“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา จงฟังท่านเถิด ”

43. พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์(มก 9:2-10)
(b) ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

92ต่อมาอีกหกวันพระเยซูเจ้าทรงพาเปโตรยากอบและยอห์นขึ้นไปบนภูเขาสูงตามลำพังแล้วพระวรกายของพระองค์ก็เปลี่ยนไปต่อหน้าเขา3ฉลองพระองค์กลับมีสีขาวเจิดจ้าขาวผ่องอย่างที่ไม่มีช่างซักฟอกคนใดในโลกทำให้ขาวเช่นนั้นได้4แล้วประกาศกเอลียาห์กับโมเสสแสดงตนสนทนาอยู่กับพระเยซูเจ้า


5เปโตรจึงทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระอาจารย์เจ้าข้าที่นี่สบายน่าอยู่จริงๆเราจงสร้างเพิงขึ้นสามหลังเถิดหลังหนึ่งสำหรับพระองค์หลังหนึ่งสำหรับโมเสสอีกหลังหนึ่งสำหรับประกาศกเอลียาห์” 6เขาไม่รู้ว่ากำลังพูดอะไรเพราะศิษย์ทั้งสามคนต่างตกใจกลัว7ครั้นแล้วเมฆก้อนหนึ่งลอยมาปกคลุมเขาไว้มีเสียงหนึ่งออกมาจากเมฆก้อนนั้นว่า “ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเราจงฟังท่านเถิด” 8ทันใดนั้นศิษย์ทั้งสามคนเหลียวมองรอบๆไม่เห็นผู้ใดอยู่กับตนนอกจากพระเยซูเจ้าเท่านั้น
9ขณะที่กำลังลงจากภูเขาพระองค์ตรัสสั่งเขามิให้เล่าเหตุการณ์ที่เห็นให้ผู้ใดฟังจนกว่าบุตรแห่งมนุษย์จะกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย10ศิษย์ทั้งสามคนเก็บเรื่องนี้ไว้ไม่บอกใครแต่ยังปรึกษากันว่า “จนกว่าจะกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย” นี้หมายความว่าอย่างไร
a)    อธิบายความหมาย
เหตุการณ์พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์และการยืนยันความเชื่อของนักบุญเปโตร (8:27-30)เป็นศูนย์กลางของพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก และเป็นการรับรองคำยืนยันความเชื่อด้วยอำนาจที่มาจากสวรรค์เพื่อลบล้างความลังเลที่อาจคงอยู่ในจิตใจของบรรดาอัครสาวกเพราะพระองค์ทรงทำนายถึงการรับทรมานและสิ้นพระชนม์ (8:31-33) เหตุการณ์นี้ฟังดูแล้วค่อนข้างลึกลับแต่ก็มีความหมายชัดเจน พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์แก่อัครสาวก 3 คน ไม่เพียงเพื่อทรงบรรเทาใจเขาที่กำลังสับสนเท่านั้น แต่เพื่อทรงประกาศล่วงหน้าถึงพระสิริรุ่งโรจน์ที่พระองค์จะทรงได้รับเมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพ

- ต่อมาอีกหกวัน น่าสังเกตว่านักบุญมาระโกให้รายละเอียดเกี่ยวกับกาลเวลาเพียงไม่กี่ครั้ง เช่น เมื่อพระเยซูเจ้าทรงทำนายถึงการรับทรมานตรัสว่า หลังจากการสิ้นพระชนม์แล้ว 3 วันก็จะทรงกลับคืนพระชนมชีพ และเมื่อนักบุญมาระโกเริ่มเล่าเรื่องการรับทรมานของพระเยซูเจ้าเขาเขียนว่า “สองวันก่อนจะถึงวันปัสกา”  ส่วนวลีที่ว่า “ต่อมาอีกหกวัน”นักพระคัมภีร์มีความคิดเห็นไม่ตรงกันว่าเหตุการณ์ใดเป็นวันเริ่มต้นของการนับหกวัน บางคนคิดว่า หลังจากที่นักบุญเปโตรยืนยันความเชื่อในบริเวณเมืองซีซารียาแห่งฟีลิปผ่านไปแล้ว 6 วัน พระเยซูเจ้าจึงทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์แต่อีกบางคนคิดว่าจะนับเช่นนี้ไม่ได้เพราะในระหว่างสองเหตุการณ์ดังกล่าว พระเยซูเจ้าทรงเรียกประชาชนและบรรดาศิษย์มาสั่งสอน (8:34) ซึ่งเราไม่รู้แน่ชัดว่าเหตุการณ์นี้ใช้เวลานานเท่าใด อีกบางคนคิดว่า เลขหกชวนให้นึกถึงเรื่องเล่าในการสร้างโลกเป็นเวลาหกวัน การที่พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์จึงเป็นจุดมุ่งหมายของสิ่งสร้างทั้งปวงดังนั้น ในวันที่เจ็ด คือวันที่พระเยซูเจ้าทรงสำแดงความรุ่งโรจน์ของพระองค์ จึงเป็นวันพักผ่อนของพระเจ้าและจุดมุ่งหมายของชีวิตมนุษย์

- พระเยซูเจ้าทรงพาเปโตร ยากอบ และยอห์น อัครสาวก  3 คนนี้เป็นพยานพิเศษที่พระเยซูเจ้าทรงเลือกในหมู่อัครสาวก เป็นคนเดียวกันที่เป็นพยานถึงอัศจรรย์เมื่อพระเยซูเจ้าทรงรักษาบุตรหญิงของไยรัส (5:37-43) และความเศร้าพระทัยของพระองค์ในสวนเกทเสมนี (14:33)

- ขึ้นไปบนภูเขาสูง  ตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรชี้แจงว่า ภูเขาทาบอร์ซึ่งสูง 575 เมตรเหนือระดับหุบเขาโดยรอบใกล้เมืองนาซาเร็ธเป็นภูเขาสูงที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ นักพระคัมภีร์บางคนคิดว่าภูเขานี้คือภูเขาเฮอร์โมนซึ่งสูง 2,814 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลในเขตชายแดนทางเหนือของปาเลสไตน์ เพราะอยู่ใกล้เมืองซีซารียาแห่งฟีลิป แต่ดูเหมือนว่าความคิดนี้เป็นไปไม่ได้เพราะผู้อาศัยอยู่ในเมืองนี้เป็นชาวกรีกซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลในพระวรสารที่เล่าต่อไปว่า เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จลงจากภูเขานี้ก็พบประชาชนจำนวนมากที่รู้จักพระองค์เป็นอย่างดี (เทียบ 9:14-16)  อย่างไรก็ตาม นักบุญมาระโกคงไม่สนใจที่จะบอกอย่างเฉพาะเจาะจงว่าภูเขานี้ชื่ออะไรหรือตั้งอยู่ที่ไหน แต่เขาต้องการอ้างถึงภูเขาที่พระเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์และพระประสงค์เช่นเดียวกับภูเขาซีนาย

- ตามลำพัง นักบุญมาระโกต้องการเน้นว่า พระเยซูเจ้าทรงนำอัครสาวกทั้ง 3 คนแยกออกจากทั้งอัครสาวกและบุคคลอื่น เพื่อจะทรงสำแดงพระองค์แก่เขาเท่านั้น ทรงพระประสงค์ให้เขาทั้ง 3 คน มีประสบการณ์พิเศษอย่างน่าประหลาดใจ  เป็นประสบการณ์ที่พระเจ้าเท่านั้นทรงกระทำได้

- แล้วพระวรกายของพระองค์ก็เปลี่ยนไปต่อหน้าเขา ในพระเยซูเจ้า พระบุตรของพระเจ้า “พระเทวภาพบริบูรณ์สถิตในสภาพมนุษย์ที่สัมผัสได้” (คส 2:9) แต่เมื่อพระเยซูเจ้าทรงพระชนมชีพของบนแผ่นดิน พระสิริรุ่งโรจน์นี้ไม่ปรากฏต่อสายตาของมนุษย์ ยกเว้นในกรณีนี้เมื่อพระบิดาทรงบันดาลให้พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพของพระวรกายแบบที่สัมผัสได้ เพื่อแสดงว่าความเป็นอยู่ของพระองค์ไม่เป็นของโลกนี้แต่เป็นของสวรรค์

- ฉลองพระองค์กลับมีสีขาวเจิดจ้า นักบุญมัทธิวและนักบุญลูกาเน้นการเปลี่ยนแปลงพระพักตร์ของพระเยซูเจ้า “พระพักตร์เปล่งรัศมีดุจดวงอาทิตย์”(มธ 17:2) “ลักษณะของพระพักตร์เปลี่ยนไป” (ลก 9:29) แต่นักบุญมาระโกเน้นเพียงการเปลี่ยนแปลงของเครื่องแต่งกายเท่านั้น

- ขาวผ่องอย่างที่ไม่มีช่างซักฟอกคนใดในโลกทำให้ขาวเช่นนั้นได้ ในพระคัมภีร์สีขาวเป็นสัญลักษณ์ของบุคคลผู้อยู่ในสวรรค์ และบ่อยครั้งฉลองสีขาวเป็นภาพของชีวิตการกลับคืนชีพหลังจากความตายนักบุญมาระโกเป็นคนเดียวที่ใช้การเปรียบเทียบแบบชาวบ้านว่า “ขาวผ่องอย่างที่ไม่มีช่างซักฟอกคนใดในโลกทำให้ขาวเช่นนั้นได้” ส่วนนักบุญมัทธิวบันทึกเพียงว่า “ฉลองพระองค์กลับมีสีขาวดุจแสงสว่าง”(มธ 17:2) และนักบุญลูกาเขียนว่า “ฉลองพระองค์มีสีขาวเจิดจ้า”(ลก 9:29)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก