนิทสัมพันธ์อย่างเต็มเปี่ยมด้วยความยินดี ให้ความหมายพิเศษแก่ปัจจุบัน ทำให้ปัจจุบันเป็นการเดินทางด้วยความหวัง อีกทั้งยังเป็นพยานถึงความไว้วางใจในชีวิตหน้าด้วย

          3. บรรดาศิษย์ถามพระเยซูเจ้าว่า การสิ้นพิภพจะมาถึงเมื่อไร และจะมีเครื่องหมายใดแสดงล่วงหน้าว่าการสิ้นพิภพกำลังจะมาถึง เพื่อจะได้เตรียมพร้อม พระเยซูเจ้าทรงบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุก ๆ วัน เพื่อเข้าใจความหมายถาวรของเหตุการณ์เหล่านี้ โดยไม่ต้องรอคอยเหตุการณ์อนาคต ความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตปัจจุบันมีความหมายใด ถ้าเราติดใจกับสิ่งต่าง ๆ ที่มีในปัจจุบันและสิ่งเหล่านี้จะล้มเหลว เช่น บ้านที่เราอาศัยอยู่พังทลาย หรือสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวเสียชีวิต ดูเหมือนว่า การสิ้นพิภพมาถึงเราแล้ว แต่พระเยซูเจ้าทรงช่วยเราให้พ้นจากความทุกข์นี้

          4. คำตักเตือนแรกของพระเยซูเจ้าคือ อย่าให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลอกลวงเรา เราอาจถูกหลอกลวงได้ง่าย เพราะถ้าคนใดคนหนึ่งบอกเราว่า “พรุ่งนี้จะสิ้นพิภพ ฉันสัญญาว่าจะช่วยท่านให้รอดพ้น” หรืออีกคนหนึ่งพูดว่า “ท่านมีโรคร้ายแรงจะต้องตายภายในสองสัปดาห์ แต่ฉันมียาที่รักษาท่านให้หาย” หรือพูดว่า “ท่านไม่สบาย จงมาหาฉันสิและภายในหนึ่งเดือน ฉันจะแก้ปัญหาทั้งหมดของท่าน” เราก็จะยอมทันที เพราะที่ใดมีความชั่วร้าย เราก็พยายามหาวิธีหลีกหนี จึงถูกหลอกลวงได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ปัญหาไม่ได้อยู่ในการหาวิธีหลีกเลี่ยงความชั่วร้าย แต่อยู่ในการดำเนินชีวิตโดยยอมรับความชั่วร้ายนั้นอย่างถูกต้อง ถ้าผู้ใดสัญญาว่าจะช่วยเราให้พ้นจากความตาย ผู้นั้นต้องการหลอกลวงเรา เพราะเราแน่ใจว่าสักวันหนึ่งก็ต้องตาย ถ้าผู้ใดสัญญาว่าเราจะกลายเป็นอัจฉริยะ ผู้นั้นต้องการหลอกลวงเรา เพราะเราเป็นดังที่เป็นโดยมีข้อจำกัด ดังนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าเราต้องพ้นข้อจำกัด พ้นจากความชั่วร้าย ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ตาย ถ้าเป็นไปได้ที่เราพ้นสิ่งเหล่านี้ก็ดี แต่สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีผู้ใดเป็นความรอดพ้นของเรา ไม่มีผู้ใดที่ช่วยเราให้พ้นจากความตาย ความชั่วร้าย และจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่แพทย์รักษาเท่าที่ทำได้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่เราจะช่วยเหลือและหาวิธีรักษา แต่การพ้นจากความชั่วร้ายอยู่ในการที่เรายอมรับอย่างดีคือ ยอมรับว่าเราเป็นสิ่งสร้างที่มีขอบเขตจำกัด สภาพเช่นนี้เป็นโอกาสให้เรามีความรักและแสดงความต้องการต่อผู้อื่น เราเป็นบุตรบุญธรรมของพระเจ้า

          5. คริสตชนยอมรับความชั่วร้ายเช่นเดียวกับพระเยซูเจ้าผู้ทรงถูกมอบแก่สภาซันเฮดริน ทรงถูกโบยตี ทรงปรากฏต่อหน้าผู้ว่าราชการและกษัตริย์คือปิลาตและกษัตริย์เฮโรด และทรงเป็นพยานถึงความรักยิ่งใหญ่ของพระเจ้าต่อมนุษย์ทุกคน ในโลกที่ทำลายสิ่งดีงาม คริสตชนรับทรมานไม่มากหรือน้อยกว่าคนอื่น ๆ แต่มีจิตตารมณ์เฉพาะเจาะจง เขาไม่ทำความชั่วร้ายและเป็นพยานถึงความรักในโลกที่มีความชั่วร้าย นี่เป็นประจักษ์พยานถึงพระนามของพระเยซูเจ้า เพราะเห็นแก่พระองค์และเพื่อมนุษย์ทุกคน ดังนั้น เราจะเป็นพยานถึงวิธีดำเนินชีวิตในโลกนี้ที่ยอมรับความขัดแย้ง การมีศัตรู การต่อสู้ ความเกลียดชัง การแตกแยก เพื่อพยานถึงความรัก มิตรภาพ ความสมานฉันท์ การให้อภัยและความหมายของชีวิต นี่คือความหมายสุดท้ายของชีวิต เป็นการพิพากษาของพระเจ้าที่เป็นความจริงแล้วในปัจจุบัน พระองค์ทรงพิพากษาเราในเรื่องความรัก การให้อภัย ความเมตตาและความสมานฉันท์ เราต้องอดทนต่อความชั่วร้ายส่วนตัว และสามารถเป็นพยานว่าความชั่วร้ายใด ๆ ในที่สุดก็เป็นความดีสำหรับเรา ดังที่ พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพ

          6. พระเยซูเจ้าทรงสอนเราว่า ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับสงคราม แผ่นดินไหว ความอดอยาก ความเกลียดชัง การถูกโบยตี แต่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงความชั่วร้ายยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ “ผู้ทำลายที่น่ารังเกียจยืนอยู่ในที่ไม่สมควร” คือการนำรูปเคารพเข้ามาทดแทนพระเจ้า หมายถึงนำสิ่งสร้างที่ไม่สมบูรณ์มาเป็นพระเจ้าของตน คือเมื่อทรัพย์สินเงินทอง สุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดีและความสำเร็จกลายเป็นสิ่งสมบูรณ์จนกระทั่งเรายอมสละชีวิต เราแต่ละคนมีรูปเคารพที่ทดแทนพระเจ้าในชีวิต รูปเคารพนี้ทำลายเรา ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องไม่ประนีประนอม

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก