“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

รำพึงพระวาจาประจำวัน โดยคุณพ่อสมเกียรติ  ตรีนิกร
วันอังคารที่ 11 ตุลาคม 2016

สัปดาห์ที่ 28 เทศกาลธรรมดา

กท 5:1-6…………….
1พระคริสตเจ้าทรงปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระแล้ว ฉะนั้น จงยืนหยัดมั่นคง และอย่าเข้าเทียมแอกเป็นทาสอีกเลย
2จงฟังเถิด ข้าพเจ้า เปาโลขอบอกท่านทั้งหลายว่า ถ้าท่านเข้าสุหนัต พระคริสตเจ้าก็จะไม่มีประโยชน์อะไรกับท่าน 3ข้าพเจ้าขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งกับทุกคนที่เข้าสุหนัตว่า จำเป็นต้องปฏิบัติตามธรรมบัญญัติทุกข้อด้วย

4ท่านที่คิดว่าเป็นผู้ชอบธรรมอาศัยธรรมบัญญัติ ก็แยกตัวออกไปจากพระคริสตเจ้าและขาดจากพระหรรษทาน 5ส่วนเรานั้น พระจิตเจ้าทรงนำเราให้รอคอยความชอบธรรมที่หวังจะได้รับจากความเชื่อ 6เพราะในพระคริสตเยซูนั้น การเข้าสุหนัตหรือไม่เข้าสุหนัตนั้นไม่สำคัญ เรื่องที่สำคัญก็คือมีความเชื่อที่แสดงออกเป็นการกระทำอาศัยความรัก

อรรถธิบายและไตร่ตรอง

• ถ้าเราอยากเข้าใจเรื่อง “แอก” ที่เปาโลกล่าวถึงจริงๆ เราคงต้องอ่านหนังสือกิจการอัครสาวกบทที่ 15 เมื่อเปาโลและบาร์นาบัสได้พบปัญหาเรื่อการกลับใจของชาวต่างชาติมาเป็นคริสตชนพวเขาจะต้องถือธรรมเนียมของชาวยิวหรือไม่ และธรรมเนียมของชาวยิวข้อที่สุดยอดข้อหนึ่งคือ “การเข้าสุหนัต” เพราะเป็นพระบัญชาที่พระเจ้าทรงสั่งอย่างหนักแน่นแก่อับราฮัมให้ลูกหลานอิสราเอลทุกคนที่เป็นชายต้องเข้าสุหนัต เพราะเป็น “เครื่องหมายของพันธสัญญา”

• และเรื่องนี้เป็นเรื่องหนักแน่นๆมาก (ปฐมกาลบที่ 17) ตอนแรกนี้พ่อขอยกตัวบทพระคัมภีร์สองตอนดังกล่าวมาโดยสรุปให้อ่านหน่อยหนึ่งก่อนนะครับ
o (ปฐก 17: 9-14) พระเจ้าตรัสกับอับราฮัมว่า “ท่านและลูกหลานของท่านที่จะตามมาทุกรุ่นจะต้องรักษาพันธสัญญาของเราไว้ 10นี่คือพันธสัญญาของเรา ซึ่งท่านจะต้องรักษาไว้คือพันธสัญญากับท่านและกับลูกหลานของท่านที่จะตามมาภายหลัง ผู้ชายทุกคนจะต้องเข้าสุหนัต คือกรีดหนังหุ้มปลายองคชาติ เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งพันธสัญญาระหว่างเรากับท่าน เมื่อมีอายุแปดวัน เด็กชายทุกคน ทุกรุ่น รวมทั้งลูกทาสที่เกิดในบ้าน และทาสที่ซื้อมาจากคนต่างด้าวที่ไม่ใช่เชื้อสายของท่าน จะต้องเข้าสุหนัต ทุกคนต้องเข้าสุหนัตไม่ว่าจะเกิดในบ้านหรือซื้อมา ดังนั้น พันธสัญญาของเราจะมีเครื่องหมายติดกายของท่าน เป็นพันธสัญญาที่คงอยู่ตลอดไป ผู้ชายที่ไม่ได้เข้าสุหนัต...จะถูกตัดออกจากชนชาติของตน เพราะเขาได้ละเมิดพันธสัญญาของเรา”

o (กจ 15:1-10 สรุปย่อ...) คริสตชนชาวยิวบางคนลงมาจากแคว้นยูเดีย และสอนบรรดาพี่น้องว่า “ถ้าท่านทั้งหลายมิได้เข้าสุหนัตตามธรรมประเพณีของโมเสส ท่านจะรอดพ้นไม่ได้” เปาโลและบารนาบัสไม่เห็นด้วย จึงโต้แย้งกับเขาเหล่านั้นอย่างรุนแรง มีการตกลงกัน ให้เปาโลและบารนาบัสพร้อมกับพี่น้องบางคนขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อปรึกษาปัญหานี้กับบรรดาอัครสาวก และบรรดาผู้อาวุโส....ผู้มีความเชื่อบางคนที่เคยอยู่ในกลุ่มชาวฟาริสีลุกขึ้นกล่าวว่า “ต้องให้คนต่างศาสนาเข้าสุหนัต และปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของโมเสส” บรรดาอัครสาวกและผู้อาวุโสจึงประชุมกันเพื่อพิจารณาปัญหานี้ หลังจากโต้เถียงกันมากแล้ว เปโตรลุกขึ้นกล่าวแก่ที่ประชุม.... ยากอบจึงสรุปว่า ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าไม่ควรก่อความยุ่งยาก (อย่าเอาแอกเรื่องการเข้าสุหนัตไปใส่ให้คนต่างศาสนา) แก่คนต่างศาสนาที่กลับใจมาหาพระเจ้า

• นี่คือพระคัมภีร์สองตอนที่พ่อยกมาเพื่อให้เห็นว่า

o ธรรมเนียมของชาวยิวตอนนี้สำคัญจริงๆ แต่ “สำคัญสำหรับยิวไม่ใช่คนต่างชาติ” อย่าเอามาปนให้คนนต่างชาติต้องพลอยรับภาระหรือแอกนี้ไปด้วย
o เพราะการเป็นคริสตชนนั้นไม่ได้เป็นการเข้าเทียมแอกของธรรมเนียมของชาวยิว คนต่างศาสนาไม่ใช่ชาวยิว ถ้าเขาจะมาเป็นคริสตชนก็ไม่ต้องเข้าสุหนัต ปฏิบัติตัวตามแบบยิว ไม้ต้องเข้าสุหนัต และไม่ต้องถือธรรมเนียมยิวอีกมากมายหลายร้อยข้อซึ่งชาวยิวถือว่าสำคัญเหลือเกิน... เพราะเป็น “ธรรมเนียม ธรรมเนียม ธรรมเนียม” ขอเน้นสามครั้งเพราะชาวยิวถือว่าสำคัญมากๆๆๆ
o ส่วนเปาโลเองแม้ท่านเป็นยิว แต่ท่านพบธรรมเนียมใหม่ในพระคริสตเจ้าจริงๆ
o ไม่ใช่ธรรมเนียมเดิมที่เรียกว่า “แอกหรือภาระ” และท่านนักบุญเปาโลได้เน้นหนักมากในการสอนของท่าน และถ้าเราอ่านคำสอนของคริสตชนที่มาจากเปาโลแล้ว
o เราจะพบว่ามีสิ่งใหม่ “ไม่ใช่แอก” แต่เป็น “ความเชื่อ ความรักและความหวังในพระคริสตเยซู” เท่านั้น เปาโลย้ำว่า “เพราะในพระคริสตเยซูนั้น การเข้าสุหนัตหรือไม่เข้าสุหนัตนั้นไม่สำคัญ เรื่องที่สำคัญก็คือมีความเชื่อที่แสดงออกเป็นการกระทำอาศัยความรัก”

• พี่น้องที่รักครับ พ่อเชื่อว่าการเป็นคริสตชนนั้น บางทีเราก็มีเรื่องของธรรมเนียมปฏิบัติมากมายในบางเรื่องเช่นกัน และบางทีเราก็เคร่งครัด งัดข้อ และไม่ยอมลดข้อต่อกันเหมือนกัน

• บางทีธรรมเนียมบางอย่าง “ภายนอก” ก็ก่อให้เกิดความแตกแยกในความคิดและการกระทำเหมือนกัน.... ต้องยกตัวอย่างไหมเอ่ย... เอาสักหน่อย...
o บางคนคิดว่าเพลงศักดิ์สิทธิ์ต้องภาษาลาตินเท่านั้น... บางคนเคยบอกพ่อด้วยซ้ำว่าต้องลาตินเพราะในสวรรค์ใช้แต่ภาษาลาติน (งงงงงง รู้ได้อย่างไรหนอ)
o เวลาสวดต้อง “วันทามารีอา...ห้ามวันทามารีย์...” บางทีสวดด้วยกันก็ยังแย่งชิงกันออกเสียงข่มกันอยู่..
o การแก้บาปต้องมีแผงกันหรือไม่มีแผงกั้น...
o ฟังบทอ่านต้องพนมมือหรือนั่งสงบๆ หลายๆ แห่งก็ยังไม่ปฏิบัติให้เหมือนกันบางท่านก็เคืองๆ โกรธๆ (แม้ในพิธีกรรมแห่งความรัก...ยังเคือง)
o พอแล้วมันเยอะน่ะครับ แต่ที่พ่อดีใจมากและขอบคุณนักบุญเปาโลสุดชีวิตก็คือ เป็นคริสตชนไม่ต้องเข้าสุหนัตนี่แหละครับ

• สุดท้ายครับ อะไรคือ “วัฒนธรรมหรือธรรมเนียม” เคร่งครัดที่สุดของเราคริสตชนหนอ... คำตอบครับ... “วัฒนธรรมแห่งความรัก” (Civilization of LOVE) ครับ

• สิ่งที่ต้องติดกายของเรา ติดชีวิตของเราเหมือนกันเข้าสุหนัต และยิ่งกว่าเข้าสุหนัตคือหายไปจากเราไม่ได้เลย คือ “ความรัก”
o ชีวิตคริสตชนไม่รักไม่ได้... ชัดขึ้น “เกลียดกัน ชังกัน โกรธและไม่ให้อภัยกัน” ไม่ได้นะ
o ขอให้เราได้มีวัฒนธรรมแห่งความรักเสมอนะครับ....
o จงเข้าเทียมแอกที่อ่อนนุ่มขอพระเยซูคือความรัก ไม้กางเขนที่เราต้องเข้าแบกด้วยความรักและการให้อภัยกันตลอดไป
o ขอให้เราทุกคนได้เข้าสุหนัตด้วยการกรีดผนังหนาๆของหัวใจที่อาจทำให้ใจของเราแข็งกระด้างหรือด้านหนาจนเกินไปออกไปเสีย พ่อคิดว่าเราอาจต้องกรีดหัวใจตนเองที่อาจจะแข็งกระด้าง ใจดำ ใจด้านหนาไร้ความรู้สึก ใจร้าย ใจไม้ (หิน) ไส้ระกำ
o ทั้งนี้เข้าสุหนัตแบบนี้เถอะครับ เปิดผนังหัวใจเพื่อรักมากที่สุด... เพื่อว่าหัวใจของเราคริสตชนจะได้รัก รัก และก็รัก จนกระทั่งสามารถให้อภัยได้เสมอไป
o ใจดี ใจงดงาม ใจบริสุทธิ์ ใจเมตตา ใจอ่อนโยนให้มากๆนะครับ เพราะนี่คือวัฒนธรรมแห่งความรักของเราคริสตชนนะครับ
o เอาเป็นว่าเป็นคริสตชนแล้วไม่น่ารัก ไม่รัก ไม่ได้นะครับ... และนี่คือผลของพระจิตเจ้าที่เราจะเห็นได้จากคำสอนของเปาโลในบทอ่านวันพรุ่งนี้ด้วยนะครับ... ขอพระเจ้าอวยพรครับ

 

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก