"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“บุตรแห่งมนุษย์จึงเป็นนายเหนือแม้กระทั่งวันสับบาโตด้วย”
 
11. บรรดาศิษย์เด็ดรวงข้าวในวันสับบาโต (มก 2:23-28)
      2 23วันสับบาโตวันหนึ่งพระเยซูเจ้าเสด็จผ่านนาข้าวสาลีบรรดาศิษย์ที่เดินทางอยู่ด้วยเด็ดรวงข้าว 24ชาวฟาริสีทูลถามพระองค์ว่า “ทำไมศิษย์ของท่านทำสิ่งต้องห้ามในวันสับบาโต” 25พระองค์ตรัสตอบว่า “ท่านไม่ได้อ่านพระคัมภีร์หรือว่า กษัตริย์ดาวิดทรงทำสิ่งใดในขณะที่มีความจำเป็นและหิวโหยทั้งพระองค์และผู้ติดตาม  26พระองค์เสด็จเข้าไปในพระนิเวศของพระเจ้าเมื่ออาบียาธาร์เป็นมหาสมณะเสวยขนมปังที่ตั้งถวายซึ่งใครจะกินไม่ได้นอกจากบรรดาสมณะเท่านั้นพระองค์ยังทรงให้ผู้ติดตามกินอีกด้วย”  
 27แล้วพระเยซูเจ้าทรงเสริมว่า “วันสับบาโตมีไว้เพื่อมนุษย์มิใช่มนุษย์มีไว้เพื่อวันสับบาโต 28ดังนั้นบุตรแห่งมนุษย์จึงเป็นนายเหนือแม้กระทั่งวันสับบาโตด้วย”


a) อธิบายความหมาย
              เราได้พิจารณา 3 กรณีของการโต้เถียงกันระหว่างพระเยซูเจ้ากับคู่อริแล้ว แต่ละเรื่องมีโครงสร้างเดียวกันคือพระเยซูเจ้าตรัสคำสอนเพื่อตอบสนองการวิพากษ์วิจารณ์ของคู่อริ ข้อความนี้จึงเป็นการโต้เถียงกันครั้งที่ 4 ในจำนวนทั้งหมด 5 กรณีของข้อความ 2:1-3:6 ซึ่งมีชื่อว่า “การโต้เถียงกันในแคว้นกาลิลี”

                เรื่องการโต้เถียงเกี่ยวกับการพักผ่อนในวันสับบาโตปรากฏหลายครั้งในพระวรสารทุกฉบับ เช่น นอกจากข้อความนี้เรายังพบใน มก3:1-6; ลก 13:10-17; 14:1-6; ยน 5:1-19; 9:1-41 :7 ซึ่งแสดงว่าพระศาสนจักรสมัยผู้นิพนธ์พระวรสารสนใจและโต้เถียงกันในเรื่องนี้ เราไม่รู้อย่างชัดเจนว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหนและเมื่อใด จากข้อมูลที่ว่าข้าวสาลีออกรวง แสดงว่าเหตุการณ์นี้ต้องอยู่ช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ

               ลัทธิยิวในสมัยของพระเยซูเจ้ามักจะเน้นคุณลักษณะ 3 ประการ ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนในฐานะประชากรที่พระเจ้าทรงกระทำพันธสัญญาคือพิธีสุหนัต กฏเกี่ยวกับอาหารที่มีมลทินกับไม่มีมลทินและการถือวันสับบาโตเป็นวันพักผ่อน ลักษณะที่3 นี้สำคัญที่สุดในการกำหนดเอกลักษณ์ของชาวยิว วันสับบาโตเป็นวันที่จัดให้มีการถวายเครื่องบูชาในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม เป็นวันที่ชาวยิวมาร่วมชุมนุมกันเพื่ออธิษฐานภาวนาในศาลาธรรม วันสับบาโตยังเป็นวันที่ชาวยิวถวายแด่พระเจ้า

                การปฏิบัติตามกฏวันสับบาโตเป็นสัญลักษณ์ว่าประชาชนอุทิศตนรักษาพันธสัญญากับพระเจ้าในส่วนที่เป็นของตน ดังที่เราอ่านในหนังสืออพยพว่า “ท่านทั้งหลายจะต้องรักษาวันสับบาโตของเราไว้เป็นวันหยุดงาน เพราะเป็นเครื่องหมายระหว่างเรากับท่านตลอดไปทุกยุคทุกสมัยในอนาคต เพื่อแสดงว่า เราเป็นพระยาห์เวห์ คือผู้ทรงแยกท่านไว้ให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์...ผู้ใดที่ทำงานในวันนั้นจะต้องถูกขับไล่ออกจากประชากรของตน วันทำงานมีหกวัน แต่วันที่เจ็ดจะเป็นวันหยุดงานโดยสิ้นเชิง และเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ถวายแด่พระยาห์เวห์... ชาวอิสราเอลจะต้องรักษาวันสับบาโตไว้เป็นวันฉลองตลอดไปทุกยุคทุกสมัยเป็นพันธสัญญานิรันดร” (อพย 31:13-16) 

               - วันสับบาโตวันหนึ่งพระเยซูเจ้าเสด็จผ่านนาข้าวสาลีการพักผ่อนในวันสับบาโตอนุญาตให้เดินทางไม่เกิน1,500 เมตรเมื่อนักบุญลูกาเล่าเรื่องพระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์จากภูเขามะกอกเทศเขาบรรยายว่าภูเขานี้“อยู่ใกล้กรุงเยรูซาเล็มเป็นระยะทางที่เดินได้ในวันสับบาโต”(กจ 1:12) เราจึงสันนิษฐานว่านาข้าวสาลีที่พระเยซูเจ้าเสด็จผ่านพร้อมกับบรรดาอัครสาวกอยู่ใกล้เมืองหรือหมู่บ้าน ชาวฟาริสีจึงเดินทางพร้อมกับพระองค์แม้เป็นวันสับบาโต

               - บรรดาศิษย์ที่เดินทางอยู่ด้วยเด็ดรวงข้าวนักบุญมัทธิวและนักบุญลูกาเล่าเรื่องนี้ โดยกล่าวชัดเจนว่าบรรดาศิษย์เด็ดรวงข้าวขึ้นมากินเพื่อประทังความหิว แต่นักบุญมาระโกเล่าเพียงว่าบรรดาศิษย์ได้เด็ดรวงข้าวเท่านั้น ตามความคิดของเราสมัยนี้ การเด็ดรวงข้าวมากินเป็นการลักขโมย แต่ธรรมบัญญัติระบุว่าชาวยิวจะต้องไม่เกี่ยวข้าวตามคันนา เพื่อคนยากจนหรือผู้สัญจรเด็ดกินได้“เมื่อท่านเดินเข้าไปในนาข้าวของเพื่อนบ้าน ท่านจะใช้มือเด็ดรวงข้าวมากินได้ แต่จะใช้เคียวเกี่ยวข้าวของเพื่อนบ้านไม่ได้” (ฉธบ 23:26) 

               - ชาวฟาริสีทูลถามพระองค์ว่า “ทำไมศิษย์ของท่านทำสิ่งต้องห้ามในวันสับบาโต”  ชาวฟาริสีในสมัยของพระเยซูเจ้าถือว่า งานที่ต้องห้ามในวันสับบาโตมี 39 ชนิด และพระคัมภีร์สอนอย่างชัดเจนว่า การเก็บเกี่ยวเป็นงานที่ต้องห้าม “ท่านจะต้องทำงานหกวัน แต่จะต้องหยุดงานในวันที่เจ็ด ท่านจะต้องหยุดทำงานในวันที่เจ็ด แม้กระทั่งในฤดูหว่านและฤดูเก็บเกี่ยวด้วย”(อพย 34:21) ชาวฟาริสีตัดสินว่า การเด็ดรวงข้าวเท่ากับเป็นการเก็บเกี่ยวจึงเป็นสิ่งที่ต้องห้ามในวันสับบาโตโดยไม่คำนึงว่าบรรดาศิษย์ทำเช่นนี้เพราะความจำเป็นเพื่อประทังความหิว

              - พระองค์ตรัสตอบว่า “ท่านไม่ได้อ่านพระคัมภีร์หรือว่า” สำนวนนี้เป็นสูตรที่เราพบบ่อยในพระวรสาร เช่น มก 12:10, 26; มธ 12:5;19:4 ซึ่งใช้เพื่ออ้างถึงคำพยานที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ ในกรณีนี้อ้างถึงเหตุการณ์ที่เล่าในหนังสือซามูเอล ฉบับที่ 1   การอ้างถึงพระคัมภีร์ในเรื่องการโต้เถียงกันเป็นวิธีการที่รู้จักกันดีในหมู่ธรรมาจารย์ซึ่งใช้วิธีการนี้เพื่อสนับสนุนความคิดเห็นของตน แม้บางครั้งเขาบิดเบือนความหมายของตัวบทดั้งเดิม

              - กษัตริย์ดาวิดทรงทำสิ่งใดในขณะที่มีความจำเป็นและหิวโหยทั้งพระองค์และผู้ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการถือกฏวันสับบาโต แต่พระเยซูเจ้าทรงใช้เรื่องนี้เพราะสถานการณ์ของบรรดาศิษย์ที่หิวโหยคล้ายคลึงกับสถานการณ์ในรัชสมัยของกษัตริย์ดาวิดคือทั้งสองกรณีเป็นเรื่องของความหิวโหย จึงจำเป็นที่จะต้องมองข้ามข้อกำหนดของธรรมบัญญัติหรือของธรรมประเพณี

              - พระองค์เสด็จเข้าไปในพระนิเวศของพระเจ้าพระนิเวศในที่นี้ยังไม่หมายถึงพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มซึ่งเวลานั้นยังไม่ได้ถูกสร้าง แต่หมายถึงกระโจมนัดพบหรือสักการสถานซึ่งเป็นสถานที่เก็บหีบพันธสัญญาของชาวยิว (เทียบ วนฉ 18:31; 1 ซมอ 1:7-24)